แนวทางการจัดการเรียนรู้แบบสืบเสาะหาความรู้ทางวิทยาศาสตร์ เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ทางวิทยาศาสตร์สำหรับเด็กปฐมวัย

        การสืบเสาะหาความรู้ทางวิทยาศาสตร์ (Scientific inquiry) เป็นกระบวนการที่นักวิทยาศาสตร์กำหนดปัญหาข้อสงสัยหรือคำถามที่เกิดจากการสังเกตสิ่งต่างๆ หรือสิ่งที่ต้องการรู้ วางแผนและทำการรวบรวมข้อมูลโดยใช้กระบวนการต่างๆเช่น การสังเกต การสำรวจ การทดลอง การสืบค้น การบันทึก จากนั้นจึงจัดกระทำและวิเคราะห์ข้อมูล ลงความคิดเห็น สร้างคำอธิบายเพื่อตอบคำถามหรือข้อสงสัย นักวิทยาศาสตร์จะมีการพิจารณาเชื่อมโยงคำอธิบายของตนเอง กับคำอธิบายหรือผลการศึกษาค้นคว้าของนักวิทยาศาสตร์คนอื่นๆ เพื่อตรวจสอบความน่าเชื่อถือของคำอธิบายที่ตนสร้างขึ้นแล้วนำเสนอเผยแพร่ผลการศึกษา โดยอ้างอิงข้อมูลและหลักฐานจากการศึกษาและเปิดให้มีการอภิปรายอย่างมีเหตุผล ผลที่ได้จากการสืบเสาะหาความรู้ทางวิทยาศาสตร์คือ ความเข้าใจเกี่ยวกับปรกฏการณ์ต่างๆ ในรูปของข้อเท็จจริง แนวคิด กฎ หลักการหรือทฤษฎี รวมถึงแบบจำลองที่ใช้อธิบายปรากฏการณ์ต่างๆ ซึ่งผลจากการสืบเสาะหาความรู้นี้อาจนำไปสู่การเกิดคำถามใหม่และการสืบเสาะหาความรู้ต่อไป ความรู้ทางวิทยาศาสตร์นั้นเปลี่ยนแปลงได้เมื่อมีข้อค้นพบใหม่เกิดขึ้น การเรียนรู้วิทยาศาสตร์จึงมีเป้าหมายเพื่อให้ผู้เรียนได้สร้างองค์ความรู้หรือความคิดรวบยอดทางวิทยาศาสตร์ไปพร้อมๆกันกับการพัฒนาทักษะหรือความสามารถต่างๆที่ใช้ในการสืบเสาะหาความรู้และเจตคติทางวิทยาศาสตร์หรือจิตวิทยาศาสตร์เพื่อนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อสังคมและการดำรงชีวิต การจัดประสบการณ์การเรียนรู้ทางวิทยาศาสตร์จึงควรส่งเสริมให้ผู้เรียนได้ทำกิจกรรมเช่นเดียวกับนักวิทยาศาสตร์ด้วยการสืบเสาะหาความรู้ (สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี. 2563)

          การจัดประสบการณ์การเรียนรู้ทางวิทยาศาสตร์เป็นการจัดกิจกรรมที่สอดคล้องกับธรรมชาติของเด็กปฐมวัย คือความอยากรู้อยากเห็น ช่างซักช่างถาม ซึ่งครูผู้สอนและผู้ที่เกี่ยวข้องกับเด็กควรส่งเสริมด้วยการจัดกิจกรรมและจัดสภาพแวดล้อมให้เด็กได้สังเกตสิ่งต่างๆ ตั้งคำถามที่สงสัย เพื่อที่จะทำการหาคำตอบที่ต้องการด้วยการสังเกต ทดลอง สืบค้น หรือจดบันทึกแล้วจึงสรุปผลเป็นข้อมูลที่อธิบายเพื่อตอบคำถามหรือข้อสงสัยของตนเอง ซึ่งกระบวนการที่เด็กเกิดข้อสงสัยและตั้งคำถามไปจนถึงการสรุปผลข้อมูลเพื่อเป็นข้อสรุปของคำตอบที่ต้องการรู้สามารถดำเนินกิจกรรมด้วยการจัดประสบการณ์ทางวิทยาศาสตร์ด้วยวิธีการสืบเสาะหาความรู้ทางวิทยาศาสตร์

