แหล่งสารสนเทศท้องถิ่นกับการพัฒนาที่ยั่งยืน

แหล่งสารสนเทศเป็นสถานที่จัดเก็บรวบรวมและให้บริการทรัพยากรสารสนเทศประเภทต่างๆ ซึ่งสามารถสนับสนุนยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศในด้านการเสริมสร้างและพัฒนาศักยภาพทุนมนุษย์ ที่มีเป้าหมายเพื่อให้คนในสังคมไทยทุกช่วงวัยมีทักษะ ความรู้ ความสามารถเพิ่มขึ้น มีการศึกษาที่มีคุณภาพตามมาตรฐานสากล มีนิสัยรักการเรียนรู้ มีความสามารถเรียนรู้และพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่องตลอดชีวิตอันจะนำไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนต่อไป

ความหมายของแหล่งสารสนเทศท้องถิ่น

แหล่งสารสนเทศท้องถิ่น (Local Information Resource) เป็นสถานที่จัดเก็บรวบรวมและให้บริการทรัพยากรสารสนเทศในท้องถิ่น โดยมุ่งให้ประชาชนในท้องถิ่นสามารถเข้าถึงความรู้ต่างๆ ได้ทุกที่ทุกเวลาโดยไม่มีข้อจำกัด รวมถึงสามารถใช้ประโยชน์จากแหล่งเรียนรู้ให้เป็นพื้นที่การเรียนรู้เชิงสร้างสรรค์ มีการเคลื่อนไหว มีชีวิต สามารถใช้เป็นแหล่งเรียนรู้ตลอดชีวิตสำหรับประชาชนในท้องถิ่น

ความหมายของการพัฒนาที่ยั่งยืน

การพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development) เป็นการพัฒนาทุกมิติตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ (United Nation) ที่กำหนดไว้ทั้งสิ้น 17 เป้าหมาย ครอบคลุมด้านการพัฒนามนุษย์ เศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม ความสงบสุขหรือสันติภาพ ความยุติธรรม และความเป็นหุ้นส่วนการพัฒนา โดยมุ่งให้ประเทศและประชาชนเกิดความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน อย่างพร้อมเพรียงและเท่าเทียม

แนวทางการพัฒนาแหล่งสารสนเทศท้องถิ่น

การพัฒนาแหล่งสารสนเทศท้องถิ่นมีแนวทางการดำเนินการดังนี้

1. การจัดหาทรัพยากรสารสนเทศ โดยการสำรวจความต้องการของประชาชนในท้องถิ่น จัดหารงบประมาณเพื่อจัดซื้อทรัพยากรสารสนเทศที่สอดคล้องกับความต้องการดังกล่าว การประชาสัมพันธ์บริการเพื่อสร้างการรับรู้สู่การใช้บริการ จากนั้นควรมีการติดตามและประเมินผลการดำเนินงาน

2. การจัดหาวัสดุครุภัณฑ์ วัสดุครุภัณฑ์เป็นองค์ประกอบสำคัญของแหล่งสารสนเทศท้องถิ่นเพื่อให้สามารถจัดบริการแก่ผู้ใช้บริการได้อย่างสมบูรณ์ ประกอบด้วย กลุ่มวัสดุครุภัณฑ์สารสนเทศ กลุ่มวัสดุครุภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ กลุ่มวัสดุครุภัณฑ์เสริมบรรยากาศและสภาพแวดล้อม

3. การจัดระบบสารสนเทศ การจัดระบบสารสนเทศเป็นการดำเนินการในกลุ่มงานเทคนิค ประกอบด้วยงานจัดหมวดหมู่ การทำสัญลักษณ์หมวดหมู่ การทำรายการทรัพยากรสารสนเทศ และการเตรียมทรัพยากรสารสนเทศก่อนการนำทรัพยากรสารสนเทศออกให้บริการ

