หลักการพื้นฐานการจัดการผลิตและการปฏิบัติการ Basic of Operation Management

หลักการพื้นฐานการจัดการผลิตและการปฏิบัติการ

Basic of Operation Management

บทนำ

ขวัญชัย  ช้างเกิด

 

          ในปัจจุบันความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี และความไม่แน่นอนของสภาวะเศรษฐกิจทั้งระดับโลกและระดับประเทศ รวมถึงปัญหาพลังงานและสิ่งแวดล้อม ได้ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมการผลิตอย่างมาก ทำให้เกิดความท้าทายต่อการจัดการการผลิตสินค้าและบริการมากขึ้น ผู้ประกอบการที่เน้นกระบวนการผลิตสินค้าเป็นหลักจึงต้องเตรียมตัวให้พร้อมต่อทุกสภาวการณ์ ทั้งโอกาสที่เข้ามาพร้อมกับการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศและภูมิภาค และความท้าทายซึ่งรวมถึงวิกฤติที่อาจเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา แต่สิ่งที่จะเกิดขึ้นอย่างแน่นอนในอนาคตอันใกล้คือ ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมจะเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางมีประสิทธิภาพมากขึ้น ทั้งฟังก์ชันการทำงาน การประหยัดพลังงาน และการเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และที่สำคัญคือเวลาการเข้าสู่ตลาด(Time to market) ของสินค้าอุตสาหกรรมจะสั้นลงมาก สิ่งเหล่านี้ทำให้กระบวนการผลิตสินค้านั้นๆจำเป็นต้องมีความเที่ยงตรงแม่นยำ (High precision)สูง ซึ่งต้องอาศัยเครื่องจักรและเทคโนโลยีรวมไปถึงกระบวนการผลิตที่มีประสิทธิภาพสูงขึ้นแต่ในขณะเดียวกัน ปัญหาการขาดแคลนแรงงานและบุคลากรสำหรับภาคอุตสาหกรรมจะมีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ทุกอย่างจะทำให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น

ดังนั้นจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ผู้ประกอบการด้านการผลิตที่จะต้องกระชับระบบการผลิต (Streamline) ของบริษัท เพื่อยกระดับความสามารถในการผลิต (Manufacturing capabilities) ให้เหนือกว่าคู่แข่ง รวมทั้งการลดต้นทุนการผลิต เพื่อสร้างองค์กรให้มีความกะทัดรัดยืดหยุ่น ทันสมัย และพร้อมในการแข่งขันตลอดเวลาอีกด้วย

 

ความหมายของการจัดการผลิตและการปฏิบัติการ

ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 77  กล่าวว่า  การผลิต  หมายถึง ผู้นำการเกษตรแปรรูป  แปรสภาพสินค้า  ให้เกิดมีสินค้าหรือบริการขึ้นมา คือการผลิตต้องทำให้เกิดมีสินค้าหรือบริการออกมา

การผลิต  หมายถึง  การนำปัจจัยการผลิตชนิดต่างๆ ตั้งแต่สองชนิดขึ้นไปมาทำให้เกิดสินค้าและบริการต่างๆ เพื่อสนองความต้องการของมนุษย์  สร้างอรรถประโยชน์ให้กับผู้บริโภค  เพิ่มมูลค่าของสิ่งของให้มีมูลค่าเพิ่มขึ้น Value added   การผลิตอาจใช้ปัจจัยการผลิตน้อยหรือมากตามชนิดของสินค้าและบริการแต่ละชนิด

การผลิต  หมายถึง  การแปรสภาพจากทรัพยากรต่าง ๆ ให้อยู่ในรูปสินค้าหรือบริการ  ให้กลายเป็นผลผลิตที่มีประโยชน์ โดยการเพิ่มมูลค่าให้สูงขึ้น

คําว่า “ปฏิบัติการ” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2525 ได้อธิบายว่า ถ้าเป็นคํากริยา แปลว่า ทํางานตามหน้าที่

การปฏิบัติการ จึงหมายถึง การทํางานตามหน้าที่สําหรับการดําเนินธุรกิจแล้วการทํางานตามหน้าที่นั้นต้องเป็นหน้าที่ที่จะต้องรับผิดชอบในการผลิตสินค้าหรือบริการนําไปเสนอขายต่อตลาด เป้าหมาย

