แนวทางการส่งเสริมการท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมไทย-จีน ในย่านฝั่งธนบุรี เพื่อการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์

บทคัดย่อ

งานวิจัยมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาบริบทเชิงพื้นที่และพัฒนาเส้นทางท่องเที่ยววัฒนธรรมไทย-จีน และพัฒนาบุคลากรโดยจัดอบรมเยาวชนและนักเรียนในชุมชนเป็นนักสื่อความหมายท้องถิ่น และส่งเสริมภาพลักษณ์การท่องเที่ยวด้วยการจัดทำฐานข้อมูลการท่องเที่ยวในรูปแบบสื่อมัลติมีเดีย

ผลการวิจัยพบว่า 

เขตธนบุรีและคลองสานมีแหล่งท่องเที่ยวที่มีคุณค่าเชิงประวัติศาสตร์วัฒนธรรมไทย-จีน สภาพทางกายภาพการเข้าถึงมีความหลากหลายสะดวกปลอดภัย สภาพทางเศรษฐกิจและสังคมผู้คนมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการชุมชน แหล่งท่องเที่ยวมีเอกลักษณ์เฉพาะและสามารถสร้างอาชีพให้กับชุมชน ทรัพยากรท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมไทย-จีน ที่เป็นจุดดึงดูดสำหรับนักท่องเที่ยว ได้แก่ ศาลเจ้ากวนอู ศาลเจ้าเกียนอันเกง ศาลเจ้าแม่อาเหนียว ศาลเจ้าพ่อพระเพลิง บ้านล้ง 1919  วัดกัลยาณมิตรวรมหาวิหาร วัดอินทารามวรวิหาร วัดจีจินเกาะ กุยช่ายตลาดพูล ห่านพะโล้ หมูสะเต๊ะ ขนมเปี๊ยะ สุริยากาแฟ  โรงน้ำปลาทั่งง่วนฮะ โรงเกลือแหลมทอง โกดังเซ่งกี่ โรงบะหมี่โง้วกิ้มล้ง สิงโต มังกร มีอุทยานเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีเป็นพื้นที่จัดกิจกรรมชุมชน สำหรับการพัฒนาเส้นทางท่องเที่ยววัฒนธรรมไทย-จีน แบ่งเป็น 3 เส้นทาง ได้แก่ 1. สายศาลเจ้ากวนอู-ศาลเจ้าแม่อาเหนียว 2. สายศาลเจ้าเกียนอันเกง- ตลาดพลู และ 3. สายท่าน้ำวัดอรุณ-ท่าน้ำตลาดพลู ในการพัฒนาบุคลากรเป็นนักสื่อความหมายท้องถิ่นอบรมเป็นภาคภาษาอังกฤษ-จีน การจัดงานนิทรรศการเป็นการนำเสนอฐานข้อมูลมัลติมีเดีย 4 ด้าน และแผนที่เส้นทางโดยการแชร์ตำแหน่งแบบเรียลไทม์ เผยแพร่ให้กับหน่วยงานรัฐและผู้ประกอบการใช้เป็นแนวทางส่งเสริมภาพลักษณ์การท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์

 

คำสำคัญ : การท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์, วัฒนธรรมไทย-จีน, ย่านฝั่งธนบุรี

 

Abstract

           The objective of the research is to study the spatial context, the development of the Thai-Chinese cultural tourism route and human resource development by training youth and students in the community to be local communicators and promoting tourism image by making a database of tourism information in form of media.

           The results revealed,

               Thonburi and Khlong San districts have Thai-Chinese valuable historical and cultural tourist attractions. Physical condition is safe, convenient and has many ways to get access to it. Economics and social conditions, local people be part of community management. Tourist attractions have their own unique and can create jobs for the local people.  Thai – Chinese Cultural Tourism Resources that attract tourists, such as Guan Yu Shrine, Kian Un Keng Shrine, Holy Mother A Nial Shrine, Chao Pho Phraphloeng Shrine, Lhong 1919, Kanlayanamit Woramahaviharn Temple, Intharam Worawihan Temple, Chee Chin Khor temple, Chinese Chive Talat Phlu, Chinese-style stewed goose, Pork Satay, Chinese Spring Rolls, Sureeya coffee, Tang Nguan Ha fish sauce factory, Laemthong Salt Production, SK building, Khoa Lim Long noodles factory, lions, dragons and have Princess Mother Memorial Park be the community area to organize local activities. The development of Thai-Chinese cultural tourism routes is divided into three routes : 1. Guan Yu Shrine – A Nial Shrine, 2. Kian Un Keng Shrine – Talat Phlu, and 3. Wat Arun Pier – Talat Phlu Pier.
The development of local communicator is arranging the training in English and Chinese. Exhibiting is to present a database in a four-sided media and real time-sharing route map with the government sector and owner to use as a guideline in promoting the image of creative tourism.

 

Keyword : Creative Tourism, Thai-Chinese Cultural, Thonburi Areas

 

1.1 ความเป็นมาและความสำคัญของปัญหาในการวิจัย

การมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอย่างต่อเนื่องและเป็นรูปธรรม ในการพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์มีการสร้างความสมดุลระหว่างอุปสงค์และอุปทานที่ชัดเจน ความต้องการและพฤติกรรมของนักท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ทำให้เกิดความร่วมมือกันอย่างจริงจังทุกภาคส่วนตลอดจนมีการลงทุนที่น้อยกว่าการท่องเที่ยวในรูปแบบอื่น ๆ ทำให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ร่วมกันและเกิดกลไกของการสร้างเครือข่าย ทั้งยังส่งเสริมการมีส่วนร่วมในแนวร่วมเดียวกันเกิดความซาบซึ้งและรู้คุณค่าในตัวเอง และยังเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจการท่องเที่ยวของประเทศในเชิงนโยบายถือเป็นต้นแบบในการพัฒนาฐานทรัพยากรการท่องเที่ยวให้เข้มแข็งอย่างเป็นรูปธรรม

ทรัพยากรการท่องเที่ยว หมายถึง สถานที่ท่องเที่ยว ซึ่งรวมถึงสถานที่ที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติและสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้นเพื่อใช้เป็นสถานที่ท่องเที่ยว ประกอบกิจกรรม ขนบธรรมเนียมประเพณี และวัฒนธรรมที่สะท้อนให้เห็นถึงวัฒนธรรมของแต่ละท้องถิ่น ที่มีลักษณะเด่น ดึงดูดความสนใจของนักท่องเที่ยว (วรรณา วงษ์วานิช, 2539)     

ทรัพยากรการท่องเที่ยวนั้นเป็นหัวใจสำคัญที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวให้เดินทางไปยังแหล่งท่องเที่ยว ดังนั้น จึงเป็นต้องมีการศึกษาเพื่อให้รับรู้ถึงสภาพของทรัพยากรการท่องเที่ยวในแหล่งท่องเที่ยวนั้นๆ เป็นอย่างดี เพื่อให้สามารถนำข้อมูลที่ได้ไปประกอบการวางแผนพัฒนาการท่องเที่ยวให้มีประสิทธิภาพ เหมาะสมกับศักยภาพในการรับรองของพื้นที่ (วนัทยา หนูแก้ว, 2550)

