“ภาษาบาลี” รากฐานและวิวัฒนาการของภาษาไทย

“ภาษาบาลี” รากฐานและวิวัฒนาการของภาษาไทย

ธรรณปพร  หงษ์ทอง[1]

 

พัฒนาการของสังคมมนุษย์จากอดีตจนถึงปัจจุบันมีภาษาเป็นเครื่องมือที่สะท้อนให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงและมีบทบาทสำคัญในการติดต่อสื่อสารระหว่างกัน  ดังนั้นภาษาจึงทำให้สังคมมนุษย์มีการเรียนรู้  ถ่ายทอด  พัฒนา  ซึ่งจะเป็นการนำไปสู่วิวัฒนาการความรู้ในศาสตร์สาขาต่างๆ อีกเป็นจำนวนมาก และภาษายังทำหน้าที่สำคัญในการรักษาและสืบทอดมรดกทางวัฒนธรรมอันล้ำค่าของสังคมมนุษย์ไว้ด้วย นอกจากนี้ภาษาไทยยังมีรากฐานจากภาษาอื่นๆอีกหลายภาษา เช่น ภาษาบาลี ซึ่งภาษาบาลีกับภาษาไทยนั้นมีความกลมกลืนกันมาก ดังตัวอย่างอิทธิพลของภาษาบาลีที่ใช้ในภาษาไทย

ภาษาบาลีเป็นภาษาที่รักษาไว้ซึ่งพระพุทธพจน์หรือคำสอนทางพระพุทธศาสนา ชาวพุทธที่ต้องการเข้าใจคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าอย่างถ่องแท้จึงจำเป็นต้องเรียนภาษาบาลี หากชาวพุทธเข้าใจภาษาบาลีบ้างจะสามารถไขตู้พระไตรปิฎกและอ่านคัมภีร์ต่างๆ ทางพระพุทธศาสนาโดยเข้าถึงรสแห่งพระธรรมได้ลึกซึ้งมากยิ่งขึ้น อย่างไรก็ดี ภาษาบาลีนี้มิได้มีความเกี่ยวข้องกับหลักธรรมคำสั่งสอนทางพระพุทธศาสนาเท่านั้น แต่ยังมีความสำคัญกับภาษาไทยเป็นอย่างมาก ดังจะเห็นได้จากคำราชาศัพท์จำนวนมากที่ใช้ภาษาบาลีเป็นรากศัพท์ เช่น พระเนตร พระกรรณ พระทนต์ เป็นต้น คำราชาศัพท์เหล่านี้มีที่มาจากภาษาบาลีทั้งสิ้น พระเนตรตรงกับภาษาบาลีว่า “เนตฺต” แปลว่า ตา, พระกรรณตรงกับภาษาบาลีว่า “กณฺณ” แปลว่า หู ส่วนพระทนต์ตรงกับภาษาบาลีว่า “ทนฺต” แปลว่า ฟัน ด้วยเหตุนี้จึงบ่งบอกได้ว่า พระราชามีส่วนเกี่ยวข้องและผูกพันกับพระพุทธศาสนาโดยมิอาจแยกออกจากกันได้  เพราะใช้คำราชาศัพท์ที่มีรากศัพท์มาจากภาษาบาลี แม้แต่คำว่า “ราชา” ก็มาจากภาษาบาลีว่า “ราช” แปลตามรูปศัพท์ได้ว่า ผู้ทำให้ประชาชนพอใจ

นอกจากมีความเกี่ยวข้องกับคำราชาศัพท์แล้ว ภาษาบาลียังมีความเกี่ยวข้องกับคนไทยอย่างมากมาย เช่น ชื่อของคน สัตว์ สถานที่ สิ่งของ และอาชีพ ในที่นี้จะขอยกตัวอย่างชื่อที่ใช้ภาษาบาลีเป็นรากศัพท์ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับคนไทยพอสังเขป ตัวอย่างชื่อคนเช่น “กมลวรรณ” ก็เป็นภาษาบาลีมาจากคำว่า “กมล” ที่แปลว่า “ดอกบัว” กับคำว่า “วณฺณ” ที่แปลว่า “ผิวพรรณ” รวมความแล้วจึงแปลว่า “ผู้มีผิวพรรณสวยงามดังดอกบัว” ชื่อสัตว์เช่น “หัตถี” แปลว่า “ช้าง” ก็มีที่มาจากภาษาบาลีโดยเทียบเคียงจากงวงของช้างที่มีลักษณะคล้ายกับ “มือ” ของมนุษย์ที่ใช้หยิบจับสิ่งของ ชื่อสถานที่เช่น “ปทุมธานี” ก็มาจากภาษาบาลีว่า “ปทุม” แปลว่า “ดอกบัว” และ “ธานี” แปลว่า “เมือง” รวมความแล้วจึงแปลว่า “เมืองที่อุดมไปด้วยดอกบัว” ชื่อสิ่งของเช่น “อาหาร” แปลว่า “สิ่งที่นำเข้าไปในร่างกาย” และชื่อของอาชีพเช่น “วิสัญญีแพทย์” ก็มาจากภาษาบาลีว่า “วิสญฺญี” แปลว่า “สลบหรือหมดความรู้สึก” คำว่า “แพทย์” มาจากภาษาบาลีว่า “เวชฺช” แปลว่า “หมอ” รวมความแล้วจึงแปลว่า “หมอผู้ทำหน้าที่ให้ยาสลบ” ด้วยเหตุนี้จึงเห็นได้ว่า ภาษาบาลีมีส่วนเกี่ยวข้องกับชีวิตและจิตใจของชาวไทยเป็นอย่างมาก เพียงแต่ชาวไทยโดยส่วนใหญ่ไม่ได้สนใจศึกษาภาษาบาลีอย่างจริงจัง จึงไม่รู้ถึงความเกี่ยวเนื่องกันของภาษาบาลีที่มีอยู่ในชีวิตประจำวัน

