ศตวรรษที่21กับการท่องเที่ยวผู้สูงอายุในประเทศไทย

ศตวรรษที่  21กับการท่องเที่ยวผู้สูงอายุในประเทศไทย

21st century with the elderly tourism in Thailand

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ตุลยราศรี ประเทพ[1]

สาขาวิชาการท่องเที่ยว

คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา

เกริ่นนำ

การเปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับโครงสร้างอายุของประชากรโลก ส่งผลให้ประชากรวัยสูงอายุมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นโดยลําดับในปี พ .ศ.  2552  ทั่วโลกมีจํานวนประชากรสูงอายุที่มีอายุ  55  ปี ขึ้นไปประมาณ  1,005  ล้านคน จากจํานวนประชากรทั้งสิ้น  6,710  ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 15  ของประชากรโลก และมีแนวโน้มสัดส่วนประชากรผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นต่อไป เช่น ในปี พ .ศ. 2553 , 2558 ,  และ2563  คิดเป็นร้อยละ  15.6,  16 . 9  และ  18.6 ของประชากรทั้งหมด

สังคมผู้สูงอายุ (Ageing Society)กับการท่องเที่ยวศตวรรษที่  21

การเปลี่ยนแปลงโดยก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ (Ageing Society) อย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะหลังศตวรรษที่ 21 ซึ่งประชากรในยุค “Baby Boomer” หรือ “Gen X” จากแนวโน้มของประชากรโลกในศตวรรษที่  21 พบว่า ประชากรที่เป็นผู้สูงอายุ จะมีจํานวนเพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก   สืบเนื่องจากกลุ่มประชากรที่เกิดในช่วง  baby boom  ซึ่งเป็นประชากรกลุ่มใหญ่ของโลกได้เข้าสู่ช่วงสูงอายุ ทําให้ประชากรโลกที่อายุ  60 ปี ขึ้นไปมีจํานวนสูงเกือบร้อยละ  40 ของประชากรโลกทั้งหมด                (วิพรรณ ประจวบเหมาะ,2555)

