แบบวัดความเข้มแข็งทางจิตใจทางบุคลิกภาพ (Trait-Resilience Measurement)

ความเข้มแข็งทางจิตใจนั้นเป็นปัจจัยที่ทำให้บุคคลสามารถบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ได้ซึ่งความเข้มแข็งทางจิตใจมีอิทธิพลต่อผลกระทบทางบวก (Positive effect) และช่วยทำให้บุคคลมีทัศนคติที่ดีต่อตนเอง เห็นคุณค่าในเองรวมทั้งมีความเชื่อมั่นในความสามารถของตนเองมากยิ่งขึ้น และปัจจัยดังกล่าวช่วยผลักดันที่ทำให้บุคคลสามารถไปถึงเป้าหมายได้ (Benetti & Kambouropoulos, 2006) ความเข้มแข็งทางจิตใจนั้นเป็นแหล่งทรัพยากรภายใน (Internal resource) ตัวบุคคลที่ช่วยทำให้ปรับตัวต่อสิ่งแวดล้อมที่ไม่คุ้นเคย หรือสถานการณ์ที่มีความกดดันสูงได้เป็นอย่างดี  ทำให้สามารถจัดการสถานการณ์ในเชิงบวกได้อย่างเหมาะสมและสร้างสรรค์ ซึ่งความเข้มแข็งทางจิตใจนี้ทำให้บุคคลปรับตัวในสองมิติ  มิติที่หนึ่งคือการปรับตัวกับเหตุการณ์และมิติที่สองคือการปรับตัวและการจัดการกับอารมณ์ เช่น การจัดการความเครียด การควบคุมตนเองภายใต้ความวิตกกังวล เป็นต้น ทั้งนี้บุคคลที่มีความเข้มแข็งทางจิตใจเมื่อต้องเผชิญกับปัญหาและเกิดความรู้สึกทางลบ บุคคลนั้นจะไม่เพียงแต่ปรับตัวและรับมือกับความรู้สึกของตนเองได้เท่านั้น แต่จะสามารถพลิกสถานการณ์ดังกล่าวกลับมาเป็นประสบการณ์เชิงบวกได้อีกด้วย (Connor & Davidson, 2003; Campbell & Stein, 2007) การศึกษาเกี่ยวกับความเข้มแข็งทางจิตใจและการศึกษาเกี่ยวกับแบบวัดความเข้มแข็งทางจิตใจจึงมีความสำคัญต่อการพัฒนาสุขภาพจิต และช่วยพัฒนาบุคคลได้อย่างมีประสิทธิภาพ   ผู้เขียนนำเสนอรายละเอียดเกี่ยวกับความเข้มแข็งทางจิตใจแบ่งเป็น 2 มิติประกอบด้วย ทฤษฎีพื้นฐานของความเข้มแข็งทางจิตใจและการวัดความเข้มแข็งทางจิตใจทางบุคลิกภาพ โดยมีรายละเอียดดังนี้

1. ทฤษฎีพื้นฐานของความเข้มแข็งทางจิตใจ

ความเข้มแข็งทางจิตใจเป็นแนวคิดที่ได้รับความสนใจเป็นอย่างมากโดยเฉพาะอย่างยิ่งในการวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตวิทยาเชิงบวก  ทั้งนี้เนื่องจากความเข้มแข็งทางจิตใจนั้นมีนักวิจัยที่ทำการศึกษาตัวแปรดังกล่าวด้วยหลักการและแนวคิดที่แตกต่างกัน เนื่องจากทฤษฎีที่เกี่ยวข้องกับความเข้มแข็งทางจิตใจนั้นยังไม่มีทฤษฎีที่ใช้อธิบายได้อย่างครอบคลุมหรือได้การยอมรับอย่างชัดเจนอย่างไรก็ตาม ทฤษฎีของความเข้มแข็งทางจิตใจสามารถแบ่งได้เป็น 2 กลุ่มหลัก ๆ  ได้แก่ ทฤษฎีความเข้มแข็งทางจิตใจจากแหล่งต่าง ๆ ในชีวิต และความเข้มแข็งทางจิตใจในเชิงบุคลิกภาพซึ่งมีรายละเอียดดังนี้