นอกจากนี้การท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ยังถือเป็นส่วนหนึ่งของการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมที่สามารถนำพานักท่องเที่ยวไปค้นพบและสัมผัสสิ่งใหม่ ๆ ได้ด้วยตนเอง เกิดประสบการณ์จริงและไม่หยุดนิ่ง ส่วนใหญ่การท่องเที่ยวลักษณะนี้มักจะเป็นการท่องเที่ยววัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้หรือเป็นนามธรรม ได้แก่ วัฒนธรรมประเพณีประดิษฐ์ใหม่ วัฒนธรรมกลุ่มชน และวัฒนธรรมการแสดง ตลอดจนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ข้ามวัฒนธรรมโดยใช้กระบวนการจัดการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วมแทนการเรียนรู้แบบเป็นผู้รับข้อมูลอย่างเดียวทำให้นักท่องเที่ยวเกิดความเข้าใจในพื้นที่ชุมชนโดยแท้จริง

การท่องเที่ยวที่มุ่งเน้นความผูกพันและประสบการณ์ที่แท้จริงผ่านการเรียนรู้อย่างมีส่วนร่วมในงานศิลปะ มรดกทางวัฒนธรรม และคุณลักษณะเฉพาะของพื้นที่โดยเชื่อมโยงกับคนในท้องถิ่นซึ่งเป็นเจ้าของวัฒนธรรม ซึ่งขอบเขตของการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ในแนวกว้างชี้ให้เห็นถึงความหลากหลายของแหล่งท่องเที่ยวและสิ่งดึงดูดใจทางการท่องเที่ยว (นุชนารถ รัตนสุวงศ์ชัย, ภูริวัจน์ เดชอุ่ม และอรช กระแสอินทร์ 2561 : 13)

ย่านฝั่งธนบุรีในวันนี้คือแผ่นดินฝั่งตะวันตกที่มีการขยายตัวเป็นชุมชนเมืองแห่งใหม่มีการคมนาคมที่เข้าถึงสะดวกรวดเร็ว แม้ความเจริญจะก้าวตามสังคมโลกสมัยใหม่แห่งเทคโนโลยี แต่ยังพบว่าย่านฝั่งธนบุรีมีพื้นที่ที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรมของกลุ่มคนที่สืบทอดมาแต่ดั้งเดิม ยึดโยงอยู่กับชุมชนอย่างเหนี่ยวแน่น ผู้คนในชุมชนส่วนใหญ่ยังคงประกอบอาชีพอยู่ในพื้นที่ มีเด็กและเยาวชนที่หารายได้ด้วยตนเองจากงานวัฒนธรรมของชุมชน อาทิ การเล่นกระตั้วแทงเสือ สิงโต มังกร กลองยาว รำวง และวงลูกทุ่งที่มีการสืบสานอยู่ในโรงเรียน อาจเป็นเพราะความเจริญเข้ามาถึงย่านฝั่งธนบุรีอย่างรวดเร็วในทุกมิติ ทำให้สังคมและชุมชนมีการตื่นตัวและตอบรับกระแสของความเจริญได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะมิติการท่องเที่ยวที่ภาครัฐสนับสนุนมาอย่างต่อเนื่อง

ธนบุรีในปัจจุบันเป็นเขตการปกครองเขตหนึ่งของกรุงเทพมหานคร ในอดีตธนบุรีซึ่งตั้งอยู่ทาง
ฝั่งตะวันตกของบริเวณที่เรียกว่า “บางกอก” มีชื่อว่า ธนบุรีศรีมหาสมุทร เป็นราชธานีของไทยต่อจากกรุงศรีอยุธยา นับแต่ พ.ศ. 2310 เป็นต้นมาหลังจากกอบกู้เอกราชสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงเลือกดินแดนแห่งนี้เป็นราชธานี เนื่องจากทรงเห็นว่าธนบุรีเป็นเมืองหน้าด่านคุมเส้นทางออกทะเลและเป็นเมืองท่าตั้งอยู่ใกล้ปากแม่น้ำ มีป้อมปราการและวัดวาอารามอยู่แล้วจำนวนมาก ฝั่งธนบุรีตั้งอยู่บนพื้นที่ราบลุ่มที่คลองธรรมชาติไหลตัดผ่านหลายสายจนได้รับสมญานามว่าเป็นเวนิสตะวันออก ประชาชนที่อาศัยอยู่ประกอบด้วยผู้คนหลายชาติหลายภาษา เช่น ชาวจีน ลาว เขมร มอญ โปรตุเกส ซึ่งแต่ละกลุ่มมีศาสนาและความเชื่อต่างกัน แต่สามารถอยู่รวมกันได้อย่างผสมกลมกลืน รักษาวัฒนธรรมที่เป็นเอกลักษณ์ของตนไว้ได้อย่างดี และได้สะสมสืบสานศิลปวัฒนธรรมต่าง ๆ มาจนถึงปัจจุบัน (กระทรวงศึกษาธิการ (2544 : 1)

ชาวจีนได้อพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานในย่านกุฎีจีนและพื้นที่เกี่ยวเนื่องเป็นเวลานานแล้ว ดังปรากฏเรื่องราวของกุฎีจีนที่กล่าวไว้ในสมัยกรุงศรีอยุธยา ในสมัยกรุงธนบุรีมีชาวจีนอพยพเข้ามาในชุมชนนี้มากเป็นลำดับ นอกจากสาเหตุการหนีภัยสงครามคราวเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 แล้วเหตุผลที่สำคัญคือพระราโชบายของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชในด้านการค้าขายกับจีนและการที่พระองค์ทรงมีพระราชประสงค์ที่ให้ชาวจีนเข้ามาตั้งถิ่นฐานในกรุงธนบุรีเพื่อเพิ่มประชากรในราชธานี (สำนักศิลปะและวัฒนธรรม 2550 : 21)

กองการท่องเที่ยว สำนักปลัดกรุงเทพมหานคร แบ่งเส้นทางการท่องเที่ยวเดิมออกเป็น 5 เส้นทาง ได้แก่ เส้นทางที่ 1 สยามอารยะ แผ่นดินพระพุทธเจ้าหลวง เส้นทางที่ 2 ยลเมืองจากมุมสูง เส้นทางที่ 3 สีสันชีวิตย่านเก่า เส้นทางที่ 4 อัญมณีแห่งราชนาวีไทย เส้นทางที่ 5 สราญรมย์ชมอุทยานและย่านเก่าสามแพร่ง จะเห็นว่าเส้นทางการท่องเที่ยวส่วนใหญ่ยังคงเน้นการท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์และเชิงวัฒนธรรมและเป็นการท่องเที่ยวในรูปแบบเดิม ๆ นักท่องเที่ยวรับฟังข้อมูลจากไกด์และเยี่ยมชมสถานที่เพียงเท่านั้น

เส้นทางท่องเที่ยวใหม่ในรูปแบบท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมไทย-จีน น่าจะเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่เป็นตัวเลือกใหม่ให้กับนักท่องเที่ยว และเป็นการส่งเสริมภาพลักษณ์การท่องเที่ยวอย่างสร้างสรรค์ให้กับชุมชนย่านฝั่งธนบุรี เพื่อสร้างรายได้ให้กับเยาวชนที่อาศัยอยู่ในชุมชน ถือเป็นการร่วมพัฒนาฐานทรัพยากรการท่องเที่ยวที่มีความเข้มแข็งและความหลากหลายทางวัฒนธรรมให้เกิดประโยชน์เชิงพื้นที่ต่อไป

วัฒนธรรมคือพลังของภูมิปัญญาซึ่งเป็นรากฐานทางสังคม เศรษฐกิจ การเมือง ซึ่งได้มาจากการคัดสรร กลั่นกรอง ทดลองใช้จากชุมชน และถ่ายทอดด้วยการปฏิบัติสืบทอดกันมาเป็นเวลานาน และเป็นเครื่องมือสำคัญที่ทำให้เกิดความเข้มแข็งและเป็นเอกลักษณ์ทางสังคมของชุมชน (ประเวศ
วะสี 2532 : 1-2)

