บทนำ
สังคมมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาจากสังคมบุพกาลที่ล่าสมัยสู่สังคมที่ทันสมัยอย่างปัจจุบัน
ที่เรียกว่า “สังคมดิจิทัล” พิจารณาในแง่บวก มนุษย์ซึ่งเป็นทั้งผู้สร้างและผู้อยู่ในสังคมดิจิทัลมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น มีเครื่องอำนวยความสะดวกหลากหลายลักษณะคอยตอบสนองความต้องการและความจำเป็น ในแง่ลบ พฤติกรรมการเอารัดเอาเปรียบ เบียดเบียน สร้างความขัดแย้ง สร้างความเดือดร้อนวุ่นวายให้แก่กันและกันของมนุษย์ยังคงดำรงอยู่ และดูเหมือนความเป็นสังคมดิจิทัลอย่างปัจจุบันได้ขยายช่องทางและโอกาสให้พฤติกรรมดังกล่าวนี้แพร่กระจายออกไปอย่างกว้างขวางไร้พรมแดน ซึ่งเป็นที่มาที่ทำให้มีการเรียกร้องวิธีการที่เหมาะสมสำหรับชีวิตรูปแบบใหม่ที่กำลังดำเนินไปภายใต้บริบทโลกที่เรียกว่า “สังคมดิจิทัล”
สังคมยุคดิจิทัลต้องการจริยธรรมหรือไม่?
อาจจะต้องตั้งคำถามกับคนในสังคมก่อนว่า สังคมยุคดิจิทัลยังต้องการคนดีอยู่หรือไม่? ถ้าตอบว่า ยังต้องการ แล้วคนดีคือคนแบบใด ตอบอย่างง่ายที่สุด คนดีคือคนที่ทำความดีเป็นปกติ เป็นผู้มีพฤติกรรมส่วนใหญ่ดี มาตรฐานสำหรับตัดสินความเป็นคนดี นิยมนำมาจากข้อกำหนดด้าน “จริยธรรม” แม้ว่าสังคมจะมีความต้องการคุณสมบัติประเภทอื่นเพิ่มขึ้นในสังคมยุคดิจิทัล แต่คุณสมบัติพื้นฐานคือความเป็นคนดียังเป็นสิ่งที่คนในสังคมต้องการอยู่นั่นเอง
จริยธรรมคือเรื่องอะไร?
คำว่า“จริยธรรม” เป็นศัพท์บัญญัติแทนคำ Ethics ในภาษาอังกฤษ หมายถึงความประพฤติดี หลักแห่งความประพฤติดี แนวทางหรือกรอบอันดีงามที่พึงประพฤติที่กำหนดไว้ให้คนในสังคมได้เรียนรู้ ฝึกฝน อบรมและปฏิบัติตาม ซึ่งปรากฏอยู่ในธรรมเนียม ประเพณี กฎหมาย วินัย มารยาท ศีลธรรม และอุดมคติ เพื่อให้เกิดความเป็นระเบียบเรียบร้อยงดงาม ความสงบร่มเย็นเป็นสุข ความรักความสามัคคี ความอบอุ่น ความมั่นคงและปลอดภัยในการดำรงชีวิต
พระธรรมปิฎก (ป.อ. ปยุตฺโต, 2545, น.7 – 10) กล่าวว่า ศัพท์เดิมในบาลี – สันสกฤตไม่มีจริยธรรมเต็มๆ แต่มี“จริยะ”หรือมีคำที่สลับลำดับกันเป็น“ธรรมจริยา”เป็นต้น “จริยะ” คือ การดำเนินชีวิต หมายถึงเรื่องของชีวิตที่เป็นอยู่ทั้งหมด เรื่องพฤติกรรมทางกาย วาจา การสื่อสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมด้วยอินทรีย์ต่าง ๆ เรื่องจิตใจ เจตจำนง ความตั้งใจ แรงจูงใจ ภาวะจิตใจและปัญญา ความรู้ ความเข้าใจ ทั้งหมดนี้เป็นส่วนประกอบของการดำเนินชีวิตที่ไม่สามารถแยกจากกันได้คือเป็นการทำงานร่วมกันและเป็นปัจจัยแก่กัน รวมทั้งหมดเรียกว่า “จริยะ” ดังนั้น จริยธรรมคือหลักการดำเนินชีวิตที่ดี การที่จะดำเนินชีวิตที่ดีได้ต้องมีการฝึกฝนอบรมและพัฒนาชีวิตด้วยหลักของไตรสิกขาคือ ศีล สมาธิ ปัญญา เพื่อให้พฤติกรรมและเจตจำนงในการสื่อสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมเป็นไปในลักษณะที่สนับสนุนให้เกิดการดำเนินชีวิตที่ดี
จริยธรรมเป็นคำที่มักใช้คู่กับคำว่า “คุณธรรม” บางทีก็เรียกรวมกันว่า “คุณธรรมจริยธรรม” “คุณธรรม” มุ่งไปที่สภาวะภายในใจ ส่วน “จริยธรรม” มุ่งไปที่สภาวะภายนอกโดยเฉพาะพฤติกรรมที่แสดงออกทางกายและวาจา ซึ่งมีทั้งข้อห้ามและข้อควรประพฤติปฏิบัติ
พุทธจริยธรรมในสังคมยุคดิจิทัลควรเป็นอย่างไร?
หากจะมีคำถามว่า หลักพุทธจริยธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนไว้ผ่านมาแล้วกว่า 2500 ปีจะยังสามารถใช้กับสังคมยุคดิจิทัลได้หรือ? หากพิจารณาจากบทพระธรรมคุณที่ว่า อกาลิโก แปลว่า ไม่ประกอบด้วยกาลเวลา นั่นหมายความว่าธรรมะที่ทรงแสดงไว้แล้วสามารถนำมาเป็นหลักดำเนินชีวิตในสังคมปัจจุบันได้ หลักพุทธจริยธรรมที่ควรยึดถือปฏิบัติคือ“โลกปาลธรรม” แปลว่า ธรรมคุ้มครองโลก หมายถึง หลักธรรมที่มนุษย์ควรมีประจำใจเพื่อความสงบร่มเย็นของสังคมมี 2 ประการ ได้แก่
1. หิริ แปลว่า ความละอายใจ หมายถึง ละอายใจที่จะทำบาป ทำความชั่วทุจริตทางกาย ทางวาจา และทางใจ เห็นบาปเห็นความชั่วเป็นดุจของสกปรกเน่าเหม็น เป็นสิ่งที่ตนไม่ควรจับต้อง อาการแห่งความละอายหรือความอายที่ปรากฎออกมาภายนอกพอรับรู้ได้ เช่น อาการหน้าแดง (ไม่ใช่เกิดจากความโกรธ) ขวยเขิน ปิ่น มุทุกันต์ (2539, หน้า 166-170) อธิบายเปรียบเทียบลักษณะของความละอายไว้ว่า มีบุคคลหนึ่งเป็นคนที่มีหน้ามีตาในสังคม เขากำลังเดินผ่านหน้าคนเป็นจำนวนมาก แต่บังเอิญเท้าไปเหยียบเปลือกกล้วยที่มีคนทิ้งไว้ ลื่นเสียหลักต่อหน้าคนหมู่มาก ความรู้สึกที่เกิดขึ้นในใจขณะนั้นคือความรู้สึกอาย ทำไมต้องอาย? ที่อายก็เพราะเรานึกถึงตนเอง เช่น เราโตแล้ว เราเป็นคนมียศศักดิ์ ใคร ๆ ก็นับถือเรา คนอย่างเราไม่น่าเป็นอย่างนี้ ลักษณะอาการดังกล่าวนี้เรียกว่า “ความละอาย” เมื่อเติมคำว่า “ใจ” เข้ามาก็จะมีความหมายถึงอาการที่รู้สึกกระดากใจในเมื่อนึกถึงหรือจะกระทำสิ่งที่รู้สึกว่าเป็นสิ่งที่ไม่เหมาะไม่ควร ไม่ดี หรือเป็นการกระทำที่ชั่ว
อย่างไรชื่อว่ามี “หิริ” ในสังคมยุคดิจิทัล
