พลศึกษากับการขัดเกลาสังคม
การขัดเกลาทางสังคม
“การขัดเกลาทางสังคมเป็นแนวความคิดที่มีพื้นฐานมาจากทฤษฎีการจัดระเบียบสังคมเพื่อให้สมาชิกในสังคมมีลักษณะพฤติกรรม ค่านิยม บรรทัดฐาน ทัศนคติที่ตรงกันหรือใกล้เคียงกันเป็นรูปแบบของการปกครองสังคมรูปแบบหนึ่งที่มีอิทธิพลทั้งทางตรงและทางอ้อม ได้มีนักวิชาการทางด้านสังคมวิทยาและมานุษยวิทยาให้ความหมายและความสำคัญของการขัดเกลาทางสังคมไว้แตกต่างกันดังนี้”
การขัดเกลาทางสังคม หมายถึง กระบวนการอบรมสั่งสอนสมาชิกของสังคมให้เรียนรู้ระเบียบของสังคมเพื่อให้เห็นคุณค่าและนำเอากฎเกณฑ์ ระเบียบปฏิบัติเหล่านั้นไปเป็นแนวทางในการประพฤติปฏิบัติ การขัดเกลาทางสังคมเป็นสิ่งจำเป็นที่มนุษย์จะต้องได้รับตลอดชีวิต เพื่อที่จะทำให้สามารถปรับตัวเข้ากับสังคมที่ตน เป็นสมาชิกอยู่ได้ และจะช่วยให้สามารถประพฤติปฏิบัติตนตามสถานภาพและบทบาทของตนได้เป็นอย่างดี การขัดเกลาทางสังคมเป็นกระบวนการทางสังคมและจิตวิทยา ซึ่งมีผลทำให้บุคคลมีบุคลิกภาพตาม แนวทางที่สังคมต้องการเด็กที่เกิดมาจะต้องได้รับการอบรมสั่งสอนให้มีความเป็นคน โดยแท้จริง สามารถอยู่ร่วมกันได้และมีความสัมพันธ์กับคนอื่นได้อย่างราบรื่น กระบวนการขัดเกลาทางสังคมจะเริ่มต้นตั้งแต่บุคคลถือ กำเนิดมาในโลก ตัวแทนสำคัญที่ทำหน้าที่ในเรื่องนี้ได้แก่ ครอบครัว กลุ่มเพื่อน โรงเรียน มหาวิทยาลัย ศาสนา ตลอดจนสื่อมวลชนต่างๆ โดยตัวแทนเหล่านี้ จะทำให้บุคคลได้ทราบคุณค่าและอุดมคติที่สังคมยึดมั่นและได้ เรียนรู้บรรทัดฐานและขนบธรรมเนียมประเพณีที่ใช้อยู่ในสังคม ประเภทของการขัดเกลาทางสังคมการขัดเกลาทางสังคมอาจจำแนกเป็น 2 ประเภท ดังนี้
1. การขัดเกลาทางสังคมทางตรง เป็นการอบรมขัดเกลาที่พ่อแม่ให้กับลูก เช่น การสอนสิ่งต่างๆให้กับลูกเช่น การพูดหรือมารยาทต่างๆ หรือครูอาจารย์ที่สอนความรู้แก่นักเรียนในชั้นเรียน เป็นต้น ผู้สอนและผู้รับ จะมีความรู้สึกใกล้ชิดกัน เพราะเป็นการให้การอบรมกล่อมเกลากันโดยตรง
2. เป็นวิธีการขัดเกลาทางสังคมที่ไม่ใช่การถ่ายทอดโดยตรงแต่จะเป็นโดยทางอ้อมเช่น การอ่านหนังสือพิมพ์ การฟังวิทยุหรือดูโทรทัศน์ ตลอดจนภาพยนตร์ หรือสื่อประเภท อื่น รวมถึงประสบการณ์ชีวิตต่างๆ ที่ประสบมากับตนเองเป็นการรับเข้ามาโดยไม่เป็นทางการหรือไม่ได้ตั้งใจ มีคุณค่าอย่างยิ่งต่อการปรับตัวของมนุษย์ เพื่อให้ดำรงชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข
องค์กรที่ทำหน้าที่ในการขัดเกลาทางสังคม
