ระบบธนาคารหน่วยกิตในประเทศไทย
รองศาสตราจารย์ ดร.อารีวรรณ เอี่ยมสะอาด
……………………………………………………………………………………………………….
ระบบธนาคารหน่วยกิต (Credit Bank) เป็นเรื่องที่อยู่ในความสนใจสำหรับผู้ที่เกี่ยวข้องของกระทรวงต่างๆ สถาบันการศึกษา หน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน ดังนั้น ผู้เขียนจึงศึกษาเอกสาร ตำรา และงานวิจัยที่เกี่ยวข้องมานำเสนอเพื่อรับทราบข้อมูล นำไปสู่การปฏิบัติในโอกาสต่อไ จึงขอนำเสนอหัวข้อ ดังนี้
1. หลักการและแนวคิดของระบบธนาคารหน่วยกิต
2. หลักการและแนวคิดระบบธนาคารหน่วยกิตของประเทศไทย
3. ระบบธนาคารหน่วยกิตของประเทศที่ประสบความสำเร็จ
4. การดำเนินงานระบบธนาคารหน่วยกิตของประเทศไทย
โดยมีรายละเอียด ดังนี้
หลักการและแนวคิดของระบบธนาคารหน่วยกิต
ความหมายระบบธนาคารหน่วยกิต
มีนักวิชาการ นักการศึกษา หลายท่านให้ความหมายระบบธนาคารหน่วยกิต ดังนี้
ความหมายระบบธนาคารหน่วยกิต คือ ระบบทะเบียนเฉพาะสำหรับผู้ที่ต้องการสะสมหน่วยกิตหรือ ผลการเรียนรู้ โดยจัดให้มีระเบียนหรือสมุดสะสมหน่วยกิตให้สามารถนำผลการเรียน ผลการเรียนรู้ จากแหล่งต่าง ๆ มาสะสมเป็นหน่วยกิตหรือผลการเรียนรู้ เปิดโอกาส ให้ประชาชน ผู้เรียน คณาจารย์ และนักศึกษานำความรู้ จากการศึกษานอกระบบ จากการศึกษาตามอัธยาศัย และการเรียนรู้ จากประสบการณ์การเข้ารับการฝึกอบรม ทั้งในระบบ นอกระบบ และตามของแต่ละคนมาเก็บสะสมไว้ในธนาคารหน่วยกิตของสถาบันการศึกษามาเทียบโอนกันได้ เพื่อการเรียนรู้ ในระดับที่สูงขึ้น การเพิ่มวุฒิ หรือการเพิ่มประสบการณ์ในการทำงาน เพื่อรับประกาศนียบัตร หรือปริญญาบัตร โดยไม่จำกัดอายุ และระยะเวลา และเพิ่มโอกาสการทำงานของแรงงาน ส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตของทุกช่วงวัย (Lifelong Learning) ยกระดับการศึกษาของไทยให้ทันกับการเปลี่ยนแปลง และพัฒนาศักยภาพ ของประเทศด้วยฐานของทุนมนุษย์ สอดคล้องกับสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (2563) อุทัย บุญประเสริฐ และ อรุณี ตระการไพโรจน์ (2560) อภิชัย พันธเสน และคณะ (2560) และพงษ์ภิญโญ แม้นโกศล (2564)
หลักการและแนวคิดระบบธนาคารหน่วยกิตของประเทศไทย
หลักการระบบธนาคารหน่วยกิต
หลักการระบบธนาคารหน่วยกิต มีหลักการที่สำคัญ คือ
1) ผลการเรียน และผลการเรียนรู้ ผู้เรียนสามารถนำมาสะสมในธนาคารหน่วยกิตได้ตามหลักเกณฑ์การเทียบโอนผลการเรียนระดับปริญญาเข้าสู่การศึกษาในระบบ
2) การสะสมผลการเรียนและผลการเรียนรู้ในธนาคารหน่วยกิต ผู้เรียนสามารถทำได้โดยไม่จำกัดอายุของผู้เรียน คุณวุฒิผู้เรียนระยะเวลาในการสะสมหน่วยกิต และระยะเวลาในการเรียน
