ปัจจุบันการพัฒนาหลักสูตรสาขาวิชาพลศึกษาระดับอุดมศึกษามีความจำเป็นที่จะต้องพัฒนาหลักสูตรให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้ใช้บัณฑิต ทำให้เกิดความเฉพาะเจาะจงลงไปถึงความสมรรถนะของบัณฑิตที่จบการศึกษาออกไปให้เป็นไปตามกฏกระทรวง เรื่องมาตรฐานคุณวุฒิระดับอุดมศึกษา พ.ศ. 2565 ในข้อ 7 ผลลัพธ์การเรียนรู้ของผู้สำเร็จการศึกษาทุกระดับมาตรฐานคุณวุฒิระดับอุดมศึกษา ต้องมีอย่างน้อยสี่ด้าน ดังต่อไปนี้ (1) ด้านความรู้ (2) ด้านทักษะ (3) ด้านจริยธรรม (4) ด้านลักษณะบุคคล นอกจากนี้ประกาศคณะกรรมการมาตรฐานการอุดมศึกษาเรื่อง รายละเอียดผลลัพธ์การเรียนรู้ตามมาตรฐานคุณวุฒิระดับอุดมศึกษา พ.ศ. 2565 ได้ให้ความหมายถึงผลลัพธ์การเรียนรู้ตามคุณวุฒิแต่ละระดับ ต้องสอดคล้องกับอัตลักษณ์ของหลักสูตรสถาบันอุดมศึกษา วิชาชีพ ประเทศชาติ และบริบทโลก ประกอบด้วยอย่างน้อย 4 ด้าน ได้แก่
1. ความรู้ (Knowledge ) หมายถึง สิ่งที่สั่งสมมาจากการศึกษาเล่าเรียน การค้นคว้า หรือประสบการณ์ที่เกิดจากหลักสูตร ซึ่งเป็นสิ่งที่จำเป็นและเพียงพอต่อการนำไปปฏิบัติ หรือต่อยอด ความรู้ในการประกอบอาชีพ ดำรงชีวิต อยู่ร่วมกันในสังคม และพัฒนาอย่างยั่งยืน สำหรับการดำรงชีวิต ในยุคดิจิทัล
โครงสร้างของความรู้สำหรับแต่ละระดับคุณวุฒิ มีดังนี้
1. ความรู้เชิงสาระ/หลักการ ความรู้เชิงกระบวนการ และความรู้ที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต
2. ความรู้ที่จำเป็นต่อการเชื่อมโยง การปรับใช้ การต่อยอดความรู้ที่นำไปสู่การพัฒนาและการทำงานร่วมกัน
สำหรับระดับปริญญาตรี ได้แก่ความรู้ที่จำเป็นและเพียงพอต่อการนำไปปฏิบัติต่อยอด
ความรู้ ปรับใช้ความรู้เพื่อการพัฒนางาน
หลักสูตรสาขาพลศึกษา
หลักสูตรมุ่งเน้นให้นักศึกษามีองค์ความรู้ที่เกี่ยวข้องกับ หลักวิทยาศาสตร์การกีฬาและการออกกำลังกาย หลักพลศึกษา รวมทั้งความรู้ทางด้านวิชาชีพครู จะเห็นได้จากการสะท้อนความต้องการของผู้ใช้บัณฑิตที่ส่วนใหญ่ได้แก่ผู้บริหารโรงเรียน อาจารย์พี่เลี้ยง ผู้ปกครอง รวมทั้งศิษย์เก่าที่จบการศึกษาและเป็นครูในโรงเรียนต่างๆ ได้ให้ความคิดเห็นไปในทางเดียวกันว่าควรมีองค์ความรู้ดังกล่าวข้างต้น
2. ทักษะ (Skills ) หมายถึง ความสามารถที่เกิดจากการเรียนรู้ ฝึกฝนปฏิบัติ ให้เกิดความ
แคล่วคล่อง ว่องไว และชำนาญ เพื่อพัฒนางาน พัฒนาวิชาชีพหรือวิชาการ พัฒนาตน และพัฒนาสังคม สำหรับการดำรงชีวิตในยุคดิจิทัล
โครงสร้างของทักษะสำหรับแต่ละระดับคุณวุฒิ มีดังนี้
1. ทักษะการปฏิบัติงานตามวิชาชีพ หรือตามศาสตร์ที่เกี่ยวข้อง
