สุนทรียะในตัวพิมพ์ “ศรีสุริยวงศ์ (Sri Sury Wongse)” [ วิ สิ ท ธิ์ โ พ ธิ วั ฒ น์ ]
ผลงานออกแบบตัวพิมพ์ชื่อ “ศรีสุริยวงศ์ (Sri Sury Wongse)” ออกแบบขึ้นในวาระครบรอบ “150 ปี ศรีสุริยวงศ์ ผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน” เพื่อใช้เป็นตัวพิมพ์สำหรับสื่อสารอัตลักษณ์ในโครงการเสนอชื่อสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) เป็นบุคคลสำคัญของโลก เป็นโครงการภายใต้การดำเนินงานของมหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา ที่ได้ตระหนักถึงคุณูปการของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) ซึ่งเป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดินในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) เป็นผู้มีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาประเทศหลายด้าน ทั้งด้านส่งเสริมสันติวัฒนธรรม การสร้างความยอมรับจากนานาชาติ การวางรากฐานความเจริญให้แก่ประเทศ และการให้การศึกษาแก่ประชาชน สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) ได้ให้ความสำคัญกับการจัดการศึกษาให้แก่ปวงชน โดยส่งเสริมให้มีการพิมพ์หนังสือ (โรงพิมพ์หมอบรัดเลย์ ย่านบางกอกใหญ่) และอำนวยการให้มีการแปลหนังสือวรรณกรรมหลายเรื่อง ถือเป็นกุศโลบายสำคัญในการให้การศึกษาแก่คนในสังคม
ผลงานออกแบบฟอนต์ศรีสุริยวงศ์ ออกแบบให้สะท้อนบุคลิกลักษณะ แนวคิดการทำงานของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) ซึ่งมีบุคลิกของบุคคลที่มีแนวคิดก้าวหน้า สง่างาม โดยการทำงานได้มีความพยายามประสานวัฒนธรรมความเป็นตะวันออกเข้ากับความเป็นตะวันตกเพื่อกุศโลบายให้คนต่างวัฒธรรมยอมรับนับถือคนไทย ดังนั้นผลงานออกแบบจึงนำเสนอรูปแบบที่มีความผสมผสานระหว่างอักษรละตินดั้งเดิมที่มีฐานหรือมีเชิง ลดรูปอักษรไทยให้โครงสร้างรับกับโครงสร้างอักษรละติน เช่น การลดรูปของหัวกลมตามแบบอักษรไทยดั้งเดิมลง กำหนดรูปแบบให้มีอารมณ์ความรู้สึกระหว่างความเก่าและแบบใหม่ที่ท้ายทาย โดยการอุปมาอุปไมยจากแนวคิดของสมเด็จเจ้าพระยาฯ ที่พยายามจะดำรงสถานะความเป็นชาติไทย รักษาดุลยภาพความเป็นชาติแต่ไม่ละทิ้งกระแสการเปลี่ยนแปลงของโลก เป็นผลให้สยามในยุคนั้นรอดปลอดภัยจากการรุกรานของชาติตะวันตก
องค์ประกอบอัตลักษณ์ตัวอักษรทั้งไทยและละติน หรือเรียกว่าอีกอย่างหนึ่งว่า Visual Gramma หมายถึงชิ้นส่วนที่ใช้ประกอบกันขึ้นเป็นพยัญชนะต่างๆ เช่น ส่วนหัวอักษร เส้นตั้ง เส้นนอน ปลายหาง เป็นต้น ซึ่งผลการออกแบบองค์ประกอบอัตลักษณ์ตัวพิมพ์ศรีสุริยวงศ์ เอกลักษณ์ของตัวพิมพ์ศรีสุริยวงศ์ พบว่าปลายเส้นอักษรออกแบบให้มีลักษณะกึ่งมีฐาน (serif) ตามรูปแบบอักษรละตินซึ่งเป็นมิติที่อุปมาอุปมัยถึง การผสานกันระหว่างแนวคิดแบบตะวันออกและตะวันตก ตามแนวคิดของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) ในการออกแบบตัวพิมพ์ศรีสุริยวงศ์นั้นมีการการออกแบบอักษรพิเศษ (Ligature) เพื่อใช้แก้ปัญหาระยะการจัดช่องไฟ (Kerning) ให้เกิดระยะที่สวยงามของคู่อักษรบางคู่ของกลุ่มอักษรละติน เช่น ff fl fi เป็นต้น นอกจากนี้ยังใช้เทคนิกอักษรพิเศษเพื่อแก้ปัญหาการทับซ้อนกันของโครงสร้างอักษรบางตัว เช่น gy เป็นต้น หรือทำให้เกิดศิลปะการพิมพ์ที่มีสุนทรียภาพในคู่อักษรที่เหมาะสม
ในชุดของตัวพิมพ์ศรีสุริยวงศ์ สำหรับตัวพิมพ์ไทยและตัวพิมพ์อังกฤษ (ตัวละติน) ประกอบด้วย 4 รูปแบบ ได้แก่
1) ตัวพิมพ์แบบตัวปกติ (Regular) รูปแบบอักษรพื้นฐาน สำหรับงานออกแบบที่ต้องการความเรียบร้อย มักใช้ในการพิมพ์โดยทั่วไป
2) ตัวพิมพ์แบบตัวเอียง (Italic) รูปแบบอักษรที่เอนไปทางด้านขวาเล็กน้อย สำหรับงานออกแบบที่ต้องการให้งานมีบุคลิกที่ดูนุ่มนวล สามารถใช้เมื่อต้องการเพิ่มบริบทหรือเน้นข้อความที่มีความสำคัญไม่มากนัก หรือการพิมพ์ตัวอักษรจำนวนมากโดยไม่ทำให้ยากต่อการอ่าน
3) ตัวพิมพ์แบบตัวหนา (Bold) รูปแบบอักษรที่มีเส้นหนากว่าตัวปกติ ใช้เพื่อเน้นข้อความที่สำคัญ หรือพิมพ์เป็นหัวเรื่อง ทำให้งานออกแบบดูมีน้ำหนักและมีความหนาแน่นมากขึ้น ทำให้งานออกแบบมีบุคลิกที่ดูหนักแน่น
4) ตัวพิมพ์แบบตัวหนามาก (Heavy) รูปแบบอักษรที่มีเส้นหนามากกว่าตัวหนา มักใช้เพื่อเน้นข้อความที่สำคัญมาก หรือใช้พิมพ์เป็นหัวเรื่อง ทำให้งานออกแบบดูมีน้ำหนักและมีความหนาแน่นมาก
ความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ (Creativity) / การเป็นต้นแบบที่แตกต่าง (Originality)
ตัวพิมพ์ศรีสุริยวงศ์เป็นการออกแบบอักษรไทยให้สามารถสื่อสารอัตลักษณ์ไทยที่มีความสากล เพื่อใช้งานในประเภทการสื่อสารที่ต้องการสร้างบุคลิกของสื่อแบบหรูหรา ร่วมสมัย โดยพัฒนาแบบอักษรจากบุคลิกของบุคคลในประวัติศาสตร์ที่เคยสร้างคุณประโยชน์ต่อประเทศชาติ อีกทั้งบุคคลดังกล่าวนั้นก็พยายามที่สร้างความทันสมัยให้แก่สยามในครั้งอดีต ดังนั้น ตัวพิมพ์ศรีสุริยวงศ์จึงเป็นทั้งตัวแทนและความพยายามที่จะอธิบายภูมิทัศน์ความเป็นไทยทั้งในอดีตและปัจจุบันที่สามารถปรับตัวและเข้ากันได้ดีกับสังคมโลก ในขณะที่ยังคงความโดดเด่น (ความเป็นไทย) ในตนเองอีกด้วย นอกจากนี้ การออกแบบได้ลดความเป็นแฟชั่นลง เน้นฟอร์มอักษรที่สามารถคงอยู่ได้นานแม้ผ่านกาลเวลา รองรับน้ำเสียงข้อมูล แบบทางการ กึ่งทางการที่หลากหลาย อีกทั้งรองรับภาษาของโลกหลายภาษา
ความงดงาม (Aesthetics)
ตัวพิมพ์ศรีสุริยวงศ์ออกแบบให้มีบุคลิกไทยร่วมสมัย นำเสนอองค์ประกอบของตัวอักษรตามวัตถุประสงค์ที่ต้องการสื่อสารความสง่างาม การนำเสนอความเป็นไทยในท่วงท่าสากลนิยม ตามแนวคิดการทำงานของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์
ตัวอักษรหรือตัวพิมพ์เป็นส่วนหนึ่งที่มีสำคัญต่อการออกแบบสื่อสาร ตัวอักษรช่วยกำหนดโทนเสียงในผลงานออกแบบ ด้วยรูปแบบที่มีให้ใช้งานได้ถึง 4 รูปแบบ ได้แก่ ตัวพิมพ์แบบตัวปกติ (Regular) ตัวพิมพ์แบบตัวเอียง (Italic) ตัวพิมพ์แบบตัวหนา (Bold) ตัวพิมพ์แบบตัวหนามาก (Heavy) ตัวพิมพ์ศรีสุริยวงศ์มีความพิถีพิถันในการเป็นเครื่องมือถ่ายทอดความคิดสร้างสรรค์ของนักออกแบบ และสร้างพลังให้งานออกแบบกราฟิกสื่อสาร ด้วยการออกแบบตัวพิมพ์ที่มีความประณีตบรรจง ระมัดระวังในการแสดงออกซึ่งบุคลิกของตัวอักษรที่ให้ลักษณะไทยร่วมสมัยในท่าทีที่พอเหมาะพอดี ไม่มีเส้นองค์ประกอบที่รกรุงรัง ทำให้มีบุคลิกที่ดูคลาสสิค สง่างาม รองรับความคิดสร้างสรรค์ของนักออกแบบในวัตถุประสงค์ของการออกแบบที่หลากหลาย
การมีประโยชน์ใช้สอยที่ดี (Utilization)
ตัวพิมพ์ศรีสุริยวงศ์ได้ออกแบบโดยคำนึงถึงประโยชน์ใช้สอยที่สะดวกสบาย ผู้ใช้งานตัวพิมพ์ศรีสุริยวงศ์สามารถใช้งานได้อย่างหลากหลาย ดังนี้
ประเด็นที่หนึ่งด้านซอฟแวร์: ตัวพิมพ์ศรีสุริยวงศ์ มีน้ำหนักของไฟล์ขนาดเบา เช่น WebFont Formats (WOFF) Lite Kit Size 28 KB เป็นต้น ตัวพิมพ์นี้รองรับระบบปฏิบัติการคอมพิวเตอร์ Mac และ Window สามารถใช้ในงานออกแบบได้หลากหลายประเภททั้ง Desktop, WebFont, ePub และ Mobile App เป็นต้น ตัวพิมพ์ศรีสุริยวงศ์รองรับหลากหลายภาษา เช่น Basic Latin, Western European, Euro, Pan African Latin, Latin Ligatures, และภาษาไทย
ประเด็นที่สองด้านการออกแบบ: ตัวพิมพ์ศรีสุริยวงศ์ได้ออกแบบโดยคำนึงถึงลักษณะตัวอักษรที่สามารถใช้งานได้หลากหลายในขอบข่ายการออกแบบสื่อสารที่เน้นรูปแบบทางการและกึ่งทางการ มีลักษณะความเป็นไทยสากล ตัวพิมพ์ศรีสุริยวงศ์มีหลายน้ำหนักและหลายรูปแบบ เพื่อประโยชน์ใช้สอยที่แตกต่างกัน ประกอบด้วย 3 น้ำหนัก 4 รูปแบบ : รูปแบบปกติ (Regular) รูปแบบเอียง (Italic) รูปแบบหนา (Bold) และรูปแบบหนามาก (Heavy) เหมาะสำหรับการใช้งานเป็นอักษรหัวเรื่อง (Display Type) ที่มีบุคลิกไทยร่วมสมัย และสง่างาม อีกทั้งยังสามารถใช้ฟอนต์นี้ในการแสดงเนื้อความ (Body Text) (กรณีข้อมูลนั้นๆ ไม่มากนัก) นอกจากนี้ยังได้ออกแบบตัวเลือกเสริมที่เป็นอักษรพิเศษ (Ligature) ทำให้ตัวพิมพ์ได้รับการแก้ปัญหาเรื่องช่องไฟสำหรับอักษรบางคู่ ตัวพิมพ์ศรีสุริยวงศ์ออกแบบโดยคำนึงถึงรูปแบบที่ให้ประสิทธิภาพการใช้งานในระยะยาว ไม่เป็นแฟชั่น ไม่ล้าสมัยง่าย โดยผู้ออกแบบใช้องค์ประกอบที่มีความระมัดระวัง เรียบง่าย ไม่ประดับประดา สำหรับการคงไว้ซึ่งธรรมเนียมที่ดีด้านการออกแบบตัวอักษร การออกแบบได้ตระหนักถึงความถูกต้องตามระเบียบแบบแผนการเขียนอักษรหรือพยัญชนะต่างๆ ขณะเดียวกันก็ได้ให้ความสำคัญกับการสร้างสรรค์รูปแบบอักษรให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของการใช้งาน