3) การลงทะเบียนเรียนและสะสมหน่วยกิต ผู้เรียนสามารถทำได้ตลอดชีวิตโดยไม่มีเงื่อนไขของระยะเวลาในการสะสมและระยะเวลาในการศึกษา
4) การพัฒนาความรู้และสมรรถนะเฉพาะทางหรือต้องการเปลี่ยนอาชีพ ผู้เรียนสามารถรับการฝึกอบรมและนำผลการเรียนรู้มาเทียบโอนและสะสมหน่วยกิตในธนาคารหน่วยกิตได้
5) การสะสมหน่วยกิต หรือผลการเรียนจากการศึกษาในระบบ นอกระบบและอัธยาศัย และจากประสบการณ์สามารถสะสมในธนาคารหน่วยกิต
6) การลงทะเบียนเรียนและสะสมหน่วยกิต ผู้เรียนสามารถทำได้ในสถาบันอุดมศึกษาได้มากกว่า 1 สถาบัน (สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา, 2563)
แนวคิดระบบธนาคารหน่วยกิตของประเทศไทย
จากความหมายและหลักการของระบบธนาคารหน่วยกิตดังกล่าวข้างต้น จึงทำให้เกิดแนวคิดระบบงานธนาคารหน่วยกิตของประเทศไทย ดังนี้
๑) หน่วยงานกลางที่ทำให้การเรียนรู้โดยการยอมรับความแตกต่างของความรู้ ทักษะและ
ประสบการณ์ที่มีมาก่อนของแต่ละบุคคลจาการศึกษาเรียนรู้จากทุกสถาบันการศึกษาการ มีหลักการทำอย่างไร
๒) การใช้ผลการเรียนเดิมกลับเข้ารับการศึกษาต่อได้เมื่อมีความพร้อม เป็นการช่วยเหลือผู้เรียนที่ต้อง
ออกจากระบบการศึกษากลางคัน
๓) การนำความรู้ ทักษะและประสบการณ์นอกระบบ ได้เข้าสู่ระบบการศึกษาได้ด้วยระบบการเทียบ
โอนและสะสมหน่วยการเรียนรู้ หรือการเทียบสมรรถนะเพื่อการประกอบอาชีพและศึกษาต่อเป็นการส่งเสริมให้ประชาชนสร้างการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง
๔) การประหยัดค่าใช้จ่ายของผู้เรียนและสถานศึกษาและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เป็นการลดขั้นตอน
การเรียนและระยะเวลา
๕) การส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้ตลอดชีวิต ก่อให้เกิดการใช้ทรัพยากรร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพ
และผลดีต่อการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และพัฒนาประเทศ ขึ้นอยู่กับการประสานเชื่อมโยงและความร่วมมือระหว่างหน่วยงานทั้งการศึกษาในระบบ การศึกษานอกระบบ (สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา,2558)
ระบบธนาคารหน่วยกิตของประเทศที่ประสบความสำเร็จ
ระบบธนาคารหน่วยกิตของประเทศที่ประสบความสำเร็จ ได้แก่ สาธารณรัฐเกาหลี สาธารณรัฐ สิงคโปร์ เครือรัฐออสเตรเลีย ประเทศสหรัฐอเมริกา และสหภาพยุโรป สรุปในตารางที่ 1
ตารางที่ 1 ระบบธนาคารหน่วยกิตของประเทศที่ประสบความสำเร็จ
ประเทศ
หลักการและแนวคิด
การรับรอง
หน่วยงานกลาง
สาธารณรัฐเกาหลี
จากนโยบายการเรียนรู้ตลอดชีวิตเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ โดยเชื่อมโยงกับกรอบคุณวุฒิแห่งชาติ (KQF) และคุณวุฒิวิชาชีพ (VQS)