การนำเอาวัฒนธรรมไทย-จีน ที่มีความโดดเด่นในย่านฝั่งธนบุรีที่มีความเป็นมาแต่อดีตนับตั้งแต่เส้นทางการค้าจีนโบราณจากคูคลองแม่น้ำไปจนถึงด่านเก็บเงินเรือสินค้าในสมัยธนบุรี ซึ่งปัจจุบันพบว่าเป็นพื้นที่เขตธนบุรีและเขตคลองสาน นับจากชุมชนถิ่นฐานคนจีนดั้งเดิม เช่น ชุมชนแขวงสมเด็จเจ้าพระยา ชุมชนแขวงคลองสาน ชุมชนแขวงวัดกัลยาณ์ ชุมชนแขวงบางยี่เรือ ชุมชนแขวงตลาดพลู เป็นต้น ชุมชนดังกล่าวมีศักยภาพสูงสามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติ คณะผู้วิจัยเล็งเห็นถึงความสำคัญในการศึกษาบริบทเชิงพื้นที่และการพัฒนาการท่องเที่ยวด้วยการจัดทำเส้นทาง การพัฒนานักสื่อความหมายท้องถิ่นเพื่อส่งเสริมภาพลักษณ์การท่องเที่ยวของกรุงเทพมหานครในย่านฝั่งธนบุรีให้เกิดมิติการท่องเที่ยวอย่างสร้างสรรค์และยั่งยืน

 

1.2 วัตถุประสงค์ของการวิจัย

1. เพื่อศึกษาบริบทเชิงพื้นที่และพัฒนาเส้นทางท่องเที่ยววัฒนธรรมไทย-จีน

2. เพื่อพัฒนาบุคลากรโดยการจัดอบรมเยาวชนและนักเรียนในชุมชนเป็นนักสื่อความหมายท้องถิ่น

3. เพื่อส่งเสริมภาพลักษณ์การท่องเที่ยวด้วยการจัดทำฐานข้อมูลการท่องเที่ยวในรูปแบบสื่อมัลติมีเดีย

 

1.3 ประโยชน์คาดว่าที่ได้รับ

1. ผู้ประกอบการด้านการท่องเที่ยวที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ บริษัททัวร์ Ko Ven Kessel บริษัท Siem Hopและบริษัท Just Nok ได้ฐานข้อมูลสื่อมัลติมีเดีย สิ่งพิมพ์แผ่นพับ หนังสือคู่มือท่องเที่ยว และข้อมูลเชิงลึก ประกอบด้วย เรื่องเล่า แผนที่ปักหมุด แผนที่เส้นทางโดยการแชร์ตำแหน่งแบบเรียลไทม์ ที่สามารถนำไปเพิ่มมูลค่าให้กับแหล่งท่องเที่ยว เกิดผลกระทบต่อเศรษฐกิจชุมชนอันนำสู่การไปใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ 

2. หน่วยงานภาครัฐ ได้แก่ สำนักงานเขตธนบุรี เขตคลองสาน สำนักวัฒนธรรม การท่องเที่ยวและกีฬา (สวท.) โดยกองวัฒนธรรมและการท่องเที่ยว ได้แหล่งท่องเที่ยวด้านวัฒนธรรมไทย-จีน เส้นทางและกิจกรรมท่องเที่ยวการเชิดสิงโต ใช้พัฒนาเป็นจุดดึงดูดสำหรับนักท่องเที่ยวในย่านฝั่งธนบุรี เกิดผลกระทบใช้เป็นแนวทางในการส่งเสริมภาพลักษณ์การท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ให้กับชุมชนและพื้นที่อื่น ๆ อันจะนำไปสู่การใช้ประโยชน์เชิงนโยบายต่อไป

 

 

1.4 ขอบเขตของการวิจัย

            การวิจัยนี้ คณะผู้วิจัยได้มีการแบ่งขอบเขตการวิจัยเป็นหัวข้อ ๆ ดังนี้

            1. ด้านเนื้อหา แบ่งออกเป็น 3 ระยะ ดังนี้

             ระยะที่ 1 ศึกษาข้อมูล เอกสาร งานวิจัย วิทยานิพนธ์ โดยทบทวนวรรณกรรมหัวข้อแนวคิดทรัพยากรการท่องเที่ยว แนวคิดการจัดทำเส้นทางท่องเที่ยว ปัจจัยสนับสนุนและแนวโน้มการท่องเที่ยวไทย  ดำเนินการลงพื้นที่ศึกษาสำรวจ (Survey Studies) เก็บข้อมูลเชิงพื้นที่ ประกอบด้วย 1. แบบสอบถาม (Questionnaire) ด้านศักยภาพของแหล่งท่องเที่ยวและแนวทางการพัฒนาทรัพยากรการท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมไทย-จีน  และ 2. แบบสำรวจ ด้านสภาพทางกายภาพ สภาพทางสังคม สภาพทางเศรษฐกิจ และองค์ประกอบชุมชน 

            ระยะที่ 2 วิเคราะห์แผนที่และการพัฒนาเส้นทางท่องเที่ยววัฒนธรรมไทย-จีน โดยดำเนินการสนทนากลุ่ม (Focus group) และสัมภาษณ์เชิงลึก (Indept-Interview) ในประเด็นการกำหนดพื้นที่จุดท่องเที่ยวในย่านฝั่งธนบุรี เขตธนบุรี เขตคลองสาน และการพัฒนาเส้นทางท่องเที่ยว      

            ระยะที่ 3 ส่งเสริมภาพลักษณ์การท่องเที่ยวโดยจัดทำฐานข้อมูลเป็นสื่อมัลติมีเดียที่สแกน
คิวอาร์โค้ด (QR code) และจัดนิทรรศการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ในชุมชนส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ให้กับย่านฝั่งธนบุรี

            2. ด้านพื้นที่

                -กรุงเทพมหานคร ย่านฝั่งธนบุรี กรณีศึกษาเขตธนบุรี เขตคลองสาน

 

1.5 วิธีดำเนินการวิจัย

             1. เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย

                  คณะผู้วิจัยได้พัฒนาเครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย จำนวน 4 ชุด ประกอบด้วยแบบสอบถาม
แบบสำรวจ ประเด็นข้อคำถามการสนทนากลุ่ม และแบบสัมภาษณ์ผู้ประกอบการ กำหนดประเด็นหัวข้อขึ้นจากการทบทวนวรรณกรรมตามแนวคิดทฤษฎีที่นำมาศึกษาประกอบ ตรวจความเที่ยงตรงของเครื่องมือจากผู้เชี่ยวชาญเฉพาะ ซึ่งเครื่องมือที่ได้ถูกกำหนดตามสาระและเป้าหมายหลักให้สอดคล้องกับระยะของการดำเนินงานวิจัย

             2. การเก็บรวบรวมข้อมูล

                  คณะผู้วิจัยดำเนินการเก็บรวบรวมข้อมูล ดังนี้

2.1 เก็บรวบรวมข้อมูลจากเอกสารและงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง ทบทวนวรรณกรรม

เพื่อให้ได้ข้อค้นพบหลักทฤษฎีอ้างอิงในการวิจัย

                      2.2 เก็บรวบรวมข้อมูลจากลงพื้นที่ศึกษาสำรวจ (Survey Studies) การทำแบบสอบถาม (Questionnaire) จากหน่วยงานภาครัฐ ได้แก่ สำนักงานเขต สภาวัฒนธรรมเขต สำนักวัฒนธรรมกีฬา และการท่องเที่ยว (สวท.) ปราชญ์ท้องถิ่น ผู้ทรงคุณวุฒิด้านท่องเที่ยวและประธานชุมชน

