เผด็จ ก๋าคำ*
เชื่อว่าหลายท่านคงเคยได้ยินหรือคุ้นเคยกับคำว่า “ผีน้อย” ซึ่งเป็นคำเรียกแรงงานไทยในเกาหลีใต้ที่ไม่มีใบอนุญาตทำงานหรือแรงงานผิดกฎหมายนั่นเอง แรก ๆ ผู้เขียนก็สงสัยว่าทำไมต้องเรียกแรงงานผิดกฎหมายในเกาหลีใต้ว่า “ผีน้อย” ด้วยความสนใจในเรื่องนี้ผู้เขียนจึงพยายามศึกษาหาข้อมูลจากเอกสารต่าง ๆ ก็พอจะประมวลความได้ว่า คำว่า “ผี” ในภาษาไทยมักใช้เปรียบเปรยสิ่งที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมายเช่น เวลามีการเลือกตั้งเราก็มักจะได้ยินคำว่า “บัตรผี” หรือ “คะแนนผี” อยู่เนือง ๆ นั่นก็หมายความว่า เป็นบัตรเลือกตั้งที่ผิดกฎหมายหรือคะแนนเลือกตั้งที่ได้มาไม่ถูกต้องตามกฎหมายนั่นเอง คำว่า “ผีน้อย” จึงถูกนำมาเรียกแรงงานที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมายในเกาหลีใต้ ซึ่งเป็นที่รู้และเข้าใจกันดีในกลุ่มแรงงานผิดกฎหมายในเกาหลีใต้ซึ่งเป็นการทำงานแบบไม่มีการคุ้มครองทางกฎหมายใด ๆ นั่นเอง
ประเทศเกาหลีใต้ เป็นจุดหมายปลายทางหนึ่งโดยเฉพาะคนไทยนิยมไปเที่ยวประเทศเกาหลีใต้เป็นจำนวนมาก ผู้เขียนได้มีโอกาสไปเยือนเกาหลีใต้อยู่บ้างก็จะสังเกตเห็นว่าในเที่ยวบินแต่ละครั้งจะเต็มไปด้วยคนไทย และพอไปในแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ ๆ ก็จะพบเจอกลุ่มคนไทยด้วยกันเสมอ ๆ นั่นก็แสดงว่าคนไทยให้มีความนิยมไปท่องเที่ยวเกาหลีใต้เป็นจำนวนมาก อย่างไรก็ตามในกลุ่มของผู้ที่เดินทางไปประเทศเกาหลีใต้ มักจะได้ยินหัวหน้าทัวร์กำชับเสมอ ๆ ว่าต้องแต่งกายให้เหมาะสมโดยเฉพาะอย่างยิ่งสุภาพสตรี และเตรียมตอบคำถามเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองตามเอกสารที่หัวหน้าทัวร์ได้มอบให้ เพื่อมิให้เกิดปัญหาถูกกักตัวหรือส่งตัวกลับประเทศไทย ด้วยเหตุผลที่ว่ามีคนไทยจำนวนมากลักลอบเข้าไปทำงานในเกาหลีใต้อย่างผิดกฎหมายโดยใช้หนังสือเดินทางในฐานะนักท่องเที่ยวนั่นเอง
บทความนี้ผู้เขียนมีจุดมุ่งหมายที่จะเขียนถึงสาเหตุที่คนไทยจำนวนไม่น้อยยอมเสี่ยงในหลาย ๆ เรื่องเพื่อให้ตนเองได้ทำงานในเกาหลีใต้ทั้ง ๆ ที่รู้ว่าเป็นแรงงานผิดกฎหมาย และด้วยวิธีการใดบ้างจึงสามารถเข้าไปทำงานได้ รวมถึงสภาพชีวิตของแรงงานผิดกฎหมายหรือ “ผีน้อย” ซึ่งข้อมูลเหล่านี้ผู้เขียนได้สังเคราะห์จากบทความวิชาการและงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับแรงงานผิดกฎหมายในเกาหลีใต้
……………………..……………………………………………………………………………………………………………………………………………………………
*ผู้ช่วยศาสตราจารย์ สาขาวิชาการจัดการศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา
ข้อมูลจากสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองเกาหลีใต้พบว่า ในปี 2018 มีคนไทยในเกาหลีใต้จำนวน 168,711 คน เป็นแรงงานที่ผิดกฎหมายหรือ “ผีน้อย” ราว ๆ 140,000 คน ปัจจุบันปี 2023 คาดว่ามีจำนวน “ผีน้อย” เพิ่มขึ้นอีกจำนวนมาก ท่านผู้อ่านคงเกิดคำถามในใจหลาย ๆ คำถามเช่น ประเทศเกาหลีใต้ไม่มีมาตรการใด ๆ ในการจับกุมหรือส่งแรงงานกลับประเทศไทยเลยหรือ ทำไมปล่อยให้ “ผีน้อย” เพิ่มจำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ สถานเอกอัครราชทูตไทยในเกาหลีใต้ไม่เข้ามาดำเนินการหรือดูแล “ผีน้อย” เลยหรือ ผู้เขียนก็เคยมีคำถามในใจเช่นนี้เหมือนกัน
เหตุใดคนไทยต้องไปทำงานที่เกาหลีใต้
อันที่จริงคนไทยไปทำงานหรือขายแรงงานในประเทศต่าง ๆ หลายประเทศทั่วโลก ดั้งเดิมคนไทยนิยมไปทำงานในประเทศแถบตะวันออกกลางเช่น ประเทศซาอุดิอาระเบีย แต่ด้วยปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น ความนิยมก็ลดน้อยลงไป ต่อมาช่วงหลังประเทศในกลุ่มเอเชียก็เป็นที่นิยมกันมากของกลุ่มแรงงานไทยเช่น สิงคโปร์ ไต้หวัน ญี่ปุ่น และโดยเฉพาะอย่างยิ่งสาธารณรัฐเกาหลีหรือเกาหลีใต้ สาเหตุประเด็นหลักคือ ค่าตอบแทนมีอัตราสูงกว่าการทำงานในประเทศไทย ทำให้มีคนไทยจำนวนมากต้องการไปทำงานที่เกาหลีใต้ทั้งแบบถูกกฎหมายและแบบผิดกฎหมาย (ภาวนา เพ็ชรพราย : 38)
สาเหตุหลักที่คนไทยนิยมเดินทางไปทำงานที่เกาหลีใต้ พอประมวลได้ดังนี้
1. การเดินทางเข้าสู่ประเทศเกาหลีใต้สามารถทำได้โดยง่าย ใช้เพียงแค่หนังสือเดินทาง (Passport) เท่านั้นเอง
2. ระยะเวลาในการเดินทางเพียง 5 ชั่วโมง และค่าเดินทางราคาไม่แพงจนเกินไป
3. ค่าตอบแทนหรือค่าแรงสูงกว่าประเทศไทยค่อนข้างมาก
อัตราค่าจ้างขั้นต่ำของเกาหลีใต้ ในปี 2563 ตามประกาศของกระทรวงการจ้างงานและแรงงาน ได้กำหนดอัตราจ้างขั้นต่ำเป็นอัตราชั่วโมงละ 8,590 วอน คิดเป็นเงินไทยประมาณชั่วโมงละ 229 บาท ดังนั้นถ้าทำงานสัปดาห์ละ 40 ชั่วโมง จะได้ค่าจ้างเดือนละห้าหมื่นกว่าบาท ซึ่งยังไม่รวมค่าล่วงเวลาหรือเงินรางวัลอื่น ๆ ดังนั้นรายได้ที่ค่อนข้างสูงจึงเป็นแรงจูงใจหลักที่ทำให้คนไทยไปทำงานในเกาหลีใต้ คนงานไทยสามารถส่งเงินกลับมายังครอบครัวได้อย่างน้อยเดือนละ20,000 –30,000 บาทซึ่งภาวะเศรษฐกิจปัจจุบันทำได้ยากในประเทศไทย
ทำไมแรงงานไทยไม่ไปทำงานแบบถูกกฎหมาย
มีเหตุผลที่น่าสนใจหลายประการที่คนไทยจำนวนมากไม่สนใจที่จะไปทำงานแบบถูกกฎหมายซึ่งงานวิจัยของณัฐกรมั่นจิตต์(ณัฐกรมั่นจิตต์และกตัญญู หิรัญญสมบูรณ์:15) พบว่า การไปทำงานของแรงงานไทยในสาธารณรัฐเกาหลีอย่างถูกกฎหมายนั้นต้องผ่านการสอบและคัดเลือกโดยกรมการจัดหางานกระทรวงแรงงานผ่านโครงการการอนุญาตจ้างแรงงานต่างชาติ (EmploymentPermitSystem:EPS)ซึ่งมีขั้นตอนการสมัครและการคัดเลือกที่ค่อนข้างยุ่งยากและซับซ้อนโดยปัญหาส่วนใหญ่ที่ทำให้ไม่ผ่านการคัดเลือกคือสอบไม่ผ่านภาษาเกาหลี และนายจ้างเกาหลีมักนิยมคัดเลือกแรงงานเพศชายมากกว่าเพศหญิงนอกจากนั้นในประเด็นภาษาเกาหลีต้องมีใบรับรองจากโรงเรียนสอนภาษาเกาหลีที่ต้องจ่ายค่าเรียนราว9,500 บาทอีกด้วยและเมื่อเข้ารับการคัดเลือกแล้วก็ไม่มีความมั่นใจว่าจะได้รับเลือกหรือไม ต้องรอผลเป็นเวลานานบางคนต้องรอถึง 2 ปีกว่า บางคนไม่ถูกเลือกก็มี ดังนั้นการไปทำงานแบบผิดกฎหมายจึงเป็นทางเลือกที่ทำให้คนไทยจำนวนมากตัดสินใจไป