รับรองผลการเรียนรู้ทั้งจากการศึกษาในระบบ การศึกษานอกระบบ การศึกษาตามอัธยาศัย และจากประสบการณ์การเรียนรู้
สถาบันส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตแห่งชาติ (National Institute for Lifelong Learning หรือ NILE)
สาธารณรัฐสิงคโปร์
จากยุทธศาสตร์ E3A ที่รัฐต้องจัดให้ประชาชนทุกคนได้รับการศึกษาทุกด้านตามที่ต้องการในทุกที่ และทุกเวลา
2 หน่วยงาน คือ
(1) ภาครัฐ
(2) สถาบันอุดมศึกษา
ไม่มี
เครือรัฐออสเตรเลีย
ใช้การเชื่อมโยงทักษะการเรียนรู้เดิมกับการรับรองมาตรฐานอาชีพในประเทศ มีการกำหนดกรอบคุณวุฒิแห่งชาติในการศึกษาทุกระดับ
มีหน่วยงานควบคุมคุณภาพการศึกษา มาตรฐานการศึกษา และรับรองมาตรฐาน กระบวนการเทียบโอนหน่วยการเรียนรู้อาศัยการเชื่อมโยงความรู้เดิมของผู้ขอเทียบโอนกับกรอบคุณวุฒิแห่งชาติ (Australian
สำนักงานคุณภาพทักษะออสเตรเลีย (Australian Skills Quality Authority : ASQA)
Qualifications Framework หรือ AQF)
สหรัฐอเมริกา
จากระบบประเมินผลการเรียนรู้เดิม (Prior Learning Assessment : PLA) การเทียบโอนความรู้และประสบการณ์การใช้ชีวิต ตลอดจนการทำงานที่เป็นที่ยอมรับ สามารถเทียบโอนเป็นหน่วยกิตทางการศึกษาได้ การเทียบโอนหน่วยกิตครอบคลุมในทุกระดับการศึกษา
หน่วยงานกลาง
สภาการเรียนรู้ทางประสบการณ์และบุคคลวัยทำงาน (Council for Adult and Experiential Learning)
สหภาพยุโรป
กำหนดให้ประชาชนในสหภาพยุโรปจะต้องแสดงคุณสมบัติและทักษะต่อนายจ้าง ทำให้เกิดระบบการเทียบโอนและสะสมหน่วยกิตที่เรียกว่า European Credit Transfer and Accumulation System หรือ ECTS ผ่านปฏิญญาโบโลญญ่า (Bologna Declaration)
หน่วยงานกลาง
คณะกรรมการสหภาพยุโรป
ที่มา: สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา, 2566
สรุป ทั้ง 5 ประเทศที่กล่าวมาหลักการและแนวคิด จะมีความแตกต่างกัน การรับรอง สาธารณรัฐเกาหลี สาธารณรัฐ สิงคโปร์ เครือรัฐออสเตรเลีย จะมีหน่วยงานกลางต่างหาก ประเทศสหรัฐอเมริกา และสหภาพยุโรป จะมีการรับรองจากหน่วยงานกลาง
การดำเนินงานระบบธนาคารหน่วยกิตของประเทศไทย
การดำเนินงานระบบธนาคารหน่วยกิตของประเทศไทย ที่นำเสนอมี 5 หน่วยงาน คือ
1. การดำเนินงานระบบธนาคารหน่วยกิตในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน
2. การดำเนินงานระบบธนาคารหน่วยกิตในระดับอาชีวศึกษา
3. การดำเนินงานระบบธนาคารหน่วยกิตในระดับอุดมศึกษา
4. การดำเนินงานระบบธนาคารหน่วยกิตของสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ หรือ สคช.
5. การดำเนินงานระบบธนาคารหน่วยกิตของกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.)