2.3 เก็บข้อมูลจากการสนทนากลุ่ม (Focus group) การสัมภาษณ์เชิงลึก (Indept-

Interview) ในประเด็นการกำหนดพื้นที่จุดท่องเที่ยวในย่านฝั่งธนบุรีและเส้นทางท่องเที่ยววัฒนธรรมไทย-จีน จากปราชญ์ท้องถิ่น ผู้ทรงคุณวุฒิด้านท่องเที่ยว สำนักงานเขต สภาวัฒนธรรมเขต สำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว (สวท.) ประธานแขวง และประธานชุมชน

2.4 เก็บข้อมูลจากการพื้นที่สำรวจเชิงกายภาพและบริบทเชิงพื้นที่จากการทำแบบ

สำรวจด้านสภาพทากายภาพ สภาพทางสังคม สภาพทางเศรษฐกิจ และองค์ประกอบชุมชนจากประธานชุมชน ชาวบ้าน นักเรียนและเยาวชนในพื้นที่

2.5 เก็บข้อมูลจากสัมภาษณ์ผู้ประกอบการด้านการท่องเที่ยวที่เกี่ยวข้อง 3 บริษัท

ประเด็นความต้องการของนักท่องเที่ยวกลุ่มเฉพาะทั้งแบบเดี่ยวและกลุ่ม  

3. การวิเคราะห์ข้อมูล

คณะผู้วิจัยแบ่งเป็นหัวข้อออกเป็น ดังนี้

                     3.1 วิเคราะห์ข้อมูลด้านศักยภาพของแหล่งท่องเที่ยว และแนวทางการพัฒนาทรัพยากรการท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมไทย-จีน

                     3.2 วิเคราะห์ข้อมูลด้านสภาพทางกายภาพ สภาพทางสังคม สภาพทางเศรษฐกิจ และองค์ประกอบชุมชน

3.3 วิเคราะห์ข้อมูลประเด็นการกำหนดพื้นที่จุดท่องเที่ยวในย่านฝั่งธนบุรี เขตธนบุรี

เขตคลองสาน

                   3.4 วิเคราะห์ข้อมูลแผนที่และเส้นทางท่องเที่ยว ทดสอบความเหมาะสมและปรับปรุงเส้นทางจากนักท่องเที่ยวและชุมชนอย่างมีส่วนร่วม

             4. ขั้นสรุป

                     นำเสนอผลการวิเคราะห์เป็นเอกสารและสื่อมัลติมีเดีย ได้แก่ รูปเล่มงานวิจัยสิ่งพิมพ์ แผ่นพับ หนังสือคู่มือท่องเที่ยว สื่อมัลติมีเดียที่สแกนคิวอาร์โค้ด (QR code) และลงตีพิมพ์บทความวิจัยในวารสารวิชาการระดับชาติและนานาชาติ

 

1.6 สรุปผลการวิจัย

            งานวิจัยเรื่องแนวทางการส่งเสริมการท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมไทย-จีน ในย่านฝั่งธนบุรีเพื่อการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ คณะผู้วิจัยสรุปผลการวิจัยโดยแบ่งหัวข้อออกเป็น 3 ข้อ ดังนี้

1. ศึกษาบริบทเชิงพื้นที่และพัฒนาเส้นทางท่องเที่ยววัฒนธรรมไทย-จีน

คณะผู้วิจัยได้ศึกษาบริบทเชิงพื้นที่ของเขตธนบุรี-คลองสาน และพื้นที่เกี่ยวเนื่องกันทางวัฒนธรรม

ไทย-จีน ในย่านฝั่งธนบุรี โดยวิเคราะห์ตามหัวข้อที่กำหนดในขอบเขตของการศึกษาด้านเนื้อหา ดังนี้

1.1 ศักยภาพของแหล่งท่องเที่ยวและแนวทางการพัฒนาทรัพยากรท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมไทย-จีน แบ่งออกเป็น 5 ด้าน ได้แก่ ลักษณะทางกายภาพ คุณภาพสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจและสังคม ศิลปวัฒนธรรม และ การบริการและการจัดการ 

– ด้านลักษณะทางกายภาพ ชุมชนมีคุณภาพของถนน ตรอก ซอย และคูคลองที่สามารถใช้ได้ตลอดทั้งปี การเข้าถึงแหล่งท่องเที่ยวมีความหลากหลาย การเดินทางเข้าถึงแหล่งท่องเที่ยวมีความปลอดภัย มีป้ายบอกทางชัดเจนและมีสว่าง ประกอบกับความมีชื่อเสียงของแหล่งท่องเที่ยวที่มีคุณค่าเชิงการศึกษาเรียนรู้ด้านประวัติศาสตร์วัฒนธรรม ตลอดจนมีสิ่งดึงดูดใจที่หลากหลายเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางและถือเป็นแหล่งอนุรักษ์ประวัติศาสตร์และความหลากหลายทางวัฒนธรรม

– ด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ชุมชนมีการกำจัดขยะมูลฝอยอย่างถูกวิธี โดยชุมชนมีข้อกำหนดร่วมกัน เช่น เรือยนต์ที่โดยสารนักท่องเที่ยวเข้ามาท่องเที่ยวต้องปิดเครื่องยนต์เมื่อใกล้ถึงที่หมายหรือเมื่อเข้าเขตชุมชนเพื่อรณรงค์เรื่องการลดมลภาวะทางเสียง ฝุ่น ควัน และกลิ่นเหม็น เรื่องการปลูกฝังจิตสำนึกในชุมชนมีหน่วยงานภาครัฐและสถาบันการศึกษาในพื้นที่เข้ามาให้ความรู้ความเข้าใจจัดอบรมให้ความรู้และกระตุ้นการรักษาสิ่งแวดล้อมให้กับชาวบ้านเป็นระยะ นอกจากนี้ยังมีการให้ความรู้ความเข้าใจกับนักเรียนและเยาวชนปลูกฝังเรื่องจิตสาธารณะ

– ด้านเศรษฐกิจและสังคม คนในชุมชนทั้งสองเขตมีส่วนร่วมในการจัดการบริหารชุมชนและชุมชนเปิดโอกาสให้หน่วยงานภาครัฐและเอกชนเข้ามามีบทบาทในชุมชน เช่น ชุมชนสวนสมเด็จย่า และชุมชนกุฎีจีน และชุมชนวัดอินทาราม เป็นต้น แหล่งท่องเที่ยวสามารถเพิ่มมูลค่าและพบว่าคนในชุมชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นเนื่องจากชุมชนมีรายได้จากแหล่งท่องเที่ยว อีกทั้งชุมชนไทย-จีนส่วนใหญ่มีความรักสงบและน่าอยู่ด้วยทุกชุมชนเป็นชุมชนท่องเที่ยว

– ด้านศิลปวัฒนธรรม แหล่งท่องเที่ยวไทย-จีน มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ความเป็นมาอย่างยาวนานมีเอกลักษณ์เฉพาะแต่ละพื้นที่ โดยเฉพาะด้านศิลปวัฒนธรรมไทยผสมจีนเป็นการผสมผสานศิลปะไทยจีนในสมัยรัชกาลที่ 3 เช่น วัดอรุณราชวราราม วัดกัลยาณมิตรวรมหาวิหาร และวัดอินทารามวรวิหาร เป็นต้น ชุมชนยังมีการเปิดโอกาสให้บุคคลภายนอกเข้ามาเรียนรู้ศิลปะการแสดงท้องถิ่นโดยมีการจัดพื้นที่ให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้การเชิดสิงโต ได้แก่ กลุ่มเครือข่ายสิงโตฝั่งธนบุรีใช้พื้นที่ลานริมน้ำวัดอินทารามจัดกิจกรรมและชมรมสิงโตโรงเรียนวัดนวลนรดิศใช้พื้นที่ภายในโรงเรียนสอนเสริมเป็นกิจกรรมทางวัฒนธรรมในเวลาช่วงเย็น    

