การลงทุนซึ่งรับความเสี่ยงได้น้อย ในขณะเดียวกันได้ผลตอบแทนแบบแน่นอนและสม่ำเสมอ โดยมี ตราสารการเงินประเภทหนึ่งที่เป็นสัญญาแสดงความเป็นหนี้ระหว่างผู้ออก (Issuer) และผู้ถือ หรือเรียกว่า ผู้ลงทุน ตราสารนั้นได้กำหนดอายุและอัตราดอกเบี้ยหรือผลประโยชน์อื่นใด เป็นจำนวนที่แน่นอน และได้ระบุวันที่ชำระดอกเบี้ยและเงินต้นล่วงหน้า ตั้งแต่เมื่อออกตราสารนั้น และในระหว่างที่ยังไม่ครบกำหนดอายุ หรือวันไถ่ถอน สามารถซื้อขายโอนเปลี่ยนมือกันได้ ตราสารการเงินนั้น คือ ตราสารหนี้ ซึ่งผู้ออกตราสารหนี้คือผู้กู้เงินจากผู้ที่ซื้อตราสารหนี้ ผู้ออกคือลูกหนี้และผู้ซื้อ คือผู้ให้กู้หรือเจ้าหนี้นั่นเอง ซึ่งแตกต่างจากตราสารทุนหรือหุ้นสามัญ ที่ผู้ถือตราสารทุนนั้น ลงทุนในส่วนของผู้ถือหุ้น และมีส่วนร่วมเป็นเจ้าของกิจการนั้นๆ ไม่ใช่เจ้าหนี้ บทความนี้จะอธิบายเป็นพื้นฐานเกี่ยวกับตราสารหนี้พอเป็นสังเขปโดยมีหัวข้อเป็นลำดัลขั้นตอนต่อไปนี้
เครื่องมือทางการเงิน
เครื่องมือทางการเงิน (Financial Instruments) หมายถึง หนังสือสำคัญซึ่งเป็นเอกสารแสดงสิทธิต่างๆ เช่น สิทธิในการเป็นเจ้าของ สิทธิในการเป็นเจ้าหนี้ สิทธิที่จะซื้อหรือขายหลักทรัพย์ ฯลฯ
ความหมายของตราสารหนี้
ตราสารหนี้ (bond) คือ ตราสารทางการเงินที่ผู้ออกตราสาร ซึ่งเรียกว่า ผู้กู้ หรือ ลูกหนี้ มีข้อผูกพันทางกฎหมายว่าจะจ่ายผลตอบแทนในรูปของดอกเบี้ยเป็นงวด ๆ และเงินต้น หรือ ผลประโยชน์อื่นๆ ตามกำหนดในตราสารให้แก่ผู้ซื้อ ซึ่งเรียกว่า เจ้าหนี้ หรือ ผู้ให้กู้ เมื่อครบกำหนดที่ตกลงกันไว้ โดยทั่วไป ตราสารหนี้ในตลาดทุนมักจะหมายถึง ตราสารหนี้ที่มีอายุตั้งแต่ 1 ปีขึ้นไป
ผู้ออกตราสารหนี้คือผู้กู้เงินจากผู้ที่ซื้อตราสารหนี้ ผู้ออกคือลูกหนี้และผู้ซื้อ คือผู้ให้กู้หรือเจ้าหนี้นั่นเอง ซึ่งแตกต่างจากตราสารทุนหรือหุ้นสามัญ ที่ผู้ถือตราสารทุนนั้น ลงทุนในส่วนของผู้ถือหุ้น และมีส่วนร่วมเป็นเจ้าของกิจการนั้นๆ ไม่ใช่เจ้าหนี้ ตราสารหนี้ เป็นศัพท์กว้างๆ แต่คำที่ใช้บ่อย คือ “พันธบัตรคือ ตราสารหนี้ ที่ออกโดยรัฐบาลหรือรัฐวิสาหกิจ” และ “หุ้นกู้ คือ ตราสารหนี้ ที่ออกโดยบริษัทเอกชน แต่ในต่างประเทศใช้คำว่า “Bond” สำหรับตราสารหนี้ทั่วไปทั้งที่ออกโดยรัฐและเอกชน มีในบางกรณีที่เรียกว่า “Debenture” เมื่อตราสารหนี้นั้นไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน”
ตราสารหนี้ คือ ตราสารทางการเงินที่ผู้ถือ (ผู้ลงทุน) มีสถานะเป็นเจ้าหนี้ และผู้ออกมีสถานะเป็นลูกหนี้ โดยเจ้าหนี้จะได้รับผลตอบแทนในรูปของ ดอกเบี้ย อย่างสม่ำเสมอตามระยะเวลาที่กำหนดไว้ และได้รับ เงินต้น คืนเมื่อครบกำหนดอายุ
ตัวอย่างตราสารหนี้ที่พบเห็นทั่วไป เช่น ตั๋วเงินคลัง พันธบัตรรัฐบาล และหุ้นกู้เอกชน
องค์ประกอบของตราสารหนี้
ตราสารหนี้โดยทั่วไปจะมีองค์ประกอบที่สำคัญ ซึ่งพอจะจำแนกได้ดังนี้
1. มูลค่าที่ตราไว้ (Par value) คือ มูลค่าเงินต้นที่ผู้กู้จะต้องชำระคืนให้กับผู้ถือตราสารหนี้นั้นเมื่อครบกำหนด ส่วนใหญ่เท่ากับ 1,000 บาท ทั้งนี้มูลค่าที่ตราไว้นี้อาจลดลงเมื่อมีการจ่ายคืนเงินต้นในกรณีที่เป็นตราสารหนี้ชนิดทยอยจ่ายคืน
2. อัตราดอกเบี้ย (Coupon rate) คือ อัตราดอกเบี้ยที่ผู้ออกมีภาระที่จะต้องจ่ายให้กับผู้ถือตราสารหนี้นั้น ๆ ตามวัน เดือน ปี ที่กำหนดตลอดอายุของตราสารหนี้นั้น ในกรณีที่เป็นอัตราดอกเบี้ยคงที่ (Fixed rate) เช่น 8.00% ต่อปี ผู้ออกจะต้องจ่ายที่อัตรานั้นตลอดอายุของตราสารหนี้ หรือในกรณีที่กำหนดให้เป็นอัตราดอกเบี้ยแบบลอยตัว (Floating rate) อัตราดอกเบี้ยที่ผู้ออกต้องจ่ายให้ผู้ถือจะเปลี่ยนแปลงไปได้ตามที่กำหนด ซึ่งโดยปกติมักจะอ้างอิงไว้กับอัตราดอกเบี้ยของธนาคารพาณิชย์ เช่น เปลี่ยนแปลงไปตามอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก 1 ปีโดยเฉลี่ยของ 5 ธนาคารใหญ่ และบวกหรือลบด้วยส่วนต่าง (Margin) ที่กำหนดซึ่งจะขึ้นกับคุณภาพของตราสารหนี้นั้น ๆ
3. งวดการจ่ายดอกเบี้ย (Coupon frequency) เป็นการระบุจำนวนครั้งของการจ่ายดอกเบี้ย ซึ่งสามารถเป็นได้ทั้ง 1 ครั้ง ต่อปี 2 ครั้งต่อปี 4 ครั้งต่อปี หรือทุกๆ เดือน แล้วแต่ผู้ออกจะกำหนด แต่โดยส่วนใหญ่เป็นการจ่ายทุกครึ่งปี โดย เฉพาะพันธบัตรที่ออกโดยรัฐบาลและองค์กรภาครัฐ
4. วันหมดอายุ (Maturity Date) เป็นการกำหนดวันหมดอายุของตราสารหนี้นั้น ซึ่งผู้ออกจะต้องทำการจ่ายคืนเงินต้นและดอกเบี้ยงวดสุดท้าย (ถ้ามี) ให้กับผู้ถือ
5. ชื่อผู้ออก (Issue name) เป็นการระบุว่าใครเป็นผู้ออกตราสารหนี้นั้น หรือเป็นการระบุชื่อผู้กู้
6. ประเภทของตราสารหนี้ เป็นการระบุประเภทของตราสารหนี้นั้น เช่น หุ้นกู้ไม่มีประกัน หุ้นกู้ด้อยสิทธิ/ไม่ด้อยสิทธิ หุ้นกู้แปลงสภาพ เป็นต้น
7. ข้อสัญญา (Covenants) เป็นเงื่อนไขและข้อตกลงที่ระบุให้ผู้ออกหุ้นกู้ต้องสัญญาว่าจะทำหรือไม่ทำ สิ่งหนึ่งสิ่งใดเพื่อประโยชน์ของผู้ให้กู้ โดยทั่วไปมักเกี่ยวกับการตกลงในระดับทุนหมุนเวียน อัตราส่วนหนี้สินต่อส่วนของผู้ถือหุ้นหรือภาระดอกเบี้ยที่ต้องชำระ การห้ามจ่ายเงินปันผลแก่ผู้ถือหุ้นสามัญเกินอัตราที่กำหนด การต้องดำรงสัดส่วนของหนี้สินต่อทุนไม่เกินอัตราที่กำหนด ข้อสัญญาอาจรวมถึงการจำกัดด้านการบริหารของผู้ออก เช่น การห้ามรวมกิจการเป็นต้น
อัตราผลตอบแทนของการลงทุนในตราสารหนี้
โดยปกติแล้วผลตอบแทนของตราสารหนี้จึงมาจาก 2 ส่วนที่สำคัญ คือ
1. อัตราดอกเบี้ย/อัตราผลตอบแทนจากที่ผู้ออกต้องจ่ายให้แก่ผู้ถือตราสารหนี้
2. กำไร/ขาดทุนจากการขาย (Capital gain/loss) คือผลกำไรจากราคาของตราสารหนี้เพิ่มขึ้นจากตอนซื้อ หรือขาดทุนเมื่อราคาของตราสารหนี้ลดลงจากตอนซื้อ ซึ่งอาจเป็นสาเหตุมาจากการที่อัตราดอกเบี้ยในตลาดขยับขึ้นหรือลง
ประเภทของตราสารหนี้
ประเภทของตราสารหนี้สามารถแบ่งได้หลายรูปแบบ โดยอาจแบ่งตามประเภทของผู้ออกตราสาร แบ่งตามสิทธิการเรียกร้อง แบ่งตามสินทรัพย์ที่นำมาค้ำประกันโดยมีรายละเอียดดังนี้ (บริษัทหลักทรัพย์ คันทรี่กรุ๊ป จำกัด (มหาชน), 2562)
ประเภทของผู้ออกตราสาร
1. ตราสารหนี้ที่ออกโดยรัฐบาลหรือพันธบัตรรัฐบาล
2. ตราสารหนี้ที่ออกโดยองค์กรภาครัฐ
3. ตราสารหนี้ภาคเอกชน
แบ่งตามสิทธิการเรียกร้อง
1. หุ้นกู้ด้อยสิทธิ (Subordinate bond)
2. หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ
แบ่งตามการใช้สินทรัพย์ค้ำประกัน
1. หุ้นกู้มีหลักประกัน
2. หุ้นกู้ไม่มีหลักประกัน
