ศิลปะตะวันตกปลายคริสต์ศตวรรษที่ 20 : จากออพอาร์ตสู่การเปลี่ยนแปลงแบบมินิมอล
โดย ผศ.ชัยณรงศ์ วิรุฬพัฒน์
สาขาวิชาครีเอทีพกราฟิก คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ BSRU
ออพอาร์ต (Op Art)
ออพอาร์ต (Op Art) หรือศิลปะลวงตา เป็นชื่อที่ย่อมาจากคำว่า ออพติเคิล อาร์ต (optical art) บางทีก็มีการเรียกว่า เรทินัล อาร์ต (retinal art) หรือ เพอร์เซ็ปชวล แอ็บสแตรคชัน (perceptual abstraction) หรือศิลปะที่เกี่ยวกับสายตาและการมองนั่นเอง ความเป็นมาของชื่อ ออพอาร์ต เกิดขึ้นในปี 1964 จาก จอร์จ ริคคีย์ (George Rickey) ประติมากรชาวอเมริกัน ที่ออกไอเดียให้ชื่อนี้ขึ้นมาขณะที่พูดคุยกับ ปีเตอร์ เซลซ์ (Peter Selz) และวิลเลียม ซีท์ซ (William Seitz) ภัณฑารักษ์ของเดอะ มิวเซียม ออฟ โมเดิร์น อาร์ต ในนิวยอร์ค งานศิลปะของออพอาร์ต มีดังนี้
งานจิตรกรรม ออพอาร์ต มีรากมาจากทฤษฎีการสอนศิลปะของ โจเซ็พ อัลเบอร์ (Josef Alber) เป็นศิลปินและเคยสอนอยู่ในโรงเรียนศิลปะเบาว์เฮ้าส์ (the Bauhaus school of art) ในเยอรมนีระหว่างปลายคริสต์ทศวรรษ 1920 อัลเบอร์ สอนเกี่ยวกับทฤษฎีสีและการทดลองเกี่ยวกับภาพและการมอง แม้ว่าเขาจะไม่ได้ทำงานในลักษณะลวงสายตาอย่างวูบวาบแบบออพอาร์ตโดยตรง แต่เขาเขียนภาพนามธรรมที่ใช้สีไม่กี่สี รูปทรงสี่เหลี่ยมเรียบง่าย แต่ให้ผลเป็นระยะเป็นมิติที่ลวงตาแบบนิ่ง ๆ มาตลอดชีวิตนอกจากนี้ลักษณะเด่นของจิตรกรรมของบอลลา (Balla) ศิลปินชาวอิตาลีในกลุ่ม ฟิวเจอริสม์ (Futurism) เมื่อคริสต์ทศวรรษ 1920 ก็มีอิทธิพลต่อ ออพอาร์ต ด้วย โดยเฉพาะในแง่ที่ฟิวเจอริสม์ ชอบภาพที่แสดงพลังความเคลื่อนไหว สีสันที่สดฉูดฉาดแสดงพลัง และทัศนคติที่เห็นดีเห็นงามไปกับเครื่องจักรกลไกที่แสดงความเจริญทันสมัย
กระแสความเคลื่อนไหวที่สร้างชื่อกระฉ่อนให้แก่ ออพอาร์ต คือ นิทรรศการ เดอะ เรสปอนซีฟ อาย (The Responsive Eye) จัดโดย เดอะ มิวเซียม ออฟ โมเดิร์น อาร์ต ในนิวยอร์ค เมื่อปี 1965 ภายหลังศิลปะกระแสออพอาร์ต ถูกนำไปใช้ในการทำลวดลายผ้าสิ่งทอและการออกแบบตกแต่งภายใน ความนิยมในแวดวงศิลปะก็เลือนหายไปอย่างรวดเร็ว คนทั่วไปอาจจะไม่รู้จัก ออพอาร์ต เท่าไรนัก แต่ได้รับความนิยมแพร่หลายในงานออกแบบ งานพิมพ์โฆษณา งานดีไซน์ต่าง ๆ ที่ใช้ลวดลายแบบออพอาร์ต และงานพานิชย์ศิลป์อื่น ๆ กลับได้รับความนิยมมาก
ศิลปะแบบ ออพอาร์ต โดดเด่นในการสร้างภาพนามธรรมที่เน้นรูปทรงเรขาคณิตที่มีขอบและเส้นรอบนอกที่คมชัด ทิศทางของรูปทรงและเส้นรอบนอกมักจะหักเห ยักเยื้อง ทำให้ตาของเราเห็นว่ามันเคลื่อนไหววูบวาบ โดยเฉพาะเมื่อเราจ้องมองมันนิ่ง ๆ สักพัก แล้วเหลือบสายตาให้เคลื่อนไปจากเดิมเล็กน้อย รูปทรงและเส้นที่ศิลปินวางไว้อย่างเหมาะเจาะจะทำปฏิกริยากับการมอง ทำให้เห็นว่ามันเคลื่อนไหววูบวาบนิด ๆ หรือในบางกรณีรูปทรงที่จิตรกรสร้างขึ้นจะดูนูนสูงขึ้น เว้าต่ำลงหรือปูดออกอย่างสมจริง ทั้งที่มันเป็นภาพแบน ๆ เท่านั้น การสร้างสรรค์เปลี่ยนแปลงพื้นว่างกับพื้นทึบให้เกิดรูปแบบที่มีลักษณะลวงตาให้เห็นการเคลื่อนไหวต่อเนื่องไม่หยุดนิ่ง ด้วยการนำสายตาให้เคลื่อนไปตามเส้น สีและแนวที่ศิลปินจงใจให้เกิดขึ้น
ออพอาร์ตเป็นที่นิยมในยุโรปและอเมริกา ศิลปินที่ทำงานอย่างจริงจังและมีชื่อเสียงในแนวทางนี้คือ บริดเจ็ท ไรเลย์ (Bridget Riley) จิตรกรชาวอังกฤษ วิคเตอร์ วาซารีลี (Victor Vasarely) ลาร์รี พูนส์ (Larry Poons) ริชาร์ด อนัสซ์กีวิกซ์ (Richard Anuszkiewicz) จิตรกรชาวอเมริกัน เป็นต้น ผลงานสำคัญ เช่น ไรเลย์ ผลงานชื่อ”Cataract “ค.ศ. 1967 เทคนิคอิมัลชันบนผ้าใบ ในภาพจะเห็นว่าเส้นคดโคร้งสีแดง สีเขียว และสีเทาจัดวางไว้บนผืนผ้าใบอย่างมีระเบียบ ลวงตาให้รู้สึกเคลื่อนไหวตลอดเวลา ผืนผ้าใบทั้งผืนดูเหมือนบิดงอเป็นคลื่นขณะที่สีต่าง ๆ เทคนิคการสร้างภาพลวงตาเช่นนี้ทำให้ผู้ชมมีความรู้สึกตื่นตาตลอดเวลา และวิกเตอร์วาสซาเรลี กับผลงาน”Pal-Ket”เทคนิคสีอะคริลิก บนผ้าใบ รูปเรขาคณิตสีม่วง สีน้ำเงิน และสีเขียวที่นำมาจัดวางในรูปแบบตารางหมากรุกดูเหมือนกระเพื่อมอยู่บนผืนผ้าใบ สีที่ตัดกันรุนแรงให้ความรู้สึกเหมือนมีการเคลื่อนไหว
คิเนติกอาร์ต
คิเนติกอาร์ต (kinetic Art) คือศิลปะที่มีการเคลื่อนไหวโดยการลวงตา จากการใช้ทัศนธาตุ ในผลงานที่อยู่นิ่งให้เกิดภาพลวงตา สั่นพร่า และเคลื่อนไหวในความรู้สึกโดยที่ตัวงานไม่ได้เคลื่อนไหว และเคลื่อนไหวโดยสภาพแวดล้อมเปลี่ยนแปลงโดยตำแหน่งของผู้ชมหรือการใช้กลไกในการเคลื่อนไหวของงาน งานศิลปะของเนติกอาร์ต มีดังนี้ กระบวนแบบคิเนติกอาร์ต การสร้างสรรค์ผลงานแบบเคลื่อนไหวของเนติกอาร์ต สามารถแยกออกได้ ดังนี้
1) เคลื่อนไหวโดยการลวงสายตา จากการใช้ทัศนธาตุในผลงานที่อยู่นิ่งให้เกิดภาพลวงตาสั่นพร่า และเคลื่อนไหวทางความรู้สึก โดยตัวผลงานไม่ได้สั่นไหวเลย หมายรวมถึงออพอาร์ต ด้วย