คุณธรรมคือหิริ เป็นความรู้สึกที่เกิดขึ้นภายในจิตใจของบุคคลนั้น ๆ ถ้ามีความรู้สึกละอายที่รุนแรงเข้มข้นมากพอก็จะสามารถยับยั้งไม่ให้แสดงพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ได้ ความละอายที่ควรฝึกให้เกิดขึ้นประกอบด้วย
1.1 ละอายต่อการนำข้อมูลส่วนบุคคล กลุ่มบุคคล และองค์กร ไม่ว่าจะเป็นภาพ เสียง ข้อความ หรืออื่น ๆ ไปเผยแพร่โดยไม่ได้รับคำยินยอม เพราะไม่ใช่พฤติกรรมของสุภาพชนประพฤติปฏิบัติกัน
1.2 ละอายต่อการบิดเบียนข้อมูลความจริงหรือสร้างข้อมูลอันเป็นเท็จเผยแพร่ในโลกดิจิทัล เพราะเป็นพฤติกรรมของจอมลวงโลก
1.3 ละอายต่อการนำผลงานของผู้อื่นมาเป็นผลงานของตน เพราะต้องการผลประโยชน์หรือสิ่งตอบแทนอย่างใดอย่างหนึ่ง เป็นการแสดงให้เห็นถึงความเป็นผู้ไม่มีศักยภาพและความสามารถ ซึ่งเป็นพฤติกรรมที่ดูถูกดูแคลนตนเอง
1.4 ละอายต่อการลักขโมยหรือเข้าไปใช้ข้อมูลความลับของบุคคล กลุ่มบุคคล หรือองค์กร ซึ่งผู้ที่ทำเช่นนี้เป็นผู้ที่ไร้มารยาท ไม่รู้จักเคารพในความเป็นส่วนตัวของผู้อื่น
1.5 ละอายต่อการนำข้อมูลที่ก่อให้เกิดความเสื่อมถอยแห่งศีลธรรมที่ดีงามในสังคมไปเผยแพร่ในโลกดิจิทัล เพราะจะกลายเป็นผู้แพร่เชื้อร้ายทำลายสังคมมนุษย์ทั้งระยะสั้นและระยะยาว
1.6 ละอายต่อการหลอกลวง ข่มขู่ โฆษณาชวนเชื่อ แฮกข้อมูล ปล่อยไวรัสทำลายระบบไซเบอร์ เพราะเป็นพฤติกรรมของโจร ไม่ใช่พฤติกรรมของสุจริตชน
คิดอย่างไรส่งเสริมให้เกิดหิริ
การเสริมสร้างหิริให้เกิดขึ้นในบุคคล พระอรรถกถาจารย์ได้ให้คำแนะนำไว้ในอรรถกถาพระไตรปิฎกว่า (อรรถกถาธรรมสูตร, ออนไลน์) ถ้าบุคคลต้องการให้เกิดหิริในตนพึงปฏิบัติดังนี้คือ ให้หมั่นคิดถึงชาติตระกูลและกำเนิดของตนเสมอว่า ตัวเราเกิดในตระกูลที่ญาติ พ่อแม่ ปู่ยา ตายาย ลุงป้า น้าอาที่ประกอบอาชีพสุจริต จึงไม่ควรเลี้ยงชีพในทางที่ผิด ให้เกิดความเสื่อมเสียชื่อเสียงแก่วงศ์ตระกูล และเราเกิดมาเป็นมนุษย์จึงไม่ควรมีพฤติกรรมเยี่ยงสัตว์เดรัจฉานอย่างหนึ่ง คนวัยเช่นเราได้รับการสั่งสอนอบรมได้เรียนรู้ว่าอะไรดีอะไรชั่ว และมีประสบการณ์ในชีวิตมาแล้ว ถ้าเรายังทำบาปทำความชั่วย่อมไม่เหมาะสมกับวัยของเราอย่างหนึ่ง ตัวเราต้องตั้งใจมั่นอยู่ในคุณความดีอย่างกล้าหาญ เพราะเรามีกำลังกายกำลังความคิดเหมือนกับคน อื่น ๆ ผู้อื่นเขาดำเนินชีวิตโดยสุจริตได้ เราก็ต้องทำได้ เราจะไม่เบียดเบียนตนเองและผู้อื่นให้เดือดร้อน