ดังนั้นจากความหมายข้างต้น ของคำว่าการจัดการผลิตและการปฏิบัติการ หมายถึง เป็นการควบคุมกระบวนการของปัจจัยนำเข้าเพื่อให้ได้สินค้าและบริการสำหรับตอบสนองลูกค้าและตลาด

 

ความสำคัญของการจัดการผลิตและการปฏิบัติการ

การผลิตเป็นกระบวนการสร้างสินค้าและบริการเพื่อตอบสนองความต้องการมนุษย์ แต่เนื่องจากปัจจัยด้านวัตถุดิบที่มีอยู่อย่างจำกัดนั้น จึงได้เข้ามาเป็นตัวกำหนดบทบาทในกระบวนการผลิตเป็นอย่างมาก ดังนั้นจึงทำให้เกิดกระบวนการการจัดการผลิตและการปฏิบัติการ เพื่อเป็นการกำกับให้ผลผลิตที่ออกมามีคุณภาพ และตรงตามความต้องการของลูกค้า ตลาด อีกประการหนึ่งยังเป็นการช่วยให้เรานำเอาวัตถุดิบที่มีอยู่ มาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดอีกด้วย โดยการผลิตมีการแปรรูปปัจจัยนำเข้าต่าง ๆ ผ่านกระบวนการที่ทำให้ผลผลิตที่ได้มีมูลค่าเพิ่มขึ้นมากกว่าปัจจัยนำเข้า

ดังนั้นการผลิตจึงเป็นหนึ่งในหน้าที่หลักของการบริหารธุรกิจในการผลิตสินค้าและบริการ ทุกองค์การจะดำเนินการ ที่มีผลโดยตรงต่อความอยู่รอด และต้องสัมพันธ์เกี่ยวกับหน้าที่อื่น อาทิเช่น ความสัมพันธ์ในหน้าที่ของฝ่ายการตลาด ฝ่ายการเงิน และฝ่ายการผลิต ภายในองค์กรธุรกิจใด ๆ ซึ่งเริ่มจาก

ฝ่ายการตลาด (Marketing) ดำเนินการเพื่อตอบสนองอุปสงค์ที่เกิดขึ้นของลูกค้าและเสนอสิ่งที่ลูกค้าต้องการ

ฝ่ายการเงิน (Finance) ดำเนินการเกี่ยวกับการจัดหาเงินทุนการใช้เงินทุน การรวบรวม การบันทึกวิเคราะห์ รายงานข้อมูลทางการเงินจัดสรรเงินทุนทรัพยากร

ฝ่ายการผลิต (Production) ดำเนินการแปรสภาพทรัพยากรการผลิตต่าง ๆให้ออกมาเป็นสินค้าหรือบริการใช้สร้างสิ่งที่ลูกค้าต้องการให้เป็นรูปธรรมขึ้นมา

ซึ่งการดำเนินงานของทั้งสามหน้าที่หลักนี้ ต้องมีประสิทธิภาพเพื่อให้เกิดความเข้าใจในบทบาทหน้าที่ของแต่ละฝ่ายและเอื้อต่อการพัฒนาทักษะที่จำเป็นต่อตำแหน่งที่สูงขึ้นของพนักงาน เพราะฉะนั้นการจัดการผลิตและการปฏิบัติการเป็นส่วนที่มีต้นทุนสูงขององค์กร โดยหากมีการจัดการที่เหมาะสมองค์กรมีโอกาสที่ได้รับกำไรสูงขึ้น

 

นิยามของการจัดการผลิต

การผลิต (Production) อย่างที่กล่าวข้างต้นแล้วว่าเป็นการสร้างสินค้าและบริการ

ดังนั้นในนิยามนี้ การจัดการการปฏิบัติการ (Operations management; OM) กิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการสร้างมูลค่าในรูปของสินค้าและบริการโดยอาศัยกระบวนการแปรรูปหรือแปรสภาพโดยมี ปัจจัยนำเข้า (inputs) เช่น วัตถุดิบเข้ากระบวนผลิต ให้ออกมาเป็นปัจจัยนำออก (outputs) คือสินค้าและบริการ

 

ดังนั้นกิจกรรมการสร้างสินค้าและบริการ เกิดขึ้นในทุก ๆ องค์กร ทั้งผลผลิตที่สามารถจับต้องได้หรือไม่สามารถจับต้องได้ อย่างเช่น

