สภาพแวดล้อมขององค์การธุรกิจมีความสำคัญและมีอิทธิพลต่อการประกอบธุรกิจให้สามารถอยู่รอดและเติบโตได้ในอนาคต ผู้ประกอบการธุรกิจจึงควรมีความรู้และทราบถึงสภาพแวดล้อมทั้งภายนอกและภายในของธุรกิจของตนเองเป็นอย่างดี
สภาพแวดล้อมที่รายรอบอยู่ทั้งภายนอกและภายในขององค์การธุรกิจ สามารถแบ่งสภาพแวดล้อมภายนอกขององค์การ ได้ดังนี้ Pearce & Robinson (2005)
1. สภาพแวดล้อมภายนอก (External Environment) ประกอบด้วย
1.1 สภาพแวดล้อมทั่วไป (General Environment or Remote Environment)
สภาพแวดล้อมทั่วไปเป็นสภาพแวดล้อมภายนอกที่องค์การไม่สามารถควบคุมได้ แต่มีอิทธิพลต่อการประกอบธุรกิจขององค์การ ประกอบด้วย ปัจจัยทางเศรษฐกิจ ปัจจัยทางสังคม ปัจจัยทางการเมือง ปัจจัยทางเทคโนโลยี ปัจจัยทางนิเวศวิทยา โครงสร้างประชากรและวัฒนธรรม และอิทธิพลจากนานาประเทศ
1.2 สภาพแวดล้อมเฉพาะ (Specific Environment or Task Environment)
สภาพแวดล้อมเฉพาะขององค์การธุรกิจ ได้แก่ สภาพแวดล้อมภายนอกที่มีผลกระทบโดยตรงกับการดำเนินงานขององค์การมากกว่าสภาพแวดล้อมทั่วไป โดยเฉพาะในเรื่องการหาทรัพยากร (Miles,1980) สภาพแวดล้อมเฉพาะนี้มีขอบเขตที่เกี่ยวข้องกับ สินค้า บริการ หรือ ตลาดขององค์การ
1.3 สภาพแวดล้อมอุตสาหกรรม (Industry Environment)
คำว่า “อุตสาหกรรม” ในที่นี้หมายถึง กลุ่มธุรกิจที่ผลิตสินค้าหรือบริการที่เหมือนกัน และสามารถทดแทนกันได้ในลักษณะทดแทนความต้องการของลูกค้า (ไพโรจน์ ปิยะวงศ์วัฒนา, 2560) สภาพแวดล้อมอุตสาหกรรมเป็นสภาพแวดล้อมภายนอกของธุรกิจที่เกี่ยวกับผู้ที่มีความเกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมเดียวกันกับที่องค์การกำลังดำเนินธุรกิจอยู่ และมีอิทธิพลต่อองค์การในแง่ของการแข่งขัน การต่อรอง และมีอิทธิพลในการตัดสินใจดำเนินกลยุทธ์ทางธุรกิจ
2. สภาพแวดล้อมภายใน (Internal Environment)
สภาพแวดล้อมภายในขององค์การจะทำให้องค์การทราบถึง “จุดแข็ง” และ “จุดอ่อน” ภายในองค์การ และเมื่อทำการวิเคราะห์สภาพแวดล้อมภายในจะทำให้องค์การมีแนวทางในการดำเนินงานและได้แนวทางการพัฒนาองค์การ สภาพแวดล้อมภายในองค์การประกอบด้วยปัจจัยต่างๆ เช่น เจ้าของและผู้ถือหุ้น คณะกรรมการบริหาร ลูกจ้าง นโยบาย และวัฒนธรรมขององค์การ
การวิเคราะห์สภาพแวดล้อม
การวิเคราะห์สภาพแวดล้อมภายนอกจะทำให้องค์การทราบถึง “โอกาส” และ “อุปสรรค” ที่องค์การจะต้องเผชิญในการประกอบธุรกิจ ส่วนการวิเคราะห์สภาพแวดล้อมภายในจะทำให้องค์การได้ทราบถึง “จุดแข็ง” และ “จุดอ่อน” ภายในองค์การ
1. การวิเคราะห์สภาพแวดล้อมภายนอก
การวิเคราะห์สภาพแวดล้อมภายนอกสามารถทำการวิเคราะห์สภาพแวดล้อมอุตสาหกรรมขององค์การ ซึ่งสามารถใช้ “ปัจจัยแรงกดดันทางการแข่งขัน 5 ประการ” หรือ “Porter’s Five Force” เป็นแนวทางในการวิเคราะห์สภาพแวดล้อมภายนอกขององค์การ นั่นคือ การวิเคราะห์การคุกคามของผู้เข้ามาใหม่ อำนาจต่อรองของผู้ขายวัตถุดิบ อำนาจต่อรองของผู้ซื้อสินค้า การคุกคามของสินค้าทดแทน และระดับความรุนแรงของการแข่งขันในอุตสาหกรรม
2. การวิเคราะห์สภาพแวดล้อมภายในองค์การ
การวิเคราะห์สภาพแวดล้อมภายในองค์การธุรกิจสามารถวิเคราะห์ได้หลายวิธีด้วยกัน เช่น การวิเคราะห์สภาพแวดล้อมภายในของธุรกิจโดยใช้ “แบบจำลอง 7 S” (McKinsey 7S Framework) แนวคิดนี้ มาจากบริษัทที่ปรึกษา McKinsey & Company การวิเคราะห์สภาพแวดล้อมภายในองค์การธุรกิจจะพิจารณาจาก 7 องค์ประกอบ คือ
1) Strategy – กลยุทธ์
2) Structure – โครงสร้างองค์การ
3) Systems – ระบบ
4) Style – รูปแบบการบริหารจัดการ
5) Staffing – การบริหารงานทรัพยากรบุคคล
6) Skills – ทักษะขององค์การ
7) Shared Values – ค่านิยมร่วม
สรุป
ผู้ประกอบธุรกิจสามารถพิจารณาเลือกใช้แนวทางในการวิเคราะห์สภาพแวดล้อมภายนอกและภายในขององค์การธุรกิจให้เหมาะสม ทั้งนี้ เพื่อให้รู้จักสภาพขององค์กรธุรกิจของตนเอง คือ รู้จุดอ่อนและจุดแข็งขององค์กร และยังสามารถเรียนรู้สภาพแวดล้อมภายนอก ซึ่งมีทั้งสภาพแวดล้อมทั่วไป สภาพแวดล้อมเฉพาะ และสภาพแวดล้อมทางอุตสาหกรรมของธุรกิจของตนเองอีกด้วย เพื่อให้ผู้ประกอบธุรกิจรู้เขา รู้เรา รบกี่ครั้งก็มีโอกาสมีชัยทางธุรกิจนั่นเอง
อ้างอิง
Pearce II, J.A. and Robinson, R.B. (2005). Strategic Management. A.J.T.B.S. Publishers, Delhi.
Miles H.R. (1980). Macro Organizational Behavior. Goodyear series in administration and
business management. Scott, Foresman: University of Michigan.
ไพโรจน์ ปิยะวงศ์วัฒนา. (2560). การจัดการเชิงกลยุทธ์ : เทคโนโลยีและนวัตธรรม. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์
แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
อาจารย์ประจำสาวิชาการจัดการธุรกิจและทรัพยากรมนุษย์
มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา
Bansomdejchaopraya Rajabhat University