วิธีการสอนแบบสร้างสรรค์เป็นฐาน (Creativity-based Learning Model: CBL)
อาจารย์กฤษฎา กาญจนวงศ์*
บทนำ
การจัดการเรียนการสอนในอดีตมุ่งเน้นไปที่การคิดวิเคราะห์ ความเป็นเหตุเป็นผล และความถูกต้อง เป็นส่วนใหญ่ ตลอดจนขาดการเตรียมความพร้อมในการพัฒนาทักษะในศตวรรษที่ 21 ทำให้ผู้เรียนขาดทักษะสำคัญไปหลายอย่างไม่ว่าจะเป็น ทักษะด้านการคิดวิเคราะห์ ทักษะด้านการค้นคว้าหาความรู้ ทักษะด้านการสื่อสาร และทักษะด้านการคิดสร้างสรรค์ซึ่งรูปแบบการสอนที่สามารถพัฒนาทักษะดังกล่าวนั้นได้ คือ วิธีการสอนแบบสร้างสรรค์เป็นฐาน พัฒนามาจากวิธีการสอนแบบใช้ปัญหาเป็นฐาน และความคิดแนวขนาน ของ เอ็ดเวิร์ด เดอ โบโน โดยเน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ ซึ่งเป็นทักษะที่จำเป็นในศตวรรษที่ 21 สามารถนำไปพัฒนาและต่อยอดในอนาคตได้
วิธีการสอนแบบสร้างสรรค์เป็นฐาน
รูปแบบการสอนแบบสร้างสรรค์เป็นฐาน (Creativity–based Learning : CBL) เป็นวิธีการจัดการเรียนการสอนโดยเน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ เป็นรูปแบบการเรียนที่พัฒนามาจากโครงสร้างการเรียนการสอน แบบใช้ปัญหาเป็นฐาน (Problem Based Learning) และแนวทางการพัฒนาความคิดสร้างสรรค์แบบความคิดแนวขนานของ เอ็ดเวิร์ด เดอ โบโน (Edward De Bono) เป็นการจัดการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ โดยการนำกระบวนการสอนแบบ Active Learning มาใช้ในการจัดกิจกรรมส่งเสริมให้ผู้เรียนลงมือกระทำ ด้วยตนเอง โดยมีผู้สอนเป็นผู้อำนวยความสะดวกและคอยให้คำแนะนำ ส่งผลให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ เกิดทักษะในการคิดวิเคราะห์ เกิดทักษะการคิดสร้างสรรค์ และมีความสุขในการเรียนเพิ่มขึ้น ตลอดจนเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานเป็นทีมของผู้เรียน
วิริยะ ฤาชัยพาณิชย์ และวรวรรณ นิมิตพงษ์กุล (2562 : 31-33) กล่าวไว้ว่า วิธีการสอนแบบสร้างสรรค์เป็นฐาน (CBL) เป็นการเรียนแบบตื่นตัว ทำให้เด็กทุกคนกลายเป็นคนร่าเริงมีเสียงหัวเราะ และกล้าแสดงความคิดเห็น เด็ก ๆ ได้ค้นคว้าจากสื่อเทคโนโลยีได้เรียนแบบค้นคว้า คิด และนำเสนอ ได้ทำงานเป็นกลุ่ม โดยเน้นกระบวนการลงมือทำด้วยความกระตือรือร้นในการค้นคว้า โดยนำหลักการสอน Active Learning มาใช้ในการจัดการเรียนรู้
* อาจารย์สาขาวิชาภาษาไทย (ค.บ.) คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์
ทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 นี้กลายเป็นส่วนหนึ่งในการกระตุ้นให้เกิดการปฏิรูปการศึกษา เพื่อเปลี่ยนแปลงระบบการเรียนการสอนแบบดั้งเดิม เพราะการสอนแบบเดิมผู้เรียนอาจได้ความรู้ แต่ขาดทักษะโลกของงานและสังคมยุคศตวรรษที่ 21 ซึ่งเป็นยุคแห่งข้อมูลข่าวสารยุคที่ต้องการคนที่มีทักษะการคิดการแก้ปัญหาและความคิดสร้างสรรค์รูปแบบการเรียนการสอนแบบสร้างสรรค์เป็นฐานนี้เป็นส่วนหนึ่ง ในวิธีการของการจัดการเรียนการสอนโดยมีผู้เรียนเป็นสำคัญ รูปแบบการสอนนี้ได้ทำการวิจัยต่อยอดมาจาก Problem-Based Learning (PBL) ซึ่งเป็น หนึ่งในแนวทางการสอนที่ได้ผลดีในหลายประเทศ แต่สิ่งที่ยังขาดหายไปในการเรียนแบบ PBL คือทักษะในเรื่องความคิดสร้างสรรค์ จึงได้นำเอาทฤษฎีความคิดสร้างสรรค์เข้ามาใช้ร่วมกับ PBL เพื่อสร้างรูปแบบการเรียนใหม่ที่น่าจะเหมาะสมและสามารถพัฒนาทักษะในศตวรรษที่ 21 ได้อีกด้วย (บุษยา ธงนำทรัพย์ 2562 : 37) การสอนแบบสร้างสรรค์เป็นฐาน (CBL) มุ่งเน้นให้ผู้เรียนได้ลงมือปฏิบัติกิจกรรมต่าง ๆ ด้วยตนเอง โดยมีผู้สอนเป็นผู้อำนวยความสะดวก และให้คำแนะนำ ตลอดจนการ ตั้งคำถามให้สอดคล้องกับจุดประสงค์การเรียนรู้ที่กำหนดไว้ เพื่อให้ผู้เรียนได้ค้นคว้าหาคำตอบด้วยตนเอง จากนั้นนำมาเสนอ สรุป และประเมินผลโดยเพื่อนร่วมห้อง รวมถึงครูผู้สอนตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้
อรวรรณ อุดมสุข (2564 : 29) กล่าวว่า การสอนแบบสร้างสรรค์เป็นฐานมุ่งให้ผู้เรียนได้พัฒนาความสามารถทางสติปัญญาโดยให้ผู้เรียนเกิดทักษะด้านการค้นคว้าทักษะในการคิดและทักษะ การทำงาน เป็นกลุ่ม สามารถเชื่อมโยงความรู้ใหม่เข้ากับความรู้เดิมโดยผู้สอนสนับสนุนให้ผู้เรียนใช้ความคิดสร้างสรรค์ ในการนำเสนอความคิดสามารถนำไปปรับใช้เพื่อการเรียนการสอนที่มีประสิทธิภาพต่อไป
วิริยะ ฤาชัยพาณิชย์ และวรวรรณ นิมิตพงษ์กุล (2562 : 83-84) กล่าวถึง กระบวนการเรียนรู้ของวิธีสอนแบบสร้างสรรค์เป็นฐาน (CBL) มี 5 ขั้นตอนดังนี้
1. ขั้นกระตุ้นความสนใจ เป็นการกระตุ้นเชิงบวกที่ส่งผลให้ผู้เรียนสนใจ อยากเรียน อยากรู้ อยากค้นหาคำตอบและตื่นตัวในการค้นหาความรู้ด้วยตนเอง เช่น การนำปัญหาที่ผู้เรียนสนใจ มาตั้งเป็นหัวข้อให้ค้นคว้าหรือใช้เหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับผู้เรียนหรือสิ่งที่ผู้เรียนสนใจเป็นตัวกระตุ้นด้วยวิธีนี้เด็กจะไม่ได้เรียนเพื่อสอบ แต่เรียนเพื่อรู้และความรู้ที่เด็กค้นหาก็สามารถนำไปใช้ในชีวิตได้จริง กระตุ้นการเรียนด้วย สื่อคลิปวิดีโอ เกม เป็นตัวเลือกที่ดีมากในการกระตุ้นความสนใจของผู้เรียน เพราะเด็กได้ฝึกทักษะการสื่อสารด้านปฏิสัมพันธ์ การทำงานร่วมกับผู้อื่น รู้จักแพ้ชนะ และรู้จักปรับปรุงแก้ไขตนเองมากกว่าการคิดเอาชนะอย่างเดียว
