แนวทางการจัดการเรียนการสอนในชั้นเรียนรวมของผู้เรียนที่มีความต้องการพิเศษ Guidelines for Teaching in an Inclusive Classroom for Students with Special Needs

ในยุคปัจจุบัน การศึกษาเป็นสิทธิพื้นฐานที่ควรมีสำหรับบุคคลทุกคน รวมถึงผู้เรียนที่มีความต้องการพิเศษ ซึ่งอาจจำเป็นต้องได้รับการจัดการเรียนการสอนในรูปแบบ วิธีการ หรือแนวทางที่แตกต่างกันเพื่อให้สอดคล้องกับลักษณะเฉพาะของแต่ละบุคคล การปรับหลักสูตร จุดประสงค์การเรียนรู้ วิธีการสอน สื่อประกอบการสอน การวัดประเมินผล และอื่น ๆ ให้เหมาะสมจึงมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง การปรับหลักสูตรไม่เพียงแค่เพื่อให้ผู้เรียนสามารถเข้าถึงเนื้อหาวิชาการได้เท่านั้น แต่ยังเป็นการส่งเสริมให้มีพัฒนาการที่เหมาะสมและเป็นไปตามศักยภาพสูงสุดของตนเอง

 

การจัดการศึกษาแบบเรียนรวม

          พนัส จันทร์ศรีทอง และ ลัดดาวรรณ์ ประสูตร์แสงจันทร์ (2566) กล่าวว่า การจัดการศึกษาแบบเรียนรวม หรือ Inclusive Education หรือ Inclusion เป็นการจัดการศึกษาให้ผู้เรียนทุกคนทั้งที่มีความต้องการพิเศษและผู้เรียนทั่วไปที่มีความแตกต่างกันสามารถเรียนรู้ได้ทุกคนอย่างทั่วถึง เป็นการจัดการศึกษาที่ไม่แบ่งแยกเด็กออกจากชั้นเรียน แต่จะใช้รูปแบบวิธีการในการบริหารจัดการในชั้นเรียนเพื่อให้เด็กเกิดการเรียนรู้อย่างเหมาะสมเป็นรายบุคคล

ดารณี ศักดิ์ศิริผล (2564) กล่าวว่า การจัดการศึกษาแบบเรียนรวมเป็นกระบวนวิธีที่ใช้เพื่อตอบสนองความต้องการจำเป็นของเด็กทุกคน เป็นระบบการศึกษาที่มีความยืดหยุ่น โดยยอมรับสภาพความต้องการจำเป็นของผู้เรียนที่มีความแตกต่างกัน โดยสถานศึกษาจะต้องปรับระบบการปฏิบัติเพื่อสนองความต้องการจำเป็นของแต่ละบุคคล

ราชบัณฑิตยสภา (2558) นิยามความหมายของการศึกษาแบบเรียนรวมว่าเป็นการจัดการการศึกษาเพื่อให้ผู้เรียนที่มีความต้องการพิเศษได้บรรลุศักยภาพสูงสุดแห่งตนในโรงเรียนเดียวกันกับเด็กปรกติ ในชุมชนใกล้บ้าน เป็นการนำความช่วยเหลือ สนับสนุนเข้ามาในโรงเรียนหรือในห้องเรียน เพื่อประโยชน์ของผู้เรียนทุกคน เป็นการจัดการศึกษาที่คำนึงถึงความหลากหลายเพื่อสร้างโอกาสให้ทุกคนในชุมชนท้องถิ่นเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพ เปิดทางให้มีการสนับสนุนการศึกษาทางเลือกที่หลากหลาย สนองความต้องการของเด็กและเยาวชนเฉพาะกลุ่ม เฉพาะพื้นที่ที่ต่างวัฒนธรรม บนฐานการมีส่วนร่วมจัดการของชุมชนท้องถิ่นด้วย

          ดังนั้นโดยสรุป การจัดการศึกษาแบบเรียนรวม เป็นกระบวนการจัดการศึกษาเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้เรียนทุกคน เป็นการจัดการศึกษาที่คำนึงถึงความแตกต่างหลากหลาย เพื่อตอบสนองความต้องการของเด็กทุกคน โดยมีการใช้รูปแบบวิธีการในการบริหารจัดการในชั้นเรียนเพื่อให้เด็กเกิดการเรียนรู้อย่างเหมาะสมเป็นรายบุคคล

Family Network on Disabilities, 2021 อ้างถึงใน ดารณี ศักดิ์ศิริผล, 2564 ได้นำเสนอรูปแบบในการปรับหลักสูตร ซึ่งต้องคำนึงประเด็นต่าง ๆ 9 ประเด็น ดังนี้