โดยมีรายละเอียด ดังนี้
1. การดำเนินงานระบบธนาคารหน่วยกิตในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน พบว่า
(1) มีประกาศกระทรวงศึกษาธิการเกี่ยวกับการเทียบโอนผลการเรียนระดับต่ำกว่าปริญญาตรีโดย
สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งครอบคลุมการศึกษาขั้นพื้นฐาน
(2) สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) และ สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอก
ระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) จัดทำแนวทางการเทียบโอนในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน ซึ่งสถานศึกษาได้ดำเนินงานตามหลักเกณฑ์และแนวทางดังกล่าว ส่วนใหญ่เป็นการเทียบโอนการศึกษาในระบบ เพื่อเข้าศึกษาต่อในสถาบันที่ยื่นขอเทียบโอน และเพื่อรับวุฒิการศึกษา
(3) สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริม
การศึกษาเอกชน (สช.) ได้จัดทำคู่มือหรือแนวปฏิบัติในการดำเนินงานระบบธนาคารหน่วยกิต และเริ่มมีโครงการนำร่องกับสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) และกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
2) การดำเนินงานระบบธนาคารหน่วยกิตในระดับอาชีวศึกษา พบว่า
(1) มีการออกประกาศเกี่ยวกับกรอบคุณวุฒิอาชีวศึกษาแห่งชาติ โดยสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ และ สอศ. จัดทำเกณฑ์มาตรฐานคุณวุฒิอาชีวศึกษา และประกาศหลักเกณฑ์และแนวปฏิบัติด้านการเทียบโอนผลการเรียน
(2) สถานศึกษาที่สังกัด สอศ. ดำเนินงานตามหลักเกณฑ์และแนวปฏิบัติการเทียบโอน
(3) สอศ. มีการดำเนินการในด้านความร่วมมือกับสถานศึกษาในสังกัด เช่น สพฐ. สช. และ กศน. ในการจัดหลักสูตรทวิศึกษา และโครงการนำร่องเก็บสะสมรายวิชาหรือหน่วยกิตเพื่อการศึกษาต่อ
(4) สอศ. มีการประสานความร่วมมือกับหน่วยงาน องค์กรที่เกี่ยวข้องในการพัฒนาหลักสูตร
(5) สถานศึกษาอาชีวศึกษาเอกชนนำระบบเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาใช้พัฒนาการจัดการศึกษาและการบริหารจัดการ
3) การดำเนินงานระบบธนาคารหน่วยกิตในระดับอุดมศึกษา พบว่า
(1) หลังมีประกาศ อว. เรื่อง แนวทางการดำเนินงานระบบคลังหน่วยกิตระดับอุดมศึกษา พ.ศ. 2562 สถาบันอุดมศึกษาหลายแห่งได้จัดหลักสูตรหรือโครงการธนาคารหน่วยกิตที่เปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้เรียนในสาขาวิชาที่สนใจและสามารถเก็บสะสมไว้ในระบบเพื่อใช้ประโยชน์ในการศึกษาต่อ
(2) คณะกรรมการมาตรฐานการอุดมศึกษาได้ออกประกาศ เรื่อง แนวทางการดำเนินงานคลังหน่วยกิตในระดับอุดมศึกษา พ.ศ. 2565 และประกาศ เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการเทียบโอนหน่วยกิตและผลการศึกษาในระดับอุดมศึกษา พ.ศ. 2565 เพื่อกำหนดให้สำนักงานปลัดกระทรวง อว. (สป.อว.) ทำหน้าที่หน่วยงานกลางและได้ปรับแก้หลักเกณฑ์หลายประการที่ยังเป็นอุปสรรคให้เอื้อต่อการดำเนินงานยิ่งขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้สถาบันอุดมศึกษาและผู้เรียนเข้าร่วมระบบธนาคารหน่วยกิตมากขึ้น
(3) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรีได้ออกระเบียบเกี่ยวกับการเรียนการสอนในระบบธนาคารหน่วยกิต โดยมีการเทียบโอน 5 รูปแบบ
