ผลงานทัศนศิลป์ถูกสร้างสรรค์ขึ้นมาจากจินตนาการ อารมณ์ ความรู้สึก สุนทรียภาพ และการนำวัสดุต่างๆ รอบตัวมาผ่านกระบวนการทางศิลปะเป็นผลงานเพื่อสนองความต้องการของศิลปินและเพื่อให้ผู้ชมเกิดสุนทรียภาพจากงานทัศนศิลป์ทั้งหลาย ได้แก่ จิตรกรรม ประติมากรรม สถาปัตยกรรม ภาพพิมพ์ หัตถกรรม และศิลปะสื่อผสม เป็นต้น ในปัจจุบันศิลปินจำนวนมากได้หันมาสร้างสรรค์ศิลปะสื่อผสมเพื่อแสดงออกทางศิลปะอย่างกว้างขวาง เพราะศิลปินสามารถเลือกใช้วัสดุจากธรรมชาติ หรือวัสดุสังเคราะห์ต่างๆ มาเป็นองค์ประกอบในผลงานได้อย่างเสรี ศิลปะสื่อประสมแบ่งออกเป็นประเภทใหญ่ๆ ตามลักษณะเฉพาะที่ต่างกันออกไปตามแนวคิด เทคนิค และที่มาของวัสดุที่ใช้ เช่น ศิลปะปะติด (Collage) ศิลปะผสมผเส (Assemblage) ศิลปะจากวัสดุที่ค้นพบ (Found Object) ศิลปะขยะ (Junk art) และยังมีศิลปะสื่อประสมอีกประเภทหนึ่ง เรียกว่า ศิลปะผ้านวม (Quilt art) ที่ได้รับการยอมรับในวงการศิลปะ พิพิธภัณฑ์ศิลปะ และได้การตอบรับจากสังคมมากขึ้น
ความเข้าใจเกี่ยวกับศิลปะผ้านวม
การควิลท์ (Quilt) เป็นวิธีการเย็บชั้นของวัสดุผ้าเข้าด้วยกัน แม้ว่าจะมีรูปแบบที่แตกต่างกันบ้าง แต่มักจะหมายถึงการทำผ้าห่มนวม ผ้าคลุมเตียง โดยมีส่วนประกอบ 3 ส่วน คือ ผ้าชิ้นบน 1 ชิ้น ชั้นบุนวม (wadding) ทำจากแผ่นเส้นใยฝ้ายหนานุ่มอยู่ตรงกลาง 1 ชิ้น ผ้าชิ้นล่าง 1 ชิ้น ผ้าชิ้นบนและชิ้นล่างทำจากเศษผ้าชิ้นเล็กๆ ที่เหลือจากการตัดเย็บเสื้อผ้าใหม่หรือเศษเสื้อผ้าจากชุดเก่าที่ไม่ได้สวมใส่แล้วนำมาตัดเป็นชิ้นๆ ตามขนาดที่ต้องการแล้วเย็บต่อกันเป็นผืนใหญ่ ถ้าทำเพียงผ้าชิ้นเดียวมักนำมาทำเป็นผ้าคลุมเตียง ผ้าม่าน หรือนำมาแขวนผนังเพื่อประดับบ้าน และเพื่อประโยชน์ในด้านต่างๆ คำว่า “quilt” ยังมีความเชื่อมโยงกับคำในภาษาละติน “culcita” ซึ่งหมายถึง หมอนข้างหรือเบาะ และนำใช้ครั้งแรกในอังกฤษในช่วงศตวรรษที่ 13
ควิลท์อาร์ต (Quilt art) เป็นงานศิลปะซึ่งสามารถจัดเป็นศิลปะสื่อผสมประเภทหนึ่ง เรียกว่า mixed media quilts หรือ fiber art quilts บทความนี้ผู้เขียนได้นิยามความหมายของ Quilt art หมายถึง ศิลปะผ้านวม เป็นศิลปะร่วมสมัยที่นำเอาผ้าชิ้นเล็กขนาดต่างๆ มาเย็บประกอบเข้าด้วยกันเป็นผืนผ้าใหญ่ และใช้วัสดุประเภทต่างๆ มาตกแต่งตามความต้องการของศิลปิน ผืนผ้าอาจมีส่วนประกอบ 3 ชิ้น หรือเป็นผ้าชิ้นเดียวก็ได้ แต่ลักษณะทางกายภาพของผ้าชิ้นเดียวไม่สามารถเป็นผ้านวมได้ การเรียกว่า ผ้านวม (Quilt) เพื่อเป็นการสร้างเข้าใจให้ทราบถึงที่มาจากการทำผ้านวมด้วยเทคนิคการควิลท์แบบดั้งเดิม ศิลปินได้สร้างสรรค์ศิลปะผ้านวมขึ้นจากจินตนาการ อารมณ์ ความรู้สึก ประสบการณ์ทางสุนทรียภาพมากกว่ารูปแบบดั้งเดิม โดยทั่วไปแล้วงานศิลปะ Quilt จะมีความคล้ายคลึงกับ วิจิตรศิลป์ มากกว่าที่จะทำกับ quilting แบบดั้งเดิม โดยทั่วไปแล้วงานศิลปะนี้จะแขวนผนังหรือบางครั้งอาจมีการติดตั้งแบบงานประติมากรรมในบางผลงาน
ในประเทศไทยเคยมีการให้ความหมายของ Quilt art คือ ศิลปะบนผืนผ้า ในชื่อนิทรรศการศิลปะบนผืนผ้า JHIA Thailand Quilt Art 2019 ณ หอศิลป์จามจุรี ในปี พศ. 2562 ซึ่งจัดโดยโดย Pak-Ka-Pao House Studio ภายใต้การดูแลของอาจารย์ Junko Hiranuma จาก JHIA หรือ Japan Handicraft Instructors Association คือ สมาคมส่งเสริมงานศิลปะหัตกรรมแห่งประเทศญี่ปุ่น และ ศิลปินศิลปะสื่อผสมชาวญี่ปุ่น Yasuko Yubisui และยังมีการจัดแสดงศิลปะผ้านวมในประเทศไทยจากกลุ่มต่างๆ อย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ในปี พ.ศ. 2556 ปรางค์ฉัตร เสถียรธรรมวิทย์ นำผลงานศิลปะผ้านวมมาจัดแสดงในงานนิทรรศการ Siamese Connection 2013 ของกลุ่ม Thai Artist Alliance ศิลปินไทยในนครนิวยอร์ค
มนุษย์เริ่มรู้จักการทอผ้า การตัดเย็บเป็นเครื่องนุ่งห่ม มีประวัติศาสตร์นับย้อนไปอย่างยาวนานจากหลักฐานภาพวาดในถ้ำที่แสดงการแต่งกายของมนุษย์ การค้นพบเข็มเย็บผ้าอายุประมาณ 50,000 ปีก่อนคริสตกาล ที่ถ้ำเดนิโซวา ไซบีเรีย หลายหมื่นก่อนคริสตกาล เริ่มจาก นักโบราณคดีได้สัณนิฐานว่ามนุษย์รู้จักการเย็บผ้า หรือเย็บวัสดุต่างๆ เช่น หนังสัตว์ เข้าด้วยกันเพื่อให้มีขนาดที่ต้องการ เนื่องมาจากความสามารถในการทอผ้าได้เพียงผืนสี่เหลี่ยมเล็กๆ แล้วนำมาเย็บต่อกันเป็นผืนใหญ่ จากนั้นเริ่มพัฒนาออกแบบการเย็บเป็นลวดลายต่างๆ รวมทั้งมีการสื่อความหมาย แสดงเรื่องราวทางด้านความเชื่อ ศาสนา ตำนาน สัญลักษณ์ของชนเผ่า และอาณาจักร ศิลปะมนุษย์ได้ใช้เทคนิคการควิลท์เพื่อทำเป็นผ้านวมได้เริ่มอย่างเด่นชัดในยุคกลาง