การพัฒนาระบบสาธารณสุข การรักษาพยาบาลที่ดีขึ้น  ทำให้ประชากร มีอายุยืนยาวมากขึ้นส่งผลให้สัดส่วนประชากรสูงอายุเพิ่มสูงขึ้น โครงสร้าง ประชากรโลกเกิดการเปลี่ยนแปลงโดยก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ (Ageing Society) อย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะหลังศตวรรษที่ 21 ซึ่งประชากรในยุค “Baby Boomer” หรือ “Gen X” เข้าสู่วัยเกษียณอายุจากการงาน ประกอบกับการพัฒนาทางเศรษฐกิจ สังคม และการศึกษาส่งผลให้ผู้สูงอายุ มีความพร้อมทั้งด้านรายได้ สุขภาพ และเวลาในการเดินทางท่องเที่ยว เป็นผู้มีกำลังซื้อสูงมาก  ทำให้นักท่องเที่ยวผู้สูงอายุมีความสำคัญมากขึ้น ในขณะที่ค่าครองชีพในประเทศที่พัฒนาแล้วส่วนใหญ่จะมีอัตราที่ค่อนข้างสูง  บางประเทศจึงมีแนวคิดที่จะส่งเสริมให้ผู้สูงอายุของตนออกไปใช้ชีวิตในต่างประเทศที่มีค่าครองชีพ  ที่เหมาะสมและยังคงไว้ซึ่งคุณภาพชีวิตที่ดีการที่ประชากรมีอายุยืนขึ้น เนื่องจากประชากรมีภาวะสุขภาพที่ดีขึ้น ทําให้ผู้สูงอายุส่วนหนึ่งขยายอายุการทํางาน ออก ไปอีก ระยะหนึ่ง โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่มีภาวะสุขภาพใน เกณฑ์ดี  สําหรับผู้สูงอายุที่เกษียณอายุจะมีระยะเวลาหลังเกษียณอายุงานมากขึ้น ผู้สูงอายุส่วนใหญ่จะใช้ชีวิตช่วงหลังเกษียณอายุงานประกอบกิจกรรมต่างๆ โดยเฉพาะกิจกรรมสันทนาการ และการเดินทางท่องเที่ยว เพื่อการพักผ่อน หรือเที่ยวชมศิลปวัฒนธรรมและธรรมชาติ เนื่องจากมีเวลามากกว่านักท่องเที่ยววัยอื่นๆ และมีความพร้อมทางด้านการเงิน    ตลาดนักท่องเที่ยวสูงอายุจึงเป็นส่วนตลาดที่มีความสําคัญเนื่องจากเป็นตลาดขนาดใหญ่และเป็นตลาดที่กําลังเจริญเติบโตอย่างต่อเนื่อง ทั้งยังมีอํานาจในการซื้อมาก (Greenberg 1999, Shoemaker 2000, Wuest et al 2001)  การท่องเที่ยวเป็นกิจกรรมที่ก่อให้เกิดผลดีทั้งเชิงเศรษฐกิจและสังคม ต่อประเทศ  เป็นภาคการผลิตที่ทำรายได้สูงสุดให้แก่ประเทศ    ในปี พ.ศ. 2555 ประเทศไทยมีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาท่องเที่ยว 22.35 ล้านคน (เพิ่มขึ้นร้อยละ 16.29) และมีรายได้จากการท่องเที่ยว 983,928 ล้านบาท (เพิ่มขึ้นร้อยละ 26.76)  (กรมการท่องเที่ยว, 2556)  การเดินทางของนักท่องเที่ยวไปยังแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ ทั่วประเทศไทยทำให้เกิดการจ้างงานและการกระจายรายได้ไปสู่ประชาชน  และชุมชนท้องถิ่น ทั้งยังเป็นช่องทางการแลกเปลี่ยนเรียนรู้วัฒนธรรมที่แตกต่าง และหลากหลายระหว่างนักท่องเที่ยวจากทุกภูมิภาคทั่วโลกกับประชาชนในชุมชน ท้องถิ่นซึ่งมีส่วนกระตุ้นให้ประชาชนในท้องถิ่นตระหนักถึงความสำคัญของ การรักษา อนุรักษ์ ฟื้นฟู ศิลปวัฒนธรรม ภูมิปัญญา ทรัพยากรธรรมชาติและ สิ่งแวดล้อมในท้องถิ่น การท่องเที่ยวยังมีส่วนในการสร้างความเข้าใจอันดีระหว่าง นักท่องเที่ยวผู้มาเยือนกับประชาชนในท้องถิ่นที่เป็นแหล่งท่องเที่ยว การส่งเสริมรัฐบาลไทยโดยคณะกรรมการนโยบายท่องเที่ยวแห่งชาติมีมติให้ปี 2561 เป็น “ปีท่องเที่ยววิถีไทย เก๋ไก๋อย่างยั่งยืน” หรือ “Amazing Thailand Tourism Year 2018” โดยจะเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2560 – 1 มกราคม 2562 และจะมีพิธีเปิดอย่างเป็นทางการในวันที่ 15 พฤศจิกายน 2560 โดยที่ประชุมในวันนี้ประกอบด้วยผู้บริหารหน่วยงานในสังกัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กลุ่มผู้ประกอบการอุตสาหกรรมท่องเที่ยว กลุ่มห้างสรรพสินค้า และกลุ่มสายการบิน เพื่อขอความร่วมมือในการประชาสัมพันธ์ การใช้ตราสัญลักษณ์ การมอบสินค้าและบริการราคาพิเศษ อีกทั้งการเป็นเจ้าบ้านที่ดี ให้การต้อนรับนักท่องเที่ยวด้วยไมตรีจิต การดำรงวัฒนธรรมที่ดีงามและการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมให้สมบูรณ์ สาระสำคัญในการส่งเสริม “ปีท่องเที่ยววิถีไทย เก๋ไก๋อย่างยั่งยืน” นั้น เป็นการเน้นย้ำให้การท่องเที่ยวเป็นอุตสาหกรรมที่เกื้อกูลเรื่องความมั่นคง เศรษฐกิจ สังคม จิตวิทยาและการต่างประเทศ ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่ต้องบูรณาการทุกภาคส่วนเพื่อนำประเทศไทยไปสู่การเป็นแหล่งท่องเที่ยวคุณภาพที่เจริญเติบโตอย่างมีดุลยภาพบนพื้นฐานของความเป็นไทยโดยนำรายได้สู่ประชาชนทุกภาคส่วนอย่างยั่งยืน เพื่อบรรลุวิสัยทัศน์ให้ประเทศไทยเป็นแหล่งท่องเที่ยวคุณภาพชั้นนำของโลกที่เติบโตอย่างแข็งแรง ทั้งนี้รัฐบาลจะส่งเสริมกิจกรรมการท่องเที่ยวที่มีศักยภาพและมีความพร้อมบนพื้นฐานของเอกลักษณ์ไทย ซึ่งสอดคล้องกับกระแสความต้องการของประชากรโลก อีกทั้งสอดรับกับเจตนารมณ์ของ UNWTO มุ่งเน้นการเพิ่มสัดส่วนนักท่องเที่ยวคุณภาพ แต่ยังคงรักษาฐานนักท่องเที่ยวตลาดเดิม สร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจและกระจายรายได้สู่ท้องถิ่นอย่างทั่วถึงและเป็นธรรม สนับสนุนการท่องเที่ยวชุมชน โดยยกระดับและเพิ่มมูลค่าทางการท่องเที่ยวให้กับชุมชนทั่วประเทศ อันจะเป็นการวางรากฐานของเศรษฐกิจในภาพรวม เพื่อสร้างรายได้ให้กับชุมชนตามนโยบายของรัฐบาล

