วิทยานิพนธ์ เรื่อง พิธีกรรมและการแสดงในการขอฝนของวัฒนธรรมอีสาน มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ศึกษาวิถีชีวิตที่เกี่ยวข้องกับความเชื่อและอาชีพเกษตรกรรม 2) ศึกษาที่มาและองค์ประกอบของพิธีกรรมการแสดงในการขอฝน 3) วิเคราะห์รูปแบบการแสดงและโครงสร้างท่ารำในพิธีกรรมขอฝน โดยใช้การวิจัยเชิงคุณภาพด้วยการศึกษาจากเอกสาร การลงภาคสนามเพื่อสัมภาษณ์ สังเกตและประชุมกลุ่มเกี่ยวกับพิธีกรรม และการแสดงขอฝนของหมู่บ้านหนองไหล ตำบลสร้างถ่อน้อย อำเภอหัวตะพาน จังหวัดอำนาจเจริญ ผลการศึกษา พบว่า 1) ชาวอีสานมีวิถีการดำรงชีวิตที่ผูกพันกับความเชื่อของมนุษย์ที่มีต่ออำนาจลึกลับ และเชื่อมโยงกับความเชื่อในเรื่องภูตผีวิญญาณและพญาแถนซึ่งเป็นเทวดาที่ดลบันดาลให้ฝนตกต้องตามฤดูกาล 2) ที่มาและองค์ประกอบพิธีกรรมการขอฝนมีการเปลี่ยนแปลงตามยุคสมัย เช่น พิธีแห่บั้งไฟยังดำรงสืบต่อมาอย่างเข้มข้น เนื่องจากมีบรรจุไว้ในฮีตของชาวอีสาน ส่วนพิธีแห่นางแมวและพิธีเต้านางด้งคลายความนิยมลงไป 3) รูปแบบการแสดงและโครงสร้างท่ารำในพิธีกรรมขอฝนของหมู่บ้านหนองไหล พิธีแห่บั้งไฟ มีรูปแบบการแสดง 2 แบบ คือ แบบดั้งเดิมปรากฏ ท่ารำ 3 ท่า ร่ายรำไปตามจังหวะกลองตุ้ม และแบบพัฒนาปรากฏกระบวนท่ารำ 12 ท่า โดยนำรูปแบบท่ารำมาจากฟ้อนแม่บทอีสาน ร่ายรำไปตามทำนองดนตรีที่บรรเลงโดยวงดนตรีพื้นเมืองอีสานส่วนพิธีแห่นางแมว ไม่มีรูปแบบการแสดงที่เป็นแบบแผนรูปแบบท่ารำเกิดจากทักษะภูมิรู้ในการร่ายรำเฉพาะบุคคลและแห่ไปตามบ้านของคนในหมู่บ้าน ครั้นพอถึงบ้านใครก็จะเอาน้ำสาดใส่นางแมวและพิธีเต้านางด้ง มีรูปแบบการแสดง 2 แบบ คือ แบบดั้งเดิมไม่ปรากฏรูปแบบท่ารำและแบบพัฒนามีการประดิษฐ์รูปแบบท่ารำประกอบคำเซิ้ง พิธีแห่นางแมวและพิธีเต้านางด้ง อันสัมพันธ์กับการแสดงของหมู่บ้านหนองไหล จะสูญหายในอนาคตเพราะขาดการเอาใจใส่ดูแลและการสืบทอดจากเยาวชนของหมู่บ้าน
-
- HOME
- BSRU
- Check Scholar
- ติดต่อเรา WooCommerce not Found
- Newsletter