4. การจัดภูมิทัศน์ การจัดภูมิทัศน์เป็นการดำเนินการเกี่ยวกับการออกแบบและตกแต่งพื้นที่แหล่งสารสนเทศท้องถิ่นให้มีบรรยากาศและสภาพแวดล้อมที่สวยงามและเหมาะสมต่อการให้บริการ อาจจำแนกออกเป็น 2 ลักษณะใหญ่ คือ การจัดภูมิทัศน์ภายในหรือการตกแต่งภายใน และการจัดภูมิทัศน์ภายนอกหรือการตกแต่งภายนอก โดยใช้หลักการ “เจริญตา พาเพลิน เจริญใจ”

5. การจัดหาหนังสือมนุษย์ (Human Book) เป็นการจัดหาบุคคลในชุมชนท้องถิ่น หรืออาจเรียนว่าปราชญ์ชาวบ้าน ปราชญ์ท้องถิ่น ทำหน้าที่เป็นวิทยากรให้ความรู้ หรือแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในประเด็นต่างๆ แก่ประชาชนในท้องถิ่นตามความสนใจ

6. การจัดกิจกรรมส่งเสริมการอ่าน เป็นการจัดกิจกรรมชุมชนสัมพันธ์ระหว่างแหล่งสารสนเทศกับท้องถิ่น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้ประชาชนเข้าใช้บริการแหล่งสารสนเทศเพิ่มมากขึ้น การจัดกิจกรรมส่งเสริมการอ่านสามารถดำเนินการได้หลายรูปแบบทั้งกิจกรรมเชิงวิชาการและกิจกรรมเชิงนันทนาการ โดยสามารถดำเนินกิจกรรมร่วมกับท้องถิ่นตามวาระโอกาสหรือเทศกาลที่กำหนดในแผนงานของท้องถิ่น หรืออาจดำเนินการเป็นเอกเทศตามแผนงานของตนเองตามความเหมาะสม

แหล่งสารสนเทศท้องถิ่นกับการพัฒนาที่ยั่งยืน

แหล่งสารสนเทศท้องถิ่นสามารถใช้เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนในมิติต่างๆ ตามตัวแบบรหัสอักษร L-O-C-A-L-I-T-Y ดังนี้

1. L-Life-long Learning ด้านแหล่งเรียนรู้ตลอดชีวิต

แหล่งสารสนเทศท้องถิ่นช่วยส่งเสริมสนับสนุนการเรียนรู้อย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต โดยมีบทบาทในแง่ของการเป็นศูนย์รวมข้อมูลความรู้ทุกประเภท ตัวอย่างของแหล่งสารสนเทศท้องถิ่นที่สำคัญ ได้แก่ ห้องสมุด พิพิธภัณฑ์ รวมถึงแหล่งสารสนเทศทางธรรมชาติและทางประวัติศาสตร์ ประชาชนในท้องถิ่นสามารถเข้าถึงแหล่งสารสนเทศต่างๆ ดังกล่าวได้อย่างสะดวก เนื่องจากมีสถานที่ตั้งกระจายอยู่ทั่วไปในท้องถิ่น ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่างมีการกำหนดนโยบายหลายประการเพื่อการพัฒนาแหล่งสารสนเทศโดยเฉพาะแหล่งสารสนเทศประเภทห้องสมุด เช่น นโยบายห้องสมุด 3 ดี นโยบายห้องสมุดมีชีวิต นโยบายห้องสมุดในฝัน นโยบายห้องสมุดสีเขียว เป็นต้น เมื่อแหล่งสารสนเทศได้รับการพัฒนาตามนโยบายต่างๆ ดังกล่าวแล้วจะส่งผลที่เป็นประโยชน์ไปยังประชาชนผู้ใช้บริการในทุกมิติ โดยมีเป้าหมายสำคัญคือการที่ประชาชนมีทักษะการรู้สารสนเทศ (Information Literacy Skills)

