บทนำ
ความคิดสร้างสรรค์ของมนุษย์ได้ก่อให้เกิดการนำวัสดุต่างๆ ทั้งจากธรรมชาติและวัสดุที่มนุษย์ได้ประดิษฐ์คิดค้นขึ้น วัสดุเหล่านี้ได้ถูกนำมาปรับแต่งผสมผสานด้วยเทคนิคแบบเรียบง่าย เช่น การผูกมัด การสาน การปะติด เย็บ เพื่อประโยชน์ใช้สอยในการดำรงชีพ และเพื่อเป็นสัญลักษณ์ทางศาสนา ต่อมาเมื่ออารยธรรมได้เจริญก้าวหน้าขึ้น มนุษย์ได้นิยมการสร้างผลงานศิลปะเพื่อประดับตามอาคารสถานที่ด้วยงานจิตรกรรม และประติมากรรม จนกระทั่งความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ ได้ทำให้เกิดสิ่งประดิษฐ์คิดค้นใหม่ๆ การคมนาคม การผลิตสื่อสิ่งพิมพ์ทำให้การศึกษาแลกเปลี่ยนด้านศิลปวิทยาการเจริญรุ่งเรือง รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงในระบบสังคมทำให้ศิลปินเริ่มมีความมุ่งมั่นสนใจในการรับรู้ การมองเห็น ความคิดสร้างสรรค์ และสนใจในสื่อวัสดุใหม่ที่แตกต่างจากสื่อดั้งเดิม เพื่อแสวงหาการแสดงออกทางศิลปะรูปแบบใหม่ ทำให้เกิดแนวทางการสร้างสรรค์แบบใหม่ที่เรียกว่า ศิลปะสื่อประสม (Mixed Media Art) ซึ่งเป็นการนำวัสดุที่ศิลปินค้นพบนำมาจัดองค์ประกอบใหม่ด้วยเทคนิคต่างๆ ที่ศิลปินต้องการ และได้การตอบรับจากสังคมมากขึ้น ในปัจจุบันศิลปะสื่อประสมได้มีบทบาทสำคัญต่อศิลปินหัวก้าวหน้า และนักออกแบบได้นำเอาแนวคิดไปพัฒนาผลงานการออกแบบในทุกมิติ รวมทั้งในการเรียนการสอนศิลปศึกษาในทุกระดับชั้นได้นำแนวคิดศิลปะสื่อประสมไปพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ (Creative Thinking) กันอย่างกว้างขวาง
ความเข้าใจเกี่ยวกับศิลปะสื่อประสม
แม้ว่ามนุษย์รู้จักการนำวัสดุที่ต่างชนิดกันนำมาผสมผสานสร้างเป็นผลงานต่างๆ มานานแล้ว แต่ยังไม่ได้มีการสร้างสรรค์ศิลปะสื่อประสมในรูปแบบทางทัศนศิลป์ที่เด่นชัด จนกระทั่งต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 ได้มีปัจจัยหลายอย่างทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นในสังคม ทั้งการปฏิวัติอุตสาหกรรม และสงครามโลกทำให้วัสดุอุปกรณ์ในการวาดภาพขาดแคลน ระบบสังคมเปลี่ยนจากศักดินามาเป็นระบบอุตสาหกรรม ศิลปินรุ่นใหม่จึงพยายามแสวงหารูปแบบใหม่ในการสร้างสรรค์ผลงานศิลปะเพื่อศิลปะ ความงามที่มาจากมวลชนมากกว่ามาจากชนชั้นสูงดังเช่นในอดีต จนกระทั่งในปี 1912 ปาโบล ปิกัสโซ และ ชอร์ช บราก ศิลปินแนวบาสกนิยม ต่างก็ได้พยายามสร้างงานศิลปะสื่อประสมขึ้นมา โดย ปิกัสโซ ได้สร้างผลงานชื่อ Still Life with Chair Caning จากเชือก เสื่อน้ำมัน ผ้าใบ สีน้ำมัน และเรียกเทคนิคนี้ว่า Collage ซึ่งเป็นคำที่มาจากภาษาฝรั่งเศส หมายถึง การติดกาว หรือ การปะติด ซึ่งผลงานนี้ได้เปิดเผยแนวคิดทางด้านเรื่องราว (Subject Matter) ทำให้ได้รับความสนใจจากกลุ่มศิลปินบาสกนิยม ศิลปะเหนือจริง และคติดาดา นำไปพัฒนาต่อยอดเป็นอย่างมาก
ในปี ค.ศ.1919 สถาบันเบาเฮาส์ (The Bauhaus) ในเยอรมัน ได้มีการนำแนวคิดเกี่ยวกับความเข้าใจในความจริงของวัตถุ เพื่อให้นักศึกษาได้ทำกิจกรรมศิลปะด้วยการผสมผสานวัสดุเข้าด้วยกัน ให้กลายเป็นผลงานรูปแบบใหม่ ซึ่งส่งอิทธิพลต่อวงการศิลปศึกษาไปทั่วโลก ต่อมาในปี ค.ศ.1961 มีการจัดนิทรรศการ The art of Assemblage, Exhibition 1961 ที่พิพิธภัณฑ์สมัยใหม่ ประเทศสหรัฐอเมริกา โดยมี ดร.วิลเลี่ยม ซี เซทส์ (Dr. William C Seitz) เป็นผู้นำในการจัดนิทรรศการในครั้งนี้ นักวิจารณ์และภัณฑรักษ์ ได้ตั้งชื่อศิลปะแนวนี้ว่า The art of Assemblage และได้ให้ความเห็นต่อการแสดงศิลปะผสมผสานนี้ว่า “ผลงานศิลปะทุกชิ้นเป็นการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ที่ผสานวัสดุ และจิตใจของศิลปินเข้าไว้ด้วยกันอย่างเหมาะสม” และเมื่อนำคำว่า “การผสมผสาน” นี้มาใช้ ไม่เพียงแต่จะหมายถึงขบวนการ หรือกรรมวิธีที่สร้างสรรค์เท่านั้น แต่จะหมายถึงทัศนคติและความคิดรวบยอดของศิลปินผู้สรรค์สร้างด้วย (อารี สุทธิพันธุ์, 2528)
เฮอบาร์ต รีด (Herbert Read) นักการศึกษาศิลปะได้เสนอแนวคิดเกี่ยวกับ การค้นพบรูปทรง และ จอห์น ดุย (John Dewey) นักปรัชญาการศึกษาชาวอเมริกัน ได้นำแนวคิดนี้ไปขยาย โดยเห็นว่าเมื่อศิลปินได้ค้นพบรูปทรงแล้ว จะต้องนำเอาประสบการณ์ส่วนตัวเข้าไว้ด้วย ซึ่งเป็นแนวคิดที่ให้ความสำคัญกับประสบการณ์ของมนุษย์ที่มีต่อศิลปะมาก ศิลปะคือประสบการณ์ (Art as Experience) เนื่องจากในชีวิตประจำวันของเราจะมีความทรงจำฝังใจจากประสบการณ์ที่สำคัญเป็นพิเศษ เรียกว่า ประสบการณ์แท้ ศิลปะสามารถแสดงออกถึงแก่นของประสบการณ์ได้ดีที่สุด ประสบการณ์ของศิลปินจะถูกถ่ายทอดออกมาเป็นผลงานศิลปะได้อย่างมีสุนทรียภาพ มีรูปทรง มีความหมาย มีอารมณ์ ขณะเดียวกันก็จะมีผู้อื่นรับรู้ประสบการณ์นั้นทอดหนึ่ง (พีระพงษ์ กุลพิศาล, 2546)
ความหมายของศิลปะสื่อประสม
ศิลปิน นักวิจารณ์ศิลปะ และนักวิชาการได้แสดงทัศนะและให้คำนิยามมาโดยตลอด เนื่องจากผลงานมีการสร้างสรรค์ที่แตกต่างกันทั้งวัสดุและแนวคิดอยู่ตลอดเวลา เมื่อพิจารณาถึงการให้ความหมายของศิลปะสื่อประสม มีทั้งที่เป็นความหมายกว้างและความหมายเฉพาะ หรือความหมายในเชิงปรัชญา และการแสดงทัศนะที่น่าสนใจเกี่ยวกับศิลปะสื่อประสม ดังนี้
ในประเทศไทยมีการใช้คำว่า “สื่อประสม” และ “สื่อผสม” โดยมีความหมายเหมือนกัน แต่คำว่า “สื่อประสม” ได้มีการให้คำจำกัดความคำนี้ในงานประกวดศิลปกรรมแห่งชาติ ครั้งที่ 27 ปีพ.ศ. 2524 โดยคณะกรรมการจัดงานการแสดงศิลปกรรมแห่งชาติ ครั้งที่ 27 ปีพ.ศ. 2524 ในการเรียกผลงาน “ประเภทสื่อประสม” ได้แก่ ผลงานซึ่งใช้สื่อตั้งแต่ 2 ประเภทขึ้นไปประสมกัน และต่อมาในการแสดงศิลปกรรมแห่งชาติ ครั้งที่ 28 ปีพ.ศ. 2525 ก็ได้ปรับปรุงข้อความเพื่อให้ความหมายของสื่อประสมกว้างขวางขึ้นว่า “ประเภทสื่อประสม (Mixed media) ได้แก่ ผลงานที่ใช้เทคนิคและวัสดุหลายประเภทผสมกัน และรูปแบบไม่อาจจัดเข้าอยู่ในประเภทจิตรกรรม ประติมากรรม หรือภาพพิมพ์ได้” (วิโชค มุกดามณี, 2550)
ศาสตราจารย์พิเศษอารี สุทธิพันธุ์ ได้แสดงทัศนะเกี่ยวกับสื่อประสมไว้ดังนี้ “สื่อประสมที่แท้จริงจะต้องเป็นการผสมผสานกันของสื่อต่างประเภทกัน โดนเกิดเป็นรูปแบบใหม่ มีความกลมกลืน มีความเป็นเอกภาพโดยสมบูรณ์ โดยที่สื่อแต่ละประเภทนั้นเสริมซึ่งกันและกัน และสื่อประสมบางประเภทที่ใช้ความเคลื่อนไหวเป็นสื่อร่วมกับสี แสง และเสียง ก็มีชื่อเรียกโดยเฉพาะ เช่น ไคเนติกอาร์ต เป็นต้น”(อารี สุทธิพันธุ์, 2528)
พจนานุกรมศัพท์ศิลปะอังกฤษ-ไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2541 ได้นิยามคำว่า mixed media หมายถึง ศิลปกรรมแห่งคริสต์ศตวรรษที่ 20 ได้แก่ งานจิตรกรรม ประติมากรรม ภาพพิมพ์ หรือวาดเส้นที่มีวัสดุหรือกลวิธีต่างๆ เข้าไปผสมด้วยจนไม่อาจเรียกได้ว่าเป็นงานอย่างใดอย่างหนึ่งโดยเฉพาะ
ชลูด นิ่มเสมอ (2542) กล่าวถึงสื่อผสมว่า สื่อผสมเป็นผลงานการนำสื่อและกลวิธีหรือ เทคนิคมาประกอบกันหลายประเภท เข้าไปรวมด้วยกันในผลงานศิลปะ เรื่องราวแล้วแต่ผู้สร้างสรรค์ ผลงานเฉพาะตน จะเป็นทัศนศิลป์ที่เป็นรูปแบบ 2 มิติ และ 3 มิติ