กิจกรรมการผลิตที่จับต้องได้ (Tangible product) เช่น โทรศัพท์ยี่ห้อ Samsung รถยนต์ยี่ห้อ Toyota และ มันฝรั่งทอดกรอบ ยี่ห้อ เลย์

กิจกรรมที่ไม่สามารถจับต้องได้ คือกิจกรรมการผลิตของธุรกิจที่ให้การบริการ (Services) เช่น ธนาคาร โรงแรม สายการบิน เป็นต้น ตัวอย่างของการให้บริการ เช่น การโอนเงินของธนาคาร การเข้าพักในโรงแรม หรือการจัดที่นั่งผู้โดยสารของสายการบิน

 

ประวัติความเป็นมาของการจัดการผลิตและการปฏิบัติการ

 

       วิวัฒนาการของการผลิตตั้งแต่โบราณกาลในยุคประวัติศาสตร์ที่สำคัญ เช่น การสร้าง ปิรามิดของอียิปต์ การสร้างกำแพงเมืองจีนของประเทศจีน ซึ่งมีการใช้เทคโนโลยีและการกะเกณฑ์แรงงาน ตลอดจนเครื่องไม้เครื่องมือต่าง ๆ มาร่วมกันทำการผลิต แต่ก็ไม่มีแนวคิดเกี่ยวกับวิธีการบริหารอย่างมีหลักเกณฑ์ สำหรับการผลิตเพื่อการค้าขายแลกเปลี่ยนก็ทำอย่างง่าย ๆ โดยใช้ที่อยู่อาศัยเป็นที่ทำการผลิต งานที่ทำก็ใช้แรงงานคนและทำคนเดียวตั้งแต่เริ่มจนเสร็จ สินค้าที่ทำมักจะมีเอกลักษณ์เฉพาะของตนโดยไม่มีมาตรฐานใด ๆ เป็นข้อกำหนด จนกระทั่งคริสต์ศตวรรษที่ 18 ได้เกิดการปฏิวัติอุตสาหกรรมขึ้นในยุโรป โดยมีการใช้เครื่องจักรอัตโนมัติแทนแรงงานคน เครื่องจักรยุคนั้นจะใช้พลังงานไอน้ำ ซึ่งคิดค้นโดย James Watt คนงานจะต้องทำงานอย่างเป็นระบบภายในโรงงาน ในขณะเดียวกัน  Adam Smith (ค.ศ. 1776) ก็คิดค้นทฤษฏี “The Wealth of Nations” ซึ่งจะแบ่งงานออกเป็นส่วนย่อยหลายส่วนให้คนงานแต่ละคนทำเฉพาะงานส่วนที่ตนถนัดและมีความชำนาญ และเครื่องจักรก็ถูกพัฒนาให้เป็นเครื่องจักรใช้เฉพาะงาน นอกจากนั้นเพื่อทำให้ต้นทุนการผลิตชิ้นส่วนลดลงและเกิดขนาดการผลิตที่ประหยัด Eli Whitney (ค.ศ. 1790) ได้คิดค้นชิ้นส่วนที่แลกเปลี่ยนกันได้ (Interchangeable Parts) ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการผลิตอย่างมีมาตรฐานพร้อมกับการพัฒนาระบบการควบคุมและระบบบัญชีต้นทุนขึ้นมาใช้

            ในยุคต่อมาช่วงต้น ค.ศ. 1900 ได้มีหัวหน้าวิศวกรในโรงงานเหล็กชื่อ Frederick W. Taylor ได้พัฒนาการบริหารเชิงวิทยาศาสตร์ (Scientific Management) ที่ว่าด้วยการค้นหาวิธีการทำงานอย่างเป็นมาตรฐานและการจูงใจให้คนงานทำงานอย่างมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น แนวคิดนี้ถูกนำไปขยายโดย Frank และ Lillian Gilbreth, Henry Genry Gantt และ Henry Ford ผู้ประดิษฐ์รถยนต์คนแรกของโลก โดยเฉพาะการผลิตรถยนต์ Ford รุ่น Model T. ที่สามารถลดเวลาในการประกอบรถยนต์จาก 720 ชั่วโมง ลงเหลือ 1 ชั่วโมงครึ่ง ซึ่งทำได้โดยการผลิตอย่างเป็นมาตรฐานในปริมาณสูง ซึ่งเรียกว่า การผลิตแบบมวลรวม (Mass Production)