แผนพัฒนาการท่องเที่ยวแห่งชาติฉบับที่ 12 (พ.ศ.2560-2564) จะเน้น 5 ยุทธศาสตร์ ได้แก่ ยุทธศาสตร์การพัฒนาคุณภาพสินค้า บริการและความยั่งยืน ยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวกเพื่อการท่องเที่ยว ที่สอดรับกับแผนลงทุนของกระทรวงคมนาคม ยุทธศาสตร์ด้านทรัพยากรมนุษย์ ยุทธศาสตร์ด้านการตลาดและเสริมสร้างภาพลักษณ์ และยุทธศาสตร์ด้านการบริหารจัดการและกฎหมาย ภายในปี 2564 ไทยยังคงเป็นแหล่งท่องเที่ยวชั้นนำของโลกในด้านการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม ทะเล ชายหาด การแพทย์ และเริ่มมีการส่งเสริมและสนับสนุนการเป็นแหล่งท่องเที่ยวชั้นนำในเซ็กเมนต์อื่นๆ การใช้จ่ายต่อหัวต่อทริปโตอย่างต่อเนื่องสำหรับกลุ่มภูมิศาสตร์หลักปัจจุบัน(เช่น จีน อาเซียน ยุโรปตะวันตก นักท่องเที่ยวไทย) และเริ่มมีการขยายเป้าหมายกลุ่มภูมิศาสตร์ รวมถึงทุกจังหวัดในเขตพัฒนาการท่องเที่ยว (คลัสเตอร์) ที่ได้กำหนดไว้ได้รับการพัฒนา ทำให้การท่องเที่ยวยังคงเป็นหนึ่งในตัวจักรสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจและการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและมีการสนับสนุนจากภาครัฐให้ภาคเอกชนและชุมชนท้องถิ่นมีส่วนร่วมมากขึ้นในการพัฒนาท่องเที่ยว (กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา, 2560)