2. ทักษะทั่วไป ประกอบด้วยทักษะการเรียนรู้ ทักษะส่วนบุคคล ทักษะการทำงานร่วมกับผู้อื่นที่นำไปสู่การพัฒนางาน วิชาชีพ การดำรงชีวิตและการทำงานเพื่อสร้างสรรค์ องค์กร และสังคม ซึ่งเหมาะสมกับการดำรงชีวิตในยุคดิจิทัล
สำหรับระดับปริญญาตรี ได้แก่ 1) ทักษะการเรียนรู้ การเรียนรู้ด้วยตนเอง ในการปฏิบัติและ การปรับปรุงพัฒนางาน เพื่อการประกอบอาชีพ 2) ทักษะด้านดิจิทัล
ตัวอย่างทักษะ : ทักษะการแสวงหาความรู้ด้วยตนเอง (inquiry skills) การคิดเชิงวิพากษ์และคิดอย่างมีวิจารณญาณ (critical thinking) การแสดงเหตุผล (reasoning) ความคิดสร้างสรรค์ (creativity) การเรียนรู้ (learning) การสื่อสาร (communication) ความร่วมมือรวมพลัง (collaboration) การทำงานเป็นทีม (team working) ความเป็นผู้นำ (leadership) ความเป็นผู้ประกอบการ (entrepreneurship) การแก้ไขปัญหา (problem solving) การอยู่ร่วมกับผู้อื่น ทักษะการทำงานที่หลากหลาย (multitasking skills)
หลักสูตรสาขาพลศึกษา
หลักสูตรมุ่งเน้นให้นักศึกษาในทักษะวิชาชีพอันได้แก่การมีทักษะของความเป็นครู นอกจากนี้ยังต้องมีทักษะในการปฏิบัติเกี่ยวกับกีฬา การออกกำลังกาย นอกจากนี้ยังต้องมีทักษะที่สะท้อนถึงความเป็นผู้นำ เป็นผู้ตามที่ดี ทำงานเป็นทีมมีทักษะในการสื่อสารที่สามารถถ่ายทอดองค์ความรู้ต่างๆสู่นักเรียนหรือผู้ที่สนใจได้อย่างเหมาะสมมีทักษะในศตวรรษที่ 21 รวมทั้งมี Soft-Skills
3. จริยธรรม (Ethics ) หมายถึง พฤติกรรมหรือการกระทำระดับบุคคลที่สะท้อน ถึงความ
เป็นผู้มีคุณธรรม ศีลธรรม และจรรยาบรรณ เพื่อประโยชน์ส่วนรวมและส่วนตน ทั้งต่อหน้าและ ลับหลังผู้อื่น
โครงสร้างของจริยธรรมสำหรับแต่ละระดับคุณวุฒิ มีดังนี้
1. การกระทำที่เป็นไปตามกฎกติกา และเกิดประโยชน์ต่อสังคม
2. การหลีกเลี่ยงการกระทำสิ่งที่ผิดกฎกติกาของสังคม และไม่ทำผิดกฎหมาย
ทั้งนี้ หลักสูตรต้องกำหนดจริยธรรมที่เหมาะสมกับสาขาวิชาในแต่ละระดับคุณวุฒิ และจริยธรรมเฉพาะวิชาชีพที่กำหนดโดยสภาวิชาชีพ หรือประชาคมวิชาชีพ หรือ จรรยาบรรณในการประกอบอาชีพ
หลักสูตรสาขาพลศึกษา
หลักสูตรมุ่งเน้นให้นักศึกษามีคุณธรรมประจำใจเป็นไปตามปรัชญาพลศึกษาเนื่องจากบัณฑิตสาขาวิชาพลศึกษานั้นถูกฝึกให้เป็นผู้มีน้ำใจเป็นนักกีฬา มีความเป็นผู้นำซึ่งจะต้องมีจรรยาบรรณประจำตัว และหลักสูตรนั้นยังอยู่ในส่วนของคณะครุศาสตร์ยังมีการบ่มเพาะการเป็นครูให้ลุ่มลึกและเป็นแบบอย่างที่ดีทั้งต่อหน้าและลับหลังอยู่เสมอ
4. ลักษณะบุคคล (Character ) หมายถึง บุคลิกภาพ ลักษณะนิสัย และค่านิยม ที่สะท้อน
