เทคนิคการฝึกอบรมในยุคดิจิทัล

เทคนิคการฝึกอบรมในยุคดิจิทัล

อาภา วรรณฉวี

คณะวิทยาการจัดการ มรภ.บ้านสมเด็จเจ้าพระยา

 

ในช่วงสถานการณ์ COVID-19 ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2563-2565 เป็นตัวเร่งให้เกิดการเปลี่ยนแปลวิธีการหรือเทคนิคในการฝึกอบรมพนักงานเป็นอย่างมาก จากสถานการณ์ดังกล่าว ทำให้องค์กรส่วนใหญ่หันมาให้ความนิยมการฝึกอบรมที่อาศัยเทคโนโลยีเป็นตัวช่วยในการฝึกอบรมมากยิ่งขึ้น

ในยุคดิจิทัล บริษัทหรือธุรกิจที่มีการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการทำงานของบริษัทได้มาก เพราะจะช่วยลดต้นทุน และยังเป็นการเพิ่มความสามารถในการทำงานให้กับพนักงานของบริษัทได้เป็นอย่างดี และอาจจะส่งผลถึงรายได้และผลกำไรที่มากขึ้นในอนาคตของบริษัท

 

เทคนิคการฝึกอบรมในยุคดิจิทัล

1. การใช้คอมพิวเตอร์ช่วยสอน

          การใช้คอมพิวเตอร์ช่วยสอน (Computer-Based Training) คือ การฝึกอบรมพนักงานผ่านการเรียนรู้ทางอิเล็กทรอนิกส์  (E-Learning) ซึ่งเป็นการฝึกอบรมที่ใช้คอมพิวเตอร์มาช่วยในการฝึกอบรม โดยผู้เข้ารับการอบรมจะได้เรียนรู้ผ่านการใช้คอมพิวเตอร์ส่วนตัว ด้วยการใช้ระบบอินทราเน็ตขององค์กร (Intranet) การใช้ระบบ E-Learning หรือ Online Learning ขององค์กรเพื่อการฝึกอบรมพนักงาน โดยพนักงานสามารถเรียนรู้เรื่องต่าง ๆ และมีการประเมินผลการเรียนรู้เหมือนการฝึกอบรมทั่วไป ซึ่งเป็นการเรียนรู้ที่เหมาะสมกับการเรียนรู้ของผู้ใหญ่ที่คุ้นเคยกับเทคโนโลยี และยังมีความเหมาะสมกับพนักงานรุ่นใหม่ที่มีความคุ้นเคยกับการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีในชีวิตประจำวันอยู่แล้ว

 

2. การฝึกอบรมผ่านเว็บ

การฝึกอบรมผ่านเว็บ (Web-based Training : WBT) เป็นรูปแบบหนึ่งของการฝึกอบรมที่ปัจจุบันที่ได้รับความนิยม การฝึกอบรมผ่านเว็บจะนำคุณสมบัติของเครือข่ายอินเทอร์เน็ตมาใช้สนับสนุนการฝึกอบรมให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด เป็นการนำระบบอินเทอร์เน็ตมาประยุกต์ใช้ในการพัฒนาบุคลากรในองค์กรให้มีความรู้ โดยคาดหมายให้นำความรู้ที่ได้ไปใช้ในการทำงานให้เกิดประสิทธิผลและบรรลุเป้าหมายขององค์กร 

 จะเห็นได้ว่า การฝึกอบรมผ่านเว็บจะต้องมีความพร้อมในเรื่องการเข้าถึงบริการอินเทอร์เน็ต แต่ก็มีข้อดีในเรื่องการเข้าถึงการฝึกอบรมผ่านเว็บได้ด้วยหลายแพลตฟอร์ม และหากมีความพร้อมทั้งอุปกรณ์และสัญญานอินเทอร์เน็ตก็สามารถเรียนรู้ได้ทุกที่ทุกเวลา

การฝึกอบรมผ่านเว็บ ยังมีลักษณะของการเรียนรู้ที่สามารถใช้สื่อหลายมิติ บทเรียนมีการปฏิสัมพันธ์กันระหว่างผู้เรียนกับบทเรียนและสร้างให้เกิดการเรียนรู้ด้วยตนเอง ผู้เข้าอบรมผ่านเว็บจะเป็นผู้ควบคุมการเรียนรู้ด้วยตนเองอย่างอิสระ ทั้งในเรื่องของสถานที่ และเวลา โดยบทเรียนและเนื้อหาวิชาในการฝึกอบรมผ่านเว็บนั้นจะมีการปรับ เปลี่ยนแปลง พัฒนาให้ทันสมัยอยู่ตลอดเวลา