– ด้านการบริหารและการจัดการ ชุมชนทั้ง 18 ชุมชน มีเจ้าหน้าที่อาสาสมัครดูแลช่วยเหลือในชุมชนอย่างเพียงพอสามารถดูแลได้ทั่วถึง ในบริเวณใกล้เคียงแหล่งท่องเที่ยวมีโรงพยาบาลและชุมชนยังมีอุปกรณ์ปฐมพยาบาลเบื้องต้นไว้เตรียมพร้อมหากมีเหตุฉุกเฉิน นอกจากนี้ชุมชนมีการติดตั้งป้ายสัญญาณเตือนภัยมีการจัดการด้านจราจรอย่างเป็นระบบ และในแหล่งท่องเที่ยวมีสิ่งอำนวยความสะดวกเพียงพอ

1.2 แนวทางการพัฒนาทรัพยากรการท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม ไทย-จีน ในย่านฝั่งธนบุรี เพื่อการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ ประกอบด้วย การพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว การพัฒนาเส้นทางและกิจกรรมท่องเที่ยว การส่งเสริมการมีส่วนร่วมของชุมชน และการจัดการด้านการท่องเที่ยว

– การพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว ในย่านฝั่งธนบุรีโดยเฉพาะเขตธนบุรีและเขตคลองสานถือเป็นเขตอนุรักษ์เก่าแก่มีพื้นที่ทางประวัติศาสตร์ที่สะท้อนภาพวิถีชีวิตของกลุ่มชาติพันธุ์จีนมากมาย ปรากฏในสถาปัตยกรรมอันเป็นเอกลักษณ์ของชุมชน แต่ละชุมชนมีงานวัฒนธรรมประเพณีแบบจีนตลอดทั้งปี ภายในงานจะมีการเชิดสิงโตและมังกรแห่ขบวนประกอบ วิธีการเล่นยังคงสืบทอดแบบดั้งเดิมและมีแบบสมัยใหม่ดัดแปลงให้เข้ากับยุคสมัย ถึงอย่างไรฝั่งธนบุรีถือเป็นพื้นที่ต้นกำเนิดของสิงโตในประเทศไทยด้วยที่มาของสืบทอดจากกลุ่มชาติพันธุ์จีนที่อพยพอาศัยอยู่แต่ครั้งกรุงศรีอยุธยาและกรุงธนบุรี ซึ่งเขตธนบุรีมีคณะสิงโตมากถึงสิบเก้าคณะด้วยกัน กอรปกับการมีภูมิทัศน์ริมแม่น้ำที่งดงามคูคลองน้อยใหญ่ที่เชื่อมต่อกันตลอดสายน้ำทำให้แหล่งท่องเที่ยวในพื้นที่แห่งนี้มีความเหมาะสมยิ่งในการพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์

– การพัฒนาเส้นทางและกิจกรรมท่องเที่ยว เขตธนบุรีและคลองสานมีชุมชนกว่า 18 ชุมชนที่มีความเกี่ยวเนื่องเชิงวัฒนธรรมไทย-จีน มีความพร้อมในด้านต่าง ๆ สามารถรองรับนักท่องเที่ยวได้อาทิเช่นการเข้าถึงแหล่งท่องเที่ยวที่มีความสะดวกรวดเร็ว ชุมชนมีสิ่งอำนวยความสะดวกครบ สภาพแวดล้อมดี ที่สำคัญชุมชนมีเส้นทางที่ใช้สัญจรภายในชุมชนเรียกว่า ถนนสายเก่า หรือถนนเยาวราชเดิมในอดีต เป็นเส้นทางสายเก่าที่มีเสน่ห์ในตนเองและมีบริเวณติดท่าน้ำ ความกว้างของถนนเพียง 2 เมตร กว่า ๆ เส้นทางถนนตัดผ่านลัดเลาะบ้านเรือนและสถานที่สำคัญสร้างสีสันให้กับชุมชนและพื้นที่เป็นอย่างยิ่ง กอรปกับชุมชนมีความร่วมมือกับผู้ประกอบการมีการจัดกิจกรรมท่องเที่ยวให้นักท่องเที่ยวเกิดความตระหนักรู้ท่องเที่ยวอย่างรับผิดชอบต่อสังคมด้วยกิจกรรมสิงโตและกิจกรรมทำขนมกุยช่าย 

– การส่งเสริมการมีส่วนร่วมของชุมชน ชุมชนได้กำหนดให้มีผู้แทนของชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการวางแผนตัดสินใจร่วมพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวไทย-จีน ให้เป็นจุดดึงดูดความสนใจสำหรับการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ สนับสนุนให้คนในชุมชน ได้แก่ ชาวบ้าน นักเรียน และเยาวชนในพื้นที่ เข้ามามีส่วนร่วมในการดูแลรับผิดชอบแหล่งท่องเที่ยวและร่วมสืบสานวัฒนธรรมประเพณีอย่างต่อเนื่อง

– การจัดการด้านการท่องเที่ยว ระบบขนส่งและเชื่อมโยงเส้นทางเข้าสู่แหล่งท่องเที่ยวได้รับการพัฒนาจากภาครัฐมาโดยตลอดทำให้การเข้าถึงสะดวกรวดเร็ว โครงสร้างพื้นฐานมีมาตรการในการดูแลความปลอดภัยต่อเนื่องสม่ำเสมอ หน่วยงานภาครัฐในท้องถิ่นมีการประชาสัมพันธ์ชุมชนอื่น ๆ ให้เป็นที่รู้จักในรูปแบบของการท่องเที่ยวอย่างหลากหลาย

1.3 สภาพทางกายภาพ เขตธนบุรีและคลองสานมีพื้นที่อยู่ต่ำกว่าระดับน้ำทะเลเป็นที่ราบลุ่มกว้างใหญ่ติดแม่น้ำ ในอดีตพื้นที่นี้เป็นทะเลตม มีน้ำขังตลอดทั้งปี มีความอุดมสมบูรณ์เหมาะแก่การทำเกษตรกรรมและอยู่อาศัย

– พื้นที่อาณาบริเวณเขตคลองสานถือเป็นเขตการปกครองเขตชั้นใน ติดแม่น้ำเจ้าพระยาตั้งอยู่ริมหัวโค้งของแม่น้ำ ประกอบด้วย 4 แขวง คือ แขวงคลองสาน แขวงสมเด็จเจ้าพระยา แขวงต้นไทร และแขวงบางลำพูล่าง เขตธนบุรีเป็นเขตอนุรักษ์เมืองเก่าของกรุงเทพมหานครมีพื้นที่ติดแม่น้ำเจ้าพระยา ประกอบด้วย 5 แขวง ได้แก่ แขวงวัดกัลยาณ์ แขวงหิรัญรูจี แขวงบางยี่เรือ แขวงบุคคโล และแขวงตลาดพลู