          วิธีสอนแบบสืบเสาะหาความรู้ทางวิทยาศาสตร์เป็นการจัดการเรียนการสอนโดยวิธีให้นักเรียนเป็นผู้ค้นคว้าหาความรู้ด้วยตนเอง หรือสร้างความรู้ด้วยตนเอง โดยใช้กระบวนการทางวิทยาศาสตร์ ครูเป็นผู้อำนวยความสะดวก เพื่อให้นักเรียนบรรลุเป้าหมาย โดยจะเน้นผู้เรียนเป็นสำคัญของการเรียน (พิมพันธ์ เดชะคุปต์ . 2554) และวิธีสอนแบบสืบเสาะหาความรู้ประกอบด้วยขั้นตอนสำคัญ 5 ขั้นตอน นับเป็นการเรียนการสอน ที่ให้ความสําคัญกับผู้เรียนหรือยึดผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง มีการจัดการเรียนรู้ที่ฝึกให้ผู้เรียนรู้จักค้นคว้าหาความรู้โดยใช้กระบวนการทางความคิดหาเหตุผล เพื่อทําให้ค้นพบความรู้หรือแนวทางแก้ปัญหาที่ถูกต้องด้วยตนเอง จึงนับได้ว่าการเรียนแบบสืบเสาะหาความรู้ 5 ขั้นตอนนั้น เป็นการเรียนการสอนที่เน้นองค์ความรู้ทักษะ ความเชี่ยวชาญและสมรรถนะที่เกิดกับตัวผู้เรียน ซึ่งทำให้ผู้เรียนสามารถนำไปใช้ประโยชน์ในการดําเนินชีวิตท่ามกลางการกระแสเปลี่ยนแปลงในยุคปัจจุบันได้

วิธีการสอนแบบสืบเสาะหาความรู้ 5 ขั้นตอน เป็นรูปแบบการจัดการเรียนรู้ที่พัฒนามาจากทฤษฎีคอนสตรัคติวิสต์ ที่เชื่อว่า การเรียนรู้นั้น เป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นภายในของผู้เรียน โดยที่ผู้เรียนเป็นผู้สร้างความรู้ด้วยตัวเอง โดยการนำเอาประสบการณ์หรือสิ่งที่พบเห็นมาเชื่อมโยงกับความรู้ความเข้าใจที่มีอยู่เดิม เพื่อสร้างเป็นความเข้าใจของตนเอง และด้วยความเชื่อนี้ทำให้ทฤษฎีนี้ถูกนำมาเป็นรากฐานสำคัญในการสร้างความรู้ของผู้เรียน นั้น เป็นรูปแบบการเรียนที่พานักเรียนไปสู่การพิจารณาข้อโต้แย้งและข้อสงสัยต่างๆ ซึ่งจะก่อให้เกิดประเด็นคําถามที่ต้องการสํารวจตรวจสอบ และจะเป็นกระบวนการเช่นนี้ต่อเนื่องกันไปเรื่อยๆ จนเรียกได้ว่าเป็น วัฎจักรการสืบเสาะ (Inquiry cycle) ซึ่งจะช่วยให้นักเรียนเกิดการเรียนรู้และมีทักษะในการหาความรู้ตามหลักวิทยาศาสตร์ ซึ่งการเรียนแบบสืบเสาะหาความรู้ทั้ง 5 ขั้นตอนนั้น มีขั้นตอนในการดำเนินการดังนี้