1.   ปัจจัยนำเข้า (Input) คือ การปรับวิธีการสอน เช่น การใช้สื่อนำสายตา โดยวางแผนการนำเสนอสิ่งที่เป็นรูปธรรม จัดกิจกรรมโดยเน้นการลงมือปฏิบัติ ให้ทำงานเป็นกลุ่ม

2.   ผลการสอน (Output) คือ การปรับวิธีการวัดประเมินผล เช่น การให้ตอบปากเปล่าแทนการเขียนลงในกระดาษคำตอบ การใช้การลงมือปฏิบัติแทนการทำข้อสอบ

3.   เวลา (Time) คือ การปรับเวลาในการทำงานหรือการทดสอบ เช่น ปรับเวลาทำการบ้านให้เสร็จเป็นรายบุคคล โดยเพิ่มหรือลดเวลาสำหรับเด็กเป็นรายบุคคล

4.   ระดับความยาก (Difficulty) คือ การปรับระดับความสามารถ ประเภทของปัญหา และกฎเกณฑ์วิธีการทำงาน เช่น ให้ใช้เครื่องคิดเลขแทนสำหรับเด็กมี่มีปัญหาด้านการคิดคำนวณ ลดความซับซ้อนของงาน ปรับเปลี่ยนกฎกติกาให้สอดคล้องกับความต้องการที่ผู้เรียนที่มีความต้องการพิเศษแต่ละคน

5.   ระดับการให้การสนับสนุน (Level of Support) คือ การเพิ่มการช่วยเหลือเป็นรายบุคคล สำหรับผู้เรียนที่มีความต้องการพิเศษ เช่น มอบหมายให้เพื่อนในห้องเรียนเดียวกัน รุ่นพี่ หรือผู้ช่วยสอน เป็นผู้ช่วยเหลือสนับสนุนในการเรียนรู้หรือการพัฒนาทักษะด้านต่าง ๆ

6.   ปริมาณ (Size) คือ การปรับจำนวนงานที่มอบหมาย เช่น ลดเงื่อนไขการกำหนดปริมาณงานให้ทำน้อยลง (ลดปริมาณแต่การทำงานต่าง ๆ เหมือนเดิม)

7.   ระดับการมีส่วนร่วม (Degree of Participation) คือ ระดับการมีส่วนร่วม ปรับขอบเขตของการมีส่วนร่วมในการทำงาน เช่น การสอนภูมิศาสตร์ให้ผู้เรียนที่มีความต้องการพิเศษเป็นคนถือลูกโลกและให้เพื่อนเป็นคนชี้สถานที่ หรือให้คนวาดรูปแผนที่โดยให้เพื่อนช่วยกันบอกรายละเอียด

8.   เป้าหมาย (Alternate Goals) คือ การปรับเป้าหมายหรือผลลัพธ์ที่คาดหวัง เช่น การเรียนสังคมศึกษา ตั้งเป้าหมายให้ผู้เรียนที่มีความต้องการพิเศษค้นหาจังหวัดที่สำคัญในแต่ละภูมิภาค ในขณะที่เพื่อนค้นหาจังหวัดทุกจังหวัดในภูมิภาค

9.   การปรับหลักสูตร (Substitute Curriculum) คือ การจัดการเรียนการสอนที่ปรับวิธีการสอน สื่อ อุปกรณ์ สำหรับผู้เรียนที่มีความต้องการพิเศษเป็นรายบุคคล เช่น ปรับระยะเวลาของการทำงานให้เสร็จ เพื่อหรือลดความยาก-ง่ายของเนื้อหาหรืองานที่เหมาะกับผู้เรียนเป็นรายบุคคล

 

ซึ่ง ดารณี ศักดิ์ศิริผล (2564) นำเสนอแนวทางในการจัดกิจกรรมในชั้นเรียน ดังนี้

1.   เนื้อหาและกิจกรรมเหมือนกัน แต่วัตถุประสงค์ต่างกัน เด็กที่มีความต้องการพิเศษจะเรียนรู้และทำกิจกรรมเช่นเดียวกับเด็กทั่วไป แต่วัตถุประสงค์การเรียนรู้แตกต่างจากเพื่อน ๆ ซึ่งเป็นหลักการของการมีส่วนร่วมที่เหมาะสม เช่น

