ศิลปะชุมชน ไทยแลนด์เบียนนาเล่ เชียงราย 2566

ศิลปะชุมชน เป็นกิจกรรมทางศิลปะที่ตั้งอยู่ในสภาพแวดล้อมของชุมชน โดยมีปฏิสัมพันธ์หรือสนทนากับชุมชน และมักเกี่ยวข้องกับศิลปินมืออาชีพที่ทํางานร่วมกับผู้คนที่อาจไม่ได้มีส่วนร่วมในศิลปะ คําว่าศิลปะชุมชน อาจมองไปไกลกว่าคําว่า สวยงาม เมื่อผสานกับวิถีชีวิตชุมชนที่เป็นอยู่ศิลปะเป็นดังแม่เหล็กที่จะดึงดูดทุกสิ่งเข้ามาหากันทลายขอบเขตระหว่างวัฒนธรรม เพื่อให้งานศิลปะเข้าถึงผู้ชมได้กว้างขึ้นลดช่องว่างระหว่างศิลปินกับผู้ชม พื้นที่ติดตั้งงานศิลปะจากหอศิลป์หรือพิพิธภัณฑ์ มาสู่ผนังและพื้นทุกตารางนิ้วในชุมชนดังนั้น ศิลปะชุมชน จึงเปียบเหมือนการนําศิลปะเป็นสื่อกลาง เพื่อก่อให้เกิดความร่วมมือระหว่างชุมชน ศิลปิน และผู้ดําเนินการในระดับต่างๆ โดยนําเอาประเด็นปัญหา สภาพการณ์รวมถึงความจําเป็นของชุมชนเป็นตัวกําหนดเป้าหมายในการปฏิบัติการเพื่อให้เกิดผลลัพธ์หรือประโยชน์กับชุมชน โดยใช้ศิลปะ เป็นเครื่องมือซึ่งมาจากความคิดเรื่องการลดบทบาทความเป็นเจ้าของงานศิลปะลง (นิชกานต์ เตมียศิลปิน, 2559) ซึ่งในประเทศไทยมีโครงการด้านศิลปวัฒนธรรมจำนวนมากที่มุ่งเน้นกระบวนการสร้างการมีส่วนร่วมระหว่างผู้คนผ่านผลงานศิลปะ

มหกรรมศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ ครั้งที่ 3 ไทยแลนด์เบียนนาเล่ เชียงราย 2023 (Thailand Biennale,Chiang Rai 2023) เป็นเทศการศิลปะที่ถูกจัดขึ้น โดยความร่วมมือของภาครัฐ เอกชน และศิลปินในพื้นที่จังหวัดเชียงราย ที่ทำงานร่วมกับกลุ่มภัณฑารักษ์ ที่มากไปด้วยประสบการณ์ ด้านการจัดการศิลปะ นิทรรศการ และเทศกาลศิลปะ จึงทำให้ไทยแลนด์เบียนนาเล่ เชียงราย เป็นอีกปรากฏการณ์สำคัญของประวัติศาสตร์ศิลปะร่วมสมัยในประเทศไทย เพราะถึงแม้ศิลปินที่นำผลงานมาแสดงในพื้นที่ชุมชนจะเป็นคนนอก ทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ แต่ผลงานศิลปะได้ถูกจัดการ และจัดวางอย่างกลมกลืนอยู่ในชุมชนท้องถิ่นสถานที่ท่องเที่ยว พิพิธภัณฑ์ และโบราณสถาน

นอกจากนี้ มหกรรมศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ ครั้งที่ 3 ไทยแลนด์เบียนนาเล่ เชียงราย ยังช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจให้กับชุมชนท้องถิ่นได้ไม่น้อย ด้วยจำนวนของนักท้องเที่ยว และผู้สนใจในศิลปะ ต่างพากันเดินทางเข้าไปในพื้นที่ต่าง ๆ ทำให้เกิดกระแสเงิน ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนในชุมชน ฟื้นสภาพเศรษฐกิจที่ดีขึ้นหลังจากวิฤกติโควิดที่ผ่านมาได้เป็นอย่างดี

สิ่งที่น่าสนใจ และทำให้นักท่องเที่ยว เกิดความประทับได้เป็นอย่างมาก คือบรรดาอาสาสมัครนำชมนิทรรศการ ที่เป็นคนในพื้นที่ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้สูงอายุ คุณยาย คุณตา ที่น่ารัก มอบรอยยิ้ม แสดงถึงความกระตือรือร้นที่จะให้ข้อมูล ชวนคุยอย่างสนุกสนาน ทำให้การชมงานศิลปะเต็มไปด้วยรอยยิ้มและเสียงหัวเราะ งานศิลปะที่นำมาจัดแสดงจึงไม่ใช่ของแปลกปลอมในพื้นที่ แต่เป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยสร้างความสัมพันธ์ระหว่างชุมชนท้องถิ่น คนนอกชุมชน (นักท่องเที่ยว) และศิลปวัฒนธรรมได้อย่างกลมกลืน ไทยแลนด์เบียนนาเล่ เชียงราย 2023 จึงเป็นความสำเร็จที่สำคัญต่อกรณีศึกษาในการสร้างการมีส่วนร่วม ระหว่างศิลปะและชุมชนได้เป็นอย่างดี

https://www.thailandbiennale.org/

 

เอกสารอ้างอิง

นิชกานต์ เตมียศิลปิน.(2559).ศิลปะชุมชนสามแพร่ง (วิทยานิพนธ์ปริญญาศิลปบัณฑิต). กรุงเทพฯ:มหาวิทยาลัยศิลปากร.