แบ่งตามสิทธิแฝงที่ติดมาพร้อมกับตราสาร
1. หุ้นกู้ที่จ่ายดอกเบี้ยคงที่และปราศจากสิทธิแฝงอื่น
2. หุ้นกู้จ่ายดอกเบี้ยแบบลอยตัว
3. หุ้นกู้แปลงสภาพ
4. หุ้นกู้ประเภททยอยจ่ายคืนเงินต้น
5. หุ้นกู้ที่ผู้ออกมีสิทธิเรียกคืนก่อนกำหนด
6. หุ้นกู้ที่ผู้ถือมีสิทธิไถ่ถอนก่อนกำหนด
7. หุ้นกู้ที่เกิดจากการแปลงสินทรัพย์เป็นหลักทรัพย์
8. ตราสาร Basel III หรือ ตราสารหนี้ด้อยสิทธิ หมายถึง ตราสารหนี้ที่มีลักษณะกึ่งหนี้กึ่งทุน
แบ่งตามประเภทของผู้ออก
1. ตราสารหนี้ที่ออกโดยรัฐบาลหรือพันธบัตรรัฐบาล เป็นตราสารหนี้ที่ออกโดยกระทรวงการคลังตามระเบียบและวิธีการที่กฎหมายกำหนด โดยเป็นการระดมเงินทุนจากนักลงทุนและประชาชนทั่วไปเพื่อใช้จ่ายในกิจการของรัฐบาล ผู้ลงทุนมีฐานะเป็นเจ้าหนี้รัฐบาลโดยตรง รัฐบาลจะจ่ายผลตอบแทนในรูปดอกเบี้ยแก่นักลงทุนตามอัตราและระยะเวลาที่กำหนด และจะจ่ายเงินต้นคืนตามราคาที่ตราไว้เมื่อครบกำหนดไถ่ถอน ตราสารชนิดนี้ถือว่าไม่มีความเสี่ยงเรื่องการผิดนัดชำระดอกเบี้ยและเงินต้น (Default free) เนื่องจากมีรัฐบาลเป็นลูกหนี้ แต่ความเสี่ยงด้านการเปลี่ยนแปลงของราคาเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของอัตราดอกเบี้ยในตลาดยังคงมีอยู่
2. ตราสารหนี้ที่ออกโดยองค์กรภาครัฐ เป็นตราสารหนี้ที่ออกโดยองค์กรภาครัฐซึ่งมีชื่อเรียกตามองค์กรที่ออกตราสาร เช่น พันธบัตรธนาคารแห่งประเทศไทย พันธบัตรกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน และพันธบัตรในชื่อของรัฐวิสาหกิจต่างๆ พันธบัตรดังกล่าวเป็นการกู้เงินโดยตรงขององค์กรภาครัฐนั้นๆ ซึ่งจะมีหน้าที่และภาระในการชำระหนี้ทั้งดอกเบี้ยและเงินต้นตามที่กำหนดไว้ ความสามารถในการชำระหนี้และฐานะทางการเงินขององค์กรจึงเป็นเรื่องที่ผู้ลงทุนต้องพิจารณา อย่างไรก็ตาม พันธบัตรเหล่านี้มักได้รับการค้ำประกันจากรัฐบาลเพื่อเพิ่มความน่าเชื่อถือและระดมทุนได้ในอัตราที่ถูกลง
3. ตราสารหนี้ภาคเอกชน หรือหุ้นกู้ภาคเอกชน เป็นตราสารหนี้ที่ออกโดยภาคธุรกิจเอกชนเพื่อระดมทุนจากนักลงทุน และประชาชนทั่วไปเพื่อใช้ในการดำเนินกิจการของตน ตราสารหนี้เหล่านี้มักจะมีการออกแบบในรูปลักษณะต่าง ๆ กัน โดยมีความเสี่ยงของการที่ผู้ออกจะผิดนัดในการจ่ายดอกเบี้ยและเงินต้นอยู่ และความเสี่ยงด้านการเปลี่ยนแปลงของราคาเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของอัตราดอกเบี้ยในตลาด
แบ่งตามสิทธิในการเรียกร้อง แบ่งออกได้ ดังนี้
1. หุ้นกู้ด้อยสิทธิ (Subordinate bond) เมื่อผู้ออกเกิดล้มละลายผู้ถือหุ้นกู้ประเภทนี้จะมีสิทธิในอันดับที่ด้อยกว่าเจ้าหนี้สามัญรายอื่น ๆ แต่จะสูงกว่าผู้ถือหุ้นบุริมสิทธิ และหุ้นสามัญ ซึ่งจะมีสิทธิเป็นอันดับสุดท้าย
2. หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ผู้ถือหุ้นกู้ประเภทนี้จะมิสิทธิทัดเทียมกับเจ้าหนี้สามัญรายอื่นๆ ในการเรียกร้องสินทรัพย์ทดแทน และสูงกว่าผู้ถือหุ้นกู้ด้อยสิทธิ ผู้ถือหุ้นบุริมสิทธิ และผู้ถือหุ้นสามัญตามลำดับ การแบ่งประเภทตามสิทธิการเรียกร้องทั้งสองนี้ จะเกิดขึ้นเฉพาะในกรณีที่มีการเฉลี่ยทรัพย์หรือการชำระบัญชีบริษัท เนื่องจากผู้ออกตราสารหนี้ถูกพิทักษ์ทรัพย์ ถูกพิพากษาให้ล้มละลาย หรือมีการชำระบัญชีเพื่อเลิกกิจการ
แบ่งตามการใช้สินทรัพย์ค้ำประกัน แบ่งออกได้ ดังนี้
1. หุ้นกู้มีหลักประกัน หมายถึง การที่ผู้ออกนำสินทรัพย์ตามที่กำหนดมาค้ำประกันการออกหุ้นกู้นั้นและผู้ถือจะมีบุริมสิทธิเต็มที่เหนือสินทรัพย์นั้น หรือเป็นการค้ำประกันจากสถาบันอื่นก็ได้ โดยพระราชบัญญัติหลักทรัพย์ได้กำหนดให้การออกหุ้นกู้ชนิดนี้ต้องมีการแต่งตั้งผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ เพื่อทำหน้าที่แทนผู้ถือหุ้นกู้ในการรับจำนอง รับจำนำ หรือรับหลักประกันอย่างอื่น และเพื่อการใช้สิทธิบังคับหลักประกัน รวมทั้งการตรวจสอบสถานะของสินทรัพย์ที่นำมาค้ำประกัน
2. หุ้นกู้ไม่มีหลักประกัน หมายถึง หุ้นกู้นั้นไม่มีสินทรัพย์ใดๆ ค้ำประกัน โดยหุ้นกู้ชนิดนี้มีฐานะเป็นเจ้าหนี้ทั่วไปของบริษัทผู้ออกหุ้นกู้ ซึ่งหากผู้ออกไม่สามารถชำระหนี้หรืออยู่ในสถานะล้มละลาย ผู้ถือหุ้นกู้จะได้รับการชำระหนี้โดยการเฉลี่ยสินทรัพย์กับเจ้าหนี้รายอื่นๆ
แบ่งตามสิทธิแฝง แบ่งออกได้ ดังนี้
1. หุ้นกู้ที่จ่ายดอกเบี้ยคงที่และปราศจากสิทธิแฝงอื่น (straight / fixed rate and option free bond) เป็นหุ้นกู้ที่จ่ายดอกเบี้ยในอัตราคงที่ตามที่กำหนดและตามระยะเวลาของอายุตราสารหนี้ โดยพันธบัตรภาครัฐและหุ้นกู้ของเอกชนในตลาดส่วนใหญ่มีลักษณะการจ่ายดอกเบี้ยแบบคงที่
2. หุ้นกู้จ่ายดอกเบี้ยแบบลอยตัว (Floating rate bond) หมายถึง เป็นหุ้นกู้ที่กำหนดอัตราดอกเบี้ยที่จ่ายในลักษณะลอยตัวที่ผันแปรไปตามอัตราอ้างอิงหรือดัชนีที่กำหนดไว้
3. หุ้นกู้แปลงสภาพ (convertible bond) หมายถึง หุ้นกู้ให้สิทธิแก่ผู้ถือในการแปลงสภาพจากการถือหุ้นกู้ไปเป็นการถือหุ้นสามัญตามอัตรา ราคา และเวลาที่กำหนด
4. หุ้นกู้ประเภททยอยจ่ายคืนเงินต้น (Amortizing bond) หมายถึง หุ้นกู้ประเภทที่ผู้ออกทยอยจ่ายคืนเงินต้นคืนแก่ผู้ถือในแต่ละงวด แทนที่จะเป็นการจ่ายคืนเงินต้นครั้งเดียวเมื่อครบกำหนดอายุดังเช่นตราสารหนี้ปกติ
5. หุ้นกู้ที่ผู้ออกมีสิทธิเรียกคืนก่อนกำหนด (Callable bond) หมายถึง หุ้นกู้ที่ให้สิทธิแก่ผู้ออกในการเรียกคืนหรือไถ่ถอนหุ้นกู้นั้นก่อนกำหนด ซึ่งกำหนดการไถ่ถอนจะต้องถูกระบุไว้ตั้งแต่ต้น โดยปกติผู้ออกจะเรียกคืนหุ้นกู้ในกรณีที่อัตราดอกเบี้ยในตลาดลดลงจนทำให้ต้นทุนของหุ้นกู้ที่มีอยู่นั้นสูงมากเกินควร หรือการที่อันดับความน่าเชื่อถือของผู้ออกเพิ่มขึ้นทำให้สามารถออกตราสารในอัตราต้นทุนที่ต่ำกว่า
6. หุ้นกู้ที่ผู้ถือมีสิทธิไถ่ถอนก่อนกำหนด (Puttable bond) หมายถึง หุ้นกู้ที่ให้สิทธิแก่ผู้ถือในการไถ่ถอนหุ้นกู้ก่อนครบกำหนด ตามเงื่อนไขและวิธีการที่กำหนดล่วงหน้าตั้งแต่วันออกตราสารนั้น ซึ่งผู้ถือสามารถเลือกที่จะไถ่ถอนหรือไม่ก็ได้ เช่น หากผู้ถือหุ้นกู้เห็นว่าอันดับความน่าเชื่อถือของผู้ออกลดลง ผู้ถืออาจเลือกที่จะไถ่ถอนหุ้นกู้ชนิดนี้