ผลงานเก่าแก่มีความสมบูรณ์ที่มีชื่อเสียง เช่น “Tristan Quilt” เป็นศิลปะผ้านวมที่เก่าแก่ชิ้นหนึ่งในยุคกลาง จากเกาะซิซิลี ประเทศอิตาลี โดยมีเนื้อหาเกี่ยวกับตำนาน Tristan และถูกเก็บรักษาและจัดแสดงที่พิพิธภัณฑ์วิคตอเรียแอนด์อัลเบิร์ต ลอนดอน ประเทศอังกฤษ ศิลปะผ้านวมที่ทำจากผ้าเนื้อดีเป็นสินค้าอย่างหนึ่งที่นิยมอย่างมากในยุคกลาง กลายเป็นสิ่งที่เป็นมรดกตกทอดจากรุ่นสู่รุ่น และยังนิยมนำมาทำเป็นชุดผ้านวมเพื่อสวมใส่สบายภายใต้ชุดนักรบเกราะเหล็ก
การทำผ้าห่มนวมเป็นเรื่องปกติในยุคตั้งอาณานิคมอเมริกา ผ้าห่มนวมไม่ได้ทำมาจากเศษวัสดุเหลือใช้หรือเศษเสื้อผ้าที่สวมใส่ แต่เป็นผ้าคลุมแบบเรียบๆ ในช่วงเวลานี้ แต่มีการทำเพื่อเป็นของประดับตกแต่งที่แสดงงานเย็บปักถักร้อยอันประณีตของผู้ผลิต เช่น ผ้าห่มของบัลติมอร์ ซึ่งนิยมทำในเฉพาะคนรวยเท่านั้นที่มีเวลาว่างในการทำผ้าห่มนวม จึงมีเพียงไม่กี่คนเท่านั้นที่จะได้ครอบครอง ผ้าห่มเชิงพาณิชย์หรือผ้าคลุมแบบเรียบทอสำเร็จจึงเป็นผ้าปูที่นอนที่ประหยัดกว่าสำหรับคนส่วนใหญ่
เนื่องจากการทำผ้าห่ม หรือ ผ้าคลุมเตียง มักจะทำเป็นผืนใหญ่ จึงมีประเพณีรวมกลุ่มกันทำการตัดเย็บผ้านวมเพื่อใช้โอกาสต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอเมริกาเหนือ ซึ่งผู้ตั้งถิ่นฐานในยุคแรกจากอังกฤษและฮอลแลนด์ได้ก่อตั้งงานควิลท์ขึ้นเป็นงานฝีมือยอดนิยม ในช่วงกลางศตวรรษที่ 19 มีการทำผ้านวมที่เรียกว่า “ผ้านวมซิกเนเจอร์” สำหรับผู้หญิงที่กำลังจะแต่งงาน การกำเนิดทารก หรือโดยมีเป้าหมายที่จะเย็บผ้านวมทั้งผืนให้เสร็จภายในหนึ่งวัน มักทำจากผ้าฝ้ายและประกอบด้วยชิ้นส่วนโดยการเย็บและลงนามโดยสมาชิกในครอบครัวและเพื่อนสนิทจากชุมชนท้องถิ่น เพื่อส่งเสริมความสามัคคีในครอบครัวและสังคม ตัวอย่างเช่น ผ้าห่มสำหรับการแต่งงานของ John Haldeman และ Anna Reigart ในปี 1846 มันถูกตัดเย็บในรูปแบบที่เรียกกันว่า sunburst หรือ rising sun ซึ่งการออกแบบลวดลายลักษณะนี้ได้รับความนิยมเนื่องจากมีความเชื่อมโยงเชิงสัญลักษณ์กับการเริ่มต้นของวันใหม่
