สมบูรณ์แบบนิยม ความนิยมความสมบูรณ์แบบ หรือ การยึดติดความสมบูรณ์แบบ เป็นคำที่มาจากภาษาอังกฤษ คำว่า Perfectionism ซึ่งสำหรับบทความนี้ ผู้เขียนจะใช้คำว่า “การยึดติดความสมบูรณ์แบบ” เป็นการอธิบายลักษณะของบุคคล ความพยายามของบุคคลที่จะสร้างมาตรฐานและเป้าหมายไว้สูงให้กับตนเองเพื่อให้ตนเองและบุคคลอื่นๆ รับรู้ถึงคุณค่าของตน มีความต้องการไปสู่จุดมุ่งหมายอย่างสมบูรณ์ โดยเป็นจุดมุ่งหมายที่สูงและตั้งเป้าหมายโดยไม่คำนึงถึงสภาพความเป็นจริง คาดหวังและต้องการหลีกเลี่ยงจากการถูกตําหนิหรือถูก วิพากษ์วิจารณ์ ด้วยการที่มุมมองเช่นนี้ ทำให้ผู้ที่ยึดติดความสมบูรณ์แบบ มีแนวโน้มที่จะประเมินตนเอง บุคลอื่นและสังคมอย่างไม่ยืดหยุ่น หากมีความผิดพลาดเล็กน้อยจะตีความว่าเป็นความล้มเหลวอย่างมาก รู้สึกถึงความสำเร็จได้ยาก หากกล่าวถึงความสัมพันธ์กับอาการทางจิตและทางกายต่างๆ การยึดติดความสมบูรณ์แบบ เป็นส่วนหนึ่งของการก่อให้เกิดความทุกข์ในจิตใจและอาการทางร่างกายมากมาย เช่น โรคซึมเศร้า (Depression) โรควิตกกังวลทั่วไป (Generalised anxiety disorder) (Handley,A.K. et al.,2014 ; Shannon A., 2018) โรคหลอดเลือดหัวใจ (Coronary Heart Disease) โรคย้ำคิดย้ำทำ (Obsessive – Compulsive disorder : OCD) (Pozza A, 2019) เป็นต้น
แบบวัดการยึดติดความสมบูรณ์แบบ มีการพัฒนามาเพื่อวัดและประเมินการยึดติดความสมบูรณ์แบบของบุคคล สำหรับบทความนี้จะเป็นการยกตัวอย่างแบบวัดที่มีการนำไปใช้อย่างแพร่หลาย ซึ่งแบบวัดต่อไปนี้เป็นการแบ่งตามลักษณะมิติของแบบวัดประกอบไปด้วย แบบวัดที่มีลักษณะมิติเดียวหรือหนึ่งมิติ (Unidimensionl) กับ แบบวัดที่มีหลายมิติ (Multiidimension)
การวัดความนิยมความสมบูรณ์แบบหนึ่งมิติ (Unidimension)
แนวคิดของการยึดติดความสมบูรณ์แบบจากทฤษฏีแนวคิดมิติเดียว ได้พัฒนาโดยมีแนวคิดมุ่งประเด็นไปยังคนที่มีพฤติกรรมการยึดติดความสมบูรณ์แบบในตนเองและการคิดของตน เป็นการกำหนดความรู้สึกโดยตนเอง โดยเน้นการตั้งมาตรฐานให้แก่ตนเองของบุคคลเพียงอย่างเดียว จะมีการตั้งมาตรฐานสูงอย่างไม่น่าเป็นไปได้และพยายามทําทุกอย่างให้ถึงที่สุดเพื่อความสําเร็จในตัวของเขาเองรวมถึงมีการประเมินตนเองอย่างเข้มงวด (สินินุช, 2553 ; กมลกานต์ จีนช้าง, 2553 อ้างอิงจาก Burn,1980)
Burns Perfectionism Scale (BPS) พัฒนาโดยเบิร์น (Burn,1980 อ้างอิงจาก Stairs, A. M et al.,2012) ที่ได้พัฒนาแบบวัดการยึดติดความสมบูรณ์แบบ ชื่อว่า Burn Perfectionism Scale โดยมีการให้นิยามว่า การยึดติดความสมบูรณ์แบบคือ บุคคลซึ่งมีความกดดันจากการถูกบังคับ และมุ่งไปยังเป้าหมายที่เป็นไปไม่ได้หรือแม้จะมีโอกาสน้อยมากและประเมินคุณค่าด้วยตนเองว่าสามารถทําทุกสิ่งทุกอย่างได้ในระดับที่สูงมากหรือสามารถผลิตสิ่งต่าง ๆ ได้จํานวนมากและทุกอย่างที่ทําต้องมีความสําเร็จ Burn Perfectionism Scale มีข้อคำถามจำนวน 10 ข้อ
