บทนำ
ในช่วงเดือนกันยายนนี้ มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยากำลังเข้าสู่พิธีพระราชทาน ปริญญาบัตรสำหรับผู้สำเร็จการศึกษา ทำให้ผู้เขียนหวนนึกถึงพระบรมราโชวาทของในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่พระราชทานแก่ผู้สำเร็จการศึกษาจากสถาบันการศึกษาต่าง ๆ ซึ่งล้วนมีแง่คิดคำสอนให้บุคคลเห็นความสำคัญของการศึกษา เป็นผู้ใฝ่รู้ใฝ่เรียน นำความรู้ที่ได้รับไปต่อยอด พัฒนา เพื่อประโยชน์แก่ตนเอง สังคมและประเทศชาติบ้านเมืองต่อไป อีกทั้งไม่กี่เดือนข้างหน้ากำลังจะย่างก้าวเข้าสู่เทศกาลส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ ยิ่งทำให้ผู้เขียนนึกถึงการส่งมอบความสุขให้แก่กันเพื่อเริ่มต้นสิ่งดี ๆ ในปีใหม่ที่กำลังจะเกิดขึ้น นอกจากนี้พวกเราชาวไทยยังได้รับความรัก ความปรารถนาดี และข้อคิดที่ดีมีสาระจากพระมหากษัตริย์ไทย ด้วยการพระราชทานพรปีใหม่ผ่านพระบรมราโชวาท พระราชดำรัส และบัตรส่งความสุข หรือที่เรียกว่า ส.ค.ส. พระราชทาน จากในหลวงรัชกาลที่ 9 ซึ่งทรงประดิษฐ์ขึ้นด้วยพระองค์เอง เพื่อพระราชทานให้แก่ประชาชนชาวไทยเนื่องในโอกาสวันขึ้นปีใหม่ โดยข้อความใน ส.ค.ส. แต่ละปีจะประมวลขึ้นจากเหตุการณ์บ้านเมือง การเปลี่ยนแปลงในสังคม โดยแฝงคำสอนและข้อคิดเพื่อนำไปปรับใช้ได้จริง อีกทั้งพระราชทานคำอวยพรเพื่อเป็นกำลังใจในการเริ่มต้นปีด้วยปัญญาและสติได้เป็นอย่างดี ดังข้อความที่ว่า “ขอจงมีความสุขความเจริญ Happy New Year” ซึ่งถือเป็นของขวัญปีใหม่ที่ล้ำค่า และแสดงถึงความรัก ความห่วงใยของพระองค์ท่านที่มีต่อพวกเราชาวไทยทุกคน
1. พระบรมราโชวาท
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 ให้ความหมายคำว่า “พระบรมราโชวาท” ว่าหมายถึง คำสั่งสอนของ พระมหากษัตริย์เกี่ยวกับเรื่องใดเรื่องหนึ่ง โดยมีความหมายลึกซึ้ง กินใจ มีคุณประโยชน์ต่อการยึดถือเป็นแบบอย่างในการดำเนินชีวิต หรือเป็นคติเตือนใจให้แก่พสกนิกรชาวไทย โดยปรากฏเนื้อหาแบ่งออกเป็นหลายด้าน เช่น ด้านการศึกษา ด้านการปฏิบัติหน้าที่การงาน ด้านความประพฤติ ด้านการพัฒนาและป้องกันประเทศ เป็นต้น โดยในด้านการศึกษา ซึ่งหมายถึง การเล่าเรียน ฝึกฝน และอบรมนั้น ทรงชี้ให้เห็นว่า การศึกษาถือเป็นสิ่งที่มีความสำคัญยิ่ง เพราะเป็นพื้นฐานในการพัฒนาบุคคล หากเรามีความรู้ความสามารถ ก็ย่อมที่จะสร้างตัว สร้างฐานะให้มั่นคง และช่วยพัฒนาสังคมและประเทศชาติให้เจริญได้
