แนวทางในการประเมินราคาการออกแบบ

บทนำ

          ในวงการการออกแบบประเภทต่างๆ มีกลุ่มคนในหลายประเทศได้มีความพยายามที่จะกำหนดสูตรการคิดคำนวณอัตราค่าจ้างในการออกแบบให้มีมาตรฐานตลอดมา เพื่อสร้างความเป็นธรรมกับทั้งผู้ว่าจ้างและผู้ออกแบบ ผู้ให้บริการงานจ้างออกแบบประเภทต่างๆ แบ่งออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ คือ นักออกแบบอิสระ และประเภทนิติบุคคลที่จดทะเบียนในรูปแบบห้างหุ้นส่วนจำกัด หรือบริษัท เป็นต้น ทั้งนี้มักมีคำถามเกี่ยวกับการกำหนดราคาการออกแบบของนักออกแบบอิสระหรือนักออกแบบรุ่นใหม่อยู่เสมอว่าควรใช้หลักเกณฑ์ใดๆ เนื่องจากเกิดปัญหาในการตัดราคากันเองบ้าง หรือได้ค่าตอบแทนที่ไม่คุ้มกับการทำงานบ้าง แต่การจะคิดราคาออกมาเพื่อเสนอต่อลูกค้านับเป็นเรื่องที่น่าลำบากใจมาก และทั้งยังหาหลักเกณฑ์ได้ค่อนข้างยาก เสนอราคาสูงไปก็อาจไม่ได้งาน ราคาต่ำไปก็อาจขาดทุน ลูกค้าส่วนใหญ่ไม่เข้าใจต้นทุนการออกแบบ มักขอต่อรองราคา หรือบางครั้งไม่สามรถทำงานได้ ขั้นตอนการทำงานจริงมีความซับซ้อนมากและเนื้อหาของงานออกแบบแต่ละชิ้นที่รับจ้างมามีความยากง่ายในรายละเอียดที่แตกต่างกัน ส่วนการรับจ้างออกแบบประเภทนิติบุคคลมักไม่ค่อยมีปัญหาในประเด็นนี้มากนัก เพราะส่วนใหญ่มักจะรับงานทั้งโครงการของลูกค้าแบบเหมารวมครบวงจรทั้งหมด ดังนั้นการหาแนวทางการประเมินราคาออกแบบจากต้นทุนและผลกำไรของนักออกแบบจึงเป็นสิ่งที่น่าสนใจและต่อยอดความคิดเพื่อการพัฒนาเป็นสภาวิชาชีพในอนาคต

คุณสมบัติทั่วไปของนักออกแบบ

          นักออกแบบที่ดีจะต้องเป็นผู้ที่ทันยุค ทันเหตุการณ์ และมีความชำนาญในเครื่องมือสำหรับการออกแบบประเภทต่างๆ ทั้งซอฟแวร์และฮาร์ดแวร์ที่ทันสมัย มีสถานที่ทำงานที่เหมาะสม สามารถรองรับลูกค้าได้ และควรมีทักษะในการออกแบบประเภทใดประเภทหนึ่งที่เชี่ยวชาญ ประเมินต้นทุนการออกแบบและการผลิตได้ สามารถดูแลขั้นตอนการผลิตผลงานนั้นๆ ได้อย่างครบวงจร ทำหน้าที่ทุกอย่างด้วยตนเอง ทั้งฝ่ายขาย ฝ่ายสร้างสรรค์ ฝ่ายขนส่งสินค้า ฝ่ายติดตั้งผลงาน ฝ่ายการเงิน ฯลฯ และการมีพันธมิตรทางการค้าที่ดี เช่น โรงพิมพ์ ช่างภาพ บริษัททำป้าย ฯลฯ นอกจากนี้ต้องมีสื่อโฆษณาแนะนำผลงานการออกแบบของตน ทั้งสื่อสิ่งพิมพ์ และสื่อดิจิตอล สื่อโซเชียล เช่น เว็บไซต์ Facebook งานที่นักออกแบบอิสระจึงมักเป็นงานออกแบบที่มีขอบเขตไม่ใหญ่โตนัก มีขั้นตอนการทำงานที่ไม่ซับซ้อน เช่น การออกแบบบรรจุภัณฑ์ ป้ายโฆษณา การออกแบบกราฟิกบนผลิตภัณฑ์ สื่อสิ่งพิมพ์ประเภทต่างๆ การออกแบบเว็บไซต์ เป็นต้น แต่นักออกแบบบางคนเป็นผู้รู้จักผู้คน มีพันธมิตรทางการค้า หน่วยงานต่างๆ อย่างกว้างขวาง มีมนุษยสัมพันธ์ที่ดีในการติดต่อประสานงาน ก็สามารถในการรับงานที่ใหญ่มากและซับซ้อนได้ นักออกแบบอิสระจะต้องเป็นคนไปหางานหาลูกค้าเอง ทำหน้าที่ทุกอย่างด้วยตนเอง ทั้งฝ่ายขาย ฝ่ายสร้างสรรค์ ฝ่ายขนส่งสินค้า ฝ่ายติดตั้งผลงาน ฝ่ายการเงิน ฯลฯ รวมทั้งนักออกแบบควรจะต้องไปขึ้นทะเบียน หรือทำบัตรประจำตัวผู้เสียภาษีอย่างถูกต้องที่สำนักงานสรรพากรพื้นที่ให้เรียบร้อย เพราะบริษัทลูกค้ามักหักภาษี ณ ที่จ่าย 3% จากค้าจ้างออกแบบเป็นส่วนมาก ทั้งนี้ส่วนใหญ่แล้วบริษัทออกแบบที่ประสบความสำเร็จมักมีจุดเริ่มต้นเก็บเกี่ยวประสบการณ์จากการทำงานเป็นนักออกแบบอิสระแล้วก้าวไปสู่การเป็นนิติบุคคลในที่สุด

