วัฒนธรรมดนตรี : เพลงพื้นบ้านเขาทอง – ดนตรีม้ง – วงตุ๊บเก่ง

วัฒนธรรมดนตรี : เพลงพื้นบ้านเขาทอง – ดนตรีม้ง – วงตุ๊บเก่ง

เพลงพื้นบ้านเขาทอง

          วัฒนธรรมเป็นสิ่งที่ทำหน้าที่เป็นสื่อกลางในการพัฒนาการดำรงอยู่ของคนหนึ่งให้กลายเป็นมนุษย์ที่มีจิตสำนึกทางสังคม ด้วยเหตุนี้ลักษณะวัฒนธรรมของแต่ละสังคมจึงขึ้นอยู่กับบริบทของสภาพความเป็นจริงของสังคมนั้น(กาญจนา  แก้วทำ, 2539 ; อ้างอิงจาก กาญจนา  อินทรสุนานนท์, มานพ  วิสุทธิแพทย์, และเมธี  พันธุ์วราทร, 2543 : 1)  นอกจากวัฒนธรรมด้านภาษาที่มีความแตกต่างกันในแต่ละท้องถิ่นก็ยังมีวัฒนธรรมด้านอื่นๆ ที่แตกต่างแต่คล้ายคลึงกัน  เช่น พิธีกรรมและประเพณีต่างๆ ในพิธีกรรมและประเพณีเหล่านี้ประกอบด้วย บทเพลง พิธีการ ดนตรี และสิ่งประกอบอื่นๆ ที่อยู่ในค่านิยมของกลุ่มชนนั้นๆ ซึ่งเราสามารถเรียนรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ คติชาวบ้าน คำประพันธ์ต่างๆ ภาษาถิ่น และเรื่องที่เกี่ยวกับการดำเนินชีวิตของชาวบ้านได้จากเพลงพื้นบ้าน(กาญจนา  อินทรสุนานนท์, 2536 ; อ้างอิงจาก กาญจนา  อินทรสุนานนท์, มานพ วิสุทธิแพทย์, และเมธี  พันธุ์ วราทร, 2543 : 1) 

          เพลงพื้นบ้าน หมายถึง เพลงของคนที่อยู่ในสังคมชนบทที่มีอาชีพกสิกรรมเป็นหลัก มีทั้งที่เป็นเพลงร้องคนเดียว ร้องโต้ตอบ ร้องหมู่ มีเครื่องดนตรีที่ประดิษฐ์ขึ้นเองบรรเลงประกอบหรือไม่มีก็ตาม เป็นเพลงที่สืบทอดกันมาปากต่อปาก โดยไม่มีการบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษร เล่นกันเพื่อความบันเทิง ผ่อนคลายความเหน็ดเหนื่อยจากงานในนาไร่ เพื่อเป็นการแสดงความรักของชายหญิง เพื่อพิธีกรรมต่างๆ เพื่อเห่กล่อม เพลงเหล่านี้จะร้องกันเป็นภาษาถิ่นของแต่ละท้องถิ่น มีท่วงทำนอง ตลอดจนบทร้อง ท่าทาง เครื่องดนตรีที่เป็นเอกลักษณ์ของท้องถิ่นต่างๆ(สุมาลี  นิมมานุภาพ, 2543 : 125)

          ตำบลเขาทอง อำเภอพยุหะคีรี  จังหวัดนครสวรรค์เป็นชุมชนขนาดใหญ่ตั้งบ้านเรือนอยู่กันอย่างแน่นหนา โดยมีวัดเขาทองเป็นศูนย์กลางของหมู่บ้านเขาทอง มักนิยมปลูกบ้านเรือนใต้ถุนสูงชั้นเดียว ประชากรในชุมชนนับถือศาสนาพุทธ และมีส่วนหนึ่งนับถือไสยศาสตร์ ดั้งเดิมชาวเขาทองเป็นชาวมอญอพยพมาจากเมืองเมาะตะมะโดยเดินทางข้ามมาจากจังหวัดอุทัยธานี อีกส่วนหนึ่งอพยพมาจากภาคอีสาน(ประเทือง  เหมือนเตย, 2538 ; อ้างอิงจากนิสิตระดับปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาดุริยางคศิลป์ วิทยาลัย ดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม, ม.ป.ป.)

