ในการสื่อสารระหว่างบุคคล (Interpersonal Communication) แต่ละบุคคลอาจมีวิธีการสื่อสาร
ที่แตกต่างกัน ซึ่งการสื่อสารระหว่างบุคคลเป็นการสื่อสารระหว่างคน 2 คนที่มีความใกล้ชิดกัน ซึ่งสามารถสื่อสารผ่านประสาทสัมผัสได้หลายช่องทาง ทั้งการได้ยิน การเห็น การสัมผัส ฯลฯ (Miller, 1978) โดยการแลกเปลี่ยนข้อมูล เพื่อสร้างอิทธิพลให้เกิดขึ้นระหว่างกันทั้งสองฝ่ายและเพื่อควบคุมความสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นระหว่างบุคคล
ทั้งสอง (Beebe, Beebe & Ivy, 2001) โดยวัตถุประสงค์ของการสื่อสารระหว่างบุคคล เพื่อใช้เป็นเครื่องมือ
ในการตอบสนองตอบความต้องการและความพึงพอใจของตนเองและบุคคลรอบตัว ใช้เป็นพื้นฐานในการสร้าง
และรักษาความสัมพันธ์กับบุคคลอื่น (ภากิตติ์ ตรีสุกล, วิภาณี แม้นอินทร์, และเรวดี ไวยวาสนา, 2563) ดังนั้น
การสื่อสารจะช่วยให้บุคคลเกิดการเรียนรู้ระหว่างกัน รู้จักตนเอง เกิดความเข้าใจและรับรู้ความรู้สึกของบุคคลอื่น
ที่มีต่อเรา (Sasse, 1975)
จากความหมายและความสำคัญของการสื่อสารระหว่างบุคคลดังกล่าวข้างต้น การสื่อสารจึงเป็นแนวทาง
ที่บุคคลสามารถใช้สร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างกันได้ โดยบทความนี้จะพาคุณไปรู้จักกับภาษารัก (Love Language) ที่จะทำให้คุณได้เรียนรู้การสื่อสารในรูปแบบของการแสดงถึงความรักที่คุณมีต่อคนที่คุณรัก และในขณะเดียวกันก็เป็นการรับรู้ถึงรูปแบบของความรักที่คุณก็ต้องการได้รับการตอบสนองจากคนที่คุณรักเช่นกัน
ซึ่ง Chapman (2015) นักจิตวิทยา ได้กล่าวถึงรูปแบบของภาษารักไว้ 5 รูปแบบ ดังนี้
1. ภาษาคำพูด (Word of Affirmation) การใช้คำพูดเพื่อแสดงถึงความรัก ความคิดถึง ความห่วงใย กับคนที่คุณรัก แม้หลายคนอาจคิดว่าการกระทำสำคัญกว่าคำพูด แต่อย่างไรก็ตามบางคนก็ให้ความสำคัญกับคำพูด อยากได้ยินคำบอกรักจากคนที่ตนเองรัก ทั้งนี้ภาษาคำพูดนอกจากจะมาในรูปแบบของการพูดที่เป็น
การบอกรักโดยตรงแล้ว ยังรวมถึงการเขียนข้อความได้ด้วย ซึ่งมาในลักษณะของคำชื่นชมยินดี การถามด้วย
ความห่วงใย คิดถึง ให้กำลังใจต่อกัน แต่สิ่งสำคัญของการใช้ภาษารักในลักษณะของคำพูดนี้ สิ่งที่ควรระมัดระวังคือ การบอกรักที่จริงใจ มาจากความรู้สึกที่แท้จริงของคนพูด เพราะถ้าพูดแค่เพื่อเอาใจ ไม่ได้มาจากความรู้สึกที่แท้จริง คนฟังก็อาจรับรู้ได้ ซึ่งอาจส่งผลเสียมากกว่าผลดี
2. ภาษาบริการ (Acts of Service) การบอกรักด้วยการบริการช่วยเหลือ หรือทำสิ่งต่าง ๆ ตามที่
