องค์ความรู้ทางดนตรีและนาฏศิลป์มอญพระประแดง
การวิจัยเรื่อง องค์ความรู้ทางดนตรีและนาฏศิลป์มอญพระประแดง เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพอาศัยหลักการทางมานุษยวิทยา มีวัตถุประสงค์เพื่อ ๑) เพื่อศึกษารวบรวมองค์ความรู้ทางดนตรีและนาฏศิลป์มอญพระประแดง ๒) เพื่อศึกษาความคลี่คลายเปลี่ยนแปลงของดนตรีและนาฏศิลป์มอญพระประแดง และ๓) เผยแพร่องค์ความรู้ทางดนตรีและนาฏศิลป์มอญพระประแดง โดยการเก็บข้อมูลจากเอกสาร(Document) และเก็บข้อมูลภาคสนาม(Field Study) จากนั้นจึงนำข้อมูลทั้งหมดมาทำการวิเคราะห์ โดยใช้วิธีพรรณนาวิเคราะห์ (Descriptive Analysis) ประกอบรูปภาพ เสียง และสัญลักษณ์ต่างๆ เผยแพร่ในรูปแบบของเอกสาร ดีวีดีและซีดี การสัมมนาทางวิชาการ และมัลติมีเดียเว็บบนอินเตอร์เน็ต
ผลการวิจัยพบว่า องค์ความรู้ทางดนตรีของมอญพระประแดงที่ยังคงอยู่ในปัจจุบันพบได้จากการบันทึกโน้ตโดยครูชื่น หริมพานิช มีจำนวน ๓๕ เพลง แบ่งเป็น ๔ ประเภท คือ ๑) เพลงพิธีกรรม จำแนกจากการใช้งาน ได้แก่ เพลงที่บรรเลงในงานอวมงคล เช่น เพลงชุดรำสามถาด และเพลงที่บรรเลงในงานทั่วไป เช่น เพลงอะโก้ล ๒) เพลงประกอบการแสดง เช่น เพลงชุดมอญรำ ๑๒ ท่า ๓) เพลงบรรเลง แบ่งออกเป็น ๓ ประเภท คือ ๓.๑) เพลงเกร็ด เช่น เพลงแยแปแล เพลงยังซัน ๓.๒) เพลงเร็ว เช่น เพลงปั๊วะ และ ๓.๓) เพลงแม่แพลง และ ๔) เพลงที่ใช้ออกท้ายประจำและเพลงพระฉันมอญ เช่น เพลงตีโต๊ดเกล๊าะบี
องค์ความรู้ด้านนาฏศิลป์มอญ มี ๒ ชุด คือ ๑) รำสามถาด เป็นการแสดงที่ต้องการแสดงความเคารพต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ผู้รำแสดงตนเหมือนการเข้าทรงแล้วร่ายรำประกอบกับอุปกรณ์ต่างๆ ได้แก่ ถาดใส่เครื่องสังเวย ใบไม้ กระสวย ดาบ และเหล้า โดยการรำแต่ละถาดมีความหมาย คือ ถาดที่ ๑ รำถวายเทพเทวาอารักษ์ เจ้าพ่อหลักเมือง เจ้าพ่อใหญ่ในตำบล ถาดที่ ๒ รำบูชาครู เจ้าที่เจ้าทางสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่สิงสถิตอยู่ ณ บริเวณงานพิธี ส่วนถาดที่ ๓ รำบูชาบรรพบุรุษ โดยแบ่งขั้นตอนการรำแบ่งออกเป็น ๖ ขั้น ได้แก่ ๑) รำรับพวงมาลัยหรือรำถวายมือ ๒) รำถือถาดสามถาด(ถือทีละถาด) ๓) ท่ารำใบไม้ ๔) ท่ารำกระสวย ๕) ท่ารำดาบ และ ๖) ท่ารำเหล้า ซึ่งรำประกอบบทเพลง ๖ เพลง คือ เพลงปะระ เพลงฮะระซอท เพลงเละห์แซ่ง เพลงนกขมิ้นมอญ เพลงฮะว่ายฮะวอนฮะเนิน และเพลงอะเหยิน ๒) มอญรำ ๑๒ ท่า เป็นการแสดงเพื่อให้เกียรติแก่บุคคลสำคัญในพิธีนั้นๆ ผู้แสดงจะร่ายรำด้วยชื่อท่ารำจำนวน ๑๒ ชื่อ คือ การทำความเคารพ ท่าทิ้งตัว ท่าแขกเต้า ท่าจีบที่หัวไหล่ ท่าพระอาทิตย์ขึ้น ท่าโยนมือ ท่ายกศพ ท่าจีบยาว ท่าเล่นตัว ท่านิ้วจีน ท่าสาวขนมจีน ท่าถอนต้นกล้า ประกอบบทเพลง ๑๓ เพลง คือ เพลงซอปาต เพลงประโตว เพลงถะบะคาน เพลงปะกรอมทอ เพลงอะวัวตัวห์ เพลงไม่ทราบชื่อเพลง ๑ เพลงไม่ทราบชื่อเพลง ๒ เพลงอะเหยิน เพลงทะแย เพลงฮะว่ายฮะวอนฮะเนิน เพลงแม่งปร่ายฮะเรียง เพลงบอหะนอม และเพลงป๊ากเมียะ
ปัจจัยที่ทำให้เกิดความคลี่คลายเปลี่ยนแปลงของดนตรีและนาฏศิลป์มอญพระประแดง แบ่งเป็น ๒ ประการ คือ ปัจจัยภายในและปัจจัยภายนอก ปัจจัยภายนอก ได้แก่ ปัจจัยจากความเจริญทางด้านสังคมและการประดิษฐ์คิดค้น และความไม่สนใจในวัฒนธรรมท้องถิ่นดั้งเดิมและการถ่ายทอดองค์ความรู้ที่ไม่ครบถ้วน ปัจจัยภายนอก ได้แก่ บริบททางภูมิศาสตร์และสิ่งแวดล้อม
**งานวิจัยนี้ได้รับทุนอุดหนุนการวิจัยจากสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ ประจำปีงบประมาณ ๒๕๕๓