จากประเด็นทางสังคมที่มีการตั้งคำถามว่า “เพราะเหตุใดคนไทยไม่ดูซีรีส์ไทย” จนเป็นที่พูดถึงกันมากในโลกออนไลน์ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2565 ทั้งนี้ ต้องยอมรับว่าสื่อเนื้อหาความบันเทิง (Entertainment media) ในปัจจุบันสามารถส่งผ่านแพลตฟอร์มสตรีมมิ่งระดับโลกได้หลายทางได้แก่ Netflix, Disney+, HBO, VIU หรือแม้กระทั่ง YouTube ซึ่งจากแพลตฟอร์มที่ระบุมานี้ ส่วนใหญ่เป็นแพลตฟอร์มที่ต้องเสียค่าบริหารรายเดือน และเป็นความจริงที่ปฏิเสธไม่ได้ว่าเนื้อหาความบันเทิงของคนไทยที่นำเสนอบน Free TV นั้นกลับได้รับความนิยมลดลง
ผู้เขียนได้มีโอกาสได้พูดคุยกับคนรุ่นใหม่กับสาเหตุของการเลือกรับสื่อจากต่างชาติมากกว่า แม้ว่าจะมีค่าใช้จ่ายตามมาก็ตาม ซึ่งคนส่วนใหญ่ก็ยินดีจ่ายเพื่อให้ได้รับชมเนื้อหาที่ตนเองได้รับความบันเทิง รวมถึงวิเคราะห์สื่อบันเทิงไทย โดยสรุปเป็นมุมมองที่เป็นสาเหตุได้ดังนี้
- รู้ทันบทละครไทย คนกลุ่มหนึ่งมีความเห็นตรงกันว่า สามารถคาดการณ์บทหรือสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นได้ เนื่องจากเป็นแนวทางเดิมๆ ที่พบเห็นได้ทั่วไป ไม่นับละครที่มีเนื้อหา การตบตีแย่งผู้ชาย นางร้ายอิจฉานางเอง นางเอกตกอับกับพระเอกฐานะดี หรือแม้กระทั่งละครที่นำเสนอเรื่องการล้างแค้นในลักษณะใดก็ตาม ซึ่งทังหมดนี้เป็นสิ่งที่คนดูสามารถคาดการณ์ไว้ได้ก่อนบางส่วนแล้ว แค่วิธีการดำเนินเรื่องจะไปในลักษณะใดเท่านั้น
- สะท้อนแนวคิดหรือคติธรรมที่รับรู้กันอยู่แล้ว กรณีนี้เช่น ความเชื่อว่าความดีชนะทุกสิ่ง, ธรรมะชนะทุกสิ่ง, ครอบครัวสำคัญกว่าเรื่องต่างๆ เป็นต้น ซึ่งเมื่อพิจารณาดูแล้วแนวคิดหรือคติธรรมเหล่านี้ปลูกฝังอยู่ในหลักศาสนาต่างๆ หรือเป็นแนวคิดที่คนรุ่นใหม่ถือเป็นแนวปฏิบัติในการใช้ชีวิต ถึงแม้ว่าซีรีส์ต่างประเทศจะสะท้อนคติธรรมเหล่านี้เช่นกัน แต่ความแตกต่างในการเล่าเรื่องที่ต่างกัน หรือการเล่าเรื่องที่ขัดใจผู้ชมเป็นสิ่งที่สร้างความน่าสนใจให้กับผู้ชมได้มากกว่าการเล่าเรื่องที่คาดการณ์ได้
- การใช้ Soft Power เมื่อวิเคราะห์ดูสื่อแล้วจะเห็นว่าเป็นความแตกต่างที่ชัดเจน เนื่องจากซีรีส์ต่างประเทศมักแฝงการประชาสัมพันธ์ประเด็นต่างๆ ผ่านฉากหรืออุปกรณ์ประกอบฉาก เช่น การแฝงฉากทิวทัศน์ของประเทศ เพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยว หรือการแฝงด้วยอุปกรณ์ประกอบฉากที่เป็นสินค้าที่ผลิตในประเทศหรือมีบริษัทเป็นสัญชาตินั้นๆ อย่างซีรีส์เกาหลี จะมักเห็นรถยนต์ประกอบฉากยี่ห้อ ฮุนได เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีการแฝงเรื่องของวัฒนธรรมอาหารผ่านฉากต่างๆ เพื่อดึงดูดความสนใจของคนดูให้อยากลองบ้าง เป็นการส่งเสริมอุตสาหกรรมอาหารของประเทศตนเองด้วย
จากมุมมองดังกล่าว การที่คนรุ่นใหม่เลือกรับสื่อมากขึ้น เป็นเพราะมีประสบการณ์รับสื่อบันเทิงของไทยมาเป็นเวลานาน จนสามารถคาดการณ์เนื้อเรื่องและทิศทางของเรื่องได้จนทำให้ขาดความน่าสนใจ แต่กับเนื้อเรื่องที่มีความคอมเมดี้มากๆ หรือมีความใกล้ตัวมากก็ยังมีประแสได้รับความนิยมได้ในระดับหนึ่ง ซึ่งขึ้นกับจังหวะเวลาในการเผยแพร่ซีรีส์เรื่องนั้นๆ แต่ถ้าวิเคราะห์ถึงปัจจัยอื่นที่ทำให้คนรุ่นใหม่สนใจซีรีส์ต่างประเทศ คงปฏิเสธได้ยากว่า “ความนิยมในตัวนักแสดง” มีผลต่อการติดตามผลงานการแสดงของคนรุ่นใหม่ ซึ่งต่างจากคนที่ติดตามซีรีส์ไทยที่ติดตามเพราะเนื้อเรื่องและความสามารถในการแสดงของนักแสดงมากกว่า ทั้งนี้ คนที่ติดตามซีรีส์ไทยส่วนใหญ่ คาดว่ามาจากกลุ่มคนที่อยู่ในยุคเปลี่ยนผ่านการรับสื่อจากยุคฟรีทีวีไปสู่แพลตฟอร์มสตรีมมิ่ง ซึ่งเมื่อคนกลุ่มนี้ยังคงอยู่ในรูปแบบการเปิดรับสื่อเดิม กลุ่มเป้าหมายของผู้ผลิตซีรีส์ไทยจะระบุกลุ่มคนที่ชัดเจนได้มากขึ้น