คลิปการบรรเลงวงมโหรีสิบคน เพลงพญาครวญ
บทความอรรถาธิบาย
ชื่อผลงาน : มโหรีสิบคน เพลงพญาครวญ สามชั้น
ชื่อผู้สร้างสรรค์ผลงาน : สุรพงษ์ บ้านไกรทอง
ประเภทของผลงาน : สร้างสรรค์เชิงอนุรักษ์
สาขาวิชา : ดนตรีไทย
ที่มา/ความสำคัญ/แรงบันดาลใจการสร้างสรรค์
การเล่นมโหรีสิบคน อันประกอบด้วย ซอสามสาย กระจับปี่ ผู้ขับลำนำตีกรับพวง ขลุ่ยเพียงออ โทน รำมะนา ระนาดไม้ ระนาดแก้ว ฆ้องวงใหญ่ และ ฉิ่ง นั้น มีปรากฏหลักฐานในตำนานวงมโหรี พระนิพนธ์ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าดิศวรกุมาร กรมพระยาดำรงราชานุภาพ และจิตรกรรมฝาผนังที่วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ซึ่งในปัจจุบันไม่นิยมบรรเลงแล้ว เนื่องจาก เครื่องดนตรีในวงได้สูญหายไป เช่น ระนาดแก้ว กระจับปี่ อ.สุรพงษ์ บ้านไกรทอง จึงได้จัดสร้างเครื่องดนตรีดังกล่าว จากการค้นคว้าข้อมูล จากเครื่องดนตรีที่หลงเหลืออยู่ เช่นในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร บ้านพาทยโกศล และวงดนตรีฟองน้ำ จนสามารถสร้างเครื่องดนตรีเหล่านั้นสำเร็จ โดยเฉพาะระนาดแก้ว ซึ่งถือเป็นรางที่ ๔ ที่พบในกรุงรัตนโกสินทร์
วัตถุประสงค์ : ฟื้นฟูและสืบสานมโหรีสิบคนที่นิยมเล่นในช่วงต้นกรุงรัตนโกสินทร์
วิธีการดำเนินงานสร้างสรรค์ : ค้นคว้าข้อมูลจากเอกสารหลักฐาน อาทิ บทมโหรีครั้นกรุงเก่า วรรณกรรมสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ รวมถึงหลักฐานทางประวัติศาสตร์ดนตรีไทย เช่น ภาพจิตรกรรมฝาผนัง
ผลงานในจินตภาพ : วงดนตรีของไทยแบบอย่างในต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ได้บรรเลงอีกครั้ง ในบทเพลงที่อยู่ในยุคสมัยเดียวกัน
ข้อมูลพื้นฐานการสร้างสรรค์ : วงมโหรีโบราณ บทมโหรีครั้นกรุงเก่า
เครื่องมือในการสร้างสรรค์ผลงาน : เครื่องดนตรีไทย และ การสัมภาษณ์ผู้ทรงคุณวุฒิ
ขั้นตอนและกระบวนการ : จัดสร้างเครื่องดนตรีไทย ค้นคว้าบทเพลงและวิธีการบรรเลง
รูปแบบการสร้างสรรค์ : การแสดงดนตรีไทยเชิงอนุรักษ์
กลวิธีในการสร้างสรรค์ : การประพันธ์ทางบรรเลงแบบศึกษิตอนุรักษ์
อรรถาธิบาย/อภิปรายผล : จากการบรรเลงในครั้งนี้ผู้ชมให้ความสนใจกับเครื่องดนตรีที่ไม่เคยเห็น เช่นระนาดแก้ว และมีคำถามเกี่ยวกับเครื่องดนตรีต่างๆ มากมาย อาทิ การใช้ระนาดแก้ว และเพลงมโหรีโบราณกับกิจกรรมดนตรีบำบัด
สรุปผลงานการสร้างสรรค์ (จุดเด่นของผลงาน) : เป็นการฟื้นฟูวงดนตรีไทยแบบต้นกรุงรัตนโกสินทร์และบรรเลงเป็นครั้งแรก
การบูรณาการและนวัตกรรมในงานสร้างสรรค์ : เกิดระเบียบวิธีการบรรเลงวงมโหรีสิบคน เป็นบรรทัดฐานแก่สังคมดนตรีไทย จากการบูรณาการ การค้นคว้าทางประวัติศาสตร์กับการดนตรีไทย
การนำไปใช้ประโยชน์ : เป็นต้นแบบของวงมโหรีสิบคน เป็นแหล่งข้อมูลสำหรับการค้นคว้ามโหรีสิบคนต่อไป
ข้อเสนอแนะ : รัฐบาลควรส่งเสริมการบรรเลงวงมโหรีสิบคน มิให้สูญหายไปจากสังคมอีกครั้ง
อ้างอิง : สุรพงษ์ บ้านไกรทอง. โครงการเก็บข้อมูลการบรรเลงเดี่ยวซอสามสายของครูเอกแห่งกรุงรัตนโกสินทร์. กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม. ๒๕๕๘.