คนที่คุณรักต้องการ ทำให้คนที่คุณรักรู้สึกว่าเป็นคนสำคัญและได้รับการดูแลเอาใจใส่ ตัวอย่างของภาษาบริการ เช่น การทำอาหารให้ การช่วยทำงานบ้าน การจัดเสื้อผ้า การช่วยแก้ปัญหา การขับรถไปรับไปส่ง ฯลฯ ทั้งนี้ไม่ว่าการบริการจะเป็นในรูปแบบไหน สิ่งสำคัญที่ควรคำนึงถึงคือความต้องการของคนที่คุณรักเป็นหลัก เพราะหากคุณบริการหรือดูแลจนเกินความต้องการของอีกฝ่าย อาจทำให้อีกฝ่ายรู้สึกอึดอัด นอกจากนี้ควรเป็นการบริการที่มาจากความจริงใจและไม่หวังผลตอบแทนจากอีกฝ่าย และในทางตรงกันข้ามหากคุณมีคนรักที่ชอบใช้ภาษาบริการ อย่าลืมแสดงความขอบคุณในสิ่งที่เค้าคอยบริการให้กับคุณด้วย เพราะจะช่วยให้ความสัมพันธ์ระหว่างคู่ของคุณแน่นแฟ้นกันยิ่งขึ้น
3. ภาษาสัมผัส (Physical Touch) การแสดงความรักด้วยการสัมผัสทางร่ายกาย เช่น การโอบกอด
การลูบหลัง แตะไหล่ การหอมแก้ม การจับมือ รวมถึงการสัมผัสทางกายในลักษณะอื่น ๆ ทั้งนี้การแสดงออกทางภาษาสัมผัสค่อนข้างเป็นการแสดงความรักที่มีความใกล้ชิด ดังนั้นหากคุณเป็นคนที่ชอบบอกรักผ่านภาษาสัมผัส ควรมีความระมัดระวังว่าการสัมผัสนั้น ต้องเป็นไปด้วยความยินยอมของคนที่คุณรักเป็นสำคัญ เพราะหากอีกฝ่ายไม่ยินยอม อาจทำให้เกิดความรู้สึกอึดอัดกดดัน จนส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ได้
4. ภาษาของขวัญ (Receiving Gift) การให้ของขวัญกับคนที่คุณรัก เป็นภาษารักที่หลายคู่ให้ความสำคัญ เพราะแสดงถึงความคิดถึงหรือนึกถึงกัน เช่น การที่คุณไปเที่ยวในสถานที่ต่าง ๆ และมักจะมี
ของฝากติดไม้ติดมือมาฝากคนที่คุณรัก ของขวัญที่ให้ในช่วงเทศกาล หรือวันสำคัญของแต่ละคู่ ทั้งนี้ภาษาของขวัญ ไม่จำเป็นจะต้องเป็นของขวัญที่หรูหรามีราคาสูงเท่านั้น อาจเป็นเพียงสิ่งของเล็ก ๆ น้อย ๆ ซึ่งอาจหาซื้อมา
หรือประดิษฐ์ขึ้นเองก็ได้ ของขวัญนี้จึงเปรียบเสมือนเป็นสัญลักษณ์ของการนึกถึงและการเป็นคนสำคัญของคุณเสมอ
5. ภาษาเวลาคุณภาพ (Quality Time) การใช้เวลาอยู่ด้วยกันและมีปฏิสัมพันธ์ต่อกันตลอดเวลา ดังนั้นหากคุณเป็นคู่ที่อยู่ด้วยกัน แต่ต่างคนต่างอยู่กับโทรศัพท์ของตัวเอง หรือต่างคนต่างทำกิจกรรมของตนเอง อันนี้ไม่เรียกว่าเวลาคุณภาพนะ การใช้เวลาคุณภาพควรเป็นการทำกิจกรรมที่ทั้งคุณและคนที่คุณรักมีความสนใจร่วมกัน ซึ่งไม่จำเป็นจะต้องเป็นกิจกรรมที่ใช้เวลานานหรือต้องสลักสำคัญมากมาย อาจเป็นแค่กิจกรรมง่าย ๆ แต่เน้นการมีปฏิสัมพันธ์ต่อกัน เช่น การนั่งพูดคุยและรับฟังแลกเปลี่ยนความคิดซึ่งกันและกัน การดูซีรีย์ด้วยกัน การทำอาหารร่วมกันการเล่นเกมส์ร่วมกัน ฯลฯ
จากรูปแบบของภาษารักทั้ง 5 รูปแบบที่กล่าวข้างต้น แต่ละบุคคอาจมีวิธีการสื่อสารภาษารัก