          เพลงพื้นบ้านเขาทองที่ผู้เขียนได้ไปศึกษาดูงานนั้นได้ไปศึกษาจากพ่อเพลงและแม่เพลงจำนวน 12 ท่าน  คือ

1.  นางวันเพ็ญ           วัดตูม                               7.  นางถนอม            จันทร์ยิ้ม

2.  นางทวน              จันทรฆาฎ                          8.  นายประเสริฐ         สุขศิริ

3.  นางไทย               หมีทอง                              9.  นายลมูล               คงหอม

4.  นางพเยาว์            พันธุ์เขตต์การณ์                10. นายทอง              เงินเมือง

5.  นางละมูล             ยศสมบัติ                            11. นายอุดม              พันธุ์เขตต์การณ์

6.  นางสมควร            สุ่มประดิษฐ์                         12. นายจีน                ไล้ทองคำ

 

รำวงประกอบบท(รำโทน)

          รำวงประกอบบท(รำโทน) เป็นศิลปะการแสดงอย่างหนึ่งที่สืบเนื่องมาจากรำโทน  ซึ่งนิยมเล่นกันอย่างแพร่หลายในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2(พ.ศ. 2484-2488) ทั้งในพระนคร ธนบุรีและในจังหวัดต่างๆในภาคกลาง เช่น อยุธยา สิงห์บุรี ลพบุรี อ่างทอง ชัยนาท อุทัยธานี นครสวรรค์ เป็นต้น เหตุที่เรียกว่ารำโทน เพราะใช้โทนเป็นเครื่องดนตรีให้จังหวะในการเล่น แต่เดิม “รำโทน” เป็นการละเล่นพื้นบ้านของคนไทยในท้องถิ่นหลายจังหวัด ทั้งในภาคตะวันออกเฉียงเหนือแถบจังหวัดนครราชสีมา และภาคกลางแถบจังหวัดสิงห์บุรี จังหวัดอ่างทอง จังหวัดอุทัยธานี และจังหวัดนครสวรรค์  เสียงวงรำโทนจะครึกครื้นทุกครั้งในเทศกาลตรุษสงกรานต์ งานโกนจุก บวชนาค หรืองานมงคลนานาชนิดตามลานบ้านลานวัด โดยมีวิธีการเล่นง่ายๆ คือ ผู้เล่นชายหญิงจะล้อมวงปรบมือให้จังหวะกัน มีผู้คอยตีหน้าทับโทนเป็นจังหวัดให้ชายหญิงที่มาร่วมสนุกสนานจับคู่กันร่ายรำไปรอบๆ เป็นวงตามเสียงโทน ในยุคแรกรำโทนยังไม่มีเนื้อร้อง เป็นเพียงการร่ายรำง่ายๆ ตามใจผู้รำ ราวพ.ศ.2483 จึงมีการนำเพลงรำโทนไปเล่นกันแพร่หลาย เริ่มมีการแต่งเนื้อร้องสั้นๆ ร้องให้เข้าจังหวะ และพัฒนาท่ารำให้เข้ากับเนื้อร้องโดยเฉพาะ  รำโทนบ้านเขาทอง จังหวัดนครสวรรค์จะมีลีลาท่ารำที่แตกต่างไปจากถิ่นอื่น ผู้รำมีความอิสระในลีลาจังหวะและท่วงทำนองจะเป็นไปตามบทร้อง และยังมีการออกท่าออกทาง เช่น เพลงรักก็ออกท่าให้เห็นว่ารัก เพลงตัดพ้อต่อว่าหรือโกรธเกรี้ยวโกรธาก็มีการกระทืบเท้าชี้นิ้วกันให้เป็นจริงเป็นจัง

          รำวงประกอบบท เป็นเพลงพื้นบ้านที่ขับร้องประกอบการรำวง โดยมีบทร้องซึ่งแบ่งกลุ่มพ่อเพลงแม่เพลงออกมาทำหน้าที่ร้องต้นเสียงและบรรเลงเครื่องประกอบจังหวะ อันได้แก่ กลองโทน 1 คู่ และฉิ่ง 1 คู่  โดยเมื่อแสดงจะขึ้นต้นการร้องด้วยแม่เพลง และตีโทนเป็นจังหวะหน้าทับตาม  เมื่อร้องบทจะมีพ่อเพลงแม่เพลงร้องรับพร้อมกับร่ายรำท่ารำให้สอดคล้องกับคำร้อง

       ตัวอย่างบทร้องเพลงสวัสดีเธอจ๋า

พ่อเพลง                  สวัสดีเธอจ๋า ฉันมาด้วยความรักน้อง      จิตใจหมายปองรักน้องพี่จึงได้มา

แม่เพลง                    มืดๆ ค่ำๆ อย่ารำซิเข้ามาใกล้              พวกเราพอใจ ผู้ใหญ่เขาไม่พอตา

