ประสิทธิภาพในการบริหารการจัดเก็บภาษีของเทศบาลเมืองชะอำ อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี The Efficiency of Tax Administration of Cha-am Municipality, Cha-am District, Petchaburi Province

มนัสริน จันเกิด และ ผศ.ดร.สุรศักดิ์  โตประสี

หลักสูตรรัฐประศาสนศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชานโยบายสาธารณะและการจัดการสมัยใหม่                 ปีการศึกษา  2564  มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา

 

บทคัดย่อ

การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อ 1) ศึกษาระดับของปัจจัยการบริหารและประสิทธิภาพในการบริหารการจัดเก็บภาษีของเทศบาลเมืองชะอำ อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี และ2) ศึกษาความสัมพันธ์ของปัจจัยการบริหารงานจัดเก็บภาษีของเทศบาลเมืองชะอำ อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี  ประชากรคือผู้เสียภาษีให้กับเทศบาลเมืองชะอำ อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี จำนวน6,985  คนได้ขนาดของกลุ่มตัวอย่าง จำนวน 379 คน เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูล คือ แบบสอบถามแบบมาตรประมาณค่า 5 ระดับชนิดตรวจสอบรายการ  สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล คือ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐานและการวิเคราะห์ถดถอย

ผลการวิจัยพบว่า

 1. ปัจจัยการบริหารการจัดเก็บภาษีของเทศบาลเมืองชะอำ อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรีในภาพรวมเห็นด้วย อยู่ในระดับมาก และประสิทธิภาพในการบริหารการจัดเก็บภาษีของเทศบาลเมืองชะอำ อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรีในภาพรวมมีประสิทธิภาพมาก

2.  ปัจจัยด้านโครงสร้างภาษีอากร บรรยากาศทีเอื้ออำนวยให้เสียภาษี  และประสิทธิภาพของพนักงานผู้จัดเก็บ มีความสัมพันธ์กับประสิทธิภาพในการบริหารการจัดเก็บภาษีของเทศบาลเมืองชะอำ อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรีอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ

คำสำคัญ:  ประสิทธิภาพในการบริหารการจัดเก็บภาษี  การจัดเก็บภาษีของเทศบาลเมืองชะอำ

 

 

 

 

 

 

ABSTRACT

This research aimed to study 1) the factors and efficiency of tax administration of Cha-am Municipality, Cha-am District, Petchaburi Province and 2) the correlation of factors of tax administration of Cha-am Municipality, Cha-am District, Petchaburi Province.  The research population included 6,985 taxpayers paying tax to Cha-am Municipality, Cha-am District, Petchaburi Province; and a group of 379 taxpayers was selected as a research sample. Research instrument was a 5-rating scale in checklist type. Statistical tools used this research were percentage, mean, standard deviation, coefficient variation and regression analysis.

The research findings were as follows:

 1. The overall of factors of tax administration of Cha-am Municipality, Cha-am District, Petchaburi Province was at high level; and the overall of efficiency of tax administration of Cha-am Municipality, Cha-am District, Petchaburi Province was at high level.

2.  The factors regarding tax structures, a conducive atmosphere for paying taxes and efficiency of tax collectors were correlated with the efficiency of tax administration of Cha-am Municipality, Cha-am District, Petchaburi Province with statistical significance.