ที่แตกต่างกัน หรือหนึ่งคนอาจใช้ภาษารักได้มากกว่า 1 รูปแบบ ซึ่งหากคุณและคนที่คุณรัก มีการสื่อสารภาษารักในรูปแบบเดียวกัน หรือเข้าใจรูปแบบภาษารักของคนที่คุณรัก ย่อมส่งผลให้เกิดการสื่อสารที่มีคุณภาพ สามารถสร้างความสัมพันธ์ระหว่างกันได้เป็นอย่างดี แต่หากการสื่อสารภาษารักระหว่างคุณและคนที่คุณรักไม่สอดคล้องกัน ก็อาจส่งผลเสียต่อความสัมพันธ์ระหว่างกันได้ โดยปัญหาที่อาจเกิดขึ้น ได้แก่
1. ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งอาจรู้สึกว่าไม่ได้รับความรัก เช่น ในกรณีที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งแสดงออกภาษารักด้วยการใช้ภาษาคำพูด แต่อีกฝ่ายชอบการแสดงออกถึงความรักด้วยภาษาสัมผัส อาจทำฝ่ายหนึ่งรู้สึกว่าตนเองไม่ได้รับ
ความรักอย่างที่ตนเองต้องการ
2. การตีความรักผิดพลาด อาจเกิดขึ้นในกรณีของบุคคลที่ชอบแสดงออกด้วยภาษาบริการ เช่น
การทำงานบ้าน การทำอาหาร หรือการขับรถรับส่ง ฯลฯ แต่อีกฝ่ายกลับมองว่าเป็นหน้าที่ที่คุณต้องปฏิบัติอยู่แล้ว ตามค่านิยมของสังคม เช่น ผู้หญิงต้องทำงานบ้าน ผู้ชายต้องขับรถรับส่ง สิ่งเหล่านี้อาจกลายเป็นการถูกมองว่าเป็นการทำเพราะหน้าที่มากกว่าเป็นการแสดงออกถึงภาษารักที่มีต่ออีกฝ่าย
3. ความขัดแย้งทางอารมณ์ เมื่อการสื่อสารด้วยภาษารักไม่สอดคล้องระหว่างกันจนเกิดความรู้สึกของ
การเชื่อมโยงทางอารมณ์ อาจทำให้เกิดความขัดแย้งหรือความห่างเหินกันในความสัมพันธ์ได้
จากปัญหาดังกล่าว หากบุคคลสามารถทำความเข้าใจภาษารักระหว่างกันได้ อาจเป็นเครื่องมือหนึ่งที่ช่วยให้คุณและคนที่คุณรัก ไม่ว่าจะ พ่อแม่ เพื่อน พี่น้อง คนรัก หรือบุคคลที่คุณรู้จักไม่ว่าจะในสถานะไหนก็ตาม สามารถสื่อสารสร้างความสัมพันธ์ที่ดีร่วมกันได้ไม่มากก็น้อย ดังนั้นอย่าลืมประเมินตนเองด้วยว่าคุณใช้ภาษารักแบบไหนและคนที่คุณรักชอบใช้ภาษาแบบไหน เพื่อลดความขัดแย้งทางอารมณ์หรือการตีความคุณค่าภาษารัก
ของอีกฝ่ายผิดพลาดไป ผู้เขียนหวังว่าบทความนี้จะช่วยให้คุณและคนที่คุณรักสามารถสื่อสารกันด้วยความเข้าใจภาษารักของแต่ละฝ่าย และพัฒนาความสัมพันธ์ให้แน่นแฟ้นกันมากยิ่งขึ้น
อย่าลืมชวนคนที่คุณรัก มาทำความเข้าใจภาษารักกันนะ ^^
รายการอ้างอิง
ชยุติ วงศ์เลิศวิศวกร. (2567). 5 ภาษารัก (The Five Love Languages).
ภากิตติ์ตรีสุกล, วิภาณีแม้นอินทร์, และเรวดี ไวยวาสนา. (2563). หลักนิเทศศาสตร์. กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา.
Beebe, S. A., Beebe, S. J., & Ivy, D. K. (2001). Communication: Principles for a lifetime. Boston, MA: Allyn & Bacon.
Chapman, G. (2015). The 5 Love Languages: The Secret to Love That Lasts. Northfield Publishing.
Miller, J.G. (1978) Living Systems. McGraw-Hill, New York.
Sasse, C. R. (1975). Person to Person. Bermett Co, Inc.