1.1  เด็กสมาธิสั้นให้เวลาทำงานเป็น 5 นาที

1.2  การใช้อุปกรณ์ช่วยสื่อสารในการสนทนากับผู้อื่น

1.3  แสดงความคิดเห็นโดยการวาดภาพแทนการเขียน

1.4  ให้ใช้หนังสือหรือสมุดเมื่อต้องอ่านหรืออธิบาย

1.5  เข้าใจผลของวัคซีนมากกว่าจะต้องรู้จักชื่อและประเทศที่เป็นผู้ผลิตวัคซีน

2.   ปรับสื่อ อุปกรณ์ และสิ่งแวดล้อม การปรับสื่อ อุปกรณ์ประกอบการสอน หรือสภาพแวดล้อม เพื่อให้ผู้เรียนที่มีความต้องการพิเศษมีส่วนร่วมในการเรียนรู้กับเพื่อนในชั้นเรียนเดียวกัน เช่น

2.1  ปรับการจัดกลุ่มขนาดใหญ่เป็นกลุ่มขนาดเล็ก

2.2  ทำงานที่ได้รับมอบหมายให้เสร็จ โดยมีคำแนะนำเป็นรูปภาพแทนตัวหนังสือ

2.3  ปรับรูปแบบการสอบจากการบรรยายเป็นการเรียนรู้แบบร่วมมือ

2.4  ใช้คอมพิวเตอร์พิมพ์งานแทนการเขียนด้วยดินสอหรือปากกาในกระดาษ

2.5  อ่านข้อสอบให้เด็กฟัง

2.6  เน้นแนวคิดหรือข้อความสำคัญในหนังสือด้วยปากกาเน้นข้อความ

2.7  ให้เด็กฟังเนื้อหาในบทเรียนจากเครื่องมือ หรืออุปกรณ์บันทึกเสียง

2.8  ใช้อักษรที่มีขนาดใหญ่

2.9  ใช้อุปกรณ์ สื่อ เทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวก

2.10  ใช้สื่อทางสายตา (Visual Cues) เช่น รูปภาพ ตาราง แผนภูมิ

2.11  ใช้ผู้ช่วยจดบันทึก (Note-Taker) ระหว่างฟังบรรยาย

3. ให้ความช่วยเหลือทางกายภาพ เด็กที่มีความต้องการพิเศษบางคนอาจต้องได้รับความช่วยเหลือจากบุคคลอื่น เพื่อให้มีส่วนร่วมในกิจกรรม ผู้สอนควรสนับสนุน โดยใช้เพี่อน ครูผู้ช่วย ผู้ปกครองที่มีจิตอาสาที่ได้รับการอบรม เพื่อให้การช่วยเหลือผู้เรียนที่มีความต้องการพิเศษทางกายภาพได้อย่างถูกวิธี นอกจากนี้ต้องคำนึงถึงการมีส่วนร่วม เช่น

3.1  ให้ผู้เรียนที่มีความต้องการพิเศษใช้คอมพิวเตอร์

3.2  ช่วยแนะนำเมื่อเด็กเริ่มเขียนด้วยลายมือ

3.3  ช่วยทำกิจกรรมส่วนใหญ่ให้เสร็จและให้ผู้เรียนที่มีความต้องการพิเศษทำส่วนที่เหลือ

3.4  ช่วยเข็นรถเข็นที่ผู้เรียนที่มีความต้องการพิเศษนั่งไปทำกิจกรรมต่อ

สุรเชษฐ์ ตรรกโชติ (2564) นำเสนอรูปแบบห้องเรียนที่เป็นมิตรต่อผู้เรียนทุกคนเพื่อเพิ่มโอกาสในการได้เข้าถึงโอกาสในการเรียนรวม ดังนี้

1. การใช้รูปแบบการเรียนการสอนที่หลากหลาย โดยสามารถจัดกิจกรรมที่เริ่มต้นด้วยการสอนผู้เรียนทั้งห้อง จากนั้นจึงมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบกิจกรรมให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้น เช่น การเข้ากลุ่มขนาดเล็กเพื่อให้ทุกคนมีบทบาทมากขึ้น การเลือกใช้อุปกรณ์ต่างๆ ที่จะสามารถเชื่อมต่อการสื่อสาร ทั้งระหว่างนักเรียนด้วยกันเองหรือนักเรียนกับคุณครูเพื่อตรวจสอบความเข้าใจว่า เราไม่ได้กำลังทิ้งใครไว้ข้างหลัง โดยไม่ได้เจตนา