จะไม่ทำตัวเหมือนผู้ที่มีจิตใจอ่อนแอที่ตกอยู่ใต้อำนาจของอารมณ์ความรู้สึกฝ่ายต่ำคือความชั่ว ถูกความชั่วชักนำจนทำให้ชีวิตได้รับความเดือดร้อนอย่างหนึ่ง เรามีการศึกษา มีวิชาความรู้ ย่อมเป็นคนที่มีโอกาสมากกว่าคนที่ไม่มีการศึกษา บางคนที่ไม่มีการศึกษายังประกอบอาชีพสุจริตเลี้ยงตัวเลี้ยงครอบครัวได้ เราผู้มีการศึกษาจึงไม่ควรทำชั่วทำบาปเพราะคนชั่วเท่านั้นที่ทำชั่วอย่างหนึ่ง สรุปว่า เหตุให้เกิดหิริมี 4 อย่าง คือ นึกถึงชาติกำเนิด นึกถึงวัย นึกถึงกำลัง และนึกถึงความเป็นผู้คงแก่เรียน
1.2 โอตตัปปะ แปลว่า ความเกรงกลัว หมายถึงความสะดุ้งกลัวต่อผลของความชั่ว ความทุจริตที่ได้ทำไว้ เป็นอาการของจิตที่เกิดความรู้สึกกลัวเมื่อจะทำความชั่วด้วยเกรงว่าจะก่อให้เกิดความเดือดร้อน สูญเสียทรัพย์สินเงินทอง เสียอิสรภาพ ถูกคนอื่นตำหนิติเตียน หรือถูกสังคมรังเกียจ เป็นต้น จากการทำชั่วหรือการประพฤติทุจริตของตน
อย่างไรชื่อว่ามี “โอตัปปะ” ในสังคมยุคดิจิทัล
พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 ได้กำหนดบทลงโทษผู้กระทำผิด ดังนี้ (ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 124/ตอนที่ 27ก, หน้า4)
มาตรา 5 ได้กำหนดโทษผู้ที่เข้าถึงโดยมิชอบซึ่งระบบคอมพิวเตอร์ที่มีมาตรการป้องกันการเข้าถึงโดยเฉพาะ…ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา 6 ได้กำหนดโทษผู้ที่ล่วงรู้มาตรการป้องกันการเข้าถึงระบบคอมพิวเตอร์…แล้วนำมาตรการดังกล่าวไปเปิดเผยโดยมิชอบในประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิดหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา 7 ได้กำหนดโทษผู้ที่เข้าถึงโดยไม่ชอบซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่มีมาตรการการป้องกันการเข้าถึง…ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา 9 ได้กำหนดโทษผู้ทำให้เสียหาย ทำลาย แก้ไข เปลี่ยนแปลง หรือเพิ่มเติมไม่ว่าทั้งหมด หรือบางส่วนซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ของผู้อื่นโดยมิชอบ ต้องระวางจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา 11 …(วรรคสอง) ได้กำหนดโทษผู้ที่ส่งข้อมูลคอมพิวเตอร์หรือจดหมายอิเล็กทรอนิกส์แก่บุคคลอื่นอันมีลักษณะเป็นการก่อให้เกิดความเดือดร้อนรำคาญแก่ผู้รับข้อมูลมูลคอมพิวเตอร์หรือจดหมายอิเล็กทรอนิกส์โดยไม่เปิดโอกาสให้ผู้รับสามารถบอกเลิกหรือแจ้งความประสงค์เพื่อปฏิเสธการตอบรับได้โดยง่าย ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองแสนบาท
ส่วนในพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ฉบับที่ 2 พ.ศ. 2560 (ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 134/ตอนที่ 10ก, หน้า25) ได้มีการปรับปรุงข้อความและบทลงโทษบางมาตราให้สูงขึ้น เช่น
มาตรา 5 ที่นำมาใช้แทนมาตรา 12 แห่งพระราชบัญญัติฯ คอมพิวเตอร์พ.ศ. 2550 …(วรรคสี่)กำหนดบทลงโทษผู้กระทำความผิด…โดยมิได้มีเจตนาฆ่า แต่เป็นเหตุให้บุคคลอื่นถึงแก่ความตาย ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงยี่สิบปี และปรับตั้งแต่หนึ่งแสนบาทถึงสี่แสนบาท
มาตรา 6 ให้เพิ่มเติมข้อความในมาตรา 12/1 แห่งพระราชบัญญัติฯ คอมพิวเตอร์พ.ศ. 2550 ว่า ถ้าการกระทำความผิดตามมาตรา 9 หรือมาตรา 10 เป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่บุคคลอื่นหรือทรัพย์สินของผู้อื่น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสิบปี และปรับไม่เกินสองแสนบาท
นอกจากนี้ยังมีกฎหมายที่เกี่ยวข้องอีกหลายฉบับที่ได้กำหนดบทลงโทษไว้สำหรับผู้ที่ฝ่าฝืน หนักบ้างเบาบ้าง การเผยแพร่บทลงโทษตามกฎหมายเหล่านี้ให้ประชาชนได้รับรู้อย่างทั่วถึงย่อมเป็นการปรามให้ผู้ที่คิดจะทำเกิดความกลัว แต่หากมีคนไม่เกรงกลัว กล้าทำผิดกฎหมาย ต้องนำตัวมาลงโทษตามสมควรแก่โทษานุโทษอย่างรวดเร็ว เด็ดขาด และตรงไปตรงมาก็จะทำให้คุณธรรมคือโอตตัปปะงอกเงยขึ้นในสังคม จะได้ช่วยยับยั้งให้ผู้ที่คิดจะทำความชั่วได้ฉุกคิดก่อนที่จะลงมือกระทำ
คิดอย่างไรส่งเสริมให้เกิดโอตตัปปะ
พระอรรถกถาจารย์กล่าวไว้ว่า ความสะดุ้งกลัวต่อผลของความชั่วจะเกิดขึ้นแก่ตนใน 4 ลักษณะ ได้แก่ เกรงกลัวว่า ตนจะเกิดความทุกข์ใจ เกิดความกระวนกระวายใจ เกิดความเดือดเนื้อร้อนใจหลังจากที่ได้ทำสิ่งที่ชั่วหรือเป็นบาปลงไปแล้วอย่างหนึ่ง เกรงกลัวว่าจะได้รับคำครหานินทา คำก่นด่า คำสาปแซ่ง คำที่เอ่ยถึงด้วยความโกรธแค้นชิงชังจากคนในสังคมอันเนื่องมาจากการกระทำชั่วทำบาปของตนอย่างหนึ่ง เกรงกลัวว่าจะถูกลงโทษจากสังคม จากกฎหมายบ้านเมืองอย่างหนึ่ง เกรงกลัวว่าเมื่อเวลาใกล้ตาย ภาพแห่งการกระทำชั่วเหล่านั้นจะปรากฏขึ้นภายในใจ ซึ่งจะทำให้ตายอย่างทุกข์ทรมานอันจะเป็นเหตุให้ไปสู่ทุคติภูมิอย่างหนึ่ง สรุปว่า เหตุที่ทำให้เกิดโอตตัปปะมี 4 อย่างคือ กลัวตนเองเดือดร้อนใจ กลัวคนอื่นติเตียน กลัวถูกลงอาชญา กลัวทุคติภัย (อรรถกถาธรรมสูตร, ออนไลน์)
ทำอย่างไร หิริและโอตตัปปะจึงจะดำรงอยู่ได้นาน?
การที่จะทำให้หิริและโอตตัปปะมีอยู่ในตนได้ตลอดเวลาเป็นเรื่องที่ทำได้ยากในคนทั่วไป เพราะการที่จะมีคุณธรรมทั้งสองอย่างได้นั้นมีความเกี่ยวข้องกับสติและสัมปชัญญะ สติคือความระลึกได้ หมายถึงระลึกได้ในสิ่งที่เคยทำ เคยพูด เคยคิด เคยตั้งใจ เคยรับรู้อย่างหนึ่ง มีความไม่พลั้งเผลอถลำไปในสิ่งที่ชั่ว การไม่ยอมให้ความคิดชั่วหรือที่เป็นอกุศลเกิดขึ้นในจิต ผู้มีสติชื่อว่าเป็นผู้หิริในตน เพราะสติจะกระตุ้นเตือนให้ระลึกได้ว่า การกระทำใดบ้างที่เมื่อทำลงไปแล้วจะทำให้ตนได้รับความละอาย ทำสิ่งใดลงไปแล้วจะได้รับคำติฉินนินทา คำติเตียน คำก้นด่า คำสาปแช่งตลอดถึงการถูกลงโทษตามกฎหมาย ส่วนสัมปชัญญะ คือความรู้ตัวในขณะที่ทำ พูด คิด ตั้งใจ เป็นการรับรู้ในช่วงเวลาจำเพาะหน้าที่กำลังดำเนินไปอยู่ รู้ว่าตนกำลังทำ พูด คิดสิ่งนั้นสิ่งนี้ สิ่งนี้เป็นสิ่งดีหรือชั่ว เป็นสิ่งที่จะก่อให้เกิดคุณหรือโทษ เหมาะสมหรือไม่เหมาะสม เป็นต้น ดังนั้น หิริและโอตตัปปะย่อมเกิดขึ้นและดำรงอยู่ได้ยาวนานตราบเท่าที่สติและสัมปชัญญะดำเนินไปอยู่
หิริและโอตตัปปะเป็นคุณธรรมจริยธรรมที่คู่กัน
ในตัวบุคคลแต่ละคนต้องประพฤติหิริและโอตตัปปะทั้งสองข้อ หากประพฤติข้อใดข้อหนึ่งย่อมไม่สามารถที่จะนำตนให้พ้นออกจากการประพฤติชั่วได้ หิริเน้นที่ให้รู้จักละอาย ไม่ประพฤติสิ่งที่จะทำให้ตนได้รับความอับอาย ส่วนโอตตัปปะเน้นที่ให้รู้จักเกรงกลัว ไม่ประพฤติสิ่งที่ผิดกฎหมายและสิ่งที่จะทำให้ตนได้รับการลงโทษ ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะนิสัยของมนุษย์แตกต่างกันกล่าวคือ คนบางพวกเป็นคนขี้อาย แต่ไม่ได้มีความกลัว ยกตัวอย่างเช่น บางคนถูกคนอื่นหยามหน้าให้ได้รับความอับอาย จึงไปทำร้ายหรือฆ่าคนอื่นถึงแก่ความตาย เขาก่ออาชญากรรมทั้งที่รับรู้อยู่ว่าทำเช่นนั้นแล้วตนต้องได้รับความเดือดร้อน ต้องติดคุกติดตะรางหรืออาจโดนประหารชีวิต ก็ไม่ได้มีความกลัว อีกพวกหนึ่งเป็นคนขี้กลัว แต่ไม่มีความละอาย ยกตัวอย่างเช่น พวกที่ติดหนี้ เจ้าหนี้ตามทวงแล้วทวงอีกก็ยังไม่รู้สึกละอายใจ ในที่สุดเจ้าหนี้ต้องแจ้งเจ้าหน้าที่ ครั้นมีหมายเรียกไปถึงตัว กลัวถูกดำเนินคดีตามกฎหมายต้องรีบนำเงินไปชำระคืนเจ้าหนี้ ฉะนั้น คุณธรรมทั้ง 2 ประการต้องอบรมฝึกฝนให้เกิดขึ้นทั้งคู่ จึงจะสามารถช่วยยับยั้งพฤติกรรมชั่วหรือเลวในตัวบุคคลได้ ดังที่พระอรรถกถาจารย์กล่าวว่า (อรรถกถาธรรมสูตร, ออนไลน์) หิริโอตตัปปะนั้นไม่พรากจากกันและกันเลย เพราะความละอายไม่มี ความกลัวย่อมมีไม่ได้ หรือความกลัวต่อบาปไม่มี ความละอายย่อมมีไม่ได้
สรุป สังคมยุคดิจิทัลเป็นยุคที่เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทต่อวิถีชีวิตมนุษย์เป็นอันมาก เทคโนโลยีจะเป็นคุณหรือโทษย่อมขึ้นอยู่กับมนุษย์ผู้ใช้ มนุษย์บางคนใช้เทคโนโลยีเพื่อสร้างสรรค์สิ่งดี ๆ ให้กับสังคม แต่บางคนกลับใช้ในทางตรงกันข้าม เพื่อให้มนุษย์ใช้เทคโนโลยีในด้านดีจึงควรยึดถือปฏิบัติหลักพุทธจริยธรรม 2 ประการไว้ในใจ คือ หิริ ความรู้สึกละอายใจต่อการทำบาปทำความชั่ว และโอตตัปปะ คือ ความเกรงกลัวต่อผลที่เกิดจากการทำบาปทำความชั่วก็จะเป็นเหตุให้ใช้เทคโนโลยีไปในทางที่เป็นประโยชน์ต่อเพื่อนมนุษย์ซึ่งจะทำให้สังคมดิจิทัลเป็นสังคมที่น่าอยู่อาศัยอย่างแท้จริง
เอกสารอ้างอิง
ชยาภรณ์ สุขประเสริฐ. (2562). พระพุทธศาสนากับสังคมสงเคราะห์. กรุงเทพฯ : พิมพ์สวย.
ปิ่น มุทุกันต์. (2539). แนวสอนธรรมะ ตามหลักสูตรนักธรรมชั้นตรี. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ :
มหามกุฏราชวิทยาลัย.
พระธรรมปิฎก (ป.อ. ปยุตฺโต). พัฒนาการแบบองค์รวมของเด็กไทยฯ. พิมพ์ครั้งที่ 3. กรุงเทพฯ :
สหธรรมิก.
สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา. (2550). ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 124 : พระราชบัญญัติว่า
ด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550. ค้นเมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2567.
จาก https://www.mdes.go.th/law/detail/3516.
สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา. (2560). ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 134 : พระราชบัญญิต ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2560. ค้นเมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2567. จาก
https://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2560/A/010/24.PDF.
อรรถกถาธรรมสูตร. (ม.ป.ป.). ธรรมสูตรที่ 5. ค้นเมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2567. จาก
https://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=25&i=220&p=1&h