คุณลักษณะเฉพาะศาสตร์ วิชาชีพ และสถาบัน โดยพัฒนาผ่านการเรียนรู้ และการฝึก ประสบการณ์จากหลักสูตร ให้มีความเหมาะสมกับแต่ละระดับมาตรฐานคุณวุฒิระดับอุดมศึกษา
โครงสร้างของลักษณะบุคคลสำหรับแต่ละระดับคุณวุฒิ มีดังนี้
1. ลักษณะบุคคลทั่วไป
2. ลักษณะบุคคลตามวิชาชีพ หรือตามศาสตร์ที่เกี่ยวข้อง
ทั้งนี้ ทุกหลักสูตรต้องกำหนดลักษณะบุคคลที่เป็นลักษณะบุคคลทั่วไปที่เหมาะสมสอดคล้องกับอัตลักษณ์ของหลักสูตรและสถาบัน ส่วนหลักสูตรวิชาชีพ ควรกำหนด ลักษณะบุคคลเฉพาะวิชาชีพตามมาตรฐานวิชาชีพด้วย โดยอาจเลือกลักษณะบุคคลทั่วไปมากำหนดเป็นคุณสมบัติที่เป็นจุดเน้นให้สอดคล้องกับเป้าหมายของหลักสูตร
หลักสูตรสาขาพลศึกษา
หลักสูตรมุ่งเน้นให้นักศึกษามีลักษณะบุคคลที่บุคลิกที่น่าเชื่อถือ เป็นมิตร มีเสน่ห์ เป็นผู้นำ นิสัยใฝ่รู้ใฝ่เรียน กล้าแสดงออก กล้าตัดสินใจ มีเมตตา กรุณา รักการทำงานเป็นทีม ช่างสังเกตคิดอย่างมีวิจารณญาณ มีเหตุผล จึงมีการจัดกิจกรรมเสริมสร้างหลักสูตร นอกเหนือจากที่เรียนในรายวิชาที่อยู่ในหลักสูตร รวมทั้งมีการฝึกปฏิบัติเพื่อเสริมความมั่นในในวิชาชีพเพื่อเป็นประโยชน์ต่อตัวบัณฑิตเองในอนาคตเพื่อเป็นอาชีพที่สองที่เกี่ยวข้องกับอาชีพของตนเองในอนาคต
จากข้อมูลข้างต้นสามารถอธิบายขยายความถึงผลลัพธ์การเรียนรู้ของหลักสูตรสาขาวิชา พลศึกษาในเรื่องของ(1) ด้านความรู้ (2) ด้านทักษะ (3) ด้านจริยธรรม (4) ด้านลักษณะบุคคลที่สอดคล้องกับมาตรฐานคุณวุฒิระดับอุดมศึกษา พ.ศ. 2565และเรื่อง รายละเอียดผลลัพธ์การเรียนรู้ตามมาตรฐานคุณวุฒิระดับอุดมศึกษา พ.ศ. 2565 ที่มีความสอดคล้องกันขึ้นอยู่กับบริบทของสถานศึกษาที่เน้นหนักไปตามกลุ่มของสถาบันอุดมศึกษาตามที่กระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์และนวัตกรรมแบ่งกลุ่มตามที่สถาบันได้ประเมินตนเอง
จากผลลัพธ์การเรียนรู้ของหลักสูตรสาขาวิชาพลศึกษาบัณฑิตที่สำเร็จการศึกษาและได้ทำหน้าที่ตามมาตรฐานการปฏิบัติตนให้สอดคล้องกับจรรยาบรรณวิชาชีพครู 5 ด้าน 1) จรรยาบรรณต่อตนเอง 2) จรรยาบรรณต่อวิชาชีพ 3) จรรยาบรรณต่อผู้รับบริการ 4) จรรยาบรรณต่อผู้ร่วมประกอบวิชาชีพและ 5) จรรยาบรรณต่อสังคม มีความสอดคล้องกับกรอบความคิดเพื่อการเติบโต (Growth Mindset)
กรอบความคิดเพื่อการเติบโต (Growth Mindset) 10 คุณลักษณะ ดังนี้(https://www.ipluscenter.com)
1. การพยายามท้าทาย สร้างสรรค์สิ่งใหม่
2. อยากรู้จักคนอื่น & สิ่งต่างๆมากขึ้น
3. หมั่นถามตัวเองว่า “ฉันจะทำสิ่งที่เป็นอยู่ให้ดีขึ้นได้อย่างไรบ้าง”
4. ชอบช่วยเหลือคนอื่นให้เขาดีขึ้น
5. อยากรู้ว่าคนอื่น คิดกับสิ่งที่เราทำอยู่อย่างไร?