2) เคลื่อนไหวโดยสภาพแวดล้อม ผลงานตั้งอยู่กับที่เดิม แต่จะเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงตาม ความเปลี่ยนแปลงที่ผู้ชมเดินผ่าน เช่น สีของผลงานที่เปลี่ยนไปเมื่อมองในมุมที่เปลี่ยนไป ผลงานอาจถูกสัมผัสได้ แกว่งไกวได้
3) ผลงานใช้กลไกการเคลื่อนไหวด้วยตัวมันเอง เช่น โมบายล์ เป็นต้น
ศิลปินที่สำคัญ ได้แก่ อเล็กซานเดอร์ คัลเดอร์ (Alexander calder, 1898-1977) ชาวอเมริกันผู้บุกเบิกงานโมบายล์ให้ได้รับการยอมรับ ใช้ความรู้ด้านวิศวกรรมศาสตร์และกลศาสตร์ในการสร้างสรรค์ผลงาน ศิลปินอีกคนหนึ่ง คือ โมโฮลี นากี (Moholy Nagy, 1895-1946AD.) ชาวฮังการี เป็นผู้บุกเบิกงานที่ใช้เทคโนโลยีสัมพันธ์กับชีวิตเพื่อนำมาออกแบบศิลปะแนวโครงสร้าง ผลงานไม่ค่อยเด่น แต่เป็นผู้คิดบุกเบิกงานจนเป็นที่ยอมรับและเปิดเป็นสถาบันศิลปะในอเมริกา นอกจากนี้ยังมี ริกกี้( George Rickey) ดูชองป์ (Marcel Duchamp) ที่เคลื่อนไหวศิลปะในแนวทางนี้เช่นกัน ข้อสังเกตคือ คิเนติกอาร์ต มักจะคาบเกี่ยวระหว่างเทคนิคและรูปแบบเป็นสำคัญบางครั้งก็มีลักษณะคล้ายกับออพอาร์ต
มินิมอลอาร์ต
มินิมอลอาร์ต (Minimalism) หรือ สารัตถศิลป์ ต้นคริสต์ทศวรรษ 1960 ถึงกลาง 1970 ศิลปะที่ว่าด้วย “ความน้อย” เกิดจากการลดตัดทอน ซึ่งมีมานานแล้วและเป็นหัวใจสำคัญอย่างหนึ่งของศิลปะสมัยใหม่ เช่น จิตรกรรมของฝรั่งเศสตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 19 จิตรกรหัวก้าวหน้าทำการลดทอนรายละเอียดต่าง ๆ ของแบบที่เขียน แทนที่รายละเอียดเหล่านั้นด้วยฝีแปรงและสีสัน จนกระทั่งต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 จิตรกรลดทอนรายละเอียดต่าง ๆ ของรูปทรงลงจนกลายเป็นเหลี่ยมเรขาคณิต แล้วก็ลดทอนจนกลายเป็นศิลปะนามธรรม
มินิมอลอาร์ต คือพัฒนาการขั้นสูงขั้นหนึ่งของเส้นทางศิลปะนามธรรม เนื่องด้วยมินิมอลอาร์ต ลดทอนปัจจัยต่าง ๆ ทางรูปทรงศิลปะลงจนเหลือรูปทรงเรขาคณิตที่เรียบง่ายที่สุดเท่าที่จะทำได้ เรียกได้ว่าทำให้เหลือน้อยที่สุดเท่าที่จะน้อยได้ ใน ปี 1965 บาร์บารา โรส (Barbara Rose) นักวิจารณ์ศิลปะชาวอเมริกัน คือคนแรกที่อธิบายการทำงานของงานศิลปะแนวทางนี้ว่า “น้อยที่สุด” (minimum, มินิมัม) ครั้นปลายคริสต์ทศวรรษ 1960 คำว่า มินิมอลอาร์ต ก็ถูกใช้อย่างแพร่หลายกันทั่วไปในวงการศิลปะ หากสืบค้นหาอิทธิพลทางรูปแบบศิลปะที่ได้รับ จะพบว่าศิลปินยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 อย่าง บาร์เน็ท นิวแมน แอ็ด ไรน์ฮาร์ท และ เดวิด สมิธ เป็นผู้บุกเบิกศิลปะนามธรรมแบบลดทอนรูปทรงจนเหลือน้อย สองคนแรกเป็นจิตรกร ส่วนคนหลังเป็นประติมากร มินิมอลอาร์ตอาศัยหนทางที่พวกแนวหน้าบุกเบิกเป็นทางเดินเข้าหาความน้อยในศิลปะ งานศิลปะของมินิมอลอาร์ต มีดังนี้