แรงผลักดันหรือแรงจูงใจที่ทำให้แรงงานตัดสินใจเลือกที่จะเดินทางไปทำงานอย่างผิดกฎหมายที่สำคัญคือรายได้หรือค่าตอบแทนที่สูงกว่าการทำงานในประเทศไทยแม้จะรู้ว่าผิดกฎหมายก็ทราบว่าบทลงโทษไม่รุนแรงเช่นการถูกส่งตัวกลับเมื่อถูกจับได้และไม่มีคดีติดตัวเมื่อเทียบกับผลประโยชน์ที่ได้รับก็จะคุ้มค่ากว่า (นิมนตรา ศรีเสน:162)
ช่องทางการไปทำงานแบบผิดกฎหมาย
รูปแบบการไปทำงานแบบผิดกฎหมายนั้น ดนย์ ทาเจริญศักดิ์ (ดนย์ ทาเจริญศักดิ์ :2561) ได้ศึกษาวิจัยจากการสัมภาษณ์แรงงานผิดกฎหมายในเกาหลีใต้ 15 คนสรุปได้ว่ามีวิธีการอยู่ 3 วิธีการดังนี้
1.ติดต่อนายจ้างโดยตรงแรงงานบางคนรู้จักนายจ้างโดยตรงอยู่แล้วจึงสามารถติดต่อส่วนบุคคลตัวอย่างเช่นแรงงานคนหนึ่งให้สัมภาษณ์ว่า รู้จักนายจ้างตอนมาเที่ยวเมืองไทยและชักชวนให้ไปทำงานในฟาร์มที่เกาหลีใต้ เธอจึงตัดสินใจไปเพราะได้ค่าจ้างสูงและต้องการส่งเงินให้น้องชายเรียน
2. การชักชวนของเพื่อนแรงงานด้วยกัน วิธีนี้เป็นวิธียอดนิยมในกลุ่ม “ผีน้อย” เป็นการชักชวนคนในครอบครัวหรือเพื่อให้มาทำงานด้วยกัน โดยแรงงานจะรู้สึกไว้วางใจมากกว่าวิธีอื่น ลดความเสี่ยงและค่าใช้จ่ายของแรงงานหน้าใหม่ และเป็นการเสริมให้ชุมชนคนไทยในเกาหลีใต้ให้เข้มแข็งยิ่งขึ้น
3. เอเจนซี่ มีหลายเอเจนซี่ดำเนินธุรกิจผ่านสื่อออนไลน์เช่น เฟซบุ๊กและแอปพลิเคชันต่าง ๆ และมีการเรียกเก็บค่านายหน้า ทำให้สะดวกสำหรับคนที่อยากไปทำงานแต่ไม่มีคนรู้จักในเกาหลีใต้ แรงงานคนหนึ่งให้สัมภาษณ์ว่าต้องจ่ายให้นายหน้า 5 หมื่นบาท มีเอเจนซี่มารับที่สนามบินเพื่อไปส่งยังโรงงาน และยังช่วยหาที่พักให้อีกด้วย
การเคลื่อนย้ายแรงงานไทยไปทำงานที่เกาหลีใต้ มีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบความนิยมจากการเดินทางโดยอาศัยนายหน้าหรือเอเจนซี่ ไปเป็นการเดินทางด้วยตนเองโดยมีผู้ให้ความช่วยเหลืออยู่ที่ปลายทางแทนมากขึ้น แต่การหางานทำผ่านเอเจนซี่ยังคงมีการดำเนินการอยู่
สภาพชีวิต “ผีน้อย”ในเกาหลีใต้
ถึงตรงนี้หลาย ๆ ท่านคงมีคำถามว่า “ผีน้อย” มีสภาพชีวิตอย่างไรในเกาหลีใต้ ผลการศึกษาของภาวนา เพ็ชรพราย (ภาวนา เพ็ชรพราย: บทคัดย่อ) พบว่า แรงงานแบบถูกกฎหมายย่อมได้รับการคุ้มครองทางกฎหมายเช่น สวัสดิการด้านประกันอุบัติเหตุและสุขภาพ วันลา วันหยุด เงินพิเศษสิ้นปี ที่พัก รวมถึงการตรวจสุขภาพประจำปี ในขณะที่ “ผีน้อย” อาจได้รับสวัสดิการพื้นฐาน แต่จะไม่ได้รับสวัสดิการด้านประกันอุบัติเหตุและการเจ็บป่วย รวมถึงไม่ได้รับการตรวจสุขภาพประจำปี นอกจากนี้อาจได้รับการเผชิญกับสภาพการทำงานที่เลวร้าย และต้องใช้ชีวิตอยู่อย่างหลบ ๆ ซ่อน ๆ เนื่องจากอาจถูกจับได้และส่งตัวกลับประเทศไทยทันที