 

3. การอบรมทางไกล

การอบรมทางไกล (Distance Training) เป็นการอบรมที่นิยมใช้กันอีกรูปแบบหนึ่ง เพราะเป็นการอบรมที่สามารถดำเนินการให้กับคนจำนวนมากในเวลาเดียวกันได้ ซึ่งเหมาะกับการดำเนินการขององค์กรที่มีคนในองค์กรที่มีลักษณะการทำงานในลักษณะเดียวกันกระจายไปทั่วประเทศ เช่น เป็นองค์กรที่มีหลายสาขากระจายอยู่ทั่วประเทศ ที่ต้องติดต่อสื่อสารกันและมีการประสานงานกันตลอดเวลา หากองค์กรมีความจำเป็นต้องทำการฝึกอบรมพนักงาน การฝึกอบรมทางไกลก็เป็นทางเลือกหนึ่งในเทคนิคการฝึกอบรมที่เหมาะสม การฝึกอบรมทางไกลมีหลายวิธี วิธีการเรียนรู้แบบการอบรมทางไกลนี้ มีความเชื่อว่าผู้เข้ารับการฝึกอบรมจะได้รับข้อมูลที่เหมือนกัน ซึ่งมีความเที่ยงตรงในการรับรู้ข้อมูล

 

4. ห้องเรียนเสมือนจริง

การฝึกอบรมรูปแบบห้องเรียนเสมือนจริง (Virtual Classroom) เป็นการฝึกอบรมที่ต้องอาศัยเครือข่ายคอมพิวเตอร์ และสื่ออิเล็กทรอนิกส์โทรคมนาคมเป็นหลัก เพื่อจำลองห้องฝึกอบรมแบบเสมือนจริง ซึ่งเป็นแนวทางการฝึกอบรมที่องค์กรต่าง ๆ กำลังให้ความสนใจ โดยเฉพาะในช่วงสถานการณ์ COVID-19 และขยายตัวมากขึ้นในศตวรรษที่ 21 (Thammanarak, and Nilsook, 2007)

ห้องเรียนเสมือนจริงเป็นการใช้ซอฟต์แวร์จัดประสบการณ์เรียนรู้ ที่ช่วยสนับสนุนผู้เรียนรู้และผู้อำนวยความสะดวกในการเรียนรู้ให้มีส่วนร่วมในการเรียนรู้ ผู้เรียนและผู้สอนสามารถเลือกสถานที่ ความสนใจและเวลาด้วยตนเองผ่านเครือข่ายคอมพิวเตอร์ ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้จากการร่วมกิจกรรมกลุ่ม กับผู้สอนหรือเพื่อนที่ร่วมเรียนรู้ได้เต็มที่ โดยไม่จำเป็นต้องอยู่ในห้องเรียน หรือห้องฝึกอบรมจริง วิธีการเรียนรู้ที่สำคัญและมีความสอดคล้องกับความสำเร็จของห้องเรียนเสมือน คือ “การเรียนรู้แบบร่วมมือ” (Cooperative Learning)

 

5. การเลียนแบบสถานการณ์จริง

ปัจจุบัน มีเทคนิคการฝึกอบรมที่มีผู้ให้ความสนใจมากขึ้นอย่างมาก คือ การฝึกอบรมที่เลียนแบบสถานการณ์จริง (Virtual Reality Training: VR Training) ซึ่งหมายถึง การเรียนรู้หรือการฝึกอบรมโดยให้ผู้เข้ารับการฝึกอบรมได้อยู่ในสภาพการณ์ที่เหมือนจริงมากที่สุด เช่น การเรียนรู้โดยการสวมแว่นเลียนแบบสถานการณ์จริง หรือ “แว่น VR” เพื่อให้ผู้เข้าฝึกอบรมได้รู้เห็นภาพเสมือนจริง โดยการจำลองสถานการณ์ตามหัวข้อที่ทำการฝึกอบรมแบบสมจริง ซึ่งทำให้ผู้เข้ารับการฝึกอบรมได้เข้าใจถึงสถานการณ์ในการฝึกอบรมที่จัดไว้ได้ดีกว่าการเรียนรู้ด้วยหลักทฤษฎีเพียงอย่างเดียว