Keywords: Efficiency of Tax Collection, Tax Collection of Cha-am Municipality

 

1.บทนำ

            องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มีโครงสร้างหรือที่มาของรายได้ที่คล้ายคลึงกันกล่าวคือ               1. ภาษีอากร ประกอบด้วย 1) ภาษีที่ท้องถิ่นจัดเก็บได้แก่ ภาษีโรงเรือนและที่ดิน ภาษีบำรุงท้องที่ ภาษีป้าย อากรฆ่าสัตว์  2) ภาษีที่ท้องถิ่นมอบให้รัฐจัดเก็บแทน ได้แก่ ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีธุรกิจเฉพาะ ภาษีสุรา ภาษีสรรพสามิต ภาษีการพนัน  3) ภาษีที่รัฐจัดเก็บแล้วมอบให้ท้องถิ่นทั้งจำนวน ได้แก่ ภาษีและค่าธรรมเนียมรถยนต์และล้อเลื่อน 2. ค่าธรรมเนียม ใบอนุญาตและค่าปรับ 3. รายได้จากทรัพย์สิน 4. รายได้จากสาธารณูปโภคและการพาณิชย์ 5. รายได้เบ็ดเตล็ด 6. เงินอุดหนุนจากรัฐบาล  7. เงินกู้ สำหรับองค์การบริหารส่วนตำบล นอกเหนือจากรายได้ที่กล่าวมาแล้ว ยังมีรายได้ประเภทอื่น ได้แก่ ค่าธรรมเนียมการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ ตามประมวลกฎหมายที่ดิน รายได้จากทรัพยากรธรรมชาติ ได้แก่ อากรรังนกอีแอ่น ค่าธรรมเนียม               น้ำบาดาล ค่าภาคหลวงแร่ และค่าธรรมเนียมป่าไม้ เงินอากรประทานบัตร ใบอนุญาต และอาชญาบัตรการประมง ค่าภาคหลวงป่าไม้ ค่าภาคหลวงแร่ และค่าภาคหลวงปิโตรเลียม เงินที่เก็บตามกฎหมายว่าด้วยอุทยานแห่งชาติ

          นโยบายของรัฐบาลตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ตั้งแต่ฉบับที่ 3 เป็นต้นมา จนถึงฉบับที่ 11 มุ่งเพิ่มประสิทธิภาพการคลังขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้มีฐานะการคลังที่มั่นคง สามารถยืนอยู่ได้ด้วยตนเอง โดยเฉพาะในภาวะปัจจุบัน ประเทศไทยประสบผลกระทบต่องบประมาณแผ่นดิน รัฐบาลต้องลดรายจ่ายและส่งผลต่อเงินอุดหนุนให้แก่ท้องถิ่น เมื่อภาวการณ์เป็นเช่นนี้ ท้องถิ่นจำเป็นต้องปรับปรุงประสิทธิภาพในการบริหารและการจัดเก็บภาษีท้องถิ่น โดยเน้นระบบการจัดเก็บภาษีและเพิ่มรายได้เพื่อให้ท้องถิ่นสามารถที่จะดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ได้ โดยไม่ต้องพึ่งพาเงินอุดหนุนหรือเงินอื่นที่รัฐบาลกลางจัดสรรให้ หรือพึ่งพาให้น้อยลง อันจะทำให้ท้องถิ่นมีอิสระในการบริหารกิจการของตนมากขึ้น และลดการควบคุมจากรัฐบาลกลาง นอกจากนั้นยังเป็นการสอดคล้องกับนโยบายการกระจายอำนาจให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีความเป็นอิสระในการปกครองตนเองมากขึ้น (สำนักบริหารราชการส่วนท้องถิ่น กรมการปกครอง, 2543, น. 91-92)

          นโยบายการกระจายอำนาจทางการเงินการคลัง เป็นความพยายามของรัฐบาลที่จะผลักดันให้เทศบาลเมืองสามารถดำเนินการจัดเก็บรายได้ภายในท้องถิ่นให้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผล ให้สามารถมีรายได้ที่เพียงพอแก่การบริหารกิจการหรือพัฒนาท้องถิ่นภายใต้อำนาจหน้าที่ และภารกิจของตนเองได้อย่างมีอิสระ ตราบที่เทศบาลเมือง สามารถหารายได้เพียงพอต่อการพัฒนาท้องถิ่นของตนเอง นั่นย่อมหมายความว่า เทศบาลเมือง มีศักยภาพที่เพียงพอต่อการพัฒนา และมีความเป็นอิสระจากรัฐบาลได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล ทั้งนี้ เทศบาลเมือง จะต้องดำเนินการเกี่ยวกับระบบการจัดเก็บภาษีอากร และจะต้องเพิ่มช่องทางหรือหาแนวทางที่จะเป็นการเพิ่มรายได้ให้กับท้องถิ่นของตนเองอย่างเต็มที่ ทั้งนี้เทศบาลเมืองมีกฎหมายทีเปิดโอกาสให้ท้องถิ่นสามารถจัดหารายได้ด้วยตนเอง

            การคลังขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จึงมีความสำคัญมากในการที่จะทำให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีความสามารถในการบริหารงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ การที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะเจริญก้าวหน้าและมีความสามารถรับใช้ประชาชนในการอำนวยความสะดวกและความกินดีอยู่ดีให้แก่ประชาชนในท้องถิ่นได้มากนั้น ย่อมขึ้นอยู่กับการมีรายได้เพียงพอแก่การทำนุบำรุงท้องถิ่น หากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นใดมีรายได้หรือฐานการคลังยังไม่เพียงพอจำเป็นต้องอาศัยการอุดหนุนช่วยเหลือทางการเงินจากรัฐบาลเป็นประจำ เมื่อเป็นเช่นนี้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้นจะถูกควบคุมจากส่วนกลางมากขึ้นตามจำนวนเงินที่ได้รับอุดหนุน การที่หน่วยปกครองท้องถิ่นถูกควบคุมจากส่วนกลางมากขึ้น ย่อมทำให้สิทธิหรืออำนาจในการปกครองตนเองมีน้อยลง และขาดความคิดริเริ่มที่จะปรับปรุงท้องถิ่นของตนเองให้เจริญก้าวหน้า

 

2.วัตถุประสงค์ของการวิจัย

1.  เพื่อศึกษาระดับของปัจจัยการบริหารและประสิทธิภาพในการบริหารการจัดเก็บภาษีของเทศบาลเมืองชะอำ อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี

2.  เพื่อศึกษาความสัมพันธ์ของปัจจัยการบริหารงานจัดเก็บภาษีของเทศบาลเทศบาลเมืองชะอำ  อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี

 

3.สมมติฐานการวิจัย

ปัจจัยด้านความสำนึกในหน้าที่ของผู้เสียภาษี ลักษณะของกฎหมายภาษีอากร ประสิทธิภาพของพนักงานผู้จัดเก็บภาษีอากร บรรยากาศที่เอื้ออำนวยให้เสียภาษี และโครงสร้างภาษีอากร มีความสัมพันธ์กับประสิทธิภาพในการบริหารการจัดเก็บภาษีของเทศบาลเทศบาลเมืองชะอำ  อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ

 

4.แนวคิดและทฤษฎี

            ขจร  สาธุพันธ์ (2523) (อ้างถึงในพรรณพิลาศ  สมศรี, 2546) ให้ความหมายว่า ภาษีอากรคือเงินหรือสิ่งของที่รัฐบาลบังคับเก็บจากประชาชน เพื่อนำไปจ่ายในกิจการอันเป็นหน้าที่ของรัฐบาล

          เกริกเกียรติ  พิพัฒน์เสรีธรรม (2541, น.25) ให้ความหมายของภาษีอากรว่า ภาษีคือสิ่งที่รัฐบาลเก็บจากราษฎร และนำมาใช้เพื่อประโยชน์ของสังคมส่วนรวม โดยมิได้มีสิ่งตอบแทนโดยตรงแก่ผู้เสียภาษี

            นักวิชาการส่วนใหญ่มักจะนำเสนอหลักเกณฑ์ในการจัดเก็บภาษีตามแนวคิดของสมิธ           นักเศรษฐศาสตร์ชาวสกอตแลนด์ในหนังสือ The Wealth of Nation ซึ่งพิมพ์จำหน่ายในปี ค.ศ. 1776 ประกอบด้วยหลักเกณฑ์ 4 ประการ คือ (สนธยา  ทองดี, 2547, น. 9)