7. หุ้นกู้ที่เกิดจากการแปลงสินทรัพย์เป็นหลักทรัพย์ (Securitization) หมายถึง หุ้นกู้ที่เกิดจากกระบวนการแปลงสินทรัพย์ให้เป็นหลักทรัพย์ โดยผู้ถือจะได้รับกระแสเงินสดจากตัวสินทรัพย์ที่นำมาแปลงนั้น โดยปกติหุ้นกู้ประเภทนี้จะมีอันดับความน่าเชื่อถือสูง เนื่องจากมีตัวหลักทรัพย์ที่นำมาแปลงนั้นค้ำประกัน หรือมีกระบวนการเพิ่มอันดับความน่าเชื่อถืออื่น ๆ (Credit enhancement) ตราสารหนี้ชนิดนี้มีความสำคัญเชิงเศรษฐกิจเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากเป็นการเปิดโอกาสให้สินทรัพย์ซึ่งมีการเปลี่ยนมือได้ยากให้กลายเป็นหลักทรัพย์ที่สามารถซื้อขายเปลี่ยนมือได้ง่าย เป็นการเพิ่มสภาพคล่องและทำให้สถาบันการเงินต่าง ๆ ที่มีสินทรัพย์เหล่านี้สามารถทำการแปลงเป็นหลักทรัพย์เป็นการลดภาระในการดำรงเงินกองทุนและเพิ่มเงินสดเพื่อนำมาใช้ในการดำเนินการ
8. ตราสาร Basel III หรือ ตราสารหนี้ด้อยสิทธิ หมายถึง ตราสารหนี้ที่มีลักษณะกึ่งหนี้กึ่งทุน มีลักษณะสำคัญได้แก่
8.1 ธนาคารพาณิชย์ผู้ออกตราสารหนี้มีสิทธิเลื่อนกำหนดเวลาหรือยกเลิกการชำระดอกเบี้ยแก่ตราสาร โดยไม่จำเป็นต้องสะสมผลตอบแทน
8.2 ผู้ถือตราสาร Basel III ไม่สามารถไถ่ถอนก่อนกำหนดหรือเรียกร้องให้ธนาคารพาณิชย์ผู้ออกตราสารไถ่ถอนได้ ขณะที่ธนาคารพาณิชย์ผู้ออกตราสารมีสิทธิที่จะซื้อคืนตราสารก่อนกำหนดได้ภายใต้เงื่อนไขที่กำหนด
8.3 มีการร่วมผลขาดทุนเมื่อธนาคารพาณิชย์ไม่สามารถดำเนินกิจการต่อไปได้ โดยเมื่อทางการตัดสินใจเข้าให้ช่วยเหลือด้านการเงินแก่ธนาคารพาณิชย์ ตราสารด้อยสิทธิจะถูกบังคับแปลงสภาพให้กลายเป็นหุ้นสามัญหรือถูกปลอดหนี้ภายใต้เงื่อนไขที่กำหนด
หมายเหตุ: นักลงทุนต้องทำแบบประเมินความเสี่ยง ก่อนการลงทุนในตราสาร Basel III ทุกครั้ง
การลงทุนในตราสารหนี้
ตลาดตราสารหนี้มีความแตกต่างอย่างชัดเจนจากตลาดทุนหรือตลาดหุ้นที่นักลงทุนรายย่อยคุ้นเคย โดยประการแรก ตลาดตราสารหนี้เป็นการซื้อขายในระบบเปิด หรือ over the counter คือจะไม่มีสถานที่ที่ทำการซื้อขายแน่นอน และมิได้จำกัดกลุ่มผู้เล่นในตลาดไว้เพียงบริษัทหลักทรัพย์ที่มีใบอนุญาตนายหน้า (Broker) ดังเช่น การซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยซึ่งเป็นระบบปิด การซื้อขายตราสารหนี้สามารถทำได้หลายระดับ โดยนักลงทุนอาจตกลงซื้อขายระหว่างกันเอง หรืออาจซื้อขายกับผู้ค้าตราสารหนี้ (Dealer) ลูกค้าทั้งรายย่อยและรายใหญ่ที่ต้องการซื้อหรือขายตราสารหนี้ สามารถติดต่อที่ฝ่ายค้าตราสารหนี้ของสถาบันการเงินต่างๆได้ การค้าจะทำโดยการเจรจาต่อรองระหว่าง Dealer กับลูกค้าหรือนักลงทุนเพื่อตกลงราคาและปริมาณตราสารหนี้ที่ตนต้องการซื้อขาย ซึ่งเป็นการดำเนินไปในลักษณะ Over the counter เมื่อตกลงกันแล้วในรายการใด การดำเนินการด้านการชำระเงินและส่งมอบตราสารก็จะเกิดขึ้นโดยส่วนงานที่เป็น Back office ปัจจุบันช่องทางที่ใช้ในการติดต่อระหว่างผู้ซื้อและผู้ขายคือโทรศัพท์ Dealer นอกจากการโทรศัพท์คุยกับลูกค้าแล้วยังส่งคำเสนอซื้อ (bid) และเสนอขาย (Offer) ตราสารหนี้เป็นประจำตามสื่อต่าง ๆ เช่น หนังสือพิมพ์ สื่อ on-line ต่าง ๆ เพื่อที่หากมีผู้สนใจที่จะซื้อ/ขาย ก็สามารถโทรศัพท์ติดต่อกับ dealer รายนั้นได้
เนื่องจากความหลากหลายของตราสารหนี้เป็นคุณสมบัติพิเศษที่ช่วยให้ผู้ลงทุนเลือกลงทุนที่เหมาะสมกับความต้องการ โดยตราสารหนี้ไม่ว่าจะเป็นพันธบัตรหรือหุ้นกู้ทั้งระยะสั้นและระยะยาว อีกทั้งมีความหลากหลายประเภทที่น่าสนใจผู้ลงทุนที่ต้องการกระแสเงินสดทุกงวดสม่ำเสมอ ไม่ต้องการรับความเสี่ยงมาก ก็อาจลงทุนในพันธบัตรที่ออกโดยภาครัฐ (Government bond) และผู้ที่ต้องการการลงทุนที่มีผลตอบแทนสูง ต้องยอมรับความเสี่ยงเพิ่มขึ้น โดยเลือกลงทุนในหุ้นกู้ภาคเอกชน (Corporate bond) ซึ่งมีอันดับความน่าเชื่อถือ (Credit rating) ที่หลาหลาย สำหรับผู้ลงทุนที่ต้องการดอกเบี้ยที่สามารถแปรเปลี่ยนไปตามภาวะดอกเบี้ยในตลาดก็อาจจะลงทุนในหุ้นก็ประเภทอัตราดอกเบี้ยลอยตัว (Floating rate bond) หรือ หุ้นกู้ที่มีสิทธิแฝง (Option embedded bond) เช่น หุ้นกู้มีสิทธิไถ่ถอนคืนก่อนกำหนด (Callable and Puttable bond) หรือหุ้นกู้แปลสภาพ (Convertible bond) ที่สามารถเปลี่ยนเป็นหุ้นสามัญได้เมื่อถึงเวลาที่กำหนด นอกจากนี้หุ้นกู้ประเภททยอยคืนเงินต้น (Amortizing bond) ก็เป็นหุ้นกู้อีกประเภทหนึ่งที่น่าลงทุน กล่าวคือ กระแสเงินสดที่ผู้ลงทุนจะได้รับในแต่ละงวดประกอบด้วยดอกเบี้ยและการชำระคืน เงินต้นบางส่วน
ความเสี่ยงในตราสารหนี้
1. Interest Rate Risk or Price Risk คือ ความเสี่ยงที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของอัตราดอกเบี้ยสูงขึ้น เนื่องจากราคาของตราสารหนี้จะแปรผกผันกับอัตราดอกเบี้ยในตลาด จะทำให้มูลค่าตราสารหนี้ลดลง และมีผลให้นักลงทุนขาดทุนจากการขายตราสารหนี้ได้ หรือทำให้มูลค่าของพอร์ตการลงทุนลดลงหากมีการ Mark to Market ดังนั้น แต่จะเป็นผลดีในกรณีที่นักลงทุนนำดอกเบี้ยของตราสารหนี้นั้นไปลงทุนต่อ จะได้รับผลตอบที่สูงขึ้น ตราสารหนี้ระยะยาวจะแปรผกผันกับอัตราดอกเบี้ยตลาดสูงกว่าตราสารหนี้ระยะสั้น จึงมีความเสี่ยงสูงกว่า
2. Reinvestment Rate Risk คือ ความเสี่ยงที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของอัตราดอกเบี้ยลดลง ในกรณีที่นักลงทุนนำดอกเบี้ยของตราสารหนี้นั้นไปลงทุนต่อจะได้รับอัตราผลตอบแทนที่ต่ำลง แต่ในขณะเดียวกันก็จะได้รับประโยชน์จากการที่ราคาของตราสารหนี้เพิ่มสูงขึ้น
ดังนั้น การเพิ่มขึ้นหรือลดลงของอัตราดอกเบี้ยจะส่งผลให้เกิด Price Risk และ Reinvestment Rate Risk ในทิศทางตรงกันข้าม ผลของความเสี่ยงด้านใดจะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับลักษณะของตราสารหนี้นั้นๆ เช่น อายุคงเหลือ อัตราดอกเบี้ยบนหน้าตั๋ว เป็นต้น
3. Default Risk คือ ความเสี่ยงจากการผิดนัดชำระดอกเบี้ยหรือเงินต้นของตราสารหนี้ ความเสี่ยงประเภทนี้อาจพิจารณาได้จากอันดับความน่าเชื่อถือ หรือ Credit rating ของบริษัทผู้ออกหรือของตราสารหนี้นั้นๆ ซึ่งจะสะท้อนออกมาในรูปของอัตราผลตอบแทนที่เพิ่มขึ้นจากผลตอบแทนของตราสารหนี้ที่ปลอดความเสี่ยง ความเสี่ยงชนิดนี้อาจลดลงได้หากตราสารหนี้นั้นมีการระบุ Protective Covenants ไว้ตั้งแต่ต้นและมีการติดตามและดำเนินการแก้ไขทันทีที่มีการละเมิด
4. สัญลักษณ์และนิยามอันดับความน่าเชื่อถือ หรือ Credit rating ตัวอย่าง การอันดับความน่าเชื่อถือของทริสเรทติ้ง “TRIS” เป็นกรณีศึกษา TRIS ใช้สัญลักษณ์ตัวอักษรแสดงผลการจัดอันดับเครดิตองค์กรและตราสารหนี้ระยะกลางและระยะยาวที่มีอายุตั้งแต่ 1 ปีขึ้นไป จำนวน 8 อันดับ โดยเริ่มจาก AAA ซึ่งเป็นอันดับเครดิตสูงสุด จนถึง D ซึ่งเป็นอันดับต่ำสุด ซึ่งแต่ละสัญลักษณ์มีความหมายดังนี้
