“โบท็อกซ์” สารพิษมหัศจรรย์ช่วยลดเลือนริ้วรอย

          ในปัจจุบันเราคงได้ยินและได้เห็นคำโฆษณามากมายของคลินิกเสริมความงามเกี่ยวกับการฉีดโบท็อกซ์เพื่อลดเลือนริ้วรอยบนใบหน้า ตั้งแต่ริ้วรอยรอบดวงตา รอยย่นบนหน้าผาก หรือการลดขนาดของกล้ามเนื้อในบางจุดเพื่อให้ใบหน้าดูเรียวเล็ก จากคำโฆษณาเหล่านั้นทุกท่านทราบหรือไม่ว่าเพราะเหตุใด “โบท็อกซ์” จึงสามารถช่วยลดเลือนริ้วรอยบนใบหน้าของเราได้ ดังนั้นบทความนี้จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับที่มาและนิยามของคำว่า “โบท็อกซ์” กลไกการออกฤทธิ์ของเชื้อ ประโยชน์และข้อจำกัด ตลอดจนการปฏิบัติตัวก่อนและหลังการฉีดโบท็อกซ์

ที่มาและนิยามของคำว่า “โบท็อกซ์”

          โบท็อกซ์ หรือ Botox เป็นชื่อเรียกทางการค้าของโปรตีนชนิดหนึ่งที่สกัดได้จากแบคทีเรีย Clostridium botulinum (C. botulinum) C. botulinum จัดเป็นเชื้อแบคทีเรียชนิดแท่ง ติดสีแกรมบวก (gram positive bacilli) ที่สามารถเจริญเติบโตได้ในสภาวะไร้ออกซิเจน (obligated anaerobic) ซึ่งหากอยู่ในสภาวะที่ไม่เหมาะสมกับการเจริญเติบโต กล่าวคือ อยู่ในสภาวะที่มีออกซิเจน แบคทีเรียชนิดนี้จะอยู่ในรูปสปอร์ (spore-forming) ซึ่งสามารถทนความร้อนได้ดี โดยสามารถทนความร้อนได้ถึง 120 องศาเซลเซียส แต่หากอยู่ในสภาวะที่ไม่มีออกซิเจน แบคทีเรียชนิดนี้จะสร้างสารพิษที่มีชื่อว่า Botulinum toxin (BoNT) ซึ่งเป็นสารที่มีความพิษต่อการทำงานของระบบประสาท (neurotoxin)

           BoNT ถูกค้นพบในปี พ.ศ. 2338-2356 โดย Justinus Kerner นักสาธารณสุขชาวเยอรมันที่สังเกตเห็นถึงความสัมพันธ์ของสารพิษชนิดนี้กับอาการป่วยภาวะ Botulism กล่าวคือ BoNT แม้ในปริมาณที่น้อยนิดสามารถส่งผลต่อการทำงานของระบบประสาททำให้เกิดอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรง ไม่มีเหงื่อออกตามร่างกาย และอาหารเป็นพิษได้ ซึ่งต่อมาได้มีการค้นคว้าวิจัยเพิ่มเติมเกี่ยวกับกลไกการออกฤทธิ์ของ BoNT ต่อสาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะ Botulism ออกมาอีกมากมาย ต่อมาในปี พ.ศ. 2478 Schantz สามารถทำการสกัดแยก BoNT ให้อยู่ในรูปของ crystalline form ได้สำเร็จ และทำการทดลองใช้ BoNT เพื่อรักษาความผิดปกติของกล้ามเนื้อลาย เช่น อาการตาเหล่ ตาเข เป็นต้น จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2530 Dr. Jean Carruthers ศัลยแพทย์ด้านศัลยกรรมพลาสติกและ Dr. Alastair Carruthers แพทย์ผิวหนัง ได้ค้นพบว่า การใช้ BoNT ในการรักษาอาการตากระตุก เป็นผลทำให้รอยย่นบริเวณระหว่างคิ้วจางลงไปด้วย จึงเป็นที่มาของการนำ BoNT มาใช้ในทางการแพทย์ด้านความงาม BoNT มีด้วยกันทั้งหมด 7 ชนิดด้วยกัน แบ่งแยกชนิดตามสารพิษที่เชื้อสร้างขึ้นมา ได้แก่ ชนิด A, B, C (C1- C2), D, E, F และ G แต่มีเพียง Botulinum toxin ชนิด A ชนิดเดียวเท่านั้นที่ถูกนำมาใช้ในทางการแพทย์เพื่อความงาม