          1. หลักความยุติธรรม (Equity) ในการจัดเก็บภาษีอากรทุกคนที่อยู่ในฐานะเท่าเทียมกัน ควรจะเสียภาษีเพื่อสนับสนุนการปฏิบัติของรัฐเท่าเทียมกัน

          2. หลักความแน่นอน (Certainty) ในการจัดเก็บภาษี จะต้องให้ผู้เสียภาษีได้ทราบถึงเวลา วิธีการ ในการชำระภาษี จำนวนภาษีอากรที่จะต้องชำระ และสถานที่ชำระภาษี กล่าวคือ ภาษีจะต้องมีความแน่นอน ไม่มีลักษณะกำกวม ลักษณะและรูปแบบของภาษี รวมทั้งจำนวนที่จะต้องเสีย จะต้องเป็นที่ชัดเจนแก่ผู้เสียภาษีทุกคน

          3. หลักความสะดวก (Convenience) การจัดเก็บภาษี ควรจะต้องจัดเก็บตามวันเวลา สถานที่และด้วยวิธีการที่จะทำให้ผู้เสียภาษีได้รับความสะดวกในการเสียภาษี

          4. หลักประหยัด (Economy) ในการจัดเก็บภาษี จะต้องเป็นภาระแก่ผู้เสียภาษีน้อยที่สุด สิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดเก็บน้อยที่สุด แต่ทำให้รัฐบาลได้รับรายได้มากที่สุด

            ในการจัดเก็บภาษี มีเครื่องมือที่พอจะเป็นที่ยอมรับกันและนิยมใช้วัดหรือกำหนดประสิทธิภาพในการจัดเก็บภาษีอากร มี 3 วิธี คือ (พนม  ทินกร ณ อยุธยา, 2534, น.165-167)

          1. วัดค่าใช้จ่ายในการจัดเก็บ (Cost of Collection) ถือหลักว่าการจัดเก็บภาษีที่ดีควรถือหลักประหยัด โดยค่าใช้จ่ายในการจัดเก็บควรจะต่ำ ไม่ใช่เก็บภาษีได้มากแต่ค่าใช้จ่ายในการจัดเก็บภาษีก็มากด้วย การวัดประสิทธิภาพของการบริหารภาษีอากรตามวิธีนี้ มีแนวปฏิบัติโดยเปรียบเทียบค่าใช้จ่ายในการจัดเก็บภาษีที่เก็บได้ ถ้าอัตราส่วนของค่าใช้จ่ายต่อภาษีที่เก็บได้ต่ำก็แสดงว่าการเก็บภาษีนั้นมีประสิทธิภาพสูง

          2. วัดจากรายได้ที่เก็บได้จริงกับรายได้ที่ควรจะได้ (Actual Yields vs. Potential Yields) ตามวิธีนี้จะต้องคำนวณในการเก็บภาษีอากรแต่ละประเภท ถ้าจะเก็บให้ได้เต็มเม็ดเต็มหน่วย ควรได้รายได้เท่าไร แล้วเปรียบเทียบรายได้ที่จะได้จริงของภาษีประเภทนั้น ๆ กับรายได้ที่ควรจะได้ก็จะทำให้รู้ว่าการบริหารการจัดเก็บภาษีนั้น ๆ มีประสิทธิภาพมากน้อยเพียงไร

