บทนำ
เอกลักษณ์ หมายถึง ลักษณะเฉพาะตัวหรือ ลักษณะที่แสดงความเป็นอย่างเดียวกันของคนในสังคมซึ่งแตกต่างจากลักษณะร่วมของคนในสังคมอื่น ๆ ส่วนคำว่า อัตลักษณ์หมายถึง ความเป็นตัวตนที่แตกต่างจากสิ่งอื่นใดสามารถบ่งชี้ลักษณะเฉพาะของตัว บุคคล สังคม ชุมชน หรือประเทศนั้น ๆ ได้ เช่น เชื้อชาติ ภาษา วัฒนธรรมท้องถิ่น และศาสนา เป็นต้น และข้อแตกต่างที่เห็นได้ชัดจากสองคำนี้คือ “เอกลักษณ์” เป็นสิ่งตายตัวสามารถเปลี่ยนแปลงได้ส่วน “อัตลักษณ์” นั้นสามารถเปลี่ยนแปลงหรือพัฒนาให้ดีขึ้น (นุชนาฎ เชียงชัย, 2558 : 5) ปัจจุบันกระแสด้านการท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมในประเทศไทยรวมถึงภูมิภาคต่าง ๆ ได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวทั้งในและนอกประเทศ ในสถานที่ท่องเที่ยวแต่ละที่มีสิ่งเป็นอัตลักษณ์ของพื้นที่นั้นจึงเป็นการสร้างจุดเด่นในด้านการท่องเที่ยว เช่น ผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ของที่ระลึก สินค้าอุปโภคต่าง ๆ ฯลฯ โดยสินค้าที่เป็นกระแสและเป็นที่นิยมในช่วงนี้ คือ ไอศกรีมสีสันสวยงาม เป็นสิ่งที่ได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก รูปแบบอันโดดเด่นตามแต่อัตลักษณ์ของแหล่งท่องเที่ยว (Destination identity) เช่น อัตลักษณ์ด้านสถาปัตยกรรม จิตรกรรม ประติมากรรมต่าง ๆ ที่เป็นอัตลักษณ์เฉพาะของสถานที่ท่องเที่ยวนั้น
ไอศกรีมลายกระเบื้อง วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร
ไอศกรีมลายกระเบื้องวัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร กรุงเทพมหานคร หรือ วัดแจ้ง อีกหนึ่งแลนด์มาร์กที่มีชื่อเสียงที่สุดในกรุงเทพฯ ซึ่งดึงดูดนักท่องเที่ยวจากทั่วโลกให้เข้ามาชมความงามของสถาปัตยกรรมอันเป็นเอกลักษณ์ โดยเฉพาะกลุ่มพระพุทธปรางค์ทรงคุณค่าและลวดลายกระเบื้องเคลือบหลากสีโบราณ แบรนด์ Pop Icon ได้แรงบันดาลใจจากความสวยงามของลายกระเบื้องอันโดดเด่นของวัดอรุณฯ จึงทำ ไอศกรีมลายกระเบื้องแบบ 3 มิติ ออกมาจำหน่าย 2 รสคือ รสกะทิอัญชันอบควันเทียน (สีฟ้า) และ รสชาไทย (สีส้ม) โดยตั้งชื่อว่า ดอกไม้รุ่งอรุณ หรือ Flower of Dawn ล้อกับ Temple of Dawn ชื่อของวัดอรุณฯ กระเบื้องเคลือบสีสันสดใสในพระปรางค์วัดอรุณฯ ถือเป็นเอกลักษณ์พิเศษของวัดอรุณฯ โดยรูปแบบการประดับตกแต่งประเภทนี้มีการผสมผสานระหว่างศิลปะไทยกับจีน กับการนำกระเบื้องเคลือบสีต่าง ๆ ถ้วยชามหรือเศษชิ้นส่วนภาชนะดินเผามาประกอบกันเป็นลวดลาย ซึ่งที่เห็นได้บ่อยคือ การตกแต่งหน้าบันของอาคาร และประดับบนผิวของเจดีย์กับพระปรางค์ ขณะเดียวกัน Pop Icon ยังเพิ่มลูกเล่นสุดสร้างสรรค์ด้วยการใส่คติธรรมให้กำลังใจสั้น ๆ เป็นภาษาไทยลงไปในไม้ไอติม เมื่อทานหมดจะเห็นข้อความบนไม้ไอติม คล้าย ๆ กับการเสี่ยงเซียมซีในวัดที่คนไทยชอบทำกัน สิ่งเหล่านี้นำมาซึ่งการเรียนรู้วัฒนธรรมไทยของนักท่องเที่ยวต่างชาติได้อย่างดี (สิทธิโชติ สุภาวรรณ์, 2566 : ออนไลน์)
ไอศกรีมมงคลเยาวราช
ไอติม 3 มิติเยาวราช ในชื่อ ไอติมมงคลเยาวราช มี 2 รสชาติ และ 2 ลวดลาย ที่ได้แรงบันดาลใจมาจากวัฒนธรรมไทยและจีน ของย่านเยาวราช สำหรับไอติมมงคลเยาวราช มี 2 รสชาติ คือ สีแดง “สิงโตนำโชค” รสผลไม้ที่เลือกใช้ผลไม้สำหรับเทศกาลมงคลมาเป็นรสชาติ คือ ส้มแมนดารินและทับทิม ทั้งผลไม้สองชนิดนี้ยังเป็นเอกลักษณ์ของย่านเยาวราช ที่เป็นที่นิยมเห็นได้จากน้ำผลไม้ Street Food ที่ต้องมีน้ำส้มและน้ำทับทิมคอยสร้างความสดชื่นอยู่ตลอดทาง ส่วนลวดลายเป็นที่โดดเด่นมาก POP ICON ได้แรงบันดาลใจมาจากเทศกาลตรุษจีน วัฒนธรรมเฉลิมฉลองปีใหม่ที่สืบทอดมาตั้งแต่อดีต โดยออกมาเป็นลวดลายการเชิดสิงโตที่ทำให้นึกถึงเทศกาลยิ่งใหญ่ประจำปีของเยาวราชในเทศกาลตรุษจีน อีกหนึ่งรสชาติทางร้านนำวัฒนธรรมการจิบชามาสร้างสรรค์เป็นรสที่ชื่อว่า “มังกรเขียวเหนี่ยวทรัพย์” รสชาติชาเขียว ที่มาพร้อมกับสีเขียวหยก สีมงคลของชาวจีน ปั๊มอักษรคำว่า “เยาวราช” ลวดลายของไอศกรีมแท่งนี้เป็นรูปมังกรสื่อความหมายถึงถนนมังกรที่ไม่เคยหลับใหลและเป็นสัญลักษณ์มงคลตามความเชื่อของชาวจีน (คมชัดลึก, 2566 : ออนไลน์)
ไอศกรีมศรีเทพ
ไอติมโบราณศรีเทพ “ศรีเทพมรดกโลก” ณ อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ โบราณสถานเขาคลังนอก อำเภอศรีเทพ จังหวัดเพชรบูรณ์ การสรรค์สร้างสิ่งรับรู้ถึงการเป็นมรดกโลกของเมืองโบราณศรีเทพ “ไอติมโบราณศรีเทพ” หนึ่งในสินค้าที่ทีมงาน Creator Drive Si Thep ที่ได้ขับเคลื่อนการรับรู้และกระจายความเป็นศรีเทพมรดกโลกได้พยายามสร้างสรรค์ขึ้น จากการจัดงานแสดงความยินดีและเฉลิมฉลองเมืองโบราณศรีเทพเป็นมรดกโลก ระหว่างวันที่ 16-24 กันยายน 2566 ทีม Drive Si Thep พยายามหากลวิธีของสินค้าซึ่งเป็นการสร้างการรับรู้ โดยเริ่มต้นจากให้คนในพื้นที่มีส่วนร่วมเพื่อให้ช่วยกันประชาสัมพันธ์และกระจายสู่วงกว้าง ซึ่งเมืองศรีเทพมีอัตลักษณ์หลายอย่างที่น่าสนใจ โดยไอติมก็เป็นกลวิธีของสินค้าหนึ่งที่คิดค้นขึ้น ไอติมโบราณศรีเทพ ขึ้นมา ไอติมโบราณศรีเทพที่ผลิตมา มีลายรูปแบบคนแคระหน้าต่าง