แลนด์อาร์ต (Land art)
โดย ผศ.ชัยณรงศ์ วิรุฬพัฒน์
สาขาวิชาครีเอทีพกราฟิก คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ BSRU
ช่วงต้นคริสต์ทศวรรษ 1960-ปลาย 1970 ในโลกของศิลปะตะวันตกอย่างสหรัฐอเมริกาและยุโรป กระแสการกลับไปหาธรรมชาติ เริ่มมีให้เห็นตั้งแต่กลางคริสต์ทศวรรษ 1960 บางคนเรียกศิลปะในกระแสแบบนี้ว่า ศิลปะสิ่งแวดล้อม หรือ Environmental art แต่ชื่อที่เรียกติดปากติดกระแสมากกว่าคือ Earth art และ Land art ศิลปินมีจุดร่วมกันคือ ปฏิเสธศิลปะในเชิงธุรกิจการค้า สนับสนุนกระแสทางด้านอนุรักษ์สภาพแวดล้อม มีแนวโน้มต่อต้านอารยธรรมเมืองและมีความคิดในเชิงจิตวิญญาณ ผลงานมักจะมีลักษณะเด่นตรงที่เป็นประติมากรรมขนาดใหญ่ คล้ายศิลปะโบราณยุคก่อนประวัติศาสตร์ ที่ทำลงบนพื้นดินและทุ่งหญ้า
กระบวนแบบแลนด์อาร์ต ศิลปินคนสำคัญ เช่น คริสโตและจีนน์ โกลด (Christo and Jeanne-Claude) “Wrapped Coast” ค.ศ. 1969 สถานที่อ่าวลิตเติลเบย์ ออสเตรเลีย ใช้ผ้าและเชือกยาว 36 ไมล์ ใช้ผ้าห่อหน้าผ่าตลอดทั้งแนวมีความยาว ประมาณ 1 ไมล์ ตามแนวคิดของ ศิลปินทั้ง 2 คน คือ เป็นการถ่ายทอดความรู้สึกและลมหายใจของ ความเป็นมนุษย์ไปสู่ทิวทัศน์อันกว่างใหญ่ กับความต้องการที่จะสนุกสนานเพลิดเพลินไปกับธรรมชาติ ท้าทายให้ผู้ชมต้องเผชิญหน้ากับสิ่งแปลก ๆ และดึงดูดความสนใจไปสู่สิ่งก่อสร้างที่ยิ่งใหญ่ ที่สะท้อนความคิดลึก ๆ บางอย่างให้น่าติดตาม ถือเป็นผลงานที่สร้างความตกตะลึงให้กับผู้ชม
โรเบิร์ต สมิธสัน (Robert Smithson) ผลงานที่มีชื่อเสียง คือ Spiral Jetty ปี 1970 ผลงานนี้สร้างเป็นท่าเรือรูปก้นหอยเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 457 เมตร ยื่นออกไปในทะเลสาบ The Great Salt Lake ใน Utah สหรัฐอเมริกา สมิธสัน เปิดเผยในบทความ ท่าเรือรูปก้นหอย ตีพิมพ์ครั้งแรกปี 1972 เขาอธิบายครั้งแรกก่อนสร้างในเดือนเมษายน ค.ศ. 1970 “ตามหลักเคมี เลือดเนื้อของมนุษย์มีองค์ประกอบคล้ายท้องทะเลในยุคกำเนิดโลก การเดินตามเกลียวก้นหอย หมายถึงการย้อนกลับไปยังจุดกำเนิด ไปสู่ที่มาแห่งเนื้อเยื่อโปรโตรปลาสซึม ดวงตาหนึ่งเดียวล่องลอยไปมาบนคาบสมุทรสมัยก่อนน้ำท่วมโลก…ดวงตาผมกลายเป็นห้องสันดาปที่กำลังปั่นเม็ดเลือดอันเดือดพล่านเพราะแสงจากดวงอาทิตย์” (มิชาเอล ไลลัค, 2009, น. 88) สไปรัล เจทตี้เป็นสัญลักษณ์ของความอนันต์ไม่มีที่สิ้นสุด การแปรสภาพไปตามสภาวะดินฟ้าอากาศ สมิธสัน หลีกหนีพื้นที่ปิดอย่างหอศิลป์และแกลเลอรี ไปสู่พื้นที่ธรรมชาติอันไกลโพ้นไปจากเมือง ศิลปินมุ่งที่จะนำเสนอศิลปะในโลกแห่ง ความจริงด้วยการนำผลงานไปอยู่ในพื้นที่ธรรมชาติ
ริชาร์ด ลอง (Richard Long) ชาวอังกฤษที่ทำงานศิลปะในพื้นที่ธรรมชาติ เช่น ทุ่งหญ้า ภูเขาและลำธาร ผลงานของเขามีความสัมพันธ์อย่างกลมกลืนแบบถ้อยทีถ้อยอาศัยกับสภาพแวดล้อม แตกต่างไปจากศิลปิน เอิร์ธอาร์ต ชาวอเมริกันที่มักจะทำงานแบบอลังการใหญ่โต และในบางกรณีก็กลายเป็นรุกรานธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นการขุดภูเขา การถมทะเล การนำก้อนหินใหญ่ไปจัดวางในท้องทุ่ง แต่สำหรับริชาร์ด ลอง