“เกลือ” ในวิถีชีวิตและภูมิปัญญาไทย

                                                                        “เกลือ” ในวิถีชีวิตและภูมิปัญญาไทย

                                                                                                                                                                    จริญญาพร สวยนภานุสรณ์

 

บทนำ

          “บ้านของพี่ทำนาทำนาปลูกข้าวทุกเมื่อ (ญ) น้องก็ทำนาเกลือขายเกลือนั้นซื้อข้าวกิน (ช) บ้านของพี่อยู่ที่กาฬสินธิ์ (ญ) ส่วนตัวยุพินอยู่สมุทรสาคร” นี่เป็นตัวอย่างของของเนื้อเพลงในบทเพลง “หนุ่มนาข้าวสาวนาเกลือ” ที่เคยได้ยินมาอย่างยาวนาน บทเพลงนี้แสดงให้เห็นถึงวิถีชีวิตของสังคมไทยที่เป็นสังคมเกษตรกรรมมีวิถีชีวิตผูกพันกับธรรมชาติ โดยเฉพาะเกลือนั้นใช้ในการบริโภค ปรุงอาหาร ถนอมอาหาร และมีสรรพคุณเป็นยารักษาโรค โดยข้าวและเกลือเป็นทรัพยากรธรรมชาติที่มีคุณค่าสำหรับมนุษย์ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน

          ในปัจจุบันอาชีพทำนาเกลือ (เกลือสมุทร) พบได้มากทางจังหวัดสมุทรสาคร เพชรบุรี ชลบุรีสมุทรสงคราม ฉะเชิงเทรา ชลบุรี จันทบุรี ปัตตานี โดยเกลือทะเลหรือเกลือสมุทร (Sea Salt) เป็นเกลือที่ผลิตได้จากน้ำทะเล ด้วยการสูบน้ำทะเลเข้ามาขังไว้ในนาพัก ซึ่งการทำนาเกลือถือเป็นอาชีพดั้งเดิมของคนไทยที่สืบทอดกันมายาวนานต้องอาศัยภูมิปัญญาและประสบการณ์ ร่วมกับการพึ่งพาอาศัยธรรมชาติจากลมและความร้อนจากแสงแดดของดวงอาทิตย์ช่วยระเหยน้ำ เพื่อให้น้ำเกลือมีความเข้มข้นมากขึ้นจนถึงระดับหนึ่ง เกลือจะตกผลึกออกมา (กลุ่มส่งเสริมและพัฒนาเกลือทะเลไทย กองส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน, 2568: ออนไลน์)  

         ผลผลิตของการทำนาเกลือเป็นสิ่งที่ต้องพึ่งพิงธรรมชาติทั้งแสงแดดและน้ำทะเล อีกทั้งการแสดงความเคารพต่อสิ่งที่เหนือธรรมชาติผ่านพิธีกรรมและความเชื่อในพิธีทำขวัญเกลือ ทั้งนี้ เพื่อเป็นสิริมงคลและเป็นขวัญกำลังใจแก่ชาวนาเกลือ อีกทั้งเป็นมรดกภูมิปัญญาที่สืบทอดโดยการบอกเล่าและถือปฏิบัติต่อ ๆ กันมา ตัวอย่างที่อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี มี“ศาลตาพุก” เป็นศาลศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวนาเกลือให้ความเคารพนับถือ ศาลไม้ทาสีขาวหกเสานี้ไม่มีหลังคาสัมพันธ์กับอาชีพของชาวนาเกลือที่ต้องพึ่งพิงแสงแดด บนศาลมีไม้เจว็ดแทนองค์ตาพุก ซึ่งชาวนาเกลือเชื่อว่าตาพุกเป็นคนแรกที่ทำนาเกลือ นอกจากนี้ยังมีการไหว้ผีนา ศาลปู่ ย่า ศาลพระภูมิ ในพิธีมีเครื่องเซ่นไหว้สังเวยต่าง ๆ แสดงถึงความอุดมสมบูรณ์ วิถีชุมชนชาวนาเกลือที่ผ่านกาลเวลาล้วนมีการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่องภายใต้กฎเกณฑ์ต่าง ๆ ที่ปฏิบัติกันมาตั้งแต่เมื่อเริ่มก่อตั้งชุมชนจนเกิดการซ้อนทับของมิติต่าง ๆ ก่อเกิดเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว เมื่อได้สืบทอดกันมาหลายชั่วอายุคนชุมชนย่อมเกิดความรักความผูกพันและหวงแหน โดยพิธีกรรมในนาเกลือจะมีพิธีกรรม ดังนี้ ประเพณีแรกนาเกลือ ประเพณีทำขวัญนาเกลือ และประเพณีเปิดยุ้งฉาง (กลุ่มส่งเสริมและพัฒนาเกษตรกร, 2565: ออนไลน์)