 การท่องเที่ยวจึงเป็นหนึ่งในนโยบายหลักที่รัฐบาลใช้ในการพัฒนาเศรษฐกิจของ ประเทศ ดังนั้น ประเทศไทยจึงต้องมีการปรับตัวและพัฒนาด้านการส่งเสริม การท่องเที่ยวอยู่ตลอดเวลาเพื่อให้ทันกับสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงของตลาดการท่องเที่ยว  สถาบันวิจัยเพื่อพัฒนาการท่องเที่ยวไทย ได้คาดการณ์ว่าในปี พ.ศ. 2563 ทั่วโลกจะมี นักท่องเที่ยวผู้สูงอายุประมาณ 700 ล้านคน        (ผู้จัดการออนไลน์, 2552) จึงเป็น กลุ่มนักท่องเที่ยวเป้าหมายที่ประเทศไทยต้องให้ความสนใจเพิ่มมากขึ้น การท่องเที่ยวสำหรับผู้สูงอายุเป็นส่วนหนึ่งที่ส่งผลทำให้ผู้สูงอายุเกิด ความสุข และความสบายใจ รูปแบบและพฤติกรรมการท่องเที่ยวที่เป็นลักษณะ เฉพาะของนักท่องเที่ยวผู้สูงอายุ คือ เน้นการท่องเที่ยวและบริการที่มีคุณภาพดี คำนึงถึงความคุ้มค่าในการซื้อบริการ ต้องการความมั่นใจด้านความปลอดภัย ความมั่นใจด้านบริการ ดูแลสุขภาพที่ดี โดยยินดีจ่ายเงินเพิ่มขึ้น และต้องการ กิจกรรมที่เหมาะกับวัยและสุขภาพ (Kotler, et al., 2006) นอกจากนี้ยังต้องการ ได้รับข้อมูลหรือความรู้เกี่ยวกับสถานที่ท่องเที่ยวที่ละเอียดและข้อมูลเชิงลึกกว่า นักท่องเที่ยวทั่วไป เนื่องจากนักท่องเที่ยวผู้สูงอายุเป็นผู้มีประสบการณ์ และส่วนหนึ่ง เคยมาท่องเที่ยวในแหล่งท่องเที่ยวนี้มาก่อนแล้ว อย่างไรก็ตาม ความเสื่อมสภาพ ของร่างกายตามธรรมชาติของผู้สูงอายุ ทำให้มีการเคลื่อนไหวช้าลง เหนื่อยง่าย การฟังและการมองเห็นเริ่มมีปัญหา จึงเกิดการท่องเที่ยวรูปแบบใหม่ มีกิจกรรม ในแหล่งท่องเที่ยวสำหรับนักท่องเที่ยวผู้สูงอายุจึงต้องไม่ใช้กำลังมาก (Passive Activities) เป็นการท่องเที่ยวที่ ไม่เร่งรีบ(Slow Tourism)  ผู้ให้บริการหรือผู้จัดการท่องเที่ยวจึงต้องทำความเข้าใจให้ถูกต้องเกี่ยวกับสภาพแหล่งท่องเที่ยวที่เหมาะสม  ในการจัดการท่องเที่ยวสำหรับผู้สูงอายุ   ซึ่งเป็นที่มาของการศึกษาในโครงการนี้ แนวคิดการท่องเที่ยวที่ไม่เร่งรีบ (Slow Tourism) เริ่มขึ้นในทวีปยุโรป ซึ่งเป็นกลุ่มประเทศพัฒนาและมีการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุก่อนทวีปอื่นๆ โดยการ ท่องเที่ยวในรูปแบบนี้เป็นการท่องเที่ยวแบบช้าๆ ไม่เร่งรีบ เน้นการใช้เวลาอยู่ ในแหล่งท่องเที่ยวนานกว่าปกติ เน้นมิติของการเรียนรู้      การซึมซับประสบการณ์ ใหม่ๆ ในแหล่งท่องเที่ยว เพื่อให้นักท่องเที่ยวได้ศึกษาเรื่องราวความเป็นมาของ   แหล่งท่องเที่ยวเรียนรู้วัฒนธรรมท้องถิ่นและสัมผัสวิถีชีวิตของผู้คนได้อย่างเต็มที่ เป็นการใช้เวลาและใช้งบประมาณในการท่องเที่ยวได้อย่างคุ้มค่า จึงเป็นรูปแบบ การเดินทางท่องเที่ยวที่มีความเหมาะสมกับนักท่องเที่ยวผู้สูงอายุอย่างยิ่ง ดังนั้น แหล่งท่องเที่ยวที่จะจัดการท่องเที่ยวแบบ Slow Tourism  จึงควรมีศักยภาพ และความพร้อมในด้านการสิ่งบริการอำนวยความสะดวกด้านการจัดบริการ ด้านการจัดกิจกรรม มีการเดินทางเข้าถึงที่สะดวก ซึ่งนักท่องเที่ยวผู้สูงอายุนิยมเดินทางท่องเที่ยวในแหล่งท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียง อาจเป็นสถานที่ที่นักท่องเที่ยว เคยเดินทางท่องเที่ยวมาแล้ว และพร้อมที่จะเดินทางกลับมาท่องเที่ยวซ้ำ ในแหล่งท่องเที่ยวที่มีความประทับใจในมิติต่างๆ เช่น สถานที่ มัคคุเทศก์ บรรยากาศ (ฉลองศรี พิมลสมพงศ์, 2548) สามารถซึมซับความรู้สึกได้ยาวนาน ไม่เร่งรีบ และเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ไม่มีนักท่องเที่ยวจำนวนมากเพราะไม่สามารถ เดินทางได้รวดเร็วเหมือนนักท่องเที่ยวกลุ่มอื่น (วารัชต์ มัธยมบุรุษ, 2554)