 

ต้นทุนส่วนตัวของนักออกแบบ

          เมื่อนักออกแบบทำธุรกิจย่อมไม่พ้นการมีกลยุทธ์ทางการตลาดนั้นมีอยู่มากมาย แต่กลยุทธ์ที่เป็นพื้นฐานที่สุดก็คือ การใช้ทฤษฎี 4P (Product Price Place Promotion) ซึ่งเป็นหลักในการวางแผนในแต่ละ P ให้ผสานกัน เพื่อให้ได้ส่วนประสมทางการตลาดได้เหมาะสมที่สุด (marketing mix) จากนั้นจึงกำหนดหน้าที่ตามหลัก 4P แม้ว่านักออกแบบอิสระจะไม่ได้ทำงานในรูปแบบบริษัท แต่ก็ทำหน้าที่เสมือนพนักงานบริษัทแทบทุกตำแหน่ง อีกทั้งยังมีค่าเช่าสำนักงาน (แม้สำนักงานเป็นของตน ต้องคำนวณค่าเช่าด้วย) สาธารณูปโภค อุปกรณ์สำนักงาน เครื่องใช้ไฟฟ้า ค่าเสื่อมสภาพ และการลงทุน การอัพเดทอุปกรณ์ประเภทฮาร์ดแวร์ ซอฟแวร์ ฯลฯ เช่นเดียวกับบริษัท จึงมีการคำนวณค่าแรงรายชั่วโมงในแต่ละหน้าที่ลงไปด้วย โดยทั่วไปมีการคำนวณหน้าที่ต่างๆ แบบเหมารวม แต่สามารถแจกแจงเป็นร้อยละเทียบเป็นค่าแรงรายชั่วโมงตามตำแหน่งต่างๆ ดังนี้

          1. การตลาด การขาย (Marketing & Sale)  รวมทั้ง การติดต่อสื่อสาร การประชุม การวางแผน การปรึกษา โทรคมนาคม คิดเป็นร้อยละ 20 หรือ คิดเป็นค่าแรง 2 ชั่วโมง

          2. การกำกับดูแล การควบคุมคุณภาพ และการตรวจสอบ (Art Director, Quality Control & inspection) คิดเป็นร้อยละ 10 หรือ คิดเป็นค่าแรง 1 ชั่วโมง

          3. การบัญชี (Accounting) รวมทั้ง การเงิน ภาษี คิดเป็นร้อยละ 10 หรือ คิดเป็นค่าแรง 1 ชั่วโมง

          4. สำนักงาน (Office) รวมทั้ง ระบบสาธารณูปโภคต่างๆ คิดเป็นร้อยละ 10 หรือ คิดเป็นค่าแรง 1 ชั่วโมง

          5. อุปกรณ์ฮาร์ดแวร์ ซอฟแวร์ (Hardware, Software) เช่น คอมพิวเตอร์ โปรแกรม พริ้นท์เตอร์ สแกนเนอร์ กล้องถ่ายภาพและอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งค่าอัพเดทและค่าเสื่อมสภาพอุปกรณ์ คิดเป็นร้อยละ 10 หรือ คิดเป็นค่าแรง 1 ชั่วโมง

          6. การค้นคว้า การพัฒนาตนเอง (Research & Development) นักออกแบบต้องมีการศึกษาหาความรู้อยู่เสมอทั้งการอบรม หนังสือ และการค้นคว้าต่างๆ คิดเป็นร้อยละ 10 หรือ คิดเป็นค่าแรง 1 ชั่วโมง (จักรกฤษณ์ ตาฬวัฒน์, 2563: ออนไลน์)

 

การประเมินราคาการออกแบบ

          ที่ผ่านมานักออกแบบมักมีการประเมินราคาออกแบบตามชื่อเสียง หรือประเมินจากการคาดเดาหรือประเมินจากการสร้างคุณค่าในผลงาน แต่มีผู้เสนอสูตรการคำนวณค่าออกแบบจากปัจจัยต่างๆ กันมากมาย แต่จากการรวบรวมข้อมูลจากหลายแหล่ง พบว่าการหาปัจจัยซึ่งเป็นต้นทุนและผลกำไรเพื่อนำมาเป็นสูตรการคำนวณที่นิยมใช้กันมากคือ การหาค่าแรงส่วนตัว ต้นทุนส่วนตัว และกำไร ซึ่งผลกำไรมักคิดกันในระหว่าง 10-30% ของผลรวมจากค่าแรงส่วนตัว + ต้นทุนส่วนตัว แต่ตัวแปรการกำหนดราคาแตกต่างกันไปตามบุคคล ชื่อเสียง และความน่าเชื่อถือ จึงพอสรุปเป็นสูตรคำนวณได้ดังนี้

ค่าแรงส่วนตัว + ต้นทุนส่วนตัว + กำไร 30%

          การคำนวณหาค่าแรงส่วนตัว นักออกแบบต้องระบุเงินเดือนที่ต้องการก่อน เช่น ต้องการเงินเดือน 30,000 บาท เฉลี่ยคือ วันละ 1,000 บาท หรือทำงานวันละ 8 ชั่วโมง คิดเป็นชั่วโมงละ 125 บาท

          การคำนวณหาต้นทุนส่วนตัว นำจำนวนรายชั่วโมงจากต้นทุนส่วนตัวทั้ง 6 ข้อ จำนวน 7 ชั่วโมง เท่ากับ 125 x 7 = 875 บาท

ค่าแรงส่วนตัว + ต้นทุนส่วนตัว คือ   125 + 875   =  1,000

          การคำนวณกำไร 30% จากผลรวมของค่าแรงส่วนตัว + ต้นทุนส่วนตัว คือ 1,000 กำไร 30% คือ 300 ดังนั้น ค่าออกแบบรายชั่วโมงจะเท่ากับ 1,000 + 300 = 1,300 บาท (จำนวนเปอร์เซ็นต์ของกำไรสามารถปรับเปลี่ยนได้ตามความต้องการ)

          ตัวอย่างการคิดคำนวณงานออกแบบกรณีที่ไม่ได้มีค่าใช้จ่ายอื่นใดที่นอกเหนือจากต้นทุนส่วนตัว เช่น นักออกแบบได้รับงานออกแบบตราสัญลักษณ์สินค้า โดยประเมินแล้วว่าน่าจะเสร็จภายใน 20 ชั่วโมง ค่าออกแบบตราสัญลักษณ์สินค้าจะเท่ากับ 1300 x 20 = 26,000 บาท เป็นต้น

          แนวทางการคิดคำนวณค่าใช้จ่ายในการออกแบบของแต่ละบุคคล สามารถปรับค่าได้ตามบริบทของนักออกแบบเอง ซึ่งไม่มีใครกำหนดค่าใช้จ่ายเหล่านั้นได้ แต่ถ้าคิดราคาสูงเกินไป อาจทำให้เสียโอกาสในการทำงานได้ หรือนักออกแบบควรสืบค้นราคากลางในการออกแบบแต่ละประเภทจากการสำรวจตลาดการออกแบบจากเว็บไซต์ต่างๆ และควรฝึกอบรมกับผู้เชี่ยวชาญในสาขาสนใจอยู่เสมอ ทั้งนี้จากสำรวจ สัมภาษณ์ และจากประสบการณ์ส่วนตน พบว่า มีการคิดค่าออกแบบตั้งแต่ 2.5% -10% ของมูลค่าต้นทุนการผลิต และพบว่า นักออกแบบกราฟิกมักนิยมรับงานออกแบบและรับผลิตสื่อนั้นๆ หรือรวมทั้งติดตั้งด้วย เนื่องจากสามารถคิดค่าออกแบบรวมกับการผลิตสื่อ เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาต่างๆ กับลูกค้า

