วรรณกรรม การเมือง และประวัติศาสตร์ ในงานจิตรกรรมร่วมสมัย

Yuval Noah Harari เคยสรุปเอาไว้ว่า “เรื่องเล่า” คือปัจจัยสำคัญที่ทำให้มนุษย์ในยุคโบราณสามารถก่อตั้งชนเผ่า อารยธรรม หรือการเกิดอาณาจักรอันยิ่งใหญ่ ถึงแม้ว่าเรื่องเล่าจะดูเกินเลยไปจากข้อเท็จจริงมากเท่าไหร่ แต่หากถูกบันทึกผ่านการเขียนก็สามารถส่งผลไปถึงการเกิดขึ้นของลัทธิ ศาสนา และประเทศชาติต่าง ๆ ในทุกวันนี้ การเขียนหรือวรรณกรรมจึงเป็นเครื่องมือหนึ่ง   ที่ใช้บันทึก ถ่ายทอด ส่งต่อเรื่องเล่าต่าง ๆ สู่คนรุ่นต่อรุ่น ยกตัวอย่างเช่น วรรณกรรมเรื่อง  Gone with the Wind ของ Margaret Mitchell พูดถึงสงครามกลางเมือง และการสร้างอเมริกายุคใหม่ งานเรื่องแต่งแนวคอมมิคของทั้ง DC และ Marvel Studio ที่ปัจจุบันถูกพัฒนาให้กลายเป็นภาพยนตร์ ที่แฝงนัยโฆษณาชวนเชื่อแก่ประเทศอเมริกาในฐานะฮีโร่ของมวลมนุษยชาติ รวมไปถึง   การสร้างสำนึกของความเป็นชาติ

ในประเทศไทยก็มีวรรณกรรมหลายเรื่องที่เป็นภาพของสะท้อนประวัติศาสตร์ ค่านิยม วัฒนธรรม การเมืองและสังคมของไทย หนึ่งในนั้นคือนวนิยายเรื่อง “สี่แผ่นดิน” เป็นนวนิยายประเภทบันเทิงคดีของหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช มีเนื้อหาอิงประวัติศาสตร์ไทยในช่วงรัชกาลที่ 5 ถึงรัชกาลที่ 8 แรกเริ่มเขียนเป็นตอน ๆ ลงหนังสือพิมพ์สยามรัฐ รายวันระหว่างปี พ.ศ. 2494–2495 ต่อมาได้รวบรวมพิมพ์เป็นเล่มขึ้นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2496 ต่อมามีการดัดแปลงเป็นละครโทรทัศน์ ละครเวทีและละครวิทยุหลายครั้ง เนื้อหาของนวนิยายพรรณนาถึงครอบครัวหนึ่งซึ่งมีชีวิตและเติบโตอยู่ในรัชสมัยของพระมหากษัตริย์ 4 พระองค์ เริ่มดำเนินเรื่องจากช่วงสิ้นรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวในปี พ.ศ. 2453 จนถึงการสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลในปี พ.ศ. 2489 ตัวละครเอก ชื่อ “พลอย” เป็นหญิงในตระกูลขุนนางเก่าที่มีชีวิตอยู่แต่ในรั้ววัง และใกล้ชิดกับราชสำนัก ต่อมาออกมานอกวังแต่งงานกับ “เปรม” ภายหลังการปฏิวัติสยามเมื่อปี พ.ศ. 2475 ค่านิยมแบบเก่าของพลอยถูกกระทบกระเทือน และเกิดความขัดแย้งทางการเมืองในบรรดาบุตรชายสามคน ต่อมารัฐบาลออกกฎหมายปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตให้เป็นแบบตะวันตก ในช่วงสงคราม บ้านถูกระเบิดต้องย้ายกลับไปอยู่บ้านเกิด พลอยป่วยหนักเมื่อทราบว่าบุตรชายเสียชีวิต จนเสียชีวิตตามไปพร้อมกับรัชกาลที่ 8 (คึกฤทธิ์ ปราโมช, 2544)