อย่างไรก็ตามชีวิตของ “ผีน้อย”ก็ไม่ได้มีด้านลบหรือเลวร้ายเสียทีเดียว ถ้าเป็นเช่นนั้นเชื่อว่าจำนวน “ผีน้อย” คงจะลดลงเรื่อย ๆ แต่ตรงข้ามจำนวนสถิติ “ผีน้อย” ในเกาหลีใต้กลับเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่องจากการศึกษาของดนย์ ทาเจริญศักดิ์ (ดนย์ ทาเจริญศักดิ์ : 2561) พบว่าระดับของงานที่ “ผีน้อย” ทำมีการพัฒนาขึ้น จากที่เคยทำงานไร้ฝีมือหรืองานที่มีความเสี่ยงเช่น งานในโรงงาน งานเกษตรกรรม งานก่อสร้าง หรืองานร้านนวด เปลี่ยนเป็นการจ้างงานในร้านอาหารเกาหลี ร้านสะดวกซื้อเกาหลี ทำให้สังคมไทยในเกาหลีใต้โตขึ้นมาก มีการปรับตัวเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในสังคมเกาหลีใต้ และมีส่วนในการปรับเปลี่ยนวัฒนธรรมบางอย่างให้เป็นส่วนหนึ่งของสังคมเกาหลี สังคมเกาหลีไม่ได้มีทัศนคติที่ไม่ดีต่อ “ผีน้อย” มีการสังสรรค์ดื่มเหล้าที่ร้านอาหารไทย มีการร้องเพลงคาราโอเกะไทย มีการใช้ชีวิตร่วมกันอย่างปกติ นับว่าเป็นการสร้างสถานการณ์ให้มีความปลอดภัยขึ้น ยิ่งจะเป็นการส่งเสริมให้มีการดึงแรงงาน “ผีน้อย” เข้าไปยังเกาหลีใต้เพิ่มขึ้นไปอีก
บทสรุป
การเข้ามาทำงานแบบผิดกฎหมายของแรงงานไทยที่เป็นที่รู้จักกันว่า “ผีน้อย” ยังคงมีและดำเนินการอยู่ต่อไป ตราบใดที่สภาพทางเศรษฐกิจของคนไทยในระดับล่างยังอยู่ในระดับที่เรียกว่าคนจน ยังไม่สามารถแก้ไขได้ การดิ้นรนเพื่อความเป็นอยู่ที่ดีกว่าย่อมเป็นทางเลือกของคนกลุ่มนี้ นอกจากนั้นยังพบว่าการเข้ามาของแรงงานผิดกฎหมายยังสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับชุมชนในเกาหลีใต้ ชาวเกาหลีบางส่วนดัดแปลงบ้านตนเองมาแบ่งให้ “ผีน้อย” เช่า ร้านขายของในเกาหลีนำสินค้าไทยมาวางจำหน่าย ถือว่าได้ประโยชน์ทั้งสองฝ่าย ทำให้เศรษฐกิจในพื้นที่หมุนเวียน ดังนั้นแรงงาน “ผีน้อย” ไม่เพียงแต่เป็นที่ต้องการของตลาดแรงงาน แต่ยังสร้างประโยชน์ทางเศรฐกิจให้กับท้องถิ่นอีกด้วย
เอกสารอ้างอิง
กิริยา กุลกลการ. “แรงงานไทยผิดกฎหมายในสาธารณรัฐเกาหลี: สาเหตุและแนวทางแก้ไข”.
Jounal f HRintelligence. 14 (1). (มกราคม-มิถุนายน 2562).
ดนย์ ทาเจริญศักดิ์. (2561). A study of Thai Illegal Workers in South Korea. แรงงานผีน้อยไทย
ในเกาหลี. โซล. มหาวิทยาลัยชอนนัม.
นิมนตรา ศรีเสน. (2562). การเคลื่อนย่ายของแรงงานไทยกับสภาวะผิดกฎหมายในเกาหลีใต้. กรุงเทพฯ:
คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย.
ภาวนา เพ็ชรพราย. การศึกษาเปรียบเทียบสิทธิเสรีภาพของแรงงานถูกกฎหมายและผีน้อยใน
สาธารณรัฐเกาหลี. วารสารมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่. 2
(2).(2563).