(4) สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) (สคช.) เครือข่าย มทร. 9 แห่ง สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) และ สอศ. ได้มีความร่วมมือในการพัฒนาระบบธนาคารหน่วยกิตเพื่อเชื่อมโยงคุณวุฒิวิชาชีพและคุณวุฒิการศึกษา และสถาบันอุดมศึกษา 25 แห่ง ได้ลงนามให้นักศึกษาสามารถลงทะเบียนเรียนข้ามสถาบันได้
(5) อว. พัฒนาระบบคลังหน่วยกิตแห่งชาติ (National Credit Bank System) สร้างระบบทะเบียนสะสมที่เชื่อมโยงคลังหน่วยกิตของทุกสถาบันที่ผู้ใช้สามารถเข้าใช้ได้โดยไม่มีข้อจำกัด รวมทั้งมีแผนนำร่องการดำเนินงานในปี พ.ศ. 2566
(6) หลักสูตร หรือโครงการทั้งในลักษณะ Pre-Degree สำหรับผู้เรียนในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน และการสะสมหน่วยกิตของนักศึกษาในสถาบัน
4) การดำเนินงานระบบธนาคารหน่วยกิตของสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ หรือ สคช. พบว่า
(1) เป็นหน่วยงานภาครัฐ มีหน้าที่ส่งเสริม สนับสนุน และพัฒนาระบบคุณวุฒิวิชาชีพ จัดทำมาตรฐานอาชีพ ให้การรับรองสมรรถนะตามมาตรฐานที่กำหนด และให้การรับรององค์กรที่มีหน้าที่รับรองสมรรถนะของบุคคลตามมาตรฐานอาชีพ
(2) ได้จัดทำ MOU ในการ “พัฒนาระบบธนาคารหน่วยกิตดิจิทัลเพื่อเชื่อมโยงคุณวุฒิวิชาชีพกับคุณวุฒิการศึกษา” กับ สคช. มทร. 9 แห่ง สกศ. และ สอศ. โดยร่วมมือกันพัฒนาระบบธนาคารหน่วยกิตดิจิทัล (Digital Credit Bank System : DCBS) สำหรับเชื่อมโยงคุณวุฒิวิชาชีพกับคุณวุฒิการศึกษา
(3) ได้จัดให้มีการประเมินสมรรถนะตามมาตรฐานอาชีพในรูปแบบการเทียบโอนประสบการณ์ (Recognition of Existing Skills and Knowledge : RESK ) เพื่อการรับรองคุณวุฒิวิชาชีพ
(4) ลงนาม MOU กับหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อร่วมกันพัฒนากำลังคนด้วยระบบคุณวุฒิวิชาชีพ ด้วยแนวทางการสะสมหน่วยกิตในธนาคารหน่วยกิต (Credit bank) และส่งเสริมการเทียบโอนคุณวุฒิวิชาชีพเข้าสู่คุณวุฒิทางการศึกษา ส่งเสริมศักยภาพบุคคลด้วยระบบคุณวุฒิวิชาชีพ และสนับสนุนให้มีการประเมินสมรรถนะของบุคคลตามมาตรฐานอาชีพและคุณวุฒิวิชาชีพ
5) การดำเนินงานระบบธนาคารหน่วยกิตของกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) พบว่า
(1) กพร. มีหน้าที่จัดทำและพัฒนามาตรฐานฝีมือแรงงานให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากลและความต้องการของตลาดแรงงาน พัฒนาระบบการรับรองความรู้ความสามารถ การฝึกอบรมฝีมือแรงงาน การทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงาน และการออกหนังสือรับรองมาตรฐานฝีมือแรงงาน
(2) จัดทดสอบและรับรองฝีมือแรงงานในสาขาอาชีพต่าง ๆ เพื่อเพิ่มแรงงานที่มีคุณวุฒิและทักษะตามมาตรฐานที่ตลาดแรงงานต้องการ แรงงานสามารถใช้หนังสือรับรอง เพื่อประกอบการพิจารณาค่าจ้างหรือเงินเดือน และยังสามารถเก็บสะสมในรูปแบบธนาคารหน่วยกิต (Credit Bank) เพื่อนำไปใช้เพิ่มคุณวุฒิการศึกษาได้ด้วย
สรุป ทั้ง 5 หน่วยงานมีการดำเนินงานระบบธนาคารหน่วยกิตของประเทศไทย แต่การดำเนินงานยังขึ้นอยู่กับแต่ละหน่วยงาน ปัญหาการดำเนินงานระบบธนาคารหน่วยกิต พบว่า
