ปริวรรต 1: ณ แหล่งเรียนรู้กรุงธนบุรีศึกษา [ Thonburi Knowledge Center ]

นักศึกษารหัส 65 สาขาวิชาครีเอทีฟกราฟิก ชวนกันไปเยี่ยมชมหาความรู้เพิ่มเติมนอกห้องเรียน ณ แหล่งเรียนรู้กรุงธนบุรีศึกษา มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา เพื่อศึกษาเกร็ดความรู้ทางประวัติศาสตร์ ศิลปวัฒนธรรม สังคม ภูมิปัญญาและองค์ความรู้ย่านฝั่งธนบุรี และนำมาทดลองหรือปริวรรคสู่งานครีเอทีฟกราฟิกร่วมสมัยรูปแบบต่างๆ 

แหล่งเรียนรู้กรุงธนบุรีศึกษาตั้งอยู่ที่สำนักศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา เป็นสถานที่รวบรวมองค์ความรู้ย่านฝั่งธนบุรีเชิงประวัติศาสตร์ ศิลปะวัฒนธรรม สังคม และภูมิปัญญาของคนในชุมชนโดยเล่าเรื่องราวผ่านพัฒนาการของกรุงธนบุรี (Timeline) ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน นำมาจัดแสดงเป็นห้องต่างๆ จำนวน 11 ห้อง ได้แก่…

ห้องที่  1 : เปิดเมือง
ห้องแรกนี้ จัดแสดงให้ชมภาพยนตร์สั้น เล่าถึงเนื้อหาภายในพิพิธภัณฑ์กรุงธนบุรีศึกษา อีกทั้งหมด 10 ห้อง โดยมีเจ้าโทน เจ้าจุกและเจ้าแกละกลุ่มเพื่อนตัวน้อยจะเป็นตัวแทนนำพาผู้เยี่ยมชมย้อนเวลาไปยังกรุงธนบุรีและกรุงรัตนโกสินทร์เมื่อ 200 กว่าปีก่อน เพื่อสัมผัสวิถีชีวิต ความเป็นอยู่ สังคม วัฒนธรรมของผู้คนสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาโดยใช้เวลา ณ ห้องเปิดเมืองประมาณ 10 นาที

ห้องที่ 2 : ครั้งเป็นทะเลปากอ่าว
ห้องนี้กล่าวถึง พัฒนาการของพื้นที่ธนบุรีตั้งแต่ครั้งเป็นทะเลตมจนถึงการเกิดแผ่นดิน ตามปรากฏหลักฐานทางโบราณคดีและธรณีวิทยา เช่น ซากฟอสซิลกระดูกสัตว์ ลักษณะชั้นดินตลอดจนพืชพันธุ์ต่างๆ

ห้องที่ 3 : ลัดเมืองบางกอก
ห้องนี้กล่าวถึง พื้นที่ดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำอันอุดมสมบูรณ์ ทำให้มีการก่อตั้งชุมชนในย่านต่างๆ ขึ้นจึงมีการขุดลัดแม่น้ำเจ้าพระยาตั้งแต่สมัยสมเด็จพระไชยราชาธิราช เพื่อใช้ในการทำเกษตรกรรม ค้าขายและคมนาคม จนกลายมาเป็นแม่น้ำเจ้าพระยาสายหลักแห่งเมืองบางกอก

ห้องที่ 4 : ฑณบุรีศรีมหาสมุทร หน้าด่านทางทะเล
ห้องนี้กล่าวถึง ชื่อเมืองที่พบในทำเนียบหัวเมืองในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนกลาง ความเป็นเมืองหน้าด่านของกรุงธนบุรีในฐานะเมืองท่าสำคัญทั้งในแง่ของความเป็นเมืองยุทธศาสตร์ทางด้านการเมือง การปกครองและด้านการค้า รวมถึงเหตุการณ์สำคัญต่างๆที่เกิดขึ้น