          การประกอบพิธีกรรมทำขวัญนาเกลือเป็นหนึ่งพิธีกรรมความเชื่อของชาวนาเกลือในจังหวัดเพชรบุรี ที่เป็นการผลิตเกลือสมุทรหรือเกลือทะเล โดยในภูมิภาคของประเทศไทยยังมีเกลือสินเธาว์หรือเกลือภูเขาที่ยังมีอยู่ทางภาคเหนือและยังใช้กรรมวิธีการทำเกลือสินเธาว์แบบโบราณที่อำเภอบ่อเกลือ จังหวัดน่าน

           โดยข้อมูลของชาวบ้านที่มีการบันทึกลายลักษณ์อักษรได้เล่าว่า“สมัยก่อน บ่อเกลือ มีชื่อว่า“เมืองบ่อ” เป็นชุมชนขนาดใหญ่และภายในพื้นที่รอบๆ นี้เคยมีบ่อน้ำเกลือสินเธาว์มากถึง 9 บ่อ แต่ก่อนที่จะมีผู้คนมาอาศัยอยู่นั้นบริเวณนี้เคยเป็นป่าทึบ จนมีนายพรานผู้หนึ่งผ่านมาเห็นเหล่าสัตว์ทั้งหลายมากินน้ำกันที่นี่ ก็แปลกใจทำไมสัตว์ถึงชอบกิน พอได้ชิมดู จึงรู้ว่าน้ำมีรสเค็ม เลยมีการตักน้ำนี้ไปถวายผู้ครองนครน่าน ก็เลยส่งคนมาพิสูจน์ ต่อมาภายหลังจึงได้จัดตั้งชุมชนขึ้น โดยนำคนจากเชียงแสนเข้ามาหักร้างถางพง และทำเกลืออยู่ที่นี่ คนเหล่านี้ก็คือบรรพบุรุษของคนบ่อหลวงในปัจจุบัน” ที่แห่งนี้ยังคงมีร่องรอยทางประวัติศาสตร์และพิธีกรรมโบราณไว้ให้คนรุ่นหลังได้สัมผัสและศึกษา เนื่องจากการผลิตเกลือของชาวบ่อเกลือยังมีข้อจำกัดด้วยเหตุผลของวัฒนธรรมประเพณี คือชาวบ้านบ่อหลวงแห่งอำเภอบ่อเกลือจะไม่ผลิตเกลือในช่วงเข้าพรรษาและมีช่วงพิธีกรรมที่สำคัญทำมาโดยตลอดไม่เคยขาด

