พัฒนาการด้านการคิดเชิงบริหารของนักเรียนชั้นอนุบาลโรงเรียนสาธิต มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา (ปฐมวัย) ที่ได้รับการจัดกิจกรรมการเล่านิทาน กิจกรรมเคลื่อนไหวและจังหวะ และกิจกรรมศิลปะสร้างสรรค์ Executive Functions Development of Kindergarten Students at Bansomdejchaopraya Rajabhat University Demonstration School (Early Childhood) Experienced in Storytelling Activities, Rhythmic Movement Activities and Creative Art Activities

การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาและเปรียบเทียบพัฒนาการด้านการคิดเชิงบริหารของนักเรียน
ชั้นอนุบาล โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา (ปฐมวัย) ก่อนและหลังได้รับการจัดกิจกรรม
การเล่านิทาน กิจกรรมเคลื่อนไหวและจังหวะ และกิจกรรมศิลปะสร้างสรรค์ ประชากรที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้
เป็นนักเรียนชาย-หญิง อายุ 3-6 ปี ที่กำลังศึกษาอยู่ในชั้นอนุบาลปีที่ 1 ชั้นอนุบาลปีที่ 2 และชั้นอนุบาลปีที่ 3
ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2562 โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา (ปฐมวัย) สังกัดมหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา จำนวน 83 คน จำแนกเป็นนักเรียนชั้นอนุบาลปีที่ 1 (อายุ 3-4 ปี) จำนวน 28 คน ชั้นอนุบาลปีที่ 2 (อายุ 4-5 ปี) จำนวน 30 คน ชั้นอนุบาลปีที่ 3 (อายุ 5-6 ปี) จำนวน 25 คน  เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูล คือ แบบประเมินพัฒนาการด้านการคิดเชิงบริหารในเด็กวัยก่อนเรียน (แบบ MU.EF -101) และแผนการจัดกิจกรรมแผนการจัดกิจกรรมการเล่านิทานชั้นอนุบาลปีที่ 1 แผนการจัดกิจกรรมเคลื่อนไหวและจังหวะชั้นอนุบาลปีที่ 2 และแผนการจัดกิจกรรมศิลปะสร้างสรรค์ชั้นอนุบาลปีที่ 3 โดยใช้แบบแผนการวิจัยแบบกลุ่มทดลองกลุ่มเดียว วัดผลก่อนและหลังการทดลอง (the one group, pretest-posttest design) สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ ได้แก่ ค่าคะแนน T ค่าร้อยละ และค่าคะแนนเพิ่มสัมพัทธ์ (Relative Gain Score)

ผลการวิจัยพบว่า

        1. ผลการศึกษาพัฒนาการด้านการคิดเชิงบริหารของนักเรียนชั้นอนุบาลก่อนและหลังการทดลอง สรุปได้ว่า หลังจากนักเรียนชั้นอนุบาลปีที่ 1 ได้รับการจัดกิจกรรมการเล่านิทาน นักเรียนชั้นอนุบาลปีที่ 2 ได้รับการจัดกิจกรรมเคลื่อนไหวและจังหวะ และนักเรียนชั้นอนุบาลปีที่ 3 ได้รับการจัดกิจกรรมศิลปะสร้างสรรค์ พบว่า มีพัฒนาการด้านการคิดบริหารเปลี่ยนแปลงไปในระดับที่ดีขึ้น (พิจารณาจากค่าคะแนน T)

        2. ผลการเปรียบเทียบพัฒนาการด้านการคิดเชิงบริหารก่อนและหลังการทดลอง สรุปได้ว่าหลังจากนักเรียนชั้นอนุบาลได้รับการจัดกิจกรรม นักเรียนชั้นอนุบาลมีพัฒนาการด้านการคิดเชิงบริหารในภาพรวมสูงขึ้น โดยนักเรียนชั้นอนุบาลปีที่ 1 ส่วนใหญ่ (ร้อยละ 85.71) มีพัฒนาการสัมพัทธ์อยู่ในระดับกลาง (คะแนนพัฒนาการสัมพัทธ์=33-50 คะแนน) นักเรียนชั้นอนุบาลปีที่ 2 ส่วนใหญ่ (ร้อยละ 56.67) มีพัฒนาการสัมพัทธ์อยู่ในระดับสูง (คะแนนพัฒนาการสัมพัทธ์=54-74 คะแนน) และนักเรียนชั้นอนุบาลปีที่ 3  ส่วนใหญ่ (ร้อยละ 64) มีพัฒนาการสัมพัทธ์อยู่ในระดับสูง (คะแนนพัฒนาการสัมพัทธ์=52-74 คะแนน)….อ่านต่อได้ที่นี่