บทนำ
ภาษาตระกูลไท (Tai Family) เป็นตระกูลภาษาที่มีความสำคัญมากตระกูลหนึ่งในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเป็นตระกูลภาษาที่มีผู้พูดกันแพร่หลายที่สุดในภูมิภาคเอเชียอาคเนย์ คือ มีผู้พูดภาษาตระกูลนี้อยู่ถึง 8 ประเทศด้วยกัน ได้แก่ จีน พม่า อินเดีย เวียดนาม กัมพูชา ลาว ไทย และมาเลเซีย ทั้งนี้นักวิชาการจัดให้ภาษาไทยอยู่ในกลุ่มภาษาตระกูลไท อีกทั้งในประเทศไทยมีความหลากหลายทางวัฒนธรรมและภาษา ทั้งภาษาท้องถิ่น และภาษาของกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ โดยภาษาผู้ไท (ชาวผู้ไท คือ กลุ่มชาติพันธุ์ กลุ่มหนึ่งที่อาศัยกระจัดกระจายกันอยู่ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย) ถูกจัดอยู่ในตระกูล ภาษาตระกูลไทเช่นเดียวกับภาษาไทย
การแบ่งภาษาตระกูลไท
นักภาษาศาสตร์ได้แบ่งภาษาถิ่นต่างๆ โดยอาศัยลักษณะการแบ่งดังต่อไปนี้
1. เชื้อชาติเจ้าของภาษา ถือความสัมพันธ์ระหว่างเชื้อชาติที่มีต่อกันเป็นหลัก
2. ตามลักษณะโครงสร้างของภาษา มีโครงสร้างทางไวยากรณ์ (ระบบเสียง ระบบคำ) คล้ายกันมากที่สุด เช่น ระบบเสียงประกอบด้วยหน่วยเสียงพยัญชนะ เสียงสระ และเสียงวรรณยุกต์ เป็นต้น
3. การปกครองของประเทศ คือ ระหว่างรัฐกับรัฐ ซึ่งหมายถึง สถานที่ที่ผู้พูดภาษาถิ่นนั้น ๆ อาศัยอยู่ เช่น ถิ่นเหนือ ถิ่นใต้ เป็นต้น
ภาษาและตระกูลภาษาในประเทศไทย
วิไลศักดิ์ กิ่งคำ (2559 : 21) ได้กล่าวว่า ในประเทศไทยมีการใช้ภาษาถิ่นหลายภาษา เนื่องด้วยทางประวัติศาสตร์มีการอพยพของคนมาอยู่ในประเทศไทยหลายเผ่าพันธุ์ เมื่อผู้คนมาจากหลายเชื้อชาติ ภาษาก็ย่อมใช้แตกต่างกันไป อีกทั้ง สุวิไล เปรมศรีรัตน์ (2549 : 8-10) กล่าวว่า ประเทศไทยนั้นมีความร่ำรวย หลากหลายด้านภาษาชาติพันธุ์และวัฒนธรรมเป็นอย่างยิ่ง โดยในจำนวนประชากรกว่า 60 ล้านคนนั้น แบ่งได้เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ภาษาทั้งสิ้นถึง 70 กลุ่ม กระจายอยู่ในส่วนต่าง ๆ ของประเทศ และสามารถแบ่งกลุ่ม ชาติพันธุ์ตามตระกูลภาษาได้ 5 ตระกูล ได้แก่ ภาษาตระกูลไท (Tai Language Family) ภาษาตระกูลออสโตรเอเชียติก (Austroasiatic Language Family) ภาษาตระกูลจีน-ทิเบต (Sino-Tibetan Language Family) ภาษาตระกูลออสโตรเนเชียน หรือ มาลาโยโพลีเนเชียน (Austronesian or Malao-Polynesian Language Family) ภาษาตระกูลม้ง-เมี่ยน หรือ แม้ว-เย้า (Hmong-Mien or Miao-Yao Language Family) ทั้งนี้ ในจำนวน 5 ตระกูล “ภาษาตระกูลไท” เป็นภาษาพูดของคนส่วนใหญ่ของประเทศ เฉพาะในประเทศไทยมี ผู้พูดภาษาในตระกูลนี้เป็นจำนวนร้อยละ 92 ของประชากรในประเทศ ภาษาในตระกูลนี้มีจำนวน 24 กลุ่มภาษา ได้แก่ กะเลิง, คำเมือง/ยวน, โซ่ง/ไทดำ, ญ้อ, ไทขึน, ไทยกลาง, ไทยโคราช, ไทยตากใบ, ไทยเลย, ไทลื้อ, ไทหย่า, ไทใหญ่, ปักษ์ใต้, ผู้ไท, พวน, ยอง, โย้ย, ลาวครั่ง, ลาวแง้ว, ลาวตี้, ลาวเวียง, ลาวหล่ม, ลาวอีสาน และ แสก