ทฤษฏีความเข้มแข็งทางจิตใจจากแหล่งต่าง ๆ ในชีวิต (Source of resilience)

          แนวคิดที่สำคัญในการศึกษาความเข้มแข็งทางจิตใจในทฤษฎีนี้ มีรากฐานจากการศึกษาเกี่ยวกับความเข้มแข็งทางจิตใจในโครงการ The International Resilience Research Project (IRRP) ปี ค.ศ. 1993 โดย Edith Grotberg (Grotberg, 1995)  โครงการดังกล่าวทำการศึกษาความเข้มแข็งทางจิตใจในกลุ่มตัวอย่างจากหลายประเทศทั่วโลก รวมถึงประเทศไทยโครงการดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาปัจจัยที่เสริมสร้างความเข้มแข็งทางจิตใจของเด็กและการพัฒนาความเข้มแข็งทางจิตใจในชีวิต โครงการวิจัยดังกล่าวดำเนินการสัมภาษณ์บิดามารดาหรือผู้ปกครองเกี่ยวกับการตอบสนองต่อสถานการณ์ที่ยากลำบากต่าง ๆ ซึ่งสถานการณ์ดังกล่าวที่นำมาสัมภาษณ์นั้นเป็นสถานการณ์ที่ผู้วิจัยสร้างขึ้นและสถานการณ์จริงในชีวิตของกลุ่มตัวอย่าง ผลจากการศึกษาพบว่าองค์ประกอบที่เสริมสร้างให้เกิดความเข้มแข็งทางจิตใจมีความคล้ายคลึงกันในทุกประเทศที่ทำการศึกษาและสามารถสรุปเกี่ยวกับแหล่งของความเข้มแข็งของชีวิตได้ ดังนี้

Grotberg (1995) ได้เสนอองค์ประกอบของที่เป็นแหล่งของความเข้มแข็งทางจิตใจ ได้แก่ 3 แหล่งได้แก่ฉันเป็น (I am) ฉันสามารถ (I can) และฉันมี (I have) โดยองค์ประกอบของความเข้มแข็งทางจิตใจของเด็กและวัยรุ่นมีรายละเอียดดังนี้ 

1. องค์ประกอบฉันเป็น (I am) หมายถึง การที่บุคคลมีทรัพยากรภายในตนเองที่ช่วยทำให้เอื้อให้ต่อสู้ผ่านพ้นอุปสรรคต่าง ๆ  ซึ่งเป็นความคิดความรู้สึก ทัศนคติและความเชื่อทางบวกเกี่ยวกับตนเอง ได้แก่ การเป็นที่รักและแสดงความรักต่อผู้อื่นอย่างเหมาะสม มีความเห็นอกเห็นใจและความเข้าใจผู้อื่น  มีความภาคภูมิใจในตนเอง การเป็นตัวของตนเองและมีความรับผิดชอบการกระทำของตนเอง และมีความหวัง และศรัทธากับสิ่งที่ถูกต้อง  ซึ่งคุณสมบัติดังกล่าวนั้นเป็นสิ่งที่ช่วยทำให้บุคคลนั้นจัดการปัญหาได้เป็นอย่างดี

2. องค์ประกอบฉันสามารถ (I can) หมายถึง ความสามารถและทักษะของบุคคลในการจัดการสถานการณ์ของชีวิต ประกอบด้วย ความสามารถในการสื่อสารกับบุคคลอื่น ความสามารถในการแก้ปัญหาและการจัดการกับปัญหาที่เกิดขึ้น ความสามารถในการจัดการกับความรู้สึกและสิ่งยั่วยุ การรู้เท่าทันอารมณ์และความรู้สึกของตนเองและผู้อื่น ความสามารถในการสร้างสัมพันธภาพที่น่าไว้วางใจ  