           ในวันแรม 8 ค่ำ ของเดือน 5 หมู่บ้านบ่อหลวงจะปิดกั้นไม่ให้บุคคลภายนอกเข้าออกหมู่บ้านด้วยยานพาหนะทุกชนิด เป็นเวลา 3 วัน แต่สามารถเดินเท้าเข้ามาได้ เพราะช่วงเวลานี้เป็นช่วงที่ชาวบ่อหลวงทำพิธีกรรมทางจิตวิญญาณ ด้วยการบวงสรวงเจ้าหลวงบ่อ จะมีการเลี้ยงเจ้าหรือเลี้ยงผีเพื่อขอบคุณสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ได้ปกปักคุ้มครองและให้เกลือเป็นทรัพยากรที่พวกเขาสามารถนำมาใช้และเลี้ยงชีพมาตลอดระยะเวลา 1 ปี ประเพณีเหล่านี้ไม่มีตำนานแน่ชัดว่าเกิดขึ้นตั้งแต่เมื่อใด แต่ได้รับการปฏิบัติสืบต่อกันมา จนกลายเป็นประเพณีจึงไม่มีใครถามถึงเหตุผลของการปฏิบัติ ที่นี่จึงเป็นร่องรอยแห่งอดีตที่ยังไม่หยุดนิ่งการทำเกลือของชาวบ่อเกลือไม่ใช่แค่การนำน้ำขึ้นมาต้มให้เหลือเพียงเกลือเท่านั้น แต่การทำเกลือของที่นี่เปรียบเสมือนจิตวิญญาณ ความเชื่อที่สั่งสมมาแต่โบราณกาล ตลอดจนมีพิธีกรรมต่าง ๆ เพื่อความเป็นสิริมงคล และเพื่อขอบคุณสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลาย (สลิตา พรรณลึก, 2560: ออนไลน์)

         ดังนั้นเกลือจึงมีความสำคัญในการดำเนินชีวิตประจำวัน เพราะเป็นอาชีพที่ทำกันมาแต่โบราณและทุกวันนี้ยังมีการผลิตเพื่อค้าขายและยังชีพ ในวิถีชีวิตและภูมิปัญญาของการความเชื่อและพิธีกรรมดังกล่าว จึงเป็นร่อยรอยของวัฒนธรรมที่มีคุณค่าของชาวบ่อเกลือ นอกจากนี้ “เกลือ” ในวิถีชีวิตและภูมิปัญญา ยังเชื่อมโยงกับภาษาที่เกี่ยวข้องกับสำนวน สุภาษิต คำพังเพยไทย แสดงให้เห็นถึงที่มาของวิถีชีวิต สภาพแวดล้อม หรืออาชีพในสังคมไทย ตัวอย่างเช่น ทำนาออมกล้า ทำปลาออมเกลือ หมายถึง ทําการสิ่งใดถ้ากลัวหมดเปลืองย่อมไม่ได้ผลสมบูรณ์, เกลือจิ้มเกลือ หมายถึง ไม่ยอมเสียเปรียบกัน แก้เผ็ดให้สาสมกัน, ใกล้เกลือกินด่าง หมายถึง มองข้ามหรือละเลยของดีที่อยู่ใกล้ตัว, เอาพิมเสนไปแลกกับเกลือ หมายถึง อย่าเอาความดีไปแลกความชั่ว ,เกลือเรียกพี่ หมายถึง ขี้เหนียวมาก, ข้าวไม่เหลือ เกลือไม่พอ หมายถึง ขัดสนไปเสียทุกอย่าง

          โดยยังมีสำนวนไทยที่บอกกล่าวให้อดทนกับความยากจน, ความลำบาก ที่มีคำว่า “เกลือ” ซึ่งคนคุ้นเคยว่า “ให้ทนกัดก้อนเกลือกิน” บ้าง “ให้รักษาความดีเหมือนเกลือรักษาความเค็ม” บ้าง คงได้ยินกับมาจนคุ้นเคยว่าแต่ทำไมใช้เกลือรสเค็ม ๆ แทนความอดทนอดกลั้น ยังมีข้อมูลของเกลือในวัฒนธรรมอื่น ๆ เกี่ยวกับความซื่อสัตย์และมิตรภาพระหว่างเกลือกับผู้คนในความหลากหลายวัฒนธรรมว่า“เพราะเนื้อแท้ของเกลือไม่เปลี่ยนแปลง แม้กระทั่งละลายเป็นของเหลวก็ยังระเหยกลับมาเป็นผลึกสี่เหลี่ยมได้ ศาสนาอิสลามและจูดายใช้เกลือประทับสัญญาซื้อขาย เพราะเกลือไม่มีวันเปลี่ยนแปลง กองทหารอินเดียใช้เกลือเป็นหลักประกันความจงรักภักดีต่ออังกฤษ อียิปต์โบราณ กรีก และโรมัน มีเกลือรวมอยู่ในเครื่องสังเวยและเครื่องเซ่นไหว้ ผู้คนวิงวอนพระเจ้าด้วยเกลือและน้ำ และมีความเชื่อว่านี่คือที่มาของน้ำมนต์ของชาวคริสต์” (กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม, 2567: ออนไลน์) อีกสำนวนหนึ่งที่เชื่อมโยงกับความเชื่อในสังคมไทย เผาพริกเผาเกลือ ที่หมายถึง การสาปแช่งให้ศัตรูได้รับความเจ็บปวดและทรมาน เป็นความเชื่อที่มาแต่โบราณ โดยเชื่อว่าความเชื่อนี้ได้รับอิทธิพลมาจากศาสนาฮินดู

