พหุปัญญา

พหุปัญญา

 ศาสตราจารย์ ดร.บังอร  เสรีรัตน์

  เกริ่นนำความคิด

              ทฤษฎี พหุปัญญา(Theory  of  Multiple  Intelligences) เป็นทฤษฎีสำคัญที่ได้รับความสนใจ และส่งผลกระทบต่อ การพัฒนาผู้เรียน       โฮเวิร์ด การ์ดเนอร์ (Howard Gardner) ได้พัฒนา ทฤษฎี พหุปัญญา  โดยค่อยๆ ศึกษาและค้นพบเป็นระยะ มาอย่างต่อเนื่อง จนปัจจุบัน ได้ข้อสรุปว่า ปัญญาของบุคคลมีอย่างน้อย 9 ด้านคือ 1. ปัญญาด้านภาษา ( Linguistic  intelligence )   2.ปัญญาด้านตรรกะและคณิตศาสตร์   (Logical/Mathematical intelligence )  3.ปัญญาด้านมิติสัมพันธ์

 ( Spatial  intelligence ) 4.ปัญญาด้านร่างกายและการเคลื่อนไหว ( Bodily-Kinesthetic  intelligence ) 5.ปัญญาด้านดนตรี  ( Musical  intelligence ) 6.ปัญญาด้านการเข้าใจคนอื่น/เข้าใจระหว่างบุคคล ( Interpersonal  intelligence )  7.ปัญญาด้านการเข้าใจตนเอง ( Intrapersonal  intelligence ) 8.ปัญญาด้านธรรมชาติวิทยา/รอบรู้ธรรมชาติ ( Naturalist  intelligence ) และ 9.ปัญญาด้านการดำรงอยู่ของชีวิต ( Existential   intelligence )  

 

     ลักษณะปัญญา

           บุคคลที่มีปัญญาแต่ละด้านมีลักษณะดังนี้

            1.ปัญญาด้านภาษา : สื่อสารคล่องแคล่ว สื่อสารตรงแนว แล้วเข้าใจชัด

             บุคคลที่มีปัญญาด้านนี้จะสามารถ จับใจความได้ดี  แยกแยะประเด็นสำคัญ จับความคิดหลักได้  ถ่ายทอดความคิดโดยการพูดและการเขียน  สื่อสารชัดเจน อ่านหนังสือ แล้วเข้าใจความหมาย วิเคราะห์ความคิดผู้เขียนได้

             2.ปัญญาด้านตรรกะและคณิตศาสตร์ : คิดคล่อง มองเป็นระบบ แยกแยะ เชื่อมโยงรอบด้าน ผ่านเหตุผลที่เหมาะสม

            บุคคลที่มีปัญญาด้านนี้จะสามารถ คิดเป็นระบบ มีเหตุผลในการคิด  คิดวิเคราะห์  คิดสังเคราะห์ได้ดี  คิดอย่างมีวิจารณญาณ  คิดแก้ปัญหา  คิดสร้างสรรค์  สามารถใช้จำนวน คิดคำนวณได้ดี

มีทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ 13 ด้าน

              3.ปัญญาด้านมิติสัมพันธ์ : จินตนาการภาพชัดเจน  วาดภาพเป็น เห็นสัดส่วน

            บุคคลที่มีปัญญาด้านนี้จะสามารถ ประมวลเป็นภาพ  สามารถวาดภาพในสมอง

ออกแบบพื้นที่ กะระยะแม่นยำ  วาดรูปได้สัดส่วน  สื่อความคิดผ่านภาพ

               4.ปัญญาด้านร่างกายและการเคลื่อนไหว : เคลื่อนที่คล่องแคล่ว ใช้กล้ามเนื้อใหญ่ กล้ามเนื้อเล็ก และร่างกาย ได้แจ๋ว ดูแล้วงดงาม