ๆ และลายดอกไม้ที่อยู่ตรงฐานเขาคลังใน โดยไอศกรีมมี รสชาไทย ชานม มะพร้าว มะนาว เป็นต้น ราคาจำหน่ายแท่งละ 50 บาท “ไอติมโบราณศรีเทพ” เป็นการต่อยอดสินค้าที่ทำให้ชาวอำเภอศรีเทพ รวมทั้งชาวเพชรบูรณ์มีแรงบันดาลสร้างสรรค์ชิ้นงานและสิ่งของที่ระลึกที่แสดงถึงความเป็นอัตลักษณ์เมืองโบราณศรีเทพ ซึ่งไม่เพียงเป็นประชาสัมพันธ์ความยิ่งใหญ่อลังการของเมืองโบราณศรีเทพมรดกโลกเท่านั้น แต่ยังก่อให้เกิดรายได้ให้กับจังหวัดเพชรบูรณ์ (มติชน, 2567 : ออนไลน์)
ไอศกรีมปลาทู
ไอศกรีมปลาทู จังหวัดสมุทรสงคราม ซึ่งเป็นไอศกรีมที่ทางเพจ “เทศกาลกินปลาทูแม่กลอง” ได้นำมาประชาสัมพันธ์ในงานเทศกาลกินปลาทูและของดีเมืองแม่กลอง ประจำจังหวัดสมุทรสงคราม มี 4 รส รสชาไทย ช็อกโกแลต สตรอว์เบอร์รี และรสนม โดยจะมีการจำหน่ายในงาน “เทศกาลกินปลาทูและของดีเมืองแม่กลอง ตอน ปลาทูแม่กลองและผองเพื่อน” ระหว่างวันที่ 8-17 ธ.ค. 66 ที่หน้าศาลากลาง จังหวัดสมุทรสงคราม โดยไอศกรีมปลาทูนี้ ถูกรังสรรค์ขึ้นโดยผู้ประกอบการในพื้นที่จังหวัดสมุทรสงคราม ซึ่งเปิดเป็นร้านอาหาร และร้านกาแฟ ร้านบัฟฟาโลคาเฟ่ อำเภอเมืองสมุทรสงคราม ได้ทำไอศกรีมรูปปลาทู 2 ตัวนอนในเข่ง อีกทั้งยังคงแนวคิดหน้างอคอหัก ได้มาออกร้านในงานเทศกาลกินปลาทูฯ ครั้งนี้ เจ้าของบัฟฟาโลคาเฟ่ ผู้ผลิตไอศกรีมรูปปลาทู เห็นว่าเนื่องจากจังหวัดสมุทรสงครามเป็นจังหวัดที่ขึ้นชื่อในเรื่องของปลาทูอร่อย นักท่องเที่ยวนิยมมากินปลาทูซึ่งเป็นอาหารคาว จึงมีความคิดจะลองทำปลาทูเมนูอื่นที่เป็นอาหารหวานดูบ้าง เช่น ไอศกรีมรูปปลาทูนอนอยู่ในเข่ง เพราะการทำก็คล้าย ๆ กับการทำไอศกรีมธรรมดาทั่วไป ใช้นมสด ชาไทย ที่เป็นสูตรของทางร้าน จากนั้นก็ไปปั่นในอุณหภูมิที่เหมาะสมแล้วเทลงในแม่พิมพ์ ใช้เวลาแช่แข็งในช่องแข็ง 1 วัน ก็จะได้ไอศกรีม 1 แท่งออกมารับประทานได้ทั้งเข่ง และจัดจำหน่ายในราคาเข่งละ 80 บาท ซึ่งในช่วงนี้ได้รับกระแสการตอบรับที่ดีมาก (ไทยรัฐ, 2566 : ออนไลน์)
ไอศกรีมรามเกียรติ์ ทศกัณฐ์ และหนุมาน
ณ สัทธา อุทยานไทย อำเภอบางแพ จังหวัดราชบุรี ได้ผลิต “ไอศกรีมรามเกียรติ์ ทศกัณฐ์ และหนุมาน” หน้าตาสุดน่ารัก 4 รสชาติ คือ รสน้ำมะพร้าวน้ำหอมอัญชัน รสน้ำมะพร้าวน้ำหอมใบเตย รสนมชมพู และรสชาไทย ไอศกรีม 3D ของที่นี่กลายเป็นที่สนใจของนักท่องเที่ยว โดยต้องการให้นักท่องเที่ยวได้พาทศกัณฐ์กับหนุมาณ ไปเดินเที่ยวถ่ายรูปกับสถานที่ต่าง ๆ ภายใน ณ สัทธา อุทยานไทย หลังจากเพจสื่อท้องถิ่นราชบุรี ได้นำ “ไอศกรีมรามเกียรติ์ ทศกัณฐ์ และหนุมาน” เผยแพร่ ปรากฏว่ามีผู้สนใจเข้ามาชมกดไลค์ กดแชร์เป็นจำนวนมาก ไอศกรีมของที่นี่ใช้สูตรของทาง ณ สัทธา อุทยานไทย ใช้วัตถุดิบท้องถิ่น มะพร้าวน้ำหอมจากสวน อำเภอดำเนินสะดวก มาเป็นรสชาติหลักที่จะให้ความหอมเป็นไทย ๆ จากนั้นก็เข้าสู่กระบวนการผลิตไอศกรีม จากนั้นเทลงในแม่พิมพ์และนำไปแช่แข็งเพื่อให้ไอศกรีมแข็งตัวเป็นเวลา 1 วัน จากนั้นนำมาบรรจุถุงจำหน่าย ปัจจุบันนี้ได้รับการตอบรับจากนักท่องเที่ยวดีมาก (แนวหน้า, 2567 : ออนไลน์)
สรุป
การสร้างอัตลักษณ์ให้กับพื้นที่ทางการท่องเที่ยววัฒนธรรม โดยการดึงจุดเด่นที่น่าสนใจของพื้นที่นั้นดังเช่น “ไอศกรีม” ของหวานที่รับประทานง่าย รับประทานได้ทุกเพศทุกวัย มีสีนสันสวยงาม หลากหลายรสชาติ ไอศกรีมที่จำหน่ายในสถานที่ท่องเที่ยวหลายแห่งในประเทศไทย ได้นำมาพัฒนา ต่อยอด และใช้ความคิดสร้างสรรค์ในการเพิ่มมูลค่าของสินค้านั้นในสถานที่ท่องเที่ยว ทำให้ดึงดูดนักท่องเที่ยวให้เข้ามาท่องเที่ยวในสถานที่นั้นเป็นจำนวนมากขึ้น อีกทั้งไอศกรีมดังกล่าว เป็นความคิดสร้างสรรค์ของคนไทยที่ใช้ทุนทางวัฒนธรรมที่มีอยู่ พัฒนาเป็นสินค้าที่อัตลักษณ์ไทยอันโดดเด่น นำไปสู่การสร้างรายได้ให้กับสถานที่ท่องเที่ยวนั้น ๆ ผู้คน ชุมชน และประเทศอีกด้วย
อ้างอิง
คมชัดลึก. (2566). ไอติมมงคลเยาวราช จากกลิ่นอาย – วัฒนธรรมจีน ถ่ายทอดสู่ไอติม 2 รสชาติ 2
ลวดลาย. (สืบค้นเมื่อ 23 กุมภาพันธ์ 2567). https://www.komchadluek.net/kom-
lifestyle/lifestyle/557857
ไทยรัฐ. (2566). ชวนลอง “ไอติมปลาทู” ชูเอกลักษณ์เมืองแม่กลอง ในงานเทศกาลกินปลาทู.
(สืบค้นเมื่อ 24 กุมภาพันธ์ 2567). https://www.thairath.co.th
นุชนาฎ เชียงชัย. (2558). การใช้อัตลักษณ์เพื่อการส่งเสริมการท่องเที่ยวของจังหวัดลําปาง.
วิทยานิพนธ์ปริญญาบริหารธุรกิจมหาบัณฑิต หลักสูตรบริหารธุรกิจมหาบัณฑิต บัณฑิตวิทยาลัย
มหาวิทยาลัยศิลปากร.
แนวหน้า. (2567). ไอศกรีม‘ทศกัณฐ์-หนุมาน’ ซิกเนเจอร์ ของดี ณ สัทธา อุทยานไทย ราชบุรี.
(สืบค้นเมื่อ 24 กุมภาพันธ์ 2567). https://www.naewna.com/likesara/782901
มติชน. (2567). ไอติมโบราณศรีเทพก็มา! มีทั้งลาย ‘คนแคระ-ดอกไม้จากฐานเขาคลังใน’ คนสนใจชิม
เพียบ (สืบค้นเมื่อ 23 กุมภาพันธ์ 2567). https://www.matichon.co.th/region/news_4186720
สิทธิโชติ สุภาวรรณ์. (2566). ไอติมวัดอรุณ ไอเดียซอฟต์พาวเวอร์ที่บอกเล่าประวัติศาสตร์ ศิลปะและ
วัฒนธรรมไทย. (สืบค้นเมื่อ 23 กุมภาพันธ์ 2567). https://ngthai.com/cultures