ลักษณะสำคัญของภาษาตระกูลไท
ภาษาไทยจัดอยู่ในภาษาตระกูลไท นอกจากนี้ยังมี ผู้ไท ไทลื้อ ลาวครั่ง กะเลิง ฯลฯ ที่จัดอยู่ในตระกูลนี้เช่นเดียวกัน ทั้งนี้ ภาษาตระกูลเดียวกันย่อมมีลักษณะสำคัญอันแสดงถึงความเป็นภาษาตระกูลเดียวกัน ดังที่ผู้เขียนได้สรุปลักษณะสำคัญของภาษาตระกูลไทไว้ ดังนี้
1. เป็นภาษาคำโดด (Isolating Language) คือ ไม่มีการเปลี่ยนแปลงรูปเพื่อแสดงประเภททางไวยากรณ์ (Grammatical Categories) ไม่มีการใช้วิภัตติปัจจัย อีกทั้งความหมายของคำขึ้นอยู่กับการเรียงคำเข้าประโยค
2. มีคำศัพท์สามัญหรือศัพท์พื้นฐานที่เหมือนกันหรือคล้ายกันทั้งเสียงและความหมาย คำศัพท์ดังกล่าวนี้ นักภาษาศาสตร์เชิงประวัติ เรียกว่า“คำร่วมเชื้อสาย” (Cognate Words) เช่น คำศัพท์ที่เกี่ยวกับการเรียกเครือญาติ เช่น ปู่ ย่า ตา ยาย พ่อ แม่ คำศัพท์เกี่ยวกับร่างกาย เช่น ตา มือ แขน ขา คำศัพท์เกี่ยวกับกิริยาอาการต่าง ๆ เช่น นอน กิน ไป มา คำเรียกสัตว์เลี้ยงต่าง ๆ เช่น หมู หมา เป็ด ไก่ ตลอดถึงคำเรียกของใช้ ต่าง ๆ ภายในบ้านและคำนับ (Numerals) เป็นต้น
3. มีหน่วยเสียงพยัญชนะ สระ และวรรณยุกต์ ตัวอย่างเช่น ระบบเสียงของภาษาไทยมาตรฐาน ประกอบด้วย หน่วยเสียงพยัญชนะ 21 หน่วยเสียง หน่วยเสียงสระ 21 หน่วยเสียง หน่วยเสียงวรรณยุกต์ 5 หน่วยเสียง (วิไลศักดิ์ กิ่งคำ, 2559 : 35) ระบบเสียงโดยทั่วไปของภาษาผู้ไทนั้นมีหน่วยเสียงพยัญชนะ 20 หน่วยเสียง สระเดี่ยว 18 หน่วยเสียง ไม่มีหน่วยเสียงสระประสม มีเสียงวรรณยุกต์ 5 หน่วยเสียง (สุวัฒนา เลี่ยมประวัติ, 2551: 169) เป็นต้น
4. มีการเรียงคำขยายไว้หลังคำหลัก ดังนี้ คำหลัก – คำขยาย เช่น มะม่วงมาก ในส่วนภาษาผู้ไท คือ มะโม้งหลาย
5.ถ้าใช้คำนับ (Numerals) กับคำนามที่นับได้ มักจะมีลักษณนาม (classifier) ตามด้วย (N+Num+Cl.) ตัวอย่างเช่น เพื่อนสามคน ในส่วนภาษาผู้ไท คือ มู่สามข้น
ภาษาผู้ไทหนึ่งในภาษาตระกูลไท