            หลังจากให้หลักการทางวิทยาศาสตร์ ในการบริหารงานตลอดมา พบว่าคนงานบางส่วนไม่ตอบสนองกับวิธีการดังกล่าว จึงเริ่มมีการศึกษาด้านจิตใจของคน ดังนั้นในยุคต่อมาซึ่งเรียกว่า ยุคการบริหารทรัพยากรมนุษย์ (Human Relation) เมื่อ ค.ศ. 1930 ได้มีการทดลองทางจิตวิทยาที่มีชื่อเสียงมากก็คือ การทดลองที่โรงงาน   ฮอว์ธอร์น (Hawthorne Studies) เป็นการทดลองเพื่อศึกษาระดับของแสงสว่างในที่ทำงานที่มีต่อการเพิ่มผลผลิต โดยการแบ่งกลุ่มทดลองเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรกทำงานโดยเพิ่มแสงสว่างให้มากขึ้น กลุ่มที่สองคงระดับแสงสว่างเท่าเดิม ปรากฏว่าทั้งสองกลุ่มมีผลผลิตเพิ่มขึ้น เมื่อทดลองลดระดับแสงสว่างลงปรากฏว่าผลผลิตก็ยังเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จึงสรุปว่าไม่เพียงแต่ปัจจัยทางกายภาพ เช่น แสงสว่าง อุณหภูมิ เสียง ความชื้นฯลฯ จะมีผลต่อคนงานเท่านั้น แต่ขวัญและกำลังใจก็มีส่วนช่วยให้คนงานทำงานอย่างเต็มอกเต็มใจ และทำให้สามารถเพิ่มผลผลิตในการทำงานได้ ภายหลังสงครามโลกครั้งที่สอง (ค.ศ. 1940 – 1960) สหรัฐอเมริกาได้มีบทบาทเพิ่มขึ้นในสังคมโลกกลายเป็นประเทศผู้นำทางอุตสาหกรรม วิทยาการและเทคโนโลยีใหม่ได้ถูกนำมาใช้กับการผลิต เช่น ตัวแบบจำลอง (Simulation) โปรแกรมเชิงเส้น การวิจัยขึ้นดำเนินงาน ฯลฯ วิวัฒนาการของอุตสาหกรรมได้เปลี่ยนโฉมหน้าใหม่ โดยการใช้คอมพิวเตอร์หรือสมองกลในการวางแผนและควบคุมระบบการทำงาน ซึ่งทำให้สามารถลดการใช้แรงงานคนลงได้อย่างมาก

            เมื่อ ค.ศ. 1970 เป็นต้นมา ญี่ปุ่นกลับมามีบทบาทในวงการอุตสาหกรรมของโลกเป็นอย่างสูง ญี่ปุ่นประสบความสำเร็จเป็นอย่างมากในการเข้าสู่ตลาดสินค้าของสหรัฐอเมริกา และประเทศอื่น ๆ ทั่วโลกด้วยสินค้าภายใต้ยี่ห้อขั้นนำ เช่น SONY, PANASONIC, JVC, TOYOTA, NISSAN, HONDA, MITSUBISHI ฯลฯ ระบบการบริหารงานของญี่ปุ่นอันได้แก่ การบริหารการผลิตแบบทันเวลาพอดี (Lean production หรือ Just-in-time Production) และการบริหารคุณภาพสมบูรณ์แบบ (Total Quality Management) เป็นที่นิยมใช้กันอย่างแพร่หลายกันทั่วโลก ในคริสต์ศตวรรษที่ 21 และแนวโน้มในอนาคต ข้อมูลข่าวสารจะมีบทบาทต่อการบริหารการผลิตเป็นอย่างมาก ด้วยการใช้การรวมระบบการผลิตโดยคอมพิวเตอร์ (Computer-integrated Manufacturing หรือ CIM) การแลกเปลี่ยนข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Data Interchange หรือ EDI) และเวิลด์ไวด์เว็บ (World Wide Web) ประกอบกับกระแสของโลกาภิวัตน์ (Globalization) จะทำให้สามารถสร้างเครือข่ายของการติดต่อสื่อสารที่ทันสมัยด้วยเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าได้

