ผู้ช่วยศาสตราจารย์ตั้งปณิธาน อารีย์
สะล้อ: เครื่องดนตรีพื้นบ้านล้านนา บริบทและการบำรุงรักษา
สะล้อ เป็นเครื่องดนตรีพื้นบ้านประเภทเครื่องสี การกำเนิดเครื่องดนตรีชนิดนี้มีพัฒนาการมายาวนาน สะล้อในสารานุกรมวัฒนธรรมไทยภาคเหนือ กล่าวถึงสะล้อว่าเป็นเครื่องดนตรีประเภทสีของล้านนา มีลักษณะคล้ายกับซออู้ของไทยภาคกลาง มีคันชักเรียกว่าสายก๋งอยู่นอกสายสะล้อ ในประวัติศาสตร์สืบค้นเรื่องสะล้อ พบในนิราศหริภุญชัย เรียกเครื่องดนตรีชนิดนี้ว่า “ธะล้อ”
สะล้อมี 2 รูปแบบคือ สะล้อกลมและสะล้อก๊อบ ในส่วนของสะล้อกลมนิยมบรรเลงในจังหวัดเชียงราย เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง แม่ฮ่องสอน พะเยา และสะล้อก๊อบนิยมใช้บรรเลงใน 2 จังหวัดคือ จังหวัดแพร่ และน่าน เท่านั้น สะล้อมีปรากฎในหลักฐานจารึกใบลานใน พ.ศ.2339 (สนั่น ธรรมธิ, 2556: 42) โดยมีฐานประวัติศาสตร์และความเป็นมาของสะล้อที่ชัดเจนโดยมีการนำมาเล่นกันมากขึ้นหลังจากที่บ้านเมืองสงบจากการสงคราม ประชาชนเมืองอยู่ร่มเย็นเป็นสุข การร้องรำทำเพลง การทำเกษตรได้ผลเก็บเกี่ยวมากและมีการส่งเสริมให้พระสงฆ์และนักปราชญ์โดยให้มีการจารใบลานส่งเสริมพระพุทธศาสนา วรรณกรรม การอ่านคร่าว จ๊อย ซอและดนตรีสะล้อซอซึง (กิจชัย ส่องเนตร, 2554: 89)
ภาพที่ 1 สะล้อ
ที่มา: ตั้งปณิธาน อารีย์
จากการศึกษาประวัติศาสตร์ล้านนายังไม่ปรากฎสะล้อถึงการละเล่นเครื่องดนตรีชนิดนี้ได้เด่นชัดนัก แต่ในปัจจุบันสะล้อมี 3 ขนาด คือ สะล้อเล็ก สะล้อกลาง และสะล้อใหญ่ ซึ่งได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายและนิยมนำมาบรรเลงเดี่ยว และบรรเลงในวงสะล้อซอซึง
ภาพที่ 2 สะล้อเล็ก สะล้อกลาง และสะล้อใหญ่ ที่มา: ตั้งปณิธาน อารีย์
ลักษณะและส่วนประกอบของสะล้อ
สะล้อมีลักษณะเฉพาะทางภายภาพหลากหลายแบบ ขึ้นอยู่กับบริบททางสังคมของแต่ละพื้นที่ ปัจจุบันสะล้อมี 3 ขนาด คือ สะล้อเล็ก สะล้อกลาง และสะล้อใหญ่ โดยส่วนประกอบของสะล้อแบ่งออก เป็น 3 ส่วนใหญ่ ๆ คือ คันทวน กะโหลก และคันชัก
คันสะล้อหรือคันทวน
ภาพที่ 3 คันสะล้อ หรือคันทวน
ที่มา: ตั้งปณิธาน อารีย์
คันสะล้อหรือคันทวน คือส่วนสูงทั้งหมดของคันไม้ที่เสียบไว้ในกะโหลกสะล้อ นิยมทำจากไม้เนื้อแข็ง เช่น ไม้ประดู่ ไม้ชิงชัน ไม้สักทอง ไม้มะเกลือ โดยจะแบ่งขนาดความยาวตามลักษณะของสะล้อคือ สะล้อเล็ก สะล้อกลาง หรือสะล้อใหญ่ โดยปกติคันทวนสะล้อมีความยาวประมาณ 65 เซนติเมตร (สุคำ แก้วศรี, 2551: 31) โดยนับจากยอดคันทวนจนถึงปลายก้านผูกสายใต้กะโหลกสะล้อ คันทวนสะล้อแบ่งออกเป็น 3 ส่วน คือ ทวนบน ทวนล่าง และก้านเสียบกะโหลก