ประโยชน์ของการศึกษาภาษาบาลีที่เห็นได้เด่นชัดที่สุด คือ สามารถเข้าใจความหมายของศัพท์ต่างๆ ในภาษาไทยได้อย่างลุ่มลึกและชัดเจนขึ้น เช่น คำว่า “วานร” แปลเป็นภาษาไทยว่า “ลิง” ศัพท์นี้มีที่มาจากภาษาบาลีแยกเป็นคำได้ว่า “วา” แปลว่า “หรือ” และ “นร” แปลว่า “คน” รวมความแล้วแปลว่า “คนหรือเปล่า” คำว่า “วานร” นี้มีที่มาจากลักษณะท่าทางของลิงที่คล้ายกับคน กล่าวคือ มี ๒ มือ ๒ ขาเหมือนกับคน ลักษณะการเดินก็คล้ายกับคน หากมองไกลๆ ในป่าก็อาจทำให้เข้าใจได้ว่าเป็นคน หรืออาจทำให้สงสัยแล้วตั้งคำถามขึ้นในใจว่า “นี่เป็นคนหรือเปล่า” ด้วยเหตุนี้คำว่า “วานร” จึงมาจากการตั้งข้อสงสัยถึงกิริยาอาการของลิงที่คล้ายกับคนว่า “เป็นคนหรือเปล่า” หากชาวไทยศึกษาภาษาบาลีเป็นพื้นฐานจะทำให้เข้าใจถึงความลุ่มลึกในศัพท์ภาษาไทยได้เป็นอย่างดี นอกจากจะมีความรู้ความเข้าใจในรากศัพท์ภาษาไทยได้ลึกซึ้งขึ้นแล้ว ยังสามารถสร้างความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนให้กลับมาถูกต้องได้ด้วย ยกตัวอย่างคำว่า “จุติ” คำนี้ชาวไทยโดยส่วนใหญ่มักจะเข้าใจว่า “จุติคือการเกิด” ดังเช่นที่พูดกันว่า “ตอนนี้เรามีเด็กหนุ่มผู้มีความสามารถจุติในประเทศไทยแล้ว” แท้จริงแล้วการใช้คำว่า “จุติ” มิได้มีความหมายถึงการเกิด แต่ที่ถูกต้อง “จุติ” แปลว่า เคลื่อนไปหรือย้ายไป อธิบายง่ายๆ ว่า เคลื่อนย้ายจากสถานะหนึ่งไปสู่อีกสถานะหนึ่ง มีความหมายที่ถูกต้องว่า “ตายจากโลกนี้แล้วไปเกิดในโลกหน้า” ดังนั้น “จุติ” จึงมีความหมายที่แท้จริงว่า “ตาย” ขอยกตัวอย่างการใช้ศัพท์นี้จากรูปประโยคที่ว่า “เมื่อเทวดาเสวยสุขบนสวรรค์จนหมดบุญแล้ว ก็จะจุติลงมาเกิดในมนุษย์โลก” ด้วยเหตุนี้ผู้ที่ศึกษาภาษาบาลีจึงมีความรู้ความสามารถมากพอที่จะเข้าใจศัพท์ที่คลาดเคลื่อนเหล่านี้ให้ถูกต้องได้

