องค์การสหประชาชาติ (UN) ได้แจ้งถึงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยชี้ว่ายุคโลกร้อน (Global Warming) สิ้นสุดลงแล้ว และยุคโลกเดือด (Global Boiling) ได้เริ่มขึ้นแล้ว
จากการเก็บข้อมูลอย่างต่อเนื่อง พบว่าตั้งแต่ปี 2558–2565 มีอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกร้อนที่สุดเป็นประวัติการณ์ สำหรับภูมิภาคเอเชียพบอุณหภูมิเฉลี่ยในปี 2565 สูงกว่าค่าเฉลี่ย 30 ปีย้อนหลัง จากข้อมูลนพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่าสำหรับประเทศไทย พบว่าในปี 2566 มีแนวโน้มอุณหภูมิเฉลี่ยสูงสุดเพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา 1.5 องศาเซลเซียส โดยเมื่อวันที่ 16 เม.ย.2566 ที่จ.ตาก มีอุณหภูมิสูงสุด 44.6 องศาเซลเซียส ซึ่งถือว่าอยู่ในระดับอันตรายมาก (อุณหภูมิสูงสุดมากกว่า 43 องศาเซลเซียส) เมื่อเทียบกับค่าเฝ้าระวังผลกระทบต่อสุขภาพจากความร้อน และคาดว่าจะมีแนวโน้มรุนแรงอย่างต่อเนื่องถึงเดือนเม.ย.2567 เนื่องจากปรากฏการณ์เอลนีโญ ซึ่งส่งผลกระทบกับสุขภาพของประชาชนประเทศไทย องค์การอนามัยโลก (WHO) ยังได้คาดการณ์ว่าประเทศไทยจะมีผู้สูงอายุเสียชีวิตจากความร้อนในอัตรา 58 ต่อแสนประชากร หรือ 14,000 คน ภายในปี 2623 หรือในอีก 57 ปีข้างหน้า (https://www.thaipbs.or.th/news/content/330934)
ปัจจัยที่ทำให้ปี 2565 มีอุณหภูมิสูงกว่าอดีต 1,000–10,000 ปี มาจาก 4 ปัจจัยหลักคือ
1. การกระทำของมนุษย์จากการปลดปล่อยแก๊สเรือนกระจกสูงขึ้นต่อเนื่อง ทำให้อุณหภูมิเพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ย 1.2 องศาเซลเซียส
2. ปรากฏการณ์ El Nino ที่รุนแรง ทำให้อุณหภูมิเพิ่มขึ้นอีก 0.2–0.3 องศาเซลเซียส
3. เป็นช่วงเวลาการปลดปล่อยพลังงานสูงจากดวงอาทิตย์ ทำให้อุณหภูมิเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 0.05 องศาเซลเซียส
4. การระเบิดของภูเขาไฟ Tonga-Hunga ทำให้อุณหภูมิเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 0.035 องศาเซลเซียส ดังนั้นอุณหภูมิสูงขึ้นเฉลี่ยโดยรวมของโลกจึงแตะประมาณ 1.5 ± 0.2 องศาเซลเซียส ในเดือนกรกฎาคม 2565 ซึ่งเป็นขีดจำกัดตามข้อตกลงปารีส 2015 ที่จะควบคุมอุณหภูมิของโลกไม่ให้สูงเกิน 1.5 องศาเซลเซียส ในปี ค.ศ. 2100 แต่มันได้เกิดขึ้นแล้ว ซึ่งไม่ได้หมายความว่าอุณหภูมิจะยืน หรือสูงกว่านี้ในระยะสั้น (ขึ้นกับสภาพอากาศแปรปรวนในแต่ละปี) (https://www.thairath.co.th/news/sustainable/2719014)