กระบวนการขัดเกลาทางสังคมนี้เกิดขึ้นในทุกองค์กรทาง สังคมในการอบรมกล่อมเกลาให้สมาชิกใหม่ได้รับรู้และกระทำตามเกณฑ์ของสังคม ในที่นี้ได้จำแนกองค์กรที่ทำหน้าที่นี้ดังนี้
1. ครอบครัว เป็นองค์กรที่มีบทบาทสำคัญที่สุดในกระบวนการขัดเกลาทางสังคม โดยเริ่ม ตั้งแต่วัยทารก ซึ่งครอบครัวจะทำหน้าที่อบรมสั่งสอนสมาชิกให้เป็นพลเมืองดีปฏิบัติตามกฎเกณฑ์แบบแผน ที่สังคมเป็นผู้กำหนด จึงเป็นองค์กรที่มีความสำคัญที่สุดในการขัดเกลาทางสังคมในการถ่ายทอดประสบการณ์ ตรงให้กับสมาชิกในสังคมเพื่อให้เป็นประชากรที่มีคุณภาพ
2. โรงเรียน ภาระหน้าที่ในการขัดเกลาทางสังคมที่ต่อเนื่องจากครอบครัวก็คือโรงเรียนที่สังคมจัดตั้งขึ้นเพื่อสั่งสอนความรู้ และถ่ายทอดวิทยาการรวมถึงศีลธรรมจรรยาต่างๆ ให้แก่สมาชิกในสังคม
3. กลุ่มเพื่อน เมื่อสมาชิกในสังคมเติบโตขึ้นมา กลุ่มเพื่อนจะมีบทบาทที่สำคัญต่อการขัดเกลาทาง สังคม โดยเฉพาะกับกลุ่มเพื่อนรุ่นราวคราวเดียวกันจะมีอิทธิพลอย่างมากต่อพฤติกรรมต่างๆ ของบุคคล เนื่องจากการลอกเลียนแบบกันภายในกลุ่ม
4. สถาบันทางศาสนา ศาสนาเป็นสิ่งยึดเหนี่ยวจิตใจของสมาชิกในสังคม ทุกศาสนาสอนให้คนเป็นคน ดีและมีศีลธรรมอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข ดังนั้นสถาบันศาสนาจึงมีความสำคัญจึงมีบทบาทสำคัญต่อสมาชิก ในสังคมให้เป็นผู้ประพฤติดีอยู่ในกรอบของสังคม
5. สื่อมวลชน มีบทบาทที่สำคัญ ในการเป็นผู้ถ่ายทอดข้อมูลข่าวสารในด้านต่างๆ ไปสู่สมาชิกในสังคม อย่างทั่วถึงทำให้สมาชิกได้รับรู้ข่าวสารและเรื่องราวที่เกิดขึ้นในสังคมอย่างถูกต้องมีความเข้าใจเหตุการณ์ต่างๆ ด้วยตนเองอย่างมีวิจารณญาณ
6. กลุ่มอาชีพ อาชีพแต่ละประเภทจะมีการจัดระเบียบปฏิบัติเฉพาะกลุ่ม เช่น กลุ่มที่มีอาชีพค้าขาย จะต้องมีความซื่อสัตย์ไม่เอาเปรียบลูกค้า ผู้ที่เป็นสมาชิกใหม่ของกลุ่มอาชีพต่าง ๆ จำเป็นต้องเรียนรู้ ระเบียบประเพณีของกลุ่มอาชีพที่ตนเป็นสมาชิก
จะเห็นได้ว่าการขัดเกลาทางสังคมแบ่งออกเป็น 2 ได้แก่ การขัดเกลาทางสังคมทางตรง อันได้แก่ ครอบครัว ครูในการสั่งสอนหล่อหลอมต่างๆที่เกี่ยวข้องซึ่งจะมีความรู้สึกใกล้ชิดกัน และการขัดเกลาทางสังคมโดยทางอ้อม เกิดจากประสบการณ์ เกิดจากการเรียนรู้ด้วยตนเองเกิดจากภายในจิตใจมีคุณค่าอย่างยิ่งต่อการปรับตัวของตนเอง นอกจากนี้ยังมีองค์กรหรือหน่วยงานที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการการขัดเกลาสมาชิกในองค์กรต่างๆ ที่หล่อหลอมให้มีความรู้ความเข้าใจในการอยู่ร่วมกับสังคมนั้นโดยใช้ กฎ กติกา และระเบียบต่างๆที่เกี่ยวข้องเพื่อเป็นแนวทางในการดำเนินชีวิต ไปตามบริบทของการอยู่ร่วมกันตามหน้าที่ต่างๆในสังคมที่ขยายใหญ่ขึ้น สำหรับพลศึกษานั้นคนในสังคมมักมองว่า คำว่าพลศึกษาคือสอน พัฒนาผู้เรียนให้มีความรู้ความเข้าใจในกีฬา การเล่นกีฬา การพัฒนาร่างกาย เพียงเท่านั้น มิได้มองลึกลงไปถึงปรัชญาพลศึกษา เป้าหมายของพลศึกษา ว่ามีกระบวนการหล่อหลอมให้ผู้ที่ผ่านกระบวนการทางพลศึกษาที่หล่อหลอมโดยหลักการพลศึกษานั้นสามารถขัดเกลาคนในสังคมให้มีระเบียบวินัย เข้าใจตนเอง เข้าใจผู้อื่น การเห็นคุณค่าของการออกกำลังกาย กีฬาที่มีผลต่อการขัดเกลาตนเองรวมไปทั้งผู้อื่นในสังคมดังจะกล่าวดังต่อไป
ความหมายของหลักการพลศึกษา
มีนักพลศึกษาได้ให้ความหมาย ความสำคัญที่เกี่ยวข้องกับหลักการพลศึกษาไว้หลากหลายพอสรุปได้ดังนี้
ความหมายของพลศึกษา (Physical Education) คือ“การศึกษาแขนงหนึ่งซึ่งมีวัตถุประสงค์ ให้ผู้เรียนมีพัฒนาการทางด้านร่างกายจิตใจอารมณ์สังคม และสติปัญญา โดยใช้กิจกรรมทางพลศึกษาที่ได้เลือกสรรมาเป็นอย่างดีแล้ว เป็นสื่อที่จะทำให้เกิดการเรียนรู้” ก็สามารถนำไปสู่ ความหมายของ “หลักการพลศึกษา” ได้ดังนี้
1. หลักการ (Principles) หมายถึงข้อเสนอแนะสำหรับการปฏิบัติที่นำไปสู่จุดมุ่งหมาย หลักการนั้นต้องตั้งอยู่บนรากฐานของความเป็นจริงทางวิทยาศาสตร์หรือความคิดเห็นของ ผู้เชี่ยวชาญของแต่ละด้าน
2. หลักการพลศึกษา (Principles of Physical Education) หมายถึงแนวปฏิบัติเพื่อยึดถือ ในการสร้างความเจริญเติบโตให้แก่บุคคลแต่ละสังคม ตามสภาวะและความต้องการของสังคม โดยใช้กิจกรรมทางพลศึกษาเป็นสื่อกลางในการพัฒนาบุคคลให้เจริญเติบโตเต็มที่ (จรวย แก่นวงศ์คำ. 2517: 8)
หลักการและปรัชญาทางการพลศึกษา
หลักการทางพลศึกษาเป็นความคิดรวบยอดซึ่งค้นคว้าด้วยหลักการทางวิทยาศาสตร์ หรือหลักการที่เกิดจากแนวคิดหรือหลักการทางปรัชญา จากประสบการณ์ ความรู้ความเข้าใจดังนั้นพลศึกษาจึงเป็นวิชาที่มีบทบาทสำคัญในการผลักดันให้ผู้เรียนมีพัฒนาการในด้านต่างๆที่สำคัญดังนี้ (วรศักดิ์,2548: 13-47)
1. การพลศึกษาจะช่วยให้นักเรียนได้มีร่างกายที่แข็งแรง มีสรรถภาพทางกายดี และมีสุขภาพดี
การรู้จักแบ่งเวลาเพื่ออกกำลังกายเป็นประจำทุกวันๆวันละ 20-30 นาที ถือเป็นยาอายุวัฒนะที่สำคัญยิ่งอย่างหนึ่งของบุคคล ในการที่จะช่วยให้เป็นคนที่มีความสุขภาพดีมีคุณภาพชีวิตที่สมบูรณ์ มีอายุยืนนานสามารถประกอบกกิจการงานต่างๆได้ และสร้างผลผลิตให้กับตนเองให้แก่สังคม ตลอดจนให้แก่ประเทศชาติได้ดีและมีประสิทธิภาพ ซึ่งการออกกำลังกายที่จะช่วยให้บรรลุผลนั้นควรจะเป็นไปตามความเหมาะสมกับระดับความต้องการของร่างกายของวัยต่างๆ