(1) ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน ขาดหน่วยงานกลางทำหน้าที่เป็นศูนย์บริหารจัดการระบบธนาคารหน่วยกิต ขาดกลไกสนับสนุนการดำเนินงานไปสู่การปฏิบัติอย่างจริงจัง ยังไม่มีการกำหนดมาตรฐานและรับรองสถานศึกษาขั้นพื้นฐานหรือหน่วยงานที่จัดระบบเทียบโอน ขาดการสนับสนุนการให้ความรู้เกี่ยวกับระบบธนาคารหน่วยกิต ขาดการสื่อสาร ประชาสัมพันธ์ เพื่อสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับระบบธนาคารหน่วยกิต และขาดปัจจัยส่งเสริมความร่วมมือในการดำเนินงานระบบธนาคารหน่วยกิต
(2) ระดับอาชีวศึกษา ขาดหน่วยงานกลางทำหน้าที่เป็นศูนย์บริหารจัดการระบบธนาคารหน่วยกิต ขาดการสนับสนุนการให้บริการความรู้เกี่ยวกับการเทียบโอนและสะสมหน่วยกิตในรูปแบบธนาคารหน่วยกิต ขาดการสื่อสาร ประชาสัมพันธ์ ในการสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับระบบธนาคารหน่วยกิต ขาดปัจจัยส่งเสริมความร่วมมือในการดำเนินงานระบบธนาคารหน่วยกิตกับภาคเอกชน ภาคแรงงาน หรือสถานประกอบการ ขาดการมีส่วนร่วมจากภาคส่วนต่าง ๆ เช่น หน่วยงานภาครัฐยังไม่ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาหลักสูตร สนับสนุนการจัดทำหลักสูตร การจัดการเรียนการสอน หรือหน่วยงานภาคเอกชนในการมีส่วนร่วมพัฒนาหลักสูตรให้ตรงกับความต้องการของตลาดแรงงาน
(3) ระดับอุดมศึกษา ระบบคลังหน่วยกิตยังมุ่งเน้นจัดการศึกษาในระบบของตนเป็นหลัก ขาดการเชื่อมโยงข้ามสถาบันหรือเชื่อมโยงกับการศึกษานอกระบบ หรือตามอัธยาศัย ยังไม่มีการเทียบโอนประสบการณ์ ระบบและวิธีการเทียบเคียงมาตรฐานการจัดการศึกษายังไม่แสดงการเชื่อมโยงหรือเทียบเคียงกับกรอบคุณวุฒิวิชาชีพ การสื่อสาร (สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา,2566)
………………………………………………………………
เอกสารอ้างอิง
อุทัย บุญประเสริฐ และ อรุณี ตระการไพโรจน์. (2560). การศึกษาในศตวรรษที่ 21: ระบบธนาคารหน่วยกิต
(Education in the 21st Century: Credit Bank). สืบค้นจาก https://www.senate.go.th/
document/Ext27142/27142/27142179_0002.PDF
อภิชัย พันธเสน และคณะ. (2560). การพัฒนาระบบคลังหน่วยกิตเพื่อการเทียบโอนความรู้ ทักษะไปสู่
การยกระดับฝีมือแรงงานตามมาตรฐานหรือการศึกษาในระดับที่สูงขึ้น ในชุดโครงการ “นโยบาย
และยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงและศาสตร์ของพระราชา
เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนและประโยชน์สุข”. กรุงเทพฯ: สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.).
พงษ์ภิญโญ แม้นโกศล. (2564). ผลการทดลองใช้ระบบธนาคารสะสมหน่วยการเรียนรู้ของสถาบัน
การอาชีวศึกษาในจังหวัดตาก. วารสารบรรณศาสตร์ มศว, 14(1), 15-27.
สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา. (2566). รูปแบบของหน่วยงานกลางและกลไกการขับเคลื่อนระบบธนาคาร หน่วยกิตของประเทศไทย. กรุงเทพฯ: บริษัท พริกหวานกราฟฟิค จำกัด.
สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา. (2558). รายงานการวิจัยเรื่องแนวทางการพัฒนาระบบการสะสมหน่วยการเรียนรู้ (Credit Bank System) ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน. กรุงเทพฯ: สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ.
สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา. (2563). การศึกษาและพัฒนาระบบและกลไกการขับเคลื่อนระบบธนาคารหน่วยกิต: ข้อเสนอสำหรับประเทศไทย. กรุงเทพฯ: บริษัท พริกหวานกราฟฟิค จำกัด.