2. O-Opportunity for All ด้านโอกาสสำหรับทุกคน

แหล่งสารสนเทศท้องถิ่นเป็นสถานที่ที่เปิดโอกาสให้ประชาชนทุกคนสามารถเข้าถึงความรู้ได้อย่างเสรีโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย การที่แหล่งสารสนเทศเปิดโอกาสทางความรู้ให้กับทุกคนย่อมส่งผลให้บุคคลนั้นมีความรู้และนำไปสู่การได้รับโอกาสด้วยเช่นเดียวกัน (Opportunity for All and Knowledge is Opportunity) อาจกล่าวได้ว่าแหล่งสารสนเทศถือเป็นสถาบันทางสังคมประเภทหนึ่งที่ช่วยสนับสนุนส่งเสริมให้สถาบันหลักมีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น หากเปรียบสถานศึกษาว่าเป็นแหล่งให้ความรู้ในระบบ แหล่งสารสนเทศย่อมเปรียบเสมือนแหล่งให้ความรู้นอกระบบหรือตามอัธยาศัย เช่นเดียวกับหากเปรียบสถานพยาบาลว่าเป็นแหล่งเยียวยารักษาโรคโดยทางตรง แหล่งสารสนเทศย่อมเปรียบเสมือนเป็นแหล่งเยียวยารักษาโรคโดยทางอ้อม โดยเฉพาะโรคทางปัญญา

3. C-Career Promotion ด้านการส่งเสริมอาชีพ

แหล่งสารสนเทศท้องถิ่นช่วยส่งเสริมการพัฒนาอาชีพในท้องถิ่น ประชาชนสามารถศึกษาค้นคว้าข้อมูลข่าวสารด้านการงานอาชีพจากทรัพยากรสารสนเทศที่มีให้บริการ ทั้งทรัพยากรสารสนเทศที่เป็นสื่อสิ่งพิมพ์ สื่ออิเล็กทรอนิกส์ รวมถึงสื่อบุคคลเช่นหนังสือมนุษย์ แหล่งสารสนเทศสามารถจัดบริการหรือกิจกรรมการฝึกอาชีพแก่ประชาชนเพื่อยกระดับรายได้ในท้องถิ่นได้ แม้ว่าแหล่งสารสนเทศจะไม่ได้มีพันธกิจโดยตรงในด้านการส่งเสริมพัฒนาอาชีพแก่ประชาชน แต่การให้บริการความรู้ทางอาชีพถือว่าเป็นการส่งเสริมพัฒนาอาชีพโดยอ้อมในแง่ของการช่วยสร้างแรงบันดาลใจและอาจจุดประกายให้ประชาชนเกิดแนวคิดในการสร้างอาชีพของตนเองเพื่อความมั่นคงและมั่งคั่งต่อไป

4. A-Aging Society ด้านสังคมผู้สูงวัย

แหล่งสารสนเทศท้องถิ่นช่วยสนับสนุนการเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยได้หลายรูปแบบ เช่น การจัดหาทรัพยากรสารสนเทศเกี่ยวกับผู้สูงวัย โดยเฉพาะสารสนเทศเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ อาหาร โภชนาการ การออกกำลังกาย รวมถึงเทคโนโลยีสำหรับผู้สูงวัย เป็นต้น รวมถึงการใช้พื้นที่ของแหล่งสารสนเทศจัดกิจกรรมสำหรับผู้สูงวัยในวาระโอกาสต่างๆ นอกจากนี้ ผู้สูงวัยถือว่าเป็นผู้มีประสบการณ์ชีวิตมาอย่างยาวนานย่อมมีองค์ความรู้ในด้านใดด้านหนึ่งในตนเอง แหล่งสารสนเทศสามารถนำคุณสมบัติดังกล่าวมาใช้ประโยชน์โดยการเชิญผู้สูงวัยเป็นหนังสือมนุษย์เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้แก่บุคคลรุ่นหลังได้ต่อไป และยังเป็นการสร้างคุณค่าให้แก่ผู้สูงวัยอีกด้วย