          3. วัดค่าใช้จ่ายของผู้เสียภาษีอากรในการปฏิบัติตามกฎหมาย (Compliance Cost) ตามวิธีนี้จะถือหลักว่าภาษีอากรที่ดีมีประสิทธิภาพในการจัดเก็บสูง ควรเป็นภาษีที่ผู้เสียภาษีเสียค่าใช้จ่ายในการปฏิบัติตามกฎหมายต่ำ กล่าวคือ ภาษีที่มีประสิทธิภาพควรเป็นภาษีที่ง่าย มีข้อความแจ่มชัด และสะดวกแก่ผู้เสียภาษีอากรที่ปฏิบัติตาม โดยไม่ต้องปรึกษาทนายความ

            การจัดเก็บภาษีอากรมีประสิทธิภาพหรือไม่นั้น สามารถวัดได้โดยใช้ดัชนี 3 ประการดังนี้ คือ

          1. วัดจากค่าใช้จ่ายในการจัดเก็บภาษีอากร (Cost of Collection) เนื่องจากการจัดเก็บภาษีเป็นการโอนทรัพยากรจากภาคเอกชนไปสู่ภาครัฐบาล โดยไม่ก่อให้เกิดผลผลิตหรือรายได้แก่ประเทศ อย่างไรก็ตามสิ่งที่เกิดขึ้นในกระบวนการโอนทรัพยากรก็คือ ค่าใช้จ่ายในการจัดเก็บทั้งภาครัฐบาลและเอกชน ซึ่งถือเป็นความสูญเปล่าประการหนึ่งทางเศรษฐกิจ ดังนั้น ค่าใช้จ่ายที่เกิดจากการจัดเก็บจึงควรให้มีค่าต่ำสุด โดยทั่วไปการวัดประสิทธิภาพจากค่าใช้จ่ายในการจัดเก็บภาษีอากร สามารถกระทำได้โดยการเปรียบเทียบค่าใช้จ่ายในการจัดเก็บภาษีอากรกับผลการจัดเก็บภาษีอากร ถ้าสัดส่วนของค่าใช้จ่ายต่อภาษีที่เก็บได้ต่ำก็แสดงว่าการจัดเก็บนั้นมีประสิทธิภาพสูง

          2. วัดจากภาษีอากรที่เก็บได้จริงกับประมาณการภาษีอากร (Actual Yields vs. Potential Yields) ตามวิธีนี้ประสิทธิภาพในการจัดเก็บภาษีจะคำนวณได้จากการเปรียบเทียบรายได้ที่เก็บได้จริงกับรายได้ที่คาดว่าจะจัดเก็บได้ในแต่ละปีงบประมาณ

          3. ผลการจัดเก็บภาษีอากร ดัชนีนี้จะช่วยบ่งชี้ถึงประสิทธิภาพในการจัดเก็บภาษีอากรของหน่วยงาน ถ้าผลการจัดเก็บมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นก็น่าจะบ่งชี้ได้ ประการหนึ่งว่าประสิทธิภาพของการบริหารการจัดเก็บภาษีอากรเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดีขึ้น

 

5. วิธีการดำเนินการวิจัย

5.1 ประชากร

ประชากรที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้ ได้แก่ ประชาชนที่มีหน้าที่เสียภาษีทุกประเภทในเขตความรับผิดชอบของเทศบาลเมืองชะอำ  อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี จำนวน 6,985 คน (เทศบาลเมืองชะอำ, ออนไลน์, 2563)

5.2 กลุ่มตัวอย่างและวิธีการสุ่มตัวอย่าง

กลุ่มตัวอย่างได้จากการคำนวณตามสูตรของ Yamane จำนวน 379 คนและได้สุ่มแบบง่าย              (Simple  Random  Sampling) จากผู้ที่มาเสียภาษีประจำปีให้กับเทศบาลเมืองชะอำ 

5.3 เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย

              ตอนที่  1  เป็นแบบสอบถาม ที่ประกอบด้วยข้อคำถามเกี่ยวกับสถานภาพส่วนบุคคลของผู้ตอบจำนวน 6 ข้อ ได้แก่ เพศ อายุ สถานภาพสมรส ระดับการศึกษา อาชีพ รายได้  ประเภทที่เสียภาษี              