4.1 AAA อันดับเครดิตองค์กรหรือตราสารหนี้มีความเสี่ยงต่ำที่สุด ผู้ออกตราสารหนี้มีความสามารถในการชำระดอกเบี้ยและคืนเงินต้นในเกณฑ์สูงสุด และได้รับผลกระทบน้อยมากจากการเปลี่ยนแปลงทางธุรกิจ เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อมอื่น ๆ
4.2 AA เครดิตองค์กรหรือตราสารหนี้มีความเสี่ยงต่ำมาก ผู้ออกตราสารหนี้มีความสามารถในการชำระดอกเบี้ยและคืนเงินต้นในเกณฑ์สูงมาก แต่อาจได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงทางธุรกิจ เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อมอื่น ๆ มากกว่าอันดับเครดิตที่อยู่ในระดับ AAA
4.3 A เครดิตองค์กรหรือตราสารหนี้มีความเสี่ยงในระดับต่ำ ผู้ออกตราสารหนี้มีความสามารถในการชำระดอกเบี้ยและคืนเงินต้นในเกณฑ์สูง แต่อาจได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงทางธุรกิจ เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อมอื่นๆ มากกว่าอันดับเครดิตที่อยู่ในระดับสูงกว่า
4.4 BBB เครดิตองค์กรหรือตราสารหนี้มีความเสี่ยงในระดับปานกลาง ผู้ออกตราสารหนี้มีความสามารถในการชำระดอกเบี้ยและคืนเงินต้นในเกณฑ์ที่เพียงพอ แต่มีความอ่อนไหวต่อการเปลี่ยนแปลงทางธุรกิจ เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อมอื่นๆ มากกว่า และอาจมีความสามารถในการชำระหนี้ที่อ่อนแอลงเมื่อเทียบกับอันดับเครดิตที่อยู่ในระดับสูงกว่า
4.5 BB เครดิตองค์กรหรือตราสารหนี้มีความเสี่ยงในระดับสูง ผู้ออกตราสารหนี้มีความสามารถในการชำระดอกเบี้ยและคืนเงินต้นในเกณฑ์ต่ำกว่าระดับปานกลาง และจะได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงที่รุนแรง ทางธุรกิจ เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อมอื่น ๆ ซึ่งอาจส่งผลให้ความสามารถในการชำระหนี้อยู่ในเกณฑ์ที่ไม่เพียงพอ
4.6 B เครดิตองค์กรหรือตราสารหนี้มีความเสี่ยงในระดับสูงมาก ผู้ออกตราสารหนี้มีความสามารถในการชำระดอกเบี้ยและคืนเงินต้นในเกณฑ์ต่ำ และอาจจะหมดความสามารถหรือความตั้งใจในการชำระหนี้ได้ตามการเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์ทางธุรกิจ เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อมอื่นๆ
4.7 C เครดิตองค์กรหรือตราสารหนี้มีความเสี่ยงในการผิดนัดชำระหนี้สูงที่สุด ผู้ออกตราสารหนี้ไม่มีความสามารถในการชำระดอกเบี้ยและคืนเงินต้นตามกำหนดอย่างชัดเจน โดยต้องอาศัยเงื่อนไขที่เอื้ออำนวยทางธุรกิจ เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อมอื่น ๆ อย่างมากจึงจะมีความสามารถในการชำระหนี้ได้
4.8 D เครดิตองค์กรหรือตราสารหนี้เป็นระดับที่อยู่ในสภาวะผิดนัดชำระหนี้ โดยผู้ออกตราสารหนี้ไม่สามารถชำระดอกเบี้ยและคืนเงินต้นได้ตามกำหนด
หมายเหตุ อันดับเครดิตจาก AA ถึง C อาจมีเครื่องหมายบวก (+) หรือลบ (-) ต่อท้ายเพื่อจำแนกความแตกต่างของคุณภาพของอันดับเครดิตภายในระดับเดียวกัน อันดับเครดิตทุกประเภทที่จัดโดยทริสเรทติ้งเป็นอันดับเครดิตตราสารหนี้ในสกุลเงินบาท ซึ่งสะท้อนความสามารถในการชาระหนี้ของผู้ออกตราสารหนี้โดยไม่รวมความเสี่ยงจากการแปลงค่าเงินสกุลเงินบาทเป็นสกุลเงินตราต่างประเทศ
นอกจากนี้ ทริสเรทติ้งยังกาหนด “แนวโน้มอันดับเครดิต” (Rating Outlook) เพื่อสะท้อนความเป็นไปได้ของการเปลี่ยนแปลงอันดับเครดิตของผู้ออกตราสารหนี้ในระยะปานกลางหรือระยะยาว โดยทริสเรทติ้งจะพิจารณาถึงโอกาสที่จะเกิดการเปลี่ยนแปลงของภาวะอุตสาหกรรมและสภาพแวดล้อมทางธุรกิจในอนาคตของผู้ออกตราสารหนี้ที่อาจกระทบต่อความสามารถในการชำระหนี้ ส่วนแนวโน้มอันดับเครดิตของตราสารหนี้โดยส่วนใหญ่จะเท่ากับแนวโน้มอันดับเครดิตขององค์กรผู้ออกตราสารนั้นๆ หรือองค์กรซึ่งรับภาระผูกพันในการชำระหนี้ของตราสารนั้นๆ ทั้งนี้ แนวโน้มอันดับเครดิตแบ่งออกเป็น 4 ระดับ ได้แก่
1) Positive หมายถึง อันดับเครดิตอาจปรับขึ้น
2) Stable หมายถึง อันดับเครดิตอาจไม่เปลี่ยนแปลง
3) Negative หมายถึง อันดับเครดิตอาจปรับลดลง
4) Developing หมายถึง อันดับเครดิตอาจปรับขึ้น ปรับลดลง หรือไม่เปลี่ยนแปลง
4. Event risk คือ ความเสี่ยงจากการเกิดเหตุการณ์บางอย่างกับผู้ออกซึ่งมีผลต่อราคาของตราสารหนี้ เช่นผู้ออกถูกลดอันดับความน่าเชื่อถือ หรือ มีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางการเงินครั้งใหญ่ เป็นต้น
5. Liquidity Risk คือ ความเสี่ยงจากการขาดสภาพคล่องของตราสารหนี้ ทำให้ไม่สามารถซื้อขายตราสารในจังหวะเวลาและราคาที่เหมาะสมได้ หรือหากต้องการจะซื้อขายจริงต้องมีการเพิ่มหรือลดราคาเพื่อดึงดูดให้มีการตกลงซื้อขายเกิดขึ้น เพื่อชดเชยความเสี่ยงประเภทนี้นักลงทุนจึงต้องการอัตราผลตอบแทนที่สูงขึ้น
6. Inflation Risk คือ ความเสี่ยงอันเนื่องมาจากการลดลงของอำนาจซื้อ (Purchasing Power) โดยปกติการลงทุนในตราสารหนี้เป็นการลงทุนระยะยาว ซึ่งผลของเงินเฟ้อจะลดค่าของเงินลง โดยเฉพาะเงินต้นที่จะได้รับคืนในงวดสุดท้าย ความเสี่ยงชนิดนี้จะถูกรวมไว้ในอัตราผลตอบแทนจากตราสารหนี้นั้นๆโดยทางอ้อมอยู่แล้ว และจะแปรผันโดยตรงกับอายุคงเหลือของตราสารหนี้ ในปัจจุบันมีการออกตราสารหนี้ที่มีการปรับอัตราดอกเบี้ยและเงินต้นตามอัตราเงินเฟ้อ (Inflation Linked Bond) เพื่อแก้ไขความเสี่ยงชนิดนี้ และถ้าตราสารหนี้ประเภทนี้ ออกโดยรัฐบาลของประเทศที่มีความน่าเชื่อถือสูงก็จะเป็นตราสารที่ปลอดความเสี่ยงมากยิ่งขึ้น
7. Option – Embedded Risk คือ ความเสี่ยงจากสิทธิแฝงในตราสารนั้น เช่น สิทธิในการเรียกไถ่ถอนตราสารหนี้คืนก่อนกำหนด (Call Risk) ซึ่งจะส่งผลให้อายุของตราสารหนี้สั้นลง ซึ่งโดยปกติการเรียกคืนนี้จะเป็นช่วงที่อัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำทำให้นักลงทุนต้องลงทุนในอัตราผลตอบแทนที่ต่ำลง ความเสี่ยงเนื่องจากสิทธิแฝงเหล่านี้จะถูกรวมไว้ในอัตราผลตอบแทน
8. Risk – Risk หรือ Black – Box Risk คือ ความเสี่ยงอันเนื่องมาจากการไม่ทราบถึงพฤติกรรมที่แท้จริงของราคาและอัตราผลตอบแทน โดยปกติความเสี่ยงชนิดนี้จะมีมากในตราสารที่มีความซับซ้อน ซึ่งไม่สามารถกำหนดสูตรการคำนวณเพื่อหาราคาที่เหมาะสม (Fair Value) ได้ และในช่วงที่มีระดับความผันผวนของข้อมูลสูง ความเสี่ยงชนิดนี้จะส่งผลให้ตราสารขาดความนิยมและขาดสภาพคล่อง ความเสี่ยงชนิดนี้จะขึ้นอยู่กับระดับ ความก้าวหน้าของความรู้ความเข้าใจทางวิชาการและความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ในการที่จะประยุกต์ใช้เพื่อหาราคาที่เหมาะสม เช่น การสร้างแบบจำลองของอัตราดอกเบี้ย เป็นต้น
ภาษีเกี่ยวกับการลงทุนตราสารหนี้
เงินได้จากการลงทุนในตราสารหนี้ แบ่งได้เป็น 3 ประเภทหลักได้แก่ เงินได้จากกำไรในการขาย (Capital gain) เงินได้จากดอกเบี้ย (Interest income) และเงินได้จากส่วนลด (Discount) หรือผลต่างระหว่างราคาไถ่ถอนกับราคาซื้อ ต้องเสียภาษีหรือไม่ขึ้นกับว่าเงินได้ที่เกิดขึ้นเป็นเงินได้ประเภทใด และผู้ลงทุนหรือผู้มีเงินได้นั้นเป็นผู้ลงทุนประเภทใด อย่างไรก็ตามสำหรับผู้ลงทุนในตราสารหนี้ผ่านกองทุนรวมตราสารหนี้จะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ที่เกิดขึ้นจากเงินปันผลและกำไรจากการขาย สำหรับหลักเกณฑ์การเสียภาษีของผู้ลงทุนที่ลงทุนโดยตรงในตราสารหนี้ สามารถสรุปแยกตามชนิดของเงินได้และประเภทของผู้ลงทุนได้ ดังนี้
1. นักลงทุนในประเทศ
1.1 บุคคลธรรมดา
ดอกเบี้ย : หักภาษี ณ ที่จ่าย 15% และมีสิทธิเลือกไม่รวมคำนวณภาษีเงินได้ปลายปี
ส่วนลด : หักภาษี ณ ที่จ่าย 15% และมีสิทธิเลือกไม่รวมคำนวณภาษีเงินได้ปลายปี
กำไรจากการขาย : กำไรจาการขายหักภาษี ณ ที่จ่าย 15% โดยยกเว้นเฉพาะตั๋วเงินหรือตราสารหนี้ที่ไม่มีดอกเบี้ย
1.2 นิติบุคคล1/
ดอกเบี้ย : รวมคำนวณภาษีเงินได้ปลายปีโดยนิติบุคคลผู้จ่ายเป็นผู้หักภาษี ณ ที่จ่าย 1 %
ส่วนลด : รวมคำนวณภาษีเงินได้ปลายปีโดยนิติบุคคลผู้ออกตราสารหักภาษี ณ ที่จ่าย 1 %
กำไรจากการขาย : รวมคำนวณภาษีเงินได้ปลายปี
2. นักลงทุนต่างประเทศ
2.1 บุคคลธรรมดา
ดอกเบี้ย : หักภาษี ณ ที่จ่าย 15%
ส่วนลด : หักภาษี ณ ที่จ่าย 15%
กำไรจากการขาย : กำไรจาการขายหักภาษี ณ ที่จ่าย 15% โดยยกเว้นเฉพาะตั๋วเงินหรือตราสารหนี้ที่ไม่มีดอกเบี้ย
2.2 นิติบุคคล1/
ดอกเบี้ย : หักภาษี ณ ที่จ่าย 15% (10%)2/
ส่วนลด : หักภาษี ณ ที่จ่าย 15% (10%)2/
กำไรจากการขาย : หักภาษี ณ ที่จ่าย 15% (ยกเว้น)2/
หมายเหตุ
1/ ในกรณีเป็นสถาบันการเงินจะต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะในอัตรา 3.3%
2/ ขึ้นอยู่กับอนุสัญญาภาษีซ้อน
3/ เฉพาะผู้ลงทุนบุคคลธรรมดาที่เป็นผู้ทรงรายแรก มีผลตั้งแต่ 16 ก.ค. 2544 เป็นต้นไป
การลงทุนในตราสารหนี้
1. ลงทุนในระยะสั้นและระยะยาว ตราสารหนี้มีอายุตั้งแต่ 1 วัน ไปจนถึง 20 ปี ระดับความเสี่ยงหลากหลายผู้ลงทุนเลือกได้ตามต้องการ
2. เป็นแหล่งรายได้ประจำ เมื่อลงทุนแล้วจะได้รับดอกเบี้ยเป็นงวดๆ ตามที่ระบุไว้ในหน้าตั๋ว เหมาะกับ ผู้ลงทุนที่ต้องการรายได้แน่นอน สม่ำเสมอ
3. ผลตอบแทนสูงกว่าเงินฝาก พันธบัตรรัฐบาลมีความเสี่ยงต่ำ แต่ให้ผลตอบแทนที่สูงกว่าดอกเบี้ยเงินฝากทั่วไป
4. ลำดับสิทธิสูงกว่าหุ้นสามัญ ผู้ลงทุนในตราสารหนี้มีฐานะเป็น “เจ้าหนี้” ขณะที่ผู้ลงทุนในหุ้นมีฐานะเป็น “เจ้าของ” เจ้าหนี้จึงมีสิทธิได้รับเงินคืนก่อนเจ้าของเสมอ
5. กระจายความเสี่ยงของพอร์ตที่ลงทุน ราคาและผลตอบแทนจากตราสารหนี้จะเคลื่อนไหวในทิศทางตรงข้ามกับหุ้นจึงช่วยกระจายความเสี่ยงของพอร์ตลงทุนโดยรวมได้เป็นอย่างดี
6. ขายก่อนครบกำหนดได้ ผู้ลงทุนสามารถขายตราสารหนี้ก่อนครบกำหนดได้ ซึ่งสภาพคล่องในการซื้อขายอาจแตกต่างกันไปตามปริมาณ และประเภทของตราสารหนี้นั้นๆ
ดัชนีราคาตราสารหนี้ตัวช่วยวัดมูลค่าตลาดตราสารหนี้
ดัชนีตราสารหนี้ (Bond Index) เป็นเครื่องมือที่ใช้ในการติดตามความเคลื่อนไหว ของตลาดตราสารหนี้ โดยราคาตราสารหนี้จะเป็นตัวสะท้อนภาวะของอัตราดอกเบี้ย ในตลาด กล่าวคือ หากอัตราดอกเบี้ยมีการปรับตัวลดลง ราคาของตราสารหนี้จะปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลให้ดัชนีปรับตัวสูงขึ้น ในทางกลับกัน หากอัตราดอกเบี้ยในตลาดมีการปรับตัว เพิ่มขึ้น ราคาของตราสารหนี้จะปรับตัวลดลง ส่งผลให้ดัชนีปรับตัวลดลง นอกจากนี้ ผู้ลงทุนยังสามารถใช้ดัชนีตราสารหนี้เป็น เกณฑ์มาตรฐาน (Benchmark) ในการเปรียบเทียบผลตอบแทนจากพอร์ตการลงทุนของตนเองเมื่อเทียบกับตลาด ซึ่งอาจต้องพิจารณาองค์ประกอบอื่นควบคู่ ไปด้วย เช่น ประเภทตราสาร หรืออายุเฉลี่ย ของตราสารหนี้ (Duration) ฯลฯ
การซื้อขายตราสารหนี้ไม่ได้ยากเย็นอย่างที่หลายๆ คนคิด เพราะมีความคล้ายคลึงกับการซื้อขายหุ้น โดยเริ่มต้นจาก (ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย, 2562)
1. กำหนดวัตถุประสงค์และระยะเวลาการลงทุน เนื่องจากตราสารหนี้มีมากมายหลายประเภท การเลือกตราสารหนี้ที่เหมาะสมและคุ้มค่า ผู้ลงทุนต้องตอบคำถามเหล่านี้ให้ชัดเจนก่อนการลงทุน ได้แก่
1.1 วัตถุประสงค์ในการลงทุนคืออะไร
1.2 สามารถรับระดับความเสี่ยงมากน้อยแค่ไหน
1.3 ต้องการผลตอบแทนที่คาดหวังสูง ต่ำ หรือปานกลาง
1.4 มีระยะเวลาในการลงทุนนานเท่าใด
1.5 จะลงทุนในตราสารหนี้ประเภทเดียวหรือหลายประเภท
ดังนั้น ก่อนจะลงทุนตราสารหนี้แบบไหนควรศึกษาลักษณะต่างๆ ให้ดีก่อน เพราะตราสารหนี้แต่ละประเภทก็มีเงื่อนไขการลงทุน และผลตอบแทน ที่แตกต่างกัน เราควรเลือกประเภทที่เหมาะสมกับวัตถุประสงค์การลงทุนของเราให้มากที่สุด
2. ศึกษาและวิเคราะห์ข้อมูลพื้นฐานต่างๆ เกี่ยวกับตราสารหนี้ ผู้ลงทุนจำเป็นต้องศึกษาและวิเคราะห์ข้อมูลพื้นฐานต่างๆ เกี่ยวกับตราสารหนี้ให้ดีก่อนเริ่มลงทุน โดยจำเป็นต้องศึกษา ดังนี้
2.1 ภาวะเศรษฐกิจ ณ ขณะนั้น
2.2 สถานการณ์ของตลาดตราสารหนี้โดยทั่วไป
2.3 ข้อมูลของบริษัทผู้ออก และอันดับความน่าเชื่อถือของผู้ออก
2.4 สภาพคล่องของตราสารหนี้
โดยทั่วไปตราสารหนี้ภาครัฐมักมีสภาพคล่องที่สูงกว่าตราสารหนี้ภาคเอกชน และตราสารหนี้ภาคเอกชนที่ได้รับอันดับความน่าเชื่อถือต่ำกว่า Investment Grade หรือไม่มีการจัด Rating จะมีสภาพคล่องต่ำ ผู้ลงทุนจึงควรพิจารณาความเสี่ยงด้าน สภาพคล่องหรือความเสี่ยงที่ไม่สามารถขายตราสารหนี้ในเวลาที่ต้องการ หรือขายได้ในราคาต่ำ ก่อนการลงทุนเสมอ
3. ตัดสินใจซื้อขายตราสารหนี้ ผู้ลงทุนสามารถลงทุนได้ 3 วิธี คือ
3.1 ลงทุนตราสารหนี้ในตลาดแรก เป็นการลงทุนในตราสารหนี้ที่ออกขายเป็นครั้งแรกในตลาด ซึ่งจะมี ความแตกต่างกันระหว่างการลงทุนในตราสารหนี้ภาครัฐและ ตราสารหนี้ภาคเอกชน