1.1 แนวคิดคำสอนในพระบรมราโชวาทด้านการศึกษา
การศึกษาเป็นสิ่งที่สำคัญ ทำให้คนเราสามารถนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ได้ทั้งในการปฏิบัติหน้าที่ การงาน การแก้ปัญหาต่าง ๆ ในการดำเนินชีวิต โดยพระบรมราโชวาทของในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่ได้พระราชทานแก่ผู้สำเร็จการศึกษาจากสถาบันการศึกษาต่าง ๆ ปรากฏแนวคิดที่สำคัญดังตัวอย่างที่ผู้เขียนได้ศึกษาวิเคราะห์ เช่น
1.1.1 หมั่นศึกษาหาความรู้อยู่เสมอด้วยความเพียรพยายามควบคู่กับมีคุณธรรม
“การศึกษาเล่าเรียนเป็นเรื่องที่ไม่สิ้นสุด ผู้ปรารถนาความเจริญในการประกอบกิจการงาน จะต้องหมั่นเอาใจใส่แสวงหาความรู้ให้เพิ่มพูนอยู่เสมอ มิฉะนั้นจะกลายเป็นผู้ที่ล้าสมัยหย่อนสมรรถภาพไป อีกประการหนึ่ง ความเจริญของบ้านเมืองนั้น ใช่ว่าจะราบรื่นไปตลอด โดยมีผู้ทรงคุณวุฒิที่สามารถปราดเปรื่องแต่เท่านั้นก็หาไม่ ต้องอาศัยความสามัคคีกลมเกลียว ร่วมกันคิดอ่านแก้ไขปัญหาและอุปสรรคต่าง ๆ ให้ลุล่วงไปด้วยดีอีกทางหนึ่ง จึงจะเกิดประโยชน์โดยสมบูรณ์แก่ประเทศชาติ…”
ที่มา : พระบรมราโชวาท ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
วันพฤหัสบดีที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2504
จากพระบรมราโชวาทข้างต้น ปรากฏความงามในภาษา คือ การใช้เทศนาโวหาร ในลักษณะการเขียนเพื่อให้ข้อคิด ชี้แจงให้เห็นความสำคัญในเรื่องการศึกษา ซึ่งเป็นความงามทางความคิดคำสอน โดยมีสาระสำคัญคือ การศึกษาเป็นสิ่งที่สำคัญ ทุกคนจำเป็นต้องหมั่นศึกษาหาความรู้อยู่เสมอ จึงจะเป็นผู้ที่ทันโลก ทั้งนี้การที่โลกไม่เคยหยุดนิ่ง อีกทั้งบ้านเมืองอาจต้องเจอภาวะปัญหาต่าง ๆ นอกจากความรู้ที่เรามีอย่างเดียวคงช่วยแก้ไขอะไรไม่ได้ จะต้องอาศัยความสามัคคีกลมเกลียว ร่วมกันคิดหาทางแก้ไขปัญหา บ้านเมืองประเทศชาติจึงจะสงบสุขและผ่านพ้นวิกฤติต่าง ๆ ไปได้ ซึ่งข้อคิดคำสอนนี้ ในฐานะที่ผู้เขียนเป็นอาจารย์ผู้สอน สามารถน้อมนำคำสอนนี้มาปรับใช้ได้ โดยมีหน้าที่หลักคือการประสิทธิ์ประสาทวิชาความรู้ อีกทั้งควบคู่ไปกับการสอดแทรกคุณธรรมจริยธรรมให้กับผู้เรียน โดยเฉพาะในเรื่องความสามัคคี ซึ่งเป็นคุณธรรมประการหนึ่ง ผู้เรียนสามารถนำไปปรับใช้ได้จริง เช่น ในเรื่องการทำงานร่วมกัน โดยใช้ความรู้ความสามารถที่ทุกคนมีอย่างเต็มที่ ไม่ทะเลาะเบาะแว้ง ร่วมกันทำงานด้วยความตั้งใจ งานทุกอย่างก็จะสำเร็จสมบูรณ์ขึ้นมาได้
1.1.2 ความรู้เฉพาะทาง ศาสตร์แขนงอื่น ๆ รวมทั้งความรู้รอบตัว เป็นสิ่งจำเป็นที่ทุกคนควรศึกษาเรียนรู้อยู่เสมอและให้รอบด้าน
“การศึกษาค้นคว้าที่สำคัญและจำเป็นอย่างแรก คือ การศึกษาทางแนวลึก อันได้แก่การฝึกฝนค้นคว้าวิชาเฉพาะของแต่ละคน ให้เชี่ยวชาญแตกฉานลึกซึ้ง และพัฒนาก้าวหน้า พร้อมกันนั้น ในฐานะ นักปฏิบัติ ซึ่งจะต้องทำงานและแก้ปัญหาต่าง ๆ ร่วมกับผู้อื่นฝ่ายอื่นอยู่เป็นปรกติ ทุกคนจำเป็นต้องศึกษาทางแนวกว้างควบคู่กันไปด้วย การศึกษาตามแนวกว้างนี้ หมายถึง การศึกษาให้รู้ให้ทราบถึงวิทยาการสาขาอื่น ๆ ตลอดจนความรู้รอบตัวเกี่ยวกับสภาวะและวิวัฒนาการของบ้านเมืองและสังคมในทุกแง่มุม เพื่อช่วยให้มองเห็น ให้เข้าใจปัญหาต่าง ๆ อย่างชัดเจนถูกถ้วน และสามารถนำวิชาการด้านของตนประสานเข้ากับวิชาด้าน
อื่น ๆ ได้โดยสอดคล้องถูกต้องและเหมาะสม…”
ที่มา : พระบรมราโชวาท ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของสถาบันเทคโนโลยีราชมงคล ณ อาคารใหม่ สวนอัมพร
วันพฤหัสบดีที่ 19 กรกฎาคม 2533
จากพระบรมราโชวาทข้างต้น ปรากฏความงามในภาษา คือ การใช้เทศนาโวหาร ในลักษณะการเขียนเพื่อให้ข้อคิด ชี้แจงให้เห็นความสำคัญในเรื่องการศึกษา อีกทั้งมีการใช้อธิบายโวหารมาประกอบเพื่อให้ใจความชัดเจน โดยขยายความให้เข้าใจ เกี่ยวกับการศึกษาทางแนวลึก และการศึกษาตามแนวกว้าง ว่าหมายถึงอะไร โดยมีสาระสำคัญ คือ การศึกษาที่จำเป็น คือ การศึกษาเฉพาะด้านในศาสตร์ที่ตนเองถนัดและสนใจ ให้เกิดความรอบรู้และเชี่ยวชาญ ซึ่งเรียกว่า การศึกษาทางแนวลึก ขณะเดียวกัน เรานั้นต้องทำงานร่วมกับผู้อื่น จำเป็นต้องศึกษาเรียนรู้ในศาสตร์อื่น ๆ ควบคู่กันไป ตลอดจนใฝ่หาความรู้รอบตัว เพื่อให้เป็นผู้ที่รอบรู้ ทันคน และก้าวทันโลกที่เปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลา ซึ่งเรียกว่า การศึกษาตามแนวกว้าง
2. ส.ค.ส. พระราชทาน
ในทุก ๆ ปี ในหลวงรัชกาลที่ 9 จะพระราชทานบัตรส่งความสุข หรือที่เรียกว่า “ส.ค.ส. พระราชทาน” ที่ทรงประดิษฐ์ขึ้นด้วยพระองค์เองแก่ประชาชนชาวไทยของพระองค์เนื่องในโอกาสวันขึ้นปีใหม่ ถือเป็นพร ล้ำค่าที่มอบให้แก่พวกเราชาวไทย อีกทั้งยังแฝงคำสอนข้อคิด และคำอวยพร เพื่อนำไปเป็นแนวทางปรับใช้ อีกทั้งเป็นกำลังใจในการดำเนินชีวิตต่อไป
2.1 ความงามในภาษา และความงามทางความคิดคำสอน ที่ปรากฏใน ส.ค.ส. พระราชทาน
เนื้อหาใน ส.ค.ส. พระราชทาน มีความงามทางด้านภาษาที่ได้กลั่นกรองไว้เป็นอย่างดีในเชิงวรรณศิลป์ และเนื้อหาใน ส.ค.ส. พระราชทาน มีทั้งให้ความรู้ แง่คิด มีคุณค่าในด้านต่าง ๆ เรียกได้ว่าเป็นความงามทางความคิดคำสอน ที่สามารถนำมาปรับใช้ได้จริงในชีวิตประจำวัน ดังตัวอย่างที่ผู้เขียนได้ศึกษาวิเคราะห์ เช่น
ขอจงมีความสุขความเจริญ
ไม่เบียดเบียน นำความสวัสดี
จิตใจมั่นคง นำความสุข
ฉลาดรอบรู้ นำความเจริญ
สวัสดีปีใหม่ 2533
Happy New Year
จากข้อความใน ส.ค.ส. พระราชทานปี พ.ศ. 2533 ปรากฏความงามในภาษา เช่น การซ้ำคำ โดยนำคำว่า “นำ” มาซ้ำกันหลายตำแหน่ง คือ นำความสวัสดี นำความสุข และนำความเจริญ เพื่อเน้นย้ำข้อความข้างหน้าว่าหากปฏิบัติหรือมีลักษณะเช่นนั้นแล้ว ย่อมนำพาผลดีมาสู่ผู้ปฏิบัติ ในส่วนความงามทางความคิด คำสอน เน้นในเรื่องของคุณธรรม คือ ความไม่เบียดเบียน ซึ่งหมายถึง การกระทำที่ไม่ทำให้ผู้อื่นเดือดร้อน ในเรื่องอารมณ์ ที่ต้องมั่นคงไม่หวั่นไหว และในเรื่องของสติปัญญา ที่ต้องพากเพียรศึกษา ใฝ่รู้ ใฝ่เรียน และนำความรู้ไปต่อยอดพัฒนาตนเองและประเทศชาติต่อไป ซึ่งหากปฏิบัติเช่นนี้ได้ ย่อม “นำ” แต่สิ่งดี ๆ มาสู่ผู้ปฏิบัติทุกคน
สวัสดีปีใหม่
ใจเอ๋ยใจ
ใจเอ๋ยใจคว่ำ
หายใจยาว
ใจดีสู้เสือ
ขอจงมีความสุขความเจริญ
Happy New Year
จากข้อความใน ส.ค.ส. พระราชทานปี พ.ศ. 2541 ปรากฏความงามในภาษา เช่น การซ้ำคำ โดยนำคำว่า “ใจ” มาซ้ำหลายตำแหน่ง เพื่อเน้นย้ำความสำคัญของคำว่า “ใจ” ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำหน้าที่รู้ รู้สึก นึก และคิด นอกจากนี้มีการดัดแปลงคำกล่าวที่ว่า “ใจหายใจคว่ำ” เป็น “ใจเอ๋ยใจคว่ำ” โดยมีความหมายเป็นไปทำนองเดียวกัน หมายถึง ใจไม่อยู่กับเนื้อกับตัว อีกทั้งมีการยกสำนวนเดิม “ใจดีสู้เสือ” มาประกอบ โดยมีความหมายว่า ทำใจให้เป็นปกติเมื่อเผชิญกับสิ่งที่น่ากลัว (วิจิตรมาตรา, ขุน (สง่า กาญจนาคพันธุ์), 2543 : 155) ปรากฏความงามทางความคิดคำสอน คือ เมื่อต้องเผชิญกับสิ่งที่น่ากลัวหรือเป็นอันตราย แล้วใจไม่อยู่กับเนื้อกับตัว จิตใจหวั่นไหวไปกับเหตุการณ์ตรงหน้า หมั่นฝึกจิตให้นิ่ง ควบคุมจิตให้เป็นปกติ ไม่ไหวไปตามอารมณ์ หายใจยาว ๆ ใจเราก็จะสงบ และมีสติ เมื่อมีสติเราจะสามารถพร้อมรับกับทุกสถานการณ์ที่อยู่ตรงหน้าไม่ว่าจะร้ายหรือดีได้ด้วยปัญญา
นอกจากนี้ ส.ค.ส. พระราชทานในทุก ๆ ปี ยังปรากฏคำอวยพร “ขอจงมีความสุขความเจริญ Happy New Year” เพื่อเป็นการให้กำลังใจชาวไทย ไม่ว่าจะทำอะไรก็มีแต่ความสุข เกิดความเจริญในชีวิต ในปีใหม่ที่กำลังจะเริ่มต้น ซึ่งถือเป็นน้ำ หล่อเลี้ยงจิตใจพวกเราชาวไทย ให้มีกำลังใจก้าวผ่านอุปสรรคต่าง ๆ ที่ต้องประสบพบเจอ มีแรงบันดาลใจเพื่อไปถึงไปสู่ เป้าหมายที่ตั้งใจไว้ได้เป็นอย่างดี
สรุป
“พระบรมราโชวาท และส.ค.ส. พระราชทาน” จากในหลวงรัชกาลที่ 9 จึงเปรียบเสมือนเข็มทิศ อันเป็นแนวทางในการปฏิบัติตนและดำเนินชีวิต “ธ ทรงชี้แนะแนวทาง ปวงราษฎร์ร่มเย็น” ทรงชี้ทิศทาง เป้าหมาย วิถีทาง ให้กับพสกนิกรชาวไทย เพราะหากถ้าเราไร้ซึ่งเป้าหมาย ก็คงเหมือนกับคนหลงทิศว่ายน้ำอยู่กลางมหาสมุทร ผู้เขียนในฐานะชาวไทยคนหนึ่ง น้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ท่าน ที่ทรงห่วงใยประชาชนชาวไทยเสมอมา จะจดจำและสืบสานคำสอนเพื่อนำไปปฏิบัติให้เกิดประโยชน์ทั้งแก่ตนเองและส่วนรวมต่อไป
เอกสารอ้างอิง
กระทรวงวัฒนธรรม. (2559). 99 พระบรมราโชวาท น้อมนำราษฎร์ร่มเย็นเป็นสุขศานต์. (พิมพ์ครั้งที่ 2).
กรุงเทพฯ: กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานปลัดกระทรวงวัฒนธรรม.
ยอดเยี่ยม เทพธรานนท์. (2566). ส.ค.ส.พระราชทานจากในหลวงรัชกาลที่ 9. กรุงเทพฯ:
บริษัท บานาน่า ปริ้นท์ จำกัด.
ราชบัณฑิตยสถาน. (2556). พจนานุกรมราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554. กรุงเทพฯ: นานมีบุ๊คส์ พับลิเคชั่นส์.
วิจิตรมาตรา, ขุน (สง่า กาญจนาคพันธุ์). (2543). สำนวนไทย. (พิมพ์ครั้งที่ 5). กรุงเทพฯ: โรงเรียนภาษา
และวัฒนธรรมสมาคมส่งเสริมเทคโนโลยี (ไทย-ญี่ปุ่น).
Post Today. (2559). รวม “ส.ค.ส.พระราชทาน” 2530-2559. สืบค้น 10 กันยายน 2567,
จาก https://www.posttoday.com/politics/460571