2. การออกแบบและตรวจสอบโอกาสในการเข้าถึงการศึกษาในห้องเรียน ด้วยการการออกคำสั่งอย่างชัดเจน เป็นรูปธรรม เช่น นักเรียนจับกลุ่ม กลุ่มละ 5 ถึง 6 คน กลุ่มไหนได้คนครบแล้วให้ “ทุกคน” ในกลุ่มยกมือขึ้น เป็นต้น การจัดการห้องเรียนในลักษณะนี้ จะทำนักเรียนรู้ว่าตอนนี้พวกเขาจะต้องทำอะไร จะต้องโฟกัสกับอะไร และต่อไปจะทำอะไรต่อ โอกาสในการเกิดพฤติกรรมที่นอกลู่นอกทางขึ้น (ทั้งในกรณีของนักเรียนมีภาวะบกพร่องทางการเรียนรู้ และนักเรียนคนอื่น ๆ ในห้อง) ก็จะลดน้อยลง

3. การออกแบบห้องเรียนที่สื่อสารกับทุกคน ซึ่งอาจจะใช้รูปแบบการถ่ายทอดความรู้ที่หลากหลาย เช่นการพูดบรรยาย การค้นคว้าด้วยตนเอง หรือการมีเครื่องมือในการเรียนรู้ที่เข้าถึงผู้เรียนทุกคน เช่น การให้ดูสื่อการสอนภาพขนาดใหญ่ การใช้หูฟังเพื่อลดสิ่งที่อาจรบกวน การเปิดกว้างรับฟังความคิดเห็น การให้ทางเลือกในการตอบใบงาน หรือให้วลาสำหรับหยุดคิด ก่อนที่จะลงมือทำพร้อมกัน เพื่อให้นักเรียนทุกคนได้ทบทวนแผนของตัวเอง และเพื่อให้นักเรียนทุกคนได้รับโอกาสในการก้าวเข้าสู่บทเรียนในเรื่องนั้นพร้อมๆ กัน

 

              ดังนั้นจะเห็นว่า การจัดการศึกษาแบบเรียนรวมเป็นแนวทางสำคัญที่มุ่งเน้นการสร้างความเท่าเทียมในระบบการศึกษา โดยไม่แบ่งแยกผู้เรียนที่มีความต้องการพิเศษออกจากชั้นเรียนทั่วไป การปรับหลักสูตร จุดประสงค์การเรียนรู้ วิธีการสอน และการประเมินผลให้เหมาะสมกับลักษณะเฉพาะของผู้เรียนเป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยให้พวกเขามีส่วนร่วมในกิจกรรมการเรียนการสอนได้อย่างเต็มที่ นอกจากนี้ยังเป็นการเสริมสร้างทักษะการใช้ชีวิตและการทำงานร่วมกับผู้อื่น การออกแบบการสอนในชั้นเรียนรวมควรมีความยืดหยุ่นใน     การปรับสภาพแวดล้อมการเรียนรู้ และส่งเสริมการมีส่วนร่วมในระดับที่เหมาะสมกับความสามารถของผู้เรียน โดยการใช้สื่อการสอนที่หลากหลาย การปรับบทบาทในการเรียนรู้ และการสนับสนุนเฉพาะบุคคลตาม     ความจำเป็น อีกทั้งการมีเพื่อน ครูผู้ช่วย หรือผู้ปกครองเป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนการเรียนรู้ของผู้เรียนที่มีความต้องการพิเศษจะช่วยให้การเรียนรวมมีประสิทธิภาพมากขึ้น การจัดการศึกษาแบบเรียนรวมไม่เพียงแต่เป็นการตอบสนองต่อความจำเป็นทางการศึกษา แต่ยังเป็นการส่งเสริมให้เกิดความเท่าเทียมในสังคม สร้างความเข้าใจและยอมรับในความแตกต่าง ซึ่งเป็นรากฐานที่สำคัญในการสร้างสังคมที่เปิดกว้างและเคารพในคุณค่าของทุกคน

 

บรรณานุกรม

ดารณี ศักดิ์ศิริผล. (2564). แนวทางการจัดการเรียนการสอนสำหรับเด็กที่มีความต้องการพิเศษในชั้นเรียนรวม. วารสารการศึกษาพิเศษ, 12(1), 45-59.

พนัส จันทร์ศรีทอง และ ลัดดาวรรณ์ ประสูตร์แสงจันทร์. (2566). การเรียนรวม: การศึกษาที่ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง. วารสารครุศาสตร์มหาวิทยาลัยราชภัฏเลย, 17(2), 86-97.

สุรเชษฐ์ ตรรกโชติ. (2564). การออกแบบห้องเรียนที่เป็นมิตรต่อผู้เรียนทุกคน. วารสารการศึกษาพิเศษ, 13(1), 76-88.

สำนักงานราชบัณฑิตยสภา. 2558. พจนานุกรมศัพท์ศึกษาศาสตร์ร่วมสมัย ฉบับราชบัณฑิตยสภา. กรุงเทพฯ: สำนักงานราชบัณฑิตยสภา.