3.2 ลงทุนตราสารหนี้ในตลาดรอง เมื่อตราสารหนี้ผ่านการซื้อขายไปสู่ผู้ลงทุนในตลาดแรกแล้ว หากมีการ ซื้อขายเปลี่ยนมือ จะเป็นการซื้อขายในตลาดรอง โดยสามารถซื้อขาย ได้ 2 ช่องทาง คือ
3.2.1 ซื้อขายแบบ Over the Counter (OTC) โดยผู้ที่สนใจจะซื้อหรือขายตราสารหนี้สามารถติดต่อกับ ผู้ค้าตราสารหนี้ (Dealers) ซึ่งปัจจุบันมีธนาคารพาณิชย์ 14 แห่ง และบริษัทหลักทรัพย์ (บล. หรือโบรกเกอร์) 29 แห่ง เพื่อแจ้งความประสงค์และทำการซื้อขายโดยตรง ซึ่งส่วนใหญ่ จะเป็นการซื้อขายระหว่างผู้ค้าตราสารหนี้ด้วยกัน ผู้ค้าตราสารหนี้กับผู้ลงทุนสถาบัน
3.2.2 ซื้อขายผ่านตลาดตราสารหนี้ (Thai Bond Exchange: TBX) เปิดบัญชีซื้อขายกับบริษัทหลักทรัพย์ ส่งคำสั่งซื้อขายผ่านบริษัทหลักทรัพย์ ระบบ AOM : ไม่เกิน 10,000 หน่วย หรือ 10,000,000 บาท และ ระบบ Trade Report : เกิน 10,000 หน่วย หรือ 10,000,000 บาทขึ้นไป บริษัทหลักทรัพย์แจ้งยืนยันผลการสั่งซื้อขาย ชำระเงินและรับมอบหลักทรัพย์ในวันทำการที่ 2 หลังจากวันที่มีการซื้อขาย (T+2) โดยค่าคอมมิชชั่นไม่เกิน 0.25% (ไม่รวม VAT)
3.3 ทุนทางอ้อมผ่านกองทุนรวมตราสารหนี้ เหมาะสำหรับผู้ลงทุนรายย่อย เนื่องจากใช้เงินลงทุนไม่มาก อีกทั้งยังสามารถเลือกเงื่อนไขในการขายคืนหรือจะถือจนครบกำหนดอายุก็ได้ ทำให้สะดวกต่อการบริหารเงิน หากลงทุนในกองทุนเปิดจะได้รับความสะดวกในเรื่องสภาพคล่องและได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษี แต่อย่างไรก็ดี กองทุนรวมตราสารหนี้ก็มีความเสี่ยงเช่นกัน โดยกรณีที่ราคาตราสารหนี้เปลี่ยนแปลง NAV ของกองทุนรวม และราคาซื้อขายของหน่วยลงทุน ก็จะเปลี่ยนแปลงด้วย
4. ติดตามผลการลงทุน หลังจากที่ผู้ลงทุนตัดสินใจซื้อหรือขายเรียบร้อยแล้ว อย่าลืม… “ติดตามผลการลงทุน” และ “ติดตามข้อมูลข่าวสารที่เกี่ยวกับการลงทุน” อย่างสม่ำเสมอ โดยเฉพาะข่าวในแวดวงตลาดตราสารหนี้ หรือบริษัทผู้ออกตราสารหนี้ เพราะการที่ผู้ลงทุนมีข้อมูลที่ถูกต้อง น่าเชื่อถือ และทันต่อเหตุการณ์ จะทำให้รถกล
การแบ่งตราสารหนี้
ตราสารหนี้ แบ่งออกได้ดังนี้
1. ตั๋วเงินคลัง (Treasury Bills) เป็นหลักทรัพย์ที่รัฐบาลโดยกระทรวงการคลังเป็นผู้ออกเพื่อกู้ยืมเงินระยะ สั้นจากประชาชนปกติจะมีอายุไม่เกิน 1 ปี ตั๋วเงินคลังไม่มีการจ่ายดอกเบี้ยเป็นผลตอบแทน เเต่ผลตอบแทน จะอยู่ในรูปของส่วนลด ซึ่งรัฐบาลกำหนดจะชำระคืนตามราคาที่ตราไว้เมื่อตั๋วเงินคลังครบกำหนดไถ่ถอนคืน ตั๋วเงินคลังจะทำการซื้อขายที่ราคาคิดลด ซึ่งหมายถึง เงินลงทุนครั้งเเรกจะน้อยกว่าราคาหน้าตั๋ว เเละเมื่อครบกำหนดไถ่ถอนจะได้รับเงินเต็มจำนวนตามที่ตราไว้หน้าตั๋ว
2. พันธบัตร (Bonds) คือ ตราสารทางการเงินรูปแบบหนึ่งที่ออกโดยหน่วยงานของรัฐบาล จุดประสงค์ในการออกพันธบัตรก็เพื่อระดมเงินทุนจากนักลงทุนสถาบันและประชาชนทั่วไป โดยถือว่าผู้ออกพันธบัตรนั้นมีฐานะเป็นลูกหนี้ที่จะต้องมีภาระในการจ่ายคืนหนี้ให้กับผู้ถือพันธบัตรซึ่งมีฐานะเป็นเจ้าหนี้ของผู้ออกพันธบัตรต่อไปในอนาคต โดยที่จำนวนเงินที่ต้องจ่ายคืน ระยะเวลา และ อัตราผลตอบแทน ขึ้นกับกำไรที่ได้กำหนดเอา
3. หุ้นกู้ (Corporate Bond หรือ Debenture) คือ ตราสารหนี้ระยะยาว ที่ออกโดยบริษัทจดทะเบียน หรือ บริษัท มหาชน จำกัด ตามกฎหมายไม่ได้กำหนดอายุของหุ้นกู้ไว้ แต่โดยทั่วไป บริษัทผู้ออก มักจะกำหนดอายุของหุ้นกู้ประมาณ 2 – 20 ปี ปัจจุบัน บริษัทผู้ออกหุ้นกู้ ได้ออกหุ้นกู้หลายหลายรูปแบบ ทั้งนี้เพื่อเป็นการดึงดูดนักลงทุนให้สนใจหุ้นกู้ของบริษัท และเพื่อให้บริษัทสามารถออกหุ้นกู้ได้ในอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำ ตัวอย่างของหุ้นกู้ที่มีออกจำหน่ายในปัจจุบัน เช่น
3.1หุ้นกู้ด้อยสิทธิ (มักออกโดยธนาคาร เพราะตามกฎหมายธนาคารต้องให้คำสำคัญการชำระหนี้กับผู้ฝากเงินก่อน หุ้นกู้ที่ออกมาจึงต้องเป็นหุ้นกู้ด้อยสิทธิ์)
3.2 หุ้นกู้แปลงสภาพ
3.3 หุ้นกู้ชนิดมีหลักทรัพย์ค้ำประกัน
3.4 หุ้นกู้ชนิดทยอยจ่ายคืนเงินต้น
3.5 หุ้นกู้ชนิดที่ให้สิทธิในการไถ่ถอนคืนก่อนกำหนด (callable or putable)
4. ตั๋วสัญญาใช้เงิน (Promissory Note) หมายถึง หนังสือตราสารซึ่งบุคคลคนหนึ่ง เรียกว่า “ผู้ออกตั๋ว” (Maker) ให้คำมั่นสัญญาว่าจะใช้เงินจำนวนหนึ่งให้แก่บุคคลอีกคนหนึ่งหรือใช้ให้ตามคำสั่งของบุคคลอีกคนหนึ่ง เรียกว่า “ผู้รับเงิน” (Payee) ตั๋วสัญญาใช้เงิน คือ เอกสารทางการเงินชนิดหนึ่งที่ใช้ในการกู้ยืมกันอย่างถูกต้องตามกฎหมาย โดยบุคคลผู้ออกตั๋วได้ทำสัญญาเป็นลายลักษณ์อักษรว่าจะใช้เงินภายในระยะเวลาที่กำหนด หากตั๋วสัญญาใช้เงินเป็นแบบไม่มีเงื่อนไขและสามารถเปลี่ยนมือได้ จะเรียกว่า ตราสารเปลี่ยนมือ องค์ประกอบของตั๋วสัญญาโดยทั่วไปจะประกอบด้วย เงินต้น,อัตราดอกเบี้ย, กำหนดวันชำระเงิน, วันสิ้นสุดการชำระเงิน ในบางครั้งอาจจะมีข้อกำหนดในกรณีที่ผู้ออกตั๋วหรือผู้กู้กระทำผิดตามข้อกำหนด ผู้ออกกู้ก็จะทำการยึดทรัพย์สินตามที่ได้กำหนดกันไว้ นอกจากนี้ยังมีตั๋วสัญญาอีกชนิดที่เรียกว่า ตั๋วสัญญาใช้เงินตามความต้องการ ตั๋วสัญญาประเภทนี้จะไม่มีกำหนดถึงวันสิ้นสุดการชำระเงินไว้ในตั๋วสัญญากู้เงิน แต่จะขึ้นอยู่กับผู้ออกกู้ว่าจะเรียกเก็บเมื่อไร แต่โดยทั่วไปแล้ว ผู้ออกกู้จะทำการแจ้งถึงกำหนดเวลาที่ต้องการให้ผู้กู้ทราบล่วงหน้าเป็นเวลา 3-4 วัน สำหรับการกู้ยืมเงินที่เป็นส่วนบุคคลนั้น โดยปกติจะมีการเซนต์สัญญาเป็นลายลักษณ์อักษร ซึ่งในสัญญาจะระบุถึงในเรื่องของภาษีไว้ด้วย
ความรู้เกี่ยวกับตราสารหนี้ภาครัฐ
ตราสารหนี้ หมายถึง ตราสารทางการเงินที่แสดงความเป็นหนี้ ซึ่งเป็นภาระผูกพันทางกฎหมายระหว่าง เจ้าหนี้ กับ ลูกหนี้ เจ้าหนี้คือผู้ซื้อตราสารหนี้หรือผู้ลงทุน ส่วนลูกหนี้คือผู้ออกตราสารหนี้ โดยผู้ซื้อตราสารหนี้จะได้รับผลตอบแทนในรูปของดอกเบี้ยหรือส่วนลดจากราคาตรา ตามอัตราและเวลาที่ตกลงกัน และมีสิทธิได้รับชำระหนี้ก่อนผู้ถือหุ้น
ตราสารหนี้โดยทั่วไปมีองค์ประกอบที่สำคัญ เช่น ชื่อผู้ออกตราสาร ต้นเงินหรือมูลค่าที่ตราไว้ วันครบกำหนดไถ่ถอน อัตราดอกเบี้ยหรือผลประโยชน์ที่ผู้ซื้อจะได้รับ งวดการจ่ายดอกเบี้ยหรือวันที่จ่ายดอกเบี้ย ประเภทของตราสารหนี้ และข้อสัญญาหรือเงื่อนไขของตราสารหนี้ เป็นต้น
ประเภทของตราสารหนี้
การแบ่งประเภทตราสารหนี้อาจแบ่งได้หลายลักษณะ ดังนี้
1. แบ่งตามอายุของตราสารหนี้ ได้แก่ ตราสารหนี้ที่มีอายุสั้น กลาง และยาว