ห้องที่ 5 : ธนบุรี ราชธานีใหม่ใกล้ทะเล
ห้องนี้กล่าวถึง เรื่องราวในช่วงการสถาปนากรุงธนบุรีเป็นราชธานี (พ.ศ. 2310-2325) โดยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชเพื่อเป็นศูนย์กลางการเมือง การปกครอง ศิลปวัฒนธรรมการค้าและการต่างประเทศ

ห้องที่ 6 : กรุงธนฯ …กรุงเทพฯ
ห้องนี้กล่าวถึง ในช่วงการสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ (ฝั่งพระนคร) เป็นราชธานีในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก เหตุผลการย้ายราชธานี แต่พื้นที่กรุงธนบุรี (ฝั่งธนบุรี) ก็ยังเป็นพื้นที่ที่ยังคงความสำคัญเนื่องจากเป็นที่อยู่อาศัยของตระกูลขุนนาง ข้าราชการสำคัญๆ พ่อค้าชาวต่างชาติสะท้อนถึงรากเหง้าของกลุ่มคนที่กลายเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาบ้านเมืองตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน

ห้องที่ 7 : พระบรมธาตุแห่งพระนคร
ห้องนี้กล่าวถึง สัญลักษณ์แห่งกรุงธนบุรี “พระปรางค์วัดอรุณราชวราราม” ที่สะท้อนให้เห็นถึงสถาปัตยกรรมไทยที่สร้างจากหลักคติไตรภูมิหรือความเป็นศูนย์กลางของจักรวาลการประกาศความเป็นจักพรรดิราชของรัชกาลที่ 3 ทำให้เกิดความงดงามที่ลงตัวตามแบบสถาปัตยกรรมของกรุงรัตนโกสินทร์

ห้องที่ 8 : ฅ คน ธนบุรี
ห้องนี้กล่าวถึง เนื้อหาที่แสดงให้เห็นถึงวิถีชีวิตของผู้คนในย่านฝั่งธนบุรีที่มีความหลากหลายทางเชื้อชาติ ศาสนาและวัฒนธรรมของชาติพันธุ์เช่น ไทย ลาว เขมร ญวณ มอญ ฝรั่งชาติตะวันตก จีน ญี่ปุ่น ที่เข้ามาตั้งถิ่นฐานอยู่ในสยามประเทศ เกิดการผสมกลมกลืนทางวัฒนธรรมทั้งวิถีชีวิตริมแม่น้ำเจ้าพระยา

ห้องที่ 9 : ปฐมวงศ์สกุลบุนนาค
ห้องนี้กล่าวถึง “ถิ่นฐานขุนนางสามแผ่นดิน” ประวัติ คุณูปการของบุคคลคนสำคัญในตระกูลบุนนาค ผู้สำเร็จราชการแผ่นดินทั้ง 3 คน ได้แก่ สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์, สมเด็จเจ้าพระยามหาพิไชยญาติ และสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ที่ท่านได้สร้างคุณูปการต่อประเทศชาติในหลายๆ ด้านไม่ว่าจะเป็นการเมือง การปกครอง การทหาร ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม

ห้องที่ 10 : มรดกวัฒนธรรมและงานศิลป์ ณ ฝั่งธนฯ
ห้องนี้กล่าวถึง มรดกทางวัฒนธรรม อาทิ วัดวาอาราม ศาสนสถาน อาหาร มหรสพต่างๆ ที่สะท้อนให้เห็นถึงความหลากหลายทางวัฒนธรรมจากคนหลายกลุ่มชาติพันธุ์ก่อเกิดเป็นพหุสังคมแต่ยังคงความเป็นอัตลักษณ์ของชุมชนชาติพันธุ์ของตนเองได้เป็นอย่างดี

ห้องที่ 11 : เมื่อความเจริญข้ามฝั่ง
ห้องนี้กล่าวถึง การปรับตัวของกลุ่มผู้คนให้เข้ากับความเจริญที่เปลี่ยนแปลงไปจากฝั่งพระนครเดินทางข้ามมายังฝั่งธนบุรีในรูปแบบต่างๆ

อ่านบทความต่อเพิ่มเติมคลิก!