2. การพลศึกษาจะช่วยให้นักเรียนได้มีทักษะการเคลื่อนไหวส่วนต่างๆของร่างกายและทักษะในการเล่นกีฬาดีขึ้นทักษะการเคลื่อนไหวเบื้องต้นและทักษะกีฬาต่างเป็นสิ่งจำเป็นและสำคัญอย่างยิ่งสำหรับชีวิตของทุกๆคนที่จะต้องจัดให้ทุกๆคนได้มีขึ้นตั้งแต่นักเรียนอยู่ในวัยเเรียนโดยโรงเรียน ครู หรือผู้ที่มีหน้าที่ จะต้องจัดสภาพแวดล้อมตลอดจนบุคลากรให้พร้อมเพื่อให้นักเรียนได้มีส่วนร่วมในกิจกรรมการเคลื่อนไหวและทักษะกีฬาต่างๆได้อย่างทั่วถึงกันทุกคน
3. การพลศึกษาจะช่วยให้นักเรียนมีคุณธรรมประจำตัวและมีคุณลักษณะที่พึงประสงค์ของสังคมดีขึ้น
กิจกรรมพลศึกษาที่อยู่ภายใต้การจัดและการดำเนินการเรียนการสอนของครูที่มีความสามารถนั้นจะส่งเสริมและพัฒนาบุคคลให้มีคุณลักษณะต่างๆประจำตัว และในขณะเดียวกันก็สามารถปรับให้เข้ากับสมาชิกคนอื่นในสังคมได้อีกด้วย เช่น ความกล้าที่จะแสดงออก มีความเชื่อมั่นในตนเอง มีความริเริ่มสร้างสรรค์ มีความอดทน มีความยับยั้งชั่งใจ มีศีลธรรมจรรยาและอื่นๆ
4. การพลศึกษาจะช่วยให้นักเรียนมีความรู้ความเข้าใจในเรื่องต่างๆเกี่ยวกับการพลศึกษา การออกกำลังกายและการกีฬาได้ดีขึ้นจากการได้ปฏิบัติจริงด้วยตนเอง
การที่กระบวนการเรียนการสอนได้จัดให้นักเรียนได้เรียนรู้ด้วยการปฏิบัติจริงด้วยตนเองจึงเป็นการเรียนรู้ที่นอกจากจะทำให้ผู้เรียนมีการเรียนรู้ทั้งในด้านสมรรถภาพทางกายบทางด้านทักษะกีฬา ทางด้านคุณธรรม และทางด้านเจตคติ ซึ่งการเรียนรู้ด้วยการปฏิบัติจริงในสิ่งนั้นทำให้ผู้เรียนทำได้จริง ได้ทดลองจริง ในสิ่งที่เรียนมาด้วยตนเอง เป็นการช่วยให้นักเรียนมีความเข้าใจและมีความหมายในสิ่งที่เรียนมากยิ่งขึ้นอีก
5. การพลศึกษาจะช่วยให้นักเรียนได้มีเจตคติต่อการพลศึกษา การกีฬาและการออกกำลังกายดีขึ้น
กระบวนเรียนการสอนวิชาพลศึกษาที่ดีและได้ผลจริงๆนั้นเป็นกระบวนการเรียนการสอนเพื่อให้นักเรียนได้มีความรักและผูกพันในสิ่งที่เรียนเพื่อให้สามารถนำไปปใช้ในชีวิตประจำวันจริงทั้งในปัจจุบันและอนาคตเป็นสิ่งสำคัญที่มากกว่าการเรียนเพื่อสอบเอาคะแนน หรือเรียนให้พอผ่านๆไปเท่านั้น หรือจะกล่าวอีกนัยหนึ่งคือว่า ความสำเร็จของกระบวนการจัดการเรียนการสอนวิชาพลศึกษานั้นอยู่ที่ว่านักเรียนมีความรักและความผูกพันในสิ่งที่เรียนและสามารภนำสิ่งที่เรียนนั้นไปใช้ในชีวิตประจำวันจริงได้มากน้อยแค่ไหนมากกว่าคะแนนที่จะได้เป็นสำคัญ
ความเชื่อมโยงการขัดเกลาทางสังคมกับหลักการทางพลศึกษา
เราสามารถอธิบายและขยายความถึงหลักการพลศึกษาที่มีผลต่อการขัดเกลาสังคมดังนี้
