มูลค่าของสิ่งแวดล้อม ที่เป็นมูลค่าจากด้านอื่น

มูลค่าของสิ่งแวดล้อมอีกด้านหนึ่งเป็นมูลค่าจากด้านอื่น (non-use values) มูลค่าในส่วนนี้แบ่งเป็น

(1) มูลค่าของการคงอยู่ (existence value) หมายความว่าเป็นมูลค่าของความรู้สึกที่คิดว่าสิ่งของหรือสถานที่นั้นยังคงมีอยู่ และอยู่ในสภาพเดิม แม้ว่าจะไม่ทราบสภาพพื้นที่ตรงนั้นเป็นอย่างไร อาจจะไม่มีโอกาสได้ไปเยี่ยมชมเลยในชีวิต แต่ถ้าพื้นที่หรือสิ่งแวดล้อมนั้นถูกทำลายและไม่มีโอกาสที่จะฟื้นสภาพกลับมาอีก มูลค่าส่วนนี้จะขาดหายไป และรู้สึกผิดหวัง เสียใจ เสียดาย ถ้ารู้ว่าสิ่งนั้นสิ้นสภาพ (โสภิณ 2537:28) เช่นพันธุ์พืช และพันธุ์สัตว์ที่หายาก แหล่งอาศัยของสัตว์ป่า เป็นต้น

(2) มูลค่าเพื่อลูกหลานในวันข้างหน้า (bequest value) เป็นมูลค่าที่บุคคลในรุ่นปัจจุบันต้องอนุรักษ์ใว้ให้ลูกหลานได้เห็นได้ใช้ประโยชน์ เช่น มูลค่าของการอนุรักษ์นกเงือก มูลค่าของการอนุรักษ์ชายหาดที่สวยงามบนหมู่เกาะพีพีเป็นต้น เพราะถ้าหากปล่อยให้สิ่งแวดล้อมและทรัพยากรดังกล่าวถูกทำลายจนสูญสิ้นไปแล้ว จะไม่สามารถทำให้สภาพแวดล้อมหรือทรัพยากรดังกล่าวกลับคืนสภาพมาได้ (irreversible changes )

ดังนั้น การพิจารณาถึงมูลค่าทางเศรษฐกิจของสิ่งแวดล้อมธรรมชาติจึงต้องพึงระมัดระวัง เพระสินค้าที่เป็นสิ่งแวดล้อมธรรมชาติเหล่านี้มีลักษณะไม่เหมือนกับสินค้าที่แข่งขันกันในการบริโภค (rival goods) และในการหามูลค่าของสิ่งแวดล้อม จึงไม่ควรที่จะใช้ประโยชน์โดยตรงในปัจจุบัน มาใช้แต่เพียงอย่างเดียวแต่ควรจะ ต้องคำนึงถึงประโยชน์ทางอ้อมและประโยชน์ที่มิได้มาจากการใช้สอยมาพิจารณาร่วมด้วย ทั้งนี้เพราะสินค้าและบริการที่เป็นสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติ มีลักษณะพิเศษ กล่าวคือ (1) เมื่อถูกทำลายแล้วไม่อาจจะฟื้นคืนสภาพเดิมได้ (irreversibility) (2) เป็นสินค้าที่ไม่อาจจะผลิตเพิ่มได้ไม่ว่าความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีจะมีมากน้อยเพียงใด (3) มีลักษณะพิเศษเฉพาะพื้นที่ (uniqueness) นั่นคือถ้าใช้พื้นที่นี้ไปเพื่อประโยชน์อื่น แทนที่จะอนุรักษ์ใว้ จะไม่สามารถหาพื้นที่อื่นที่มีลักษณะเหมือนกันมาแทนได้ นอกจากนี้อรรถประโยชน์ที่ได้จากการบริโภคหรีอสัมผัสสิ่งแวดล้อมตามธรรมชาติไม่ว่าจะเป็นอุทยาน ป่าทึบที่ยังคงสภาพเดิม ภูเขา น้ำตก นับวันจะมีมากขึ้น ทั้งนี้เพราะธรรมชาติเหล่านี้มีจำกัด