ภาษาผู้ไทเป็นภาษาในตระกูลไทที่มีความน่าสนใจมากภาษาหนึ่ง เดิมผู้พูดภาษานี้อยู่เขตสิบสองจุไท ประเทศลาวและเวียดนาม ชาวผู้ไทมีหลายพวก เช่น ผู้ไทขาว ผู้ไทดำ ผู้ไทลาย คำว่า “ผู้” หมายถึง คน “ผู้ไท” หมายถึง คนไท (สุวัฒนา เลี่ยมประวัติ, 2551: 169) ภาษาผู้ไทพบแค่บริเวณสองฝั่งโขงคือภาคอีสานของไทยและสปป.ลาวตอนกลาง บริเวณแขวงคำม่วนและแขวงสะหวันนะเขต สำหรับในประเทศไทย คน “ผู้ไท” ซึ่งบางแห่งเรียก “ผู้ไทย” นั้น เป็นกลุ่มชาติพันธุ์กลุ่มหนึ่งที่อาศัยกระจัดกระจายกันอยู่ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย เช่น จังหวัดสกลนคร นครพนม กาฬสินธุ์ มุกดาหาร และบางส่วนกระจายอยู่ในเขตจังหวัดหนองคาย อำนาจเจริญ อุบลราชธานี อุดรธานี ร้อยเอ็ด และยโสธร ซึ่งในจังหวัดนครพนมมีชาวผู้ไทตั้งถิ่นฐานอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะอำเภอเรณูนคร เนื่องจากเป็นอำเภอที่ บรรพบุรุษของชาวผู้ไทได้อพยพเข้ามาจากถิ่นฐานเดิมซึ่งอยู่ที่เมืองวังตอนกลางของประเทศลาว เมื่อประมาณ 200 ปีมาแล้ว ในประเทศไทย คน “ผู้ไท” เป็นกลุ่มชาติพันธุ์กลุ่มหนึ่งที่รักษาวัฒนธรรมของตนไว้ได้อย่างดี (พิณรัตน์ อัครวัฒนากุล, 2541: 14-16)
ชาวผู้ไทประกอบอาชีพการเกษตรเป็นอาชีพหลัก อีกทั้งชาวผู้ไทเป็นคนที่พิถีพิถันในเรื่องการเลือกทำเลที่ตั้งหมู่บ้าน ซึ่งต้องเป็นที่ราบใกล้ภูเขาหรือแหล่งน้ำ แหล่งอาหารจึงมีใกล้บ้าน พืชผักต่าง ๆ มีมากมาย ทั้งพืชบ้าน พืชสวน พืชป่า ดังมีผญาคำสอนบทหนึ่งว่า “อย่าไป๋เก็บดอกหว่านบ้านเพิ๋นมาบ๋าน เฮ่อเจ้ายื๋นงอยชานเก็บดอกกะเจ๋วฮิมโฮ้” (อย่าไปเก็บดอกหว่านบ้านอื่นมาบ้าน ให้เจ้ายืนที่ชานเก็บดอกกระเจียวริมรั้ว) นอกจากนี้ ยังสะท้อนให้เห็นถึงสภาพที่ดิน และแหล่งที่อยู่อาศัย ที่มีพืชพันธุ์ธัญญาหารมากมาย อุดมสมบูรณ์ไปด้วยแมกไม้นานาพันธุ์
ทั้งนี้ ผู้เขียนเคยมีโอกาสลงพื้นที่ศึกษาชาวผู้ไทอำเภอเรณูนคร จังหวัดนครพนม และชาวผู้ไทกระป๋อง ณ บ้านธาตุพัฒนา ตำบลวาริชภูมิ อำเภอวาริชภูมิ จังหวัดสกลนคร จากการสัมภาษณ์วิถีชีวิตของชาวผู้ไทกระป๋องและศึกษาในด้านวงศัพท์ มีชาวผู้ไทกระป๋องเป็นผู้บอกภาษา โดยให้ดูสิ่งของหรือแผ่นภาพตามรายการคำศัพท์ (Word List) ทีละคำ ให้ผู้บอกภาษาออกเสียงคำศัพท์จากรายการคำ และผู้เขียนออกเสียงตามผู้บอกภาษาเพื่อความชัดเจน จึงขอยกตัวอย่างจากการสัมภาษณ์และเก็บรวบรวมการใช้คำในวงศัพท์พืชผัก ผลไม้ ที่สะท้อนวัฒนธรรมทางเกษตรกรรมของชาวผู้ไท โดยเปรียบเทียบกับภาษาไทยมาตรฐาน ดังตัวอย่างตารางต่อไปนี้
ภาษาไทยมาตรฐาน ภาษาผู้ไท
ข้าว เค้า
แตงกวา แต่งกว๋า
พุทรา มะกะทัน
มะเขือพวง มะแฮ้ง
มะไฟ มะไฟ่
หรือตัวอย่างวงศัพท์เกี่ยวกับเครื่องมือเครื่องใช้เพื่อการประกอบอาชีพในด้านการเกษตร ที่สะท้อนวัฒนธรรมทางด้านเครื่องมือเครื่องใช้เพื่อการประกอบอาชีพของชาวผู้ไท โดยเปรียบเทียบกับภาษาไทยมาตรฐาน ดังนี้
ภาษาไทยมาตรฐาน ภาษาผู้ไท
ค้อน ค้อน
เคียว เก้ว
เชือก เซ่อะ