การทำงานเป็นไปอย่างเรียบง่ายสงบงาม เขาแค่เดินไปในท้องทุ่งเด็ดดอกไม้ เคลื่อนย้ายก้อนหินก้อนเล็กก้อนน้อย หรือนำกิ่งไม้มาวางเรียงเป็นรูปทรงง่าย ๆ เช่น เป็นเส้นตรงหรือเรียงเป็นวงกลม ผลงานของ ลอง จะค่อย ๆ เสื่อมสลายไปตามธรรมชาติ หรือปลิวไปตามแรงลมแรงฝน หรือไม่ก็หิมะกลบจนมันลบเลือนไป ผลงานจะคงอยู่เป็นหลักฐานในภาพถ่ายที่สวยงาม หรือไม่ก็เศษวัสดุที่เขาเก็บมาวางโชว์ในแกลเลอรี่ ในฐานะที่เป็นบันทึกรายงาน การทำงานในธรรมชาติที่ห่างไกลจากผู้คน
วอลเตอร์ เดอ มาเรีย (Walter De Maria) สร้างผลงานที่โดดเด่น คือ ไลท์นิ่ง ฟิลด์ (Lightning Field) ในปี 1971-1977 เขานำเสาสเตนเลสนับร้อยต้นไปปักอยู่ในท้องทุ่งที่ราบสูงตอนเหนือของเมืองเกวมันโด มลรัฐนิวเม็กซิโก ศิลปินใช้พื้นที่ขนาด 1 ไมล์ คูณ 1 กิโลเมตรฝังแท่งเหล็กสเตนเลสจำนวน 400 แท่ง โดยปล่อยให้มีส่วนที่ยื่นออกมาจากฐานรากที่ปูด้วยคอนกรีตบนพื้นทะเลทราย ตามระยะห่าง 66 เมตรเท่า ๆ กัน ด้วยการวัดอย่างแม่นยำทำให้แท่งเหล็กโผล่ขึ้นเหนือพื้นดินในระดับเท่ากันพอดี ความงามที่สอดประสานจะเกิดขึ้นในยามที่มีพายุฝนฟ้าคะนอง เมื่อสายฟ้าฟาดใส่แท่งเหล็กสแตนเลสเหล่านั้นนั่นเอง (มิชาเอล ไลลัค, 2009, น. 38)
ศิลปินที่สร้างงานในแนวทางนี้ ได้แก่ อลิซ อายค็อค (Alice Aycock, 1946-), คริสโต (Christo), แจน ดิบเบ็ทส์ (Jan Dibbets, 1941-), แฮมิช ฟูลตัน (Hamish Fulton, 1946-), ไมเคิล ไฮเซอร์ (Michael Heizer, 1944-),ริชาร์ด ลอง (Richard Long, 1945-), วอลเตอร์ เดอ มาเรีย (Walter de Maria) โรเบิร์ต มอร์ริส (Rober Morris) โรเบิร์ต สมิธสัน (Robert Smithson, 1938-1973) เป็นต้น
สรุป ศิลปะหลังสมัยใหม่ มีแนวกลวิธีการสร้างงานด้วยสื่อใหม่ใช้วัสดุหลากหลายชนิด สถานที่หรือสภาพแวดล้อมต่าง ๆ ไม่ใช่อุปสรรคต่อการสร้างสรรค์ ในทางกลับกันพื้นที่เหล่ากับต่อยอดความคิดสำหรับนักสร้างสรรค์ที่พยายามทดลอง ค้นหาสุนทรียภาพแบบใหม่ หรือบางครั้งศิลปินบางท่านสร้างผลงานของเขามีความสัมพันธ์อย่างกลมกลืนแบบถ้อยทีถ้อยอาศัยกับสภาพแวดล้อมก็มี Land art นอกจากจะแสดงให้เห็นความยิ่งใหญ่ของธรรมชาติ หรือสิ่งต่าง ๆ แล้ว ที่สำคัญยังให้อิทธิพลทางความคิดยังศิลปะแนวทางใหม่ในช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 20 อีกด้วย
เอกสารอ้างอิง
ภาษาไทย
กำจร สุนพงษ์ศรี. (2554). ศิลปะสมัยใหม่. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
จารุพรรณ ทรัพย์ปรุง. (2548). ประวัติศาสตร์ศิลป์ตะวันตก. กรุงเทพฯ: คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา.
จิระพัฒน์ พิตรปรีชา. (2552). โลกศิลปะศตวรรษที่ 20. กรุงเทพฯ: เมืองโบราณ.
ไลลัค, มิชาเอล. (2552). แลนด์อาร์ต. กรุงเทพฯ: บริษัท เดอะเกรทไฟน์อาร์ท จำกัด.
พรสนอง วงศ์สิงทอง. (2547). ประวัติศาสตร์นฤมิตศิลป์. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
อ้างอิงภาพ
https://holtsmithsonfoundation.org/spiral-jetty
https://mltpl.art/artwork/christo-surrounded-islands/
https://www.researchgate.net/figure/La-Spiral-Jetty-vue-du-ciel_fig1_335011700