สิ่งมีชีวิตทุกชนิดเกิดพฤติกรรมแบบต่าง ๆ เพื่อปรับตัวให้เข้ากับสิ่งแวดล้อมที่ผันแปรตลอดเวลา เมื่อสิ่งมีชีวิตผ่านกระบวนการคัดเลือกทางธรรมชาติมาอย่างยาวนาน ทำให้เกิดวิวัฒนาการของรูปร่างและพฤติกรรมขึ้น ส่งผลให้พฤติกรรมสามารถถูกถ่ายทอดมาทางพันธุกรรม เกิดเป็นสัญชาติญาณของสัตว์ นอกจากนี้พฤติกรรมยังถูกบ่มเพาะโดยการสั่งสอนหรือเลียนแบบจากรุ่นพ่อแม่สู่รุ่นลูก โดยเฉพาะสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่มีการดูแลตัวอ่อนอย่างดี ในช่วงเวลาดังกล่าวแม่จะสอนวิธีการต่าง ๆ เพื่อให้ลูกสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ และรอดชีวิตจากการถูกล่า ทั้งนี้พฤติกรรมถือว่าเป็นปัจจัยภายใน (intrinsic factors) ที่มีส่วนสำคัญที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงประชากร เพราะถ้าสิ่งมีชีวิตมีการดูแลตนเองให้สะอาด เลือกที่อยู่อาศัยที่ปลอดภัย ออกหาอาหารได้อย่างมีประสิทธิภาพ และรวมกลุ่มอยู่ร่วมกันในสังคมเพื่อช่วยเหลือเกื้อกูลกัน อัตราการรอดชีวิตของสมาชิกในประชากรย่อมสูงขึ้น ส่งผลให้ขนาดประชากรเพิ่มขึ้น โดยพฤติกรรมของประชากรถูกแบ่งออกเป็น 4 ประเภท ซึ่งมีรายละเอียดดังต่อไปนี้ (นิตยา เลาหะจินดา, 2546)
1. การดูแลตนเอง (Maintenance Behavior)
พฤติกรรมการดูแลตนเอง หมายถึงกิจวัตรประจำวันของสัตว์แต่ละชนิดที่มีการดูแลร่างกายของตนเองให้แข็งแรง ปราศจากโรคและตัวเบียนอื่น ๆ พฤติกรรมเหล่านี้ ได้แก่ การดูแลรักษาความสะอาด การนอนหลับพักผ่อน และการขับถ่าย โดยสิ่งมีชีวิตแต่ละชนิดจะมีรูปแบบการดูแลตนเองที่แตกต่างกัน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมที่มันอาศัยอยู่ ยกตัวอย่างเช่น สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมส่วนใหญ่ มีทำความสะอาดร่างกายโดยการกัดขนและเลียขนตนเองอย่างสม่ำเสมอ นอกจากนี้ยังมีการถูกับวัตถุอื่น (ต้นไม้ เสา และก้อนหิน) และการเกา เมื่อเกิดอาการคัน นกส่วนใหญ่จะดูแลตัวเองด้วยการแต่งขน (preening) การจัดและไซร้ขน การเช็ดจะงอยปาก และการใช้น้ำมันจากต่อมเหนือบั้นท้ายช่วยในการแต่งขน เพื่อให้ขนของมันเป็นระเบียบ เพิ่มประสิทธภาพในการบิน การอาบน้ำถือว่าเป็นพฤติกรรมการดูแลตนเองที่สัตว์ส่วนใหญ่ทำอย่างสม่ำเสมอ ช้างชอบอาบน้ำเพื่อคลายร้อนและขจัดริ้น ไร ที่เกาะอยู่บนร่างกาย ควายชอบคลุกตัวเองอนู่ในโคลนเพื่อลดอาการคันตามผิวหนังและคลายร้อน เช่นเดียวกับนกกระจิบที่ชอบอาบน้ำในเวลาที่อากาศร้อนจัด บางครั้งการอาบน้ำของสัตว์บางชนิดก็ไม่จำเป็นต้องใช้น้ำ ดังแสดงในภาพที่ 6.20 ไก่จะมีการคลุกฝุ่น (dust bathing) โดยจะตีปีกในดินละเอียดให้ฝุ่นเข้าไปจับกับสิ่งสกปรกบนร่างกายเพื่อกำจัดปรสิต ไร และเหานก จะเห็นได้ว่าการทำความสะอาดร่างกายของสัตว์ไม่ว่าจะด้วยวิธีการใดก็ตาม มีวัตถุประสงค์เดียวกันคือการกำจัดปรสิตและไรออกจากร่างกาย