ภาพที่ 4 ทวนบนสะล้อ ที่มา: ตั้งปณิธาน อารีย์
ทวนบน คือส่วนที่เป็นยอดของคันสะล้อถึงลูกแก้วลูกแรก มีความยาววัดจากยอดคันสะล้อลงมาถึงลูกแก้วลูกแรก ประมาณ 15 เซนติเมตร
ภาพที่ 5 ทวนล่างสะล้อ ที่มา: ตั้งปณิธาน อารีย์
ทวนล่าง (ภาพทวนล่าง) คือส่วนที่เป็นด้ามจับสำหรับกดนิ้วหรือวางนิ้ว โดยวัดขนาดความยาว จากลูกแก้วลูกแรกจึงถึงเหยียบกะโหลกสะล้อ มีความยาวประมาณ 45 เซนติเมตร
ภาพที่ 6 ก้านเสียบกะโหลกสะล้อ ที่มา: ตั้งปณิธาน อารีย์
ก้านเสียบกะโหลก (ภาพก้านเสียบ) คือส่วนที่ใช้เสียบกะโหลกสะล้อและใช้เป็นที่ผูกสายสะล้อ โดยวัดความยาวจากเหยียบกะโหลกจึงถึงปลายก้านเสียบกะโหลกมีความยาวประมาณ 80เซนติเมตร
ภาพที่ 7 กะโหลกสะล้อ ที่มา: ตั้งปณิธาน อารีย์
กะโหลกสะล้อทำหน้าที่เป็นลำโพงขยายเสียง เมื่อใช้คันชักสะล้อสีลงไปบนสาย กะโหลกสะล้อ ทำหน้าที่เป็นกล่องเสียงให้การสั่นสะเทือนหรือกำธรเสียงดังออกมา กะโหลกสะล้อทำมาจากกะลามะพร้าวนำมาผ่าครึ่งและขัดตกแต่งผิดกะลามะพร้าวให้เรียบ ด้านหน้าของกะโหลกสะล้อใช้ไม้อัดหรือไม้สักแผ่นบาง ๆ ปิดหน้า (พรหเมศวร์ สรรพศรี, 2550: 22) โดยใช้กาวลาเทคหรือกาวร้อนหยอดขอบๆหน้ากะโหลกสะล้อ เมื่อนำสายสะล้อทั้งสองเส้นมาผูกใต้ก้านคันสะล้อ สายจะขึงผ่านหน้ากะโหลกไปผูกที่ลูกบิดทั้ง 2 ลูก ระยะผ่านกลางหน้ากะโหลกจะมีไม้สี่เหลี่ยมชิ้นเล็กๆ ตั้งเพื่อหนุนสายเรียกว่า “หย่องสะล้อ” โดยกะโหลกสะล้อแบ่งออกเป็น 2 ขนาดคือ กะโหลกสะล้อเล็ก กะโหลกสะล้อกลาง และกะโหลกสะล้อใหญ่
ภาพที่ 8 คันชักสะล้อ ที่มา: ตั้งปณิธาน อารีย์
สะล้อมีส่วนประกอบที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งคือ คันชักสะล้อ โดยใช้คันชักสีลงไปบนสายทั้งสองเพื่อให้เกิดเสียง คันชักสะล้อนิยมทำจากไม้เแข็ง เช่น ไม้สักทอง ไม้ประดู่ ไม้ชิงชัน ไม้มะเกลือ นำมากลึงให้มีความกลมเรียว เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ ครึ่งเซนติเมตร มีความยาวประมาณ 65 เซนติเมตร (สมบุญ ไชยวงค์, 2549: 36) และนำสายไนล่อนหรือหางม้าประมาณ 100-120 เส้น มาผูกกับคันชัก ก่อนนำคันชักมาสี ให้นำยางสนมาถูสายไนล่อนหรือหางม้าให้เกิดความฝืด เพื่อให้เกิดเสียงที่มีความกังวาน ดังชัดเจน
การบำรุงรักษาสะล้อ
การบำรุงรักษาสะล้อซึ่งเป็นเครื่องดนตรีพื้นบ้านที่มีความบอบบาง นักดนตรีควรคำนึงถึงการดูแลรักษา และจัดเก็บอย่างดี หยิบมาใช้ได้ง่ายและสะดวกที่สุด โดยปฏิบัติดังนี้
– เมื่อบรรเลงเสร็จให้หย่อนสายสะล้อและเลื่อนหย่องไว้บนขอบกะโหลกเพื่อป้องกันไม่ให้หย่องกดทับหน้าสะล้อเพราะอาจจะทำให้หน้าตาดสะล้อแตกและเมื่อนำกลับมาใช้ใหม่ทำให้เกิดเสียงแตกพล่า ไม่มีความไพเราะเหมือนเดิม