พ่อเพลง                   เอาเถิดน๊ะน้อง รับรองไม่ให้ชอกช้ำ

พ่อเพลงแม่เพลง          อยู่ในวงฟ้อนรำ ศีลธรรมประจำหัวใจ ศีลธรรมประจำหัวใจ

เต้นกำรำเคียว

          การแสดงเต้นกำรำเคียว เป็นการละเล่นพื้นเมืองเก่าแก่แบบหนึ่งในภาคกลางของไทย  แต่เดิมประชาชนส่วนมากยึดอาชีพการทำนาเป็นหลัก และด้วยนิสัยรักสนุก เป็นคนเจ้าบทเจ้ากลอน จึงได้เกิดการเต้นกำรำเคียวขึ้น ซึ่งเนื้อเพลงแต่ละตอนจะสะท้อนให้เห็นสภาพความเป็นอยู่ของชาวบ้านอย่างชัดเจน

          เพลงเต้นกำรำเคียว เป็นเพลงร้องโต้ตอบกันช่วงเก็บเกี่ยวข้าว  มีมาแต่ครั้งปู่ย่าตายาย พบในจังหวัดนครสวรรค์ เดิมชาวบ้านเรียดเพลงชนิดนี้ว่าเพลงเต้นกำ  ภายหลังกรมศิลปากรมาเติมคำว่ารำเคียวเข้าไป  และขอให้ครูมนตรี  ตราโมท  แต่งเพลงขึ้นใหม่ เพื่อให้เกิดความไพเราะยิ่งขึ้น  นิยมเล่นกันเมื่อเกี่ยวข้าวจนเหน็ดเหนื่อยพอแล้ว  ทุกคนจะยืนเป็นวงกลม มือขวาถือเคียว มือซ้ายถือรวงข้าว เต้นไปร้องไป ขยับไปข้างหน้าเรื่อยๆ เมื่อต้นเสียงร้องดังขึ้น คนอื่นๆก็เป็นลูกคู่รับสร้อยตาม  ไม่มีการปรบมือให้จังหวะเพราะมือกำเคียว และกำรวงข้าวอยู่  เวลาร้องและรำ ต้นเสียงจะเข้าไปรำประกบหญิง หรือชายฝ่ายตรงข้ามที่อยู่ใกล้ๆ(อเนก นาวิกมูล, 2550 : 34)

ดนตรีม้ง

          ชาวเขาตรงกับภาษาอังกฤษว่า “Hill tribe”  หมายถึง ชนกลุ่มน้อยซึ่งตั้งถิ่นฐานบ้านเรือนอยู่ในอาณาบริเวณพื้นที่ที่เป็นเทือกเขาสูงไม่เกิน 10,000 ฟุต จากระดับน้ำทะเล(สำนักงานคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติ, 2524 : 2 ; อ้างอิงจากมณีรัตน์ เนียมหอม, 2535 : 7) 

          คำที่ใช้เรียกชื่อชาวเขานั้นคนไทยมีคำใช้เรียกชนกลุ่มต่างๆ ที่มีความแตกต่างจากคำเรียกที่ชนกลุ่มนั้นๆ เรียกตนเองอยู่หลายกลุ่ม เช่น คำเรียกที่คนไทยเรียกว่ากลุ่มม้ง  หรือคำเรียกที่คนไทยเรียกว่าแม้ว ไม่ว่าจะเป็นในการพูดถึงหรือในเอกสารรายงาน หรือในบันทึกทางราชการต่างๆ นั้น ชาวม้งจะเรียกตัวเองว่า “ม้ง” ในปัจจุบันจึงมีทั้งที่ใช้คำเรียกว่า แม้ว และม้ง สำหรับนักวิชาการแล้วมักจะใช้คำว่า “ม้ง” ส่วนเอกสารทางราชการต่างๆ จะนิยมใช้คำว่า “แม้ว” ซึ่งก็หมายถึงกลุ่มชนเดียวกัน(สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเพื่อพัฒนาชนบท มหาวิทยาลัย มหิดล, 2539 : 2)

          “ม้ง” เป็นชื่อที่พวกคนจีนเรียกชื่อคนชาติอื่นที่ไม่ใช่คนจีนรวมทั้งพวกม้งด้วย ม้งเป็นชาวเขาตระกูลจีน-ธิเบต (มณีรัตน์  เนียมหอม, 2535 : 8)