 

ลักษณะเด่นของประชากรรุ่น เบบี้บูม

โครงการสุขภาพคนไทย  (2559) กล่าวถึงลักษณะเด่นของประชากรรุ่น เบบี้บูมไว้ มี ดังนี้ 

1) อนุรักษ์นิยมกึ่งสมัยใหม่ กล่าวคือ ประชากรรุ่นเบบี้บูมเจริญเติบโตพร้อมกับความยากลำบากของพ่อแม่ จึงเป็นคนที่มีชีวิตเพื่อการทำงาน เคารพกฎเกณฑ์และกติกา อดทนในการทำงานเพื่อสร้างความสำเร็จ แม้จะใช้เวลา จึงมีความทุ่มเทกับการท างานและองค์กร ส่งผลให้ประชากรรุ่นนี้ ไม่ค่อยเปลี่ยนงานและมีความจงรักภักดีกับองค์กรสูง

2) เชื่อมั่นในตัวเอง กล่าวคือ ประชากรรุ่นเบบี้บูมมีความเชื่อมั่นในตัวเองเพราะผ่านเหตุการณ์ต่าง ๆ มามากมาย ทั้งการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองและการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจส่งผลให้มีความเชื่อมั่นในตัวเองสูง และสามารถตัดสินใจวางแผนและดำเนินการสิ่งต่างๆ ได้อย่างเด็ดขาด โดยมีความเชื่อว่าตนเองสามารถเปลี่ยนแปลงทุกอย่างได้

3) มีประสบการณ์สูง กล่าวคือ ประชากรรุ่นเบบี้บูมมีประสบการณ์ในการดำเนินชีวิตและการทำงานที่หลากหลายส่งผลให้ประชากรกลุ่มนี้มีความเชื่อว่าตนเองมีประสบการณ์สูง เป็นส่วนเสริมให้ประชากรรุ่นนี้มีความเชื่อมั่นในตัวเองสูงด้วย

4) รักครอบครัว กล่าวคือ ประชากรรุ่นเบบี้บูม เกิดและเติบโตในครอบรัวขนาดใหญ่และมีความรู้สึกผูกพันกับการอยู่ร่วมกันกับคนจำนวนมาก

5) ต้องการให้ตัวเองดูดี กล่าวคือ ประชากรรุ่นเบบี้บูมมีความพยายามในการดูแลตัวเอง และ