เมื่อพิจารณาความหมายในภาพรวมแล้ว ศิลปะสื่อประสม หรือศิลปะสื่อผสม จัดเป็นศิลปะที่มีลักษณะเฉพาะตัวอีกประเภทหนึ่ง แยกออกไปต่างหาก โดยไม่ได้ขึ้นกับงานทั้งจิตรกรรม ประติมากรรม ภาพพิมพ์ และสถาปัตยกรรม ลักษณะของผลงานมีทั้งประเภท 2 มิติ และ 3 มิติ โดยศิลปินนำวัสดุใดๆ ที่ค้นพบทั้งในธรรมชาติ หรือวัสดุที่มนุษย์สร้างขึ้น ตั้งแต่ 2 ชนิดขึ้นไป นำมาจัดองค์ประกอบหรือนำมาผสมผสานเชื่อมต่อกันด้วยเทคนิคต่างๆ เช่น การปะติด เย็บปักถักร้อย การเชื่อมโลหะ เป็นต้น
ประเภทของศิลปะสื่อประสม
ศิลปะสื่อประสม แบ่งออกเป็นประเภทใหญ่ๆ ตามลักษณะเฉพาะที่ต่างกันออกไปตามแนวคิด เทคนิค และที่มาของวัสดุที่ใช้ เช่น ศิลปะปะติด (Collage) ศิลปะผสมผเส (Assemblage) ศิลปะจากวัสดุที่ค้นพบ (Found Object) ศิลปะขยะ (Junk art) เพื่อให้เกิดความเข้าใจชัดเจนมากขึ้นดังนี้
ศิลปะปะติด (Collage) หมายถึง งานศิลปะที่ใช้วิธีการปะติดแผ่นวัสดุ เช่น กระดาษ ผ้า ภาพพิมพ์ เศษวัสดุ บนพื้นระนาบใดๆ ลักษณะแบนราบ หรืออาจนูนสูงขึ้นจากพื้นเพียงเล็กน้อย และอาจเพิ่มเติมด้วยเทคนิคการวาด ระบายสี หรือการพิมพ์ทับ ผลงานมีลักษณะเป็น 2 มิติ
ศิลปะผสมผเส (Assemblage) เป็นศิลปะประเภท 3 มิติ ที่สร้างขึ้นด้วยวัสดุหลายชนิด ส่วนมากเป็นวัสดุที่เก็บตก นำมาตกแต่ง ดัดแปลง ผสมผเสประกอบรวมกันสร้างเป็นผลงานใหม่ นอกจากนี้ศิลปินยังสามารถใช้เทคนิคทางศิลปะ เช่น การระบายสี การปั้น หรือแกะสลัก ประกอบร่วมในผลงานเดียวกันได้
ศิลปะจากวัสดุที่ค้นพบ (Found Object) คือ การนำวัสดุชนิดต่างๆ ที่มีอยู่ตามธรรมชาติ หรือที่มนุษย์คิดประดิษฐ์สร้างขึ้นก็ได้ เช่น เปลือกหอย หิน เศษไม้ เครื่องเรือน เครื่องสุขภัณฑ์ วัสดุที่ศิลปินได้เลือกมาสร้างสรรค์เป็นผลงานเป็นศิลปะ และไม่ดัดแปลงตัววัสดุใดๆ มากนัก โดยมีหลักการว่า วัสดุใดๆ ในโลก ล้วนมีคุณค่าและความงามในตัวอยู่แล้ว ด้วยเห็นว่าสิ่งเหล่านี้มีความเป็นศิลปะในตัวเอง เพราะได้ผ่านการพิจารณาออกแบบและสร้างสรรค์มาแล้ว และให้วัสดุนั้นแสดงคุณค่าในการถ่ายทอดความหมายด้วยตัวของมันเอง แนวคิดเช่นนี้เป็นที่นิยมอย่างมากในบรรดาศิลปินกลุ่มคติดาดา ลัทธิเหนือจริง และกลุ่มศิลปะขยะ
ศิลปะขยะ (Junk art) เมื่อประมาณ ค.ศ. 1950 คตินิยมทางศิลปะของศิลปินอเมริกันกลุ่มหนึ่ง ที่นำวัสดุเหลือใช้จากอุตสาหกรรมต่างๆ ชิ้นส่วนของเครื่องจักร หรือยานพาหนะที่ชำรุดเสียหาย โดยหลักแล้วงานเหล่านี้ประกอบด้วยส่วนประกอบที่ถูกทิ้งไปแล้ว หรือนำมาจากถังขยะ แต่ศิลปินยังเห็นว่ามีคุณค่าและวัสดุขยะเหล่านี้ยังแสดงถึงสัญลักษณ์ของยุคสมัยนั้นๆ สามารถนำมาใช้สร้างงานศิลปะได้ ศิลปะขยะอาจมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความตระหนักเกี่ยวกับขยะ นำมาทำเป็นแฟชั่นเสื้อผ้า ซึ่งหลายองค์กรทั่วโลกสนับสนุนการประกวดศิลปะขยะ เพื่อรณรงค์ตระหนักถึงสภาพแวดล้อม
ศิลปะสื่อประสมกับการจัดกิจกรรมการเรียนการสอน
ปัจจุบันการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนทางศิลปะสื่อประสมได้รับความสนใจเป็นอย่างมากในทุกระดับชั้น ช่วยให้ผู้เรียนสนุกสนานเพลิดเพลิน มีความสนใจการเรียนมากขึ้น เพราะกระบวนการสร้างศิลปะสื่อประสม คือ การแสดงออกที่เต็มไปด้วยจินตนาการและความคิดสร้างสรรค์ในสิ่งต่างๆ อย่างอิสรเสรี เป็นตัวกระตุ้นให้เกิดการพัฒนาสมองทั้ง 2 ด้าน คือ ด้านอารมณ์และความเป็นเหตุผล
ด้านการพัฒนาสมอง ผู้เรียนจะมีความคิดริเริ่ม สังเกต จดจำ วางแผนการทำงาน มีความละเอียดรอบคอบ ประณีตพิถีพิถัน ด้านการพัฒนาร่างกาย ด้วยการใช้ประสาทสัมผัสอย่างมีสมาธิ พัฒนาการเคลื่อนไหวทางด้านกล้ามเนื้อ มีความสามารถในการทำงานด้วยเทคนิคการฉีก ตัด ปะติด ประสาทสัมพันธ์ระหว่างตากับมือ ให้มีความคล่องแคล่ว ด้านการพัฒนาปัญญา ทำให้เด็กมีความสามารถทางด้านคิดวิเคราะห์ ความเป็นเหตุผล การสรุปความ อย่างเป็นระบบ มีความคิดแปลกใหม่ รู้จักแสวงหาความรู้เพิ่มเติม และแก้ปัญหาเป็น ด้านการพัฒนาอารมณ์ ช่วยให้ผู้เรียนมีสุนทรียภาพ มีความมั่นใจ กล้าแสดงออก มีสมาธิจดจ่อกับการทำงาน มีความเพียร รับผิดชอบ มีอารมณ์สดใสร่าเริงสมวัย มีความสามารถในการทำงานร่วมกับผู้อื่นได้ เคารพกติกา ชื่นชมในผลงานของผู้อื่น มีพฤติกรรมดีงาม ด้านการพัฒนาภาษา ช่วยให้ผู้เรียนมีพัฒนาการทางภาษา รู้จักคำศัพท์ใหม่ๆ สามารถลำดับเหตุการณ์ เรียบเรียง บอกเล่าถึงผลงานหรือการแบ่งปันประสบการณ์ต่างๆ ด้วยถ้อยคำที่เหมาะสม
ศิลปะสื่อประสมกับความคิดสร้างสรรค์
กระบวนการสร้างศิลปะสื่อประสมมีความแตกต่างจากกระบวนการทางทัศนศิลป์ประเภทอื่นไปบ้าง เพราะศิลปินที่ดีต้องเป็นผู้มีความคิดสร้างสรรค์อย่างมาก และมีประสบการณ์สูง แล้วนำประสบการณ์ไปค้นหารูปทรงของวัสดุที่ค้นพบ แล้วจึงนำมาวิเคราะห์ สังเคราะห์ ผ่านกระบวนการทางเทคนิคในการประกอบผลงาน แม้ว่าหลักการของศิลปะสื่อประสมจะไม่ติดยึดกับทฤษฏีทางทัศนศิลป์ใดๆ เป็นพิเศษ แต่ผลงานส่วนใหญ่ก็ยังนำเอาทฤษฏีองค์ประกอบศิลป์ หรือหลักการทางทัศนธาตุมาใช้บ้างไม่มากก็น้อย ดังนั้นผู้เรียนการทำกิจกรรมทางศิลปะสื่อผสม จึงเป็นกลายเป็นผู้ฝึกตนให้มีคุณลักษณะของผู้มีความคิดสร้างสรรค์มากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งลักษณะดังกล่าวมีความสอดคล้องกับแนวคิดของ กิลฟอร์ด (Guilford) ซึ่งได้ศึกษาเรื่องความคิดสร้างสรรค์ ซึ่งประกอบด้วยลักษณะ ดังนี้
1. ความคล่องแคล่วในการคิด (Originality) คือ ผู้เรียนมีความสามารถในการหาคำตอบได้อย่างคล่องแคล่ว รวดเร็ว และมีคำตอบในปริมาณที่มากในเวลาจำกัด เพราะผู้เรียนต้องเผชิญหน้ากับวัสดุที่ค้นพบใหม่เสมอ ซึ่งไม่สามารถวางแผนล่วงหน้าได้ จึงต้องฝึกเป็นมีความคิดที่รวดเร็ว
2. ความคิดยืดหยุ่นในการคิด (Fluency) คือ ผู้เรียนมีความสามารถในการคิดแบบอเนกนัย หรือการคิดหาคำตอบได้หลายประเภท และหลายทิศทาง เพราะผู้เรียนต้องแก้เหตุปัญหาอยู่เสมอจากปัจจัยต่างๆ ของวัสดุที่ค้นพบระหว่างกระบวนการทางเทคนิค ทำให้ผลมีการเปลี่ยนแปลง
3. ความคิดริเริ่ม (Flexibility) คือ ผู้เรียนมีความสามารถในการคิดหาสิ่งแปลกใหม่และเป็นคำตอบที่ไม่ซ้ำกับผู้อื่น ซึ่งคุณลักษณะนี้ถือเป็นหลักการที่สำคัญของผู้เรียนศิลปะสื่อประสมอยู่แล้ว
4. ความคิดละเอียดลออ (Elaboration) คือ ผู้เรียนมีความสามารถในการกำหนดรายละเอียดของความคิดเพื่อบ่งบอกถึงวิธีสร้างและการนำไปใช้ เพราะผู้เรียนต้องฝึกให้มีความเชี่ยวชาญในเทคนิคต่างๆ ทั้งในด้านความสวยงาม และมีความรอบคอบในด้านความมั่นคงปลอดภัยเป็นพิเศษ
นอกจากนี้หลักความคิดสร้างสรรค์ของกิลฟอร์ด ยังมุ่งความสนใจไปที่การกระตุ้นความสามารถของบุคคลให้มีความคิดสร้างสรรค์ จากสิ่งเร้า 4 ชนิด คือ รูปภาพ สัญลักษณ์ ภาษา พฤติกรรม
สรุป
ศิลปะสื่อประสมเป็นงานทางทัศนศิลป์ที่มีลักษณะเฉพาะ ทั้งในรูปแบบ 2 มิติ และ 3 มิติ ซึ่งแนวคิดในการสร้างผลงานได้เปิดกว้างให้กับทุกคนบนโลกในการเข้าถึงศิลปะโดยง่าย กระบวนการสร้างผลงานยังช่วยให้ผู้เรียนรู้เป็นผู้มีความคิดสร้างสรรค์ได้ดีอีกด้วย ดังนั้นกิจกรรมการเรียนในปัจจุบันจึงมักนำศิลปะสื่อประสมไปบูรณาการความรู้กับศาสตร์อื่นอีกด้วย นอกจากนี้ศิลปะสื่อประสมยังเป็นแนวทางไปสู่ศิลปะหลังสมัยใหม่ เช่น ศิลปะแนวคิด (Conceptual art) ศิลปะการจัดวาง (Installation art) ศิลปะสตรีนิยม (Feminist art) ศิลปะสภาพแวดล้อม (Environmental art) เป็นต้น