          ชาวเขาเผ่าม้งอพยพเข้าสู่ประเทศไทยเมื่อประมาณ พ.ศ.2393 โดยเรียกตัวเองแตกต่างกันไปตามเผ่า กล่าวคือ ม้งดำ เรียกตัวเองว่า ม้งจั๊วะ(Hmoob Ntsuab) ม้งขาว เรียกตัวเองว่า ม้งเด๊อะ(Hmoob Dawb) ม้งที่อาศัยอยู่ทางภาคเหนือของประเทศไทย แบ่งได้ 3 เผ่า คือ ม้งดำ ม้งขาว และม้งกัวบ๊า การแบ่งจะแบ่งตามความแตกต่างของเครื่องแต่งกายตลอดจนชื่อที่เรียกตัวเอง

          เมื่อชาวม้งได้แทรกซึมเข้ามาในประเทศไทยแล้วได้แยกกันไปเป็นสองกลุ่มตามภูเขาสองทิวที่ทอดขนานกัน เพราะชาวม้งจะต้องถือภูเขาเป็นหลักในการเดินทางเสมอ ชาวม้งกลุ่มแรกเดินขึ้นไปตามพรมแดนพม่า แล้วมุ่งสู่จังหวัดเชียงใหม่และแม่ฮ่องสอน ชาวม้งกลุ่มที่สองเดินมุ่งลงไปทางทิศใต้ตามแนวพรมแดนของประเทศลาว แล้วไปสมทบรวมกับผู้อพยพเผ่าอื่น ค่อยๆ แทรกซึมเข้าไปในเขตทุ่งช้าง ปัว แพร่ และเข็กน้อย(ม็อตแต็ง ยัง, 2520 : 52)

          ชุมชนบ้านเข็กน้อย อำเภอเขาค้อ จังหวัดเพชรบูรณ์ เป็นหมู่บ้านชาวเขาเผ่าม้ง ซึ่งยังคงวิถีชีวิต ประเพณี และวัฒนธรรมชาวเขาเผ่าม้งไว้  โดยชาวเขาเผ่าม้งบ้านเข็กน้อยอพยพลงมาจากจีนแถบลุ่มแม่น้ำเหลืองมาเป็นพันๆ ปี  การถ่ายทอดการเรียนรู้เป็นแบบมุขปาฐะ วัฒนธรรม ประเพณีมีความแตกต่างกันในแต่ละตระกูลแซ่ ซึ่งมีทั้งหมด 12 ถึง 13 ตระกูลแซ่ โดยมีเพียง 3 ประเพณีที่มีความคล้ายคลึงกัน  ก็คือ ประเพณีแต่งงาน  ประเพณีสู่ขวัญ  และประเพณีศพ  และจะมีประเพณีงานขึ้นปีใหม่ที่ทุกครอบครัวจะมารวมกันที่กลางหมู่บ้าน  โดยที่นอกเหนือจากนี้จะทำตามความเชื่อของแต่ละตระกูลแซ่ ห้ามนำความเชื่อของของตระกูลแซ่อื่นมาใช้ร่วมกับความเชื่อของตระกูลแซ่ของตน

          ชาวม้งได้นำเครื่องดนตรีมาเป็นสื่อ เช่น เค่ง ล่อ และกลอง ในอดีตม้งเคยรอดตายจากการสู้รบกับชนต่างชาติโดยการตีล่อเพื่อขอความช่วยเหลือจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์และนำไปสู่พิธีการบวงสรวงแก้บนในภายหลัง ส่วนเค่งในครั้งอดีตชาวม้งใช้เป่าเป็นสัญญาณเตือนภัย เพื่อการหลีกหนีหรือรวมพลเข้าต่อสู้ศัตรู นอกจากนี้ม้งยังใช้เค่งเป่าในพิธีกรรมต่างๆ เช่น สื่อสารกับวิญญาณหรืองานรื่นเริงต่างๆ(ณรงค์ชัย  ปิฎกรัชต์, ฤชุ  สิงคเสลิต ,และรัศมี  เอื้ออารีย์ไพศาล, 2542 : 35)

          เค่งเป็นเครื่องดนตรีในกลุ่มเครื่องลม(aerophone) กำเนิดเสียงโดยการเป่าหรือดูดลมผ่านลิ้น ซึ่งเป็นลิ้นอิสระ(free reed)  มีลักษณะทำนองเฉพาะตัว คือ เมื่อเป่าจะมีเสียงร่วม หรือที่เรียกว่า เสียงโดรน(Drone) คลออยู่ตลอด