– การสัญจรของฝั่งธนบุรีแต่เดิมมีคลองบางกอกใหญ่ บางกอกน้อย และคลองมอญเป็นตัวเชื่อมการสัญจร เมื่อมีการสร้างสะพานเชื่อมสองฟากฝั่งแม่น้ำและตัดถนนผ่านทำให้การสัญจรมีความสะดวกมากขึ้น ผลการวิจัยพบว่ารูปแบบการสัญจรในชมชนมี 4 รูปแบบ คือ รูปแบบที่ 1 ถนนสายใน (วัดอินทารามวรวิหาร-ตลาดพลู) รูปแบบที่ 2 ถนนเทอดไท (วัดอินทารามวรวิหาร-ตลาดพลู) รูปแบบที่ 3 ถนนสมเด็จเจ้าพระยา (ถนนพระยาไม้-ถนนท่าดินแดง-ถนนเชียงใหม่-ถนนลาดหญ้า-ถนนเจริญรัถ) และรูปแบบที่ 4 ถนนเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา (ซอยข้างวัดกัลยาณ์-ถนนดิลกจันทร์-ถนนสะพานยาว-ถนนเชียงใหม่)

– การเข้าถึง ได้แก่ นั่งเรือ เดินเท้า ปั่นจักรยาน รถจักรยานยนต์ รถยนต์ส่วนบุคคล และรถไฟฟ้า การเข้าถึงจะแบ่งไปตามสภาพทางกายภาพของแต่ละพื้นที่ ประกอบด้วย  1) แขวงสมเด็จเจ้าพระยาเดินทางด้วยเรือ เดินเท้า รถสารประจำทางขนส่งมวลชนกรุงเทพมหานคร สาย 6 รถยนต์ส่วนบุคคล รถจักรยานยนต์ และรถรับจ้าง รถแท็กซี่รถตุ๊กตุ๊ก ปั่นจักรยาน และรถไฟฟ้า 2) แขวงวัดกัลยาณ์เดินทางด้วยเรือ เดินเท้า รถสารประจำทางขนส่งมวลชน กรุงเทพมหานคร สาย 6 รถยนต์ส่วนบุคคล รถจักรยานยนต์ และมีถนนสำหรับปั่นจักรยานเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา สนุกสนานกับมีบรรยากาศริมน้ำและได้สุขภาพ  3) แขวงตลาดพลูเดินทางด้วยเรือ เดินเท้า รถสารประจำทางขนส่งมวลชน กรุงเทพมหานคร สาย 9 รถยนต์ส่วนบุคคล รถจักรยานยนต์ รถจับจ้าง รถแท็กซี่ รถตุ๊กตุ๊ก
มีถนนเล็ก ๆ สายในที่สามารถเดินเท้าคู่ขนานไปกับคลองบางกอกใหญ่

– สาธารณูปโภค ชุมชนมีไฟฟ้าใช้เพียงพอ มีไฟส่องทางที่มีแสงสว่างกระจายอยู่ตามเสาไฟฟ้าและมุมต่าง ๆ ในพื้นที่ทางเดินเท้าเป็นระยะ ๆ มีน้ำใช้เพียงพอ ในทุกพื้นที่ไม่มีปัญหาเรื่องน้ำไม่ไหล มีท่อระบายน้ำและมีการกำจัดสิ่งปฏิกูลที่ได้รับการดูแลจากภาครัฐอย่างทั่วถึง มีอุปกรณ์การป้องกันอัคคีภัยโดยมีหน่วยบรรเทาสาธารณะภัยชุมชนรับผิดชอบเข้าเวรประจำตลอด 24 ชั่วโมง และมีอาสาสมัครของชุมชน (อปพร.) ขับรถจักรยานยนต์ดูแลสอดส่องความปลอดภัย

1.4 สภาพทางสังคม ด้วยพื้นที่ของทั้งสองเขตมีกลุ่มคนชาวจีนอพยพย้ายถิ่นฐานมาตั้งแต่ครั้งสมัยกรุงศรีอยุธยา และกรุงธนบุรี โครงสร้างทางสังคมประกอบอาชีพกิจการค้าขายเป็นหลัก ประกอบกับเส้นทางสัญจรโบราณใช้ทางเรือทำให้มีชุมชนชาวจีนพำนักอาศัยริมน้ำจากชุมชนหลังโรงเรียนสารพัดช่างธนบุรีเรื่อยมาจนถึงชุมชนวัดทองธรรมชาติ และชุมชนสวนสมเด็จย่า จะมีสิ่งปลูกสร้างโรงเรือน และโรงกิจการต่าง ๆ เช่น โรงสีข้าว โรงน้ำปลา โรงเกลือ โกดังสินค้าหนังสัตว์ และสมุนไพรจีน กลุ่มชาวจีนในย่านฝั่งธนบุรีมีทั้งหมด 5 กลุ่ม ได้แก่

– จีนแต้จิ๋ว อพยพมาจากมณฑลฝูเจี้ยนและมณฑลกวางตุ้ง ประกอบอาชีพการค้าและรับราชการ     

– จีนแคะ อพยพมาจากมณฑลกวางตุ้ง ประกอบอาชีพทำหนังสัตว์ ทำเหมืองและเกษตรกรรม   – จีนไหหลำ อพยพมาจากเกาะไหหลำ ประกอบอาชีพด้านอาหาร และงานอุตสาหกรรม

– จีนฮกเกี้ยน อพยพมาจากมณฑลฝูเจี้ยนประกอบอาชีพค้าขาย การเดินเรือ และรับราชการ

– จีนกวางตุ้ง อพยพมาจากมณฑลกวางสี ประกอบอาชีพเกษตรก

การเป็นชุมชนริมน้ำทำให้วิถีชีวิตผู้คนเดิมผูกพันกับน้ำ ใช้การสัญจรทางน้ำเป็นหลักรวมถึงการประกอบอาชีพที่ต้องขนส่งด้วยเรือ ชุมชนที่มีเอกลักษณ์โดดเด่น เช่น ชุมชนสมเด็จเจ้าพระยา ชุมชนหลังโรงเรียนสารพัดช่างธนบุรี  ชุมชนสวนสมเด็จย่า ชุมชนวัดทองธรรมชาติ ชุมชนวัดอินทาราม ชุมชนกุฎีจีน ชุมชนอาเหนียว และเอกลักษณ์ของชุมชนที่ถ่ายทอดมาจนถึงปัจจุบันคือ ความเชื่อ ประเพณี สถาปัตยกรรมแบบศิลปะจีน สินค้าและอาหารที่มีการสืบทอดในครอบครัว และศิลปะการแสดงสิงโต มังกร งิ้ว และเอ็งกอ

1.5 พัฒนาเส้นทางท่องเที่ยววัฒนธรรมไทย-จีน ย่านฝั่งธนบุรี (เขตธนบุรี-เขตคลอสาน) คณะผู้วิจัยได้การวิเคราะห์แผนที่ปักหมุด และแผนที่เส้นทางท่องเที่ยววัฒนธรรมไทย-จีน โดยผ่านกระบวนการมีส่วนร่วมจากนักท่องเที่ยว และสรุปเป็นแหล่งท่องเที่ยววัฒนธรรมไทย-จีน ในย่านฝั่งธนบุรี (คลองสาน ธนบุรี) เพื่อมาพัฒนาเป็นเส้นทางการท่องเที่ยววัฒนธรรมไทย-จีน แบ่งออกเป็น
4 ด้าน ประกอบด้วย 1) ด้านความเชื่อและประเพณี ได้แก่ ศาลเจ้ากวนอู ศาลเจ้าเกียนอันเกง ศาลเจ้าแม่อาเหนียว และศาลเจ้าพ่อพระเพลิง 2) ด้านสถาปัตยกรรมและศิลปกรรม ได้แก่ ล้ง 1919 วัดกัลยาณมิตวรมหาวิหาร วัดอินทารามวรวิหาร และวัดจีจินเกาะ 3) ด้านสินค้าและอาหาร ได้แก่ กุยช่ายตลาดพูล ห่านพะโล้ท่าดินแดง  หมูสะเต๊ะท่าดินแดง ขนมเปี๊ยะท่าดินแดง โกปี้ตลาดพูล
โรงน้ำปลาทั่งง่วนฮะ โรงเกลือแหลมทอง โกดังเซ่งกี่ และโรงบะหมี่โง้วกิ้มล้ง และ 4) ด้านศิลปะการแสดงและการละเล่น ได้แก่ สิงโต มังกร ในฝั่งธนบุรี

 

 

ภาพที่ 1 แผนที่ปักหมุด

ที่มา คณะผู้วิจัย : 2562.