พฤติกรรมการขับถ่าย ถือว่าเป็นพฤติกรรมดูแลตนเองเช่นกัน เนื่องจากการขับถ่ายของเสียออกจากร่างกาย ช่วยทำให้ระบบการทำงานของร่ายกายสามารถดำเนินไปได้อย่างปกติ แต่เมื่อขับถ่ายออกมาแล้วมูลเหล่านั้นต้องไม่ปนเปื้อนกับอาหารที่สัตว์กินเข้าไป มิฉะนั้นเชื้อโรคและปรสิตอาจกลับเข้าสู่ร่างกายของสัตว์และก่อให้เกิดโรคต่าง ๆ ยกตัวอย่างเช่น แมวจะขุดหลุมเพื่อถ่ายอุจาระและกลบอย่างเรียบร้อย สุนัขมักมีการขับถ่ายในบริเวณพื้นที่โล่ง ที่ห่างไกลจากแหล่งอาหารของมัน และนกมักมีการขับถ่ายอุจาระให้ห่างไกลจากรังของมัน เป็นต้น
2. การเลือกที่อยู่อาศัย
การเลือกแหล่งที่อยู่อาศัย (habitat selection) เป็นกระบวนการซึ่งเกิดขึ้นกับสิ่งมีชีวิตแต่ละตัว การตัดสินใจหรือการเลือกแหล่งที่อยู่อาศัยขึ้นอยู่กับปัจจัยต่าง ๆ ได้แก่ ลักษณะทั้งทางกายภาพและชีวภาพของแหล่งที่อยู่อาศัย การปรากฏตัวของสิ่งมีชีวิตชนิดเดียวกัน การปรากฏตัวของสิ่งมีชีวิตชนิดอื่น ช่วงเวลาในการทำกิจวัตรประจำนวน และความแปรปรวบของสภาพภูมิอากาศ เมื่อสิ่งมีชีวิตเข้าสู่สิ่งแวดล้อมใหม่ ในระยะเริ่มแรกของการแพร่กระจาย ความหนาแน่นของประชากรยังอยู่ในระดับต่ำ สิ่งมีชีวิตแต่ละตัวจะเลือกเข้าไปอยู่อาศัยในแหล่งที่อยู่อาศัยที่มีความเหมาะสมมากที่สุด เมื่อความหนาแน่นของประชากรเริ่มสูงขึ้นสิ่งมีชีวิตจะเลือกแหล่งที่อยู่อาศัยที่มีความเหมาะสมรองลงมา
ความรู้ความเข้าใจกฏเกณฑ์ที่สิ่งมีชีวิตแต่ละตัวใช้ในการตัดสินใจเลือกที่อยู่อาศัยเป็นกุญแจสำคัญในการทำความเข้าใจการเลือกที่อยู่อาศัยของสิ่งมีชีวิต โดยหลักเกณฑ์ที่สิ่งมีชีวิตใช้ในการเลือกแหล่งที่อยู่อาศัยที่เหมาะสม ได้แก่ อาหารมีปริมาณมากเพียงพอสำหรับการเจริญเติบโตและสืบพันธุ์ สถานที่กำบังตัวและพักผ่อนกว้างขวางพอสำหรับสมาชิกทุกตัว ห่างไกลจากผู้ล่าและของเน่าเสียซึ่งเป็นแหล่งเพาะเชื้อโรคและปรสิต ไม่มีการแก่งแย่งทรัพยากรกับสิ่งมีชีวิตชนิดอื่น และความหนาแน่นของประชากรต่ำ แต่ถ้าความหนาแน่นของประชากรสูงความเหมาะสมจะลดลง เนื่องจากเกิดการแก่งแย่งทรัพยากรกันเอง สมาชิกตัวที่อ่อนแอจะถูกแก่งแย่งแหล่งที่อยู่อาสัยที่เหมาะสมโดยการรุกรานจากตัวที่แข็งแรงกว่า ซึ่งกลายเป็นแรงผลักดันให้ต้องไปอยู่อาศัยในแหล่งที่อยู่อาศัยที่มีความเหมาะสมน้อย นกจากนี้สัตว์บางชนิดมีการเลือกที่อยู่อาศัยใหม่เมื่อถึงวัยเจริญพันธุ์เพื่อหลีกเลี่ยงการผสมพันธุ์ในหมู่พี่น้องที่มีพันธุ์กรรมใกล้เคียงกัน (inbreeding) ยกตัวอย่างเช่น นกบางชนิดเพศเมียจะอพยพออกจากฝูงเพื่อไปสร้างรังในที่ใหม่ สิงโตเพศผู้จะออกจากฝูงเมื่อเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์ กลายเป็นสิงโตโทนออกหากินตัวเดียวหรือไปแย่งฝูงตัวเมียจากตัวผู้ตัวอื่น ๆ ทั้งนี้เพื่อหาโอกาสที่จะผสมพันธุ์กับตัวเมียที่ไม่ใช่พี่น้องร่วมฝูง เป็นต้น
การเลือกแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์บางชนิดมีการถ่ายทอดทางพันธุกรรมยังลูกหลานได้ เป็นสัญชาติญาณและความฝังใจ (imprinting) ที่มีบทบาทสำคัญในการเลือกที่อยู่อาศัย เช่น ปลาแซลมอนสามารถจดจำแม่น้ำหรือลำธารที่บ้านเกิดได้ และเต่าทะเลจะว่ายน้ำกลับมายังแหล่งกำเนิดเพื่อสร้างรังฟักไข่ เป็นต้น อีกทั้งกลไกในการเลือกที่อยู่อาศัยมีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกับกลไกทางวิวัฒนาการ เมื่อสิ่งแวดล้อมเปลี่ยนแปลงไป ประชากรมีความหนาแน่นมากเกินกว่าที่สิ่งแวดล้อมจะรองรับได้ หรือแหล่งที่อาศัยเดิมถูกทำลายโดยจากกิจกรรมของมนุษย์ สิ่งมีชีวิตจะมีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อเอาชีวิตรอด เกิดเป็นกระบวนการคัดเลือกตามธรรมชาติ อาจมีการอพยพเพื่อหาแหล่งที่อยู่อาศัยใหม่ และพัฒนากลไกการเลือกแหล่งที่อยู่อาศัยอย่างระมัดระวัง กลไลดังกล่าวต้องใช้ระยะเวลาในการปรับตัวยาวนาน จนกระทั่งถูกกำหนดโดยพันธุกรรม และสามารถถ่ายทอดไปยังรุ่นลูกรุ่นหลาน กลายเป็นวิวัฒนาการเลือกที่อยู่อาศัย ทำให้ลูกหลานที่ออกมาความสามารถค่อย ๆ ปรับตัวเพื่อเข้าไปอยู่ในแหล่งที่อยู่อาศัยใหม่ได้ (จิรากรณ์ คชเสนี, 2553)
สุดท้ายความรู้เกี่ยวกับพฤติกรรมการเลือกที่อยู่อาศัยของสิ่งมีชีวิตมีส่วนสำคัญในการศึกษาการเปลี่ยนแปลงขนาดของประชากร เนื่องจากการเลือกที่อยู่อาศัยที่เหมาะสม มีอาหารมากเพียงพอต่อการเจริญเติบโต ปลอดภัยจากผู้ล่า สามารถป้องกันตนเองจากการแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศ มีพื้นที่มากพอในการทำรัง และสภาพแวดล้อมเหมาะสมต่อการสืบพันธุ์ ย่อมส่งผลให้ประชากรเพิ่มจำนวนอย่างรวดเร็ว ในขณะที่แหล่งที่อยู่อาศัยที่ไม่ปลอดภัย มีความหนาแน่นของประชาการมากเกินไป มีการแก่งแย่งทรัพยากรค่อนข้างสูง เป็นแหล่งเพาะพันธุ์เชื้อโรคและปรสิต ย่อมส่งผลให้อัตราตามมากกว่าอัตราการเกิด และจำนวนประชากรลดลงในที่สุด
3. พฤติกรรมการหากิน
การออกหากิน (foraging behavior) เป็นพฤติกรรมที่สิ่งมีชีวิตทุกชนิดจำเป็นต้องมี เป็นการนำมาซึ่งอาหารที่จำเป็นต้องใช้ในการดำรงชีวิต สัตว์แต่ละชนิดมีพฤติกรรมการออกหากินที่แตกต่างกัน แต่มีวัตถุประสงค์เดียวกันคือ การหาอาหารให้ได้มากเพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย ในการเสาะแสวงหาแหล่งอาหาร สัตว์จะเลือกหากินในบริเวณที่มีอาหารมากที่สุด เพื่อลดการแก่งแย่งอาหารกับสัตว์ชนิดอื่นที่ต้องการอาหารประเภทเดียวกัน นอกจากนี้การออกหากินต้องคำนึงถึงความปลอดภัยของตนเองจากผู้ล่าเหยื่อหรือศัตรูทางธรรมชาติ โดยการออกหากินในบริเวณที่มีสิ่งกำบังตน ไม่หากินในที่โล่งแจ้ง แต่ถ้าจำเป็นก็จะใช้เวลากินอาหารให้น้อยที่สุด โดยกินอย่างรวดเร็วและขนอาหารชิ้นใหญ่กลับรัง เช่น กระรอก หนู และสุนัข มักกินอาหารในที่โล่งอย่างรวดเร็ว และขนอาหารชิ้นใหญ่กลับรังหรือที่ปลอดภัยเพื่อบริโภคภายหลัง เป็นต้น รูปแบบการออกหากินแบ่งออกเป็น 3 รูปแบบใหญ่ ๆ ตามประเภทของอาหาร ได้แก่ พฤติกรรมการออกหากินของสัตว์กินพืช (herbivore) สัตว์กินสัตว์ (carnivore) และสัตว์ที่กินทั้งพืชและสัตว์ (omnivore)