ตะปู ต้ะปู๋
รถไถ รถไถเดินตาม
หมายเหตุ “ภาษาไทยมาตรฐาน” ถือเป็นภาษาไทยถิ่นหนึ่งที่ได้ผ่านกระบวนการจากภาษาถิ่นจนกลายเป็นภาษามาตรฐานของประเทศไทย และถือเป็นภาษาราชการของประเทศ
ทั้งนี้ ในด้านระบบคำในแง่ของวงศัพท์เป็นสิ่งที่น่าสนใจ ซึ่งภาษาสามารถสะท้อนวัฒนธรรม ความเป็นอยู่และวิถีชีวิตในการทำมาหากินของชาวผู้ไทได้เป็นอย่างดี ดังที่ ชลอ รอดลอย (2549 : 4 ) กล่าวว่า ภาษาเป็นตัวถ่ายทอดวัฒนธรรมเอาไว้มิให้สูญหาย วัฒนธรรมบางอย่างมิได้ถูกบันทึกไว้เป็นลายลักษณ์อักษรแต่อาศัยการบอกเล่าต่อกันมา เรียกว่า มุขปาฐะ สิ่งดังกล่าวเป็นเครื่องสะท้อนความเชื่อและวิถีของคนในชาติ เช่น ถ้อยคำ คำศัพท์ สำนวน สุภาษิต คำพังเพย และปริศนาคำทาย ตลอดจนการละเล่นต่าง ๆ ในแต่ละท้องถิ่น การใช้คำศัพท์และสำนวนเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรม ที่เรียกว่า วัฒนธรรมทางภาษา หรือภาษาเป็นสิ่งสะท้อนให้เห็นเอกลักษณ์ของคนในชาติ ดังนั้นคำศัพท์จึงสามารถสะท้อนให้เห็นได้ว่า ชาวผู้ไทเป็นกลุ่มคนทำงานที่มีความขยันขันแข็ง ประกอบอาชีพเกษตรกรรมเป็นอาชีพหลัก ได้แก่ ทำนา ทำไร่ ทำสวน เดิมการทำนาใช้แรงงานจากสัตว์ ได้แก่ ควาย และมีเครื่องมือเครื่องใช้เพื่อการประกอบอาชีพในด้านการเกษตร แต่ในปัจจุบันได้หันมาใช้รถไถมากขึ้น อีกทั้งมีการเลี้ยงสัตว์ไว้เป็นยานพาหนะหรือเป็นอาหาร นอกจากนี้ ลักษณะของวงศัพท์ยังเป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาภาษาตระกูลไทที่เกี่ยวข้องกับคำพื้นฐานตามลักษณะของคำร่วมเชื้อสาย (Cognate words) ซึ่งคำร่วมเชื้อสายเป็นคำในภาษาต่าง ๆ ที่สืบเนื่องมาจาก ต้นตระกูลเดียวกันซึ่งสามารถสืบสร้างหาลักษณะภาษาไทดั้งเดิม (Proto-Tai) ได้
สรุป
ประเทศไทยนั้นมีความหลากหลายด้านภาษา ชาติพันธุ์ รวมไปถึงวัฒนธรรม โดยสามารถแบ่งกลุ่ม ชาติพันธุ์ตามตระกูลภาษาได้ทั้งหมด 5 ตระกูล ได้แก่ ภาษาตระกูลไท ภาษาตระกูลออสโตรเอเชียติก ภาษาตระกูลจีน-ทิเบต ภาษาตระกูลออสโตรเนเชียน หรือ มาลาโยโพลีเนเชียน และภาษาตระกูลม้ง – เมี่ยน หรือ แม้ว-เย้า ซึ่งจากการแบ่งกลุ่มชาติพันธุ์ตามตระกูลภาษานั้น ภาษาไทยและภาษาผู้ไทเป็นภาษาในตระกูลไท (Tai Language Family) โดยการแบ่งภาษาตระกูลไท นักภาษาศาสตร์ได้แบ่งภาษาถิ่นต่าง ๆ โดยอาศัยลักษณะการแบ่งไม่ว่าจะเป็นเชื้อชาติเจ้าของภาษา ลักษณะโครงสร้างของภาษา หรือการปกครองของประเทศ ทั้งนี้ภาษาไทยและภาษาผู้ไทซึ่งอยู่ในภาษาตระกูลเดียวกัน คือ ภาษาตระกูลไท ย่อมต้องมีลักษณะสำคัญอันแสดงถึงความเป็นภาษาตระกูลเดียวกัน ได้แก่ เป็นภาษาคำโดด มีคำศัพท์สามัญหรือศัพท์พื้นฐานที่เหมือนกันหรือคล้ายกันทั้งเสียงและความหมาย เรียกว่า“คำร่วมเชื้อสาย” (Cognate Words) มีระบบเสียงที่สำคัญ 3 ระบบ คือ หน่วยเสียงพยัญชนะ สระ และวรรณยุกต์ มีการเรียงคำขยายไว้หลังคำที่ถูกขยาย และถ้าใช้คำนับกับคำนามที่นับได้ มักจะมีลักษณนามตามด้วย นอกจากนี้ ชาวผู้ไทเป็นกลุ่มชาติพันธุ์กลุ่มหนึ่งที่อาศัย กระจัดกระจายกันอยู่ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย เช่น จังหวัดสกลนคร นครพนม กาฬสินธุ์ มุกดาหาร ซึ่งเป็นอีกชนกลุ่มหนึ่งที่รักษาวัฒนธรรมของตนไว้ได้อย่างดี ดังนั้นการศึกษาวงศัพท์ของชาวผู้ไทสามารถสะท้อนให้เห็นถึงวัฒนธรรมความเป็นอยู่และวิถีชีวิตของกลุ่มชนนั้น อีกทั้งสะท้อนวัฒนธรรมทางด้านภาษาที่มีเอกลักษณ์ ซึ่งในปัจจุบันวงศัพท์ที่เป็นภาษาดั้งเดิมเหล่านั้นเกิดการเปลี่ยนแปลง โดยมีการนำศัพท์อื่นมาใช้ร่วมหรือใช้แทนศัพท์เดิมมากขึ้น ปัจจัยที่สำคัญที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง เช่น วัย การศึกษา อีกทั้งระบบการติดต่อสื่อสารที่สะดวกรวดเร็ว เทคโนโลยีทันสมัย ที่เข้ามาปะปนในชีวิตประจำวัน ซึ่งการที่จะธำรงภาษาผู้ไทให้อยู่ในกลุ่มชนหรือสังคมได้ต่อไปนั้น ต้องเกิดจากความร่วมมือของสมาชิกในสังคมหรือกลุ่มชน นั้น ๆ ที่จะไม่ให้ภาษาของตนสูญหายหรือถูกกลืนไปกับภาษาใหม่ที่เข้ามาหรือการเปลี่ยนแปลงของวัฒนธรรมในปัจจุบัน
เอกสารอ้างอิง
ชลอ รอดลอย. (2549). “ภาษากับวัฒนธรรมไทย”. ใน เอกสารประกอบการบรรยายเรื่องภาษากับ
วัฒนธรรมไทย. (23 เมษายน หน้า 1-18). กรุงเทพมหานคร: มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์.
พิณรัตน์ อัครวัฒนากุล. (2541). การศึกษาเปรียบเทียบระบบวรรณยุกต์ในภาษาของคน”ลาว”
คน “ญ้อ” และคน “ผู้ไท” ในอำเภอธาตุพนม จังหวัดนครพนม. วิทยานิพนธ์อักษรศาสตรมหาบัณฑิต
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
เรืองเดช ปันเขื่อนขัติย์. (2531). ภาษาถิ่นตระกูลไทย. กรุงเทพมหานคร: โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย.
วิไลศักดิ์ กิ่งคำ . (2559). ภาษาตระกูลไท. กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์.
__________. (2560). ภาษาไทยถิ่น. กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์.
สุวัฒนา เลี่ยมประวัติ. (2551). การศึกษาภาษาถิ่น: ภาษาตระกูลไท. นครปฐม: โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยศิลปากร.
สุวิไล เปรมศรีรัตน์. (2549). สถานการณ์ทางภาษาในสังคมไทยกับความหลากหลายทางชาติพันธุ์.
วารสารภาษาและวัฒนธรรม, 25(2), 5-17.