 

ต้นทุนการออกแบบ

          การทำงานออกแบบแต่ละชิ้น นอกจากจะมีค่าออกแบบรายชั่วโมงแล้ว ยังมีต้นทุนการออกแบบใดๆ ให้คำนวณอีกมากมาย เพราะแต่ละงานมีรายละเอียด องค์ประกอบในการออกแบบเพิ่มเติมแตกต่างกันไปความต้องการของลูกค้า ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายที่เป็นต้นทุนการทำงานจริง

          ในบทความจาก TCDC (Thailand Creative & Design Center) กล่าวเกี่ยวกับ อัตราค่าบริการสำหรับงานออกแบบกราฟิกนั้นขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง อาทิ ความสามารถ ชื่อเสียง ประสบการณ์ของนักออกแบบ ความยากง่าย และคุณค่าของงาน ฯลฯ โดยการประเมินราคาส่วนมากจะคำนวณจากองค์ประกอบหลายอย่างร่วมกัน ได้แก่

          1. ค่าออกแบบ ซึ่งประเมินจากขั้นตอนการทำงาน รายละเอียด และความยากง่ายของตัวงานเป็นหลัก การประเมินราคาในส่วนนี้ทางนักออกแบบอาจนำเสนอเป็นราคาเดียวเพื่อความสะดวก หรือบางแห่งอาจทำราคาแยกให้เห็นเป็นขั้นๆ ก็ได้ ทั้งนี้แล้วแต่ระบบการจัดการของฝ่ายผู้ว่าจ้างและนักออกแบบด้วย

          2. ค่าดูแลการผลิต ในบางกรณีนักออกแบบสามารถคิดค่าดูแลการผลิตเพิ่มเติมจากค่าออกแบบได้ ทั้งนี้เพราะมาตรฐานการผลิตระดับสูงโดยเฉพาะอย่างยิ่งในระบบงานพิมพ์นั้น เป็นเรื่องที่ต้องการความเชี่ยวชาญและมีรายเอียดที่ซับซ้อน นักออกแบบกราฟิกส่วนมากจำเป็นต้องให้คำแนะนำเพิ่มเติมแก่ผู้ผลิตหรือโรงพิมพ์ เพื่อให้ทำการผลิตได้ตรงตามความต้องการอย่างแท้จริง รวมทั้งต้องเข้าไปดูแลงานผลิตที่บางครั้งอาจใช้เวลาเป็นวันหรือเป็นสัปดาห์ และอาจต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายหากเกิดข้อผิดพลาดขึ้นด้วย

          3. ค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง อาทิ ค่าเดินทาง ค่าส่งเอกสาร ค่าที่พัก ค่าตรวจพิสูจน์อักษร (ถ้ามี)

          4. ค่าลิขสิทธิ์ในงานออกแบบ (Loyalty Fee) นักออกแบบหรือบริษัทออกแบบบางแห่ง อาจคิดค่าบริการเพิ่มเติมเป็นเปอร์เซ็นต์จากสิทธิหรือปริมาณการใช้งานออกแบบนั้นๆ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับจำนวนการผลิต เงื่อนไข ประเภท และข้อตกลงอันเป็นที่ยอมรับของทั้งสองฝ่าย (วิสาข์ สอตระกูล, 2009: ออนไลน์)

          นอกจากนี้ยังมีค่าใช้จ่ายอื่นๆ อีกที่ลูกค้าต้องการใช้บริการอยู่เสมอ เช่น การถ่ายภาพทั้งในและนอกสถานที่  ผลิตภัณฑ์ที่ใช้เป็นสื่อในการออกแบบ เช่น เสื้อ ร่ม กระเป๋า หมวก ของที่ระลึก เป็นต้น  การติดตั้ง การขนส่งสินค้า และที่สำคัญคือ การเสียภาษีจากทุกประเภทรวมอยู่ด้วย