          นอกจากมีการสาธิต “เค่ง” ที่เป็นเครื่องดนตรีประจำของชาวเขาเผ่าม้งชุมชนบ้านเข็กน้อยแล้ว ยังมีการสาธิต “ลิ้นทอง” ซึ่งเป็นเครื่องเป่าขนาดเล็กทำด้วยทองเหลือง ตัดเป็นแผ่นบางๆ มีความยาวประมาณ 4 นิ้ว กว้างประมาณ ½ นิ้ว ไม่มีรูบังคับ วิธีการเล่นคล้ายคลึงกับการเล่นจ้องโหน่งของภาคอีสาน ซึ่งเมื่อเป่าลิ้นทองจะเกิดการสั่นสะเทือนและเกิดเสียง  ซึ่งสามารถเลียนแบบเสียงพูดได้ นอกจากนี้เมื่อต้องการเก็บก็สามารถเก็บใส่ปลอกที่ทำด้วยไม้ที่เจาะด้านในไว้สำหรับเก็บลิ้นทองโดยเฉพาะ

          ข้อห้ามของการเล่นเครื่องดนตรี สำหรับการบรรเลงเครื่องดนตรีของชาวเขาเผ่าม้งตามพิธีกรรมต่างๆ คือ เครื่องดนตรีเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เป็นสิ่งที่เคารพบูชา จึงไม่อนุญาตให้ผู้หญิงเล่นโดยเด็ดขาด(บุญลอย  จันทร์ทอง, 2546 : 34)

          ด้วยเหตุนี้ การสืบทอดดนตรีชาวเขาเผ่าม้งนั้นจึงสืบทอดมาสู่เยาวชนชาย คือ นายวิเชียร แซ่เฮอ ซึ่งเป็นเยาวชนรุ่นใหม่ของชุมชนบ้านเข็กน้อยที่เห็นความสำคัญของศิลปะทางดนตรีของชาวเขาเผ่าม้ง และได้ฝึกฝนจนมีฝีมือดี ปัจจุบันศึกษาอยู่ในระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4โรงเรียนบ้านเข็กน้อย สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน สามารถพูดได้ดีทั้งภาษาไทย และภาษาม้ง ั้งภาษาไทยพื้นราบ ปีที่ าร่เห็นความสำคัญของศิลปะทางดนตรีของเผ่าม้ง และได้ฝึกจนมีฝีมือดีระดับแนวหน้า ปัจจุบันศึก

          ปัจจุบันวิถีความเป็นอยู่ของชาวเขาเผ่าม้ง ชุมชนบ้านเข็กน้อยได้รับอิทธิพลของสภาพแวดล้อมแบบสังคมเมืองเข้าสู่สังคมแบบชนบท ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงทั้งทางด้านวัฒนธรรมและประเพณีต่างๆ เช่น การแต่งกาย และภาษาพูด ซึ่งเยาวชนของชุมชนบ้านเข็กน้อยก็ได้ตระหนักถึงความสำคัญของประเพณีวัฒนธรรมดั้งเดิมของตน รวมถึงมีการสนับสนุน และปลูกฝังให้เยาวชนมีความภาคภูมิใจในขนบธรรมเนียม ประเพณี วัฒนธรรม รักบ้านเกิด และเผ่าพันธุ์ของตน

วงตุ๊บเก่ง

          วัฒนธรรมเกิดขึ้นเพื่อตอบสนองความต้องการที่สูงกว่าระดับชีววิทยา  เกิดขึ้นตั้งแต่สมัยดึกดำบรรพ์  และสมัยยุคหินเก่าแล้ว  เมื่อมนุษย์มีความต้องการเสถียรภาพและความมั่นคง  จึงได้มีการจัดระเบียบทางสังคมและเกิดสถาบันทางสังคมขึ้น ศาสนาหรือระบบความเชื่อก็คือสถาบันทางสังคม  ซึ่งช่วยให้เกิดสังคม  ศาสนาพิจารณาได้ 2 ระดับ  คือ  ศาสนาในระดับความเชื่อ  ซึ่งเป็นวัฒนธรรมที่ไม่ใช่วัตถุและอาจรวมความเชื่อรูปแบบต่างๆ ไว้ด้วยกัน  และอีกระดับหนึ่ง  คือ  สถาบันศาสนา  ซึ่งมีทั้งความเชื่อ  การจัดองค์กรและผู้ประกอบพิธีกรรม  ซึ่งศาสนามีองค์ประกอบ 3 ส่วน  คือ 1)  พระธรรม  2)  หลักศีลธรรม  และ 3)  การกระทำตามคำสั่งสอน  ซึ่งรวมถึงการปฏิบัติตน  ทั้งในส่วนที่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวัน และในส่วนที่เกี่ยวข้องกับพิธีกรรม  (อมรา  พงศาพิชญ์, 2543 : 26-27)