3. องค์ประกอบฉันมี (I have) หมายถึง การที่บุคคลนั้นมีแหล่งสนับสนุนจากภายนอก ที่ช่วยส่งเสริมให้บุคคลนั้นเกิดความรู้สึกมั่นคงและปลอดภัย และก่อให้เกิดความเข้มแข็งทางจิตใจ ประกอบด้วย การมีความสัมพันธ์ที่ไว้วางใจได้จากบุคคลรอบข้างการมีกรอบกฎเกณฑ์ที่ถูกต้องในการใช้ชีวิต  การมีตัวอย่างที่ดี การได้รับอิสระและพึ่งพาตนเอง และการได้รับสวัสดิการที่สำคัญ ๆ เช่น การศึกษา การบริการทางสุขภาพและความปลอดภัย แนวคิดดังกล่าวนั้นเป็นแนวคิดที่ได้รับการยอมรับและนำมาศึกษาอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน (กรมสุขภาพจิต, 2552; สุคนธ์จิต อุปนันชัย, 2556 และดวงพร กิตติสุนทร, 2559)

 

ความเข้มแข็งทางจิตใจเชิงบุคลิกภาพ  (Trait resilience)

ความเข้มแข็งทางจิตใจในแนวคิดทฤษฎีของกลุ่มนี้ให้ความสนใจเกี่ยวกับคุณลักษณะส่วนบุคคลหรือองค์ประกอบภายในบุคคลที่สำคัญต่อการพัฒนาตนเอง  มีความยืดหยุ่นและมีความสามารถในการปรับตัวได้เป็นอย่างดี  โดยมีจุดมุ่งเน้นให้บุคคลนั้นมีสุขภาพจิตที่ดีเนื่องจากในเวลาที่บุคคลต้องเผชิญกับสภาพปัญหา  หรือวิกฤตต่าง ๆ ในชีวิต  หรือสถานการณ์ที่ไม่พึงประสงค์ในชีวิตประจำวัน เช่น การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในชีวิต  ความเจ็บป่วย  ความยากลำบากต่าง ๆ เหล่านั้นจะเป็นปัจจัยที่ช่วยส่งเสริมให้บุคคลได้เรียนรู้และมีความเข้มแข็งทางจิตใจและก้าวผ่านอุปสรรคต่าง ๆ ไปได้ (Connor & Davidson, 2003)

ความเข้มแข็งทางจิตใจนั้น จะมุ่งเน้นการศึกษาเกี่ยวกับคุณลักษณะของบุคคลในการเผชิญอุปสรรคต่าง ๆ ในชีวิตได้อย่างเข้มแข็ง  รวมทั้งสามารถปรับตัวได้อย่างเหมาะสม  และสามารถกลับมาใช้ชีวิตได้ปกติได้อย่างรวดเร็วเมื่อต้องเผชิญกับความตึงเครียดในชีวิต ซึ่งเป็นความเข้มแข็งทางจิตใจตามสถานการณ์ (State resilience)  ซึ่งความเข้มแข็งดังกล่าวนั้นขึ้นอยู่กับบริบทของเหตุการณ์และสภาพปัญหาที่เกิดขึ้น  ซึ่งลักษณะของความเข้มแข็งดังกล่าวนั้นไม่คงที่สามารถเปลี่ยนแปลงได้  ในขณะที่การศึกษาในยุคหลัง ๆ นั้นเริ่มให้ความสำคัญของความเข้มแข็งทางจิตใจที่เป็นลักษณะนิสัยหรือบุคลิกภาพของบุคคลมากยิ่งขึ้น (Trait resilience)  ซึ่งข้อดีของความเข้มแข็งทางจิตใจดังกล่าวนั้น เป็นคุณลักษณะของบุคคลที่ค่อนข้างคงที่มีการแสดงพฤติกรรมอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งความเข้มแข็งทางจิตใจดังกล่าว ให้ความสำคัญกับความสามารถของบุคคลในการเผชิญกับปัญหาและความตึงเครียด โดยมีการปรับตัวเปลี่ยนแปลงตนเองต่อสถานการณ์รอบตัว  และเป็นคนที่มีความยืดหยุ่นในการใช้ชีวิต  ซึ่งปัจจัยดังกล่าวนั้น จะเกิดขึ้นได้จากปัจจัยภายในของบุคคล ทำให้บุคคลสามารถจัดการกับปัญหาหรือพัฒนาตนเองให้จัดการกับปัญหาได้ในที่สุด (Connor & Davidson, 2003; Campbell & Stein, 2007)

Earvolino‐Ramirez (2007) ได้อธิบายกลไกลการเกิดความเข้มแข็งทางจิตใจแบ่งออกเป็น 3 ส่วน ได้แก่ ส่วนที่หนึ่งคือคุณลักษณะของบุคคล (Attributes)  ส่วนที่สองคือปัจจัยนำเข้า (Antecedents) และส่วนสุดท้ายคือผลที่เกิดขึ้น (Consequence)  ทั้งนี้โดยกระบวนการที่ทำให้บุคคลมีความเข้มแข็งทางจิตใจ ประกอบด้วย

1. ปัจจัยที่ทำให้บุคคลมีความเข้มแข็งทางจิตใจนั้น ประกอบด้วยกันสองปัจจัยหลัก คือปัจจัยป้องกัน (Protective factors) ซึ่งเป็นสภาพแวดล้อมของบุคคลที่ช่วยทำให้สามารถเผชิญหน้าและแก้ไขปัญหาได้ ได้แก่ การมีสัมพันธภาพที่ดีกับผู้อื่น  รวมทั้งการได้รับการสนับสนุนจากสังคมที่เพียงพอ  ในขณะเดียวกันปัจจัยภายในบุคคลนั้นก็มีส่วนช่วยที่ทำให้บุคคลเกิดความเข้มแข็ง ได้แก่ การรับรู้ความสามารถของตนเอง (Self-efficacy)  เป็นคนที่มีความยืดหยุ่น (Flexible) รวมทั้งเป็นบุคคลที่มองโลกในแง่ดีและมีความคาดหวังหรือการตั้งเป้าหมายในตนเองเชิงบวก

2. ปัจจัยนำเข้า (Antecedents) ความเข้มแข็งทางจิตใจนั้นเป็นภาวะที่ต้องมีสิ่งกระตุ้นจากภายนอก  ปัจจัยนำเข้านี้จัดได้ว่าเป็นเงื่อนไขหรือสิ่งที่กระตุ้นบุคคลมีความเข้มแข็งทางจิตใจได้ สิ่งกระตุ้นที่ก่อให้เกิดความเข้มแข็งทางจิตใจคือ ความทุกข์ ความยากลำบาก หรือการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจาก สภาพแวดล้อมรอบ ๆ ตัว เหตุการณ์หรือบุคคลที่ไม่พึงประสงค์ การเผชิญกับปัจจัยนำเข้านี้ทำให้บุคคลเกิดการเรียนรู้และพัฒนาตนเองได้

3. ผลที่เกิดขึ้น (Consequence) ในการเผชิญกับปัญหา ความทุกข์หรือความยากลำบาก และการจัดการสถานการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นกับตนเองนั้น จะช่วยทำให้บุคคลเกิดการเรียนรู้เพื่อเอาชนะวิกฤตหรือปัญหาต่าง ๆ ซึ่งผลของการจัดการปัญหาที่เกิดนั้นจะส่งผลดีต่อบุคคลหลายประการ เช่น เกิดทักษะการแก้ปัญหาอย่างมีประสิทธิภาพ ความสามารถในการปรับตัวต่อปัญหา ความสามารถในการจัดการอารมณ์ เป็นต้น ซึ่งผลที่เกิดขึ้นนั้นก่อให้เกิดความเข้มแข็งทางจิตใจและช่วยให้บุคคลสามารถดำเนินชีวิตได้อย่างปกติสุข

ความเข้มแข็งทางจิตใจนั้นเป็นปัจจัยที่ทำให้บุคคลสามารถบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ได้ซึ่งความเข้มแข็งทางจิตใจมีอิทธิพลต่อผลกระทบทางบวก (Positive effect) และช่วยทำให้บุคคลมีทัศนคติที่ดีต่อตนเอง เห็นคุณค่าในเองรวมทั้งมีความเชื่อมั่นในความสามารถของตนเองมากยิ่งขึ้น และปัจจัยดังกล่าวช่วยผลักดันที่ทำให้บุคคลสามารถไปถึงเป้าหมายได้ (Benetti & Kambouropoulos, 2006)  