– เมื่อบรรเลงเสร็จแล้วให้ลดสายทันทีเพื่อป้องกันมิให้คันทวนสะล้อเกิดการโก่งตัว หรือเรียก อีกอย่างหนึ่งว่าคันทวนคดงอ เพราะแรงดึงของสายที่มีความตึงมากอาจทำให้คันทวนคดงอได้ง่าย
– ห้ามหยอดยางสนลงบนกะโหลกสะล้อ เพราะจะทำให้เกิดความสกปรก ฝุ่นของยางสนติดและเกาะตัวกันเป็นก้อนทำให้เกิดความสกปรกและเหนียวติดกะโหลกและสาย
– ทำความสะอาดทุกครั้งหลังจากการบรรเลงเสร็จแล้ว โดยให้ผ้าขนหนูผืนเล็กที่เป็นผ้าแห้ง เช็ดคัน
ทวน กะโหลก และด้ามคันชัก ถ้าคันทวนหรือกะโหลกมีคราบสกปรกที่เกิดจากยางสนหรือคราบอื่น ๆ ให้ใช้ครีมทำความสะอาดอเนกประสงค์หรือแอลกอฮอเช็ดออกด้วยผ้าขนหนู
– ระวัง รักษา มิให้สะล้อตกหรือมีความกระทบกระเทือน เพราะจะทำให้เกิดผลกระทบต่อคุณภาพเสียงสะล้อได้
– เมื่อสายขาดให้เปลี่ยนสายใหม่ อย่าปล่อยทิ้งไว้เพราะจะทำให้หย่องสะล้อกระเด็นหลุดหายไปได้
– เมื่อบรรเลงเสร็จแล้ว นอกจากจะหาที่แขวนให้เรียบร้อย อาจจะเก็บรักษาไว้ในตู้เก็บเครื่องดนตรี
และวางไว้หรือแขวนไว้ให้พ้นจากแสงแดด เพราะความร้อนจากแสงแดดจะทำให้สะล้อแตกหักได้
สรุปได้ว่า สะล้อเป็นเครื่องดนตรีประเภทเครื่องสีพื้นบ้านล้านนา นิยมบรรเลงในกลุ่มนักดนตรีพื้นบ้านภาคเหนือ และนำมาบรรเลงเดี่ยวหรือนวงสะล้อซอซึง สะล้อมี 3 ขนาดคือ สะล้อเล็ก สะล้อกลาง และสะล้อใหญ่ มีส่วนประกอบสำคัญ 3 ส่วนคือ คันทวน กะโหลก และคันชัก ในการบำรุงรักษาสะล้อ มีข้อควรคำนึงที่สำคัญหลายประการ เช่น การหย่อนสายเมื่อบรรเลงเสร็จ การเปลี่ยนสายทันทีเมื่อสายขาด การทำความสะอาดทุกครั้งหลังจากบรรเลงเสร็จแล้ว และจัดเก็บให้เรียบร้อยโดยการแขวนไว้หรือเก็บไว้ในตู้เก็บเครื่องดนตรี เพื่อให้สะล้อมีอายุการใช้งานที่ยาวนานและมีคุณภาพเสียงที่ไพเราะนุ่มนวล พร้อมที่จะนำออกมาใช้งานได้ทุกเมื่อตามที่นักดนตรีต้องการ
รายการอ้างอิง
กิจชัย ส่องเนตร. (2554). การสืบทอดสะล้อในวัฒนธรรมดนตรีล้านนา. วิทยานิพนธ์ปริญญาปรัชญาดุษฎี
บัณฑิต (ดนตรี) มหาวิทยาลัยมหิดล.
พรหเมศวร์ สรรพศรี. (2550). วิธีการบรรเลงสะล้อขั้นพื้นฐาน. เชียงราย: โรงพิมพ์สุขศรันย์.
สมบุญ ไชยวงค์. (2549). แบบเรียนวิชาดนตรีพื้นบ้านล้านนา กลุ่มสาระการเรียนรู้ศิลปะ โรงเรียนสามัคคี
วิทยาคม. เชียงราย: โรงพิมพ์โรงเรียนสามัคคีวิทยาคม.
สนั่น ธรรมธิ. (2556). ประเพณีสำคัญล้านนา. เชียงใหม่: สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.
สุคำ แก้วศรี. (2551). ดนตรีล้านนา การบรรเลงและรวมวง. เชียงราย: โรงพิมพ์สุนิสา.