2. ขั้นตั้งปัญหาและแบ่งกลุ่ม เนื้อหาที่สอนมีประโยชน์อะไรหรือจะนำไปใช้งาน เรื่องอะไรที่เกี่ยวข้องกับชีวิตจริงอย่างไร การนำปัญหาในชีวิตจริงเป็นตัวตั้ง เช่น อ่านออกเสียงผิดจะทำให้ความหมายผิดตามไปด้วยหรือไม่
3. ขั้นการค้นและคิดหนึ่งในบริบทของ CBL คือ การให้ความสมัครใจความสนใจและ ความร่วมมือกันของเด็ก ดังนั้นการแบ่งกลุ่มเพื่อค้นและคิดจึงให้แบ่งตามความสนใจซึ่งจะทำให้เด็กร่วมกันค้นคว้าในเรื่องที่ตนสนใจเป็นการค้นหาด้วยความ “อยากรู้” ครูควรตั้งปัญหาให้แต่ละกลุ่มค้นคว้า เรื่องที่แตกต่างกันเพราะจะทำให้เด็กได้ความรู้นอกเหนือจากเรื่องที่ตนเองค้นหามาเองและไม่เบื่อที่จะฟังกลุ่มอื่นนำเสนอ
* อาจารย์สาขาวิชาภาษาไทย (ค.บ.) คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์
4. ขั้นนำเสนอ หลังจากที่ได้ค้นคว้าหาข้อมูลและร่วมกันคิดหาข้อสรุปแล้วเด็ก ๆ จะออกมานำเสนอผลงานทีละกลุ่ม ยิ่งเด็กมีโอกาสนำเสนอบ่อย ๆ ก็ยิ่งเพิ่มพูนทักษะการนำเสนอ ส่วนสมาชิกในกลุ่มก็เกิดทักษะการทำงานร่วมกัน ทักษะการค้นคว้าและทักษะการคิด ครูส่งเสริมทักษะต่าง ๆ โดยสนับสนุนและเปิดโอกาสให้แสดงความสามารถตามความถนัดให้กับผู้เรียน เช่น นำเสนอด้วย PowerPoint พูดคนเดียว อภิปรายกลุ่มหรือนำเสนอเป็นโปสเตอร์ แชร์ลง Facebook แชร์ลงเพจ หรือนำเสนอทางโซเชียลมีเดีย ครูควรกำหนดกติกาของห้องเรียน เช่น ต้องฟังเวลาเพื่อนนำเสนอ ครูอาจใช้วิธีถามนักเรียนกลุ่มอื่น ๆ ทันทีหลังจากจบการนำเสนอหรือให้ผู้เรียนต่างกลุ่มถามคำถาม เพื่อเป็นการกระตุ้นให้ตั้งใจฟัง ควรให้เวลากับการถามตอบ เพราะเป็นกระบวนการที่ทำให้ผู้นำเสนอและผู้ฟังได้ทบทวนตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลที่นำเสนอ ครูช่วยเพิ่มเติมหรือแก้ไขได้
5. ขั้นประเมินผล การประเมินผลจึงจำเป็นต้องทำให้ครอบคลุมทั้ง 3 ด้าน ได้แก่ ความรู้ (Knowledge) ทักษะ (Skill) และคุณลักษณะอันพึงประสงค์ (Attributes) และควรแยกแสดงผลแต่ละด้านโดยไม่นำมารวมกันเพื่อให้ผู้เรียนใช้ผลการประเมินไปพัฒนาตนเอง
บทบาทของครูและนักเรียนในวิธีสอนแบบสร้างสรรค์เป็นฐาน
1. บทบาทของครู
1.1 สร้างแรงจูงใจใฝ่รู้ใฝ่เรียนด้วยสื่อมัลติมีเดีย ช่วยกระตุ้นให้ผู้เรียนเกิดการอยากเรียนรู้ฝึกให้ผู้เรียนมีทักษะการทำงานกลุ่ม
1.2 ครูให้คำแนะนำ/ปรึกษา กระตุ้นให้ผู้เรียนคิดมากกว่าการบอกความรู้ และช่วยอำนวย ความสะดวกแก่ผู้เรียนในการแสวงหาแหล่งข้อมูล การศึกษาข้อมูลและการวิเคราะห์ข้อมูลของผู้เรียน
1.3 การฝึกฝนการตั้งปัญหาและแก้ปัญหารายบุคคล ครูควรเลือกปัญหาที่ตรงกับ ความสนใจ ของผู้เรียน
1.4 ครูให้ผู้เรียนฝึกการนำเสนอผลงาน และการวิจารณ์แบบสร้างสรรค์