การยึดติดความสมบูรณ์แบบหลายมิติ (Multidimension)
การวัดการยึดติดความสมบูรณ์แบบ มีมุมมองที่แตกต่างออกไปจากเดิมที่มีการวัดองค์ประกอบในหนึ่งมิติ (Unidimension) มาเป็นหลายมิติ (Multidimension) ในลักษณะที่มีโครงสร้างหลายมิติและมีความเป็นอิสระ โดยมีแนวคิดว่า การยึดติดความสมบูรณ์แบบมีที่มาแตกต่างกัน และแต่ละที่มีความสัมพันธ์กับชนิดของปัญหาที่ต่างกัน แบบประเมินการประเมินบุคลิกภาพสมบูรณ์แบบจากแนวคิดหลายมิติมีตัวอย่างดังนี้
Frost Multidimensional Perfectionism Scale (FMPS) เป็นแบบประเมินการยึดติดความสมบูรณ์แบบ ที่เหมาะสำหรับผู้ที่มีอายุ 15 ปีขึ้นไป เป็นแบบประเมินที่พัฒนามาโดยดร.แรนดี้ ฟรอสต์ และคณะ ในปี 1990 (Frost, R. O., & Marten, P. A. ,1990) ที่ประกอบด้วยมิติ 6 มิติ ได้แก่ 1) ความกังวลเกี่ยวกับความผิดพลาด (Concern over Mistakes) 2) มาตรฐานส่วนบุคคล (Personal standards) 3) ความคาดหวังของพ่อแม่ (Parental expectations) 4) การวิพากษ์วิจารณ์จากพ่อแม่ (Parental criticism) 5) ความลังเลสงสัยในการกระทำของตน (Doubting of Actions) และ 6) การจัดระเบียบ (Organization)
ต่อมาในปี 1998 สโตเบอร์ (Stober, J. ,1998) ได้ทำการวิจัยโดยมีความเห็นต่างเกี่ยวกับจำนวนองค์ประกอบ โดยทำการวิเคราะห์องค์ประกอบการวัดการยึดติดความสมบูรณ์แบบ โดยวิธี Parallel analysis หลังการวิเคราะห์ได้องค์ประกอบ 4 องค์ประกอบของคุณลักษณะ ได้แก่ 1. ความกังวลเกี่ยวกับความผิดพลาดและความสงสัยในการกระทำ (Concern over mistakes and doubts about actions) 2. ความกังวลที่มากเกินไปเกี่ยวกับการประเมินและ ความคาดหวังของผู้ปกครอง (Excessive concern with parents’ expectations and evaluation) 3. การมีมาตรฐานส่วนบุคคลที่สูงเกินไป (Excessively high personal standards) 4. ความกังวลต่อ ความถูกต้อง ความเป็นระเบียบ และการจัดระเบียบ (Concern with precision, order and organization) แบบประเมินประกอบด้วยข้อคำถามจำนวน 35 ข้อ โดยมีตัวอย่างข้อคำถามในแต่ละองค์ประกอบ เช่น
1. ความกังวลเกี่ยวกับความผิดพลาดและความสงสัยในการกระทำ (Concern over mistakes and doubts about actions) : “ถ้าฉันล้มเหลวในที่ทำงาน/โรงเรียน ฉันก็ถือว่าล้มเหลวในฐานะบุคคล”