4. พฤติกรรมในสังคม
พฤติกรรมในสังคม (social behavior) เกิดจากการรวมกลุ่มกันของสิ่งมีชีวิตชนิดเดียวกัน หรือบางครั้งเรียกว่าการรวมฝูง การรวมกลุ่มของสิ่งมีชีวิต (aggregation) เกิดจากสาเหตุหลัก 4 ประการ ได้แก่ ความต้องการแหล่งที่อยู่อาศัยที่แตกต่างกัน การตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กระบวนการสืบพันธุ์ และตอบสนองต่อสภาพการอยู่ร่วมกันในสังคม โดยประโยชน์ของการรวมกลุ่ม ได้แก่ สมาชิกแต่ละตัวช่วยปกป้องซึ่งกันและกัน เพิ่มประสิทธิภาพและโอกาสในการสืบพันธุ์ เพิ่มความหลาหลายของพันธุกรรม และช่วยกันสร้างรังและหาอาหารโดยมีการแบ่งหน้าที่กันทำงานและการทำงานร่วมกัน แต่อย่างไรก็ตามเมื่อสิ่งมีชีวิตที่การรวมกลุ่มกันมากเกินไป จะก่อให้เกิดผลเสียต่าง ๆ ได้แก่ การแก่งแย่งทรัพยากรที่เริ่มมีอยู่อย่างจำกัด สัตว์บางชนิดเกิดความเครียดเนื่องจากอยู่ร่วมกันอย่างหนาแน่นมากเกินไป สิ่งแวดล้อมเสื่อมโทรมอย่างรวดเร็ว และเกิดการแพร่ระบาดของเชื้อโรค (Clarke, 1954; Kimmins, 1997) ดังนั้นการรวมกลุ่มกันถ้ามากเกินไป (overcrowding) หรือน้อยเกินไป (undercrowding) ย่อมส่งผลให้การเจริญเติบโตของประชากรและการอยู่รอดของประชากรมีแนวโน้มลดลง ขนาดของการรวมกลุ่มที่เหมาะสม จะส่งผลให้สิ่งแวดล้อมที่อยู่ใกล้ตัวสิ่งมีชีวิตนั้น ทั้งสภาพภูมิอากาศ (microclimate) และแหล่งที่อยู่อาศัย (microhabitats) มีความเหมาะสมต่อการเจริญเติบโต และเพิ่มอัตราการรอดชีวิตของสมาชิกในประชากร แต่อย่างไรก็ตามขนาดของการรวมกลุ่มที่เหมาะสมของสิ่งมีชีวิตแต่ละชนิดย่อมแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับพฤติกรรมการดำรงชีวิตของสิ่งมีชีวิตและสภาพแวดล้อม เรียกหลักการที่อธิบายขนาดและความหนาแน่นของประชากรที่เหมาะสมนี้ว่า Allee’s principle (Odum, 1971)
จากหลักการดังกล่าวจะเห็นได้ว่าขนาดของการรวมกลุ่มที่เหมาะสม ส่งผลให้ขนาดของประชากรมีแน้วโน้มเพิ่มขึ้นและอัตราการรอดชีวิตสูงขึ้น ทั้งนี้เนื่องจากสมาชิกในกลุ่มเกิดการทำงานร่วมกัน และมีปฏิสัมพันธ์ที่ดีซึ่งกันและกัน โดยพฤติกรรมการแสดงออกของสัตว์เพื่อแสดงความสัมพันธ์กับสมาชิกตัวอื่นในกลุ่มเดียวกัน เรียกว่า พฤติกรรมในสังคม ในหัวข้อที่จะกล่าวดังต่อนี้ได้แบ่งพฤติกรรมในสังคมออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่ พฤติกรรมการเป็นผู้นำฝูง พฤติกรรมการป้องกันรักษาเขต และพฤติกรรมที่เกี่ยวข้องกับการสืบพันธุ์ทั้งหมด ได้แก่ การเกี้ยวพาราสี การเลือกคู่ การผสมพันธุ์ และการดูแลตัวอ่อน