ในปัจจุบันคำศัพท์ในภาษาไทยหลายคำก็มีที่มาจากภาษาบาลี และคนไทยส่วนใหญ่มักจะไม่ค่อยเข้าใจถึงที่มาของคำศัพท์เหล่านั้น เช่นคำว่า “อังคาร” คำนี้มีความหมายลึกซึ้งกว่ามาก คำว่า “อังคาร” ที่มิได้มีความหมายเฉพาะวันอังคารหรือดาวอังคารเท่านั้น แท้ที่จริงคำว่า “อังคาร” มาจากภาษาบาลีแปลว่า “ถ่านเพลิงหรือถ่านไฟที่กำลังปะทุอยู่” สังเกตได้จากกิจกรรมการลอยอังคาร ที่มีการเผาศพจนเหลือแต่อัฐิหรือกระดูกของคนตายแล้ว เมื่อทำพิธีเก็บอัฐิและทำบุญเสร็จแล้วนิยมรวบรวมอังคารห่อด้วยผ้าขาว หรือใส่โถแล้วห่อด้วยผ้าขาวนำไปทิ้งแม่น้ำหรือทะเลตรงที่มีร่องน้ำลึก โดยเชื่อว่าจะทำให้ผู้ตายได้อยู่ในสถานที่เย็นสบายโดยไม่มีใครมารบกวน แม้เกิดในภพใด ก็จะมีความร่มเย็นเป็นสุขเหมือนน้ำที่มีแต่ความชุ่มเย็น ส่วนสาเหตุที่ใช้คำว่า “อังคาร” เป็นชื่อดวงดาว ก็มีที่มาจากดาวอังคารเป็นดาวเคราะห์ที่มีแสงสีแดงประดุจถ่านที่ติดไฟ จึงเรียกดาวดวงนี้ว่า “ดาวอังคาร” ซึ่งก็มีที่มาจากภาษาบาลีเช่นกัน

หากมีความเข้าใจในภาษาบาลีมากพอจะทำให้ทราบถึงความเหมือนในความต่าง และความต่างในความเหมือนได้ด้วย ศัพท์ในภาษาบาลีบางศัพท์เขียนต่างกันแต่ให้ความหมายเหมือนกัน เช่น คำว่า “วายุ” กับ “พายุ” ก็แปลว่า “ลม” เหมือนกัน, คำว่า “วิวาท” กับ “พิพาท” ก็แปลว่า “การโต้เถียงหรือการทะเลาะ” เหมือนกัน, คำว่า “เวลา” กับ “เพลา” ก็แปลว่า “กาลเวลา” เหมือนกัน คำเหล่านี้ถึงแม้จะมีรูปต่างกันแต่ก็มีความหมายเหมือนกัน เนื่องจากในภาษาบาลีนั้นสามารถแปลง “ว” เป็น “พ” ได้โดยมีความหมายเท่าเดิม อย่างไรก็ดีมีบางศัพท์ในภาษาบาลีที่แปลง “ว” เป็น “พ” แล้วมีความหมายในภาษาไทยและภาษาบาลีแตกต่างกัน เช่นคำว่า “วิตฺถาร” ชาวไทยส่วนใหญ่มักจะเข้าใจความหมายของคำนี้ว่า นอกแบบนอกทาง ทำสิ่งที่ผิดปกติหรือเกินวิสัย และอ่านออกเสียงคำนี้ไปว่า “วิดตะถาน” แท้จริงแล้วคำนี้มาจากภาษาบาลีที่อ่านออกเสียงว่า “วิดถาน” แปลว่า กว้างขวาง การแผ่ขยาย สามารถเทียบได้กับคำว่า “พิสดาร” ที่มาจากภาษาสันสกฤตที่นิยมใช้กันมากกว่าในปัจจุบัน ส่วนศัพท์ในภาษาบาลีบางศัพท์เขียนเหมือนกันแต่ให้ความหมายต่างกัน เช่น คำว่า “มานะ” ในภาษาไทยให้ความหมายไว้ว่า ความอดทน ความพยายาม ความตั้งใจจริง ความบากบั่น บางครั้งมักใช้เป็นคำคู่กันเช่น มานะอดทน มานะพยายาม มานะบากบั่น เป็นต้น แท้จริงแล้วคำนี้มาจากภาษาบาลีโดยใช้ในความหมายว่า ความเย่อหยิ่ง ความถือตัว จัดเป็นกิเลสอย่างหนึ่งเช่น บางคนถือว่าตัวเองดีเด่นกว่าคนอื่นด้วยชาติ ทรัพย์สมบัติ หรือรูปร่างหน้าตา ก็มักจะดูถูกดูแคลนคนอื่นด้วยการแสดงความเย่อหยิ่งยโสออกมา ศัพท์นี้ถึงแม้จะเขียนเหมือนกัน แต่จะใช้ในภาษาไทยและภาษาบาลีปะปนกันไม่ได้ เพราะมีความหมายแตกต่างกันมาก