ขั้นตอนที่ 1 การสร้างความสนใจ (Engagement)

        ขั้นนี้เป็นของการนำเข้าสู่บทเรียนหรือนำเข้าสู่เรื่องที่อยู่ในความสนใจที่เกิดจากข้อสงสัย โดยครูผู้สอนจะต้องกระตุ้นให้นักเรียนเกิดความสนใจใคร่รู้ เพื่อนำเข้าสู่บทเรียนหรือเนื้อหาใหม่ๆ ซึ่งความสนใจใคร่รู้นั้น อาจมาจากความสนใจของผู้เรียนเอง การอภิปรายกลุ่ม หรือจากการนำเสนอของครูผู้สอนก็ได้ แต่จะต้องเป็นเรื่องที่ผู้เรียนยอมรับโดยไม่มีการบังคับ หลังจากนั้น เมื่อได้ข้อคำถามที่น่าสนใจแล้ว ครูผู้สอนต้องกระตุ้นให้ผู้เรียนร่วมกัน กำหนดขอบเขตและแจกแจงรายละเอียดของเรื่องที่จะศึกษาให้มีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น โดยใช้การรับรู้จากประสบการณ์เดิม รวมกับการศึกษาเพิ่มเติมจากจากแหล่งการเรียนรู้ต่าง ๆ เพื่อให้เกิดความเข้าใจในประเด็นที่จะศึกษา และมีแนวทางในการสำรวจตรวจสอบมากยิ่งขึ้น

ขั้นตอนที่ 2 การสํารวจและค้นหา (Exploration)

        เมื่อทําความเข้าใจในประเด็นหรือคําถามที่สนใจศึกษาอย่างถ่องแท้แล้ว ครูผู้สอนจะเปิดโอกาสให้ผู้เรียนศึกษาค้นคว้า โดยการรวบรวมข้อมูลด้วยวิธีการต่าง ๆ เช่น การสำรวจ การสืบค้นจากเอกสารต่าง ๆ การทดลอง และการจำลองสถานการณ์ เป็นต้น เพื่อตรวจสอบสมมุติฐานและให้ได้ข้อมูลอย่างเพียงพอที่จะนำไปใช้ในการอธิบายและสรุป

ขั้นตอนที่ 3 การอธิบายและลงข้อสรุป (Explanation)

        เมื่อได้ข้อมูลอย่างเพียงพอแล้ว ครูผู้สอนจะต้องให้ผู้เรียนนำข้อมูลที่ได้มาวิเคราะห์และแปลผล เพื่อสรุปผลและนําเสนอผลที่ได้ในรูปต่าง ๆ เช่น การบรรยายสรุป การสร้างแบบจําลอง การวาดภาพ หรือ การสรุปเป็นตารางหรือกราฟ ซึ่งผลสรุปที่ได้นั้น จะต้องสามารถอ้างอิงความรู้ มีความสมเหตุสมผล และมีหลักฐานที่เชื่อถือได้

          ขั้นตอนที่ 4 การขยายความรู้ (Elaboration)

เป็นขั้นของการนําความรู้ที่ได้จากขั้นก่อนหน้านี้ มาเชื่อมโยงกับความรู้เดิมหรือใช้อธิบายถึงสถานการณ์หรือเหตุการณ์เกี่ยวข้อง โดยครูผู้สอนอาจจัดกิจกรรมและให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมในกิจกรรมนั้น ๆ เช่น ตั้งคำถามจากการศึกษาเพื่อให้นักเรียนร่วมกันอภิปรายและแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติม ซึ่งจะทำให้ผู้เรียนสามารถเชื่อมโยงความรู้เข้ากับประสบการณ์หรือสถานการณ์ที่เกี่ยวข้องได้มากขึ้น

 

ขั้นตอนที่ 5 การประเมินผล (Evaluation)