             บุคคลที่มีปัญญาด้านนี้จะสามารถ ใช้กล้ามเนื้อเล็กได้ดี  ใช้กล้ามเนื้อใหญ่ได้ดี

ใช้ร่างกาย ใบหน้าสื่อสารความคิด แสดงออก

              5.ปัญญาด้านดนตรี : เข้าใจจังหวะทำนองมองเห็นความงาม

ทุกยามมีดนตรีในหัวใจ นำมาใช้ในการพัฒนาตน

             บุคคลที่มีปัญญาด้านนี้จะ มีความไวต่อการรับรู้จังหวะ ทำนอง  แยกแยะเสียงดนตรีได้ดี

แต่งเพลงสร้างสรรค์ทำนองใหม่เหมาะสมกับเรื่องราว  สื่อสารความคิดเป็นเพลงและทำนอง

              6.ปัญญาด้านการเข้าใจคนอื่น/เข้าใจระหว่างบุคคล : ชอบสมาคมกับคนรอบตัว ชอบยิ้มหัวกับคนรอบข้าง

              บุคคลที่มีปัญญาด้านนี้จะ ชอบสมาคมกับคนรอบตัว ชอบยิ้มหัวกับคนรอบข้าง  ช่างเข้าใจคนอื่น ปรับตนให้เข้าสังคมได้ดี เข้าใจธรรมชาติในการอยู่ร่วมกัน  รับรู้อารมณ์ ความคิด ความรูสึกของคนอื่น

ปรับปฏิสัมพันธ์ให้เหมาะสม ทำงานกลุ่มได้ดี เป็นสมาชิกกลุ่มที่ดี  มีความเป็นผู้นำ

            7.ปัญญาด้านการเข้าใจตนเอง : รู้จักตนเอง เก่งวางแผนพัฒนาตน

            บุคคลที่มีปัญญาด้านนี้จะสามารถ รู้จุดดี  จุดด้อยของตนเอง มั่นใจในตนเอง รักตนเอง

วางแผนการทำงาน หาแนวทางพัฒนาตนเองให้เก่งมากขึ้น  มีวิธีการเปลี่ยนแปลงตนเองให้เหมาะสม

วิเคราะห์ตนเอง กำกับตนเองกระตุ้นตนเองให้ต่อสู้อุปสรรค อดทนต่อความลำบาก

           8.ปัญญาด้านธรรมชาติวิทยา/รอบรู้ธรรมชาติ : รู้  เข้าใจสิ่งรอบตัวได้แจ่มแจ้ง

            บุคคลที่มีปัญญาด้านนี้จะ มีความรู้เกี่ยวกับธรรมชาติอย่างลึกซึ้ง  คาดคะเนความเปลี่ยนแปลงของธรรมชาติที่เกิดขึ้น  ปรับเปลี่ยนสิ่งรอบตัวเพื่อรองรับความเปลี่ยนแปลงของธรรมชาติ ชอบธรรมชาติ หลงไหลในธรรมชาติ

           9.ปัญญาด้านการดำรงอยู่ของชีวิต : รู้  เข้าใจสัจธรรมของโลก การใช้ชีวิต  และคุณค่าของมนุษย์

            บุคคลที่มีปัญญาด้านนี้จะ มีความเชื่อ และ สนใจ เกี่ยวกับจิตวิญญาณ ชอบฝึกสมาธิ  ปฏิบัติตามคำสอนของศาสนา  ตั้งคำถามเกี่ยวกับคุณค่าของมนุษย์ที่มีต่อโลก  รัก เมตตาผู้อื่น สัตว์อื่น

     การตรวจสอบระดับปัญญา

              การตรวจสอบระดับปัญญาเป็นจุดเริ่มในการรู้จักตนเองว่ามีปัญญาด้านใด การตรวจสอบระดับปัญญาสามารถทำได้หลายวิธี อาทิ สังเกตพฤติกรรม  ดูผลงาน  พูดคุยสัมภาษณ์บุคคลนั้น และผู้เกี่ยวข้อง  ใช้แบบคัดกรอง หรือ เครื่องมือตรวจสอบพฤติกรรม  แต่หากใช้ทุกวิธีร่วมกันก็จะทำให้ได้ข้อมูลที่ชัดเจน   สำหรับผู้ที่สนใจตรวจสอบระดับปัญญา อาจจะใช้แบบตรวจสอบนี้