ตอนที่ 2  เป็นแบบสอบถามปัจจัยการบริหารการจัดเก็บภาษีของเทศบาลเมืองชะอำ  อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี แบบสอบถามมีลักษณะเป็นแบบสอบถามชนิดมาตรประมาณค่า(rating scale) 5 ระดับ จำนวน 5 ด้าน รวม  25  ข้อ 

ตอนที่  3  เป็นแบบสอบถามประสิทธิภาพในการบริหารการจัดเก็บภาษีของเทศบาลเมืองชะอำ  อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี แบบสอบถามมีลักษณะเป็นแบบสอบถามชนิดมาตรประมาณค่า (rating scale) 5 ระดับ จำนวน  3  ด้าน รวม  15  ข้อ

ตอนที่ 4 สอบถามความคิดเห็นเกี่ยวกับปัญหาและอุปสรรค ข้อเสนอแนะประสิทธิภาพในการบริหารการจัดเก็บภาษีของเทศบาลเมืองชะอำ อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี

 

6.ผลการวิจัย

1. กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่เป็นเพศหญิง ร้อยละ 56.2 มีอายุ 31-40ปี ร้อยละ 34.6 มีสถานภาพสมรสร้อยละ48.8 มีการศึกษาระดับปริญญาตรีหรือสูงกว่าร้อยละ35.4 กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่มีอาชีพธุรกิจส่วนตัว/ค้าขายร้อยละ 39.6 มีรายได้ 20,001-40,000 บาทร้อยละ 47.0 และประเภทภาษีที่เสีย ส่วนใหญ่มาเสียภาษีบำรุงท้องที่ ร้อยละ 39.3

  2. ผลการทดสอบสมมติฐาน ที่ตั้งไว้คือปัจจัยด้านความสำนึกในหน้าที่ของผู้เสียภาษี ลักษณะของกฎหมายภาษีอากร ประสิทธิภาพของพนักงานผู้จัดเก็บภาษีอากร บรรยากาศที่เอื้ออำนวยให้เสียภาษี และโครงสร้างภาษีอากร  มีความสัมพันธ์กับประสิทธิภาพในการบริหารการจัดเก็บภาษีของเทศบาลเมืองชะอำ  อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรีอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ผลการทดสอบพบว่า ปัจจัยด้านโครงสร้างภาษีอากร บรรยากาศทีเอื้ออำนวยให้เสียภาษี  และประสิทธิภาพของพนักงานผู้จัดเก็บ มีความสัมพันธ์กับประสิทธิภาพในการบริหารการจัดเก็บภาษีของเทศบาลเมืองชะอำ  อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรีและสามารถอธิบายการเปลี่ยนแปลงของตัวแปรตาม คือ ประสิทธิภาพในการบริหารการจัดเก็บภาษีของเทศบาลเมืองชะอำ  อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรีได้ถึงร้อยละ62.0

 