การนำ VR Training ไปใช้ในโรงงานประเภทอุตสาหกรรม มีการนำไปใช้ในการฝึกอบรมพนักงานในโรงงานอุตสาหกรรม ที่ต้องใช้ความรู้ความชำนาญของพนักงานในการปฏิบัติงานค่อนข้างมาก และยังมีความเสี่ยงสูงต่อการทำงานจริง การใช้เทคโนโลยี VR Training จะช่วยฝึกฝนการทำงานของพนักงาน จำลองสถานการณ์เสมือนจริงหากเกิดเหตุไม่คาดฝัน ช่วยลดโอกาสการเกิดการสูญเสียได้มากยิ่งขึ้น ส่วนองค์กรด้านการบริการ ที่เน้นความปลอดภัยของพนักงาน และผู้บริโภค โดยมีการ Training พนักงานผ่านการใช้ VR Training มาจำลองสถานการณ์เหตุการณ์อาชญากรรมหลากหลายรูปแบบ หรือเหตุการณ์ไม่คาดฝัน เพื่อให้พนักงานได้รับมือกับเหตุการณ์จริงที่อาจเกิดขึ้นได้ เพื่อลดโอกาสการเสียชีวิต ทรัพย์สินของทั้งพนักงาน และผู้บริโภค (Future Trends, 2564)

 

6. ห้องเรียนกลับด้าน

การฝึกอบรมแบบ New Normal คือการฝึกอบรมที่มีการนำแนวคิดของ “ห้องเรียนกลับด้าน หรือ ห้องเรียนกลับทาง” (Flipped Classroom) มาใช้ ซึ่งเชื่อว่าหลังจากสถานการณ์ COVID-19 จบลงแล้ว รูปแบบการฝึกอบรมแบบใหม่ ก็คือ “การฝึกอบรมต้องเน้นการแก้ปัญหาให้ตรงจุด” มีการวิเคราะห์ความจำเป็นในการอบรม (Training Needs Analysis: TNA) และการส่งพนักงานเข้ารับการฝึกอบรมตามความจำเป็นเป็น ไม่ใช่เพียงแค่ทำตามนโยบายขององค์กรเท่านั้น

คำว่าห้องเรียนกลับด้านหรือห้องเรียนกลับทาง มีแนวคิดหลัก คือ การนำเอาสิ่งที่เคยทำในห้องฝึกอบรมไปทำที่บ้าน แล้วเอาสิ่งที่เคยทำที่บ้านมาทำในห้องฝึกอบรม และมีองค์ประกอบและลักษณะที่สำคัญ คือ เป็นแนวคิดในการจัดการเรียนรู้ที่นำเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาสร้างสภาพแวดล้อมการเรียนรู้ที่หลากหลายและยั่งยืน โดยที่วิทยากรหรือผู้สอนเป็นผู้ออกแบบการเรียนรู้ เพื่อให้ผู้เข้ารับการฝึกอบรมได้ฝึกวิธีการศึกษาหาความรู้ด้วยตนเอง และแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน (Bergmann & Sams, 2012)  

 

อ้างอิง

 

Bergmann, J., & Sams, A. (2012). Flip Your Classroom: Reach Every Student in Every Class

Every Day, Creative Education, 7(9), 120-190.

 

Borba, E. Z., Cabral, M., Montes, A., Belloc, O., and Zuffo, M. (2016). Immersive and Interactive Procedure Training Simulator for High Risk Power Line Maintenance, in ACM SIGGRAPH 2016 VR Village, Anaheim, California, July, 2016 (New York, NY: Association for Computing Machinery). doi:10.1145/2929490.2929497.

 

FutureTrends. (2564). 5 รูปแบบ ‘VR Training’ เทรนด์การเรียนรู้ขององค์กรยุคใหม่แบบเสมือนจริง ตอบโจทย์โลกการทำงานยุค New Normal. สืบค้น 11 พฤศจิกายน 2565, จาก

Special Content One

 

Thammanarak, H. and Nilsook, P. (2007). M-Learning, Tools for The Virtual Classroom of the Future. Journal of Educational and Communications, 5(5), 3-10.

 

อาจารย์ประจำสาวิชาการจัดการธุรกิจและทรัพยากรมนุษย์

มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา

Bansomdejchaopraya Rajabhat University