เทคนิคการฝึกซ้อมกีต้าร์โซโล่ให้มีประสิทธิภาพในเวลาไม่นาน 

เทคนิคการฝึกซ้อมกีต้าร์โซโล่ให้มีประสิทธิภาพในเวลาไม่นาน 

โดย อาจารย์ ภาคภูมิ เตี๋ยวงษ์สุวรรณ์ 

อาจารย์ประจำภาควิชาดนตรีตะวันตก 

วิทยาลัยการดนตรี มรภ.บ้านสมเด็จเจ้าพระยา

 

 

 

           กีต้าร์นั้นมีเทคนิคมากมายและมิติมุมมองทางด้านการเรียบเรียงเสียงอย่างหลากหลาย การฝึกซ้อมทักษะและใช้เวลาในการทำความเข้าใจในการแสดงออกและสื่อสารผ่านดนตรีนั้นสำคัญ แต่ในการที่จะฝึกฝนโซโล่ให้ได้ผลลัพธ์ที่ดีโดยใช้เวลาไม่นานต่อวันนั้นจะเน้นไปที่ความเข้าใจในกระบวนการฝึกฝนเพื่อไม่ให้เสียเวลาฝึกฝนในสิ่งที่ผิด ซึ่งต่อให้ใช้เวลานานก็ไม่เกิดผลที่ดี แนวคิดการฝึกฝนนี้เป็นประสบการณ์ตรงของผู้พิมพ์และเทคนิคส่วนบุคคลซึ่งอยากนำมาแบ่งปันกับทุกคนที่ไม่สามารถฝึกซ้อมกีต้าร์ได้วันละ 8-12 ชั่วโมง รายละเอียดมีดังนี้

 

            1. ความเข้าใจในสัดส่วนจังหวะทุกจังหวะ ควรเล่นให้ติดต่อกันในอัตราจังหวะที่เท่ากันแล้วค่อยเพิ่มสัดส่วนจนครบทุกแบบ เริ่มที่การดีดสลับโดยที่ยังไม่ต้องเคลื่อนไหวโน้ตดนตรีบนคอกีต้าร์แต่อย่างใด เมื่อเกิดความเข้าใจขึ้นจึงเคลื่อนไหวประกอบโน้ตดนตรีด้วยการทำความเข้าใจกับบันไดเสียง, คอร์ด, โหมด และทฤษฏีทางดนตรีอื่นๆในเวลาเดียวกัน นอกจากนั้นควรตรวจสอบกายภาพของตน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการดีดหรือนิ้วที่เคลื่อนไหวอยู่บนคอกีต้าร์อย่างละเอียดเป็นการอุ่นเครื่องไปในตัวก่อนที่จะเข้าเรื่องต่อไป โดยส่วนตัวผมใช้เวลาอยู่กับเรื่องนี้ประมาณครึ่งชั่วโมงถึงหนึ่งชั่วโมง

 

              2. การอุ่นเครื่องบางครั้งไม่ได้สามารถทำได้เพียงอย่างเดียวอย่างที่กล่าวไปในข้อแรก แต่ยังสามารถทำได้โดยบรรเลงบทเพลงช้าๆเพื่อเป็นการกระชับกล้ามเนื้อก่อนที่จะเล่นเพลงที่มีอัตราจังหวะเร็วขึ้นเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดอุบัติเหตุร้ายแรงระหว่างฝึกซ้อม ในขณะฝึกซ้อมนั้นก็ควรจะทำความเข้าใจเรื่องของเทคนิคกีต้าร์และจังหวะของบทเพลงนั้นๆอย่างละเอียดก่อนที่จะมีความกล้าบรรเลงต่อสาธารณชน ในข้อนี้สามารถทำต่อเนื่องจากข้อที่ 1 ได้ทันที เวลาในการฝึกซ้อมนี้ไม่สามารถกำหนดได้แน่ชัดขึ้นอยู่กับว่าเราเข้าใจบทเพลงแค่ไหน บรรเลงออกมาได้ครบถ้วนหรือไม่ แต่โดยส่วนตัวแล้วใช้เวลาราวๆหนึ่งถึงสองชั่วโมง

 

               3. พยายามนำเอาจังหวะทำนองดนตรีหรือแกะเพลงบรรเลงหรือทำนองสั้นๆที่คุ้นเคยมาประยุกต์ในรูปแบบใหม่ๆผ่านการซ้อมโซโล่กีต้าร์เพื่อสร้างวลีใหม่ๆให้สอดคล้องกับการแสดงแบบด้นสดอยู่สม่ำเสมอ และสามารถวิเคราะห์ทุกอย่างที่เล่นได้ในเชิงทฤษฏีดนตรี วิธีนี้นั้นต้องใช้จินตนาการประกอบค่อนข้างมากในการเข้าใจศิลปะการบรรเลงดนตรี นอกเหนือจากนี้ยังมีการแกะเสียงที่นอกเหนือจากดนตรี อาจจะเป็นเสียงรบกวนในชีวิตประจำวันอย่างเช่น เสียงจักรยานยนต์และเสียงเครื่องมือก่อสร้าง เป็นต้น ทั้งหมดนี้คือการฝึกรวบรวมทำนองวลีต่างๆเพื่อการเล่นด้นสดอย่างมีประสิทธิภาพและนำไปถึงการประพันธ์ดนตรีในที่สุด หลักการนี้เปรียบเหมือนการเรียนภาษาที่เราจำเป็นต้องเรียนรู้คำศัพท์และความหมายเยอะๆก่อนที่จะสื่อสารได้อย่างชัดเจน

 

                หวังว่าบทความนี้จะช่วยทุกท่านได้ไม่มากก็น้อย แนวคิดในการฝึกนี้นั้นสามารถนำเอาไปใช้ได้ในเวลาไม่จำกัด ในส่วนของจุดประสงค์หลักนั้นแบบแผนการฝึกซ้อมกีต้าร์โซโล่นี้สามารถใช้ได้กับผู้ที่มีเวลาฝึกฝนน้อยให้ได้แนวคิดและแบบแผนในการซ้อมที่มีประสิทธิภาพ ไม่เสียเวลาไปกับการลองผิดลองถูกมากจนเกินไป ขอบคุณครับ

 

โดย อาจารย์ ภาคภูมิ เตี๋ยวงษ์สุวรรณ์ 

อาจารย์ประจำภาควิชาดนตรีตะวันตก 

วิทยาลัยการดนตรี มรภ.บ้านสมเด็จเจ้าพระยา

เผยแพร่เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2561