 

 

 

                          แบบตรวจสอบปัญญาของผู้เรียน

  คำชี้แจง ให้อ่านข้อความ และ เลือกข้อความที่ตรงกับความคิด และพฤติกรรมของตนเอง

ฉันชอบหนังสือมาก
ฉันจำคำได้ดี
ฉันเขียนได้ดี
ฉันชอบเล่นเกมต่อคำ
ฉันคิดเลขในใจได้ดี
ฉันชอบเล่นเกมที่ต้องใช้เหตุผล
ฉันชอบคิดดัดแปลงสิ่งต่าง ๆ
ฉันชอบทดลอง
ฉันวาดภาพได้ดี
ฉันไม่ค่อยหลงทาง
ฉันดูแผนผังและเข้าใจได้ดี
ฉันชอบเล่นกีฬา
ฉันเต้นประกอบเพลงได้ดี
ฉันใช้มือ และใบหน้าประกอบการพูดได้ดี
ฉันชอบทำงานฝีมือ
ฉันบอกเสียงดนตรีในเพลงได้
ฉันแต่งเพลงได้
ฉันเคาะจังหวะได้
ฉันชอบเสียงเพลง
ฉันชอบฮัมเพลงในช่วงเวลาสบาย
ฉันชอบทำงานกับคนอื่น
ฉันมีเพื่อนสนิทมากมาย
ฉันชอบอยู่ในที่มีคนมากๆ
ฉันทบทวนตนเองทุกวัน
ฉันรู้ว่าฉันเก่งอะไร ไม่เก่งอะไร
ฉันชอบทำงานคนเดียว
ฉันชอบบันทึกความคิด
ฉันชอบต้นไม้และธรรมชาติ
ฉันมีความสุขมากเมื่ออยู่ท่ามกลางธรรมชาติ
ฉันเข้าใจวงจรสัตว์
ฉันชอบปลูกต้นไม้ ทำสวน
ฉันอยากทำโครงการเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม
ฉันชอบทำสมาธิ
ฉันชอบช่วยเหลือผู้อื่น
ฉันเห็นว่าทุกคนมีคุณค่า สามารถทำประโยชน์ได้
ฉันมีความสุขมากเมื่อได้ปฏิบัติศาสนกิจ เข้าวัด /เข้าโบสถ์
 

      หลังจากอ่านข้อความ และ เลือกข้อความที่ตรงกับความคิด และพฤติกรรมของตนเองแล้ว ให้พิจารณาว่าความคิด และพฤติกรรมของตนเองมีน้ำหนัก/จำนวนอยู่ในด้านใด ก็แสดงว่าเรามีแนวโน้มที่จะมีปัญญาด้านนั้โดดเด่น สูงกว่าด้านอื่น      นอกจากแบบตรวจสอบปัญญา ดังกล่าวแล้ว สามารถใช้ แบบคัดกรองพหุปัญญาที่หน่วยงานต่าง ๆ จัดทำขึ้นก็ได้

  ส่งท้ายความคิด

     ทฤษฎีพหุปัญญาเป็นทฤษฎีสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อ แนวคิด มุมมองในการพัฒนาศักยภาพบุคคล  หรือกล่าวได้ว่า เป็นทฤษฎีที่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงมุมมองในการพัฒนาผู้เรียน ซึ่งหากครูผู้สอน และพ่อแม่ เข้าใจทฤษฎีพหุปัญญาอย่างลึกซึ้งก็สามารถพัฒนา นักเรียนและบุตรหลานได้

    เอกสารอ้างอิง

    บังอร  เสรีรัตน์. (2566). พหุปัญญากับการพัฒนาสมรรถนะ : เอกสารประกอบการบรรยายใน

            โครงการพัฒนาระบบกลไกการหนุนเสริมการจัดการเรียนรู้ฐานสมรรถนะ .เอกสารอัดสำเนา

         สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา . (2564 ). การคัดกรองและการพัฒนาพหุปัญญา.

                 กรุงเทพมหานคร .บริษัท เอส บี เค การพิมพ์จำกัด