          พิธีกรรมเกี่ยวกับความตายในเชิงหน้าที่ สามารถจำแนกได้ดังนี้

          1.  Sites  of  seperation พิธีกรรมแยกอันได้แก่พิธีแยกผู้ตายออกจากสังคมของผู้ที่ยังมีชีวิตอยู่

          2.  Sites  of  incorporation พิธีกรรมรวม  บางสังคมถือว่าพิธีศพเป็นพิธีรวม ซึ่งผู้ตายจะต้องเข้าไปรวมอยู่ในสังคมใหม่ซึ่งเป็นโลกของวิญญาณ

          3.  Sites  of  transition พิธีกรรมที่เปลี่ยนสภาพจากสภาพหนึ่งไปสู่อีกสภาพหนึ่ง  เมื่อตายไปแล้ว  ผู้ตายจะเปลี่ยนสภาพกลายเป็นวิญญาณ

          4.  Sites  of  purification  พิธีชำระล้างมลทิน  ทำให้เกิดความบริสุทธิ์  การอาบน้ำศพถือว่าเป็นการชำระล้างมลทินของผู้ตายให้หมดสิ้นไปเพื่อให้ผู้ตายมีความสะอาดบริสุทธิ์     

          5.  Sites  of  protection  พิธีป้องกันอันได้แก่  การไว้ทุกข์  การที่บรรดาญาติผู้ตายได้ไว้ทุกข์นั้น  เป็นการปลอมแปลงตัวไม่ให้ผีจำได้  เป็นการป้องกันไม่ให้ผีมารบกวน (Arnold  van  Gannep, 1960 : 4 – 12 ; อ้างอิงจาก พวงทิพย์  เกิดทรัพย์, 2540 : 14)

          ตุ๊บเก่ง คือวงดนตรีพื้นเมือง ในสมัยสงครามมหาเอเชียบูรพาได้มีการแข่งขันวงตุ๊บเก่งระหว่างวงของบ้านป่าแดงกับวงของบ้านสะเตียว ผลปรากฏว่าวงบ้านป่าแดงชนะ เพราะมีเพลงมากกว่า จึงทำให้ปัจจุบันวงที่มีชื่อเสียงคือวงป่าแดง

          ตุ๊บเก่ง ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2525(อ้างอิงจากอัจฉรา  ญาณกิจ, 2542 : 15)ได้ให้ความหมายของคำว่า “ตุ๊บ” คือ เสียงดังของสิ่งของที่มีน้ำหนักมากๆ หล่น หรือเสียงทุบหนักๆ “เก่ง” คือ ความสามารถในทางใดทางหนึ่ง รวมความแล้วน่าจะเป็นการแสดงที่มีเสียงหนักแน่น ชาวบ้านในชุมชนกล่าวว่า “ตุ๊บ” มาจากเสียงกลองที่ใช้ตี เพราะมีเสียงดังและเสียงหนักแน่นมาก “เก่ง” มาจากเสียงเครื่องดนตรีชนิดหนึ่ง คือ “ฆ้องกระแต” ซึ่งมีเสียงดัง เบ้ยๆ ๆ ๆ รวมกันแล้ว เรียกว่า ตุ๊บเบ้ย ฟังแล้วอาจเปลี่ยนเป็นตุ๊บเก่ง ซึ่งกลายมาเป็นการแสดงดนตรีพื้นบ้านตุ๊บเก่งในที่สุด

          วงตุ๊บเก่ง เป็นวงดนตรีพื้นบ้านของจังหวัดเพชรบูรณ์  นิยมนำมาบรรเลงในงานศพ งานแห่ศพ  หรือในบางครั้งใช้ในการแสดงในงานประเพณีอุ้มพระดำน้ำ

เครื่องดนตรีในวงตุ๊บเก่ง ประกอบด้วย

          1. กลองตุ๊บเก่ง           1        คู่

          2. ฆ้องโหม่ง              2        ใบ

          3. ฆ้องกระแต            1        ใบ

          4. ปี่แต้                     1        เลา

1. กลองตุ๊บเก่ง

          กลองตุ๊บเก่ง เป็นเครื่องดนตรีประเภท Membranophone คล้ายกลองสองหน้า  ใช้ไม้ตีที่ทำจากแก่นมะขามหุ้มด้วยทองเหลือหน้าหนึ่ง และใช้มือตีอีกหน้าหนึ่ง เป็นกลองคู่มีชื่อเรียกเช่นเดียวกับกลองแขก กลองตุ๊บเก่งที่เสียงสูงกว่าว่ากลองหน้าน้อย และเรียกกลองตุ๊บเก่งที่เสียงต่ำกว่าว่ากลองหน้าใหญ่