        เป็นขั้นของการประเมินการเรียนรู้ด้วยกระบวนการต่าง ๆ เช่น การทำข้อสอบ การทำรายงานสรุป หรือการให้ผู้เรียนประเมินตัวเอง เป็นต้น เพื่อตรวจสอบผู้เรียนว่ามีความรู้ที่ถูกต้องมากน้อยเพียงไรจากการเรียนรู้แบบสืบเสาะหาความรู้ดังกล่าว ครูผู้สอนจะต้องเปิดโอกาสให้ผู้เรียน วิเคราะห์ วิจารณ์และคิดพิจารณาความรู้ที่ได้อย่างรอบคอบ โดยมีครูผู้สอนช่วยตรวจสอบและปรับปรุงความรู้ที่ผู้เรียนได้รับนั้นให้ถูกต้องเหมาะสมและสอดคล้องกับความรู้เดิมของผู้เรียนมากยิ่งขึ้น และนำผู้เรียนไปสู่คำถามที่ต้องการการสำรวจตรวจสอบต่อไปอย่างต่อเนื่อง (http : //www.trueplookpunya.com/blog/content/82385. 2020 )

          จะเห็นได้ว่ากระบวนการเรียนแบบสืบเสาะหาความรู้จะให้ความสำคัญกับผู้เรียน โดยผู้เรียนจะมีส่วนร่วมทุกขั้นตอน ตั้งแต่การกระตุ้นผู้เรียนให้สนใจ มีข้อสงสัย และตั้งคำถามในสิ่งที่ตนสงสัย การศึกษาค้นคว้าสำรวจข้อมูล สังเกต ทดลอง หรือใช้กระบวนการทางวิทยาศาสตร์ต่างๆมาแสวงหาคำตอบตรวจสอบกับสมมติฐานที่ตั้งไว้ การวิเคราะห์ผลเพื่อสรุปและนำเสนอผลการเรียนรู้ด้วยวิธีการที่เหมาะสมและเชื่อถือได้ มีการต่อยอดความรู้และมีการตรวจสอบ ประเมินผลการเรียนรู้ด้วยวิธีการต่างๆ โดยครูผู้สอนเป็นผู้ช่วยให้เด็กสามารถเชื่อมโยงความรู้ที่ค้นพบกับความรู้เดิมรวมทั้งนำความรู้ที่ได้ไปต่อยอดเพื่อศึกษาเพิ่มเติมจากข้อสงสัยที่เกิดขึ้นใหม่ เป็นวัฏจักรการเรียนแบบสืบเสาะหาความรู้

          การเรียนรู้แบบสืบเสาะหาความรู้ที่กล่าวมาข้างต้น นับว่าเป็นแนวทางที่สำคัญในการจัดประสบการณ์ทางวิทยาศาสตร์ที่สำคัญสำหรับเด็ก โดยเฉพาะเด็กปฐมวัย ดังที่สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี(2563) ได้กล่าวไว้ว่า กระบวนการสืบเสาะหาความรู้ทางวิทยาศาสตร์สำหรับเด็กปฐมวัย เป็นการเปิดโอกาสให้เด็กได้สืบเสาะหาความรู้ซึ่งคล้ายคลึงกับการทำงานของนักวิทยาศาสตร์ ครูควรจัดประสบการณ์การเรียนรู้โดยให้เด็กปฐมวัยได้ลงมือสืบเสาะหาความรู้ตามลักษณะสำคัญของการสืบเสาะหาความรู้สำหรับเด็กปฐมวัย ดังนี้

1.      การมีส่วนร่วมในคำถาม เด็กตั้งคำถามตามความสนใจเพื่อนำไปสู่การหาคำตอบด้วยการลงมือปฏิบัติ ซึ่งคำถามอาจเกิดจากตัวเด็กเอง มาจากเด็กกับครูร่วมกันตั้งคำถามขึ้น หรือมาจากครูเป็นผู้กำหนดและให้เด็กร่วมกันพิจารณาทำความเข้าใจกับคำถามก็ได้