นิยมเข้าสังคมเพื่อสร้างเสริมความรู้สึกภูมิใจและคุณค่าทางจิตใจให้ตนเอง

6) ใช้ชีวิตเรียบง่าย กล่าวคือ ประชากรรุ่นเบบี้บูมมีความชื่นชอบใช้ชีวิตไม่ซับซ้อน มักจะชอบกิจกรรมที่ไม่ยุ่งยาก หรือซับซ้อนเพื่อลดเวลาและขั้นตอนต่างๆ ลง

7) เป็นผู้ทรงอิทธิพลทางความคิด กล่าวคือ ประชากรรุ่นเบบี้บูมมีประสบการณ์ในชีวิตมากมาย จึงส่งผลให้ประชากรรุ่นนี้กลายเป็นรุ่นที่มีอิทธิพลทางความคิดและเป็นผู้อยู่เบื้องหลังการกระทำการณ์ของประชากรรุ่น (Generation) อื่น ๆ อยู่เสมอ

พฤติกรรมการท่องเที่ยวของผู้สูงอายุ

          จากการศึกษาพฤติกรรมการท่องเที่ยวของผู้สูงอายุด้านต่างๆ ดังนี้

  1. การรับรู้ ด้านความรู้เกี่ยวกับการท่องเที่ยวผู้สูงอายุ พบว่า ส่วนใหญ่มีการรับรู้ว่าการท่องเที่ยวคือการพักผ่อนที่ดี แต่สถานที่ท่องเที่ยวจะไปต้องมีความปลอดภัย  มีส่วนช่วยให้มีเศรษฐกิจพัฒนาโดยเฉพาะ อย่างยิ่งเศรษฐกิจของชุมชน  รวมถึงการพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในท้องถิ่น ตลอดจนการส่งเสริมการเรียนรู้ในหลาย ๆ ด้าน เช่น  การเปิดโลกทัศน์ ทักษะชีวิต การพัฒนาความรู้ของตนเอง

2. การรับรู้ ด้านแหล่งข้อมูลเกี่ยวกับการท่องเที่ยว  พบว่า ส่วนใหญ่จะจัดการหาข้อมูลด้วยตนเอง บางครั้งอาจจะมีบุคคลในครอบ ครัวช่วยหาข้อมูล เช่น การค้นหาจากเวปไซต์ คู่มือการท่องเที่ยว เป็นต้น หรือ ไปสำรวจสถานที่ท่องเที่ยวด้วยตนเอง มีอะไรน่าสนใจบ้าง ถ้าเป็นเส้นทางที่ไม่คุ้นเคยหรือการเดินทางไปยังต่างประเทศจะใช้บริการทัวร์ และคาดหวังที่จะให้จัดเตรียมทุกอย่าง เช่น อาหาร ที่พัก รถ เป็นต้น โดยที่จะนำข้อมูลที่ได้มาพิจารณาสิ่งอำนวยความสะดวก เมื่อหาข้อมูลได้เพียงพอก็จะชวนคนอื่นๆ  เช่น เพื่อน บุคคลในครอบครัว

3. ทัศนคติด้านการท่องเที่ยว พบว่า ส่วนใหญ่มีทัศนคติเกี่ยวกับการท่องเที่ยวช่วยผ่อนคลายความเครียด ได้เรียนรู้ เสริมสร้างประสบการณ์ในชีวิต ได้มีโอกาสแสดงสัมพันธภาพที่ดีกับคนในครอบครัวและผู้อื่น เช่น เพื่อน คนร่วมเดินทาง คนในชุมชนและคนในท้องถิ่น เป็นต้น รวมถึงได้แลกเปลี่ยนข้อมูล ซึ่งสามารถทำให้เราสามารถสร้างเครือข่าย ทางสังคม