1.5 การประเมินสัมฤทธิ์ผลในการเรียนด้วยการประเมินที่สร้างสรรค์
2. บรรยากาศในบทบาทของครู
2.1 ครูควรสอนน้อย ให้เด็กค้นคว้า พูดคุยและนำเสนอ ตอบคำถามด้วยคำถาม
2.2 ครูจะหลีกเลี่ยงการใช้คำพูดการตัดสินแบบเด็ดขาด เช่น ถูกต้อง ผิด ควรสนับสนุนความคิด
2.3 ใช้เรื่องที่เด็กสนใจเป็นเนื้อหานำ ช่วงเวลาเรียนควรยาวกว่า 90 นาที
2.4 เน้นให้เด็กสนใจพัฒนาการตนเอง สมัครใจและร่วมมือแทนการสั่งการ ควรรับฟังและให้กำลังใจเด็กเป็นสำคัญ
2.5 ครูสร้างบรรยากาศในห้องเรียนให้ผู้เรียนกล้าแสดงออกด้านความคิดเห็น และแสดงออกด้าน การกระทำที่เหมาะสม
3. บทบาทของนักเรียน
3.1 ค้นคว้าแสวงหาความรู้ ฝึกฝนวิธีการเรียนรู้ด้วยตนเอง ลงมือปฏิบัติจริง
3.2 กระตือรือร้นในการเรียนรู้ กล้าแสดงออก กล้านำเสนอความคิดอย่างสร้างสรรค์
3.3 มีปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้เรียนด้วยกันและกับผู้สอน ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ยอมรับความคิดเห็นของผู้อื่นฝึกความเป็นผู้นำและผู้ตามที่ดี
การจัดการเรียนการสอนแบบสร้างสรรค์เป็นฐาน ผู้สอนจะต้อง ลดบทบาทในการสอน คือเปลี่ยนจากครู (Lecturer) มาเป็นผู้อำนวยการเรียน (Facilitator) ด้วยการจัดกิจกรรมการเรียนรู้แบบ Active Learning โดยการลงมือปฏิบัติจริง ส่งเสริมให้ผู้เรียนนำเสนอแนวคิดร่วมกันแลกเปลี่ยนความรู้ รวมถึงการยอมรับความคิดเห็นของผู้อื่น เพื่อให้บรรยากาศในการเรียนการสอนผ่านไปอย่างราบรื่นและมีความสุข
* อาจารย์สาขาวิชาภาษาไทย (ค.บ.) คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์
เอกสารอ้างอิง
บุษยา ธงนำทรัพย์. (2562). การพัฒนาความคิดสร้างสรรค์และผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนด้วยการ
จัดการเรียนรู้แบบสร้างสรรค์เป็นฐาน เรื่อง พลังงานความร้อน ของนักเรียนระดับชั้น มัธยมศึกษาปีที่ 1. วิทยานิพนธ์ปริญญาครุศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาวิทยาศาตร์ศึกษา คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม.
วิริยะ ฤาชัยพาณิชย์ และวรวรรณ นิมิตพงษ์กุล. (2562). สอนสร้างสรรค์ เรียนสนุกยุค 4.0. กรุงเทพฯ: ซีเอ็ดยูเคชั่น.
อรวรรณ อุดมสุข. (2564). ผลการจัดการเรียนรู้แบบสร้างสรรค์เป็นฐาน (CBL) ร่วมกับสื่ออินโฟ กราฟิกที่มีต่อผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนวรรณคดี เรื่อง กาพย์พระไชยสุริยาของ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1. วิทยานิพนธ์ปริญญาการศึกษามหาบัณฑิต สาขาวิชาภาษาไทย มหาวิทยาลัยนเรศวร.
* อาจารย์สาขาวิชาภาษาไทย (ค.บ.) คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์