2.      การเก็บข้อมูลหลักฐาน เด็กร่วมวางแผนและลงมือสำรวจตรวจสอบเพื่อเก็บรวบรวมข้อมูลหลักฐานด้วยวิธีการต่าง ๆ เช่น การสังเกต การสำรวจ การทดลอง การสืบค้น การสัมภาษณ์ และบันทึกผลด้วยวิธีการต่าง ๆ ตามศักยภาพของเด็ก เช่น การวาดภาพ การบอกสิ่งที่พบให้ครูจดบันทึกให้ การร่วมบันทึกด้วยการเขียนสัญลักษณ์ลงในตาราง หรือการร่วมทำแผนภูมิอย่างง่าย

3.      การอธิบายสิ่งที่พบ เด็กร่วมทำความเข้าใจข้อมูลที่ได้จากการสำรวจตรวจสอบ และสร้างคำอธิบายอย่างมีเหตุผลเพื่อตอบคำถามที่ตั้งขึ้นโดยอ้างอิงข้อมูลที่ได้มา

4.      การเชื่อมโยงสิ่งที่พบกับสิ่งที่ผู้อื่นพบ เด็กรับทราบข้อมูลหรือคำอธิบายของผู้อื่น แล้วเปรียบเทียบว่าสิ่งที่ตนเองพบกับสิ่งที่ผู้อื่นพบหรือคำอธิบายของตนเองกับของผู้อื่น เหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไร

5.      การสื่อสารและให้เหตุผล เด็กสื่อสารนำเสนอการสำรวจตรวจสอบที่ได้ทำและสิ่งที่ได้ค้นพบอย่างมีเหตุผลด้วยวิธีการต่าง ๆ เช่น การพูด การทำท่าทาง หรือการจัดแสดงผลงาน

        ลักษณะสำคัญของการสืบเสาะหาความรู้สำหรับเด็กปฐมวัยนั้น ไม่ได้มีลำดับขั้นตอนที่แน่นอน สามารถย้อนกลับไปมาได้ และสามารถเกิดซ้ำได้ การจัดประสบการณ์การเรียนรู้แบบสืบเสาะหาความรู้ บางครั้งครูอาจมีบทบาทในการชี้นำการเรียนรู้ของเด็กมาก หรือบางครั้งครูอาจเปิดโอกาสให้เด็กสืบเสาะหาความรู้ด้วยตนเองมาก ทั้งนี้ขึ้นกับหัวข้อเรื่องที่เรียนรู้ ศักยภาพและพัฒนาการทางการเรียนรู้ของเด็ก

       จะเห็นได้ว่าการจัดประสบการณ์การเรียนรู้วิทยาศาสตร์แบบสืบเสาะนั้นจะเปิดโอกาสให้เด็กได้แสดงความรู้ความสามารถทั้งด้วยตนเอง และมีครูเป็นผู้ชี้นำ ซึ่งทุกขั้นตอนถ้าระดับการเรียนรู้ดำเนินด้วยตัวเด็กเองแล้ว ระดับการควบคุมและชี้นำของครูก็จะน้อยลงไป ซึ่งจะส่งผลให้ระดับการสืบเสาะหาความรู้ก็จะยิ่งมากขี้น แต่อย่างไรก็ตามหากเป็นการเริ่มต้นทำกิจกรรมการเรียนรู้แบบสืบเสาะหาความรู้ครูสามารถมีส่วนร่วมและช่วยเหลือเด็ก เพื่อให้เกิดการพัฒนาไปจนถึงระดับการเรียนรู้ด้วยตนเองในที่สุด

          เพื่อให้เกิดความเข้าใจเกี่ยวกับการจัดการเรียนรู้แบบสืบเสาะหาความรู้ทางวิทยาศาสตร์ จะขอยกตัวอย่างการจัดการเรียนรู้เรื่อง “เป่าฟองสบู่กับลวดกำมะหยี่หลากรูปทรง”