ผู้เขียนได้สนใจศึกษาวรรณกรรมเรื่องนี้ภายหลังจากการดูตัวอย่างคลิปวิดีโอละครเวที เรื่อง  “สี่แผ่นดิน เดอะ มิวสิคัล” ที่เผยแพร่ผ่านทางเว็บไซต์ยูทูป (YouTube) ซึ่งเป็นคลิปวิดีโอสั้น ๆ ที่นำเสนอบางช่วงตอนของละครเวที ผู้เขียนรู้สึกสนใจรูปแบบการนำเสนอของละครเวที ที่ใช้หลักการจัดองค์ประกอบทางศิลปะที่สอดคล้องเชื่อมโยงกับรูปแบบของงานจิตรกรรม ในแง่ของการใช้ภาพเป็นตัวนำเสนอ รวมไปถึงเนื้อหาของเรื่องดังกล่าวที่มันเป็นบอกเล่าความสัมพันธ์บางอย่างที่เกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์การเมืองร่วมสมัยของไทย รวมไปถึงค่านิยม วัฒนธรรมและวิถีชีวิตซึ่งถ่ายทอดมาจากความทรงจำและประสบการณ์ตรงของผู้เขียน

ผู้เขียนได้ศึกษาถึงที่มา ความคิด และทัศนคติของผู้แต่ง เพื่อที่จะสามารถวิเคราะห์ตัวบทของสี่แผ่นดินได้อย่างลึกซึ้งมากขึ้น โดยศึกษาจากหนังสือวิชาการด้านประวัติศาสตร์ บทความวิชาการของนักประวัติศาสตร์ที่มีชื่อเสียง รวมถึงบทสัมภาษณ์ของหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ที่เคยให้สัมภาษณ์กับกองบรรณาธิการนิตยสารถนนหนังสือ ฉบับวันที่ 1 กรกฎาคม 2528 ที่เกี่ยวกับเรื่องลักษณะ   ของตัวละคร ซึ่งทำให้ได้รับรู้ถึงความรู้สึกนึกคิดและมุมมองบางส่วนของผู้แต่งที่มีต่อคนไทยในระดับต่าง ๆ โดยเฉพาะตัวเอกของเรื่อง คือแม่พลอย หญิงไทยที่มีชีวิตอยู่ในสังคมและวัฒนธรรมแบบไทยนิยม จนถึงช่วงเปลี่ยนแห่งการเปลี่ยนผ่านทางกระแสความคิด เช่นข้อความในบทสัมภาษณ์นี้

       “แม่พลอยเป็นคนที่ไม่มีสิทธิของผู้หญิงเลย ไม่เคยเรียก ไม่เคยร้อง แล้วแม่พลอยนี่เป็นคนเชยที่สุด คุณจะว่านางเอกก็นางเอก แต่เป็นคนเชยที่สุด แม่พลอยถ้าแกอยู่มาจนถึงทุกวันนี้แกก็ลูกเสือชาวบ้าน แกจะไปรำละครบ้า ๆ บอ ๆ ถึงขนาดนั้น”

ข้อความข้างต้นนี้อาจช่วยสะท้อนภาพคนไทยในยุคสมัยอดีตตามมุมมองของผู้แต่งได้ดี เช่น คนไทยเป็นคนรักสนุก ชอบเทศกาลร้องเล่นเต้นรำต่าง ๆ ข้อความนี้ยังสะท้อนเรื่องสังคมชายเป็นใหญ่ ซึ่งสตรีมักไม่มีสิทธิในการตัดสินใจหรือเรียกร้องเรื่องใดใดมากนัก ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีในสังคมปัจจุบันว่าเป็นสิ่งที่มีการต่อสู้เรียกร้องกันมาอย่างยาวนาน และอีกข้อความหนึ่ง ซึ่งผู้เขียนเองมิกล้าที่จะสรุปเป็นความเห็นที่ชัดเจน โดยคิดว่าข้อความต่อไปนี้มีความชัดเจนในตัวมันเองอย่างประหลาด

       “แม่พลอยเป็นคนเชยมากนะครับ เป็นคนอยู่กรอบ ใจดี ถูกจับคลุมถุงชนแต่งงานก็หลงรักคุณเปรมได้ ตามคติโบราณนั้นไม่เป็นไรหรอก แต่ไปก่อนแล้วรักกันเองทีหลัง แม่พลอยเป็นอย่างนั้นทุกอย่าง ทีนี้คนอ่านคนไทยปลื้มอกปลื้มใจเห็นแม่พลอยเป็นคนประเสริฐเลิศลอยก็เพราะคนไทยก็เป็นคนแบบนั้น ยังไม่ได้ไปถึงไหนเลย คนอ่านส่วนมากก็เป็นคนระดับแม่พลอยเท่านั้น (หัวเราะ) โง่ฉิบหายเลยจะบอกให้สี่แผ่นดินถึงได้ดัง” (คึกฤทธิ์ ปราโมช, 2528)

นิธิ เอียวศรีวงศ์ (นิธิ เอียวศรีวงศ์, 2562) ศาสตราจารย์ด้านประวัติศาสตร์ไทย เคยวิเคราะห์วรรณกรรมเรื่องนี้ไว้ในบทความเรื่อง “สถาบันกษัตริย์ในสี่แผ่นดิน” โดยเสนอเป็นบทสรุปว่า นวนิยายเรื่องนี้เป็นมากกว่านวนิยายเกี่ยวกับชีวิตชาววังสมัยก่อน แต่เป็นนวนิยายที่สร้าง “สามัญสำนึก” ที่เป็นความจริงอันใหม่ของคนไทย เมื่อพิจารณาจากหลักฐานทางประวัติศาสตร์หลาย ๆ อย่าง เช่น ช่วงเวลาการตีเขียนและตีพิมพ์สี่แผ่นดินในระหว่าง พ.ศ. 2494 – พ.ศ. 2495 ซึ่งเกี่ยวเนื่องกับเหตุกาณ์ภายหลังการปฏิวัติ 2475 ที่ทำให้บทบาทของพระมหากษัตริย์ในความสัมพันธ์ทางการเมืองเปลี่ยนไป ซึ่งภายหลังการเปลี่ยนแปลงรัชสมัย พระมหากษัตริย์ดำรงราชสมบัติสืบมายังทรงพระเยาว์และประทับอยู่นอกราชอาณาจักร จึงไม่อาจอยู่ในฐานะที่จะสร้างจารีตของความสัมพันธ์ใหม่ภายใต้รัฐธรรมนูญระหว่างสถาบันกับสังคมขึ้นได้ ถึงแม้การรัฐประหารปี พ.ศ. 2490 จะทำให้อำนาจทางการเมืองของคณะราษฎรถูกทำลายลง แต่มีการนำเอารัฐธรรมนูญ 2475 แก้ไขเพิ่มเติมกลับมาใช้แทนรัฐธรรมนูญ 2492 ส่งผลให้บทบาทของสถาบันพระมหากษัตริย์ทางการเมืองได้ลดน้อยถอยลงตามไปด้วย นิธิวิเคราะห์ว่า การที่หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช ผันตัวเองเข้าสู่วงการหนังสือพิมพ์เพราะรู้ดีว่าสามารถส่งอิทธิพลการเมืองอย่างหนึ่งได้ ซึ่งภายใต้เผด็จการของกองทัพจะมีประสิทธิภาพเสียยิ่งกว่านักการเมืองและพรรคการเมืองในสภา ทั้งหมดนี้จึงเป็นเหตุปัจจัยที่มีความเป็นไปได้ว่า นวนิยายเรื่องสี่แผ่นดินถูกเขียนเพื่อสร้างอุดมคติใหม่ของความสัมพันธ์ระหว่างพระมหากษัตริย์กับราษฎรขึ้น เพื่อให้เหมาะกับยุคสมัยภายใต้ระบอบประชาธิปไตย ซึ่งพระมหากษัตริย์หมดสิ้นพระราชภาระในการบริหารปกครองบ้านเมืองแล้ว กล่าวโดยสรุปก็คือ นวนิยายเรื่องสี่แผ่นดิน ไม่ได้เป็นแค่เพียงบันทึกความทรงจำในวัยเด็กของผู้เขียนซึ่งเคยใช้ชีวิตในวังหลวง หรือรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับ  เรื่องนี้จากเจ้านายที่ยังทรงพระชนม์อยู่ แต่หน้าที่หลักของรายละเอียดของสังคมฝ่ายในคือสร้างความสมจริง เพื่อรองรับอุดมคติทางการเมืองอื่น ๆ และหนึ่งในอุดมคตินั้นคือความสัมพันธ์ระหว่างพระมหากษัตริย์กับสังคมในระบอบที่ถูกเรียกว่าประชาธิปไตย ซึ่งใน พ.ศ.2494-2495 ยังหาความชัดเจนแน่นอนใด ๆ ไม่ได้

ณัฐพล ใจจริง (ณัฐพล ใจจริง, 2556 : 61) นักวิชาการทางด้านประวัติศาสตร์ร่วมสมัยของไทย เคยเสนอไว้ในหนังสือเรื่อง “ขอฝันใฝ่ในฝันอันเหลือเชื่อ: ความเคลื่อนไหวของขบวนการปฏิปักษ์ปฏิวัติสยาม (พ.ศ. 2475-2500) ว่านวนิยายเรื่องนี้มีการมุ่งสร้างการถวิลหาดอดีตและชี้ให้เห็นถึงสังคมที่เสื่อมลงหลังการปฏิวัติสยาม พ.ศ. 2475 โดยดำเนินเรื่องผ่านชีวิตของหญิงชนชั้นสูงที่เป็นตัวละครเอก ผู้เติบโตและมีชีวิตที่สวยงามในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ แต่ภายหลังชีวิตต้องเผชิญความพลัดพรากและความโศกเศร้าหลังจากการปฏิวัติ ครอบครัวที่เคยสงบสุขก็ต้องเผชิญกับปัญหา การเมืองสับสนวุ่นวาย เกิดภาวะสงคราม และตอนท้ายของเรื่องนางเอกเสียชีวิตไปพร้อม ๆ กับการสวรรคตของพระมหากษัตริย์ ณัฐพลได้เสนอว่านวนิยายเรื่องนี้ได้ถูกผลิตซ้ำอย่างต่อเนื่องยาวนานผ่านภาพยนตร์ ละครทีวี จนถึงละครเพลง จนสามารถครอบงำความรู้สึกนึกคิดของคนไทยจำนวนมากจนกระทั่งปัจจุบัน  ซึ่งสอดคล้องกับ สุลักษณ์ ศิวรักษ์ นักคิดอนุรักษนิยมที่มีชื่อเสียง ที่ได้วิจารณ์สี่แผ่นดินว่า “เป็นนวนิยายที่ใช้ล้างสมองให้คนเห็นว่าประชาธิปไตยเป็นของเลว ราชาธิปไตยเป็นของวิเศษ ชาติวุฒิสำคัญยิ่งกว่าคุณวุฒิของสามัญชนคนธรรมดา” (สุลักษณ์ ศิวรักษ์, 2552)

นอกจากนี้ผู้เขียนยังพบงานวิจัยที่มีเนื้อหาเกี่ยวข้องและส่วนสนับสนุนเชิงความคิดในการสร้างสรรค์ผลงานจิตรกรรมร่วมสมัยชุดนี้ ได้แก่งานวิจัยเรื่อง “การวิเคราะห์วาทกรรมความเป็นไทยในวรรณกรรมสี่แผ่นดินโดย ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช” โดย ประภาพร  ลิ้มจิตสมบูรณ์ และ ชมพูนุช  ทรงถาวรทวี งานวิจัยนี้มุ่งวิเคราะห์กลวิธีการสร้างวาทกรรมความเป็นไทยที่ปรากฏในวรรณกรรมสี่แผ่นดินเล่ม 1 และ 2 โดยใช้แนวคิดกรอบมิติทั้งสามของวาทกรรม และทฤษฎีวัจนปฏิบัติศาสตร์มาวิเคราะห์ร่วมกันเนื่องจากวาทกรรมที่ปรากฏในวรรณกรรมเป็นบทสนทนา ซึ่งผลการวิจัยพบว่า กลวิธีทางภาษาที่ทำให้วาทกรรมเกิดผลจะต้องมีการสื่อมูลบททางวัจนปฏิบัติศาสตร์ร่วมกับการใช้วัจนกรรมใดวัจนกรรมหนึ่งเสมอ นอกจากนี้ยังพบว่า วาทกรรมความเป็นไทยที่ปรากฏในวรรณกรรมสี่แผ่นดินทั้งสองเล่มนั้นมีทั้งหมด 91 วาทกรรม และแบ่งเป็น 5 วาทกรรมตามลำดับจากมากไปน้อย ดังนี้ (ประภาพร ลิ้มจิตสมบูรณ์ และ ชมพูนุช ทรงถาวรทวี, 2563 : 23-36)

1. วาทกรรมคนไทยที่ดีต้องให้ความเคารพและเกรงใจผู้ใหญ่ 

2. วาทกรรมพระเจ้าแผ่นดินคือเจ้าชีวิต

3. วาทกรรมชายเป็นใหญ่

4. วาทกรรมลำดับชั้นทางสังคม  

5. วาทกรรมความกตัญญูเป็นเครื่องหมายของคนดี

งานวิจัยเรื่องนี้ศึกษากลวิธีการสร้างตัวบทวาทกรรมในวรรณกรรมสี่แผ่นดินโดยนำบทสนทนาของตัวละครมาเป็นข้อมูลวิเคราะห์ เนื่องจากการใช้ภาษาถือเป็นการส่งต่ออุดมการณ์บางประการให้กับบุคคลในสังคมได้ ดังนั้นจึงถือว่าข้อความที่แฝงค่านิยมความเป็นไทยในบทสนทนาของตัวละครจากวรรณกรรมสี่แผ่นดินเป็นการส่งต่อวาทกรรมอย่างแนบเนียนสู่สังคมรูปแบบหนึ่ง

เอกสารอ้างอิง

คึกฤทธิ์ ปราโมช. (2544). สี่แผ่นดิน. (พิมพ์ครั้งที่ 12). กรุงเทพฯ : ดอกหญ้า.

คึกฤทธิ์คิดลึก ทศกัณฐ์วรรณกรรม, (บทสัมภาษณ์ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช). (2528). นิตยสารถนนหนังสือ ปีที่ 3 ฉบับที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2528. เข้าถึงเมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2564. เข้าถึงได้จาก https://archive.fo/N8Gpz

ณัฐพล ใจจริง. (2556). ขอฝันใฝ่ในฝันอันเหลือเชื่อ : ความเคลื่อนไหวของขบวนการปฏิปักษ์ปฏิวัติสยาม (พ.ศ.2475-2500). (พิมพ์ครั้งที่ 1). นนทบุรี : ฟ้าเดียวกัน.

นิธิ เอียวศรีวงศ์. (2562). สถาบันกษัตริย์ใน “สี่แผ่นดิน”. มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 6-12 ธันวาคม 2562. เข้าถึงเมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2564. เข้าถึงได้จาก https://www.matichonweekly.com/column/article_254572

ประภาพร ลิ้มจิตสมบูรณ์ และ ชมพูนุช ทรงถาวรทวี. (2563). การวิเคราะห์วาทกรรมความเป็นไทยในวรรณกรรมสี่แผ่นดินโดย ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช. วารสารมนุษยศาสตร์ปริทรรศน์, 42 (1), 23-36.

สุลักษณ์ ศิวรักษ์.(2552). ส.ศิวรักษ์” ค้านเสนอ “ยูเนสโก” ให้ “คึกฤทธิ์” เป็นบุคคลสำคัญของโลก. (สำนักข่าวประชาไทย). เข้าถึงเมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2564, เข้าถึงได้จาก https://prachatai.com/journal/2009/01/19633)

https://bsru-my.sharepoint.com/:b:/g/personal/phiranan_ch_o365_bsru_ac_th/Eb2OqoD_BLlMn0f4xKb6LLsBugpc7Y9VniXuzddOvZS_mQ?e=4aKkwV