6. เราจะพยายามทำ แม้สิ่งที่ทำอยู่จะยากมากก็ตาม
7. ชอบเรียนรู้ความสำเร็จจากผู้อื่น
8. ทำสิ่งที่ยาก ให้เป็นเรื่องสนุก ไม่ใช่ความทรมาน
9. ตั้งมั่นว่าจะทำทุกอย่างให้ดีที่สุด
10. ไม่ว่าทำแล้วจะไม่สำเร็จ แต่ก็ดีใจที่ได้ทำ “พลาดล้ม แล้ว ลุกให้ไว”
วิธีสร้าง Growth Mindset (https://www.baseplayhouse.co)
1. เริ่มจากผู้นำ
ผู้นำต้องเป็นแบบอย่างของ Growth Mindset ก่อน โดย:แสดงให้เห็นว่าตัวเองก็ยังเรียนรู้และพัฒนาอยู่เสมอ ยอมรับข้อผิดพลาดและแสดงให้เห็นว่าเรียนรู้จากมันได้อย่างไรสนับสนุนให้ทีมกล้าลองสิ่งใหม่ๆไม่ตำหนิพนักงานที่ล้มเหลว แต่ชื่นชมความพยายามและการเรียนรู้มองว่าความสามารถของพนักงานสามารถพัฒนาได้ ไม่ใช่คุณสมบัติตายตัว
2. สร้างวัฒนธรรมที่ปลอดภัยทางจิตใจ (Psychological Safety)
Google ได้ทำการศึกษาเรื่อง “Project Aristotle” และพบว่า Psychological Safety เป็นปัจจัยสำคัญที่สุดในการสร้างทีมที่มีประสิทธิภาพ สร้างบรรยากาศที่พนักงานรู้สึกปลอดภัยที่จะแสดงความคิดเห็น สนับสนุนให้พนักงานทดลองสิ่งใหม่โดยไม่กลัวการถูกลงโทษ มองความล้มเหลวเป็นโอกาสในการเรียนรู้ ไม่ใช่สิ่งที่น่าอายส่งเสริมการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นอย่างเปิดกว้าง ให้พนักงานรู้สึกว่าสามารถพูดคุยกับหัวหน้าได้อย่างตรงไปตรงมา
3. ให้ Feedback ที่เน้นกระบวนการ ไม่ใช่ผลลัพธ์
แทนที่จะชมว่า “เก่งมาก” ให้เปลี่ยนเป็น “วิธีการที่คุณใช้แก้ปัญหานี้เจ๋งมาก”ชื่นชมความพยายาม กลยุทธ์ และการเรียนรู้ของพนักงาน ไม่ใช่แค่ผลงานสำเร็จ ชี้ให้เห็นว่าพนักงานทำอะไรได้ดีขึ้นบ้าง เทียบกับครั้งก่อน เน้นย้ำว่าความสามารถสามารถพัฒนาได้ด้วยความพยายามและการฝึกฝนหลีกเลี่ยงการใช้คำชมที่เน้นคุณลักษณะตายตัว เช่น “คุณฉลาดมาก”
4. ส่งเสริมการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง
จัดให้มีโอกาสในการเรียนรู้และพัฒนาทักษะใหม่ๆ อยู่เสมอ สนับสนุนให้พนักงานเข้าร่วมการอบรม สัมมนา workshop ต่างๆ จัดโปรแกรม Mentoring ให้พนักงานได้เรียนรู้จากผู้มีประสบการณ์ ส่งเสริมการหมุนเวียนงาน (Job Rotation) เพื่อให้พนักงานได้เรียนรู้งานใหม่ๆสร้างวัฒนธรรมการแบ่งปันความรู้ภายในองค์กร เช่น จัด Knowledge Sharing Session
5. ใช้เครื่องมือ Design Thinking และ Design Sprint
Design Thinking และ Design Sprint เป็นเครื่องมือที่ช่วยส่งเสริม Growth Mindset ได้ดี เน้นการทดลองและเรียนรู้อย่างรวดเร็วส่งเสริมการคิดนอกกรอบฝึกการรับมือกับความไม่แน่นอน
จากกรอบความคิดเพื่อการเติบโต (Growth Mindset) 10 คุณลักษณะและวิธีสร้าง Growth Mindset เราสามารถนำไปเพิ่มเติมเสริมในหลักสูตรเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสังคม นอกจากนี้ยังทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงบริบทของสังคมต่อไปในอนาคต ควรเริ่มจากผู้สอนในระดับมหาวิทยาลัย ได้แก่อาจารย์ผู้รับผิดชอบหลักสูตรรวมทั้งเพิ่มกิจกรรมเสริมเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นเพื่อการพัฒนาองค์กรต่อไปในอนาคต
เอกสารอ้างอิง
กฎกระทรวงมาตรฐานคุณวุฒิระดับอุดมศึกษา พ.ศ. 2565.เล่มที่ 139 ตอนที่ 20 ก ราชกิจจานุเบกษา31 มีนาคม 2565 หน้า 28-31
กฏกระทรวงการจัดกลุ่มสถาบันอุดมศึกษาพ.ศ. 2564.(2564,25มีนาคม). ราชกิจจานุเบกษา.เล่ม138ตอนที่ 21 ก.หน้า 1-11
https://www.ipluscenter.com/growth-mindset/
https://www.baseplayhouse.co