 

2. การวัดความเข้มแข็งทางจิตใจทางบุคลิกภาพ

จากการศึกษางานวิจัยเกี่ยวกับความเข้มแข็งทางจิตใจ มีนักวิจัยที่ให้ความสนใจและสร้างเครื่องมือวัดที่มีความหลากหลายเนื่องจาก ความเข้มแข็งทางจิตใจนั้นมีผู้ที่ให้ความสนใจมากและมีทฤษฎีที่ใช้ในการศึกษาที่แตกต่างกัน โดยมีรายละเอียดของการวัดความเข้มแข็งทางจิตใจดังนี้

1. มาตรวัดความเข้มแข็งทางจิตใจ (Resilience scale: RS) ซึ่งถูกพัฒนาโดย Wagnild and Young (1993)  แบบวัดดังกล่าวนั้นมีข้อคำถามจำนวน 25 ข้อ มีลักษณะเป็นมาตรประมาณค่า 7 ระดับ โดยมุ่งวัดความเข้มแข็งทางจิตใจเชิงบุคลิกภาพของบุคคล ซึ่งมาตรวัดนี้พัฒนาจากการสัมภาษณ์เชิงลึกกับกลุ่มตัวอย่างที่สามารถปรับตัวได้หลังเผชิญเหตุการณ์ทางลบ มีสององค์ประกอบคือการรับรู้ในความสามารถของตนเอง (Personal competence) และการยอมรับชีวิตและตนเอง (acceptance of life and self)  แบบวัดดังกล่าวนั้นมีความเที่ยงแบบสอดคล้องภายในสูงและมีความตรงเชิงโครงสร้างที่ดี โดยทำการตรวจสอบด้วยวิธีกลุ่มรู้ชัด (Known group) ซึ่งผลการตรวจสอบพบว่ามาตรวัดมีความตรงเป็นอย่างดี อย่างไรก็ตามข้อคำถามนี้นั้นได้มาจากกลุ่มตัวอย่างที่เป็นเพศหญิงเท่านั้นซึ่งทำให้แบบวัดดังกล่าวอาจะมีข้อจำกัดในการใช้งาน

2.  มาตรวัดความเข้มแข็งทางจิตใจสำหรับวัยรุ่น (Adolescent resilience scale: ASR) เป็นมาตรวัดที่ใช้วัดความเข้มแข็งทางจิตใจสำหรับกลุ่มวัยรุ่นที่ถูกพัฒนาโดย Oshio et al. (2003) แบบวัดดังกล่าวมีจำนวนข้อคำถามจำนวน 21 ข้อ โดยมีองค์ประกอบย่อย 3 องค์ประกอบ ได้แก่ การค้นหาสิ่งใหม่ (Novelty seeking) การจัดการอารมณ์ (Emotional regulation) และการมุ่งเน้นอนาคตเชิง (Positive future orientation) เครื่องมือนี้มีความเที่ยงแบบสอดคล้องภายในในระดับดีโดยมีค่าอยู่ระหว่าง 0.72 ถึง 0.75 และมีความตรงตามสภาพกับการรับรู้ภาวะสุขภาพโดยทั่วไป (General health) โดยมีความสัมพันธ์กันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.01  อย่างไรก็ตามความเข้มแข็งทางจิตใจนั้นไม่มีความสัมพันธ์กับระดับเหตุการณ์ในชีวิตทางลบ (Negative life events) โดยสรุปมาตรวัดดังกล่าวเป็นมาตรวัดที่มีความตรงและความเที่ยงอยู่ในระดับดีสามารถนำไปใช้ได้ อย่างไรก็ตามเนื่องจากกลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการศึกษานั้นเป็นกลุ่มวัยรุ่นในประเทศญี่ปุ่นเพราะฉะนั้นเครื่องมือดังกล่าวอาจยังมีข้อจำกัดในการไปใช้กับบริบทของประเทศอื่น ๆ