2. แบ่งตามลักษณะของการจ่ายดอกเบี้ย เช่น ตราสารหนี้ที่จ่ายดอกเบี้ยในอัตราคงที่ ตราสารหนี้ที่จ่ายดอกเบี้ยในอัตราลอยตัว ตราสารหนี้ที่จ่ายดอกเบี้ยทบต้น หรือตราสารหนี้ที่ไม่จ่ายดอกเบี้ย เป็นต้น
3. แบ่งตามลักษณะการออกใบตราสาร ได้แก่
3.1 ชนิดมีใบตราสาร (Scrip) เป็นตราสารหนี้ที่มีการออกใบตราสารซึ่งระบุชื่อผู้ถือกรรมสิทธิ์ไว้ให้ครอบครอง
3.2 ชนิดไร้ใบตราสาร (Scripless) เป็นตราสารหนี้ที่บันทึกกรรมสิทธิ์ไว้ในบัญชีของศูนย์รับฝากหลักทรัพย์โดยไม่มีการออกใบตราสาร
4. แบ่งตามประเภทของผู้ออกตราสารหนี้ ได้แก่
4.1 ตราสารหนี้ภาคเอกชน หมายถึง ตราสารหนี้ที่ออกโดยภาคเอกชน ซึ่งอยู่ในการควบคุมดูแลของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (กลต.) เช่น ตั๋วแลกเงิน ตั๋วสัญญาใช้เงิน หรือหุ้นกู้ เป็นต้น
4.2 ตราสารหนี้ภาครัฐ หมายถึง ตราสารหนี้ที่รัฐบาลโดยกระทรวงการคลัง หรือหน่วยงานภาครัฐ ออกจำหน่ายเพื่อระดมทุนในประเทศจากประชาชนและสถาบันการเงิน ตราสารหนี้ภาครัฐมีหลายประเภทดังนี้
1. ตราสารหนี้รัฐบาล แบ่งออกได้ดังนี้ (ธนาคารแห่งประเทศไทย, 2562)
1.1 ตั๋วเงินคลัง (Treasury Bills) เป็นตราสารหนี้ที่มีอายุไม่เกิน 1 ปี ออกจำหน่ายในตลาดแรกด้วยวิธีการประมูลในราคาที่ต่ำกว่าราคาตรา เมื่อครบกำหนดไถ่ถอนผู้ถือกรรมสิทธิ์จะได้รับเงินเต็มจำนวนตามราคาตรา ตั๋วเงินคลังเริ่มออกครั้งแรกในปี พ.ศ. 2488 มีอายุ 4 เดือน วงเงิน 50 ล้านบาท และมีการออกต่อเนื่องเรื่อยมาจนถึงปีงบประมาณ พ.ศ. 2533 ต่อจากนั้นรัฐบาลหยุดการออกตั๋วเงินคลัง และเริ่มออกใหม่อีกครั้งโดยประมูลเมื่อวันที่ 27 กันยายน 2542 และออกต่อเนื่องเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน (ปัจจุบัน ตั๋วเงินคลังส่วนใหญ่มีอายุ 28 วัน 91 วัน และ 182 วัน)
1.2 ตั๋วสัญญาใช้เงินเพื่อปรับโครงสร้างหนี้ (Debt Restructuring Bills) เป็นตราสารหนี้ที่มีอายุไม่เกิน 1 ปี ออกจำหน่ายในตลาดแรกด้วยวิธีการประมูลในราคาที่ต่ำกว่าราคาตรา เมื่อครบกำหนดไถ่ถอนผู้ถือกรรมสิทธิ์จะได้รับเงินเต็มจำนวนตามราคาตรา ตั๋วสัญญาใช้เงินเพื่อปรับโครงสร้างหนี้เป็นการออกตามความในมาตรา 7 แห่งพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินและจัดการเงินกู้เพื่อช่วยเหลือกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน พ.ศ. 2541 เริ่มมีการประมูลครั้งแรกในเดือนมีนาคม 2544 และออกต่อเนื่องเรื่อยมาจนถึงปี 2550 (ตั๋วสัญญาใช้เงินเพื่อปรับโครงสร้างหนี้ มีอายุที่กำหนดเป็นวัน ส่วนใหญ่มีอายุ 182 วัน)
1.3 พันธบัตรรัฐบาล (Government Bonds) เป็นตราสารหนี้ที่มีอายุตั้งแต่ 1 ปีขึ้นไป มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณหรือเมื่อมีรายจ่ายสูงกว่ารายได้ พัฒนาเศรษฐกิจและสังคม และปรับโครงสร้างหนี้สาธารณะ รัฐบาลไทยออกพันธบัตรเป็นครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2448 คือ “พันธบัตรเงินกู้ยุโรป ค.ศ. 1905” เป็นการกู้เงินจากต่างประเทศโดยออกพันธบัตรจำหน่ายในตลาดการเงินลอนดอนและปารีส จำนวน 1 ล้านปอนด์ เพื่อใช้ก่อสร้างทางรถไฟ ช่วยเหลือเงินคงคลัง และทำนุบำรุงประเทศ เป็นพันธบัตรชนิดจ่ายเงินให้แก่ผู้ถือ อายุ 40 ปี อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 4.5 ต่อปี พันธบัตรรัฐบาลภายในประเทศ เริ่มออกจำหน่ายครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2476 ในสมัยรัฐบาลของพระยามโนปกรณ์นิติธาดา คือ “พันธบัตรเงินกู้ พ.ศ. 2476” โดยออกตามพระราชบัญญัติจัดการกู้เงินภายในประเทศ พ.ศ. 2476 วงเงิน 10 ล้านบาท กระทรวงการคลังเป็นผู้จัดจำหน่ายเอง เป็นพันธบัตรชนิดชำระเงินให้แก่ผู้ถือ อายุ 10 ปี อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 4.5 ต่อปี พันธบัตรรัฐบาลที่ออกจำหน่ายในปัจจุบันมีชื่อเรียกต่าง ๆ กัน เช่น พันธบัตรรัฐบาล พันธบัตรรัฐบาลกรณีพิเศษ พันธบัตรรัฐบาลเพื่อการปรับโครงสร้างหนี้ พันธบัตรรัฐบาลเพื่อการบริหารหนี้ เป็นต้น พันธบัตรรัฐบาลส่วนใหญ่จ่ายดอกเบี้ยเป็นงวด โดยปกติจะจ่ายปีละ 2 งวด เมื่อครบกำหนดอายุของพันธบัตร ผู้ถือกรรมสิทธิ์จะได้รับคืนต้นเงินเท่ากับราคาตราพร้อมดอกเบี้ยงวดสุดท้าย
1.4 พันธบัตรออมทรัพย์ (Government Savings Bonds) เป็นตราสารหนี้ที่ออกเพื่อขายให้แก่บุคคลธรรมดา และสถาบันที่ไม่มุ่งหวังกำไร เช่น มูลนิธิ สภากาชาดไทย และสมาคมสภาสังคมสงเคราะห์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ เพื่อเป็นทางเลือกในการออมและการลงทุน พันธบัตรออมทรัพย์ส่วนใหญ่จ่ายดอกเบี้ยปีละ 2 งวด เมื่อครบกำหนดอายุของพันธบัตร ผู้ถือกรรมสิทธิ์จะได้รับคืนต้นเงินเท่ากับราคาตราพร้อมดอกเบี้ยงวดสุดท้าย
2. พันธบัตรรัฐวิสาหกิจ (State – Owned Enterprise Bonds) เป็นตราสารหนี้ที่มีอายุตั้งแต่ 1 ปีขึ้นไป ออกโดยรัฐวิสาหกิจ (องค์กรที่ได้รับการจัดตั้งขึ้นเพื่อดำเนินธุรกิจ โดยมีรัฐบาลหรือหน่วยงานของรัฐเป็นผู้ถือหุ้นหรือร่วมกัน ถือหุ้นตั้งแต่ร้อยละ 50 ขึ้นไป) มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อนำเงินทุนไปใช้จ่ายในการดำเนินงานตามโครงการต่างๆ พันธบัตรรัฐวิสาหกิจ มีทั้งชนิดที่กระทรวงการคลังค้ำประกันต้นเงินและดอกเบี้ย กับชนิดที่กระทรวงการคลังไม่ค้ำประกันต้นเงินและดอกเบี้ย ทั้งสองชนิดกระทรวงการคลังเป็นผู้ดำเนินการจัดหาสถาบันผู้จัดจำหน่ายและประกันการจำหน่ายโดยวิธีการประมูล สถาบันที่เข้าร่วมประมูลในอัตราค่าใช้จ่ายรวมต่ำสุดจะได้รับการคัดเลือกให้เป็นผู้จัดจำหน่ายพันธบัตรให้แก่ผู้ลงทุนทุกประเภท พันธบัตรรัฐวิสาหกิจส่วนใหญ่จ่ายดอกเบี้ยเป็นงวด โดยปกติจะจ่ายปีละ 2 งวด เมื่อครบกำหนดอายุของพันธบัตร ผู้ถือกรรมสิทธิ์จะได้รับคืนต้นเงินเท่ากับราคาตราพร้อมดอกเบี้ยงวดสุดท้าย
3. พันธบัตรธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ซึ่ง ธปท. เป็นผู้ออกโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการดำเนินนโยบายการเงิน ดูแลสภาพคล่องและอัตราดอกเบี้ยในระบบเศรษฐกิจให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมเพื่อให้เศรษฐกิจมีการขยายตัวอย่างมีเสถียรภาพ และช่วยสร้างอัตราดอกเบี้ยอ้างอิงให้เกิดการพัฒนาตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชน ธปท. ออกตราสารหนี้ครั้งแรกในปี พ.ศ. 2530 เป็นพันธบัตรอายุ 6 เดือน และออกพันธบัตรเรื่อยมาจนถึงปี 2540 (เว้นปี พ.ศ. 2532 2535 2536 และ 2537) มีอายุหลากหลาย ได้แก่ 1 เดือน 3 , เดือน 6 , เดือน 1 ปี และ 2 ปี ในปี พ.ศ. 2540 เริ่มออกพันธบัตรที่กำหนดอายุเป็นวันด้วย ได้แก่ อายุ 35 วัน , 42 วัน และ 49 วัน จากนั้นหยุดการออกพันธบัตรไประยะหนึ่ง และเริ่มออกอีกครั้งตั้งแต่ปี พ.ศ. 2546 เป็นต้นมา ปัจจุบันพันธบัตร ธปท. มีความหลากหลาย ดังนี้