5. L-Local Wisdom ด้านภูมิปัญญาท้องถิ่น

แหล่งสารสนเทศท้องถิ่นเป็นแหล่งรวบรวมจัดเก็บและเผยแพร่ภูมิปัญญาท้องถิ่น ซึ่งท้องถิ่นสามารถจัดทำในรูปแบบของพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น โดยรวบรวมวัตถุโบราณ ผลิตภัณฑ์ รวมถึงทรัพยากรธรรมชาติทั้งพืชและสัตว์ที่เป็นวิถีชีวิตในท้องถิ่นนำมาจัดแสดง โดยการออกแบบวัสดุ ครุภัณฑ์ รวมถึงวัตถุที่จัดแสดงที่เป็นอัตลักษณ์ของท้องถิ่น วัตถุที่จัดแสดงอาจใช้ของจริง ของตัวอย่าง ของจำลอง ภาพเขียน ภาพถ่าย ประติมากรรม วัสดุสามมิติ รวมถึงการใช้สื่อผสม แสง สี เสียง ประกอบการจัดแสดงเพื่อให้มีความน่าสนใจมากยิ่งขึ้น แหล่งสารสนเทศประเภทพิพิธภัณฑ์สามารถพัฒนาสู่การเป็นแหล่งท่องเที่ยวในท้องถิ่นได้หากมีการบริหารจัดการอย่างเหมาะสม

6. I-Identity Preservation ด้านการอนุรักษ์อัตลักษณ์

แหล่งสารสนเทศท้องถิ่นช่วยอนุรักษ์อัตลักษณ์ซึ่งเป็นภาพลักษณ์โดยองค์รวมของของท้องถิ่นที่มีลักษณะเฉพาะตัวและโดดเด่นทำให้ท้องถิ่นนั้นเป็นที่รู้จักหรือเป็นภาพจำแก่บุคคลทั่วไป อัตลักษณ์ของท้องถิ่นอาจกำหนดขึ้นจากสิ่งดีสิ่งเด่นที่มีอยู่ในท้องถิ่นแล้วนำมาร้อยเรียงเป็นคำขวัญที่คล้องจองเพื่อให้จดจำได้ง่ายเช่นเดียวกับการกำหนดคำขวัญประจำจังหวัดต่างๆ โดยนำมาย่อส่วนลงให้มีขอบเขตเฉพาะพื้นที่ของตนเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากท้องถิ่นสามารถเชื่อมโยงชื่อผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นกับชื่อพื้นที่ทางภูมิศาสตร์ที่เรียกว่า “สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (Geographical Indications หรือ GI)” จะช่วยยกระดับคุณภาพผลิตภัณฑ์ให้เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลายและนับเป็นทรัพย์สินทางปัญญาของท้องถิ่น แหล่งสารสนเทศมีบทบาทสำคัญในด้านการเป็นศูนย์กลางอนุรักษ์ผลิตภัณฑ์ที่เป็นอัตลักษณ์ของท้องถิ่นดังกล่าวเพื่อให้สามารถสืบสานยังชนรุ่นหลังต่อไป

7. T-Transformation Process ด้านกระบวนการเปลี่ยนแปลง

แหล่งสารสนเทศท้องถิ่นสามารถเป็นองค์กรแกนนำในกระบวนการเปลี่ยนแปลงได้ ซึ่งสอดคล้องกับบริบท “ความปกติใหม่” หรือ “ชีวิตวิถีใหม่” (New Normal) ที่หมายถึงการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการดำเนินชีวิตประจำวันของประชาชนจากวิถีเดิมสู่วิถีใหม่ ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับพันธกิจของแหล่งสารสนเทศในฐานะที่เป็นแหล่งสนับสนุนการเรียนรู้จึงต้องปรับเปลี่ยนบทบาทไปตามบริบทใหม่เช่นเดียวกัน เช่น พฤติกรรมการบริโภคข้อมูลข่าวสารของประชาชนเปลี่ยนแปลงไปจากการอ่านหนังสือเล่มเป็นการอ่านข้อมูลข่าวสารจากสื่อออนไลน์ รูปแบบการเรียนรู้เปลี่ยนแปลงไปจากการศึกษาในชั้นเรียนเป็นการศึกษาแบบออนไลน์ ดังนั้น แหล่งสารสนเทศจึงต้องปรับเปลี่ยนบทบาทของตนเองโดยการจัดหาและบริการข้อมูลข่าวสาร วัสดุอุปกรณ์ประเภทสื่ออิเล็กทรอนิกส์เพิ่มมากขึ้น รวมถึงการให้บริการเชิงรุกแบบออนไลน์มากยิ่งขึ้นด้วย