ในช่วงทศวรรษที่ 1960 และ 1970 ได้มีการเคลื่อนไหวครั้งสำคัญจากกระแสด้านสตรีนิยม หรือการส่งเสริมบทบาทของสตรีในสังคม การยกย่องเชิดชูผลงานศิลปหัตถกรรมของสตรี การพัฒนาให้เป็นงานฝีมือแบบใหม่ และอิทธิพลของศิลปะประชานิยม เทคนิคการควิลท์ของผู้หญิงจึงถูกพัฒนาให้มีความโดดเด่นและมีความคิดสร้างสรรค์ทางศิลปะ ผู้ที่มีบทบาทสำคัญคือ ดร.มีมี่ ชิเกต์ (Dr. Mimi Chiquet) ได้จัดตั้งกลุ่มงานควิลท์ขึ้นมาในนาม The Fabric of Friendship ที่รัฐเวอร์จิเนีย โดยมีผลงานวิจัย บทความวิชาการ การเคลื่อนไหวทางสังคม และผลงานควิลท์ที่มีความละเอียดวิจิตรบรรจง และการใช้ผ้าสีย้อมครามในแบบสแกนดิเนเวีย
ปี ค.ศ. 1790 ช่วงการปฏิวัติอุตสาหกรรม Thomas Saint นักประดิษฐ์ชาวอังกฤษได้คิดค้นการออกแบบจักรเย็บผ้าเครื่องแรกของโลก ต่อในปี ค.ศ. 1870 บริษัท Singer และขายแบบผ่อนชำระ ทำให้หลายครัวเรือนมีจักรเย็บผ้า งานควิลท์แบบดั้งเดิมกลายเป็นงานควิลท์เป็นงานควิลท์ที่สะดวกสบายรวดเร็วมากขึ้น
ในปี ค.ศ.1989 มีการจัดตั้งองค์กรวิชาชีพ Studio Art Quilt Associates ก่อตั้งสำหรับศิลปินผ้านวมในสหรัฐอเมริกา
ศิลปินหญิงและนักออกแบบชาวอเมริกัน ยีน เรย์ ลอรี่ (Jean Ray Laury, 1928 –2011) นับเป็นศิลปินที่โดดเด่นและมีอิทธิพลมากที่สุดของศิลปะผ้านวมในยุคแรกๆ ของอเมริกา หนึ่งในผู้บุกเบิกที่การหันมาทำงานศิลปะผ้านวมอย่างจริงจังในช่วงปลายทศวรรษ 1950 ผลงานของลอรี่จะไม่ทำตามวิธีการหรือลวดลายแบบดั้งเดิม มีการแสดงออกแบบศิลปะสมัยใหม่ และผลงานมักมีการแสดงออกทางอารมณ์ขัน หรือการเสียดสี นอกจากนี้ยังมีงานเขียนหนังสือกว่า 20 เล่มและสอนเวิร์กช็อปมากกว่า 2,000 ครั้ง เพื่อช่วยให้ผู้หญิงมีแรงบัลดาลใจและกล้าที่จะสร้างสรรค์ผลงานควิลท์แบบศิลปะ
แม้ว่าศิลปะผ้าคลุมจะมีต้นกำเนิดมาจากเทคนิคการควิลท์แบบดั้งเดิมที่นิยามเป็นเพียงงานฝีมือ แต่ปัจจุบันผลงานควิลท์ร่วมสมัยได้รับการยอมรับว่าเป็นผลงานศิลปะอย่างแท้จริง หรือเรียกได้ว่าเป็นศิลปะสื่อผสมประเภทหนึ่ง พัฒนาให้มีรูปแบบ เทคนิค เครื่องมือ เครื่องจักรการพิมพ์ผ้า โปรแกรมคอมพิวเตอร์สำหรับการทำลวดลายบนผ้านวมที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ศิลปินควิลท์จำนวนมากได้ทดลองสร้างหรือย้อมผ้าของตนเอง โดยผสมผสานวัสดุต่างๆ เข้ากับการออกแบบ และท้าทายแนวคิดแบบดั้งเดิมพิพิธภัณฑ์จากทั่วโลกมีการสะสมผลงานศิลปะผ้าคลุมมากขึ้นเรื่อยๆ การสัมมนาในวงวิชาการเกี่ยวกับ แนวคิด ทิศทางที่ควรจะเป็น มีการสร้างสรรค์ผลงานและแบ่งปันวิดีโอเกี่ยวกับเทคนิคงานควิลท์และแบบฝึกหัดหลายพันรายการทางออนไลน์โดยผู้คนจากทั่วโลก