กลไกการออกฤทธิ์ของ Botulinum toxin (BoNT)

             ในภาวะปกติการที่กล้ามเนื้อจะหดตัวหรือทำงานได้ จะต้องได้รับคำสั่งจากสมองและสั่งการผ่านระบบประสาทด้วยการหลั่งสารสื่อประสาท (neurotransmitter) ซึ่งการหลั่งสารสื่อประสาทของเซลล์ประสาทที่กล้ามเนื้อ (neuromuscular junction) จะอาศัยการทำงานของ SNARE proteins (synaptobrevin, SNAP-25, และ syntaxin) เกิดเป็น synaptic fusion complex จากนั้น synaptic fusion complex จะเข้าชิดกับถุงที่บรรจุสารสื่อประสาทชนิด Acetylcholine (ACh) และเยื่อหุ้มเซลล์ ทำให้ผนังของถุงที่บรรจุสารสื่อประสาทกับเยื่อหุ้มเซลล์ผนวกเข้าด้วยกันและปล่อย ACh ออกสู่ภายนอกเซลล์

             BoNT ประกอบด้วยสายโปรตีนสองส่วน คือ heavy chain และ light chain ซึ่งกลไกการออกฤทธิ์ของBoNT เริ่มจากส่วนของ heavy chain จะเข้าจับกับปลายประสาทในส่วน surface protein receptor และเข้าสู่เซลล์ด้วยกระบวนการ endocytosis เกิดเป็นถุงซึ่งบรรจุสารพิษไว้ภายใน สำหรับส่วน light chain ของ BoNT จะทำการย่อยผนังของถุง เพื่อปลดปล่อยสารพิษออกสู่ไซโตพลาสซึมภายในเซลล์ จากนั้นส่วนของ heavy chain จะเข้าทำลาย SNAP-25 protein ซึ่งเป็น SNARE proteins ชนิดหนึ่งที่สำคัญต่อกระบวนการหลั่งสารสื่อประสาทชนิด Acetylcholine (ACh) เป็นการยับยั้งการหลั่งสารสื่อประสาท (neurotransmitter) ของเซลล์ประสาท ดังนั้น กล้ามเนื้อบริเวณที่ได้รับการฉีด BoNT จึงเกิดการคลายตัว และไม่สามารถหดตัวได้ตามปกติ

ประโยชน์ของการฉีดโบท็อกซ์

           1. เนื่องจาก BoNT มีฤทธิ์ในการคลายกล้ามเนื้อ จึงถูกนำมาใช้ในทางการแพทย์เพื่อรักษาความผิดปกติของโรคทางกล้ามเนื้อ เช่น ตาเข ตาเหล่ ตากระตุก กล้ามเนื้อบิดเกร็ง รวมไปถึงอาการปวดศีรษะจากไมเกรน

           2. ลดเลือนริ้วรอยเหี่ยวย่นบนใบหน้า โดยสามารถทำให้กล้ามเนื้อบริเวณที่เกิดริ้วรอยคลายตัว และตึงขึ้นเป็นผลทำให้ดูริ้วรอยจางลง

           3. แก้ไขปรับรูปหน้าให้เรียวเล็ก ด้วยการฉีดโบท็อกซ์เข้าสู่บริเวณกล้ามเนื้อบริเวณกรามที่มีขนาดใหญ่ เพื่อให้กล้ามเนื้อในบริเวณนั้นคลายตัวและมีขนาดเล็กลง