วัตถุประสงค์ของการจัดกิจกรรม

1.      เพื่อสังเกต สำรวจ และบอกลักษณะของฟองสบู่ที่เกิดจากการใช้ลวดกำมะหยี่รูปทรงต่างๆ จุ่มน้ำสบู่แล้วเป่า

2.      คาดคะรูปทรงของฟองสบู่ที่เกิดจากการใช้ลวดกำมะหยี่ดัดเป็นรูปทรงต่างๆ

3.      ดำเนินการทดลองเป่าฟองสบู่และบอกผลการทดลอง

4.      นำเสนอผลการทดลองการเป่าฟองสบู่

ภาพรวมการจัดกิจกรรม

        การจัดกิจกรรมการเป่าฟองสบู่ด้วยลวดกำมะหยี่ที่ดัดเป็นรูปทรงต่างๆ 4 รูปทรง คือ ทรงกลม ดาว   สี่เหลี่ยม และสามเหลี่ยม โดยให้เด็กๆนำลวดกำมะหยี่จุ่มในฟองสบู่แล้วสังเกต และคาดคะเนว่าฟองสบู่ที่เกิดจากการเป่าจะมีรูปทรงอย่างไร

          กิจกรรมเริ่มจากครูนำน้ำฟองสบู่ ลวดกำมะหยี่ที่ดัดเป็นรูปทรงต่างๆ มาสนทนากับเด็กๆเพื่อกระตุ้นความสนใจ ว่าครูจะดำเนินกิจกรรมต่อไปอย่างไร ซึ่งเด็กๆจะสนใจและสนทนาคาดเดา จากประสบการณ์เดิมที่ตนเองเคยเล่นเป่าฟองสบู่ ต่อจากนั้นครูแบ่งเด็กออกเป็นกลุ่ม และนำลวดกำมะหยี่มาสนทนากับเด็กๆ ถึงรูปทรงและการนำลวดจุ่มลงไปในน้ำสบู่เพื่อเป่าฟองสบู่ ซึ่งเด็กๆมีความสนใจและสงสัยว่าถ้านำลวดกำมะหยี่รูปทรงอื่นๆที่ไม่ใช่วงกลมไปจุ่มน้ำสบู่แล้วเป่าจะเกิดฟองสบู่รูปทรงอะไร ครูจึงให้เด็กช่วยกันคาดดคะเนและตั้งสมมติฐาน ซึ่งแต่ละกลุ่มก็จะตั้งสมมติฐานต่างกัน เช่น ฟองลูกโป่งจะมีรูปทรงกลม ฟองสบู่จะมีรูปทรงตามลวดกำมะหยี่ หลังจากตั้งสมมติฐานครบทุกกลุ่ม ครูจึงให้เด็กมารับอุปกรณ์ไปทำการทดลองเป่าฟองสบู่กับลวดกำมะหยี่ และให้เด็กๆจะบันทึกผลการทดลองด้วยการวาดภาพรูปฟองสบู่ที่เกิดขึ้น ซึ่งกิจกรรมในขั้นตอนนี้เด็กจะมีความสนุกสนานมากที่ได้ลงมือเป่าและสังเกตฟองสบู่ ซึ่งจากทดลองเป่าฟองสบู่ทุกกลุ่ม พบว่าไม่ว่าจะใช้ลวดกำมะหยี่รูปทรงใดเป่าฟองสบู่ ฟองสบู่ที่ได้ก็เป็นทรงกลมเสมอ และมีเด็กบางคนกล่าวว่า ฟองสบู่เป็นสีรุ้ง ฟองสบู่มีขนาดไม่เท่ากัน และฟองสบู่บางฟองก็แตกหลังจากที่ลอยไปตกที่พื้น หลังจากนั้นครูจึงถามเหตุผลเด็กว่าทำไมฟองสบู่จึงเป็นทรงกลม และนำรูปภาพฟองสบู่ที่เป่าโดยที่เป่ารูปทรงต่างๆ มาให้เด็กสังเกตว่านอกเหนือจากลวดกำมะหยี่ดัดเป็นรูปทรงต่างๆแล้ว ฟองสบู่ยังเกิดเป็นรูปทรงอื่นได้หรือไม่ โดยใช้รูปภาพประกอบ และสนทนาเกี่ยวกับอากาศที่มีแรงดันอยู่รอบทิศทางจึงทำให้ฟองสบู่เป็นทรงกลม เมื่อได้ข้อสรุปแล้วครูจึงให้แต่ละกลุ่มนำเสนอผลการทดลองของตนเอง โดยการวาดภาพลวดกำมะหยี่ดัดเป็นรูปทรงต่างๆ ( นำลวดกำมะหยี่มาวางแล้วลากเส้นตามขอบ) และวาดฟองสบู่ที่ได้ พร้อมทั้งนำไปติดไว้ที่บอร์ดผลงานของห้องเรียน