พฤติกรรมการดูแลไข่และตัวอ่อนของสัตว์แต่ชนิดมีลักษณะพิเศษเฉพาะตัว ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับระบบการผสมพันธุ์ ลักษณะการดำรงชีวิต และสรีระร่างกายที่แตกต่างกัน ซึ่งปัจจัยดังกล่าวอาจทำให้สัตว์เลือกเพศใดเพศหนึ่งเหมาะสมที่จะดูแลตัวอ่อนมากกว่า ยกตัวอย่างเช่น สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม เพศเมียมีต่อมน้ำนมจึงเป็นผู้ดูแลและเลี้ยงตัวอ่อน ส่วนเพศผู้อาจช่วยดูแลลูกโดยช่วยป้องกันศัตรูหรือหาอาหารให้ลูก ในสัตว์พวกแมงมุม กุ้ง ปู หมึกสาย และหมึกยักษ์ เพศเมียจะแบกไข่ติดไว้กับตัวจนกว่าจะฟักเป็นตัว ทั้งนี้เนื่องจากเพศผู้มักจะตายหลังจากการผสมพันธุ์ ในปลากระดูกแข็งส่วนมากมักมีการผสมพันธุ์กันภายนอก โดยเพศเมียจะวางเอาไว้จำนวนมาก เมื่อไข่ได้รับการผสมแล้วไข่จะฟักเป็นตัวและหากินเจริญเติบโตด้วยตยเอง แต่ก็มีปลาบางชนิดที่เพศผู้จะเป็นผู้ดูแลไข่ ได้แก่ ปลากัด ปลาปอมปาดัว และม้าน้ำ ส่วนในกรณีของนกอีแจว เพศเมียจะทำรังบนแพพืชน้ำในบึงน้ำจืด แล้วเกี้ยวนกเพศผู้ เมื่อผสมพันธุ์เพศเมียจะวางไข่ 3 – 4 ฟองให้นกเพศผู้กกไข่ เพศเมียจะช่วยดูแลรังอีกประมาณ 1-2 สัปดาห์ แล้วบินไปผสมพันธุ์กับเพศผู้ตัวอื่น ในฤดูกาลสืบพันธุ์ครั้งหนึ่ง นกอีแจวเพศเมียอาจผสมพันธุ์กับเพศผู้ได้มากถึง 4 ตัว โดยแต่ละรังอยู่ในอาณาเขตใกล้เคียงกัน และตัวเมียจะช่วยปกป้องอาณาเขตทุกรัง เมื่อไข่ฟักออกเป็นตัวเพศผู้จะทำหน้าที่ดูแลตัวอ่อนต่อไป (Thong-aree et al., 1995)
เอกสารอ้างอิง
จิรากรณ์ คชเสนี. (2553). นิเวศวิทยาพื้นฐาน (พิมพ์ครั้งที่ 4). กรุงเทพฯ: จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
นิตยา เลาหะจินดา. (2546). นิเวศวิทยา: พื้นฐานสิ่งแวดล้อมศึกษา. กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์.
Clarke, G.L. (1954). Elements of Ecology. Singapore: Toppan Printing.
Kimmins, J.P. (1997). Forest Ecology: A Fundamental for Sustainable Management (2nd edition). USA: Prentice-Hall.
Odum, E.P. (1971). Fundamentals of Ecology (3rd ed.). London: W.B. Saunders Company.
Thong-aree, S., Khobkhet, O., Lauhachinda, V., Phong-umphai, S. (1995). Breeding biology of Pheasant-tailed Jacana Hydrophasianus chirurqus in central Thailand. Natural History Bulletin of th Siam Society 43, 289 – 302.
จัดทำโดย
ผศ.ดร. ชยารัตน์ ศรีสุนนท์
อาจารย์ประจำสาขาวิชาการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา
E-mail: [email protected]
สามารถรับชมข้อมูลเพิ่มเติมได้จาก VDO Link ด้านล่าง
https://youtu.be/umWCXnA3t7M?si=_9rY8bNKQuuE0NIE