2. ความกังวลที่มากเกินไปเกี่ยวกับการประเมินและ ความคาดหวังของผู้ปกครอง (Excessive concern with parents’ expectations and evaluation) : “ผู้ปกครองตั้งมาตรฐานที่สูงมากสำหรับฉัน”
3. การมีมาตรฐานส่วนบุคคลที่สูงเกินไป (Excessively high personal standards) : “ถ้าฉันไม่ตั้งมาตรฐานสูงสุดให้กับตัวเอง ฉันก็จะตกกลายเป็นรองผู้อื่น”
4. ความกังวลต่อ ความถูกต้อง ความเป็นระเบียบ และการจัดระเบียบ (Concern with precision, order and organization) : “ความเป็นระเบียบขององค์กรเป็นสิ่งสำคัญมากสำหรับฉัน”
Multidimensional Perfectionism Scale (MPS) เป็นแบบประเมินที่พัฒนาโดย ฮิววิท และเฟลท (Hewitt & Flett, 1991) ในปี 1991 ฮิววิท และเฟลท มีความคิดเห็นร่วมกันว่าการยึดติดความสมบูรณ์แบบมีที่มาแตกต่างกัน และแต่ละที่มีความสัมพันธ์กับชนิดของปัญหาที่ต่างกัน (สินีนุช, 2553) ซึ่งแบบประเมินนี้จะใช้ประเมินความสมบูรณ์แบบใน 3 คุณลักษณะ ได้แก่ 1. การมุ่งเน้นความสมบูรณ์แบบในตนเอง การนิยมความสมบูรณ์แบบในตนเอง (Self-Oriented Perfectionism) 2. การมุ่งเน้นความสมบูรณ์แบบในผู้อื่น ความนิยมความสมบูรณ์แบบในผู้อื่น (Other-Oriented Perfectionism) และ 3. การกำหนดความสมบูรณ์แบบโดยสังคม (Socially Prescribed Perfectionism) โดยมีข้อคำถามรวมทั้งสิ้น 45 ข้อคำถาม เกณฑ์การเลือกตอบเป็นแบบเลือกตอบ 7 อันดับ ตั้งแต่ 1(ไม่เห็นด้วยอย่างยิ่ง) – 7(เห็นด้วยอย่างยิ่ง) โดยข้อคำถามมีทั้งข้อคำถามในทางบวกและทางลบ ตัวอย่างคำถามเช่น
1. การมุ่งเน้นความสมบูรณ์แบบในตนเอง (Self-Oriented Perfectionism) : “เมื่อฉันกำลังทำงานบางอย่าง ฉันไม่สามารถจะผ่อนคลายได้จนกว่างานนั้นจะเสร็จสมบูรณ์”
2. การมุ่งเน้นความสมบูรณ์แบบในผู้อื่น (Other-Oriented Perfectionism) : “ทุกสิ่งที่คนอื่นทำควรจะต้องมีคุณภาพในระดับสุดยอด”
3. การกำหนดความสมบูรณ์แบบโดยสังคม (Socially Prescribed Perfectionism) : “ฉันพบว่าเป็นเรื่องยากที่จะตอบสนองความคาดหวังของผู้อื่นในตัวฉัน”
Almost Perfect Scale (APS) พัฒนาโดย สเลนีและจอห์นสัน (Slaney and Johnson) ในปี 1992 ได้พัฒนาแบบประเมิน Almost Perfect Scale ขึ้นโดยในแรกเริ่มมีการแบ่งมิติของความสมบูรณ์แบบออกเป็น 2 มิติ คือ การตั้งมาตรฐานสูง (High standards) และ การเป็นระเบียบเรียบร้อย (Orderliness) แบบประเมินประกอบด้วยข้อคำถาม 39 ข้อ ในระยะต่อมาได้ทำการทบทวนและ พบว่า องค์ประกอบทั้งสองนั้นไม่เพียงพอต่อการประเมิน เนื่องจากการประเมินทั้งสององค์ประกอบเป็นการประเมินเกี่ยวกับ มุมมองทางบวกต่อความสมบูรณ์แบบ (Represent the Positive Aspects of perfectionism) โดยขาดการประเมินมุมมองทางลบต่อความสมบูรณ์แบบ (Negative dimension of Perfectionism) ดังนั้น ในปี 2001 สเลนี และคณะ (Slaney et al., 2001) ได้ทำการวิจัยและพัฒนาแบบประเมิน Almost Perfect Scale มาสู่แบบประเมิน The Revised Almost Perfect Scale (APS-R) โดย การสำรวจและวิเคราะห์องค์ประกอบ และแบ่งลักษณะการยึดติดความสมบูรณ์แบบออกเป็น 3 มิติ Almost Perfect Scale-Revised (APS-R) ประกอบด้วยข้อคำถาม 23 ข้อ ประกอบด้วยองค์ประกอบ
1. เป็นการคาดหวังต่อตนเอง (High Standard) : “ฉันมีความคาดหวังในตนเองในระดับสูง”
2. การเป็นระเบียบเรียบร้อย (Order) : “ฉันชอบที่จะจัดระเบียบและมีระเบียบวินัยอยู่เสมอ”
3. ความไม่สอดคล้องระหว่างมาตรฐานที่ตั้งไว้กับความเป็นจริง (Discrepancy) : “ฉันมักจะรู้สึกหงุดหงิดเพราะไม่สามารถบรรลุเป้าหมายได้”
The Positive and Negative Perfectionism Scale (PANPS) พัฒนาโดยการศึกษาของ เทอร์รี่และคณะ (Terry-Short et al.,1995) โดยมีแนวคิดการศึกษาว่า การวิจัยการยึดติดความสมบูรณ์แบบก่อนหน้านี้ ได้มุ่งเน้นไปที่การทดสอบทางคลินิกที่ส่งผลให้เกิดอคติ และแนวความคิดเชิงลบและแนวคิดทางจิตประสาทต่อลักษณะมุ่งเน้นความสมบูรณ์แบบ การศึกษาของ Terry-Short และคณะ (Terry-Short et al.,1995) ได้ทำการศึกษาวิจัยเรื่อง Positive and negative perfectionism (PANPS) โดยได้ตรวจสอบความเป็นไปได้ในการแยกแยะมิติของ ลักษณะมุ่งเน้นความสมบูรณ์แบบ ออกมาเป็น 1. ความนิยมความสมบูรณ์แบบทางบวก (Positive Perfectionism) และ 2. ความนิยมความสมบูรณ์แบบทางลบ (Negative Perfectionism) แบบวัดประกอบด้วยข้อคำถามจำนวน 40 ข้อ มีการกําหนดสเกล (scale) ของการตอบในแต่ละข้อคําถามจำนวน 5 ระดับตั้งแต่ 1(ไม่เห็นด้วยอย่างยิ่ง) -5 (เห็นด้วยอย่างยิ่ง) ตัวอย่างข้อคำถามเช่น
1. การยึดติดความสมบูรณ์แบบทางบวก (Positive Perfectionism) : “ครอบครัวและเพื่อนของฉันภูมิใจเมื่อฉันทำสิ่งต่างๆได้ดีมาก”
2. การยึดติดความสมบูรณ์แบบทางลบ (Negative Perfectionism) : “เมื่อฉันเริ่มบางสิ่ง ฉันจะรู้สึกกังวลว่าฉันอาจจะล้มเหลวได้”
ซึ่งในปัจุบันมีผู้วิจัยศึกษาปรับปรุงเพิ่มเติมโดยใช้แนวคิดของ Terry-Short เช่น งานวิจัยของคาร์เพนเตอร์และคณะ (Carpenter, R. et al.,2023)ที่ได้ปรับปรุงมาเป็นแบบประเมินฉบับสั้น ชื่อ A short form of the Positive and Negative Perfectionism Scale (PANPS-SF) ประกอบด้วยข้อคำถามทั้งสิ้น 20 ข้อ (2023) ซึ่งสะท้อนถึงความแตกต่างทางพฤติกรรมระหว่างการเสริมแรงเชิงบวกและเชิงลบ