         ดังนั้นสำนวน สุภาษิต คำพังเพย เป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่อยู่คู่กับคนไทยมาช้านาน อีกทั้งมีคุณค่าในการศึกษาและเข้าใจในวิถีชีวิต ค่านิยม ความเชื่อ และขนบธรรมเนียมประเพณีต่าง  ๆ ของคนไทย ตลอดจนคุณค่าทางด้านภาษาที่มีลักษณะการใช้ถ้อยคำที่สั้น กะทัดรัด แต่ได้ให้ความหมายที่ลึกซึ้งกินใจ นอกจากนี้สำนวน สุภาษิต คำพังเพย ยังเป็นข้อคิด คติสอนใจให้แก่คนในสังคมไทยมาตั้งแต่อดีตจวบจนปัจจุบัน (ขนิษฐา จิตชินะกุล, 2545: 71)  นอกจากนั้นเกลือยังมีความสำคัญในการปรุงอาหารไทยที่ทำให้รสชาติกลมกล่อม, ใช้เกลือในการถนอมอาหารในการหมักดองเค็มต่าง ๆ, เกลือเป็นยารักษาโรคบรรเทาอาการและบำบัด เช่น โรคผิวหนัง โรคเหงือกและฟัน รักษาอาการท้องผูก เป็นต้น ใช้น้ำเกลือรักษาแผลฆ่าเชื้อโรคและเป็นส่วนผสมในอุตสาหกรรมยา ฯลฯ

บทสรุป

          คุณประโยชน์อันหลากหลายของเกลือสามารถบ่งบอกถึงทรัพยากรทางธรรมชาติที่มีคุณค่าและความอุดมสมบูรณ์ของประเทศไทย อีกทั้งยังสะท้อน“เกลือ” ในวิถีชีวิตและภูมิปัญญาไทย ที่มีความหลากหลายในมิติของสังคมไทยหลาย ๆ แง่มุม ทั้งความเชื่อ ค่านิยม พิธีกรรม ประเพณี ภาษา ที่มีความความสัมพันธ์กับวิถีชีวิตและภูมิปัญญาในสังคมไทยมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน

เอกสารอ้างอิง

กลุ่มส่งเสริมและพัฒนาเกลือทะเลไทย กองส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน. (2568). ข้อมูลเกลือทะเลไทย. สืบค้น 19 มีนาคม 2568,               จาก https://thaiseasalt.doae.go.th/?page_id=1216

กลุ่มส่งเสริมและพัฒนาเกษตรกร สำนักงานเกษตรจังหวัดเพชรบุรี. (2565). โครงการสืบสานพิธีทำขวัญเกลือและถ่ายทอด                        เทคโนโลยีการผลิตเกลือทะเล เพื่อการเริ่มต้นฤดูกาลผลิตใหม่. สืบค้น 19 มีนาคม 2568, จาก https://thaiseasalt.info

กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม. (2567). ทำไมสำนวนไทยถึงใช้ “เกลือ”แทนความอึด ความทน? ทำไมต้องเป็นเกลือเค็มๆ?.                   สืบค้น 19 มีนาคม 2568, จาก https://www.silpa-mag.com/history/article_18741

ขนิษฐา จิตชินะกุล. (2545). คติชนวิทยา. กรุงเทพฯ: โอเดียนสโตร์.

สลิตา พรรณลึก. (2560). “บ่อเกลือ” ความเชื่อแห่งนครน่าน. สืบค้น 19 มีนาคม 2568, จาก                                                                  https://www.bangkokbiznews.com/lifestyle/760738