ศิลปะผ้าคลุมกับการจัดการเรียนการสอนและการจัดกิจกรรมทางศิลปะ
ปัจจุบันการจัดการเรียนการสอนและการจัดกิจกรรมทางศิลปะ ศิลปะสื่อประสมมักถูกนำไปประยุกต์ใช้ในการจัดกิจกรรมอยู่เสมอ เพราะช่วยให้ผู้เรียนสนุกสนานเพลิดเพลินทำให้เกิดการพัฒนาสมองทั้ง 2 ด้าน คือ ด้านอารมณ์และความเป็นเหตุผล ศิลปะสื่อผสมประเภทศิลปะผ้านวม เป็นการสร้างสรรค์ผลงานที่เกิดจากเทคนิคการเย็บผ้าที่ทุกคนพอจะคุ้นเคยหรือผ่านตามาบ้าง ด้านการพัฒนาสมอง ผู้เรียนจะมีความละเอียดรอบคอบ ประณีตพิถีพิถัน มีความคิดริเริ่ม สังเกต ด้านการพัฒนาร่างกาย ผู้เรียนจะมีพัฒนาการเคลื่อนไหวทางด้านกล้ามเนื้อ การใช้ประสาทสัมผัส ความสัมพันธ์ระหว่างตากับมือ ให้มีความคล่องแคล่ว ด้านการพัฒนาปัญญา ผู้เรียนจะแก้ปัญหาเป็น มีความสามารถทางด้านคิดวิเคราะห์
ด้านการพัฒนาอารมณ์ ผู้เรียนจะมีสุนทรียภาพ อารมณ์สดใสร่าเริงสมวัย มั่นใจ กล้าแสดงออก ทำงานร่วมกับผู้อื่นได้ เคารพกติกา ชื่นชมในผลงานของผู้อื่น มีพฤติกรรมดีงาม ด้านการพัฒนาภาษา ผู้เรียนจะมีพัฒนาการทางภาษาในรู้จักคำศัพท์ใหม่ๆ การแบ่งปันประสบการณ์ต่างๆ ลำดับเหตุการณ์ เรียบเรียง บอกเล่าถึงผลงานด้วยถ้อยคำสุภาพ
สรุป
ศิลปะผ้านวมเป็นตัวอย่างที่ดีในการนำศิลปหัตถกรรม หรือการนำภูมิปัญญาชาวบ้านมาพัฒนาต่อยอดเป็นผลงานศิลปะแท้จริง และผู้เรียนยังสามารถนำไปสร้างอาชีพได้อีกทางหนึ่งด้วย นอกจากนี้การจัดกิจกรรมการทำศิลปะผ้านวมผู้เรียนยังได้มีการพัฒนาร่างกาย จิตใจ การเข้าถึงการสร้างสรรค์ศิลปะโดยง่ายจากเทคนิควัสดุที่คุ้นเคย การรู้จักคุณค่าของวัสดุ การรักษาสิ่งแวดล้อม ดังนั้นการเรียนการสอนศิลปะในปัจจุบันควรนำศิลปะผ้านวมเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมทางศิลปะหรือนำไปบูรณาการความรู้กับศาสตร์อื่น
บรรณานุกรม
เกษม ก้อนทอง. (2549). ศิลปะสื่อประสม. กรุงเทพฯ: ศิลปะบรรณาคาร.
ชลูด นิ่มเสมอ. (2542). องค์ประกอบศิลปะ. กรุงเทพฯ: ไทยวัฒนาพานิช.
พีระพงษ์ กุลพิศาล. (2557). การแปลงรูปในทัศนศิลป์. กรุงเทพฯ: (ม.ป.พ.)