 

จากการลงสำรวจชุมชนทางกายภาพและบริบทเชิงพื้นที่ชุมชนสวนสมเด็จย่า ชุมชนหลังโรงเรียนสารพัดช่างธนบุรี ชุมชนท่าดินแดง ชุมชนอาเหนียว ชุมชนกุฎีจีน ชุมชนวัดอินทาราม และชุมชนตลาดพลู เป็นไปในทิศทางเดียวกันเรื่องการพัฒนาเส้นทางโดยนำแหล่งท่องเที่ยวในชุมชนดังกล่าวที่มีความโดดเด่นมาพัฒนาเส้นทางท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมไทย-จีน ในย่านฝั่งธนบุรี เพื่อการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ แบ่งออกเป็น 3 เส้นทาง ดังนี้

           แผนที่เส้นทาง สายศาลเจ้ากวนอู-ศาลเจ้าแม่อาเหนียว

           เป็นเส้นทางในพื้นที่เขตคลองสานใช้ถนนเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา เป็นเส้นทางท่องเที่ยวในแผนที่เส้นทางนี้ เริ่มจากศาลเจ้ากวนอู โรงน้ำปลาทั่งง่วนฮะ สวนสมเด็จย่า โรงเกลือแหลมทอง โกดังเซ่งกี่ ห่านพะโล้ท่าดินแดง หมูสะเต๊ะท่าดินแดง โรงบะหมี่โง้ว บ้านล้ง วัดจีจินเกาะ ขนมเปี๊ยะท่าดินแดง ศาลเจ้าแม่อาเหนียว รวมระยะทางประมาณ 5.5 กิโลเมตร

 

 

ภาพที่ 2 แผนที่เส้นทาง สายศาลเจ้ากวนอู-ศาลเจ้าแม่อาเหนียว

ที่มา คณะผู้วิจัย : 2562.

 

แผนที่เส้นทาง สายศาลเจ้าเกียนอันเกง- ตลาดพลู

เป็นเส้นทางในพื้นที่เขตธนบุรีใช้ถนนสายในเป็นเส้นทางท่องเที่ยวในแผนที่เส้นทางนี้ เริ่มจากศาลเจ้าเกียนอันเกง วัดกัลยาณมิตรวรมหาวิหาร วัดอินทารามวรวิหาร ร้านสุริยากาแฟ ศาลเจ้าพ่อพระเพลิง กุยช่ายตลาดพลู รวมระยะทาง ประมาณ 4.4 กิโลเมตร

 

ภาพที่ 3 แผนที่เส้นทาง สายศาลเจ้าเกียนอันเกง- ตลาดพลู
ที่มา คณะผู้วิจัย : 2562.

 

           แผนที่เส้นทาง สายท่าน้ำวัดอรุณ-ท่าน้ำตลาดพลู

แผนที่เส้นทางที่ใช้เรือเป็นพาหนะในการท่องเที่ยว ซึ่งแผนที่เส้นทางทางน้ำจะครอบคลุมแหล่งท่องเที่ยววัฒนธรรมไทย-จีน ในย่านฝั่งธนบุรีทั้งเขตคลองสานถึงเขตธนบุรี โดยเริ่มจากท่าเรือตลาดพลูท่าเรือวัดอินทารามวรวิหาร ท่าเรือวัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร ท่าเรือศาลเจ้ากวนอู ท่าเรือวัดกัลยาณมิตรวรมหาวิหาร ท่าเรือบ้านล้ง 1919 และท่าเรือวัดจีจีนเกาะเป็นการสุดสิ้นการเดินทางด้วยการใช้แผนที่เส้นทางนี้

 

 

ภาพที่ 4 แผนที่เส้นทาง สายท่าน้ำวัดอรุณ-ท่าน้ำตลาดพลู

ที่มา คณะผู้วิจัย : 2562.

 

2. เพื่อพัฒนาบุคลากรโดยการจัดอบรมเยาวชนและนักเรียนในชุมชนเป็นนักสื่อความหมายท้องถิ่น

คณะผู้วิจัยได้พัฒนาบุคลากรโดยนำนักเรียนและเยาวชนในพื้นที่จาก 18 ชุมชน ทำการสังเคราะห์ และวิเคราะห์กระบวนการคัดเลือกผู้ฝึกอบรมเป็นนักสื่อความหมายท้องถิ่นโดยใช้หลักแนวคิดที่ปรับจากทฤษฎีและหลักแนวคิดในการออกแบบการคัดเลือกและแนวปฏิบัติจากกรมการท่องเที่ยว กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา

ในการอบรมแบ่งเป็น 2 ส่วน ส่วนที่ 1 เนื้อหาวัฒนธรรมไทย-จีน 4 ด้าน ส่วนที่ 2 การแนะนำแหล่งท่องเที่ยวเป็นภาษาอังกฤษและจีนอบรมให้ความรู้กับปราชญ์ชุมชน เยาวชนและนักเรียนที่เป็นนักแสดงนักดนตรีของคณะสิงโตที่ผ่านการทดสอบตามหลักเกณฑ์และวิธีการประเมินผล จำนวน 15 คน จัดอบรมระหว่างวันที่ 29 มิถุนายน ถึง 21 กรกฎาคม 2562
วันสุดท้ายของการอบรมเป็นการออกภาคสนาม วิทยากรนำผู้อบรมลงพื้นที่จริงตามแหล่งท่องเที่ยวโดยเดินทางไปตามเส้นทางทั้ง 3 เส้นทาง เพื่อทดลองฝึกเป็นนักสื่อความหมายท้องถิ่นจากสถานการณ์จริง

 

 

ภาพที่ 5 การออกภาคสนามของผู้เข้าร่วมโครงการอบรมนักสื่อความหมายท้องถิ่น

ที่มา คณะผู้วิจัย : 2562. 

 

3. เพื่อส่งเสริมภาพลักษณ์การท่องเที่ยวด้วยการจัดทำฐานข้อมูลการท่องเที่ยวในรูปแบบสื่อมัลติมีเดีย

จากการลงพื้นที่เก็บข้อมูลในด้านบริบทเชิงพื้นที่ ทรัพยากรการท่องเที่ยว และพัฒนาเส้นทางการท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมไทย-จีน แล้ว คณะผู้วิจัยได้นำมาเป็นแนวทางการส่งเสริมภาพลักษณ์การท่องเที่ยววัฒนธรรมไทย-จีน ในย่านฝั่งธนบุรี กรณีศึกษาเขตธนบุรีและเขตคลองสาน โดยนำมาจัดทำเป็นฐานข้อมูลในรูปแบบสื่อมัลติมีเดียที่สแกนคิวอาร์โค้ด (QR code) และแผ่นพับแผนที่เส้นทางท่องเที่ยว เพื่อมอบให้กับหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ได้แก่ สำนักงานเขตธนบุรี เขตคลองสาน สำนักวัฒนธรรม การท่องเที่ยวและกีฬา (สวท) ผู้ประกอบการด้านการท่องเที่ยวใช้เป็นแนวทางในการส่งเสริมภาพลักษณ์การท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ให้กับย่านฝั่งธนบุรี

 

 

ภาพที่ 6 QR Code ท่องเที่ยววัฒนธรรมไทย-จีน ย่านฝั่งธนบุรี

ที่มา คณะผู้วิจัย : 2562.