1. การขัดเกลาสังคมทางตรง พลศึกษาเป็นการพัฒนาผู้เรียนให้มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับ
สุขภาพ กีฬาและผลักดันให้ผู้เรียนมีพัฒนาการทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจในที่นี้จะกล่าวถึงครูพลศึกษาต้องเข้าใจหลักการพลศึกษาเพื่อพัฒนาให้ผู้เรียนนั้นบรรลุเป้าหมายในที่นี้ได้แก่การเข้าใจตนเอง ตะหนักรู้ถึงสุขภาวะทางกายและจิตใจ รวมทั้งการอยู่ร่วมกันในสังคมโดยใช้กฎ กติกา มารยาทร่วมกันโดยแบ่งตามหลักพลศึกษาดังนี้
1.1 ให้องค์ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับสุขภาพ การดูแลรักษา รวมถึงการให้คำแนะนำในการออกกำลังกาย กีฬาอย่างถูกต้อง รวมถึงวิธีการ หลักการออกกำลังกายที่ถูกต้อง เพื่อพัฒนาตนเอง ถือเป็นการให้ความรู้ทางตรง
1.2 ช่วยพัฒนาทักษะการเคลื่อนไหวส่วนต่างๆของร่างกายและทักษะในการเล่นกีฬา ทักษะที่ถูกต้องมีความสำคัญอย่างมากเพื่อใช้พัฒนาความสามารถของผู้เรียน ถือเป็นการฝึกอย่างหนึ่ง เพื่อช่วยกระตุ้นผู้เรียนให้เกิดความสามารถที่ดียิ่งขึ้นและพัฒนามากยิ่งขึ้นไปกว่าเดิม
1.3 เพิ่มความมั่นใจในตนเอง มีความยับยั้งชั่งใจ การมีศีลธรรมประจำตัว กล้าแสดงออกในสิ่งที่ถูกต้อง
1.4 เกิดการเรียนรู้จากการปฏิบัติจริง ทดลองทำด้วยตนเอง รวมทั้งการนำสิ่งที่เรียนมาประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน เป็นการกระตุ้นตนเองให้เกิดการพัฒนาไปสู่เป้าหมายที่วางไว้
1.5 เกิดการรักในการออกกำลังกาย มีทัศนคติที่ดีในการเล่นกีฬา นำเอาองค์ความรู้ทางพลศึกษา กีฬา มาใช้ในชีวิตประจำวันได้อย่างมีความสุข
2. การขัดเกลาทางสังคมทางอ้อม เมื่อมีองค์ความรู้ตามหลักการพลศึกษาที่ได้รับการ
ถ่ายทอดจากครูพลศึกษามาใช้ในชีวิตประจำวันจะก่อให้เกิดองค์ความรู้ใหม่เพื่อต่อยอดในการดำเนินชีวิต เพื่อพัฒนาและขัดเกลาตนเองให้มีความรู้ความสามารถมายิ่งขึ้น
เอกสารอ้างอิง
วรศักดิ์ เพียรชอบ.2548. ปรัชญา หลักการ วิธีสอนและการวัดเพื่อประเมินผลทางพลศึกษา.
กรุงเทพ: สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
จรวย แก่งวงษ์ค า. (2517). หลักการพลศึกษา. กรุงเทพฯ : โอเดียนสโตร์
พระครูอุทุมพรภัทรธรรม (กตปุญโญ/ผ่อนผัน), พระครูสุธีคัมภีรญาณ.ความสัมพันธ์การขัดเกลาทาง
สังคมกับ แนวคิดการขัดเกลาทางสังคมในพระพุทธศาสนา.มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณ
ราชวิทยาลัย วิทยาเขตขอนแก่น: Journal of Buddhist Education and Research :
JBER: หน้า 358- 369