The Child–Adolescent Perfectionism Scale: (CAPS) พัฒนาในงานวิจัยของ เฟล็ทและคณะ(Flett et al., 2016) เป็นแบบที่พัฒนาขึ้นเพื่อประเมินการยึดติดความสมบูรณ์แบบในกลุ่มเด็กและวัยรุ่น CAPS ประกอบด้วยองค์ประกอบคือ การมุ่งเน้นความสมบูรณ์แบบในตนเอง (Self –oriented perfectionism) และ การกำหนดความสมบูรณ์แบบโดยสังคม (Socially prescribed perfectionism) ทั้งฉบับมีจำนวนข้อคำถามทั้งสิ้น 22 ข้อ คำถาม เกณฑ์การเลือกตอบเป็นแบบเลือกตอบ 5 อันดับ ตั้งแต่ 1 (ไม่ตรงกับฉันอย่างสิ่งเชิง) – 5 (ตรงกับฉันอย่างยิ่ง) โดยข้อคำถามมีทั้งข้อคำถามในทางบวกและทางลบ ตัวอย่างข้อคำถาม เช่น
1. การมุ่งเน้นความสมบูรณ์แบบในตนเอง (Self –oriented perfectionism) : “ฉันพยายามที่จะสมบูรณ์แบบในทุกสิ่งที่ฉันทำ”
2. การกำหนดความสมบูรณ์แบบโดยสังคม (Socially prescribed perfectionism) – “มีคนในชีวิตของฉันที่คาดหวังว่าฉันจะสมบูรณ์แบบ”
แบบวัดการยึดติดความสมบูรณ์แบบสําหรับนักเรียน เป็นแบบวัดฉบับภาษาไทย ซึ่งเป็นผลงานวิจัยของ สินีนุช วานิช (สินีนุช วานิช ,2553) ที่ได้พัฒนาแบบวัดการยึดติดความสมบูรณ์แบบสําหรับนักเรียนชั้นม.4-ม.6 และทำการวิเคราะห์โดยการวิเคราะห์องค์ประกอบ (Factor Analysis) ได้องค์ประกอบการยึดติดความสมบูรณ์แบบ มี 4 ลักษณะประกอบด้วย 1. กําหนดเป้าหมาย/ตั้งมาตรฐานต่อตนเองสูง 2. กําหนดเป้าหมาย/ตั้งมาตรฐานต่อบุคคลอื่น 3. กลัวความผิดพลาด 4. แรงกดดัน/ความคาดหวังจากบุคคลอื่นและสังคม โดยประกอบด้วยข้อคำถามจำนวน 37 ข้อ มีการกําหนดสเกล (scale) ของการตอบในแต่ละข้อคําถามจำนวน 5 ระดับตั้งแต่ 1(ไม่จริงเลย) -5 (จริง)
สรุป
การยึดติดความสมบูรณ์แบบ เป็นคุณลักษณะของบุคคล เป็นความต้องการเกี่ยวกับความสมบูรณ์ แบบวัดต่างๆ สามารถนำมาใช้ในการวัดประเมินบุคคลเกี่ยวกับการยึดติดความสมบูรณ์แบบ ได้อย่างมีคุณภาพ แบบวัดที่ใช้ในการวิจัยมีทั้งรูปแบบการวัดในมิติเดียวและการวัดในหลายมิติ ซึ่งผู้ที่สนใจสามารถนำไปใช้เป็นแนวทางในการวิจัยได้ต่อไป
อ้างอิง
กมลกานต์ จีนช้าง. (2553). อิทธิพลของความนิยมความสมบูรณ์แบบต่อเจตคติในการทำศัลยกรรมเสริมความงามโดย มีการนำเสนอตนเองด้วยความสมบูรณ์แบบและการซึมซับจากวัฒนธรรมสังคมเป็นตัวแปรส่งผ่าน.วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาจิตวิทยาสังคม.จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
สินีนุช วานิช.(2553). การพัฒนาแบบวัดการยึดติดความสมบูรณ์แบบสําหรับนักเรียนช่วงชั้นที่ 4.ปริญญาการศึกษามหาบัณฑิต สาขาวิชาการวัดผลการศึกษา มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
Burns DD. The perfectionist’s script for self-defeat. Psychology Today. November. 1980:34–52.