ดังนั้นจึงสามารถแยกเป็นยุคที่คำนึงถึงลูกค้าเป็นหลักได้อย่างชัดเจนดังต่อไปนี้

 

การเน้นต้นทุนเป็นหลัก

แนวคิดในยุคเริ่มแรก ปี ค.ศ. 1776-1880

      •การใช้คนตามความชำนาญเฉพาะด้าน (Smith, Babbage)

      •ชิ้นส่วนมาตรฐาน (Whitney)

       •ยุคการจัดการทางวิทยาศาสตร์ ค.ศ. 1880-1910

       •แผนภูมิแกนต์ (Gantt)

       •การศึกษาเวลาและความเคลื่อนไหว (Gilbreth)

       •การวิเคราะห์กระบวนการ (Taylor)

       •ทฤษฎีแถวคอย (Erlang)

 

ยุคการผลิตจำนวนมาก ค.ศ. 1919-1980

     •การเคลื่อนย้ายชิ้นส่วนผ่านสายการผลิต (Ford/Sorensen)

     •การสุ่มตัวอย่างเชิงสถิติ (Shewhart)

     •ปริมาณการสั่งซื้อที่ประหยัด (Harris)

     •โปรแกรมเชิงเส้นตรง (Dupont)

     •การวางแผนความต้องการวัสดุ (MRP)

 

การเน้นความต้องการลูกค้าเป็นหลักเป็นหลัก

ยุคการผลิตแบบลีน ค.ศ. 1980 -1995

          ระบบการผลิตแบบทันเวลา (JIT)

          การประยุกต์คอมพิวเตอร์ช่วยในการผลิต (CAD)

          การแลกเปลี่ยนข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์ (EDI)

          การจัดการคุณภาพโดยรวม (TQM)

          รางวัลคุณภาพ

          การมอบอำนาจให้พนักงาน

          ระบบคัมบัง

 

การเน้นความต้องการลูกค้าเป็นหลักเป็นหลัก

ยุคการตอบสนองผู้บริโภคมากราย ค.ศ. 1995 -2010

          โลกาภิวัฒน์

          อินเตอร์เน็ต

          การวางแผนทรัพยากรองค์กร

          องค์การการเรียนรู้

          มาตรฐานคุณภาพระหว่างประเทศ

          ระบบการผลิตแบบคล่องตัว

          พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์

 

แนวโน้มในอนาคตจากพัฒนากระบวนการผลิต

การแข่งขันของธุรกิจอุตสาหกรรมการผลิตมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นเพิ่ม ทำให้ขอบเขตของการแข่งขันขยายตัวจากระดับท้องถิ่น ระดับประเทศ ไปสู่ระดับนานาชาติ การติดต่อสื่อสารที่ทันสมัยทำให้คนในโลกนี้ใกล้กันมากขึ้นจึงเป็นผลให้ผู้บริโภคได้รับข่าวสารข้อมูลเกี่ยวกับสินค้าและบริการที่หลากหลาย ทำให้มีทางเลือกมากยิ่งขึ้น การจัดการผลิตและปฏิบัติการจึงต้องพยายามปรับปรุงเพิ่มผลิตภาพและพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ให้ดึงดูดใจลูกค้ามากยิ่งขึ้น ทำให้กระแสโลกาภิวัฒน์เข้ามามีอิทธิพลต่อการหาแหล่งวัตถุดิบ แหล่งเงินและตลาดของผลิตภัณฑ์ การผลิตไม่จำเป็นที่จะต้องใช้วัตถุดิบในประเทศที่แพงกว่าถ้ามีแหล่งอื่นที่ถูกกว่า ธุรกิจสามารถย้ายฐานการผลิตไปอยู่ในประเทศที่ค่าแรงคนงานต่ำกว่า เพื่อลดต้นทุนการผลิต หรือเพื่อหลีกเลี่ยงข้อจำกัดของการกีดกันทางการค้า กลยุทธ์การรวมตัวกันทางธุรกิจ ในปัจจุบันการดำเนินธุรกิจมีลักษณะเป็นเครือข่าย (Network) ที่เชื่อมโยงกันตั้งแต่ผู้ขาย ผู้ผลิต ผู้จัดจำหน่าย ผู้ค้าส่ง ผู้ค้าปลีก จนถึงลูกค้าที่เป็นผู้ใช้ การรวมตัวภายในอุตสาหกรรมเดียวกันในรูปแบบพันธมิตรทางกลยุทธ์ (Strategic Alliance) ก่อให้เกิดอำนาจต่อรองกับคู่ค้ามากยิ่งขึ้น

ดังนั้นแนวโน้มในอนาคตจากพัฒนากระบวนการผลิตที่หน้าสนใจดังนี้

 

แนวโน้มในอนาคตจากพัฒนากระบวนการผลิต
จาก
เป็น
มุ่งเน้นท้องถิ่นหรือประเทศ
มุ่งเน้นระดับโลก
การจัดส่งเป็นกลุ่มจำนวนมาก 
การจัดส่งสินค้าแบบทันเวลาพอดี
การซื้อโดยการประมูลราคาต่ำ
การเป็นหุ้นส่วนในห่วงโซ่อุปทาน การวางแผนทรัพยากรองค์กร พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์
การพัฒนาผลิตภัณฑ์ใช้เวลานาน
การพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่รวดเร็ว ความร่วมมือทางด้านการออกแบบ
สินค้ามาตรฐาน
การมุ่งเน้นความต้องการของผู้บริโภคมากราย
งานที่มีความชำนาญเฉพาะด้าน
การมอบอำนาจให้พนักงาน การทางานเป็นทีม และการผลิตแบบลีน
ตารางที่ 1.1 แนวโน้มในอนาคตจากพัฒนากระบวนการผลิต

 

คุณลักษณะของการบริการ

การบริการลูกค้า (Service) เป็นการส่งมอบบริการที่ดีที่สุดให้ลูกค้า แต่เป็นการส่งมอบบริการตามความต้องการของลูกค้า เพื่อให้ลูกค้าที่ได้รับบริการไปแล้วเกิดความพึงพอใจ  เพราะว่าการส่งมอบบริการที่ดีที่สุด อาจต้องลงทุนสูง ในองค์ประกอบหลายๆด้าน เช่น ในการหาพนักงาน การอบรมพนักงาน การตกแต่งสถานที่ให้บริการ การใช้เทคโนโลยีช่วยในการการบริการ รวมทั้งลูกค้ามีหลายกลุ่ม หากเราให้บริการอย่างดีที่สุดแก่ลูกค้าที่มิใช่เป้าหมายบริษัท อาจได้ผลเสีย เช่น ขาดทุน เพราะลูกค้าเป้าหมายอาจไม่ใช้บริการก็เป็นได้ การบริการเป็นสิ่งที่ไม่มีตัวตน จับต้องไม่ได้

ดังคุณลักษณะของการบริการ ดังนี้

 

1.       การบริการมักเป็นการผลิตและบริโภคในเวลาเดียวกัน

2.       การบริการมักเป็นสิ่งที่มีคุณลักษณะเฉพาะตัว             

3.       การบริการเป็นสิ่งที่มีปฏิสัมพันธ์กับลูกค้าสูง

4.       การบริการมีคุณลักษณะไม่คงที่                                            

5.       การบริการมักเกี่ยวข้องกับฐานความรู้

6.       การบริการมีการกระจายตัวในหลายแนวทาง

หน้าที่ของฝ่ายผลิตและการปฏิบัติการ

ผู้จัดการฝ่ายผลิตต่างมีภาระหน้าที่มากมายในการพัฒนา แก้ไข และปรับปรุงกระบวนการผลิตของบริษัทให้มี ผลิตภาพและประสิทธิภาพสูงสุด โดยการนำเทคโนโลยีต่าง ๆ มาเป็นเครื่องมือในการทำงานซึ่งจะช่วยให้เป็นผู้จัดการฝ่ายผลิตยุคใหม่ ได้อย่างสมบูรณ์แบบ โดยจะมีภาระหน้าที่แยกออกเป็นงานหลักๆ ดังต่อไปนี้

1.       การออกแบบบริการและผลิตภัณฑ์ (Service and Product Design)

2.       การจัดการคุณภาพ (Quality Management)

3.       การออกแบบกระบวนการและกำลังการผลิต (Process and Capacity Design)

4.       การเลือกทำเลที่ตั้งสถานประกอบการ (Location)

5.       การวางผังสถานประกอบการ (Layout Design)

6.       ทรัพยากรมนุษย์และการออกแบบงาน (Human Resources and Job Design)

7.       การจัดการโซ่อุปทาน (Supply-Chain Management)

8.       สินค้าคงคลัง การวางแผนความต้องการวัสดุและแนวคิดแบบทันเวลาพอดี (Inventory, Material Requirements Planning and JIT (Just-in-Time)

9.       การกำหนดตารางเวลาการทางานระยะสั้นและระยะกลาง (Intermediate and Short-Term Scheduling)

10.   การบำรุงรักษา (Maintenance)

 

ดังนั้นหน้าที่ในการปรับปรุงกระบวนการผลิตนั้น ต้องการข้อมูลที่ดี แต่สิ่งที่สำคัญอย่างยิ่ง คือ ข้อมูลนั้นได้มาจากไหน และเราสามารถเข้าถึงได้เพียงใด มีความแม่นยำขนาดไหน และนั้นเป็นสิ่งที่ผู้จัดการฝ่ายผลิตทุกท่านต่างตระหนักเป็นอย่างดี การใช้เครื่องมือเหล่านี้จะช่วยให้เป็นผู้จัดการฝ่ายผลิตที่มีความเข้าใจในกระบวนการในการระบุปัญหา เพื่อพัฒนาปรับปรุงได้อย่างมีประสิทธิภาพ ข้อมูลเหล่านี้จะทำให้ทุกแผนกสามารถช่วยกันค้นหาและแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ได้อย่างรวดเร็วอีกด้วย

 

การปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต

          การเพิ่มผลผลิตในองค์การที่สำคัญ เป็น กระบวนการลดต้นทุนการผลิตและเพิ่มคุณค่าให้กับผลิตภัณฑ์ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการเพิ่มผลผลิต คือ ทรัพยากรที่ใช้  การเพิ่มผลผลิตที่ดีนั้นองค์การต้องผลิตสินค้าและบริการที่มีคุณภาพตรงตามความต้องการด้วยขั้นตอนและวิธีควบคุมการผลิต การสร้างคุณค่าแลพะความเชื่อถือที่สร้างความพอใจให้กับลูกค้าด้วยคุณภาพที่ดีสม่ำเสมอ ซึ่งจะส่งผลถึงการเพิ่มผลผลิตโดยรวมขององค์การในที่สุด สามารถดำเนินการได้หลายวิธี คือ

          1) Efficient ผลผลิตเพิ่มขึ้นในขณะที่ปัจจัยนำเข้าเท่าเดิมหรือเพิ่มขึ้นเล็กน้อย

          2) Downsize ผลผลิตเท่าเดิมแต่ใช้ปัจจัยนำเข้าลดลง

          3) Expand ผลผลิตเพิ่มขึ้น เร็วกว่า การเพิ่มขึ้นของปัจจัยนำเข้า

          4) Retrench ผลผลิตลดลง แต่ช้ากว่า การลดลงของปัจจัยนำเข้า

          5) Breakthroughs ผลผลิตเพิ่มขึ้นในขณะที่ปัจจัยนำเข้าลดลง

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

เอกสารอ้างอิง

 

ปิยพล พลเยี่ยม. (2560).ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับการผลิต.[ออนไลน์] http://phalit-thai.tripod.com/about/18.html [สืบค้นเมื่อ 8สิงหาคม2562].

พิสิทธิ์  พิพัฒน์โภคากุล.(2550)การบริการอย่างมีคุณภาพ (Service Quality). [ออนไลน์] http://www.impressionconsult.com/web/index.php/articles/161-servicequality.html [สืบค้นเมื่อ 8สิงหาคม2562].

Jay Heizer & Barry Render.(2551) การจัดการผลิตและปฏิบัติการ : Operations Managementแปลและเรียบเรียงโดย จิณตนัยไพรสณฑ์และคณะ. กรุงเทพฯ : เพียร์สัน เอ็คดูเคชัน อินโดไชน่า.

Logisticafe. (2552). ผลิตภาพ (Productivity) คืออะไร. [ออนไลน์] https://www . logisticafe .com/2009/09/productivity/ [สืบค้นเมื่อ 1สิงหาคม2562].