7.อภิปรายผลการวิจัย

จากผลวิจัยพบว่า ปัจจัยด้านโครงสร้างภาษีอากร บรรยากาศทีเอื้ออำนวยให้เสียภาษี  และประสิทธิภาพของพนักงานผู้จัดเก็บ มีความสัมพันธ์กับประสิทธิภาพในการบริหารการจัดเก็บภาษีของเทศบาลเมืองชะอำ  อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี จากผลวิจัยสามารถอภิปรายได้ว่าเทศบาลเมืองชะอำ  ต้องให้ความสำคัญปัจจัยด้านโครงสร้างภาษีอากรเป็นอันดับแรกเพราะเป็นสิ่งที่เอื้ออำนวยในแง่ความสะดวกและเข้าใจง่ายในทางปฏิบัติทั้งผู้จัดเก็บและผู้เสียภาษี ก่อให้เกิดความเป็นธรรมเมื่อภาษีอากรมีโครงสร้างที่ดี โดยเฉพาะการลดความซ้ำซ้อนของการจัดเก็บ หรือที่เรียกว่าภาระภาษีอากรทับถมทวี อันจะมีผลให้ภาระภาษีเหมาะสมอยู่ในวิสัยที่ผู้เสียภาษีรับได้และส่งผลขั้นสุดท้าย คือลดการหลบเลี่ยงภาษีให้น้อยลง เป็นการเพิ่มประสิทธิภาพของการจัดเก็บภาษีอีกด้วย ส่วนปัจจัยด้านบรรยากาศทีเอื้ออำนวยให้เสียภาษี เทศบาลเมืองชะอำจะต้องดำเนินการสร้างบรรยากาศให้ผู้เสียภาษีปฏิบัติตามกฎหมายภาษีอากรให้มากขึ้น โดยผู้นำธุรกิจต้องปฏิบัติตัวเป็นเยี่ยงอย่างแก่ผู้เสียภาษีอากรทั่วไป และพยายามมิให้มีการหลบเลี่ยงภาษีอากร เพราะการหลบเลี่ยงภาษีอากรเป็นช่องทางความไม่เป็นธรรมในการจัดเก็บภาษีอากรและปัจจัยด้านประสิทธิภาพของพนักงานผู้จัดเก็บทางเทศบาลเมืองชะอำต้องเน้นให้พนักงานผู้จัดเก็บภาษีต้องเอาใจใส่ในการปฏิบัติงานและให้บริการแก่ผู้เสียภาษีเป็นอย่างดี สอดคล้องกับแนวคิดของชาญชัย  มุสิกนิศากร และสุพรรณี  ตันติศรีสุข (2540, น.274) กล่าวถึงการบริหารจัดเก็บภาษีอากรอย่างมีประสิทธิภาพย่อมทำให้รายได้ภาษีอากรเต็มเม็ดเต็มหน่วยและลดจำนวนการหลีกเลี่ยงภาษีให้น้อยลง การพิจารณาถึงปัจจัยที่มีความสำคัญต่อการกำหนดความมีประสิทธิภาพปัจจัยหลักที่สำคัญ ๆ มีเพียง 5 ประการ คือ1.ความสำนึกในหน้าที่การเสียภาษีอากรของผู้เสียภาษี ต้องมีลักษณะที่ว่าประชาชนมีความสำนึกในหน้าที่การเสียภาษีที่ค่อนข้างสูง 2. ลักษณะของกฎหมายภาษีอากร ต้องง่ายและสะดวกต่อการประเมินภาษีของผู้เสียภาษี 3. ประสิทธิภาพของพนักงานผู้จัดเก็บภาษีอากร พนักงานผู้จัดเก็บภาษีต้องเอาใจใส่ในการปฏิบัติงานและให้บริการแก่ผู้เสียภาษีเป็นอย่างดี 4. บรรยากาศที่เอื้ออำนวยให้ปฏิบัติตามกฎหมายภาษีอากร จะต้องดำเนินการสร้างบรรยากาศให้ผู้เสียภาษีปฏิบัติตามกฎหมายภาษีอากรให้มากขึ้น โดยผู้นำของประเทศและผู้นำทางด้านธุรกิจจะต้องปฏิบัติตัวเป็นเยี่ยงอย่างแก่ผู้เสียภาษีอากรทั่วไป และพยายามมิให้มีการหลบเลี่ยงภาษีอากร เพราะการหลบเลี่ยงภาษีอากรเป็นช่องทางความไม่เป็นธรรมในการจัดเก็บภาษีอากร 5. โครงสร้างภาษีอากร เป็นสิ่งที่เอื้ออำนวยในแง่ความสะดวกและเข้าใจง่ายในทางปฏิบัติทั้งผู้จัดเก็บและผู้เสียภาษี ก่อให้เกิดความเป็นธรรมเมื่อภาษีอากรมีโครงสร้างที่ดี โดยเฉพาะการลดความซ้ำซ้อนของการจัดเก็บ หรือที่เรียกว่าภาระภาษีอากรทับถมทวี (Cascading Effect) อันจะมีผลให้ภาระภาษีเหมาะสมอยู่ในวิสัยที่ผู้เสียภาษีรับได้และส่งผลขั้นสุดท้าย คือลดการหลบเลี่ยงภาษีให้น้อยลง เป็นการเพิ่มประสิทธิภาพของการจัดเก็บภาษีอีกด้วยและสอดคล้องกับงานวิจัยของนปภสร   สุวรรณมณี (2552) เรื่อง ประสิทธิภาพการจัดเก็บรายได้ขององค์การบริหารส่วนตำบลนาขา อำเภอหลังสวน จังหวัดชุมพรในประเด็นที่ว่าปัจจัยด้านความสำนึกในหน้าที่ของผู้เสียภาษี ลักษณะของกฎหมายภาษีอากร ประสิทธิภาพของพนักงาน ผู้จัดเก็บภาษีอากร บรรยากาศที่เอื้ออำนวยให้เสียภาษี และโครงสร้างภาษีอากร กับตัวแปรตาม คือ ประสิทธิภาพในการจัดเก็บรายได้ขององค์การบริหารส่วนตำบลนาขา อำเภอหลังสวน จังหวัดชุมพร