        จากการจัดกิจกรรม “เป่าฟองสบู่กับลวดกำมะหยี่หลากรูปทรง” ดังกล่าว สามารถตรวจสอบวิเคราะห์กระบวนการเรียนรู้แบบสืบเสาะหาความรู้ทางวิทยาศาสตร์ได้ ดังนี้

        1.ตั้งคำถามเชิงวิทยาศาสตร์

          เป็นขั้นตอนที่เด็กสังเกตน้ำฟองสบู่ ลวดกำมะหยี่ดัดเป็นรูปทรงต่างๆ การสนทนาเชื่อมโยงประสบการณ์เดิมเกี่ยวกับการเป่าฟองสบู่ เด็กสงสัยว่าถ้านำลวดกำมะหยี่รูปทรงอื่นๆที่ไม่ใช่วงกลมจุ่มน้ำฟองสบู่แล้วจะเกิดเป็นฟองรูปทรงอย่างไร 

          คำถามทางวิทยาศาสตร์คือ ถ้านำลวดกำมะหยี่รูปทรงอื่นที่ไม่ใช่วงกลม จุ่มน้ำฟองสบู่จะเกิดเป็นฟอลสบู่รูปทรงอะไร

        2. สำรวจตรวจสอบเก็บรวบรวมข้อมูล

         เป็นขั้นตอนที่เด็กลงมือเก็บรวบรวมข้อมูลด้วยการที่ทดลองใช้ลวดกำมะหยี่รูปทรงต่างๆ วางบนกระดาษแล้วลากเส้นตามลวดกำมะหยี่ที่ดัด แบบละ 1 แผ่น หลังจากนั้นใช้ลวดกำมะหยี่จุ่มน้ำฟองสบู่แล้วเป่าเพื่อให้เกิดฟอง ต่อจากนั้นให้เด็กสังเกตฟองสบู่ที่ลอยออกมาจากลวดกำมะหยี่ และจดบันทึกโดยการวาดภาพรูปทรงของฟองสบู่คู่กับแบบลวดกำมะหยี่ที่วาดไว้ ต่อจากนั้นเป็นการตรวจสอบข้อมูลที่ได้จากการเก็บรวบรวม ด้วยการที่ครูสนทนาเพื่อให้เด็กสังเกตฟองสบู่ของตนเองและเพื่อนว่ามีรูปทรงอะไร เหมือนหรือต่างจากลวดกำมะหยี่ที่ใช้หรือไม่

        3. สร้างคำอธิบายและตอบคำถามที่ตั้งขึ้น

          ขั้นตอนนี้ ครูจะสนทนาและให้เด็กสังเกตฟองสบู่ โดยใช้คำถามเกี่ยวกับแรงดันอากาศรอบๆฟองสบู่ สีของฟองสบู่ที่เป็นสีรุ้ง ขนาดของฟองสบู่ รวมทั้งรูปทรงชองลวดกำมะหยี่  