บรรณานุกรม
เกษม ก้อนทอง. (2549). ศิลปะสื่อประสม. กรุงเทพฯ: ศิลปะบรรณาคาร.
ชลูด นิ่มเสมอ. (2542). องค์ประกอบศิลปะ. กรุงเทพฯ: ไทยวัฒนาพานิช.
พจนานุกรมศัพท์ศิลปะ อังกฤษ-ไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2530. (2541). กรุงเทพฯ: คุรุสภาลาดพร้าว
พีระพงษ์ กุลพิศาล. (2557). การแปลงรูปในทัศนศิลป์. กรุงเทพฯ: (ม.ป.พ.)
———————-. (2546). มโนภาพและการรับรู้ทางศิลปะและศิลปศึกษา. กรุงเทพฯ: ธารอักษร.
———————-. (2549). เอกสารการสอนวิชาสุนทรียศาสตร์ในศิลปะและศิลปศึกษา. กรุงเทพฯ: สาขาวิชาศิลปกรรม. มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา. (ไม่ได้ตีพิมพ์)
วิโชค มุกดามณี. (2550). การแสดงงานจิตรกรรม โดย วิโชค มุกดามณี. กรุงเทพฯ: หอศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร.
อารี พันธ์มณี. (2537). ความคิดอย่างสร้างสรรค์. กรุงเทพฯ: 1412.
อารี รังสินันท์. (2527). ความคิดสร้างสรรค์. กรุงเทพฯ: ธนกิจการพิมพ์.
อารี สุทธิพันธุ์. (2528). ศิลปะนิยม. กรุงเทพฯ: กระดาษสา.
Bluebowerbird. (n.d.). Plastic Classics 2 2010. Retrieved May 25, 2017 from http://www.bluebowerbird.co.uk/plastic2.htm
Guilford, J.P.(1967). The Nature of Human Intelligence. New York: McGraw-Hill Book Co.
Pablopicasso. (n.d.). Still-Life with Chair Caning, 1912 by Pablo Picasso. Retrieved May 25, 2016 from https://www.pablopicasso.org/still-life-with-chair-caning.jsp
Schwitters-stiftung. (n.d.). Works of Kurt Schwitters: Collages. Retrieved May 25, 2016 from http://www.schwitters-stiftung.de/english/ ks-collagen.html
Tate Foundation. (n.d.). Fountain-Marcel Duchamp. Retrieved May 20, 2017 from https://www.tate.org.uk/art/artworks/duchamp-fountain-t07573
———————-. (n.d.). Mixed Media-Art Term. Retrieved May 25, 2016 from https://www.tate.org.uk/art/art-terms/m/mixed-media
The Robert Rauschenberg Foundation. (n.d.). Monogram 1955-59. Retrieved May 25, 2016 from https://www.rauschenbergfoundation.org/art/art-in-context/monogram