8. Y-Yield Goal ด้านเป้าหมายผลผลิต

เป้าหมายสูงสุดของการพัฒนาคือการ “พัฒนาคน” ผลผลิตของการพัฒนาคนคือการ “อยู่ดีมีสุข” ซึ่งมีความหมายถึงความเจริญทั้งทางด้านเศรษฐกิจ (อยู่ดี) และด้านสังคม (มีสุข) แหล่งสารสนเทศมีบทบาทสำคัญในการช่วยส่งเสริมสนับสนุนให้การพัฒนาคนมีความสมบูรณ์ทั้งทางด้านร่างกาย จิตใจ และโดยเฉพาะด้านปัญญา (Wisdom) ซึ่งเป็นยอดสูงสุดของปิรมิดความรู้ แหล่งสารสนเทศสามารถให้บริการอาหารทางปัญญาคือข้อมูลข่าวสารที่เป็นประโยชน์แก่ประชาชน ซึ่งเมื่อประชาชนมีปัญญาแล้วย่อมส่งผลถึงทางกายภาพคือสมรรถนะที่เป็นเลิศในการประกอบสัมมาชีพ และจะส่งผลไปยังสภาวะเศรษฐกิจที่ดี เมื่อสภาวะเศรษฐกิจดีย่อมส่งผลย้อนกลับไปสู่สังคมที่ดีเช่นกัน ซึ่งเป็นวัฏจักรการพัฒนาในอุดมคติที่ทุกสังคมต้องการ

บทสรุป

แหล่งสารสนเทศเป็นสถาบันทางสังคมที่ช่วยส่งเสริมพัฒนาศักยภาพด้านภูมิปัญญาแก่บุคคล ด้วยความสำคัญดังกล่าวจึงมีการจัดตั้งแหล่งสารสนเทศท้องถิ่นในรูปแบบที่หลากหลาย โดยมีการดำเนินการเพื่อมุ่งพัฒนาแหล่งสารสนเทศให้เป็น “คลังปัญญา” การพัฒนาแหล่งสารสนเทศท้องถิ่นสามารถดำเนินการได้หลายรูปแบบ โดยมุ่งให้เกิดมโนทัศน์องค์รวมในด้าน “เจริญตา พาเพลิน เจริญใจ” หากแหล่งสารสนเทศท้องถิ่นสามารถจัดบริการและกิจกรรมได้อย่างสมบูรณ์เต็มตามศักยภาพแล้ว จะก่อให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืนในด้านต่างๆ ได้แก่ ด้านการเป็นแหล่งเรียนรู้ตลอดชีวิต ด้านโอกาสสำหรับทุกคน ด้านการส่งเสริมอาชีพ ด้านสังคมผู้สูงวัย ด้านภูมิปัญญาท้องถิ่น ด้านการอนุรักษ์อัตลักษณ์ ด้านกระบวนการเปลี่ยนแปลง และ ด้านเป้าหมายผลผลิต โดยมีเป้าหมายสูงสุดของการพัฒนาคือการพัฒนา “คน” ให้มีความ “อยู่ดีมีสุข” ในสังคมวิถีใหม่หรือความปกติใหม่ ซึ่งจะส่งผลถึงการพัฒนาท้องถิ่น สังคม และประเทศชาติโดยองค์รวมอย่างยั่งยืนต่อไป

บรรณานุกรม

ชลลดา พงศ์พัฒนโยธิน. (2560). สารสนเทศเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น. กรุงเทพฯ: สหธรรมิก.

ยุทธศาสตร์ชาติ พ.ศ. 2561–2580 ฉบับประกาศราชกิจจานุเบกษา. (2561). กรุงเทพฯ: สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ.

สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน). (2556). ความรู้คือโอกาส Knowledge is Opportunity. สืบค้นจาก http://www.okmd.or.th/okmd- kratooktomkit/154 /knowledge-is-opportunity

สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ. (2022). ประเทศไทยกับการพัฒนาที่ยั่งยืน. สืบค้นจาก https://sdgs.nesdc.go.th/

Guyer, J. P. (2017). An Introduction to Architectural Design of Libraries. El Macero, CA: The Clubhouse Press.

Lesneski, T. (2011). 10 Steps to a Better Library Interior. Library Journal, pp. 6–8.