เครื่องมือทางมานุษยวิทยาสาธารณสุข: แผนที่เดินดิน

เครื่องมือทางมานุษยวิทยาสาธารณสุข: แผนที่เดินดิน

 

อาจารย์วิทวัส กมุทศรี

สาชาวิชาสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฎบ้านสมเด็จเจ้าพระยา

 

          การที่จะเข้าใจวิถีชีวิตและความเป็นอยู่ของสมาชิกในชุมชน หรือประชาชนในชุมชนนั้น สิ่งที่มีความสำคัญมากที่สุดคือการพาตัวเองของผู้ทำการศึกษาชุมชนเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของโลกของชุมชน การรู้จักโลกทางกายภาพด้วยการทำแผนที่จึงเป็นการทำความเข้าใจสิ่งแวดล้อมพื้นฐานของการมีชีวิตอยู่ร่วมกันของชุมชน แต่พื้นที่ทางกายภาพของชุมชนก็ไม่ได้แยกขาดจากพื้นที่ทางสังคม การเข้าใจพื้นที่ทางกายภาพจึงจำเป็นต้องเข้าใจพื้นที่ทางสังคมที่ซ้อนทับกันอยู่ด้วย แผนที่เดินดินจึงแตกต่างจากการทำแผนที่ทั่วไปตรงที่เป็นการทำแผนที่ภูมิสังคม (Geo-social mapping) คือ ทำทั้งแผนที่ทางภูมิศาสตร์และแผนที่ทางสังคมไปด้วยพร้อม ๆ กัน ซึ่งทำให้แก้ปัญหาที่พบบ่อยในการทำงานด้านสาธารณสุขชุมชนที่ต้องทำงานร่วมกับพื้นที่ได้ (โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์, 2556)

          ปัญหาที่พบในการทำงานร่วมกับพื้นที่ของนักวิชาการสาธารณสุขที่ผ่านมานั้น แม้ว่าจะทำงานชุมชนมาเป็นเวลานานและทำงานร่วมกับชุมชนมาไม่น้อย และมีความรู้จักสนิทสนมกับชุมชนดีเฉพาะบ้านที่ต้องไปติดต่อบ่อย ๆ เท่านั้น เช่น บ้านของผู้นำชุมชน บ้านอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) หรือบ้านกลุ่มเป้าหมายที่ต้องไปพบปะเยี่ยมเยียน เยี่ยมบ้านผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ผู้ป่วยติดเตียง และอีกประการหนึ่งคือคนที่ทำงานชุมชนบางคนแทบไม่เคยเดินดูให้ทั่วทั้งชุมชน ทำให้ไม่เคยรู้ว่าในชุมชนที่ทำงานอยู่นั้นมีคนจน คนทุกข์ยาก หรือกลุ่มคนชายขอบที่ไม่มีใครอยากพูดถึงอาศัยอยู่ การทำงานกับชุมชนให้ง่ายนั้นอาจเริ่มจากการทำแผนที่เดินดิน ซึ่งเป็นเสมือนบันไดขั้นแรกที่สำคัญที่สุดที่จะนำความรู้ความเข้าใจชุมชนด้วยวิธีการง่าย ๆ และใช้เวลาศึกษาไม่นานนัก (สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยขอนแก่น, 2540; ธัฏษิณา ใจเสน, และกฤติธัช ไปร่บึง, 2561)

          บทความนี้เป็นการเสนอวิธีการพัฒนาและประโยชน์ของการใช้เครื่องมือทางมานุษยวิทยาสาธารณสุขในงานด้านการสาธารณสุข โดยมีรายละเอียดแบ่งเป็น 3 หัวข้อดังต่อไปนี้

 

 

1. ความหมายของแผนที่เดินดิน

          แผนที่เดินดินเป็นแผนที่ชุมชนที่มีลักษณะพิเศษ และที่เรียกว่าแผนที่เดินดิน เพื่อให้เห็นถึงความแตกต่างจากแผนที่ชุมชนอีกชนิดหนึ่งคือ แผนที่นั่งโต๊ะ โดยในอดีตที่ยังไม่มีการทำแผนที่ชุมชน คนทำงานชุมชนต้องเดินดินออกสำรวจเพื่อทำแผนที่สำหรับใช้งานของตนเอง ปัจจุบันชุมชนต่าง ๆ มักจะมีแผนที่ที่ถูกทำไว้แล้วคนทำงานชุมชนในปัจจุบันจึงไม่ได้ทำแผนที่เดินดินแต่อาศัยแผนที่นั่งโต๊ะที่มีอยู่แล้ว ซึ่งไม่ทราบว่าใครเป็นคนทำไว้ และไม่ทราบว่าถูกต้องเป็นปัจจุบันหรือไม่ การที่ต้องเดินดินทำแผนที่เองทำให้คนทำงานรู้จักชุมชนและรู้จักพื้นที่ แผนที่เดินดินจึงแตกต่างจากแผนที่นั่งโต๊ะ ซึ่งผู้ศึกษาไม่จำเป็นต้องไปเดินสำรวจด้วยตนเอง เพียงแต่เปิดจากแฟ้มหรือขอจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และในปัจจุบันมีโปรแกรมแผนที่ดาวเทียม เช่น จีไอเอส (GIS: Geographic Information System) และกูเกิ้ลแม็ป (Google map)

          อย่างไรก็ตามหากรู้จักประยุกต์ใช้เทคโนโลยีอย่างจีไอเอส หรือ กูเกิ้ลแม็ป ก็อาจมีประโยชน์โดยใช้เป็นข้อมูลเบื้องต้นเพื่อให้การเดินสำรวจโดยเชื่อมโยงไปถึงข้อมูลเกี่ยวกับผู้คนและมิติทางสังคมของพื้นที่ (กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย, 2560)

อ่านต่อ