 

บรรณานุกรม

เกริกเกียรติ  พิพัฒน์เสรีธรรม. (2541).  การคลัง : ว่าด้วยการจัดสรรและการกระจาย. พิมพ์ครั้งที่ 6. กรุงเทพมหานคร : มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.

ชาญชัย  มุสิกนิศากร และสุพรรณี  ตันติศรีสุข. (2540). พิมพ์ครั้งที่ 14. การบริหารการจัดเก็บภาษีอากร ในเอกสารการสอนชุดวิชาการคลังและงบประมาณ. นนทบุรี : มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช.

เทศบาลเมืองชะอำ สืบค้นเมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2563 http://www.cha-amcity.go.th/ site/index.php? option=com_ content&view=article&id=121&Itemid=101.

นปภสร   สุวรรณมณี. (2552). ประสิทธิภาพการจัดเก็บรายได้ขององค์การบริหารส่วนตำบลนาขา อำเภอหลังสวน จังหวัดชุมพร สารนิพนธ์ปริญญารัฐประศาสนศาสตรมหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา.

พนม  ทินกร ณ อยุธยา. (2534). การบริหารงานคลังรัฐบาล. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพมหานคร : จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

พรรณพิลาศ  สมศรี. (2546). การสำรวจความคิดเห็นเจ้าหน้าที่ของรัฐเกี่ยวกับปัจจัยที่มีผลต่อประสิทธิภาพการจัดเก็บรายได้ของเทศบาลในจังหวัดจันทบุรี. ปัญหาพิเศษ                                  รัฐประศาสนศาสตรมหาบัณฑิต สาขานโยบายสาธารณะ บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยบูรพา.

สนธยา  ทองดี. (2547). ปัญหาและอุปสรรคในการจัดเก็บภาษีศึกษากรณีเทศบาลตำบลโพรงมะเดื่อ อำเภอเมืองนครปฐม จังหวัดนครปฐม. ปัญหาพิเศษรัฐประศาสนศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการบริหารทั่วไป มหาวิทยาลัยบูรพา.

สำนักบริหารราชการส่วนท้องถิ่น กรมการปกครอง และสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ. (2543). คู่มือการฝึกอบรมด้านการเงินการคลังท้องถิ่น ตามโครงการพัฒนาประสิทธิภาพการบริหารงานการเงินการคลังท้องถิ่น ภายใต้มาตรการเพิ่มการใช้จ่ายภาครัฐเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ปี 2542. กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์อาสารักษาดินแด