4. ด้านสังคมและวัฒนธรรม

1) การขัดเกลาทางสังคม พบว่า เมื่อใดที่มีการท่องเที่ยว ส่วนใหญ่จะต้องปรับตัวให้เข้ากับสถานที่ที่เราไป โดยเฉพาะการเตรียมความ ศึกษาประเพณี วิถีชีวิตไว้ก่อน พร้อมทั้งต้องให้เกียรติ มีมารยาท เคารพสถานที่และคนในท้องถิ่น แต่บางครั้งก็อาจจะกินยากอยู่ โดยจะต้องเตรียมเครื่องปรุงอาหารไทยไปด้วย ส่วนในกรณีซื้อบริการทัวร์ต้องจัดบริการตามที่เสนอมา ถ้าตัดบางรายการจะไม่พอใจ รวมถึงค่าใช้จะต้องมีความคุ้มค่า เช่น ค่าทัวร์ ค่า ที่พัก การมีส่วนร่วมทางสังคม พบว่า ส่วนใหญ่จะเดินทางไปท่องเที่ยวกับครอบครัว เพราะเวลาเดินทางจะมีคนหลากหลายวัย  ทำให้ส่งเสริมความเข้าใจอันดีระหว่างวัย การท่องเที่ยวก็จะมีครอบครัวร่วมกันตัดสินใจ ในระหว่างเที่ยวก็ร่วมกันจัดกิจกรรม เช่น ร้องเพลง แลกเปลี่ยนพูดคุย เป็นต้น อีกทั้งชื่นชอบมีส่วนร่วมกับคนในท้องถิ่นและชุมชน ซึ่งเป็นพื้นที่ในการเรียนรู้วิถีชีวิตซึ่งกันและกัน อีกทั้งยังเป็นกลุ่มที่มีประสบการณ์และต้องการแบ่งปัน

2) การเกื้อหนุนทางสังคม พบว่า ประชากรรุ่นเบบี้บูมส่วนใหญ่ เห็นว่า สุขภาพมีผลต่อการท่องเที่ยว เพราะถ้าสุขภาพดี ก็เที่ยวสนุก แต่ถ้าสุขภาวะไม่ดีก็อาจจะเป็นอุปสรรคบ้าง การเข้าถึงข้อมูลโดยเฉพาะเทคโนโลยีเป็นปัจจัยในการสนับสนุนการค้นหาข้อมูลการท่องเที่ยวที่หลากหลาย อีกทั้งงบประมาณก็เป็นสิ่งสำคัญบางครั้งก็เป็นผู้สนับสนุนค่าใช้ให้บุคคลในครอบครัว แต่การใช้จ่ายจะต้องมีความคุ้มค่าและประหยัด ส่วนสิ่งอำนวยความสะดวกที่ปลอดภัย เช่น สุขา ทางลาด ราวจับ เป็นต้น  ก็เป็นปัจจัยที่ต้องพิจารณาก่อนไปท่องเที่ยว ส่วนอายุเท่าใดก็เที่ยว ถ้าเป็นไปได้เวลาเที่ยวก็ต้องการให้มีบริการนวด อุปกรณ์การแพทย์พื้นฐาน เช่น ถังออกซิเจน ยาต่างๆ รถเข็น เป็นต้น  จะได้ไปเที่ยวอย่างสนุกไร้ข้อจำกัด

 

สรุป

จากที่กล่าวมาทั้งหมดผู้เขียนเห็นว่าหากจะจัดการการท่องเที่ยวของกลุ่มผู้สูงอายุในศตวรรษที่ 21 นั้นมีความจําเป็นอย่างยิ่งที่หน่วยงานที่รับผิดชอบจะต้องกําหนดวาระแห่งชาติเกี่ยวกับเรื่องนี้ จะต้องมีการวิเคราะห์สังเคราะห์ ออกมาให้ได้ว่า คุณลักษณะของผู้สูงอายุในศตวรรษที่ 21  คือ อะไร หลังจากนั้นจึงวางแผนดําเนินการโดยมีการสอดประสานกันในทุกภาคส่วนทั้งหน่วยงานภาคการท่องเที่ยว ผู้ประกอบการ และชุมชนแหล่งท่องเที่ยวผู้มีส่วนได้เสีย  มีการติดตาม ตรวจสอบการดําเนินงานเป็นระยะๆ  เพื่อนําไปสู่การแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น และการกํากับให้ไปสู่ทิศทางที่ต้องการ

 

 

เอกสารอ้างอิง

กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา. (2554 ก). ยุทธศาสตร์กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา พ.ศ. 2555-2559. กรุงเทพฯ: กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา.

กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา. (2554 ข). แผนพัฒนาการท่องเที่ยว พ.ศ. 2555-2559. กรุงเทพฯ:กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา.

การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย. (2558). ประเภทการท่องเที่ยว. สืบค้นจาก

http://www.igpthai.org/NS057/userfiles/files/Tourism.pdf. (10 สิงหาคม 2562)

โครงการสุขภาพคนไทย. (2559)บทความ. สุขภาพคนไทย 2559 (เลขหน้าของบทความ). นครปฐม: สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล.

ฉลองศรี พิมลสมพงศ์. … (2548). การพัฒนาการท่องเที่ยวแบบยั่งยืน. กรุงเทพฯ: เพรส แอนด์ ดีไซน์. … (2548). การวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม, ” วารสารราชภัฎตะวันตก 1 :.

ผู้จัดการออนไลน์ .2552. เทรนด์นักเที่ยวสูงวัยมาแรงเร่งปรับตัวชิงเค้ก700ล. คน.สืบค้นจาก                (ระบบออนไลน์): http://www.manager.co.th/ Daily/ViewNews.aspx?NewsID=9520000149691&TabID=2&  (9 พฤษภาคม 2556)

วิพรรณ ประจวบเหมาะ (บก.). (2555). สถานการณ์ผู้สูงอายุไทย พ.ศ. 2554. กรุงเทพฯ: มูลนิธิ

สถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย และวิทยาลัยประชากรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

วิพรรณ ประจวบเหมาะ (บก.). (2556). สถานการณ์ผู้สูงอายุไทย พ.ศ. 2555. กรุงเทพฯ: มูลนิธิ

สถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย และวิทยาลัยประชากรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

วารัชต์ มัธยมบุรุษ. (2554). แนวทางการพัฒนาเส้นทางการท่องเที่ยวสำหรับนักท่องเที่ยวผู้สูงอายุ กรณีศึกษาพื้นที่รอบการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแม่เมาะ จังหวัดล้าปาง. การประชุมวิชาการ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ประจำปี 2554; “การพัฒนาอนาคตชนบทไทย : ฐานรากที่มั่นคง เพื่อการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน” 27 – 29 มกราคม 2554: 189 – 193.

พงศ์เสวก อเนกจำนงค์พร. (2559). พฤติกรรมการท่องเที่ยวของประชาชนรุ่นเบบี้บูมในกรุงเทพ ปริญญาศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาการจัดการอุตสากรรมบริการและการท่องเที่ยว บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยกรุงเทพ

Greenberg, G. M. (1999). Understanding the Older Consumer: the Grey Market‛, Choice, 36, p. 1662-1663.

Kotler, P. and Keller, K. (2006) Marketing Management. 12th Edition, Prentice Hall, Upper Saddle River.  Published by Pearson Education 

Lohmann, Martin. (2001). Predicting travel Patterns of Senior Citizens: How the Past May Provide a Key to the Future‛, Journal of Vacation Marketing, Vol. 7, No. 4, p. 357-366.

Shoemaker, Stowe. 2000. “Segmentation the Market: 10 Years Later”, Journal of Travel Research, Vol. 39 (1), p. 11-26

Wuest, B., Emenheiser, D., and Tas, R. 2001. “ Is the Lodging Industry Serving the Needs of Mature Consumers? A Comparison of Mature Travelers’ and Lodging Managers Perceptions of Service Needs” Journal of Hospitality & Leisure Marketing, 8 (3/4), p. 85-96.Kotler, et al. (2006)

 

[1]อาจารย์ประจำ สาขาวิชาการท่องเที่ยว คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา