วรรณกรรมท้องถิ่น: อัตลักษณ์ชุมชนในด้านการท่องเที่ยว

บทนำ

          วรรณกรรมท้องถิ่นหรือวรรณกรรมพื้นบ้าน เป็นวรรณกรรมที่ถ่ายทอดวิถีชีวิตของชาวบ้าน มีทั้งวรรณกรรมที่ถ่ายทอดโดยการเล่าที่เรียกว่า “วรรณกรรมมุขปาฐะ” และวรรณกรรมลายลักษณ์อักษร ที่มีการบันทึกไว้ ประเภทของวรรณกรรมท้องถิ่น แบ่งได้เป็น นิทานพื้นบ้าน ตำนานพื้นบ้าน บทสวดหรือบทกล่าวในพิธีกรรม บทร้องเพลงพื้นบ้าน สำนวน ปริศนาคำทาย และตำรา รูปแบบของนิทานพื้นบ้านหรือตำนานพื้นบ้านคงจะเป็นประเภทที่เป็นอัตลักษณ์ของชุมชนได้อย่างชัดเจนและเป็นรูปธรรม และส่งเสริมในด้านการท่องเที่ยวในการสร้างรายได้ให้กับชุมชนได้อย่างยั่งยืน

          นิทานพื้นบ้าน หมายถึง เรื่องเล่าที่สืบทอดต่อๆ กันมา เช่น นิทานจักรๆวงศ์ๆ นิทานศาสนา นิทานคติธรรม นิทานอธิบายเหตุ นิทานเรื่องสัตว์ นิทานเรื่องผี มุขตลกนิทานเรื่องโม้ นิทานเข้าแบบ ตำนานพื้นบ้าน หมายถึง เรื่องเล่าเกี่ยวกับประวัติความเป็นมาของสถานที่ บุคคล ศาสนวัตถุ และศาสนสถานที่สำคัญๆ ในท้องถิ่นต่างๆ และเรื่องเล่าที่อธิบายความเป็นมาของความเชื่อและพิธีกรรมในท้องถิ่นต่างๆ (กรมส่งเสริมวัฒนธรรม.2559:2) ทั้งนิทานพื้นบ้านและตำนานพื้นบ้านเป็นทั้งตัวแทนของท้องถิ่นหรือความเป็นเจ้าของวรรณกรรมในพื้นที่ เช่น ขุนช้างขุนแผน เป็นนิทานพื้นบ้านภาคกลาง ที่ปรากฏชื่อของตัวละครในเรื่องในพื้นที่ชมุชนของจังหวัดสุพรรณบุรี เช่น วัดแค วัดป่าเลไลย์ คุ้มขุนแผน ถนนขุนไกร ถนนพระพันวษา ถนนนางพิม ถนนขุนแผน ถนนขุนช้าง ถนนพลายชุมพล เป็นต้น โดยสถานที่เหล่านี้นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่รู้จักและเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สร้างรายได้ให้กับชุมชนละแวกนั้น

          นิทานพื้นบ้านเรื่อง “ตาม่องล่าย” เป็นเรื่องราวรักสามเส้าโศกนาฏกรรมระหว่างชาย ๒ กับหญิง ๑ คือ เจ้าลาย พระเจ้ากรุงจีน และนางยมโดย ซึ่งชายทั้งสองต่างหลงรักหญิงสาวคนเดียวกัน โดยมีปมปัญหาที่เกิดขึ้นจากการกระทำของบิดา คือ ตาม่องล่าย และมารดา คือ นางรำพึง ซึ่งต่างก็ตกปากรับคำชายหนุ่มทั้งสองไว้ว่าจะยกลูกสาวให้โดยที่มิได้บอกกล่าวให้อีกฝ่ายหนึ่งรู้ และเป็นเหตุบังเอิญที่ต่างก็กำหนดวันแต่งงานในวันเดียวกัน ความยุ่งยากจึงเกิดขึ้น กล่าวคือ ฝ่ายบิดาแก้ปัญหาด้วยการฉีกลูกสาวออกเป็น ๒ ซีก เพื่อแบ่งให้แก่ชายหนุ่มทั้งสอง จึงเป็นเหตุให้นางเสียชีวิต หลังจากเหตุการณ์ดังกล่าวทำให้ส่งผลหรือเป็นสาเหตุให้ตัวละครทุกตัวถึงแก่ชีวิตเช่นกัน นิทานเรื่องนี้ใช้อธิบายที่มาของการเกิดภูมิลักษณ์ต่างๆ เช่น เกาะ หาดทราย คุ้งอ่าว และภูเขา รวมถึงสิ่งต่างๆ ในบริเวณชายฝั่งทะเลอ่าวไทยตอนบน

         “ตาม่องล่าย” เป็นนิทานที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักของคนในท้องถิ่นบริเวณชายฝั่งอ่าวไทยตอนบนทั้งทางฝั่งตะวันตกในเขตชายฝั่งเพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ และชุมพร และทะเลทางตะวันออกในเขตจังหวัดตราด จันทบุรี ระยอง และชลบุรีเป็นนิทานอธิบายภูมิศาสตร์ของท้องถิ่นและภูมินามต่างๆ ในจังหวัดต่างๆ บริเวณชายฝั่งทะเลอ่าวไทย  เช่น  เขาล้อมหมวก เขาช่องกระจก จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เกาะทะลุ เขาแม่รำพึง อำเภอบางสะพาน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เกาะกระบุง จังหวัดตราด เป็นต้น นิทานเรื่องนี้ได้เคยนำมาสร้างสรรค์ในรูปแบบของละครพันทาง เรื่อง “ตาม่องล่าย” ซึ่งจัดแสดงในเทศกาลสงกรานต์ ประจำปี พ.ศ. 2551 จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ (กรมส่งเสริมวัฒนธรรม.2559 : 8-9) จะเห็นได้ว่า นิทานพื้นบ้านซึ่งเคยมีสถานพเป็น “เรื่องเล่า” เพื่ออธิบายภูมินามหรือสภาพภูมิศาสตร์ที่แปลกๆ ในท้องถิ่น ได้กลายเป็น การแสดง ซึ่งทั้งการแสดงละครเรื่อง ตาม่องล่าย ไม่เคยมีมาก่อนในอดีต แต่ได้ ถือกำเนิดใหม่ ในรูปของการแสดงในบริบทการท่องเที่ยวในปัจจุบัน (ศิราพร ณ ถลาง.2559:103)

           วรรณกรรมท้องถิ่นทางภาคอีสานนั้น หากกล่าวถึง “พญาคันคาก” วรรณกรรมพื้นบ้านที่ปรากฏอยู่อย่างแพร่หลายในการรับรู้ของชาวอีสานและล้านนามีชื่อรู้จักกันโดยทั่วไปว่า ตำนานพญาคันคาก แต่บางถิ่นก็อาจเรียกชื่อว่า ตำนานพญาคางคาก ธัมม์พญาคางคาก หรือพญาคันคากชาดก ในท้องถิ่นล้านนามีชื่อว่า คันธฆาฎกะ และสุวัณณจักกวัตติราช เป็นต้น ตำนานพญาคันคากนับเป็นเรื่องที่น่าสนใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาพของพระโพธิสัตว์คันคาก สะท้อนให้เห็นพลังศรัทธาความเชื่อทางพุทธศาสนา ที่ผสมผสานกับคติความเชื่อดั้งเดิมเรื่องผีแถน ซึ่งสะท้อนให้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างพุทธศาสนา กับพิธีกรรมความเชื่อเกี่ยวกับความอุดมสมบูรณ์ในวิถีชีวิตของชาวนาในวัฒนธรรมข้าว ที่ต้องอาศัยนํ้าฟ้านํ้าฝนในการผลิตธัญญาหาร

                 ในแง่นี้ อาจกล่าวได้ว่า ตำนานพญาคันคากเป็นข้อมูลทางวัฒนธรรมที่สามารถใช้บ่งบอกให้เห็นชีวิตพื้นบ้านที่ดำรงอยู่ในวิถีแห่งวัฒนธรรมการเกษตรในสังคมท้องถิ่นไทยได้เป็นอย่างดี ในท้องถิ่นอีสาน พบว่า ตำนานพญาคันคาก ยังคงมีบทบาทสำคัญและดำรงอยู่ในวิถีชีวิตอีสาน นับตั้งแต่อดีตมามีความนิยมนำตำนานพญาคันคากมาให้พระใช้เทศน์ในพิธีกรรมการขอฝน และใช้เทศน์ร่วมในพิธีจุดบั้งไฟขอฝนด้วยเหตุนี้ ตำนานพญาคันคากในมุมมองของชาวอีสานจึงถือว่าเป็นวรรณกรรมศักดิ์สิทธิ์ เป็นเรื่องเล่าที่ใช้อธิบายที่มาของประเพณีการจุดบั้งไฟในเดือนหก ซึ่งถือเป็นประเพณีอันสำคัญใน “ฮีตสิบสอง” (จารีตประเพณีสิบสองเดือน) (กรมส่งเสริมวัฒนธรรม.2559 :71-72) โดยจังหวัดทางภาคอีสานที่จัดงานประเพณีบั้งไปนี้ ได้แก่ ยโสธร เป็นจังหวัดที่มีพิพิธภัณฑ์พญาคันคากที่ตั้งโดดเด่นใจกลางเมือง ส่งเสริมความเป็นอัตลักษณ์ของตำนานพญาคักคากและประเพณีบุญบั้งไฟ  ด้านข้างของพิพิธภัณฑ์ยังมีประติมากรรมขบวนแห่บั้งไฟที่สวยงาม จึงเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่สร้างความอัตลักษณ์ของท้องถิ่นและได้ชัดเจน นอกจากนั้นยังมี จังหวัดร้อยเอ็ด กาฬสินธุ์ อุดรธานี หนองคาย มหาสารคาม ศรีสะเกษ หนองบัวลำภู เลย อำนาจเจริญ เป็นต้น

            นโยบายของภาครัฐประกอบกับการจัดการท่องเที่ยวของจังหวัดต่างๆ จึงเป็นปัจจัยสำคัญอย่างยิ่งในการทำนิทานที่เคยเป็นเรื่องเล่าหรือเป็นวรรณกรรมลายลักษณ์ของแต่ละจังหวัดที่รับรู้อย่างเป็นรูปธรรม ในช่วง พ.ศ.2524 แต่ละจังหวัดได้รับจัดสรรงบประมาณให้สร้างอนุสาวรีย์บุคคลในท้องถิ่น การเลือก “บุคคลสำคัญ” มาสร้างเป็นอนุสาวรีย์มักจะใช้วีรบุรุษหรือวีรสตรีในตำนานหรือประวัติศาสตร์ เช่น จังหวัดลำพูนเลือกสร้างอนุสาวรีย์พระนางจามเทวี ผู้นำความเจริญมายังอาณาจักรหริภุญไชย โดยอ้างอิงจาก “ตำนานพระธาตุหริภุญชัย” จามเทวีวงศ์ ตำนานมูลศาสนา ชินกาลมาลีปกรณ์ พงศาวดารโยนก ตั้งแต่นั้นมาอนุสาวรีย์ของพระนางจามเทวีจึงเป็นศูนย์กลางและสัญลักษณ์ที่แสดงอัตลักษณ์ของจังหวัดลำพูนที่ทำให้คนลำพูนภูมิใจตำนาน

               ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นของอาณาจักรหริภุญไชยและล้านนา ช่วงเวลาระหว่าง พ.ศ.๒๐๓๙ ถึง พ.ศ.๒๐๖๘ ในยุคสมัยสมัยของพระญาเมืองแก้ว แห่งราชวงศ์มังราย ปรากฏทั้งเรื่องเล่าแบบมุขปาฐะในสำนวนชาวบ้านและวรรณกรรมลายลักษณ์ เป็นเรื่องราวของพระนางจามเทวี ที่เกี่ยวกับประวัติการเข้ามาของพุทธศาสนาในเขตหริภุญไชย และเรื่องราวความเป็นมาของเมืองหริภุญไชย โดยเริ่มเรื่องตามธรรมเนียมของตำนานศาสนาทั่วไปที่เกี่ยวกับการเสด็จมาของพระพุทธเจ้าเพื่อมาโปรดเวไนยสัตว์ในอาณาจักรหริภุญไชย นอกจากนั้น เรื่องราวของพระนางจามเทวียังมีปรากฏในจิตรกรรมฝาผนังที่จังหวัดลำพูนในปัจจุบัน มีการสร้างทั้งอนุสาวรีย์ รูปเคารพและเครื่องรางของขลังเกี่ยวกับพระนางจามเทวี (กรมส่งเสริมวัฒนธรรม.2559 : 45)

            จังหวัดใดที่มีท้องถิ่นที่สัมพันธ์กับ “ตำนานพระนางจามเทวี” จะสร้างรูปเคารพพระนางจามเทวีและทำให้พื้นที่ในท้องถิ่นที่เป็นเส้นทางการเดินทางของพระนางจามเทวี เช่น จังหวัดลพบุรี ตาก แพร่ น่าน เชียงใหม่ เชียงราย และจึงมีเส้นทางการท่องเที่ยว เช่น “ตามรอยพระนางจามเทวี กราบพระดีแห่งล้านนา” ในจังหวัดตาก มีบริษัทล่องแพชื่อ “แพ พรจามเทวีทัวร์” จัดเส้นทางการท่องเที่ยวแบบล่องแพในชื่อว่า “รอยขบวนเสด็จพระนางจามเทวี” หรืออีกเส้นทางการท่องเที่ยวอีกรูปแบบ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) และสำนักงานกองทุนการส่งเสริมสุขภาพ (สสส.) ชวนปั่นทางไกลไปทอดกฐินเพื่อเป็นกุศลและสิริมงคลแก่ชีวิตโดยการจัดเส้นทางท่องเที่ยว “ปั่นตามรอยพระนางจามเทวี” จากลพบุรีถึงเชียงใหม่ เป็นต้น (ศิราพร ณ ถลาง.2559:106)

บทสรุป

            วรรณกรรมท้องถิ่นประเภทนิทานพื้นบ้าน ตำนานพื้นบ้าน เรื่องเล่าต่างๆ เพลงพื้นบ้าน บทสวดในพิธีกรรม สำนวนสุภาษิต ปริศนาคำทาย ตำราต่างๆ ที่เกิดจากท้องถิ่น จัดเป็นวรรณกรรมที่มีคุณค่าที่สะท้อนให้เห็นถึงสภาพทางสังคมและบทบาททางสังคมในบริบทต่างๆ ได้เห็นถึงวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของคนในท้องถิ่น แสดงถึงความเชื่อต่างๆ อธิบายเรื่องราวในท้องถิ่นด้วยความเชื่อ ให้ข้อคิดในการดำเนินชีวิต รวมถึง การสร้างความภูมิใจให้คนในท้องถิ่นในการเรียนรู้เข้าใจที่มาประวัติบุคคลหรือสิ่งต่างๆ ในท้องถิ่นตนเอง อีกด้านหนึ่งวรรณกรรมท้องถิ่นเป็น “ต้นทุนทางวัฒนธรรม” ที่สำคัญที่สามรถนำมาปรับใช้เพื่อการท่องเที่ยว การท่องเที่ยวเป็นปัจจัยทางสังคมที่ทำให้เกิด ประเพณีสร้างสรรค์ ประเพณใหม่ๆ ที่สร้างขึ้นโดยอิงวัฒนธรรมเดิมในท้องถิ่น และสามรถนำประเพณีที่มีอยู่แล้วมาปรับใช้ในบริบทการท่องเที่ยวในปัจจุบัน โดยช่วยสร้างเศรษฐกิจสร้างสรรค์และการท่องเที่ยวของชุมชนได้อย่างยั่งยืน

เอกสารอ้างอิง

          กรมส่งเสริมวัฒนธรรม. (2559).วรรณกรรมพื้นบ้าน: มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมชองชาติ. กรุงเทพฯ: สำนักงานกิจการโรงพิมพ์ องค์กรสงเคราะห์ทหารผ่านศึก ในพระบรมราชูปถัมภ์.

          ศิราพร ณ ถลาง. (2559). คติชนสร้างสรรค์:บทสังเคราะห์และทฤษฎี. กรุงเทพฯ: ภาพพิมพ์.