จากตัวอย่างข้างต้นที่ได้พบเห็นมาทั้งหมดพบว่า ภาษาบาลีปะปนแทรกอยู่ในภาษาไทยมากมาย ทั้งในรูปของคำราชาศัพท์ คำที่เป็นชื่อของคน สัตว์ สถานที่ สิ่งของ และอาชีพ เป็นคำศัพท์ที่เรามักใช้ในชีวิตประจำวันอยู่แล้ว เพียงแต่ไม่ทราบความหมายและที่มาของศัพท์เหล่านั้นเท่านั้น การศึกษาภาษาบาลีจึงช่วยส่งเสริมให้สามารถเข้าใจความหมายที่แท้จริงอันลุ่มลึกที่แฝงอยู่ในศัพท์เหล่านั้นได้ ด้วยเหตุนี้จึงควรสนับสนุนและส่งเสริมให้มีการศึกษาภาษาบาลีมากยิ่งขึ้น เพราะนอกจากจะช่วยให้ใช้ภาษาไทยได้ดีขึ้นแล้ว ยังช่วยให้เกิดความเข้าใจและจดจำหลักธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าได้ง่ายขึ้น ส่งผลให้ผู้ศึกษาภาษาบาลีสามารถเข้าใจความหมายที่แฝงไว้ในพระไตรปิฎกได้อย่างถูกต้อง ไม่ผิดพลาด ถือเป็นการทำหน้าที่ของชาวพุทธที่ดีอีกทางหนึ่ง และนับได้ว่าเป็นผู้รักษาและสืบต่ออายุพระพุทธศาสนาให้ยืนยาวต่อไป เพราะการศึกษาภาษาบาลีเป็นการศึกษาภาษาที่รักษาคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าไว้ได้อย่างครบถ้วนและสมบูรณ์แบบมากที่สุด

ดังนั้นจึงถือว่าภาษาเป็นเครื่องมือที่จำเป็นและสำคัญอย่างยิ่งต่อการดำเนินชีวิตของเรามากที่สุดอย่างไรก็ตามการกำเนิดของภาษานั้นก็ยังไม่เป็นที่ปรากฏแน่ชัด มีนักปราชญ์จำนวนมากพยายามศึกษาค้นคว้าเพื่อหาข้อยุติที่แน่นอน  และได้พบกับความจริงข้อหนึ่งที่ว่า  ภาษามีคุณสมบัติเฉพาะตัวอย่างหนึ่ง  คือ  เป็นไปตามสภาวะ  มีลักษณะเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา  และมีการสืบเนื่องต่อกันมาหลายชั่วอายุคน นักปราชญ์จึงทำได้เพียงแสดงแนวคิดหรือทัศนะของตนเพื่อประกอบการศึกษาค้นคว้า อย่างไรก็ตามการสันนิษฐานเกี่ยวกับการกำเนิดของภาษา  เป็นเรื่องที่สะท้อนให้เห็นถึงความสามารถของมนุษย์ที่แตกต่างจากสัตว์อื่น  คือ  พัฒนาการทางด้านภาษาที่เกิดต่อเนื่องอยู่ตลอดเวลา เนื่องจากมนุษย์นั้นต้องใช้ภาษาเป็นเครื่องมือในการสื่อสารระหว่างกันและต้องพยายามพัฒนาทักษะในการใช้ภาษาเพื่อตอบสนองความต้องการในทุกๆ ด้าน  ดังนั้นนักวิชาการในยุคหลังๆ จึงใช้ข้อสันนิษฐานเหล่านี้ใช้ประกอบศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับการกำเนิดและวิวัฒนาการของภาษาต่อๆ ไป

 

บรรณานุกรม

กระทรวงศึกษาธิการ.(๒๕๔๖). คู่มือการถวายความรู้แด่พระสังฆาธิการ . กรุงเทพมหานคร: โรงพิมพ์การ

ศาสนา.

กีรติ  บุญเจือ. ม.ป.ป. ปรัชญาภาษา. กรุงเทพฯ : จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย.

คณะกรรมการวิชาภาษาไทยเพื่อการสื่อสาร. (๒๕๕๖).  ภาษาไทยเพื่อการสื่อสาร.  พิมพ์ครั้งที่ 9.           กรุงเทพมหานคร: มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์.

นววรรณ  พันธุเมธา. (๒๕๔๗) ก. คลังคํา.  พิมพครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ  :  อัมรินทรพริ้นติ้งแอนพับลิชชิ่ง.

ราชบัณฑิตยสถาน.(๒๕๕๔). พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๕๔. กรุงเทพมหานคร: นานมีบุ๊ค

พับลิเคชั่นส์.

[1] อาจารย์ ดร.ธรรณปพร  หงษ์ทอง อาจารย์ประจำสาขาวิชาภาษาไทย คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์

มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา