พิธีวันพระมหาทรมาน : การรำลึกถึงความทรมานพระวรกายของพระเยซู ของชุมชนกุฎีจีน (สันติภาพ สีเผือก และ ปัทมา วัฒนพานิช)

พิธีวันพระมหาทรมาน คือพิธีกรรมการรำลึกถึงวันสิ้นพระชนม์ของพระเยซู เป็นพิธีกรรมทางศาสนาคริสต์ นิกายคาทอลิก ที่มีจัดขึ้นในวัดซางตาครู้ส ชุมชนกุฎีจีน แขวงวัดกัลยาณ์ เขตธนบุรี กรุงเทพมหานคร โดยพิธีกรรมนี้เป็นส่วนหนึ่งของเทศกาลมหาพรต (The Lent) เชื่อมไปสู่ เทศกาลปัสกา (Eastertime) สะท้อนความเชื่อและความศรัทธาของศาสนิกชนชาวคริสต์ชุมชนกุฎีจีน และแสดงให้เห็นถึงการมีส่วนร่วมของคนในชุมชนจากการสืบทอดพิธีวันพระมหาทรมานจากการเข้าร่วมพิธีกรรมและการแสดงละครพระมหาทรมาน (ปิ่นทอง วงษ์สกุล, 2566) ซึ่งการทบทวนวรรณกรรมที่เกี่ยวข้องกับพิธีวันพระมหาทรมาน ของชุมชนกุฎีจีน รวมถึงการสัมภาษณ์ข้อมูลจากผู้นำศาสนา และประธานชุมชน สามารถจำแนกประเด็นได้ดังนี้

1) ความเป็นมาของพิธีวันพระมหาทรมาน

การศึกษาพิธีวันพระมหาทรมาน พบว่า เกิดขึ้นในวันศุกร์ศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของสัปหาห์ศักดิ์สิทธิ์ชาวคริสต์ถือว่าสัปดาห์ศักดิ์สิทธิ์ (Holy Week) เป็นช่วงเวลาที่สำคัญที่สุดสำหรับการระลึกถึงเหตุการณ์ในสัปกาห์สุดท้ายในชีวิตของพระเยซูเจ้า (กรมการศาสนา, 2553) ซึ่งอธิบายได้ดังต่อไปนี้

1.1) อาทิตย์แห่ใบลาน (Palm Sunday) คือ วันแห่งการระลึกถึงพระทรมานการสิ้นพระชนม์และการกลับคืนชีพของพระเยซูเจ้าเริ่มจากวันอาทิตย์นี้ มีการแห่ใบลาน ระลึกถึงพระเยซูเสด็จสู่กรุงเยรูซาเล็มครั้งสุดท้ายในชีวิตของพระองค์ (ดู ลูกา 22,14–23,56) เป็นการนำชีวิตช่วงสุดท้ายของพระเยซูเจ้าที่เกิดขึ้นจริง มาทำการไตร่ตรองและประยุกต์กับชีวิต เรื่มด้วยขบวนแผ่ต้อนรับพระเยซูเจ้าด้วยใบปาล์ม ในช่วงฟังพระวรสารเกี่ยวกับพระมหาทรมาน จะมีผู้อ่านหลายคน เพราะเราจะฟังพระคัมภีร์ยาวกว่าวันอาทิตย์อื่น (หากใครไม่สามารถร่วมพิธีในวันศุกร์ศักดิ์สิทธิ์ ก็จะได้รับฟังพระวรสารตอนนี้หนึ่งครั้งในรอบปีในวันนี้) โดยวันอาทิตย์แห่ใบลานนี้ กำหนดจัดขึ้นให้ตรงกับวันอาทิตย์ที่ 28 มีนาคม ในระยะ 1 สัปดาห์ก่อนวันปัสกา

1.2) วันพฤหัสบดีศักดิ์สิทธิ์ คือ วันระลึกถึงพระเยซูเจ้าทรงตั้งศีลมหาสนิท และระลึกถึงการรับประทานอาหารมื้อค่ำครั้งสุดท้ายของพระเยซูเจ้า ซ฿งพระองค์ได้ทรงบันดาลให้ปังและเหล้าองุ่น (อาหารเครื่องดื่มหลักในสมัยนั้น) กลายเป็นพระกายและพระโลหิตของพระองค์ ซึ่งเป็นอนุสรณ์ของการบูชาชีวิต (พระกายและพระโลหิต)เป็นการไถ่กู้มวลมนุษย์ ตอนเช้าบรรดาพระสงฆ์ในแต่ละสังฆมณฑลจะไปร่วมพิธีมิสซา รื้อฟื้นคำสัญญาแห่งการเป็นพระสงฆ์ และพิธีเสกน้ำมันศักดิ์สิทธิ์ โดยพระสังฆราชเป็นประธาน ณ อาสนวิหาร ตอนเย็นมีมิสซาระลึกถึงการเลี้ยงของพระคริสตเจ้า (Last Supper) บางวัดอาจมีพิธีล้างเท้าอัครสาวก (ดู ยอห์น 13:1–16) ซึ่งพระเยซูเจ้าสอนเราให้รู้จักรับใช้ช่วยเหลือกันและกันหลังพิธีมิสซาจะมีการตั้งศีลมหาสนิท ระลึกถึงเหตุการณ์ที่พระเยซูเจ้าทรงภาวนาในสวนเกธเสมนี และทรงถูกจับกุม (ขอเชิญให้ครูคำสอนและสามเณรใหญ่ พาบรรดาเด็กนักเรียนและเด็กช่วยมิสซา มาร่วมพิธีเสกน้ำมันที่อาสนวิหารเพื่อให้พวกเขาเข้าใจกระแสเรียกมากขึ้น) กำหนดจัดตรงกับวันที่ 1 เมษายน

1.3) วันศุกร์ศักดิ์สิทธิ์ (Good Friday — 6 เมษายน 2012) คือวันระลึกถึงพระมหาทรมานและการสิ้นพระชนม์ มีพิธีนมัสการกางเขน วันนี้เป็นวันอดเนื้อและอดอาหาร “คริสตชนทุกคนที่มีอายุตั้งแต่ 14 ปีบริบูรณ์ขึ้นไปต้องอดเนื้อ คริสตชนที่มีอายุตั้งแต่ 18 ปีบริบูรณ์ขึ้นไปต้องอดอาหาร หมายถึงการรับประทานอิ่มเพียงมื้อเดียว” ในการนมัสการกางเขน สนณกระทรวงจารีตพิธีกรรมได้ออกคำแนะนำเรื่องเทศกาลมหาพรตและการเตรียมสมโภชปัสกา เมื่อวันที่ 16 มกราคม ค.ศ.1988 (คุณพ่อทัศไนย คมกฤส ได้แปลโดยย่อ เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ ค.ศ.2004) ข้อ 68–69 ได้กล่าวว่า ต้องใช้ไม้กางเขนที่มีขนาดโตและสวยงามพอควร ให้ใช้ไม้กางเขนเพียงอันเดียว เพื่อให้เป็นสัญลักษณ์ที่สมบูรณ์ในพิธีการให้สัตบุรุษนมัสการไม้กางเขนเป็นเจตนาเฉพาะของพิธี
ในวันนี้ กำหนดจัดตรงกับวันที่ 2 เมษายน

1.4) วันเสาร์ศักดิ์สิทธิ์ (Easter Vigil) คือวันระลึกถึงชัยชนะที่ทำให้มนุษย์มีความหวังที่จะชนะอำนาจบาป ความมืด และความชั่วทั้งหลาย คาทอลิกเชื่อว่า พระเยซูเจ้ามิได้เป็นผู้แพ้ แต่ทรงพักผ่อนอยู่ในคูหารอเวลาที่กลับคืนชีพ พระองค์เป็นผู้ชนะ ทำให้มนุษย์มีความหวังที่จะชนะอำนาจบาป ความมืด และความชั่วทั้งหลาย ซึ่งในพิธีกรรมช่วงเย็นมีพิธีตื่นเฝ้าปัสกาฉลองพระเยซูคริสตเจ้าเป็นองค์ความสว่างของเรา ประกอบด้วย พิธีแสงสว่างเสกไฟและเทียนปัสกา ฟังพระคัมภีร์ (เจ็ดบทจากพันธสัญญาเดิมและสองบทจากพันธสัญญาใหม่ ในกรณีเร่งด่วน อ่านจากพันธสัญญาเดิมอย่างน้อยสามบท) กำหนดจัดตรงกับวันที่ 3 เมษายน

พิธีศีลล้างบาปเป็นพิเศษแก่ผู้ใหญ่ที่เรียนคริสตศาสนธรรมอย่างน้อยหนึ่งปี คืนวันนี้จึงได้รับศีลล้างบาป ศีลกำลัง และศีลมหาสนิท ส่วนคริสตชนทุกคน จะมีพิธีรื้อฟื้นคำสัญญาแห่งศีลล้างบาป และภาคที่สี่ของพิธีคืนวันเสาร์ศักดิ์สิทธิ์คือ ภาคบูชาขอบพระคุณ ถวายมิสซาต่อไปตามปกติ

1.5) วันอาทิตย์ปัสกา (Easter Sunday of the Lord’s Resurrection) คือวันสมโภชพระเยซูเจ้าทรงกลับคืนพระชนมชีพ (วันปัสกา) พระเยซูคริสตเจ้าเป็นผู้ชนะอย่างแท้จริง อัลเลลูยา และมนุษย์ทุกคนก็มีส่วนในชัยชนะกับพระองค์ เหนือการทรมานและความตาย อีกทั้งมั่นใจว่าชีวิตนิรันดรกับพระคริสตเจ้า คือคำตอบของชีวิต วันอาทิตย์ปัสกาถือเป็นวันสมโภชสำคัญ เริ่มพิธีมิสซา มีการพรมน้ำเสกแก่ผู้มาร่วมพิธี ให้ระลึกถึงศีลล้างบาป มีการจุดเทียนปัสกา ใกล้ที่อ่านพระคัมภีร์หรือใกล้พระแท่นทุกอาทิตย์ตลอดเทศกาลปัสกา จนถึงวันสมโภชพระจิตเจ้า ควรจุดเทียนปัสกาทุกมิสซา และเวลาภาวนาทำวัตร กำหนดจัดตรงกับวันที่ 4 เมษายน

อัฐมวารปัสกา (Easter Octave) คือช่วง 8 วัน (วันที่ 8–15 เมษายน 2012) ในพิธีมิสซามีการภาวนาบทพระสิริรุ่งโรจน์ในเทศกาลปัสกา (7 สัปดาห์) เราภาวนาราชินีแห่งสวรรค์ แทนบทเทวทูตถือสาร

1.6) การฉลองปัสกา เป็นการแสดงว่าพระเยซูเจ้าผู้ทรงผ่านพระมหาทรมาน การสิ้นพระชนม์ และ การกลับคืนพระชนมชีพ ทรงมีชัยเหนือบาป ปีศาจและความตาย ช่วยให้ชีวิตมนุษย์มีความหวัง และมีความหมายยิ่งขึ้น

1.7) วันฉลองพระเมตตา วันอาทิตย์แรกหลังปัสกา

2) เทศกาลสำคัญและพิธีกรรมที่เกี่ยวข้องกับพิธีพระมหาทรมาน

หากพิจารณาจากปฏิทินศาสนาคริสต์ พบว่า พิธีวันพระมหาทรมานซึ่งตรงกับวันศุกร์ศักดิ์สิทธิ์ของสัปดาห์ศักดิ์สิทธิ์นั้นอยู่ในเทศกาลสำคัญคือ เทศกาลมหาพรต เทศกาลปัสกา พิธีมิสซา และอีสเตอร์ ซึ่งอธิบายได้ดังนี้ (ณรงค์วรรษ บุญมา, 2561)

2.1) เทศกาลมหาพรต (The Lent) เริ่มจากวันพุธรับเถ้า (AshWednesday) มหาพรต คือ ช่วงเวลา 40 วัน แห่งการเตรียมตัวเพื่อเข้าสู่ปัสกา เลข 40 เตือนให้เราระลึกถึงฝนที่ตกตลอด 40 วัน 40 คืน ในสมัยโนอาห์ เพื่อชำระล้างความชั่วร้ายของแผ่นดินให้สะอาดหมดจด 40 ปี แห่งการเดินทางของชาวฮีบรู ในทะเลทราย เพื่อจะเข้าสู่ดินแดนแห่งพระสัญญา 40 วัน ที่พระเยซูเจ้าทรงอดอาหารและถูกประจญในถิ่นทุรกันดาร มหาพรต คือช่วงเวลาแห่งการภาวนาที่เข้มข้นการอดอาหาร การพลีกรรม และประกอบกิจศรัทธาห้วงเวลาแห่งการให้ความสดชื่นแก่โลกของเรา เพื่อไปสู่บ้านของพระเจ้า

สัปดาห์ศักดิ์สิทธิ์ (Paschal Triduum) เราคริสตชน จะรักษาวันพระเจ้านี้ได้อย่างเหนียวแน่นเราอดอาหารในวันศุกร์ศักดิ์สิทธิ์ และชิดสนิทกับพระด้วยการตื่นเฝ้าในวันเสาร์ศักดิ์สิทธิ์เพราะเราตื่นเฝ้าและรอคอยให้การเสด็จกลับคืนพระชนมชีพในวันอาทิตย์ปัสกาที่กาลังมาถึงเราด้วยความกระหาย และโหยหาพระองค์

การร่วมชิดสนิทและการอวยพร วันศุกร์ศักดิ์สิทธิ์ วันเสาร์ศักดิ์สิทธิ์ และวันอาทิตย์ปัสกานี้รวมเรียกว่า “Paschal Triduum” หมายถึง ๓ วันแห่งการผ่านพ้น Triduum คือหัวใจของปีพิธีกรรม ส่วนวันแห่งความตาย การถูกขังและการกลับคืนพระชนมชีพของพระเยซูคริสตเจ้า ตลอดช่วงวันอันศักดิ์สิทธิ์นี้ เราจะฉลองการเสด็จผ่านความตายของพระเยซูเจ้า (และของเรา) ด้วยการโปรดศีลล้างบาปพิธียืนยันการเป็นคริสตชน และการรับศีลมหาสนิทในช่วงปัสกานี้ (แก่คริสตชนใหม่)

2.2) เทศกาลปัสกา (Eastertime)

เริ่มจากวันอาทิตย์ปัสกาจนถึงวันอาทิตย์สมโภชพระจิตเจ้า เทศกาลปัสกา คือ ช่วงเวลา 50 วัน แห่งการเฉลิมฉลอง ซึ่งอยู่ถัด Triduum นับได้ว่าเป็นเทศกาลที่เก่าแก่และงดงามที่สุดของพระศาสนจักร
วันแห่งความชื่นชมยินดีของโลก ซึ่งตื่นจากการหลับใหล 50 วัน (เปนเตก๊อสเต) คือ สัปดาห์ที่ทวีคูณ 5 x 7 = 49 บวกอีก 1 วันอาทิตย์ปัสกา

ดังนั้น เทศกาลปัสกา จึงมีวันอาทิตย์ 8 ครั้ง (8 วัน) ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ถึงความลึกลับของนิรันดรภาพ แต่ละสัปดาห์เรามีวันพระเจ้า และแต่ละปี เรามีเทศกาลปัสกา 50 วันแห่งการเปล่งเสียง “อัลเลลูยา” สรรเสริญพระเจ้า 50 วัน แห่งการใช้ชีวิตตามบทบัญญัติแห่งความยุติธรรม และสันติสุข ซึ่งเต็มเปี่ยมในตัวเราเมื่อรวมทั้ง 3 ช่วงเข้าด้วยกัน คือ มหาพรต สัปดาห์ศักดิ์สิทธิ์ และปัสกา จึงกลายเป็นการผลิบานที่ศักดิ์สิทธิ์ ของพระศาสนจักร

2.3) พิธีมิสซา

พิธีมิสซา คือ พิธีบูชาขอบพระคุณในความเป็นหนึ่งเดียวกันของคริสตชน โดยมีองค์พระเยซูเจ้าเอง เป็นเครื่องบูชาเพื่อไถ่บาปแทนเรามนุษย์ อาศัยพระกาย และพระโลหิต ที่ยอมสละ และพลีชีวิตเพื่อเรา พิธีมิสซาเป็นพิธีของส่วนรวมในความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันที่คริสตชนจะขอบพระคุณพระเจ้า ที่ได้ทรงประทานพระบุตรของพระองค์ลงมาไถ่บาปแทนเรามนุษย์ทุกคน ในความเป็นจริง คำว่า “มิสซา” หมายถึง “การถูกส่งไป” เพื่อประกาศข่าวดี และเป็นแบบอย่าง รวมทั้งมอบตนเอง และชีวิตให้มีคุณค่าต่อคนอื่น ๆ เช่นเดียวกันกับที่เราได้รับจากพระเจ้าความหมายที่แท้จริงของคำว่า มิสซา จึงไม่ถูกต้องตรงกับที่เป็นอยู่ในเวลานี้ เราจึงควรเรียกพิธีกรรมในปัจจุบันว่า “พิธีบูชาขอบพระคุณ” (Eucharistic Celebration) โดยเน้นที่ความหมายของพิธีกรรมว่าเป็นการขอบพระคุณอย่างแท้จริง คือ พระเยซูเจ้า เป็นทั้งผู้ถวายและเป็นเครื่องบูชาเอง โดยผ่านทางพิธีการหักปังบนพระแท่นเพื่อขอบพระคุณพระบิดาสำหรับการส่งพระบุตรให้มาไถ่กู้มนุษยชาติ จะเห็นได้ว่า คำว่ามิสซา
จึงไม่ตรงกับคำศัพท์ และ ความหมายทางพิธีกรรม เพียงแต่มีความเข้าใจ และถือกันมาจากธรรมเนียมประเพณีเดิมมากกว่าพิธีมิสซา พิธีมิสซา คริสตชนเชื่อว่า องค์พระเยซูเจ้าประทับอยู่อย่างแท้จริงใน 3 วิธีการ คือ 1) จากพระวาจาของพระองค์ ในบทอ่านจากพระคัมภีร์พิธีมิสซา 2) ระหว่างการเสกปัง และเหล้าองุ่นเป็นช่วงเวลาที่สำคัญที่สุดในการที่พระเยซูเจ้าจะสถิตอยู่ในพิธีมิสซาฯ เพราะเป็นการรื้อฟื้นการเลี้ยงอาหารค่ำมื้อสุดท้าย ของพระเยซูเจ้า 3) การรับศีลมหาสนิท ซึ่งเป็น “ปังทรงชีวิต”

เมื่อพิธีมิสซาสิ้นสุดแล้ว พระเยซูเจ้ายังคงประทับอยู่ใน ศีลมหาสนิทธรรมเนียมการเก็บรักษาศีลมหาสนิทไว้หลังมิสซา จึงเกิดขึ้นเพราะความต้องการที่จะใช้เป็นศีลเสบียง สาหรับคน เจ็บป่วยและแจกศีลแก่ผู้ที่ไม่สามารถมาร่วมพิธีมิสซาฯ ได้ จึงเกิด ธรรมเนียม “การเฝ้าศีล” เกิดขึ้นในภายหลังด้วย จะเห็นได้ว่า มิสซา เกี่ยวข้องโดยตรงกับชีวิตคริสตชน ไม่ใช่เฉพาะเพียงแต่พิธีกรรมภายนอกเท่านั้น หรือการบริจาคทาน คริสตชนทุกคนควรมีส่วนร่วมในพิธีกรรมต่าง ๆ ที่ประกอบขึ้นทุกขั้นตอนพิธีมิสซา ทั้งนี้ องค์ประกอบของพิธีมิสซา อธิบายได้ดังนี้

ภาคเริ่มพิธี เริ่มจากเพลงแห่เข้า (ในความเป็นจริงจะไม่มีเพลงก็ได้แต่การที่มี เพลง เพื่อให้สัตบุรุษรวมเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน เพื่อสรรเสริญพระเจ้า และถือเป็นการภาวนาอย่างหนึ่ง เพลงในพิธีกรรมที่ดีควรเป็นเพลงที่สื่อความหมาย ให้เข้าใจในพิธีกรรม และร่วมจิตใจได้) — คำทักทาย — การสารภาพความผิด — บทกีรีเอ — (พัฒนามาจากบทลีตานีอาในยุคแรกเริ่ม) — บทกลอรีอา และจบที่บทภาวนาของประธานซึ่งเป็นช่วงเชื่อมต่อไปสู่ช่วงที่สอง ในภาควจนพิธีกรรมองค์ประกอบของพิธีมิสซา สาระโดยรวมของภาคเริ่มพิธีนี้ มีจุดประสงค์เพื่อเริ่มต้นนำ และเตรียมให้บรรดาสัตบุรุษที่ชุมนุมอยู่ด้วยกันมีความรู้สึกเป็นหนึ่งเดียวกันและเป็นการการโน้มน้าวจิตใจให้พร้อมที่จะฟังพระวาจาของพระเจ้าอย่างถูกต้อง และให้เฉลิมฉลองศีลมหาสนิทอย่างสมควรองค์ประกอบของพิธีมิสซา

ภาควจนพิธีกรรมตั้งแต่เริ่มพิธี ภาควจนพิธีกรรมตั้งแต่เริ่มพิธีไปจนถึงบทภาวนาของประธาน (Collecta) เริ่มจากบทอ่านแรกจากพันธสัญญาเดิม บทอ่านที่สองซึ่งเป็นบทจดหมายหรือหนังสืออื่น ๆ ในพันธสัญญาใหม่ และพระวรสารซึ่งถือเป็นพระวาจาของพระเจ้าที่ตรัสผ่านทางองค์พระบุตร คือ พระเยซูเจ้า การเทศน์ เตือนใจ
ของพระสงฆ์ การประกาศยืนยันความเชื่อ และบทภาวนา ของมวลชน ภาควจนพิธีกรรมนี้ เป็นส่วนหนึ่งของพิธีที่ชาวยิวปฏิบัติกันมาแต่เดิม ก่อนยุคของพระเยซูคริสตเจ้าโดย ในพิธีมิสซา จะจัดให้มี “โต๊ะพระวาจา” หรือ ธรรมาสน์ เพื่อใช้อ่านพระวาจาของพระเป็นเจ้า แยกออกจาก “โต๊ะศีลมหาสนิท” หรือพระแท่น อันเป็นจุดสำคัญที่สุดของพิธีกรรมองค์ประกอบของพิธีมิสซา

การอ่านบทอ่านไม่ใช่หน้าที่ของประธาน แต่เป็นหน้าที่ของศาสนบริกร เช่น สังฆานุกรหรือผู้อ่านพระคัมภีร์ สำหรับการอ่านพระวรสารนั้น เป็นหน้าที่ของสังฆานุกรหรือประธานในพิธี จะต้องแสดงออกถึงการคารวะอย่างยิ่งต่อพระวรสารที่อ่านโดยให้เกียรติอย่างพิเศษกว่าบทอ่าน อื่น ๆ ไม่ว่าในการเลือกผู้อ่านระดับศาสนบริกร หรือพระสงฆ์เอง สัตบุรุษเอง ก็ต้องแสดงความคารวะอย่างพิเศษโดยการยืนฟัง และพนมมือ
อย่างสำรวม

องค์ประกอบของพิธีมิสซา ในระหว่างการอ่านบทอ่านจะมีการร้องเพลงคั่น ในช่วงแรกจะเป็นเพลงสดุดี (Psalms) และส่วนที่สองจะเป็นเพลงสรรเสริญ (Acclamation)หรือเพลง Hymn บทอัลเลลูยาซึ่งจะร้องก่อนการอ่านพระวรสารองค์ประกอบของพิธีมิสซา การเทศนาเตือนใจ (Homily) เป็นส่วนหนึ่งของพิธีกรรมเป็นส่วนที่จำเป็นในการหล่อเลี้ยงชีวิตคริสตชนและจะต้องอธิบายบางแง่ในบทอ่านจากพระคัมภีร์ของมิสซาประจำวันนั้น ๆ

การเทศนาเตือนใจ มีลักษณะพิเศษ แตกต่างกว่าการเทศน์ในรูปอื่น เพราะการเทศน์แบบนี้เป็นการเทศน์เพื่ออธิบาย หรือโน้มน้าวจิตใจผู้ฟัง ให้ปฏิบัติตาม พระวาจาของพระเจ้าที่ตรัสกับเราผ่านทางพระคัมภีร์ มากกว่าจะมุ่งเน้นแบบการสอนศาสนาให้คนกลับใจ (Evangelization) หรือการเทศน์ แบบสอนคาสอน (Catechesis)
เมื่อพระสงฆ์เทศน์เตือนใจแล้วจะเป็นการประกาศยืนยันความเชื่อ (Credo) เพื่อให้ประชากรเห็นพ้องและสนองตอบพระวาจาของ พระเจ้า ที่ได้ฟังในบทอ่านและการเทศน์และให้รื้อฟื้นข้อความเชื่อ ก่อนที่จะเริ่มพิธีศีลมหาสนิท และยังนับว่าเป็นบทสรุป “ประวัติศาสตร์แห่งความรอด” ซึ่งสัตบุรุษประกาศยืนยันความเชื่อของพระศาสนจักรที่มีมาแต่เดิม รวมทั้งแสดงความหวังที่จะมีส่วนร่วมในชีวิตนิรันดรกับพระเจ้าในบั้นปลายด้วย บทภาวนาเพื่อมวลชน มีขึ้นเพื่อแสดงให้เห็นถึงหน้าที่ของคริสตชนที่จะต้องภาวนาเพื่อมนุษยโลกในสังคมในเรื่องต่าง ๆ ที่ พระศาสนจักรได้กำหนดไว้

ภาคศีลมหาสนิท เริ่มจากการเตรียมเครื่องบูชาโดยต้องเตรียมพระแท่น ซึ่งเป็น ศูนย์กลางของพิธีกรรมศีลมหาสนิททั้งมวล โดยปูผ้ารองถ้วยกาลิกส์ และจานศีล (Corporal) นาผ้าเช็ดถ้วยกาลิกส์ (Purificator) ถ้วยกาลิกส์และหนังสือมิสซาวางบนพระแท่น และนำแผ่นปังและเหล้าองุ่นมาเตรียมไว้รวมทั้งมีการบริจาค ใส่ถุงทานสำหรับคนยากไร้ หรือทางวัดด้วยคำภาวนาแห่งศีลมหาสนิทหรือการเสกปัง และเหล้าองุ่นให้เป็นพระกายและพระโลหิตของพระเยซูเจ้าถือเป็นหัวใจสำคัญของพิธีมิสซาประกอบด้วย การเสกศีลเพื่อระลึกถึง และรื้อฟื้นถึงการตั้งศีลมหาสนิทของพระเยซูเจ้า ในอาหารค่ำมื้อสุดท้ายก่อนทรงรับทรมานและสิ้นพระชนม์บนไม้กางเขน การขับร้องเพลงศักดิ์สิทธิ์บทข้าแต่พระบิดา การบิปัง และการรับศีลมหาสนิทของสัตบุรุษ ซึ่งการรับศีลมหาสนิทนับว่าเป็นส่วนสำคัญยิ่งในพิธี มิสซาบูชาขอบพระคุณพระเจ้าการรับศีลมหาสนิทให้ความหมายหลายประการ เช่น 1) เป็นการร่วมสนิท เป็นหนึ่งเดียวกับพระเยซูเจ้า 2) เป็นการร่วมมีส่วนในงานกอบกู้ของพระเยซูเจ้า 3) เป็นการร่วมสนิทสัมพันธ์กับพี่น้องคริสตชนด้วยกัน

ภาคปิดพิธี ภาคปิดพิธีนั้นจะเริ่มจากภาคถวายเครื่องบูชาจนถึงบทภาวนาหลังรับศีล คือ การเตรียมเครื่องบูชาการเสกศีลและการรับศีล เป็นต้น องค์ประกอบของพิธีมิสซาการอวยพรและการส่งไปที่ให้เรากลับไปสู่ชีวิตกับเพื่อนพี่น้องในสังคมของเราต่อไป เมื่อสัตบุรุษรับศีลเสร็จเรียบร้อยแล้วจะเข้าสู่ภาคปิดพิธี ในภาคนี้ ทางวัด สามารถประกาศข่าวต่าง ๆ ให้สัตบุรุษทราบ จากนั้นจะเป็นการอำลา และ อวยพร ข้อสังเกตที่คริสตชนบางกลุ่มอาจจะเกิดความเข้าใจคลาดเคลื่อน เกี่ยวกับพิธีมิสซา คือ จริง ๆ แล้ว การแก้บาป (ศีลอภัยบาป) ไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของพิธีมิสซาสัตบุรุษสามารถรับศีลอภัยบาปได้ตลอดเวลา แม้ไม่ใช่เวลามิสซา แต่การที่มีการแก้บาปก่อนพิธีมิสซานั้น ก็เพื่อประโยชน์ในด้านการอภิบาลสัตบุรุษ คืออำนวยความสะดวกแก่สัตบุรุษที่มาวัดอาทิตย์ละครั้ง รวมทั้งทำให้การร่วมพิธีมิสซาของสัตบุรุษที่รับศีลอภัยบาปแล้ว มีความหมายมากยิ่งขึ้นเป็นการเสริมสร้างจิตใจ แต่สิ่งที่ควรส่งเสริมคุณค่าและความหมายของศีลอภัยบาปนั้น สัตบุรุษควรรับศีลอภัยบาปอย่างสม่ำเสมอในเวลาใดก็ได้ที่เหมาะสมและมีความต้องการคืนดีกับพระซึ่งไม่เพียงก่อนพิธีมิสซาเท่านั้น

2.4) อีสเตอร์ (Easter)

อีสเตอร์ หมายถึง การระลึกถึงการฟื้นคืนมาจากความตายของพระเยซูคริสต์ หรือ วันคืนพระชนม์ เข้าใจว่า อีสเตอร์ มาจากคำภาษาอังกฤษโบราณ คือคำว่า Eastre ซึ่งเป็นชื่อเทพธิดาของฤดูใบไม้ผลิ ผู้รู้บางท่าน กล่าวว่าอาจมาจากภาษาเยอรมันโบราณ คือ คำว่า Eostarun ซึ่งแปลว่า รุ่งอรุณ ยังไม่ทราบแน่ชัดว่า ใครเป็นผู้นำเอาชื่อเทพธิดาฤดูใบไม้ผลิ Eastre หรือ คำว่า รุ่งอรุณ Eostarun ของภาษาเยอรมันมาดัดแปลงเป็นภาษาอังกฤษว่า Easter เพื่อใช้เรียกวันคืนพระชนม์ของพระเยซูคริสต์ นักวิชาการบางท่านได้ให้ข้อคิดว่า การฟื้นคืนพระชนม์ของพระเยซูเกี่ยวข้องใกล้ชิดกับฤดูใบไม้ผลิตอย่างน้อย 2 ประการ ประการแรก วันอีสเตอร์อยู่ในช่วงเกี่ยวกับฤดูใบไม้ผลิคือระหว่างเดือนมีนาคม และเมษายน ประการที่สอง ฤดูใบไม้ผลิเป็นสัญลักษณ์ของชีวิตใหม่เพราะระหว่างฤดูหนาวที่หิมะตก หรืออากาศหนาวเย็น ต้นไม้ส่วนใหญ่จะไม่มีใบ มีลักษณะเหมือนตายไปแล้ว แต่เมื่อฤดูใบไม้ผลิมาถึงต้นไม้ที่ดูเหมือนตายไปแล้วก็ผลิใบ จึงอาจเป็นสาเหตุที่ใช้คำว่า Easter สำหรับวันฟื้นคืนพระชนม์

3) ละครพระมหาทรมาน

ละครพระมหาทรมานเป็นละครศาสนาประเภทหนึ่ง ปรากฏเมื่อประมาณคริสต์ศตวรรษที่ 10–15 ช่วงครึ่งหลังของสมัยกลางในยุโรป เรียกว่า Passion Play โดยคำว่า Passion มาจากคำว่า Passio ในภาษาละติน มีความหมายว่า ความทรมาน (Dyas and Hughes, 2005: 178) กล่าวคือ ละครที่แสดงเพื่อรำลึกถึงความทรมานพระวรกายของพระเยซู โดยแบ่งรูปแบบการแสดงออกเป็น 2 รูปแบบ (กุลวดี มกราภิรมย์, 2554) ดังนี้

3.)1 ละครสมาคมวิชาชีพ (Mystery Play)

คำว่า ละครของสมาคมวิชาชีพ มีความสอดคล้องกับที่ปรากฏในพจนานุกรมศัพท์วรรกรรม อังกฤษ — ไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2545 บัญญัติศัพท์คำนี้ว่า ละครรหัสธรรม แต่ในทัศนะของ กุลวดี มกราภิรมย์ นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ละครตะวันตก ได้ใช้คำว่า ละครของสมาคมวิชาชีพ โดยอธิบายความสอดคล้องว่า เห็นตรงกับความหมายในรากศัพท์ดั้งเดิม อาทิ ภาษาละตินที่ใช้ในสมัยกลางใช้คำว่า mystery มีที่มาจากคำว่า mysterium หมายถึง การค้า (trade) งานช่าง (craft) และสมาคมวิชาชีพ (gulid) เช่นเดียวกับรากศัพท์ของภาษาฝรั่งเศสสมัยกลางที่คำว่า mystery มีที่มาจากคำว่า mystere หมายถึง การค้า (trade) และ งานช่าง (craft) ชื่อของละครประเภทนี้จึงบอกให้รู้ว่าเป็นละครที่สร้างโดยสมาคมวิชาชีพ (trade gulid)

ละครพระมหาทรมาน ที่ทำการแสดงเป็นส่วนหนึ่งของละครสมาคมวิชาชีพ มีเนื้อเรื่องประกอบด้วย 3 ส่วนใหญ่ ๆ ได้แก่

– เรื่องราวในพระคัมภีร์ภาคพันธสัญญาเดิม (The old Testament) เริ่มตั้งแต่การสร้างจักรวาล เรื่องของอาดัมกับอีฟ เรื่องของประกาศก (prophet) ซึ่งเป็นผู้นำทางจิตวิญญาณและสังคมของพวกชาวยิว เช่น เรื่องของประกาศกโนอาห์กับน้ำท่วมโลก

– เรื่องราวในภาคพันธสัญญาใหม่ เล่าเรื่องราวการเสด็จมาประสูติในโลกมนุษย์ของพระเยซูเพื่อไถ่บาปให้แก่มวลมนุษย์

– เรื่องราวเกี่ยวกับพระมหาทรมานหรือพระทรมานของพระคริสต์ (Christ’s Passion; Passion of Christ) รวมทั้งการสิ้นพระชนม์และการฟื้นคืนพระชนม์ของพระองค์ตามที่เล่าไว้ในพระคัมภีร์ภาคพันธสัญญาใหม่

3.2) ละครมหาทรมาน

สำหรับละครมหาทรมานที่แสดงโดยเอกเทศ เนื้อเรื่องกล่าวถึงเฉพาะพระมหาทรมาน โดยอาจครอบคลุมช่วงเวลา 7 วันสุดท้ายในชีวิตของพระเยซู นับตั้งแต่เสด็จเข้ากรุงเยรูศาเลม (Jerusalem) เป็นครั้งสุดท้าย ไปจนถึงการนำพระศพไปฝังในพระคูหา แต่ส่วนใหญ่มักครอบคลุมเฉพาะช่วงเวลา 24 ชั่วโมงสุดท้ายในชีวิตของพระองค์เอง นับตั้งแต่

1) ข้าหลวงโรมันในเวลานั้นคือ ปอนซีโอ ปีลาโต พิพากษาประหารชีวิตพระเยซูตามความต้องการของพวกยิว

2) พระเยซูทรงรับไม้กางเขนจากปีลาโต

3) พระเยซูทรงล้มลงครั้งแรกภายใต้ไม้กางเขน

4) พระเยซูทรงพบมารดาผู้ระทมทุกข์

5) ไซมอนแห่งเมืองไซรีนี (Simon of Cyrene) ช่วยพระเยซูแบกไม้กางเขน

6) เวโรนีกา (Veronica) เช็ดพระพักตร์พระเยซู

7) พระเยซูล้มลงครั้งที่สอง

8) พระเยซูทรงรับสั่งกับหญิงชาวเยรูซาเลม

9) พระเยซูทรงล้มลงครั้งที่สาม

10) การเปลื้องฉลองพระองค์พระเยซู

11) การตรึงกางเขนพระเยซู

12) พระเยซูสิ้นพระชนม์บนไม้กางเขน

13) การอัญเชิญพระศพลงจากไม้กางเขน

14) การฝังพระศพในคูหา

เนื้อเรื่องของละครมหาทรมานไม่ว่าจะครอบคลุมช่วงเวลา 7 วัน หรือ 24 ชั่วโมงสุดท้ายในชีวิตของพระเยซู จุดสุดยอด (climax) ของชุดเหตุการณ์จะอยู่ที่การตรึงกางเขนพระองค์เช่นเดียวกัน เนื่องจากเป็นเหตุการณ์ที่ทำให้คำมั่นของพระเป็นเจ้าในการส่งพระบุตรผู้เป็นที่รักของพระองค์มาไถ่บาปให้แก่มวลมนุษย์บรรลุผล นอกจากนี้ยังเป็นเหตุการณ์ที่แสดงให้เห็นถึงความรักที่พระเยซูทรงมีต่อมวลมนุษย์ถึงแก่ทรงยอมสละพระชนมชีพไถ่บาปให้แก่พวกเขาได้โดยไม่ทรงย่อท้อ เหตุการณ์นี้จึงถือได้ว่าเป็นจุดสุดยอดของการที่พระคริสต์เสด็จมาไถ่บาปให้แก่มวลมนุษย์ซึ่งช่วยปลุกเร้าศรัทธาของศาสนิกชนที่มาชมการแสดงได้เป็นอย่างดี

จากการทบทวนวรรณกรรมที่เกี่ยวข้องกับพิธีวันพระมหาทรมานของชุมชนกุฎีจีน โดยประกอบด้วยประเด็นความเป็นมาของพิธีวันพระมหาทรมาน เทศกาลและพิธีกรรมสำคัญที่เกี่ยวข้องกับพิธีวันพระมหาทรมาน รวมถึงละครพระมหาทรมาน คณะผู้วิจัยได้วิเคราะห์ร่วมกับข้อมูลการสัมภาษณ์จากผู้นำศาสนา และประธานชุมชน มีข้อค้นพบว่า ชุมชนกุฎีจีนมีศาสนาคริสต์เป็นศูนย์รวมทางจิตใจ และเป็นสัญญะทางเชื้อชาติที่เชื่อมโยงกับวัฒนธรรมตะวันตกตามแต่ดั้งเดิม กล่าวคือ การรวมกลุ่มของคนไทยเชื้อสายโปรตุเกส และกลุ่มชาติพันธุ์อื่น ๆ ที่นับถือศาสนาคริสต์ให้มีเอกภาพ โดยปรากฏผ่านการสืบทอดพิธีกรรมสำคัญคือ พิธีวันพระมหาทรมานในวันศุกร์ศักดิ์สิทธิ์ เกิดกิจกรรมชุมชนที่เรียกว่า การแสดงละครพระมหาทรมาน ตามคติความเชื่อดั้งเดิมในการแสดงออกถึงการระลึกถึงพระมหาทรมานของพระเยซู ส่งผลให้สัตบุรุษในฐานะสมาชิกในชุมชนได้ทำหน้าที่สืบทอดให้คงอยู่ต่อไป

รายการอ้างอิง

กรมการศาสนา กระทรวงวัฒนธรรม, 2553. วันสำคัญทางศาสนา. กรุงเทพมหานคร : ชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย.

กุลวดี มกราภิรมย์, 2554. การสืบสานละครมหาทรมานที่ชุมชนวัดคอนเส็ปชัญ. วิทยาสารเกษตรศาสตร์ สาขาสังคมศาสตร์ 32, 2 (พ.ค. — ส.ค. 2554),หน้า 169–180.

___________, 2552. การละครตะวันตกสมัยคลาสสิก — สมัยฟื้นฟูศิลปวิทยา. กรุงเทพมหานคร : สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

คาทอลิกเพื่อพระคัมภีร์, คณะกรรมการ. พระคัมภัร์ภาคพันธสัญญาใหม่. กรุงเทพมหานคร : จันทราทิพย์
การพิมพ์.

ณรงค์วรรษ บุญมา, 2561. ตำราเทศกาลและพิธีกรรมทางศาสนา. นครปฐม : คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์.

ปิ่นทอง วงษ์สกุล, ผู้ให้สัมภาษณ์, 20 มิถุนายน 2566.

 

https://shorturl.at/UoOAz