บทคัดย่อ
สังคมโลกปัจจุบันกำลังเผชิญกับสถานการณ์สูงวัยของประชากร เนื่องจากแนวโน้มผู้สูงอายุมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น แต่ประชากรวัยเด็ก (อายุต่ ากว่า 15 ปี) ลดต่ำลง สำหรับประเทศไทยมีสัดส่วนประชากรผู้สูงอายุมากเป็นอันดับสองของอาเซียนรองจากประเทศสิงคโปร์ และในปี พ.ศ.2564 ประเทศไทยจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ (Aged Society) โดยมีผู้สูงอายุ 20% การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรดังกล่าวส่งผลกระทบอย่างกว้างขวาง เช่น งบประมาณของรัฐบาล การจ้างงาน ผลิตภาพของแรงงาน ผลต่อตลาดผลิตภัณฑ์และบริการด้านต่าง ๆ โดยเฉพาะด้านการเงินและด้านสุขภาพ เป็นต้น จึงเป็นประเด็นที่ภาครัฐให้ความสำคัญจึงได้กำหนดนโยบาย แผนงานและมาตรการต่าง ๆ เพื่อเตรียมความพร้อมรองรับสังคมผู้สูงอายุ ดังนั้น การเตรียมความพร้อมเป็นเรื่องสำคัญ ควรจะร่วมมือกันทั้งภาครัฐและเอกชน การก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุแม้ว่ามีจำนวนผู้สูงอายุเพิ่มมากขึ้นแต่ผู้สูงอายุนี้เป็นกลุ่มประชากรที่มีอำนาจต่อรองในการซื้อสูงและมีศักยภาพในการบริโภค จึงสะท้อนให้เห็นโอกาสและความท้าทายทางธุรกิจที่ยั่งยืน เช่น การท่องเที่ยวเชิงคุณภาพ อาหารเพื่อสุขภาพ ความงามเพื่อการชะลอวัย นวัตกรรมเพื่อส่งเสริมและฟื้นฟูสุขภาพของผู้สูงอายุ บริการเดลิเวอรี ฟิตเนสเทรนเนอร์เฉพาะทางสำหรับผู้สูงอายุ เป็นต้น ดังนั้น ผู้บริหารของธุรกิจจะต้องมีการเตรียมความพร้อม เพื่อแสวงหาผลประโยชน์จากโอกาสทางธุรกิจของสังคมผู้สูงอายุดังกล่าว เพื่อการขยายงานของธุรกิจให้เป็นไปอย่างต่อเนื่องอย่างยั่งยืน
คำสำคัญ : สังคมผู้สูงอายุ ธุรกิจที่ยั่งยืน