3. มาตรวัดความเข้มแข็งทางจิตใจสำหรับผู้ใหญ่ (Resilience scale for adults: RSA) เป็นมาตรวัดที่วัดความเข้มแข็งทางจิตใจสำหรับกลุ่มตัวอย่างที่อยู่ในวัยผู้ใหญ่ แบบวัดดังกล่าวพัฒนาโดย Friborg et al. (2003) โดยมีข้อคำถามจำนวน 37 ข้อ โดยมี 5 องค์ประกอบ ได้แก่ ความเชื่อมั่นในความสามารถของตนเอง (Personal competence) ความสามารถด้านการเข้าสังคม (Social competence) ความสัมพันธ์ภายในครอบครัว (Family coherence) การสนับสนุนทางสังคม (Social support) และการวางแผนของบุคคล (Personal structure)  แบบวัดดังกล่าวมีค่าความเที่ยงแบบสอดคล้องภายในระหว่าง 0.67 – 0.90 และมีความเที่ยงแบบคงที่โดยเว้นระยะห่าง 4 เดือน มีค่าอยู่ระหว่าง 0.69 ถึง 0.84  นอกจากนี้ผู้พัฒนาได้ตรวจสอบความตรงตามสภาพโดยทำการวิเคราะห์ความสัมพันธ์ทางบวกกับมากวัดการรับรู้ความเชื่อมโยง  (The sense of coherence scale) และมีความสัมพันธ์ทางลบกับมาตรวัดความเครียดและภาวะซึมเศร้า HSCL-25 (The Hopkins Symptom Check List-25)

4. มาตรวัดความเข้มแข็งทางจิตใจของ Connor-Davidson (Connor-Davidson resilience scale: CD-RISC) มาตรวัดความเข้มแข็งทางจิตใจนี้พัฒนาโดย Connor & Davidson (2003)  มีข้อคำถามจำนวน 25 ข้อ โดยมุ่งเน้นในการวัดความเข้มแข็งทางจิตใจเชิงบุคลิกภาพ  แบบวัดดังกล่าวมีจุดเด่นที่สำคัญคือ เป็นแบบวัดที่สามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้กับทุกกลุ่มประชากร ซึ่งในขั้นตอนการพัฒนาเครื่องมือนี้ได้นำมาใช้กับตัวอย่างที่มีความหลายหลาย ได้แก่ กลุ่มบุคคลทั่วไป กลุ่มผู้ป่วยทั่วไป กลุ่มผู้ป่วยจิตเวช กลุ่มผู้ป่วยโรควิตกกังวล และมีการใช้เครื่องมือดังกล่าวกับหลายกลุ่มอายุทั้ง วัยรุ่น ผู้ใหญ่และผู้สูงอายุ ประกอบด้วย 5 องค์ประกอบ ได้แก่ การรับความสามารถของตนและการยืนหยัดความเชื่อในตนเอง ความต้านทานต่อความเครียด การยอมรับการเปลี่ยนแปลงชีวิตและการมีความสัมพันธ์ที่มั่นคง ความรู้สึกว่าตนมีความสามารถในการควบคุมสิ่งต่าง ๆ และความเชื่อด้านจิตวิญญาณ ในการทดสอบความเที่ยงของมาตรวัดพบว่ามีค่าเท่ากับ 0.89 และในการทดสอบความตรง นอกจากนั้นแบบวัดนี้ได้ถูกพัฒนาให้เป็นฉบับ 10 ข้อคำถามโดย Campbell-Sills & Stein (2007) เพื่อปรับปรุงแก้ไขเกี่ยวกับโครงสร้างของแบบวัดฉบับ 25 คำถามให้มีความคงที่ของโครงสร้างและเพิ่มประสิทธิภาพในการวัดมากยิ่งขึ้นผลทั้งนี้มาตรวัดความเข้มแข็งทางจิตใจของ Connor-Davidson ฉบับ 10 ข้อคำถามนั้นมุ่งเน้นความเข้มแข็งทางจิตใจเชิงบุคลิกภาพโดยมีลักษณะเป็นเอกมิติ (Uni-dimension) มีความเที่ยงแบบสอดคล้องภายในดีมาก (α =0.85) และมีความตรงเชิงโครงสร้างเป็นอย่างดีโดยมีค่าน้ำหนักองค์ประกอบระหว่าง 0.44 – 0.74 และมีประสิทธิภาพสูงในการเก็บข้อมูลวิจัยเนื่องจากมีข้อคำถามน้อยและได้รับการยอมรับในการศึกษาความเข้มแข็งทางจิตใจอย่างแพร่หลายและถูกแปลในหลายประเทศทั่วโลก