          ดังนั้นนักออกแบบจึงต้องทำงานอย่างรอบคอบที่สุด การทำสัญญาการออกแบบจึงควรระบุสิ่งต่างๆ ต้องกระทำและสิ่งที่ลงทุนไปอย่างชัดเจน แต่ส่วนใหญ่แล้วนักออกแบบมักคิดราคาในภาพรวมมาแล้ว ถ้าแจกแจงในสัญญามากเกินไป จะทำให้ลูกค้าอึดอัดและเกิดปัญหาต่างๆ ได้ เมื่อลูกค้าถามหรือต่อรองราคา จึงค่อยอธิบายรายละเอียดเป็นกรณีไป

 

การประเมินราคาออกแบบโดยภาครัฐ

          ในปัจจุบันการกำหนดอัตราค่าออกแบบทางสถาปัตยกรรมจากสมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์ โดยเริ่มต้นแต่ 4.5% จากมูลค่าการก่อสร้าง และการออกแบบตกแต่งภายใน โดยเริ่มต้นแต่ 10% จากมูลค่าการก่อสร้าง และมีการประเมินราคาการออกแบบจากภาครัฐ โดยออกเป็นกฎกระทรวง กำหนดอัตราค่าจ้างผู้ให้บริการงานจ้างออกแบบหรือควบคุมงานก่อสร้าง พ.ศ. 2562 มีผลบังคับใช้ 16 ก.ค. 2562 เพื่อเป็นมาตรฐานในการรับทำโครงการกับภาครัฐเท่านั้น กฎกระทรวงนี้มิได้บังคับหรือมีผลไปถึงงานของเอกชน แต่สามารถเป็นแนวทางอ้างอิงในการประเมินราคาการออกแบบอื่นๆ ได้ ดังนี้

          สาระที่สำคัญของกฎกระทรวงนี้ได้กล่าวถึงการออกแบบที่ครอบคลุมถึงงานออกแบบประเภทสถาปัตยกรรมกรรม  ตามกฎกระทรวงข้อที่ 3 (1) บัญชี 1 สำหรับงานประเภทสถาปัตยกรรม ดังนี้

บัญชีอัตราค้าจ้างผู้ให้บริการงานจ้างออกแบบหรือควบคุมงานก่อสร้าง อัตรา(ไม่เกินร้อยละของวงเงินงบประมาณค่าก่อสร้าง)

ประเภทงานสถาปัตยกรรม รายการออกแบบ ขนาดโครงการไม่ถึง 50 ล้านบาท ไม่ซับซ้อน 4.5 ซับซ้อน 6.5 ซับซ้อนมาก 8.5

ประเภทงานสถาปัตยกรรม รายการออกแบบ ตั้งแต่ 50 แต่ไม่ถึง 250 ล้านบาท ไม่ซับซ้อน 4 ซับซ้อน 5.25 ซับซ้อนมาก 7

ประเภทงานสถาปัตยกรรม รายการออกแบบ ตั้งแต่ 250 แต่ไม่ถึง 750 ล้านบาท ไม่ซับซ้อน 3.5 ซับซ้อน 4 ซับซ้อนมาก 6

ประเภทงานสถาปัตยกรรม รายการออกแบบ ตั้งแต่ 750 แต่ไม่ถึง 2,500 ล้านบาท ไม่ซับซ้อน 3 ซับซ้อน 3.5 ซับซ้อนมาก 7

ประเภทงานสถาปัตยกรรม รายการออกแบบ ตั้งแต่ 2,500 แต่ไม่ถึง 5,000 ล้านบาท ไม่ซับซ้อน 2.5 ซับซ้อน 3 ซับซ้อนมาก 4

ประเภทงานสถาปัตยกรรม รายการออกแบบ ตั้งแต่ 5,000 ล้านบาทขึ้นไป ไม่ซับซ้อน 1.5 ซับซ้อน 2.5 ซับซ้อนมาก 3

          จากรายการดังกล่าว พบว่า ภาครัฐได้กำหนดอัตราค่าออกแบบงานสถาปัตยกรรมตามขนาดโครงการ โดยจะมีอัตราร้อยละของวงเงินงบประมาณค่าก่อสร้าง และอัตราร้อยละที่แตกต่างกันไปตามความซับซ้อนของการออกแบบ คือ ไม่ซับซ้อน ซับซ้อน และซับซ้อนมาก ตัวอย่างเช่น การออกแบบงานสถาปัตยกรรมที่มีขนาดโครงการ 50 ล้านบาท และมีการออกแบบที่ไม่ซับซ้อนจะได้ค่าออกแบบ ร้อยละ 4.5 ค่าออกแบบจึงเท่ากับ 2,250,000 บาท