Carpenter, Rachel & Wheeler, M & Burns, Lawrence & Rogers, J & Deuling, Jacqueline. (2023). Developing a short form of the Positive and Negative Perfectionism Scale (PANPS-SF).International Journal of Humanities and Social Science. 13. 1.
Flett, G., Hewitt, P. L., Besser, A., Su, C., Vaillancourt, T., Boucher, D., Munro, Y., Davidson, L. A. & Gale, O.(2016).The Child-Adolescent Perfectionism Scale: Development, psychometric properties, and associations with stress, distress, and psychiatric symptoms.Journal of Psychoeducational Assessment. 34(7), 634-652. https://doi.org/10.1177%2F073428291665138
Frost, R. O., & Marten, P. A. (1990). Perfectionism and evaluative threat. Cognitive Therapy and Research.14,559-572.
Handley, A.K., Egan, S.J., Kane, R.T. et al. The relationships between perfectionism, pathological worry and generalised anxiety disorder.BMC Psychiatry. 14, 98 (2014). https://doi.org/10.1186/1471-244X-14-98
Hewitt, P. L., & Flett, G. L. (1991). Perfectionism in the self and social contexts: Conceptualization, assessment,and association with psychopathology.Journal of Personality and Social Psychology. 60(3), 456– 470. https://doi.org/10.1037/0022-3514.60.3.456
Pozza A, Albert U, Dèttore D. Perfectionism and Intolerance of Uncertainty are Predictors of OCD Symptoms in Children and Early Adolescents: A Prospective, Cohort, One-Year, Follow-Up Study. Clin Neuropsychiatry. 2019 Feb;16(1):53-61. PMID: 34908939; PMCID: PMC8650182.
Slaney, Robert & Rice, Kenneth & Mobley, Michael & Trippi, Joseph & Ashby, Jeffrey. (2001). The Revised Almost Perfect Scale. Measurement and Evaluation in Counseling and Development. 34. 130-145.DOI:10.1080/07481756.2002.12069030
Shannon, Amy & Goldberg, Joel & Flett, Gordon & Hewitt, Paul. (2018). The relationship between perfectionism and mental illness stigma. Personality and Individual Differences. 126. 66-70.10.1016/j.paid.2018.01.022
Stairs, A. M., Smith, G. T., Zapolski, T. C., Combs, J. L., & Settles, R. E. (2012). Clarifying the construct of perfectionism.Assessment. 19(2), 146–166. https://doi.org/10.1177/1073191111411663
Stöber, J. (1998). The Frost Multidimensional Perfectionism Scale revisited: More perfect with four (instead of six)dimensions. Personality and Individual Differences. 24(4),481–491. https://doi.org/10.1016/S0191-8869(97)00207-9
Terry-Short, L.A. & Owens, Glynn & Slade, Peter & Dewey, M.E.. (1995). Positive and negative perfectionism.Personality and Individual Differences. 18. 663-668. 10.1016/0191-8869(94)00192-U.