2. ฆ้องโหม่ง                

          ฆ้องโหม่งเป็นเครื่องดนตรีประเภท Ideophone ที่มีลักษณะคล้ายโหม่งของเครื่องดนตรีไทย ฆ้องโหม่งทำจากโลหะ

3. ฆ้องกระแต

          ฆ้องกระแตเป็นเครื่องดนตรีประเภท Ideophone เป็นฆ้องใบเล็กที่สุดในบรรดาฆ้องทั้ง 3 ใบ ทำหน้าที่เป็นผู้ควบคุมจังหวะหลักแทนฉิ่งในการบรรเลงดนตรีไทย

4. ปี่แต้       

          ปี่แต้เป็นเครื่องดนตรีประเภทAerophone มีลักษณะคล้ายปี่มอญ ใช้บรรเลงเป็นต้นเสียง ปากลำโพงปี่ทำมาจากไม้ลิ้นฟ้า  ลำปี่ทำด้วยไม้รวก มีรูด้านหน้า 6 รู  ด้านหลัง 1 รู  ลิ้นปี่เป็นลิ้นแบบลิ้นคู่ ทำจากใบตาลพับ 4 ชั้น

นักดนตรีคณะตุ๊บเก่งบ้านป่าแดงที่ทำการสาธิตการบรรเลงดนตรี ประกอบด้วย

1.      นายชล      ศรีสุข

2.      นายสงวน   บุญมา

3.      นายเซ็น     ศรีสุข

4.      นายสมัย    ครุฑวงษ์

5.      นายสมศักดิ์ ศรีสุข

เพลงที่วงตุ๊บเก่งใช้ในการบรรเลงมีทั้งสิ้น 10  เพลง  ได้แก่

          1.   เพลงต้น                                 6.  เพลงโทน

          2.  เพลงสามไม้                            7.  เพลงจรเข้ลากหาง

          3.  เพลงปลงศพ                           8.  เพลงแกะชนกัน

          4.  เพลงระย้า                                9.  เพลงเวียน

          5.  เพลงนางข้อง                           10.  เพลงกันเสนียดจัญไร

 

การบรรเลงดนตรีของวงตุ๊บเก่งต้องมีการทำพิธีบูชาครู โดยเครื่องบูชาครูประกอบด้วย

–  กรวยหมาก             1        คู่                 –  เทียน                   1        เล่ม

–  ธูป                      3        ดอก              –  เหล้าขาว               1        ขวด

–  บุหรี่                     1        ซอง              –  ด้าย                     1        ไจ

–  เงิน                      25      บาท              –  น้ำมนต์                 1        ขัน

–  ปลามีตัวมีหาง         1        ตัว

 

คำกล่าวบูชาครู

นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ(3 จบ)

สาธุ วันชิตตะวาจาริยัง  ภะวันตะรายมะรา สังคีต 

สาธุ พระพุ่มโพธิ์ พระฤษีตุ  เข้าขวาคู่ แก่ครูข้าพเจ้า ธูปเทียนคารวะโลก

ยังคันมาติ จิสะระนะ นาประการ

หากฉันทำประการสิ่งใด

ขอให้ พุทธะคุนนัง เทวะคุนนัง ให้แก่ข้าพเจ้า

พุทธะคัมมัง ธรรมะคัมนัง สังคะคัมมังคันนะ

คันนิ คันนา มาทันทางซ้าย ทันทางขวา

ทันข้างหน้า ทันข้างหลัง ยะธรรมมัง มะสินทินเต

มาโอมสันเล็ก มาโอมสันใหญ่ โอมเสนียดจัญไร สาธุ

          เมื่อทำพิธีบูชาครูเรียบร้อยแล้ว หัวหน้าวงจะนำขันน้ำมนต์ให้นักดนตรีทุกคนดื่ม พร้อมทั้งพรมน้ำมนต์บนเครื่องดนตรี แล้วจึงบรรเลงเพลงไหว้ครูเป็นอันดับแรก และบรรเลงเพลงอื่นตามสมควรเป็นลำดับถัดไป

          การสืบทอดดนตรีตุ๊บเก่งนั้นได้มีการสืบสาน และถ่ายทอดสู่เยาวชนรุ่นหลังโดยผ่านระบบการเรียนการสอนในสถานศึกษา และถ่ายทอดในระบบเครือญาติตามแต่สมัครใจ ปัจจุบันได้เกิดวงตุ๊บเก่งที่บรรเลงโดยเยาวชน ซึ่งเยาวชนเหล่านี้จะเป็นพลังสำคัญในการสืบสานวัฒนธรรมดนตรีให้คงอยู่สืบไป

 

เอกสารอ้างอิง

กาญจนา  อินทรสุนานนท์, มานพ  วิสุทธิแพทย์, และเมธี  พันธุ์วราทร. (2543).  งานวิจัยการศึกษาวิเคราะห์เพลงระบำบ้านนา ตำบลบางลูกเสือ อำเภอองครักษ์  จังหวัดนครนายก.  งานวิจัย กรุงเทพฯ : สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ.