          หมายเหตุ แสดงคำอธิบายประเภทงานออกแบบ ก่อสร้าง และวิธีการคำนวณเทียบสัดส่วนจากขนาดโครงการใกล้เคียงกัน ตามกฎกระทรวง กำหนดอัตราค่าจ้างผู้ให้บริการงานจ้างออกแบบหรือควบคุมงานก่อสร้าง พ.ศ. 2562 มีสาระสำคัญดังนี้

          1. งานสถาปัตยกรรม  ลักษณะความซับซ้อนของงานสถาปัตยกรรมได้แก่ 

             1.1 ซับซ้อนมาก หมายถึง งานอาคาร งานสถาปัตยกรรมภายใน งานภูมิสถาปัตยกรรมที่มีแบบแผนวิจิตรต้องใช้ความประณีตสูง ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง ความชำนาญเฉพาะด้านมีความสลับซับซ้อน  หรือมีผู้ใช้สอยจำนวนมาก มีลักษณะพิเศษ เชิดชูคุณค่าทางด้านสถาปัตยกรรม ศิลปกรรม วัฒนธรรม หรือธรรมชาติ เช่น พิพิธภัณฑ์ อาคารทางศาสนา ศาลากลางจังหวัด โรงพยาบาล อาคารห้องปฏิบัติการ อาคารที่มีความสลับซับซ้อน อาคารในสนามบินเฉพาะอาคารที่พักผู้โดยสาร อนุสาวรีย์ รัฐสภา ศูนย์วัฒนธรรม อาคารอนุรักษ์ สถานทูต อาคารเก็บวัสดุที่เสี่ยงอันตรายหรือเสี่ยงต่อสุขภาพ งานสถาปัตยกรรมภายในของบ้านพักอาศัย ภูมิทัศน์ในพื้นที่อนุรักษ์ ภูมิทัศน์ในอาคาร สวนหลังคา สวนพฤกษศาสตร์ สวนสมุนไพร สวนสัตว์ สวนสาธารณะกลางเมือง หรืองานปรับปรุงอาคารหรือภูมิทัศน์ในบริเวณที่มีการใช้สอยหรือสิ่งปลูกสร้างอยู่เดิมงานภูมิทัศน์สถาปัตยกรรมภายในพื้นที่อ่อนไหวทางนิเวศน์งานภูมิทัศน์ที่เกี่ยวกับการปรับระดับพื้นที่

            1.2  ซับซ้อน หมายถึง งานอาคาร งานสถาปัตยกรรมภายใน งานภูมิสถาปัตยกรรมที่ต้องใช้ความประณีต ความชำนาญ มีประโยชน์ใช้สอยที่ซับซ้อน มีลักษณะการก่อสร้างที่ซับซ้อน มีกฎเกณฑ์ควบคุมเฉพาะ หรือมีการใช้งานหลากหลาย เช่น อาคารมหาวิทยาลัย อาคารเรียนรวม หอสมุด หอประชุม อาคารพักอาศัยรวมสนามกีฬา สถานกักกัน หอพัก โรงเรียน ศาลาประชาคม อาคารสำนักงาน อาคารสูงอาคารขนาดใหญ่พิเศษ สถาบันระดับสูงของรัฐ สถาบันการเงิน โรงแรม โรงภาพยนตร์ โรงมหรสพห้างสรรพสินค้า ศูนย์ประชุม ศูนย์แสดงสินค้าและนิทรรศการ สถานีขนส่งต่างๆ อาคารศูนย์การค้า สถานบริการและนันทนาการ สโมสร สวนสนุก สวนสาธารณะ ภูมิทัศน์ชุมชน ภูมิทัศน์บริเวณอาคารสาธารณะ โครงการจัดสรรที่ดิน หรือนิคมอุตสาหกรรม

            1.3  ไม่ซับซ้อน หมายถึง งานอาคาร งานสถาปัตยกรรมภายใน งานภูมิสถาปัตยกรรมมีลักษณะเรียบง่าย เป็นมาตรฐานทั่วไป เช่น โรงเก็บพัสดุ คลังสินค้า อาคารคลังสินค้า (Cargo)  อาคารโรงซ่อมเครื่องบิน (Hangar) อาคารจอดรถยนต์ ตลาด ร้านค้า ศูนย์การค้า ศูนย์อาหาร โชว์รูม อาคารประเภทบ้านที่อยู่อาศัย หรือสำนักงานขนาดเล็ก สวนสาธารณะชานเมือง งานภูมิทัศน์ ถนน หรือเส้นทางคมนาคม สวนเกษตร สวนประดับ หรือสวนหย่อม (ราชกิจจานุเบกษา, 2562: ออนไลน์)

          จากคำอธิบายข้างต้น พบว่า การออกแบบในประเภทงานสถาปัตยกรรมในความหมายของภาครัฐมิได้กล่าวถึงงานออกแบบนิเทศศิลป์ ออกแบบกราฟิก และงานมัณฑนศิลป์ แต่โดยปกติผลงานเหล่านี้ได้จัดให้รวมอยู่กับหมวดหมู่การออกแบบประเภทต่างๆ เช่น งานตกแต่งภูมิทัศน์ทั้งภายในและภายนอก ดังนั้นผู้ออกแบบกราฟิกต้องคิดค่าออกแบบร่วมกันกับผู้ออกแบบงานสถาปัตยกรรมต่างๆ ที่กำหนดตามความเหมาะสมเป็นต้น

          สรุป เนื่องจากนักออกแบบกราฟิกยังไม่มีองค์กรวิชาชีพ แนวทางการประเมินราคาการออกแบบในประเภทต่างๆ นั้น เป็นแนวทางการคิดคำนวณในเบื้องต้นเท่านั้น การคิดคำนวณราคาใดๆ ย่อมขึ้นกับความสามารถส่วนบุคคล ชื่อเสียง ผลงานในอดีตเป็นหลัก นักออกแบบต้องคำนวณเงินเดือนที่ต้องการก่อน จากนั้นจึงพิจารณากำหนดหาต้นทุนส่วนตัว และผลกำไร จึงจะสามารถคิดคำนวณเป็นรายชั่วโมงได้ เพื่อเป็นบรรทัดฐานในการคำนวณ ส่วนจะมีการปรับเพิ่มหรือลดราคาก็เป็นในส่วนของกลยุทธ์ทางธุรกิจของแต่ละบุคคล หรืออาจยึดถือการคำนวณของภาครัฐเป็นเกณฑ์เพื่อเปรียบเทียบเป็นแนวทางในคิดราคาออกแบบได้

 

บรรณานุกรม

เจตนิพิฐ แสนสุข. (2550). การบริหารงานออกแบบนิเทศศิลป์. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์โอเดียนสโตร์

พีระพงษ์ กุลพิศาล. (2530). เอกสารการสอนวิชาธุรกิจศิลปะ. กรุงเทพฯ: สาขาวิชาออกแบบนิเทศศิลป์. มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา. (ไม่ได้ตีพิมพ์)

สกนธ์ ภู่งามดี. (2547). ธุรกิจศิลปะ. กรุงเทพฯ: มายบุ๊คส์

จักรกฤษณ์ ตาฬวัฒน์. (2563). แนวทางการคิดราคาค่าออกแบบ. สืบค้น 25 มกราคม 2563 จากhttp://mennstudio.com/2014/design-price-cost-value/

ราชกิจจานุเบกษา. (2562). กฎกระทรวงกำหนดอัตราค่าจ้างผู้ให้บริการงานจ้างออกแบบหรือควบคุมงานก่อสร้าง พ.ศ. ๒๕๖๒. สืบค้น 9 มกราคม 2563 จาก http://www.ratchakitcha.soc.go.th/

วิสาข์ สอตระกูล. (2563). คู่มือฉบับย่อสำหรับผู้ประกอบการธุรกิจ เมื่อคุณต้องการใช้งานนักออกแบบกราฟิก (Graphic Designer). สืบค้น 9 มกราคม 2563 จาก https://web.tcdc.or.th

Dan Mall. (2016). Pricing Design.New York: New York: Abook Apart.

Infographic Thailand. (2563). เคล็ดลับคิดค่าออกแบบฟรีแลนซ์ให้อยู่รอด. สืบค้น 25 มกราคม 2563 จากhttp://infographic.in.th/