5. แบบวัดความเข้มแข็งทางจิตใจของนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย  (ฑิตยา  สิทธิโสภาสกุล และอัครเดช  เกตุฉ่ำ, 2562) ซึ่งเป็นแบบวัดความเข้มแข็งทางจิตใจที่แปลและปรับปรุงจากมาตรวัดความเข้มแข็งทางจิตใจของ Connor-Davidson (2003) ฉบับ 10 ข้อคำถาม (Connor-Davidson Resilience Scale: CD-RISC)   มีลักษณะเป็นมาตรประมาณค่า 5 ระดับ มีคะแนนระหว่าง 1 – 5 คะแนน (1 = ไม่เห็นตัวยอย่างยิ่ง และ 5 = เห็นด้วยอย่างยิ่ง) ซึ่งแบบวัดดังกล่าวนั้นเป็นแบบวัดที่มีประสิทธิภาพมีความเที่ยง และความตรงเชิงโครงสร้างเป็นอย่างดีและถูกนำมาแปลหลายภาษา (Campbell-Sills et al., 2007; Wang et al., 2010)  เป็นแบบวัดที่มีประสิทธิภาพสูงนอกจากนี้ โดยผลการวิเคราะห์ความตรงเชิงโครงสร้างด้วยการวิเคราะห์องค์ประกอบเชิงยืนยันพบว่า แบบวัดดังกล่าวนั้นมีค่าน้ำหนักองค์ประกอบระหว่าง 0.42-0.69 โดยทุกตัวมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 ค่าน้ำหนักองค์ประกอบมาตรฐานมีค่าระหว่าง 0.43-0.53 โดยมีความเที่ยงของข้อคำถามระหว่าง 0.18-0.47 และมีคำความเที่ยงของตัวแปรแฝง (Construct Reliability) เท่ากับ 0.82 และมีความแปรปรวนของตัวแปรที่สกัดได้จากองค์ประกอบเฉลี่ยเท่ากับ 0.32 ซึ่งถือได้ว่าเป็นแบบวัดที่มีประสิทธิภาพและมีความเหมาะสมในการศึกษาความเข้มแข็งทางจิตใจของนักเรียนหรือนักศึกษาโดยมีรายละเอียดของข้อคำถามดังนี้

 

แบบวัดความเข้มแข็งทางจิตใจของนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย

1. ฉันสามารถปรับตัวเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลง

2. ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นก็ตามฉันสามารถรับมือหรือจัดการสิ่งนั้นได้

3. ฉันพยายามมองปัญหาในแง่มุมที่ดีหรือเป็นประโยชน์กับตนเอง

4. ฉันเชื่อว่าการเผชิญกับปัญหาหรือความเครียดสามารถทำให้เข้มแข็งขึ้น

5. ฉันสามารถกลับมาเป็นเหมือนเดิมได้ หลังจากผ่านความเจ็บป่วยหรือต้องเผชิญกับความยากลำบาก

6. ฉันเชื่อว่าจะสามารถไปถึงเป้าหมายของตนเองได้แม้จะมีอุปสรรคก็ตาม

7. ฉันสามารถคิดและตัดสินใจได้ดี ถึงแม้จะอยู่ภายใต้สถานการณ์ที่กดดัน

8. ความล้มเหลวไม่ทำให้ฉันท้อถอยหรือหมดกำลังใจอย่างง่ายดาย

9. ฉันคิดว่าตัวเองเป็นคนที่เข้มแข็ง

10. ฉันสามารถจัดการหรือควบคุมความรู้สึกที่ไม่ดี เช่น ความเศร้าความเสียใจ ความผิดหวังได้เป็นอย่างดี