           4. ปรับขนาดของกล้ามเนื้อบริเวณอื่นของร่างกายให้มีขนาดเล็กลง เช่น กล้ามเนื้อน่อง

ข้อจำกัดของการฉีดโบท็อกซ์

          1. เนื่องจากโบท็อกซ์เป็นสารพิษที่ทำให้เกิดการคลายตัวของกล้ามเนื้อและเป็นพิษต่อระบบประสาท ดังนั้นในผู้ที่มีความผิดปกติทางกล้ามเนื้อและความผิดปกติเกี่ยวกับระบบประสาท ไม่ควรฉีดโบท็อกซ์ เช่น โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง

          2. ผู้ที่แพ้สาร BoNT ไม่ควรฉีดโบท็อกซ์

          3. หญิงตั้งครรภ์หรือผู้ที่กำลังให้นมบุตรไม่ควรฉีดโบท็อกซ์

การปฏิบัติตัวก่อนการฉีดโบท็อกซ์

          1. ควรงดดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อย่างน้อย 1 สัปดาห์

          2. หยุดรับประทานยาแก้ปวดแอสไพรินและยาต้านการอักเสบอื่นๆ ก่อนการฉีดโบท็อกซ์ประมาณ 2 สัปดาห์ เพื่อลดโอกาสในการเกิดห้อเลือด

การปฏิบัติตัวหลังการฉีดโบท็อกซ์ 

          1. ภายหลังการฉีดโบท็อกซ์ ไม่ควรนอนราบเป็นเวลา 3-4 ชม.

          2. ไม่ควรถูนวดหรือคลึงบริเวณที่ฉีด และไม่ต้องประคบเย็น

          3. งดดื่มแอลกอฮอล์อย่างน้อย 2 สัปดาห์

          4. ไม่เคี้ยวอาหารข้างเดียว หรือขยับหน้าเยอะ

           จากบทความที่ได้กล่าวมาข้างต้นจะเห็นได้ว่า โบท็อกซ์สามารถออกฤทธิ์ต่อการทำงานของระบบประสาทและการคลายตัวของกล้ามเนื้อ จึงทำให้โบท็อกซ์ ถูกเรียกว่าเป็น “สารพิษมหัศจรรย์”(Miracle poison) ที่ถูกนำมาใช้ในทางการแพทย์เพื่อความงาม เพราะช่วยทำให้ริ้วรอยเหี่ยวย่นบนใบหน้าแลดูเต่งตึงและจางลง คืนความสาวความสวยให้กับผู้ที่มีปัญหาด้านริ้วรอยเหี่ยวย่นได้เป็นอย่างดีในปัจจุบัน แต่อย่างไรก็ดีนอกจากประโยชน์และข้อดีต่างๆ ที่ได้กล่าวมาแล้วนั้น โบท็อกซ์ยังมีข้อจำกัดและควรระวังอีกหลายข้อด้วยเช่นกัน ดังนั้นผู้ที่สนใจในการฉีดโบท็อกซ์จึงควรศึกษาหาความรู้ก่อนการฉีด เพื่อที่จะได้รับประโยชน์และประสิทธิภาพสูงสุดจากการฉีดโบท็อกซ์

 

เอกสารอ้างอิง

Bagus Komang Satriyasa. (2019). Botulinum toxin (Botox) A for reducing the appearance of facial wrinkles: a literature review of clinical use and pharmacological aspect. Clin Cosmet Investig Dermatol, 12: 223–228.

P K Nigam and Anjana Nigam. (2010). Botulinum toxin. Indian J Dermatol, 55(1): 8–14.

Shubha Ranjan Dutta, Deepak Passi, Mahinder Singh, Purnima Singh and Sarang Sharma. (2016). Botulinum toxin the poison that heals: A brief review. Natl J Maxillofac Surg, 7(1): 10–16.

Stephen S. Arnon, Robert Schechter, Thomas V. Inglesby, et al. (2008). Botulinum Toxin as a Biological Weapon: Medical and Public Health Management. JAMA, 285(8):1059-1070.