ณรงค์ชัย  ปิฎกรัชต์, ฤชุ  สิงคเสลิต ,และรัศมี  เอื้ออารีย์ไพศาล. (2542). รายงานการวิจัย เค่งและเพลงในพิธีตฺจอ ผลี่ของชนเผ่าม้ง. นครปฐม : วิทยาลัยดุริยางคศิลป์  มหาวิทยาลัยมหิดล.

นิสิตระดับปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาดุริยางคศิลป์ วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม. (ม.ป.ป.). เอกสารประกอบการศึกษาดูงานเพลงพื้นบ้าน ตำบลเขาทอง อำเภอพยุหะคีรี จังหวัดนครสวรรค์. ม.ป.ท.

บุญลอย  จันทร์ทอง. (2546). ดนตรีชาวเขาเผ่าม้ง หมู่บ้านสบเป็ด อำเภอท่าวังผา จังหวัดน่าน. ปริญญานิพนธ์ ศป.ม.(มานุษยดุริยางควิทยา) กรุงเทพฯ : มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ.

พวงทิพย์  เกิดทรัพย์. (2540). การคงอยู่และการเปลี่ยนแปลงพิธีศพของชาวจีนที่วัดหัวลำโพงในกรุงเทพมหานคร. ปริญญานิพนธ์ ม.ม. (มานุษยวิทยา)  กรุงเทพฯ :  บัณฑิตวิทยาลัย  จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

ไพโรจน์  ราชพรหมมินทร์. (2520). การยอมรับเทคนิคใหม่ทางการเกษตรของชาวเขาเผ่าแม้วที่หมู่บ้านเข็กน้อย อำเภอหล่มสัก จังหวัดเพชรบูรณ์. ปริญญานิพนธ์ กศ.ม. กรุงเทพฯ : มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ.

มณีรัตน์  เนียมหอม. (2535). ผลของการให้คำปรึกษาแบบกลุ่มที่มีต่อพฤติกรรมการเรียนของนักเรียนชาวเขา ชั้นประถมศึกษาปีที่ 5  โรงเรียนบ้านเข็กน้อย อำเภอเขาค้อ จังหวัดเพชรบูรณ์. ปริญญานิพนธ์ กศ.ม.(จิตวิทยาและการแนะแนว) กรุงเทพฯ : มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ.

มหาวิทยาลัยราชภัฏนครสวรรค์. (2550). รำวงประกอบบท(รำโทนเขาทอง).นครสวรรค์ : ทิศทางการพิมพ์.

ม็อตแต็ง ยัง. (2520). ประวัติของชาวม้ง(แม้ว). กรุงเทพฯ : ม.ป.ท.

สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเพื่อพัฒนาชนบท มหาวิทยาลัยมหิดล. (2538). สารานุกรมกลุ่มชาติพันธุ์ม้ง.นครปฐม : โรงพิมพ์สถาบันการพัฒนาการสาธารณสุขอาเซียน มหาวิทยาลัยมหิดล.

สุมาลี  นิมมานุภาพ. (2543). ดนตรีวิจักขณ์. พิมพ์ครั้งที่8. กรุงเทพฯ : มหาวิทยาลัยรามคำแหง.

อัจฉรา  ญาณกิจ. (2542). วงตุ๊บเก่งในจังหวัดเพชรบูรณ์. ดุริยนิพนธ์กศ.บ.(ดุริยางคศาสตร์ไทย) กรุงเทพฯ : มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ.

อมรา  พงศาพิชญ์.  (2542). ความหลากหลายทางวัฒนธรรม (วิธีวิทยาและบทบาทในประชาสังคม). กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

อมรา  พงศาพิชญ์. (2543).  วัฒนธรรม ศาสนา และชาติพันธุ์ : วิเคราะห์สังคมไทยแนวมานุษยวิทยา.  พิมพ์ครั้งที่ 4.  กรุงเทพฯ : ไทยวัฒนาพานิช.

อเนก  นาวิกมูล. (2521). เพลงนอกศตวรรษ. กรุงเทพฯ : การเวก.

อเนก  นาวิกมูล. (2550). เพลงพื้นบ้านศึกษา. กรุงเทพฯ : สารคดี.