 

          ความเข้มแข็งทางจิตใจเป็นคุณลักษณะหรือบุคลิกภาพของบุคคล ที่ช่วยบุคคลดังกล่าวนั้นจัดการสถานการณ์ที่ยากลำบากและเผชิญกับปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพ สามารถจัดการความเครียดและการปรับตัวต่ออุปสรรคในชีวิต  ทั้งการจัดการตนเองทั้งด้านอารมณ์ ความคิดและความเครียดที่เกิดจากปัญหา การมีมุมมองที่ดีต่อปัญหาที่เกิดขึ้นและสามารถปรับตัวต่อความยากลำบาก ไม่ท้อถอยจนบรรลุเป้าหมายของตนเอง  การประยุกต์ใช้แบบวัดความเข้มแข็งทางจิตใจในบริบทต่าง ๆ นั้นจึงมีความสำคัญและสามารถได้สารสนเทศที่เป็นประโยชน์ในการพัฒนาสุขภาพจิตและส่งเสริมสุขภาวะทางจิตใจได้อย่างมีประสิทธิภาพ

 

รายการอ้างอิง

Benetti, C., & Kambouropoulos, N. (2006). Affect-regulated indirect effects of trait anxiety and trait resilience on self-esteem. Personality and Individual Differences, 41, 341-352.

Campbell‐Sills, L., & Stein, M. B. (2007). Psychometric analysis and refinement of the connor–davidson resilience scale (CD‐RISC): Validation of a 10‐item measure of resilience. Journal of traumatic stress, 20(6), 1019-1028.

Connor, K. M. and Davidson, J. R. (2003). Development of a new resilience scale: The Connor Davidson Resilience Scale (CD-RISC). Depression and Anxiety, 18:76- 82.

Earvolino‐Ramirez, M. (2007, April). Resilience: A concept analysis. Nursing forum, Malden, USA.

Friborg, O., Hjemdal, O., Rosenvinge, J. H., & Martinussen, M. (2003). A new rating scale for adult resilience: what are the central protective resources behind healthy adjustment?. International Journal of Methods in Psychiatric Research, 12(2), 65-67.

Grotberg, E. H. (1995). A Guide to Promoting Resilience in Children: Strengthening the Human Spirit. Early Childhood Development Practice and Reflections No.8. The Netherlands: Bernard van Leer Foundation.

Oshio, A., Kaneko, H., Nagamine, S., & Nakaya, M. (2003). Construct validity of the Adolescent Resilience Scale. Psychological Reports, 93(3), 143-149.

Wagnild G. & Young H.M. (1990) Resilience among older women. Image: Journal of Nursing Scholarship 22(4), 252–255.

กรมสุขภาพจิต. (2551). RQ พลังสุขภาพจิต พาคุณก้าวผ่านวิกฤตและความไม่แน่นอนของชีวิตได้ อย่างสง่างาม. ดีน่าดู.

ฑิตยา  สิทธิโสภาสกุล  และอัครเดช  เกตุฉ่ำ. (2562).  การพัฒนาแบบวัดความเข้มแข็งทางจิตใจของนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย.  วารสารครุศาสตร์สาร,  13(1). 1-14.

ดวงพร  กิตติสุนทร. (2559). ผลของกลุ่มการปรึกษาเชิงจิตวิทยาแนวปัญญาพฤติกรรมนิยมต่อความสามารถในการฟื้นพลังและความสามารถในการกำกับอารมณ์ในวัยเด็กตอนกลาง. (วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต, จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย).

สุคนธ์จิต อุปนันชัย. (2556). อิทธิพลของการสนับสนุนทางสังคม การเห็นคุณค่าแห่งตนและการรับรู้ความสามารถของตนที่มีต่อความยืดหยุ่นทางอารมณ์ของนักเรียนในจังหวัดนนทบุรี. (วิทยานิพนธ์มหาบัณฑิต, มหาวิทยาลัยศรนครินทรวิโรฒ).