        4. นำเสนอผลการสำรวจตรวจสอบ

         เป็นขั้นตอนสรุปผลที่ได้จากการสำรวจ ด้วยการที่เด็กนำเสนอผลการทดลองใช้ลวดกำมะหยี่รูปทรงต่างๆจุ่มน้ำฟองสบู่ ว่าฟองสบู่เป็นรูปอะไร และทำไมจึงเป็นเช่นนั้น

       การจัดการเรียนรู้แบบสืบเสาะหาความรู้ทางวิทยาศาสตร์เป็นวิธีการที่สามารถนำมาใช้ในการจัดประสบการณ์ทางวิทยาศาสตร์ให้กับเด็กปฐมวัย ดังที่ สุวิทย์ มูลคำ และอรทัย มูลคำ (2551) ได้กล่าวถึง ข้อดีการสอนแบบสืบเสาะหาความรู้ไว้ว่าการเรียนรู้แบบสืบเสาะหาความรู้จะทำให้ผู้เรียนได้เรียนรู้วิธีค้นหาความรู้และการแก้ปัญหาด้วยตนเอง ความรู้ที่ได้มีคุณค่า มีความหมายสำหรับผู้เรียน เป็นประโยชน์และจดจำ ได้นานสามารถเชื่อมโยงความรู้ และนำไปใช้ในชีวิตประจำวันได้ และเป็นวิธีการที่ทำให้ผู้เรียนเกิดแรงจูงใจในการเรียนรู้ มีความอิสระ มีชีวิตชีวา และสนุกสนานกับการเรียนรู้ ดั้งนั้นในการจัดประสบการณ์วิทยาศาสตร์สำหรับเด็กปฐมวัยจึงควรนำวิธีการจัดการเรียนรู้แบบสืบสอบหาความรู้มาใช้โดยอาจเริ่มจากครูเป็นผู้สร้างสถานการณ์ ชี้แนะและให้เด็กเป็นผู้ลงมือปฏิบัติ โดยมีกระบวนการที่สำคัญ 5 ขั้นตอนคือการมีส่วนร่วมในคำถาม การเก็บข้อมูลหลักฐาน การอธิบายสิ่งที่พบ การเชื่อมโยงสิ่งที่พบกับสิ่งที่ผู้อื่นพบ รวมทั้งการสื่อสารและให้เหตุผล

 

รายการอ้างอิง

นรรัชต์  ฝันเชียร(เรียบเรียง).2563. การเรียนแบบสืบเสาะหาความรู้ 5 ขั้นตอน (The 5 E’s of Inquiry-

        Based Learning).(online). Available from http://www.trueplookpanya.com/blog/content/

         Posted By Plook Teacher | 23 มิ.ย. 63

พิมพันธ์  เดชะคุปต์. (2544). การเรียนการสอนทีเน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ: แนวคิดวิธีการเทคนิคการสอน2. 

         กรุงเทพฯ: เดอะมาสเตอร์กรุ๊ป แมเนจเม้นท์ จำกัด.

สถาบัน[ผส1] ส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.). (2563).กรอบการเรียนรู้และแนวทางการจัด

         ประสบการณ์การเรียนรู้บูรณาการวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และคณิตศาสตร์ในระดับปฐมวัย ตาม

         หลักสูตรการศึกษาปฐมวัย พุทธศักราช 2560. พิมพ์ครั้งที่1. กรุงเทพฯ: โกโก้พริ้นท์(ไทยแลนด์)

         จำกัด.

สุวิทย์ มูลคำและอรทัย มูลคำ. (2551). 21 วิธีจัดการเรียนรู้เพื่อพัฒนากระบวนการคิด. พิมพ์ครั้งที่ 7.

        กรุงเทพฯ: ภาพพิมพ์.