งานประติมากรรม การนำเสนอผลงานโดยมากจะไม่มีแท่นฐานสำหรับวางประติมากรรม ผลงานจะดูไม่มีความเป็นงานฝีมือในลักษณะ “งานทำมือ” แต่จะดูเป็นผลผลิตของเครื่องจักรอุตสาหกรรมเสียมากกว่า ผลงานในลักษณะนี้ นอกจากจะน้อยเรียบง่ายแล้วยังต้องประณีตหมดจด ความงามจะอยู่ที่วัสดุที่นำมาสร้างงาน โดยปล่อยให้ธรรมชาติของวัสดุได้แสดงตัวของมันอย่างเต็มที่ เช่น ความมันวาวในแบบสเตนเลส เนื้อหยาบดิบของก้อนอิฐ หรือพื้นผิวและสีที่กระด้างของแผ่นโลหะ ทำให้ผลงานหลุดพ้นไปจากอารมณ์ความรู้สึกส่วนตัวของศิลปิน
ศิลปินในกลุ่มมินิมอลอาร์ต มักจะทำงานประติมากรรมมากกว่างานจิตรกรรม เป็นประติมากรรมของแนวร่วมไร้วัตถุ (Objectless) ในช่วง ค.ศ. 1960 เรียกกันว่า โครงสร้างมินิมอล (Minimal Structure) หรือโครงสร้างมูลฐาน (Primary Structure) เพราะเป็นงานทรงรูปเรขาคณิตอย่างตรงไปตรงมา งานมีลักษณะตรงกันข้ามกับงานแอบสแทรกต์และมีลักษณะเฉพาะตัว มินิมอลอาร์ต จะขจัดความรู้สึกที่มีศิลปินเข้าไปมีบทบาทในงานศิลปะออกไปหมด งานนี้ไม่มีสิ่งที่ใช้อ้างอิงถึงคำบรรยายหรือธรรมชาติใด ๆ และไม่มีสาระอะไรนอกจากตัวของสื่อเอง
ศิลปินที่จะถ่ายทอดความคิดที่ว่า งานศิลปะเป็นสิ่งของที่บริสุทธิ์ มีแต่เพียงรูปร่างและลายผิวเนื้อ จัดเป็นสัดส่วนอยู่กับช่องไฟเท่านั้น เช่น ผลงาน “Untitled” ของ โดนัลด์ จัดด์ (Donald Judd) ค.ศ. 1928-1994) เป็นกล่องสี่เหลียมผืนผ้าชุดหนึ่ง เกิดจากรูปทรงเรขาคณิตศาสตร์ทรงตันของเดวิด สมิธ ชุดคิวบิส และมินิมอล ตามแบบฉบับความเรียบง่ายของอดอล์ฟ ไรน์ฮาร์ดต์ (Adolph Reinheardt) แต่กล่องของจัดด์ไม่ได้วางอยู่บนฐาน หากแต่แขวนอยู่บนผนัง จึงเท่ากับว่าเป็นการไปดึงฉากหลังที่เป็นสภาพแวดล้อม ให้เข้ามาใกล้ตัวผู้ดูเพื่อให้ผู้ดูเข้ามามีส่วนร่วม กล่องนี้ทำด้วยเหล็กชุบสังกะสีแล้วทาสีแลกเกอร์เขียว แสดงให้เห็นว่าพวกมินิมอลนิยมใช้วัสดุจากอุตสาหกรรม จัดด์จัดเรียงกล่องตามแนวตั้งให้กล่องหนึ่งวางอยู่เหนือกล่องหนึ่งมีระยะเท่า ๆ กัน สร้างความรู้สึกสมดุลอย่างกลมกลืน เงาที่ตกลงไปทาบฝาผนังจะต่างกันไปตามระดับ แสงที่ใช้ภายในก็เข้ามามีส่วนร่วมอยู่ในงาน เงาทำลายความรู้สึกน่าเบื่อที่อาจเกิดจากการใช้หุ่นที่มีลักษณะซ้ำซาก เพราะเงาทำให้เกิดเส้นทแยงขึ้นระหว่างกล่อง และระหว่างกล่องต่ำสุดกับพื้นเงายังช่วยเน้นลักษณะของกล่องตามแนวตั้ง เพราะทำให้เห็นว่ามีส่วนเชื่อมโยงต่อกัน และทำให้เกิดความรู้สึกราวกับเป็นเสาติดอยู่กับด้านหน้าฝาผนัง ดูทันสมัยแต่ไม่มีโครงสร้าง (พรสนอง วงศ์สิงทอง, 2547, น. 437)
ผลงานของ คาร์ล อังเดร (Carl Andre) มักจะใช้แผ่นโลหะดิบแบนที่มีผิวหน้าค่อนข้างเรียบ หรือบ้างก็ใช้ก้อนอิฐมาวางเรียงกันเป็นตาราง โดยจัดให้มันสัมพันธ์กับพื้นที่ที่แสดงผลงาน เช่น ผลงาน “Steel Zinc Plain” 1969 ส่วน แดน ฟลาวิน (Dan Flavin) ขึ้นชื่อมากในการนำเอาแท่งหลอดไฟฟลูออเรสเซนต์มาจัดวางเรียงกันเป็นประติมากรรม แสงสีจากหลอดไฟทำให้มันมีคุณลักษณะเป็นจิตรกรรมไปด้วย และ โรเบิร์ต มอร์ริส (Robert Morris) ประติมากรรมมักจะเป็นรูปทรงเรขาคณิต เช่นผลงาน Untitled (ring with light), 1965-66 เป็นต้น มินิมอลอาร์ต เป็นศิลปะกระแสหลัก ในอเมริกาช่วงปลายคริสต์ทศวรรษ 1960 เปรียบได้กับ แอ็บสแตรค เอ็กซ์เพรสชันนิสม์ (Abstract Expressionism) ที่ได้รับความนิยมมากในคริสต์ทศวรรษ 1950
ศิลปินในมินิมอลอาร์ต ดังนี้ คาร์ล อังเดร (Carl Andre, 1935-), แดน ฟลาวิน (Dan Flavin, 1933-1996), โดนัลด์ จัดด์ (Donald Judd, 1928-1994), โรเบิร์ต มอร์ริส (Robert Morris, และ แฟรงค์ สเตลลา (Frank Stella, 1936-) เป็นต้น
เอกสารอ้างอิง
ภาษาไทย
กำจร สุนพงษ์ศรี. (2554). ศิลปะสมัยใหม่. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
จารุพรรณ ทรัพย์ปรุง. (2548). ประวัติศาสตร์ศิลป์ตะวันตก. กรุงเทพฯ: คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา.
พรสนอง วงศ์สิงทอง. (2547). ประวัติศาสตร์นฤมิตศิลป์. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
ภาษาต่างประเทศ
Graham-Dixon, A. (2008). Art: The Definitive Visual Guide. (pp.197-327). London: Dorling Kindersley.
Heidelart. (n.d.). Allan Kaprow. Retrieved May 23, 2015, from https:// conceptualartwordpresscom. wordpress.com/2015/11/15/allan-kaprow.
Yves Klein – The Absence of Art. (n.d.). Retrieved May 23, 2015, from http://www. studiotreasure. com/artists/k/Yves_Klein.htm.