3.1 พันธบัตรอายุไม่เกิน 1 ปี มีอายุตั้งแต่ 3 วัน จนถึง 364 วัน ไม่มีการกำหนดอัตราดอกเบี้ย จำหน่ายในราคาที่ต่ำกว่าราคาตรา เมื่อครบกำหนดไถ่ถอนผู้ถือกรรมสิทธิ์จะได้รับเงินเต็มจำนวนตามราคาตรา
3.2 พันธบัตรอายุเกินกว่า 1 ปี ประเภทอัตราดอกเบี้ยคงที่ จ่ายดอกเบี้ยเป็นงวด งวดละเท่า ๆ กัน ตามอัตราดอกเบี้ย ที่ ธปท. กำหนดสำหรับพันธบัตรแต่ละรุ่น เมื่อครบกำหนดไถ่ถอน ผู้ถือกรรมสิทธิ์จะได้รับคืนต้นเงินเท่ากับราคาตราพร้อมดอกเบี้ยงวดสุดท้าย
3.3 พันธบัตรอายุเกินกว่า 1 ปี ประเภทอัตราดอกเบี้ยลอยตัว จ่ายดอกเบี้ยเป็นงวด ตามอัตราดอกเบี้ยที่ ธปท. กำหนดล่วงหน้าก่อนเริ่มงวดการจ่ายดอกเบี้ยสำหรับพันธบัตรแต่ละรุ่น โดยอ้างอิงกับอัตราดอกเบี้ยอ้างอิงระยะสั้นตลาดกรุงเทพ (BIBOR) เมื่อครบกำหนดไถ่ถอน ผู้ถือกรรมสิทธิ์จะได้รับคืนต้นเงินเท่ากับราคาตราพร้อมดอกเบี้ยงวดสุดท้าย พันธบัตร ธปท. ประเภทอัตราดอกเบี้ยลอยตัว ออกจำหน่ายครั้งแรกในปี 2550 อายุ 3 ปี จ่ายดอกเบี้ยปีละ 2 ครั้ง ในอัตราดอกเบี้ยอ้างอิง BIBOR ระยะ 6 เดือน – 0.20 อัตราดอกเบี้ยงวดแรกกำหนดไว้เท่ากับร้อยละ 4.41094 ต่อปี
3.4 พันธบัตรประเภทออมทรัพย์ จ่ายดอกเบี้ยเป็นงวด งวดละเท่าๆ กัน ตามอัตราดอกเบี้ยที่ ธปท. กำหนด เมื่อครบกำหนดไถ่ถอน ผู้ถือกรรมสิทธิ์จะได้รับคืนต้นเงินเท่ากับราคาตราพร้อมดอกเบี้ยงวดสุดท้าย พันธบัตร ธปท. ประเภทออมทรัพย์ เริ่มออกครั้งแรกปี 2550 ในปัจจุบันเป็นการออกพันธบัตร ตามระเบียบ ธปท. ที่ สกง. 57/2554 ว่าด้วยการออกพันธบัตรออมทรัพย์ธนาคารแห่งประเทศไทย
พันธบัตรธปท. อายุไม่เกิน 1 ปี อายุเกินกว่า 1 ปี และพันธบัตรประเภทอัตราดอกเบี้ยลอยตัว ออกจำหน่ายในตลาดแรกด้วยวิธีการประมูล ตามระเบียบ ธปท. ที่ สกง. 2/2550 ว่าด้วยการออกพันธบัตรธนาคารแห่งประเทศไทย และประกาศ ธปท. ที่ สกง. 3/2550 เรื่อง วิธีการจำหน่าย ผู้มีสิทธิประมูล วิธีการประมูล การจัดสรร และการชำระราคาพันธบัตรธนาคารแห่งประเทศไทย
สำหรับพันธบัตร ธปท. ประเภทออมทรัพย์ จำหน่ายในตลาดแรกให้แก่ประชาชนทั่วไป และนิติบุคคลที่ไม่แสวงหากำไร ผ่านธนาคารตัวแทนซึ่งจะกำหนดในแต่ละคราว ในการจำหน่ายครั้งแรกเมื่อปี 2550 จำหน่ายผ่านธนาคารพาณิชย์ 8 แห่ง ได้แก่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) ธนาคารซิตี้แบงก์ เอ็น.เอ. ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ธนาคารยูโอบี จำกัด (มหาชน) ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) จำกัด (มหาชน) และธนาคารฮ่องกงและเซี่ยงไฮ้แบงกิ้งคอร์ปอเรชั่น จำกัด
4. พันธบัตรกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน เป็นตราสารหนี้ที่ออกโดยกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน เพื่อวัตถุประสงค์ในการแก้ไขฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินให้มีความมั่นคง กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินออกพันธบัตรครั้งแรกเมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2539 เพื่อระดมเงินมาให้กู้แก่สถาบันการเงินที่ประสบปัญหาสภาพคล่องในช่วงวิกฤตการณ์ทางการเงินของประเทศ
ปัจจุบันพันธบัตรกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน ประกอบด้วย
4.1 พันธบัตรที่จำหน่ายเฉพาะเจาะจงให้กับธนาคารแห่งประเทศไทย
4.2 พันธบัตรออมทรัพย์ ออกจำหน่ายให้กับประชาชนทั่วไป ผ่านธนาคารตัวแทนจำหน่าย
บรรณานุกรม
การซื้อขายตราสารหนี้. (2562). ตราสารหนี้. สืบค้นเมื่อวันที่ 10 มกราคม 2562. จาก https://www.set.or.th/ความหมายของ
ตราสารอนุพันธ์. (2562).
โชติชัย สุวรรณาภรณ์. (2560). ตราสารอนุพันธ์โอกาสหรือภัยคุกคาม. สืบค้นเมื่อวันที่ 5 มกราคม 2562.
จาก http://www2.fpo.go.th/
ตราสารอนุพันธ์. (2562). ตลาดตราสารอนุพันธ์. สืบค้นเมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2562 จาก
https://www.tfex.co.th/
ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย. (2562). การรับตราสารหนี้ภาคเอกชนเป็นหลักทรัพย์จดทะเบียนใน
ตลาดตราสารหนี้. สืบค้นเมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2562. จาก https://www.set.or.th/
ธนาคารแห่งประเทศไทย. (2562). ความรู้เกี่ยวกับตราสารหนี้ภาครัฐ. สืบค้นเมื่อวันที่ 5 มกราคม 2562.
จาก https://www.bot.or.th/
ธนาคารแห่งประเทศไทย.. (2562). ตลาดตราสารหนี้. สืบค้นเมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2562. จาก https://www.bot.or.th
ธนาคารแห่งประเทศไทย.. (2562). พันธบัตรและตราสารหนี้. สืบค้นเมื่อวันที่ 10 มกราคม 2562 จาก
https://www.bot.or.th/
บริษัทหลักทรัพย์ คันทรี่กรุ๊ป จำกัด (มหาชน). (2562). ประเภทตราสารหนี้. สืบค้นเมื่อวันที่ 25 ตุลาคม
2562 จาก https://www.cgsec.co.th/
มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช. (2562). การใช้ตราสารอนุพันธ์ในการบริหารความเสี่ยงทางการเงิน
ของธุรกิจระหว่างประเทศ. สืบค้นเมื่อวันที่10 ธันวาคม 2562 จาก https://www.stou.ac.th/
มูลค่าการซื้อขายตราสารหนี้. (2562). Bond & Ben ชวนไขข้อสงสัยตราสารหนี้. สืบค้นเมื่อวันที่ 3
ธันวาคม 2562 จาก http://www.thaibma.or.th/
สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย. (2562). ความเป็นมาของ ThaiBMA. สืบค้นเมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2562
จาก http://www.thaibma.or.th/
สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย.. (2562). บทบาทหน้าที่หลัก 5 ด้านของสมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย. สืบค้น
เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2562 จาก http://www.thaibma.or.th/
สัญลักษณ์ตราสารหนี้. (2562). รู้จัก….ตราสารหนี้. สืบค้นเมือ 15 มกราคม 2563 จาก https://www.set.or.th/th/
FINNOMENA. (2562). ตราสารอนุพันธ์. สืบค้นเมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2562 จาก
https://www.finnomena.com/