 

 

 

ภาพที่ 7 แผ่นพับแผนที่ท่องเที่ยววัฒนธรรมไทย-จีน ย่านฝั่งธนบุรี

ที่มา คณะผู้วิจัย : 2562

 

 

 

 

ภาพที่ 8 กิจกรรมส่งเสริมภาพลักษณ์การท่องเที่ยววัฒนธรรมไทย-จีน ในย่านฝั่งธนบุรี

ที่มา คณะผู้วิจัย : 2562.

 

 

 

1.7 อภิปรายผล

            การวิจัยเรื่อง แนวทางการส่งเสริมการท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมไทย-จีน ในย่านฝั่งธนบุรีเพื่อการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาบริบทเชิงพื้นที่และพัฒนาเส้นทางท่องเที่ยววัฒนธรรมไทย-จีนและพัฒนาบุคลากรโดยการจัดอบรมเยาวชนและนักเรียนในชุมชนเป็นนักสื่อความหมายท้องถิ่น และส่งเสริมภาพลักษณ์การท่องเที่ยวด้วยการจัดทำฐานข้อมูลการท่องเที่ยวในรูปแบบสื่อมัลติมีเดีย

             ผลที่ได้รับจากการวิจัย คือ บริบทเชิงพื้นที่การท่องเที่ยววัฒนธรรมไทย-จีน ฝั่งธนบุรี (เขตธนบุรีและเขตคลองสาน) ด้านสภาพทางกายภาพ สภาพทางสังคม และทรัพยากรการท่องเที่ยววัฒนธรรมไทย-จีนที่มากมายในพื้นที่ทั้งสองเขต มีความพร้อม ความสะดวกสบาย ความสวยงาม และความปลอดภัย มีเหมาะสมที่จะเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์และรองรับนักท่องเที่ยวได้เป็นอย่างดี

             จากผลการวิจัยที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น สอดคล้องกับผลการวิจัยของ สมประสงค์ อ่อนแสง ได้ศึกษาแนวทางการพัฒนาศักยภาพของวัดจังหวัดมุกดาหาร เพื่อการท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม ผลการวิจยัพบว่า จังหวัดมุกดาหารมีศักยภาพในการท่องเที่ยว ที่หลากหลายเพียงพอ สภาพภูมิทัศน์ทางธรรมชาติ และกิจกรรมเด่นที่มีลักษณะเฉพาะที่เน้นการปฏิบัติทางด้านจิตใจ การศึกษาประวัติความเป็นมา ศิลปกรรมเอกลักษณ์ของท้องถิ่น การพักผ่อนหย่อนใจ และการชมทัศนียภาพที่สวยงาม ร่มรื่น รวมทั้งการรักษาสืบทอดประเพณี ท้องถิ่น การเข้าถึงแหล่งท่องเที่ยว เช่น สภาพเส้นทาง ลักษณะการเดินทาง ระยะทางจากตัวเมือง ไปยังแหล่งท่องเที่ยว และสิ่งอำนวยความสะดวก เช่น ที่พัก การบริการ สาธารณูปโภค ความปลอดภัยของนักท่องเที่ยว ร้านอาหาร เครื่องดื่ม ระบบไฟฟ้า ประปา โทรศัพท์ การประชาสัมพันธ์และความพร้อมของบุคลากร ที่มีขีดความสามารถในการรองรับเพียงพอ เมื่อเปรียบเทียบกันจำนวนของนักท่องเที่ยว เนื่องจากจำนวนนักท่องเที่ยวที่มาเที่ยวยังมีปริมาณน้อยจึงไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมแต่อย่างใด ชาวบ้านในชุมชนก็ยังมีความรู้สึกว่านักท่องเที่ยวที่เข้ามาเที่ยวชมนั้นไม่ได้สร้างความรำคาญแต่อย่างใด สิ่งจูงใจในการท่องเที่ยวเหล่านี้(สมประสงค์ อ่อนแสง, 2551 : บทคัดย่อ)

 

1.8 ข้อเสนอแนะ

             การศึกษาแนวทางการส่งเสริมการท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมไทย-จีน ในย่านฝั่งธนบุรีเพื่อการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ เป็นการดำเนินงานวิจัยที่จะต้องลงพื้นที่เก็บข้อมูลภาคสนาม อาจจะพบปัญหาระหว่างการทำวิจัยหลายอย่าง เช่น เรื่องของระยะเวลาในการเก็บข้อมูลอาจต้องใช้เวลามาก เพราะผู้ให้ข้อมูลอาจไม่สะดวกในการให้ข้อมูล หรือไม่มีเวลา ผู้วิจัยอาจต้องมาเก็บหลายครั้ง การเก็บข้อมูลจึงต้องมีการวางแผนให้ดี เพื่อให้สามารถปรับเปลี่ยนการดำเนินการได้อย่างคล่องตัว ในย่านฝั่งธนบุรี นอกจากเขตธนบุรีและเขตคลองสานแล้วยังมี พื้นที่อีกหลายเขตที่มีวัฒนธรรมที่หลายหลากน่าศึกษา คณะผู้วิจัยจึงเสนอแนะให้ผู้ที่สนใจได้ศึกษาวัฒนธรรมไทย-จีนในเขตอื่น ๆ เพื่อเป็นการส่งเสริมวัฒนธรรมไทย-จีนในฝั่งธนบุรีให้เป็นที่ท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ต่อไป

 

เอกสารอ้างอิง

กระทรวงศึกษาธิการ. (2544). ธนบุรีศรีมหาสมุทร. กรุงเทพมหานคร : กรมวิชาการ

กระทรวงศึกษาธิการ.

นุชนารถ รัตนสุวงศ์ชัย, ภูริวัจน์ เดชอุ่ม และอรช กระแสอินทร์. (2561). รายงานฉบับสมบูรณ์

โครงการ Local NEO SME หัวใจเก๋า คิดแนวใหม่ สไตล์ธุรกิจท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์.

กรุงเทพมหานคร : คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์.

ประเวศ วะสี. (2532). วัฒนธรรมกับการพัฒนา. กรุงเทพมหานคร : สำนักงานคณะกรรมการ

วัฒนธรรมแห่งชาติ. โรงพิมพ์คุรุสภาลาดพร้าว.

วนัทยา หนูแก้ว. (2550). เส้นทางท่องเที่ยวเชิงนิเวศสู่จังหวัดฉะเชิงเทรา : วันเดียวเที่ยวใกล้

กรุงเทพฯ. ปริญญานิพนธ์ วท.ม. (การวางแผนและการจัดการท่องเที่ยวเพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อม). กรุงเทพฯ : บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ. ถ่ายเอกสาร.

วรรณา วงษ์วานิช. (2539). ภูมิศาสตร์การท่องเที่ยว. พิมพ์ครั้งที่ 2 กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์

มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.

สมประสงค์ อ่อนแสง. (2551). แนวทางการพัฒนาศักยภาพของวัดจังหวัดมุกดาหารเพื่อการ

ท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม. วิทยานิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาวัฒนธรรม

ศาสตร์บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหาสารคาม.

สำนักศิลปะและวัฒนธรรม. (2550). การศึกษาองค์ความรู้และแนวทางการพัฒนาการท่องเที่ยว

แบบยั่งยืนย่านกุฎีจีนและพื้นที่เกี่ยวข้อง เขตธนบุรี. กรุงเทพมหานคร : มหาวิทยาลัย

ราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา.